วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทฤษฎีสันติภาพ


ทฤษฎีสันติภาพ
เรียบเรียงโดย อ.กริยา  หลังปูเต๊ะ

·      มีการศึกษาทฤษฎีสันติภาพไว้อย่างกว้างขวางโดยมีความพยายามที่จะอธิบายความหมายและตีความคำว่า สันติภาพในแง่มุมที่ต่างกันออกไป
·      แง่มุมของสันติภาพที่น่าสนใจแง่มุมหนึ่งก็คือสันติภาพในมุมมองของสังคมศาสตร์ที่มีการวิเคราะห์สภาพของสันติภาพและแนวทางในการทำให้บุคคลในสังคมได้ตระหนักถึงแนวทางและเป้าหมายร่วมกันอันจะนำไปสู่สังคมที่มีความสงบสุขและสันตินั้นย่อมจะเป็นวิธีที่พึงประสงค์
·      ในมุมมองของนักสังคมวิทยาแล้วก็คือการศึกษาธรรมชาติของมนุษย์และธรรมชาติของสังคมมนุษย์ที่มีความโน้มเอียงไปในการเกื้อกูลกัน พึ่งพากัน พร้อมที่จะยอมรับซึ่งกันและกัน รวมถึงการอยู่ร่วมกันของมนุษย์โดยปราศจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่งเราจะเรียกลักษณะของสังคมดังที่กล่าวมานี้ว่าเป็นสังคมที่มีความสันติสุข

ปรัชญาสันติภาพในโลกตะวันตก
·      นักวิชาการชาวตะวันตกหลายท่านพยายามจะอธิบายปรัชญาของทฤษฎีสันติภาพ
·      ศาสตราจารย์ วิเซนต์ มาติเนส กูสมัน (Vicent Martinez Guzman) ผู้ซึ่งนับได้ว่าเป็นนักปรัชญาสันติภาพที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในโลกแห่งวิชาสันติศึกษาได้มองสันติภาพในเชิงสร้างสรรค์
·      ศาสตราจารย์ วิเซนต์ มาติเนส กูสมัน ได้บรรยายเกี่ยวกับปรัชญาสันติภาพไว้ในหนังสือ ปรัชญาเพื่อการสร้างสันติภาพ (ที่หลากหลาย) (Filosofia para hacer las paces) โดยมีการวิเคราะห์เกี่ยวกับสันติภาพและการพัฒนา โดยเนื้อหานั้นจะรวมถึงวิวัฒนาการของสันติศึกษาในโลกตะวันตก ไปจนถึงการเชื่อมโยงการใช้สันติวิธีและการพัฒนาสังคมในบริบทของโลกที่พัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา
·      กูสมันให้นิยามของสันติภาพไว้ว่า สันติภาพนั้นเกิดจากการตื่นตัวของผู้คนในแต่ละชุมชนที่จะสร้างสังคมแห่งสันติสุขในบริบทของแต่ละชุมชนเอง ในภาษาสเปน คำว่า สันติภาพ (Paz) สามารถใช้ในรูปของพหูพจน์ได้ เพราะฉะนั้นความหมาย ของคำว่า “Paces” นั้นก็คือความหลากหลายของสันติภาพ สันติภาพในหลากหลายบริบท และรูปแบบของสันติภาพที่สร้างขึ้นและดำรงอยู่โดยผู้คนในแต่ละกลุ่มชน
·      กูสมัน ได้เชื่อมโยงแนวคิดของสันติศึกษาในแง่มุมและมุมมองต่างๆเข้าด้วยกันที่เชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่จะสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางสังคมอันสันติสุขตั้งแต่ชุมชนขนาดเล็กจนถึงระดับชุมชนโลก
·      หลักความคิดทางสันติศึกษาเหล่านี้ตั้งอยู่บนรากฐานที่ว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพในการสร้างสรรค์และทำลาย ทฤษฎีและแนวทางการปฏิบัติทางสันติวิธีที่สร้างสรรค์จะช่วยนำพาให้มนุษย์ คิดและทำในสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว และคุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นก็จะส่งผลให้มีวิวัฒนาการของสันติวัฒนธรรมขึ้นในสังคมมนุษย์
·      กูสมันได้รับอิทธิพลทางความคิดด้านปรัชญาสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์จากแนวคิดและปรัชญาของ เอมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นนักปรัชญาที่นิยามความหมายของสันติภาพในเชิงสร้างสรรค์เป็นคนแรกๆ
·      ทฤษฏีสำคัญของนักปรัชญาท่านนี้ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างถึงในงานเขียนของ กูสมัน คือ สันติภาพอันสถาพร (Perpetual Peace) และ เป้าประสงค์แห่งกฎที่เป็นสากล” (Cosmopolitan intent) ซึ่งแนวปรัชญาทั้งสองนี้ได้ให้นิยามของความสามารถของมนุษย์ในการที่จะทำการใดๆที่จะเป็นคุณแก่ผู้อื่น กิจกรรมใดๆที่ทำโดยบุคคลใดๆก็ตามต่างก็อยู่ภายใต้เจตจำนง และผลแห่งการกระทำที่ผู้อื่นนั้นรับรู้ เข้าใจ และนับว่ากิจกรรมนั้นๆเป็นคุณด้วยจึงจะนับว่ากิจกรรมนั้นๆเป็นคุณธรรม
·         ในงานเขียนของกูสมัน เขาอ้างอิงนักสันติศึกษาที่โด่งดังท่านหนึ่ง คือ โจฮัน เกาล์ตุง (Johan Galtung) ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาของสันติศึกษายุคใหม่

