ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนักคิดและนักฟื้นฟูอิสลาม
นิยามนักคิด
นักคิด หมายถึงบุคคลที่ชอบคิดและวางแผนสิ่งต่างๆ ในภาษาอาหรับตรงกับคำว่า(المفكر) ดังนั้นคนที่ชอบคิดและชอบฝันจึงเรียกว่านักคิด อีกทั้งยังเรียกว่านักปรัชญาในบางครั้ง และจากการคิดของนักคิดเกิดเป็นแนวคิดที่หมายถึง ผลผลิตทางสติปัญญาของมนุษย์ หรือการแสดงด้านความคิดเพื่อพยายามหาบทสรุปในเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับชีวิตหรือปรากฏการณ์ต่างๆ
ในส่วนของแนวคิดอิสลามก็จะหมายถึง ผลงานด้านความคิด หรือผลผลิตทางปัญญาของมุสลิมที่ถูกใช้ไปในวิถีทางเพื่อรับใช้อิสลาม ทั้งในลักษณะของการอรรถาธิบาย และปกป้อง
ลักษณะของการอรรถาธิบาย คือ มาเพื่ออรรถาธิบาย และชี้แจงให้ทราบถึงแง่มุมมต่างๆของทางนำที่มีอยู่ในหลักการอิสลามเหล่านั้น ดั่งปรากฏมาในรูปแบบของวิชาการต่างๆ เช่น วิชาตัฟซีร วิชาหะดีษ วิชาอะกีดะฮ์ วิชาฟิกฮ์ และอุศูลุลฟิกฮ์ ซีเราะฮ์ และประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาการที่สะท้อนให้เห็นถึงการมีขบวนการคิด และผลงานต่างๆของมัน
ส่วนลักษณะของการปกป้อง คือ มาเพื่อปกป้องอิสลามจากการครหา หรือการโจมตีกล่าวร้ายต่างๆของเหล่าศัตรู หรือบุคคลผู้ไม่หวังดี
คุณลักษณะของนักคิด(صفات المفكر )
คุณลักษณะสำคัญของผู้ที่เป็นนักคิดที่แตกต่างจากคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักคิด คือ
๑. นักคิดต้องเป็นผู้มีสัจจะ กล้าพูดความจริงที่เกิดขึ้น เข้าใจสถานการณ์ เชื่อมั่นในตนเอง และมีอุดมการณ์ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อื่นจักได้มั่นใจในตัวของเขา
๒. นักคิดต้องเป็นคนที่เห็นและเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงไม่คลุมเครือ อีกทั้งยังต้องเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดต้องแก้เพื่อส่วนรวมมากกว่าเหตุผลส่วนตน และ
๓. นักคิดต้องเป็นคนที่มีความคิดอิสระ ไม่ใช่คิดในกรอบของใครบางคน หรือคิดเพื่อเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ตนเองต้องการ
สาเหตุปัจจัยการเกิดนักคิดและแนวคิดอิสลาม
- ความใคร่สงสัย ใฝ่รู้โดยธรรมชาติของมนุษย์ที่พยายามหาคำตอบที่แท้จริงในสิ่งและเรื่องราวต่างๆที่ต้องการรู้
- เมื่อการเผยแผ่อิสลามขยายตัวออกไปในวงกว้างสู่ดินแดนต่างๆ จึงเกิดข้อสงสัยต่างๆของชนต่างศาสนิกต่ออิสลามขึ้นมากมาย ที่มุสลิมจำเป็นต้องหาคำตอบเพื่ออธิบาย หรือสั่งสอนชี้แนะแก่ประชาชนเหล่านั้น
- เกิดการปะทะและความขัดแย้งขึ้นระหว่างอิสลาม และศาสนาความเชื่อต่างๆ เช่น ศาสนายูดาย คริสต์ ฮินดู ฯลฯ จึงทำให้มุสลิมจำเป็นคิดค้นหาเหตุผล และวิธีการต่างๆเพื่อตอบโต้ และปกป้องอิสลาม
- ด้วยสถานการณ์ และบริบทของสังคมโลกที่แปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางความคิดของนักวิชาการขึ้น เพื่อวินิจฉัยหาบทสรุป หรือหาหุกมต่างๆทางศาสนามากำหนดใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
- เกิดแนวคิด และกลุ่มต่างๆในหมู่ประชาชาติมุสลิมขึ้นมากมายในยุคหลัง ทำให้แต่ละกลุ่มก็พยายามศึกษา คิดค้นหาองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาเพื่อแสดงถึงความถูกต้อง และชอบธรรมของตนเอง
ความหมายการฟื้นฟู (التجديد )
