วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

ระบบข้าหลวง (อัล อีมาเราะฮฺ) ในประวัติศาสตร์อิสลาม


ระบบข้าหลวง (อัล อีมาเราะฮฺ) ในประวัติศาสตร์อิสลาม

เรียบเรียงโดย  :นาง รอสนา   หลังปูเต๊ะ
นักศึกษาปริญญาโท
สาขาวิชาประวัติศาสตร์และอารยธรรมอิสลาม
 มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

คำนำ
                หลังจากที่ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.) ได้สถาปนานครมาดีนะห์เป็นรัฐแห่งแรกในอิสลาม ท่านได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำในการปกครอง มีระบบการปกครองแบบเรียบง่ายในนครเล็กๆที่ชื่อ มาดีนะห์  เมื่อดินแดนอิสลามได้แผ่ขยายกว้างขึ้น การปกครองของท่านนบี(ซ.ล.)ไม่ครอบคลุมในดินแดนที่กว้างไกลออกไป ท่านได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ปกครองนครแทนท่านในดินแดนเหล่านั้น  ซึ่งผู้ปครองเหล่านั้นได้ถูกขนานนามว่า อะมีร หรือ วะลีย์ มีอำนาจการปกครองในดินแดนที่ได้รับมอบหมาย (إمارة)ในสมัยของท่านท่านได้แต่งตั้งบรรดาหลายท่านด้วยกัน อาทิเช่น อะบูมูซา อัล-อัชอารีย์  ยะอลา บิน อุมัยยะห์ เป็นต้น ต่อมาระบบการปกครองได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบมากขึ้นในยุคต่อๆมา  เนื่องจากอาณาจักรอิสลามได้ขยายอาณาเขตกว้างขึ้น  ดังที่จะได้ศึกษาในบทต่อไปนี้

อัล-อิมาเราะห์
ความหมายตามหลักภาษา
-                   ตำแหน่งของอามีร, ดินแดนที่อามีรปกครอง[1]
-                   อำนาจปกครอง, อาญาสิทธ์[2]

ความหมายตามหลักนิรุกติศาสตร์
-                   ตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการบริหารเขตการปกครองหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในการปกครองเขตนั้น  และปัจจุบันนี้ใช้ในการเรียกตำแหน่งสำนักผู้ว่าประจำเขต[3] เรียกว่า อะมีร   และในที่นี้จะขอใช้คำว่า อะมีร ในรายงานฉบับนี้



อำนาจปกครองในสมัยท่านเราะซูล(..)
                เมื่อศาสนาอิสลามแผ่กระจายไปยังดินแดนที่กว้างไกลออกไป  และมีผู้ที่เลื่อมไสศรัทธาในศาสนาอิสลามมากขึ้น  เมื่อพวกเขาเหล่านั้นเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาแล้วท่านเราะซูล(..) ท่านเราะซูล(..)ก็เห็นถึงความสำคัญของการส่งผู้แทนท่านเพื่อการดูแลทุกข์สุขการให้ข้อแนะนำทางศาสนาตลอดจนดูอลความเป็นอยู่ของพวกเขาเหล่านั้น  ท่านเราะซูลผซ..) จึงได้ส่งอะมีรไปยังสถานที่ต่างๆในดินแดนแห่งอิสลามคนแล้วคนเล่า  เพื่อทำการสอนอัล-กุรอ่าน เป็นผู้นำการละหมาดและผู้เก็บทานบริจาคต่างๆ

บรรดาอะมีรของท่านเราะซูล(..)

          ในสมัยที่ท่านนบีมุฮัมหมัดยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้แต่งตั้งบรรดาอะมีรเพื่อทำหน้าที่แทนท่านในสถานที่ต่างๆและเมื่อท่านศาสดาเสียชีวิตลงนั้น บรรดาอะมีรเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นี้ต่อไป ในจำนวนอะมีรเหล่านี้มีดังต่อไปนี้
                อัตตาบ บินอะซีด เป็นอะมีรของเผ่ากะนานะฮ์
                อัลฏอฮิร บิน อะบีฮะลาละห์ เป็นอะมีรของเผ่าอัก
                 ดินแดนมักกะฮ์
                 ดินแดนฏออิฟ   อุษมานบินอะบีอัลอาศ สำหรับชาวมะดัร และมาลิกบินเอาฟ อันนัศรีย์สำหรับชาววะบัร
                ดินแดนนัจญรอน  อัมรู บิน หัซฺม ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการละหมาด และอบูซุฟยานในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการบริจาคทาน
                ดินแดนระหว่างริมะอฺกับซะษีด (ใกล้กับนัจญรอน) คอลิด บินซะอีด บิน อัลอาศ
                ดินแดนฮัมดาน  อามิร บิน ซะฮัร
                ดินแดนศ็อนอาอฺ  อัลดัยละมีย์ ดาซวีย์ และก็อยศบินอัลมักชูฮ
                ดินแดนญะนัด ยะอลา บิน อุมัยยะห์
                ดินแดนมะรับ  อบูมูซา อัล อัชอะรีย์

