วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อิสลามกับการเมืองและประชาธิปไตยในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลกขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน อิสลามคือแนวทางที่ครอบคลุมทุกมิติของการดำเนินชีวิต การเมืองจึงเป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับประชาธิปไตยที่ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน การอธิบายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วยหลักการอิสลามต้องอาศัยความเข้าใจทั้งในระดับหลักคำสอนทางศาสนาและหลักสังคมวิทยาของศาสนาอีกมากพอสมควร หากพิจารณาจากหลักคำสอนทางศาสนาแล้ว บรรดานักวิชาการมุสลิมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า "คัมภีร์อัลกุรอ่าน" (Al-Quran) และ "ซุนนะห์" (Sunnah) หรือ วัจนศาสดา ต่างไม่ได้กำหนดรูปแบบปกครอง และไม่ใด้อรรถาธิบายถึงแนวทฤษฎีทางรัฐธรรมนูญใดๆ ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้นการเมืองแบบอิสลามจึงมีความเป็นได้หลายรูปแบบและหลายวิธีการ โดยขึ้นอยู่กับมุสลิมในยุคสมัยต่างๆ จะเลือกสรรมาใช้และตีความเอาตามสมควรแก่หมู่คณะของตน อย่างไรก็ตาม ลักษณะข้างต้นไม่ได้หมายความว่า "คัมภีร์กรุอ่าน" และ "ซุนนะห์" ไม่ได้กล่าวถึงหลักการปกครองที่สอดคล้องกับหลักศาสนาเสียทีเดียว เพราะหลักการทางศาสนาทั้งสองแหล่งยังให้เค้าโครงที่ชัดเจนของแบบแผนทางการเมือง ซึ่งสามารถทำให้บรรลุตามหลักคำสอนได้ทุกสถานการณ์ มุสลิมส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ระบบการเมืองแบบอิสลามวางอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างหลักการ "เตาฮีด" ซึ่งหมายถึงหลักเอกภาพและการเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวของ "อัลเลาะห์", ชรีอะห์ (Shari'ah) ซึ่งเป็นกฎหมายอิสลามตามหลักการแห่ง "อัลกุรอ่าน" และ "ซุนนะห์" , อดาละห์ (Adalah) ซึ่งเป็นการสถาปนาความยุติธรรมหลักเสรีภาพ เป็นหลักการที่ว่าด้วยสิทธิที่จะกระทำการภายใต้การเชื่อฟังต่อหลักการชารีอะห์, หลักความเสมอภาค เป็นหลักการที่ว่าด้วยโอกาสอันเทียมเท่ากันของปัจเจกบุคคลชายและหญิง และชูรอ (Shura) ที่ถือเป็นรากฐานและองค์ประกอบสำคัญของอำนาจทางการเมือง ภายใต้หลักการอุมมะห์ (Ummah) อันเป็นระเบียบทางสังคมตามหลักการของอิสลาม หลักการทางศาสนาที่เกี่ยวข้องการเมืองและการปกครองตามประวัติศาสตร์ของศาสนาแสดงให้เห็นว่าในระดับปัจเจกนั้น ผู้ปกครองในยุคแรก อาทิ คาลีฟะห์ (Khalifah) อิหม่าม (Imam) อามิร (Amir) ต่างไม่ได้ถืออำนาจสูงสุด หากแต่เป็นการยึดตามระบบแห่งอาวุโสด้วยหลักการอุมมะห์ ผู้ปกครองและหลักการปกครองจึงวางอยู่บนความเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น ด้วยสถานะและความเท่าเทียมกันดังกล่าวนี้ จึงรักษาใว้ซึ่ง "ความยำเกรง" (Taqwa) ขณะที่ "อิหม่าม" จะต้องบริหารงานให้สอดคล้องตามหลักแห่งกฎหมายชารีอะห์ การละเมิดหลักการดังกล่าว มุสลิมสามารถอ้างสิทธิยกเลิกความจงรักภักดีต่อเขาได้ ส่วนในระดับสังคมการเมือง ระบบการเมืองแบบอิสลามวางอยู่บนรัฐธรรมนูญที่ดำรงอยู่ภายใต้หลักการแห่งกฎหมายชาริอะห์ โดยผู้นำสูงสุดจะได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบบริหารกิจการภาครัฐ ดังกรณีของระบบสภาแบบอามีร์ (Amir) ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนนี้ ต้องอยู่ภายใต้หลักการ "ชารีอะห์" และ "อิจมาอฺ" จนกล่าวได้ว่าเป็นระบบที่ผู้นำมีทั้ง "อิสระและถูกจำกัดอำนาจอยู่ในเวลาเดียวกัน" (ahl al-halli wa al-aqd) กล่าวได้ว่าการพิจารณาความสอดคล้องระหว่างหลักประชาธิปไตยกับแนวความคิดเรื่องการเมืองการปกครองตามหลักศาสนาอิสลามที่เหมาะสมกับบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถือเป็นประเด็นที่ควรได้รับการศึกษาให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีการศึกษาหลักการ ความมุ่งหมาย เจตจำนงของอิสลามว่ามีความหมายและสาระสำคัญเป็นอย่างไร แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันท่ามกลางสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด จนในบางครั้งกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมานั้น ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากประเด็นปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม ก็ถือว่ามีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและทบทวนมากขึ้นไปอีกว่า สังคมการเมืองที่สอดคล้องกับหลักการศาสนาในพื้นที่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรมเช่นจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ควรเป็นอย่างไร โดยจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของความแตกต่าง
http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1723