ประวัติความเป็นมาของการศึกษาปรัชญาสันติภาพในโลกตะวันตก
การศึกษาปรัชญาสันติภาพร่วมสมัยในโลกตะวันตกนั้นสามารถแบ่งได้เป็นระยะๆดังต่อไปนี้
ระยะที่หนึ่ง คือการศึกษาสันติภาพเชิงลบและการศึกษาสันติภาพในแง่มุมของการศึกษาสงครามใน
·      ความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสภาวะที่ผู้คนต้องเจ็บป่วย ล้มตายเนื่องจากผลของสงคราม
·      มีความสอดคล้องกับห้วงเวลาที่โลกตะวันตกเพิ่งจะผ่านสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาหมาดๆ ชาวยุโรปได้รับความทุกข์อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามครั้งนั้นอย่างมาก
ดังนั้นการศึกษาทฤษฎีสันติภาพในยุคนั้นจึงเน้นไปที่การศึกษาสงครามและความเกี่ยวเนื่องของสงครามต่อสภาวะที่ก็ให้เกิดความไม่มีสันติภาพ การศึกษาช่วงนี้มีประเด็นทางความคิดที่น่าสนใจอยู่หลายประการ ดังนี้
1.           การวิเคราะห์เชิงคุณภาพของ (สภาวะ) สงคราม ซึ่งมีการศึกษาถึงสาเหตุของการทำสงครามโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ โดยการวิเคราะห์นำมาซึ่งความเห็นที่ว่าสงครามก่อกำเนิดจากการที่ มนุษย์มอง พวกเดียวกันเป็น เรา และมองผู้อื่นเป็น เขา ดังนั้นสงครามก่อกำเนิดโดยความมุ่งหมายที่จะขจัดความเป็นอื่นออกไปจากกลุ่มสังคมที่แสดงความเป็น เรา ตามหลักทฤษฎี “Polemology” –  (สงครามต่อต้านผู้ที่แปลกแยกจากเรา) นักวิชาการที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ก็คือ Kenneth Boulding, Herbert Kelman, และ นักคณิตศาสตร์ที่โด่งดัง Anatol Rapoport ผู้คิดค้น ทฤษฎีเกมส์ ทฤษฎีโครงข่ายสังคม และอีกหลายทฤษฎี และท่านผู้นี้ได้มีบทบาทที่สำคัญมากในการลดอาวุธนิวเคลียร์ในเวลาต่อมา
2.           ความพยายามที่จะอธิบายทฤษฎีสันติภาพตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในแบบตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับ ความทันสมัย (แบบตะวันตก) แบบอย่างตะวันตก ชาวผิวขาว และ ความเป็นชาย
3.           ความต่างระหว่างสงครามต่อ เขา (Polemos) และสงครามภายใน “Stasis” (civil war) – no war is civil (Guzman, 2001: 62 – 63) นักคิดหลายท่านในยุคนี้เห็นว่า ถ้าต้องการสันติภาพ(เรา)ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสงคราม (ในสุภาษิตไทยมีคำกล่าวว่า แม้หวังตั้งสงบจงเตรียมรบให้พร้อมพรั่ง ซึ่งน่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดแบบเดียวกัน)
4.           ในยุคนี้คำจำกัดความของ สันติภาพ ก็คือ สถานะที่ปราศจากสงคราม
5.           และในขณะเดียวกันความขัดแย้งถูกมองว่าเป็นเงื่อนไขด้านลบ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วย วิธีการแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict resolution)
6.           การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็ถูกจำกัดภายใต้ทัศนคติ ในแบบตะวันตก สมัยใหม่ คนขาว และเพศชาย (ซึ่งเป็นผลสะท้อนความคิดในช่วงที่ชาวตะวันตกเป็นเจ้าอาณานิคม)