การปกครองในสมัยเคาะลีฟะฮ์ทั้งสี่

                ในสมัยอบูบักร อัล ศิดดีกนั้น ท่านได้แบ่งการปกครองในกลุ่มอาหรับไปเป็นหลายเขตพื้นที่ กล่าวคือ นครมักกะห์ นครมะดีนะห์ เมืองฏออีฟ เมืองศ็อนอาอฺ เมืองฮัดราตุลเมาห์ และดูลานและเมืองซะอีดและเมืองรีมัก และเมืองญะนัด ตลอดจนเมืองนัจญรอนและเมืองบะห์เรน ต่อมาเมื่อถึงสมัยท่านเคาะลีฟะห์อุมัร บินอัลค็อฏฏอบนั้น การปกครองของรัฐก็มีการขยายมากขึ้น
          ในสมัยของท่านเคาะลีฟะห์อุมัรนี่เองถือเป็นคนแรกที่ได้วางระบบการบริหารจัดการสำหรับประเทศอิสลาม โดยที่ในส่วนของการปกครองประเทศนั้นจะเป็นไปเพื่อรวบชาวอาหรับให้อยู่ร่วมกันได้เพื่อเป็นประชาชาติหนึ่งเดียว ในการนี้ท่านเคาะลีฟะห์อุมัรก็ได้ทำการแต่งตั้งผู้ที่ทำหน้าที่อะมีร
                อะมีรในสมัยนี้นั้นยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มุมานะสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างและเขาจะกระทำในสิ่งที่ตัวเองเห็นแล้วว่าจะเกิดผลดีในทุกๆแง่มุมของชีวิต ดังนั้น การที่เคาะลีฟะฮ์อุมัรเลือกอะมีรนั้นก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อยกย่องและให้เกียรติแก่พวกเขา แต่ทว่าเป็นเพราะความสามารถของพวกเขาในการที่จะเข้าใจแก่แท้ของหลักการศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ทว่าหน้าที่ของพวกเขาก็คือการดำรงไว้ซึ่งการละหมาด การให้การพิพากษาด้วยความยุติธรรม และได้มีการให้ส่วนแบ่งในทรัพย์สินสงคราม
                สำหรับท่านเคาะลีฟะห์อุสมานก็ได้ดำเนินการตามวิถีทางแห่งท่านอุมัร และในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตท่านนั้นก็มีความอ่อนแอในด้านการบริหารจัดการ

การปกครองในสมัยอะมาวียะห์และอับบาซียะห์

                ระบบการบริหารจัดการในสมัยอะมาวียะห์นั้นมีความเรียบง่ายเนื่องจากหน้าที่การงานของอะมีรมีไม่มากเท่ากับสมัยอับบาซียะห์ โดยที่สมัยอับบาซียะห์มีการเลือกอะมีรของพวกเขามาจากผู้ที่มีเชื้อสายอาหรับ หรือเป็นบุคคลที่มีเชื้อสายกษัตริย์ จึงเห็นได้ว่า บรรดาอะมีรทั้งหลายนั้นล้วนแล้วแต่เป็นชาวอาหรับทั้งสิ้น[4]
          ในสมัยอับบาซียะห์นั้น อำนาจทางการปกครองของอะมีรเหล่านั้นถูกจำกัดอยู่ในวงแคบกล่าวคือในการนำละหมาดและเป็นผู้นำด้านการทหารเท่านั้น ส่วนการจัดการอื่นๆนั้นเช่นด้านการคลัง และความยุติธรรม ไปรษณีย์ นั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคาะลีฟะห์เป็นผู้เลือกสรรเอง จากจุดนี้เองทำให้เกิดเมืองเล็กๆขึ้นในเมืองใหญ่ๆเช่น รัฐตูลูนียะห์ และอัลซัยดียะห์เป็นต้น[5]