การฟื้นฟู (التجديد ) ทางภาษา หมายถึง การสร้างใหม่ หรือฟื้นสภาพขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีกรอบกว้างๆดังนี้ คือ
<!--[if !supportLists]-->- <!--[endif]-->สิ่งที่ถูกสร้าง หรือฟื้นฟูขึ้นใหม่นั้น คือสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจเคยอยู่ในยุคใดยุคหนึ่งก็ได้
<!--[if !supportLists]-->- <!--[endif]-->สิ่งที่ถูกสร้าง หรือฟื้นฟูขึ้นใหม่นั้น ด้วยกาลเวลาหนึ่งที่ผ่านพ้นไปเป็นเหตุให้เกิดการชำรุด ทรุดโทรมจนเปลี่ยนรูปกลายเป็นสิ่งเก่าไปในที่สุด และต่อมาสิ่งนั้นก็ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในรูปลักษณะเดิมอีกครั้ง
การฟื้นฟู (التجديد )ทางวิชาการ
การฟื้นฟูหรือ (التجديد ) หมายถึง( جعل الشيء جديدًا ) การทำสิ่งหนึ่งให้ใหม่ ดังนั้นการ(التجديد ) ตัจดีดศาสนาหมายถึง
(إعادة وإحياء ما اندرس من سننه ومعالمه، ونشره بين الناس)
การรื้อฟื้น การฟื้นฟู ในสิ่งที่ถูกลบเลือนหายไป ทั้งในแง่ของแนวทางและองค์ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาแล้วเผยแพร่แก่ประชาชนทุกคน
อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูหรือตัจดีดนั้นไม่ใช่การเพิ่มสิ่งใหม่ๆจากเดิมที่ศาสนามีอยู่หากแต่ เป็นการกลับสู่หลักการเดิมที่ลบเลือนเท่านั้น
คำว่า التجديد ได้มาจากคำที่ปรากฏในหะดีษของท่านเราะซูล ศ็อลฯ ที่ว่า
((إن الله تعالى ليبعث على رأس كل مئة سنة من يجدد لهذه الأمة أمر دينها))
رواه أبوداود
ความว่า “ แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงบังเกิดขึ้นในทุกๆต้นของ 100 ปี บุคคลที่จะมาฟื้นฟูศาสนาให้แก่อุมมะฮ์ ” รายงานโดยอะบูดาวู้ด
เหตุนี้บรรดานักอุละมาอ์หลายท่านจึงกล่าวถึงการฟื้นฟู และนักฟื้นฟูไว้ดังนี้ เช่น
อิบนุตัยมียะฮ์กล่าวว่า “สำหรับการฟื้นฟูนั้น พึงหมายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการถูกทำลายลง ซึ่งนั้นย่อมหมายถึงภาพของความแปลกใหม่ของอิสลาม ที่มาเพื่อซุบชีวิตให้กับความรู้สึกของบรรดามุสลิม สภาพการเป็นอยู่ของบรรดามุอ์มินและเหล่านักต่อสู้(มุญาฮิดีน)กระทั่งพวกเขาเป็นเสมือนบรรดาชาวอันศอร และมุฮาญิรีนก่อนหน้านี้ .....”
อิบนุก็อยยิม กล่าวบรรดานักฟื้นฟูว่า “ พวกเขาคือพฤกษชาติ(ต้นไม้)ของอัลลอฮ์ ซึ่งอัลลอฮ์จะยังทรงปลูกมันให้งอกเงยขึ้นมาในศาสนาของพระองค์ และพวกเขาเป็นเสมือนดั่งที่ท่านอาลี บิน อบีฏอลิบ(ร.ด.)กล่าวถึง คือ บุคคลที่ยืนหยัดหลักฐานของอัลลอฮ์ให้ประจักษ์ย่อมไม่มีวันขาดหายจากแผ่นดิน”
อัล-อัลอะกอมีย์กล่าวว่า “ ความหมายของ التجديد คือการฟื้นฟูให้มีการปฏิบัติด้วยอัล-กิตาบ และอัซ-ซุนนะฮ์ และคำสั่งตามเจตนารมณ์ของมันที่หายไปกลับคืนมาใหม่ พร้อมกับขจัดทำลายสิ่งต่างๆอันเป็นบิดอะฮ์และสิ่งอุตริที่ปรากฏอยู่ให้หมดไป”
อบุลอะลา อัล-เมาดูดีย์ ให้นิยามของนักฟื้นฟู (المجدد) ว่า หมายถึง “บุคคลทุกคนผู้ที่มาฟื้นฟูคำสอนต่างๆของศาสนาขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากมันหายสาบสูญไป และสร้างสายเชือกของมันขึ้นมาใหม่หลังจากมันถูกรื้อทำลายลง”
ด้วยคำนิยามต่างๆที่กล่าวมาคำว่า التجديد จึงหมายถึง การฟื้นฟูคำสอนต่างๆของศาสนาขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากมันหายสาบสูญไป และสร้างมันขึ้นมาใหม่หลังจากมันถูกรื้อทำลายลง พร้อมกับเผยแพร่แก่มนุษยชาติ นั้นเอง ทั้งนี้เพราะส่วนที่หายสาบสูญไปมิใช่ศาสนา แต่หมายถึงคำสอนต่างๆของศาสนา และคำว่าหายสาบสูญก็มิได้หมายถึงหมดสิ้นไปจากจิตใจและชีวิตการเป็นอยู่ของผู้คนอย่างสิ้นเชิง แต่หมายถึงไม่ปรากฏชัดเจนออกมาให้เห็นในความเป็นจริงด้านต่างๆ