ระยะที่สอง คือ ระยะที่สันติภาพถูกนำมารวมไว้กับการพัฒนา ในยุคนี้กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสันติภาพนั้นดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนาในด้านต่างๆ การศึกษาเรื่องสันติภาพ และทฤษฎีที่เกี่ยวกับสันติภาพก็มีการพัฒนาขึ้นและมีการอธิบายแนวคิดต่างๆที่สลับซับซ้อนมากขึ้น
ในยุคนี้การศึกษาปรัชญาสันติภาพได้รับการยอมรับมากขึ้นดังนี้
·      มีการจัดตั้งสถาบันที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยสันติภาพ ความรุนแรง ความขัดแย้ง และสันติวิธีขึ้นมากมายในทวีปยุโรป อเมริกา และประเทศญี่ปุ่น
·      ในปี ค.ศ. 1959 โจฮาน เกาว์ตุง ได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยสันติภาพขึ้น ณ. กรุงออสโลว ประเทศนอร์เวย์ นักวิชาการท่านนี้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของสันติวิธีร่วมสมัย และเป็นผู้ที่ให้คำจำกัดความของ สันติภาพเชิงบวก สันติภาพเชิงลบ ความรุนแรงทางโครงสร้างและวัฒนธรรม ฯลฯ
·      การศึกษาค้นคว้าและงานวิจัยในยุคนี้มักจะตั้งอยู่บนฐานความคิดในเรื่องสันติภาพเชิงบวกและการวิเคราะห์ความรุนแรงทางโครงสร้างรวมทั้งการสร้างความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน นอกเหนือไปกว่านั้นด้วยแนวคิดที่ว่าการพัฒนา (สังคม) ซึ่งเป็นรากฐานของการตอบสนองความต้องการพื้นฐานนั้นเป็นเครื่องมือที่จะเสริมสร้างศักยภาพของมนุษย์ หลายองค์กร (หรือรัฐ) จึงริเริ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาต่างๆ

ระยะที่สาม  คือระยะที่ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับการลดกำลังอาวุธ ให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ และการดูแลผู้อพยพ  ในระยะนี้มีพัฒนาการดังนี้
·      สันติศึกษาไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดไปจากยุคก่อนหน้ามากนัก
·      กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสันติภาพและสันติวิธีจะมุ่งเน้นไปที่การร่วมมือกัน (ทางสังคม) ในความพยายามที่จะกดดันให้ประเทศ (รัฐ) ต่างๆทั่วโลกได้ตระหนักถึงภยันตรายของการแข่งขันกันสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ และการรณรงค์การลดอาวุธประจำการเพื่อลดความตึงเครียดระหว่างรัฐ ในบรรดาอาวุธที่อยู่ในเป้าหมายการจำกัดจำนวนที่สำคัญก็คืออาวุธนิวเคลียร์
·      ในยุคนี้นักสันติวิธียังให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวที่จะสร้างความยอมรับ (ที่เท่าเทียมกัน) ระหว่างเพศหญิงและเพศชาย (เพศที่สามยังไม่ใช่ประเด็นหลัก) มีการเรียกร้องให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นความสำคัญและปฏิบัติต่อผู้หญิงด้วยมาตรฐานเดียวกันกับผู้ชาย
·      นอกเหนือไปกว่านั้นด้วยเหตุการณ์ของสงครามกลางเมืองในหลายพื้นที่นักสันติวิธีในยุคนี้ก็ได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลผู้อพยพอันเนื่องมาจากภัยสงคราม นอกเหนือไปกว่านั้นในจำนวนผู้อพยพเหล่านี้ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่อพยพด้วยเหตุผลทางการเมืองและเหตุผลทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ก็ต่ำกว่าระดับที่ยอมรับได้