ลักษณะการปกครองในสมัยหลังจากท่านศาสดา

1.  การรวมเอาสองรัฐสำหรับอะมีรคนเดียว
          ด้วยเหตุผลต่างๆทางด้านการเมืองตลอดจนการจัดการจึงทำให้เกิดการรวมเอาสองสถานที่อยู่ในความดูแลของอะมีรคนเดียวกัน ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับเมื่อตอนที่ อัลมุฆีเราะห์อะมีรแห่งกูฟะห์เสียชีวิตลง ดังนั้นท่านมุอาวียะห์จึงได้ทำการรวมเมืองกูฟะห์ให้กับซียาด ดังนั้นท่านจึงถือว่าคนที่รวมสถานที่สองสถานที่คนแรกเลยทีเดียวที่รวมระหว่างเมืองกูฟะห์กับเมืองบัศเราะห์ ส่วนในเรื่องของการจัดการอย่างไรนั้น อัล เฏาะบารีได้กล่าวว่า ท่านซียาดได้ทำการปกครองเมืองกูฟะห์เป็นเวลา 6 เดือน และปกครองเมืองบัศเราะห์อีกเป็นเวลา 6 เดือน

2. การเห็นพ้องกันในบุคคลที่สามในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างอะมีรสองคน
          ได้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างท่านอะลีกับท่านมุอาวียะห์ในกรณีที่ทั้งสองท่านต่างก็ได้ส่งอะมีรของแต่ละท่านในช่วงการทำฮัจญ์ เมื่อสิ่งเหล่านั้นไปเกี่ยวข้องกับการทำอิบาดัตจึงทำให้เกิดผลกระทบแก่บรรดามุสลิมทั้งหลาย ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่มุสลิมมีศรัทธาที่กล้าแข็ง  ดังนั้น อะมีรทั้งสองท่านก็ได้เห็นพ้องที่จะให้มีบุคคลอีกบุคคลหนึ่งที่จะมาทำงาน  จากจุดนี้เองที่เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าการแต่งตั้งอะมีรนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีคำสั่งของท่านเคาะลีฟะห์ แต่เป็นไปด้วยความเห็นพ้องของทั้งสองฝ่ายโดยยึดถือผลประโยชน์ของมุสลิมทั่วไปเป็นหลัก

3. การให้การสัตยาบันเป็นการชั่วคราว
                ในบางกรณีเกิดเหตุการณ์ต่างๆมากมายเช่นการเสียชีวิตของท่านเคาะลีฟะห์ การฟิตนะห์ต่างๆนาๆ ทำให้ประชาชนของเมืองเมืองนั้นได้ทำการคัดเลือกบุคคลที่เขาคัดสรรขึ้นมาเพือทำหน้าที่อะมีรของพวกเขาเป็นการชั่วคราวจนต่อเมื่อสามารถจะทำการคัดเลือกบุคคลอื่นที่ทุกฝ่ายเห็นชอบในโอกาสต่อไป เช่นในกรณีของการให้การสัตยาบันของชาวบัศเราะห์ต่อท่านอุบัยดุลลอฮ บิน ซียาด เป็นต้น

4. การถอดถอนอะมีรและการให้การสัตยาบันต่อบุคคลอื่น
                ในกรณีที่มีการถอดถอนท่านฮัจญาจออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งท่านอื่นให้ทำหน้าที่แทน

5 การสังหารอะมีรและแต่งตั้งบุคคลอื่น
                ในกรณีนี้มีการสังหารท่านยะซีดบิน อะบีมุสลิม





รูปแบบการปกครอง
                ลักษณะรูปแบบการปกครอง  สามารถที่จะแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบคือ            
1) การปกครองแบบทั่วๆไป (الإمارة العامة)  
2) การปกครองแบบเฉพาะเจาะจง (الإمارة الخاصة)[6]

1) การปกครองแบบทั่วๆไป (الإمارة العامة)
การปกครองโดยทั่วไปประกอบไปด้วยสองลักษณะ คือ
                1. การปกครองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ (إمارة استكفاء): เป็นการปกครองที่มีอะมีรที่ถูกแต่งตั้งโดยท่านคอลีฟะห์ และทำหน้าที่บริหารการปกครองแทนคอลีฟะห์ในดินแดนที่ได้รับมอบหมาย[7] ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุม 7 ประการ คือ
1.    การบริหารกองทัพ
2.    การพิจารณากฎหมายโดยยึดตามแนวทางของผู้พิพากษา
3.    การจัดเก็บภาษีและซะกาต
4.    การปกป้องศาสนา
5.    ดำเนินการบทลงโทษตามบัญญัติอิสลาม
6.    เป็นผู้นำในการดำเนินการกิจกรรมส่วนรวมต่างๆตลอดจนเป็นผู้นำละหมาด
7.    ให้ความสะดวกแก่บรรดาฮุจญาตทั้งในเขตและนอกเขตการปกครอง[8]

2.  การปกครองย่อย (إمارة استيلاء) : หมายถึงการปกครองที่อะมีรเป็นผู้แต่งตั้งผู้ปกครองเขตและได้รับการยอมรับและแต่งตั้งจากท่านคอลีฟะห์[9]
       
2) การปกครองแบบเฉพาะเจาะจง (الإمارة الخاصة)
อะมีรผู้ทำหน้าที่ปกครองลักษณะนี้จะมีอำนาจหน้าที่เฉพาะในการบริหารกองทัพ  ปกครอง
ประชาชนและปกป้องศาสนา  จะไม่มีหน้าที่ในการดำเนินการบทลงโทษและจัดเก็บภาษีใดๆทั้งสิ้น[10]

            บทสรุป
            ระบบข้าหลวงในประวัติศาสตร์อิสลาม เป็นระบบที่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยท่านรอซูล (ศ็อลฯ) จะมีการเปลี่ยนแปลงและแตกต่างกันตามความเหมาะสมกับยุคสมัย
                ด้วยสาเหตุหนึ่ง อณาจักรอิสลามได้แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางทำให้อณาเขตการปกครองก็ขยายไปตามกัน ทั้งนี้ ระบบข้าหลวงจึงมีความสำคัญยิ่ง และเป็นการกระจายงานที่มีระบบในประวัติศาสตร์อิสลาม



บรรณานุกรม

เชากี อบูคอลีล 1987, อัล ฮาฎอเราะฮฺ อัล อารอบียะอฺ, กุลียาตุล ดะวะฮฺ อัล อิสลามียะฮฺ

ซอฟิร อัล-กอซีมีย์ 1977 นิษอม อัล-ฮุกม ฟี อัล-ชารีอะห์ วา อัล-ตารีฆ อัล-อิสลามีย์, เบรุต : ดาร อัล-นาฟาอิส 

ฮาซัน อิบรอฮัม ฮาซัน และ อาลี อิบรอฮีม ฮาซัน (มปป) อันนูซุม อัล อิสลามียะฮฺ มักตาบะฮฺ อันนะฮฺร

อัลซอและห์ ศุบฮี 2001  อัลนุษุมอัลอิสลามียะห์, พิมพ์ครั้งที่ 13 เบรุต :สำนักพิมพ์ดาร อัลอิลมี

มุอญัม อัล-ลุเฆาะห์ อัล-ฟูกอฮาอู
               
พจนานุกรม  อาหรับไทย




[1] มุอญัม อัล-ลุเฆาะห์ อัล-ฟูกอฮาอู,หน้า 108      
[2] พจนานุกรม  อาหรับไทย ,หน้า 9
[3] ซอฟิร อัล-กกอซีมีย์ , นิษอม อัล-ฮุกม ฟี อัล-ชารีอะห์ วา อัล-ตารีฆ อัล-อิสลามีย์, ดาร อัล-นาฟาอิส,เบรุต,1977,หน้า 526
[4] อัลซอและห์ ศุบฮี, อัลนุษุมอัลอิสลามียะห์, สำนักพิมพ์ดาร อัลอิลมี, เบรุต, 2001 พิมพ์ครั้งที่ 13 หน้า 310
[5] แหล่งอ้างอิงเดียวกัน หน้า 311
[6]เชากี อบูคอลีล อัล ฮาฎอเราะฮฺ อัล อารอบียะอฺ กุลียาตุล ดะวะฮฺ อัล อิสลามียะฮฺ 1987 หน้า: 154.
[7] ซอฟิร อัล-กอซีมีย์ อ้างแล้ว หน้า 566.
[8] แหล่งอ้างอิงเดียวกัน
[9] เชากี อบูคอลีล อ้างแล้ว หน้า 566.
[10] แหล่งอ้างอิงเดียวกัน

2 ความคิดเห็น: