วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การพัฒนาสังคมในมิติ “อัล-อิสลาม” ว่าด้วยหลัก 5 ประการ


การพัฒนาสังคมในมิติ “อัล-อิสลาม”
ว่าด้วยหลัก 5 ประการ
การพัฒนาในมุมมองของอิสลามนั้นมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดต่อคำจำกัดความหรือ คำนิยามการพัฒนาในทฤษฎีของตะวันตก สิ่งที่แตกต่างมากที่สุดก็คือ เรื่องศีลธรรม ศาสนา จริยธรรมต่างๆ นั้นไม่ได้มีบทบาทแต่อย่างใดในความคิดของนักทฤษฎีตะวันตก แต่สำหรับอิสลามแล้ว ศีลธรรม  ไม่ได้ถูกแยกออกจากการปฏิบัติ ทั้งสองอย่างเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้กิจกรรมการพัฒนานั้นมีความสมดุล ไม่ขึ้นอยู่กับอารมณ์แต่ฝ่ายเดียว โดยปราศจากการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์หรือตัวกระตุ้นภายในของมนุษย์นั้นก็คือ ศีลธรรมอิสลาม นั่นเอง เพราะการพัฒนาที่มุ่งเน้นแต่ด้านวัตถุอย่างเดียว ในที่สุดแล้วจะเกิดปัญหาขึ้นมาภายหลัง ในทางตรงกันข้าม การมุ่งพัฒนาตนเองอย่างเดียวก็ไม่สามารถสร้างกิจกรรมการพัฒนาได้ ดังนั้นการพัฒนาในอิสลาม อาจหมายถึง การพัฒนาทางด้านวัตถุ จิตใจ ตลอดจนศีลธรรม ทั้งของแต่ละคนและของสังคมที่นำไปสู่การอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยกับการสร้างระเบียบทางสังคมซึ่งผลลัพธ์ของมันจะทำให้มนุษย์เป็นคนดีและประสบความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้า แต่ดูเหมือนว่าทฤษฎีกับการปฏิบัติจะอยู่ห่างกันเหลือเกิน ทำให้ความคิดและลักษณะเฉพาะในหลักการอิสลามไม่ได้แปรเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติได้เท่าที่ควร เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นได้ว่าสังคมมุสลิมของเราจะมีความล้าหลัง ไม่พัฒนา เพราะเราขาดแรงกระตุ้นภายใน หรืออุดมการณ์ของอิสลามนั้นเอง[1]
อิสลามได้วางรากฐานในการดำเนินชีวิตของผู้ศรัทธาด้วยการกำหนดภารกิจหลักอยู่ 5 ประการ คือ
1. การกล่าวปฎิญาณตน ว่า "ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺมุหัมมัดรสูลลุลลอฮฺ" (แปลว่า "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดเป็นศาสนฑูตของอัลลอฮฺ") คำปฎิญาณนี้เป็นถ้อยคำที่ผู้ยอมรับอิสลามทุกคนจะต้องกล่าวออกมาเป็นการยืนยันด้วยวาจาว่าตัวเองมีความศรัทธาดังที่กล่าวมาข้างต้นและพร้อมที่จะปฎิบัติตามบทบัญญัติและเงื่อนไขต่างๆ ที่อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานและคำสอนของท่านศาสดามุหัมมัดศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อใครยอมรับ อัลลอฮฺว่าเป็นพระเจ้าของเขาแล้วเขาจะต้องยอมรับว่ามุหัมมัด เป็นรสูลหรือผู้นำสารของอัลลอฮฺ (อัลกุรอาน) มาประกาศยังมนุษย์ชาติและจะต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน นบีมุหัมมัดศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วย[2]
สังคมอิสลามนอกจากจะนิยามว่าเกิดจากการรวมตัวของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปแล้ว คนในสังคมนั้นต้องปฏิญาณตนด้วยว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลลอฮและท่านนบีมูหัมมัดเป็นศาสนฑูตของอัลลอฮ เพราะการปฏิญาณตนเสมือนเป็นอุดมการณ์ของการรวมตัวกัน (เพื่อเป็นบ่าวของอัลลอฮ...) โดยจะนำแบบอย่างที่ได้รับคำสอนจากนบีมาใช้เพื่อการดำเนินชีวิต การปฏิญาณตนของมุสลิมจะเป็นข้อย้ำเตือนเขาตลอดเวลาว่าเขานั้นเป็นใคร เกิดมาเพื่ออะไร ดำเนินชีวิตในสังคมเพื่ออะไร สังคมใดที่คนในสังคมมีอุดมการณ์เหมือนกันนั้นก็หมายความว่า สังคมนั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่ก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมนั้น อิสลามได้วางหลักของการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมร่วม ด้วยการมีอุดมการณ์ที่เหมือนกัน คือ การปฏิญาณตนว่าเขานั้นนับถือศาสนาอิสลามเป็นมุสลิมผู้ยอมจำนนต่ออัลลอฮอย่างสิ้นเชิง
2. การละหมาด 5 เวลา การละหมาดเป็นสิ่งยืนยันความศรัทธาที่ปรากฏให้เห็น ทางภายนอกได้ชัดเจนที่สุดเพราะเป็นการปฏิบัติที่มีรูปแบบและคนที่จะดำรงรักษาการละหมาดของตัวเองได้ครบ 5 เวลาต่อวันนั้น จะต้องเป็นคนที่มีความผูกพันต่ออัลลอฮฺและรำลึกถึงพระคุณของพระองค์อยู่ตลอดเวลา[3] อีกทั้งการละหมาดนั้นเสมือนเป็นเสาหลักของศาสนา การละหมาด คือ จุดยืนของมุสลิมในการดำเนินชีวิตในสังคมร่วมเพราะอยู่ ณ ที่ใดมุสลิมต้องละหมาด การละหมาดไม่เพียงแต่ปฏิบัติแล้วได้ผลบุญเท่านั้นแต่ยังมีบทเรียนมากมายที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ เช่น การละหมาดจะช่วยให้มนุษย์พ้นจากสิ่งชั่วร้ายได้ การละหมาดสอนเรื่องผู้นำและผู้ตาม การละหมาดสอนเรื่องการรวมตัวเพื่อการทำความดี และยังคงมีบทเรียนอีกมากมายที่เกิดจากผลของการละหมาดถ้าเข้าใจและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต หากเรามองการละหมาดในแง่สังคม ทุกครั้งที่มีการเรียกเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าด้วยเสียงอาซานเรียกร้องให้คนในชุมชนมารวมตัวกันเพื่อทำการละหมาดและสอนให้มนุษย์ได้เข้าใจบทบาทของผู้นำและผู้ตาม ผู้ที่เป็นอีหมามและมะมูมโดยมีการตออัก (การเชื่อฟัง) เป็นสายใยแห่งความสัมพันธ์ นอกจากนั้นยังมีการตักเตือนซึงกันและกัน ได้พบปะและสร้างความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง ในแง่ของการพัฒนาสังคมนั้น การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะจะทำให้สังคมนั้น เกิดความสามัคคี รักและห่วงใยต่อกัน สิ่งเหล่านี้ยากนักที่จะพบเห็นในสังคมเราในยุคปัจจุบัน
3. การถือศิลอด การถือศีลอดมีวัตถุประสงค์ ก็เพื่อฝึกมุสลิมให้เกิดความยำเกรงต่อพระเจ้าก็เพราะในเวลาปกติ อัลลอฮฺ ทรงอนุมัติให้มุสลิมกินและดื่มได้อย่างเสรีแต่เมื่อถึงเดือน รอมฎอนเมื่ออัลลอฮฺทรงมีบัญชาให้ละเว้นจากการกินการดื่มมุสลิมก็ละเว้นทันทีนี่เป็นบทเรียนที่สอนมุสลิมให้มียำเกรงและเชื่อฟังอัลลอฮการถือศีลอดยังเป็นการฝึกให้ผู้ถือศีลอดซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และพระเจ้า กล่าวคือขณะที่ถือศีลอดเขาอาจจะแอบกินอาหารและดื่มน้ำ ในระหว่างการถือศีลอดก็ได้ โดยไม่มีใครรู้แต่ด้วยความเชื่อในพระเจ้าว่า พระองค์ทรงเห็น และทรงรู้การกระทำของเขา ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง[4] นอกจากนั้นแล้ว การถือศีลอดเป็นการฝึกให้มุสลิมรู้จักการอดทนในการอดอาหารตั้งแต่เช้าถึงเย็น เพื่อสื่อให้เห็นว่าแม้มุสลิมจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็แล้วแต่ เขาก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ การอดทนโดยการงด ไม่เพียงแต่เขาต้องอดทนต่อการอดอาหารเท่านั้น แต่เขาต้องต่อสู้กับอารมณ์ (นัฟซู) เขาอีกด้วย ชัยชนะความสำเร็จจะคู่ควรกับผู้ศรัทธาที่มีความอดทนเท่านั้น และการถือศิลอดนั้นยังเป็นการแสดงออกถึงความเสมอภาคกันในบรรดาผู้ศรัทธาด้วยเพราะในเดือนถือศีลอดมุสลิมผู้ศรัทธาไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดต่างก็ต้อง งด จากการกินการดื่มเหมือนกันหมด
4. การจ่ายซะกาต วัตถุประสงค์ ที่อิสลามกำหนดให้มุสลิมจ่ายซะกาตก็คือเพื่อเป็นการยืนยันถึงความศรัทธานอกจากนั้นแล้วการจ่ายซะกาตก็ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อซักฟอกทรัพย์สิน และ จิตใจของผู้จ่ายให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการสร้างความเจริญให้แก่สังคมอีกด้วย[5]
หากเรามองหลักการจ่ายซะกาตในแง่สังคมเราจะเห็นว่า บรรดาผู้มีสิทธิได้รับซะกาตนั้น มักจะเป็นผู้ที่เป็นปัญหาในสังคม ดังนั้นการนำซะกาตไปให้แก่คนเหล่านี้จึงเป็นการแก้ปัญหาสังคมที่ถูกจุด ขณะเดียวกันถ้าเรามองด้านเศรษฐกิจเราจะเห็นว่า ซะกาตจะทำให้คนยากจน คนอนาถา ในสังคม มีอำนาจในการซื้อเพิ่มขึ้นเพราะมีการถ่ายเท ทรัพย์สินจากคนรวยไปสู่คนจน และเมื่อคนเหล่านี้มีอำนาจซื้อก็จะส่งผลให้มีการผลิต ตอบสนองความต้องการทำให้มีการจ้างงานและ มีการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจตามมา ดังนั้น จึงอาจพูดได้ว่า การจ่ายซะกาตนอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาแล้วยังเป็นการแสดงความเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺโดยผ่านการช่วยเหลือสังคมอีกด้วย
5. การประกอบพิธี ฮัจย์/ทำฮัจย์ เพื่อยืนยันถึงความศรัทธาต่ออัลลอฮฺที่ต้องอาศัยความเสียสละ ทั้ง ทรัพย์สิน และ เวลา ความอดทน ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจการให้อภัยและความสำนึก ทางประวัติศาสตร์ ตลอดจน ความศรัทธามั่นต่อพระผู้เป็นเจ้าไปพร้อมๆกัน การทำหัจญ์ นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพภักดีและ ยืนยัน ในความศรัทธาต่ออัลลอฮฺแล้ว ยังสอนมนุษย์ทุกคนให้รู้สำนึกว่าในสายตาของอัลลอฮฺแล้วมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันเพราะในการทำฮัจญ์ผู้ทำฮัจย์ ทุกคนไม่ว่าจะมาจากชนชั้นเผ่าพันธุ์ภาษาหรือ จะมี ฐานะอย่างไรก็ตาม ทุกคนจะต้องห่อหุ้มร่างกายด้วยผ้าสีขาวเพียง 2 ชิ้นเหมือนกันหมด และทุกคนจะต้องปฏิบัติพิธีการต่างๆเหมือนกันหมดเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ[6]
จะเห็นได้ว่าจากหลัก 5 ประการ เราสามารถถอดบทเรียนจากวัตถุประสงค์ของแต่ละหลักการจะปรับใช้ในการพัฒนาสังคมเราได้ ซึ่งขอสรุปแนวทางการพัฒนาสังคมในมิติ “อัลอิสลาม” ว่าด้วยเรื่องหลัก 5 ประการดังนี้
1.จุดเริ่มต้นของการเกิดสังคมอิสลาม คือ การสร้างอุดมการณ์ร่วมกัน ภายใต้คำกล่าว “ลาอีลาฮาอิลลัลอฮ มูหัมมัดดุรรอซูลุลลอฮ” ดังจะเห็นจากการสร้างรัฐอิสลามของท่านนบี คือ การเผยแผ่อิสลามให้ผู้คนได้รับรู้สู่แนวทางที่เที่ยงตรง โดยใช้เวลา 13 ปี ที่ครั้งหนึ่งอิสลามเคยรุ่งเรือง
2.เมื่อคนที่มีอุดมการณ์เหมือนกันมารวมตัวกลายเป็นสังคมแล้ว กระบวนการต่อไปของการสร้างสังคมอิสลาม คือ การละหมาดวันละ 5 เวลา เพื่อสอนให้คนในสังคมรู้จักการศรัทธา เป็นผู้ศรัทธาที่เคารพเชื่อฟังกติกาของการอยู่ร่วมกันในสังคม
3.เมื่อสังคมเกิดขึ้น ความหลากหลายของผู้คนย่อมมีผลตามมา เช่น ความแตกต่างของโครงสร้างทางสังคม ซึ่งมีทั้งคนจนและคนรวย อยู่ในสังคมเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างกัน อิสลามได้สอนให้คนในสังคม ถือศิลอด เพื่อให้เขาได้เข้าใจว่าทุกคนที่อยู่ในสังคมมีความเสมอภาคต่อกัน ด้วยการฝึกให้มนุษย์อดทนต่อการ อด อาหาร ซึ่งแม้ว่าคนนั้นจะมีสถานะใดในสังคม ก็ย่อมต้องอดอาหารเหมือนกันทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าการอยู่รวมกันในสังคมนั้นทุกคนเสมอภาคกัน และยังคงมีบทเรียนของการถือศิลอดอีกมากมายที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตร่วมในสังคม
4.ในการอยู่ร่วมกันในสังคมย่อมเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมด้วยกัน อันจะทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พึ่งพาอาศัยกัน แม้ว่าความแตกต่างทางสถานะทางสังคมจะถูกแบ่งให้เห็นภาพชัดก็ตาม แต่นั้นคือเหตุผลที่มาจากความประสงค์ของพระเจ้า ดังนั้นเพื่อให้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น อิสลามได้สอนให้มนุษย์รู้จักการเสียสละช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ด้วยการกำหนดภารกิจหลัก คือ การจ่ายซะกาต ที่นอกจากจะทำให้ผู้จ่ายซะกาตมีจิตใจที่สะอาดแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการเสียสละ การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผยแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย และยังคิดว่าบทเรียนของการจ่ายซะกาตยังคงมีอีกมากมายที่เราสามารถถอดนำมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิตร่วมในสังคม
5.เมื่อสังคมขยายตัวกลายเป็นสังคมใหญ่ย่อมทำให้เกิดผลของการขยายตัวของสังคม ความเจริญในทุกด้าน ความแตกต่างที่เพิ่มมากขึ้นและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น บางครั้งก็ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำในสังคม ความขัดแย้งในเรื่องของสิทธิความไม่เท่าเทียมกันในสังคมเกิดขึ้น อย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน แต่ในแนวทางอิสลามเพื่อการพัฒนาในมิติดังกล่าว อิสลามได้กำหนดภารกิจหลักอีกประการหนึ่ง คือ การทำฮัจย์ เพื่อสอนให้มนุษย์ทุกคนให้รู้สำนึกว่าในสายตาของอัลลอฮฺแล้วมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นเผ่าพันธุ์ภาษาหรือ จะมี ฐานะ อย่างไรก็ตามทุกคนต้องห่อหุ้มร่างกายด้วยผ้าสีขาวเพียง 2 ชิ้นเหมือนกันหมดทุกคน เช่นเดียวกันการอยู่ร่วมกันในสังคมแม้จะมีความแตกต่างที่เป็นตัวแบ่งแยกสถานภาพทางสังคม ในความจริงแล้วทุกคนมีความเท่าเทียมกันในการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นๆ
การพัฒนาสังคมในมิติ “อัลอิสลาม” ว่าด้วยหลัก 5 ประการ เป็นการถอดบทเรียนจากความหมาย เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของหลักการมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสังคม เพราะด้วยหลัก 5 ประการดังกล่าวสามารถที่ทำให้มนุษย์เข้าใจในวิถีการดำเนินชีวิตร่วมกัน การพัฒนาสังคมว่าด้วยหลัก 5 ประการ จะทำให้สังคมเกิดการพัฒนาได้หรือไม่นั้น คำตอบคงจะอยู่ในตัวท่าน เพราะเพียงแค่ท่านสามารถยืนหยัดรักษาการละหมาดวันละ 5 เวลา สังคมนั้นก็สามารถดีได้ด้วยตัวของท่านแล้ว หากสังคมสามารถนำหลัก 5 ประการทั้งหมดมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตด้วยการถอดมาประยุกต์ใช้แล้ว สันติสุข (อัสาลาม) คงจะเกิดขึ้นได้ในสังคมเรา ครับ


โดย : คอลัฟ บินลา


[1] ขอบคุณเว็บไซต์ (http://www.deepsouthwatch.org/jw/node/2477)
[2] ขอบคุณเว็บไซต์ (http://www.islamthailand.com/thai521/introduce/intro-12.php)
[3] ขอบคุณเว็บไซต์ (http://www.islamthailand.com/thai521/introduce/intro-12.php)
[4] ขอบคุณเว็บไซต์ (เดิม)
[5] ขอบคุณเว็บไซต์ (http://www.islamthailand.com/thai521/introduce/intro-12.php)
[6] ขอบคุณเว็บไซต์ (เดิม)