ระยะที่จะก้าวไปสู่อนาคต อาจจะกล่าวได้ว่าระยะนี้ก็คือเวลาตั้งแต่ปัจจุบันนี้เป็นต้นไป สิ่งที่นักสันติศึกษาพยายามที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมก็คือ
·      วัฒนธรรมและวิธีการที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพ
·      ต้องการให้การศึกษาทางสันติภาพ ขยายขอบเขตุให้กว้างขวางขึ้นเพื่อสังคมในวงกว้างจะเข้าใจว่าสันติภาพ (รวมทั้งสันติวิธี ความขัดแย้ง และความรุนแรง) ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวหรือเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนจนยากที่จะเข้าใจ
·      นักสันติศึกษาต้องแสดงให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับสันติภาพ สันติวิธี ความขัดแย้ง และความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องที่สามารถจะเข้าใจและวิเคราะห์ได้โดยอาศัยความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์

ระยะปัจจุบัน การพัฒนาของสันติศึกษาดังนี้
·      ได้มีการขยายกรอบการศึกษาไปครอบคลุมแนวความคิดที่หลากหลายมากขึ้นซึ่งในแง่มุมของสังคมวิทยาแล้วความเชื่อมโยงกันของแต่ละอนุภาคของสังคมล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญควรค่าแก่การศึกษาทั้งสิ้น
·      แนวคิดของสันติศึกษาในยุคนี้เริ่มจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งในทางสัญลักษณ์แล้วเปรียบได้กับการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายทางสังคมครั้งนี้ กูสมันได้เสนอแนวคิดที่ว่าสังคมโลกนั้นมีวิวัฒนาการมาจากวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นความรู้ของสงครามและความรุนแรงมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว น่าจะถึงเวลาที่มนุษยชาติร่วมกันสร้างวัฒนธรรมที่จะนำมนุษย์ไปสู่สังคมที่มีความสันติสุข และสังคมสันติสุขก็จะสร้างสันติวัฒนธรรมต่อเนื่องกันไป
·      วัฒนธรรมสันติและสันติวัฒนธรรมนั้นจะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยที่สำคัญหลายประการ ดังที่จะนำเสนอพอสังเขปดังต่อไปนี้
1.           การมีทัศนคติและมาตรฐานร่วมกันในเรื่องของความยุติธรรม ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ต้องประกอบไปด้วยปัจจัยพื้นฐานที่มีมาในอดีตแต่ต้องเพิ่มขอบข่ายให้รวมถึงปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ อิสรภาพ เสรีภาพ ฯลฯ
2.           ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าความจำเป็นพื้นฐานที่กล่าวไปนั้นจะได้รับคำจำกัดความโดยที่สังคมกำหนดให้เป็นพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานหรือเป็นการสร้างสรรค์ในแนวคิดที่ใช้ร่วมกันได้
3.           ต้องให้ความสำคัญกับความหมายของความยุติธรรม ว่าความยุติธรรมนั้นจะเป็นการปรับเปลี่ยนของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพึงพอใจต่อปัจจัยพื้นฐานนั้นๆ ในกรณีนี้(ความยุติธรรม)ก็จะมีความก้าวหน้าและเคลื่อนไหวเสมอ หรือถ้ามองความยุติธรรมในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งความยุติธรรมในรูปแบบนี้ก็จะเป็นอุปสงค์ของการหาข้ออ้างของการไม่ยอมรับ (กลุ่มที่ไม่ใช่พวก) การจำกัดขอบเขต หรือการหาประโยชน์จากผู้อื่น ซึ่งความยุติธรรมประเภทหลังนี้จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการฉวยโอกาสได้
4.           กรอบความคิดแนวใหม่อาจจะต้องอยู่นอกกรอบเดิมหรือการเติมเต็มกรอบเดิมอาจจะต้องคิดนอกกรอบ

ปรัชญาสันติภาพและสันติวัฒนธรรมควรจะประกอบไปด้วยแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้คือ
1.           โลกที่คำนึงความมั่นคงของสังคมมนุษย์โดยรวมซึ่งความมั่นคงของสังคมโลกที่ว่านี้จะอยู่เหนือความสำคัญของความเป็นชาติ ซึ่งการดำรงอยู่ในลักษณะเช่นนี้ เอมมานูเอล คานท์ได้อธิบายไว้ว่ามนุษย์แต่ละคนมีความสามารถในการเปิดใจให้รับรู้และเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของกันและกันได้ แต่สังคมมนุษย์ไม่ควรยอมรับการถูกบังคับให้ยอมรับ
2.           สิทธิในการเป็นประชากรโลก ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีสิทธินี้จะได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้ที่ได้รับการต้อนรับมากกว่าการถูกรอนสิทธิในฐานะที่เป็น ผู้อื่น
3.           สิทธิในการเป็นประชากรโลก อันจะนำมาซึ่งการกระทำต่อกันในสถานะที่เป็นมนุษย์ดุจเดียวกัน ซึ่งเอมมานุเอล คานท์ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่ามนุษย์มีศักยภาพในการสร้างความรุนแรงเฉกเช่นเดียวกับความสามารถในการสร้างสันติภาพ แต่เขาเชื่อว่าถ้าเราปรารถนาจะให้ผู้อื่นทำดีกับเรา เราก็ย่อมจะทำดีกับผู้อื่นดุจเดียวกัน
4.           สิทธิในการเป็นประชากรโลก ซึ่งจะนำมาซึ่งความชอบธรรมที่จะเป็นในสิ่งที่แตกต่าง หรืออยู่ในวัฒนธรรมที่ต่างไป
5.           สิทธิในการเป็นประชากรโลก มีอำนาจเหนือกว่าความสัมพันธ์ของโลกาภิวัตน์ การครอบครองทรัพย์สินและการแลกเปลี่ยน เพราะกิจกรรมที่เป็นความสัมพันธ์ภายใต้ยุกโลกาภิวัฒน์นั้นไม่ได้แปลกแยกสิทธิของมนุษย์แต่ละคนบนพื้นโลกเพราะมนุษย์แต่ละคนก็ยังมีสิทธิ์ต่อผิวโลกในความเท่าเทียมกัน
6.           สิทธิในการเป็นประชากรโลก ก็คือสิทธิ์ที่จะได้รับการต้อนรับอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม เนื่องด้วยความเชื่อที่ว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นมีสิทธิ์ที่จะอยู่บนโลกใบนี้เท่าๆกันเพราะฉะนั้นไม่ว่ามนุษย์ผู้นี้จะอยู่ที่ใดก็ตามย่อมจะดำรงค์ไว้ซึ่งสิทธิ์นั้นโดยสมบูรณ์
7.           สิทธิในการเป็นประชากรโลก ควรที่จะปกปักรักษามนุษย์จากความรุนแรง
8.           สิทธิในการเป็นประชากรโลก ย่อมจะทำให้มนุษย์ยอมรับในสิทธิของผู้อื่น และพร้อมที่จะเข้าใจสังคมและวิถีการปกครองของผู้คนในสังคมที่แตกต่างจากที่ตนอยู่ ด้วยเหตุที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบเราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าเราดีกว่าคนอื่นหรือสังคมเราดีกว่าสังคมอื่น
9.           สิทธิในการเป็นประชากรโลก ย่อมรักษาไว้ด้วยสิทธิ์ที่จะได้รับและเข้าถึงการพัฒนา และการปกครองโดยประชาชนในรูปแบบของประชาธิปไตยที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด การที่มนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างต่อเนื่องจะเป็นเครื่องมือที่จะให้สังคมมนุษย์ได้เริ่มที่จะก้าวเข้าสู่การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้

เอกสารประกอบการสอนรายวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น