ในประการทั้งหมดจะพบได้ว่าท่านนบี ศ็อลฯพยายามอย่างที่สุดโดยเฉพาะต่อการพัฒนาด้านจิตใจ และการขัดเกลาหัวใจให้สะอาดปราศจากสิ่งสกปรกและความโสมมทั้งหลาย และสร้างสายสัมพันธ์แห่งศรัทธาอย่างมั่นคงให้เกิดขึ้น ดั่งจากหะดีษที่ท่านกล่าวไว้ว่า
(( جددوا إيمانكم : قيل يا رسول الله وكيف نجدد إيماننا ؟ قال : أكثروا من قول لا إله إلا الله )) رواه أحمد
ความว่า “จงฟื้นฟูอีม่านของพวกท่านขึ้นมาใหม่เถิด” (มีเศาะฮาบะฮ์ท่านหนึ่ง)ถามว่า : โอ้ท่านเราะซูลุลลอฮ์ เราจะฟื้นฟูอีม่านของเราขึ้นมาใหม่ได้อย่างไรเล่า ? ท่านกล่าวว่า “จงพยายามกล่าวคำว่า لا إله إلا الله ให้มากๆ”
ความหมายกลุ่มฟื้นฟูอิสลาม
ญะมาอะฮ์ หรือขบวนการฟื้นฟูอิสลาม หมายถึงกลุ่มปฏิบัติงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างมีระบบ กลไกและมีระเบียบโดยคณะประชาชน เพื่อฟื้นฟูสภาพอันตกต่ำของอุมมะฮ์(ประชาชาติมุสลิม)ให้หวนคืนสู่การเป็นผู้นำสังคม และเป็นระบบแห่งการดำเนินชีวิตอีกครั้ง อาทิเช่น กลุ่ม/ขบวนการอิควาน อัล-มุสลิมีน หะรอกะฮ อัล-นะฮเฎาะห์ ญามาอะฮฺดะอฺวะฮฺตับลีฆ เป็นต้น
ลักษณะและประเด็นของการฟื้นฟูอิสลาม
การฟื้นฟูเป็นภารกิจของมวลชนที่ดำเนินไปเพื่ออัลลอฮ์ เป็นภารกิจที่ถูกจัดระเบียบและกระทำเป็นญะมาอะฮ์ และเป้าหมายสำคัญของกลุ่ม คือการฟื้นฟูอุมมะฮ์กลับคืนสู่ภาพสมบูรณ์ของอิสลาม ดังนั้นประเด็นที่จำเป็นต้องฟื้นฟู คือ
๑ التجديد في مجال العقيدة หมายถึง การฟื้นฟูทางด้านอะกีดะฮ (หลักความเชื่อ) ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการเพิ่มหลักการศรัทธาแต่อย่างใด หากแต่เป็นการขัดเกลาความเชื่อที่ผิดเพี้ยนที่มีอยู่ในสังคมมุสลิม ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาจากความเชื่อเดิมๆที่ไม่มีที่มาหรือหลักฐานวิชาการ นักฟื้นฟูอิสลามจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงความคิดและความเชื่อที่ผิดของสังคมให้ขาวใสสะอาดปราศจากสิ่งแปลกปลอม และต้องนำพามุสลิมไปสู่หลักการศรัทธาตามแบบอย่างของชนชาวสลัฟ จากบรรดาอัตตาบิอีนและเศาะหาบะฮ
๒ التجديد في مجال النظر والاستدلال หมายถึง การฟื้นฟูให้เกิดขึ้นซึ่งการเรียนรู้ในหลักการปฏิบัติ หลักการศาสนาที่ถูกต้อง หลักการที่มีเหตุผล มีหลักฐานทางศาสนาที่เชื่อถือได้ และต้องกำจัดหลักการที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไร้ซึ่งหลักฐานที่น่าเชื่อถือ
๓ التجديد في السلوك الفردي والجماعي หมายถึง การฟื้นฟูด้านจรรยามารยาทแก่ตัวบุคลหรือปัจเจกชนรวมถึงคุณธรรมของสังคม ทั้งนี้ด้วยการปฏิบัติตนตามคำสอนอิสลามอย่างเคร่งครัด ด้วยความรู้สึกและสำนึกในความเป็นมุสลิมที่ตนจำต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมอื่นๆรอบข้าง โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์ให้คงอยู่อย่างเหมาะสม
มัสยิดอัลฮารอมายน์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา |
อ้างจากเอกสารประกอบการเรียนการสอนรายวิชานักคิดและกลุ่มฟืนฟูอิสลาม เรียบเรียงโดยอาจารย์อับดุลลาตีฟ การี อาจารย์ประจำคณะอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา