ความเป็นมา
หลังจากที่ท่านศาสนามูฮำหมัด (ซ.ล.) ได้เสียชีวิตลง นักประวัติศาสตร์มุสลิมส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่า ท่านมิได้แต่งตั้งผู้ใดให้สืบทอดตำแหน่งแทน แม้ผู้คนจะยังตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมและปฏิบัติตามท่านอยู่ แต่เรื่องของผู้นำที่จะเป็นศูนย์รวมอำนาจนั้นจำเป็นต้องมีอยู่ และนั่นคือที่มาของการปกครอง “คอลีฟะห์”ผู้นำที่ต้องใช้อำนาจให้เป็นไปตามบทบัญญัติของคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะห์ของท่านศาสดา (ซ.ล.)
คอลีฟะห์ถูกนิยามว่าเป็นประมุขของรัฐ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยไม่ถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญหรือสถาบันการเมืองใดๆ คอลีฟะห์ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เผยแพร่คำประการแห่งศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าสู่มวลมนุษยชาติ พวกเขาได้ถือธงแห่งอิสลามและนำมันไปปักไว้ทั่วทุกมุมโลกอย่างเกรียงไกร คำสอนของท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้ให้ชีวิตใหม่แก่เขาเหล่านั้น และเพียงระยะเวลา 23 ปี มุสลิมได้สร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่กว่าอาณาจักรโรมันและเปอร์เซียขึ้นได้
แต่ทางเดินของระบบการปกครองดังกล่าว หาใช่ถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเส้นทางไม่ ยังมีอุปสรรคขวากหนามอีกมากมาย จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงทางด้านทัศนคติและความคิดเห็นในระหว่างกลุ่มมุสลิม จนกลายเป็นการแบ่งแยกซึ่งมิใช่เกิดมาจากมูลเหตุทางศาสนาหรือการศรัทธาแต่อย่างใด แต่เกิดมาจากความขัดแย้งทางการเมืองการปกครอง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าการขัดแย้งดังกล่าวถือเป็นความเลวร้าย(ฟิตนะห์) ดังมีรายงานโดยท่านบุคอรี จากท่านหญิงซัยหนับบุตรีญะฮซฺว่า “ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้ตื่นขึ้นจาการนอนด้วยความตกใน พลางอุทานว่า ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮ์ ความพินาศจะเกิดขึ้นกับชาวอรับ จากความชั่วร้ายที่คืบคลานใกล้เข้ามา” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับมุสลิมหลังจากท่าน (อบูซะฮ์เราะห์, มปป:11)
อุดมการณ์ของแต่ละกลุ่มลัทธิที่แยกตัวออกมานั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งบางครั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลง บิดเบือนหลักการไปบ้าง เพื่อการแสวงหาแนวร่วม พวกพ้องและผู้มีรสนิยมในความคิดเดียวกัน กลุมหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะนำมากล่าวในที่นี้ก็คือ กลุ่มอัลคอวาริจ (الخوارج)
ใครคืออัลคอวาริจ ?
อัลคอวาริจคือกลุ่มลัทธิทางการเมืองกลุ่มใหญ่ ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม มีบทบาทยาวนานในรัฐอิสลาม พวกเขาได้เผยแพร่แนวความคิดทางการเมืองไปอย่างกว้างขวางทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกของอรับ รวมไปถึงเมืองต่างๆ ในเขตอาฟริกาเหนือ โมร็อคโคและประเทศใกล้เคียง
ความหมายของอัลคอวาริจ
ในด้านภาษา คำว่าอัลคอวาริจนั้นเป็นพหูพจน์ของคำว่า “คอริญุน” ซึ่งนักภาษาศาสตร์ได้ให้ความหมายว่า คือกลุ่มชนที่อ้างเหตุผลในการแยกตัวออกจากศาสนา หรือออกจากคอลีฟะห์อาลี (ร.ด.) หรือออกจากผู้นำทั่วไป (อะวาญีย์, มปป:66)
ในหนังสืออัลมัวะอ์ญัมอัลวะซีฏ กล่าวว่า อัลคอวาริจคือกลุ่มหนึ่งจากกลุ่มต่างๆ ของอิสลาม พวกเขาได้แยกตัวออกจากท่านอาลี (ร.ด.) และปฏิเสธทัศนะของท่าน คำนี้ใช้สำหรับบุคคลใดก็ตามที่แยกตัวออกจากผู้นำ (อัลมัวะอ์ญัมอัลวะซีฏ, มปป:233)
ในหนังสืออัลมุนญิด กล่วว่า อัลคอวาริจเป็นกลุ่มการเมืองที่เก่าแก่ของอิสลาม พวกเขาแยกตัวออกจากท่านอาลี (ร.ด.) ในสงครามซิฟฟีน มีการตั้งค่ายทหารที่เมืองฮะรูรออ์ ใกล้กับเมืองกูฟะห์ พวกเขาได้เข้าทำสงครามกับท่านอาลี (ร.ด.) ที่เมืองอันนะห์ร่อวาน จนพ่ายแพ้แตกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย และได้วางแผนสังหารท่านอาลี (ร.ด.) จนสำเร็จ (อัลมุนญิด, มปป:234)
ในด้านเทคนิค นักวิชาการต่างมีทัศนะที่แตกต่างกัน โดยบางท่านได้ใช้คำนิยามทั่วไปคือ กลุ่มที่ถอนตัวออกจากผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้องตามหลักการ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใหนก็ตาม
นักวิชาการบางท่านได้จำกัดความหมายกลุ่มนี้ว่า เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกจากท่านอิหม่ามอาลี (ร.ด.) โดยเฉพาะ เนื่องจากไม่พอใจการตัดสินใจของท่าน ในการประนีประนอมกับท่านมุอาวิยะห์ ซึ่งทัศนะนี้เป็นทัศนะที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด
ส่วนฝ่ายคอวาริจเอง ได้มีทัศนะว่า คำว่า “อัลคอวาริจ” มาจากคำที่มีความหมายว่า การออกไปสู่หนทางของอัลลอฮฺตาอาลา (อับดุลฮะมี๊ด, 1984:89) โดยยืนยันจากอัลกุรอานที่ว่า
“และบุคคลที่อพยพสู่หนทางของอัลลอฮฺ เขาจะพบว่าในแผ่นดินนี้มีสถานที่ๆ ควรอพยพไปมากมายและไฟศาล” (4:100)
กำเนิดคอวาริจ
ทัศนะที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดคือ เกิดขึ้นในสมัยท่านคอลีฟะห์อาลี (ร.ด.) เพราะประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าหลังจากสงครามซิฟฟีนใกล้สิ้นสุด โดยมุอาวีวะห์เป็นฝ่ายที่เพลี้ยงพล้ำต่อท่านอาลี (ร.ด.) ทั้งๆที่มีพลทหารมากกว่า แต่ด้วยความชาญฉลาดของท่านอัมร์บุตรอัลอาศ แม่ทัพฝ่ายมุอาวียะห์ ได้ออกคำสั่งให้ค้นหามุศอัฟ(คัมภีร์อัลกุรอาน) และแขวนที่ปลายหอกชูขึ้น พร้อมร้องตะโกนในสนามรบว่า นี่คือคัมภีร์แห่งพระเจ้า ซึ่งเป็นผู้ตัดสิน (ฮากิม) ระหว่างท่านอาลี (ร.ด.) กับท่านมุอาวียะห์ เมื่อได้ยินดังนั้นกองกำลังของท่านอาลีบางท่าน ได้คล้อยตามและร้องขอให้ท่านอาลีวางอาวุธ แต่อีกบางส่วนเข้าใจถึงเล่ห์กลของข้าศึก ซึ่งเป็นเพทุบายอย่างหนึ่งในสงคราม ท่านอาลีเองก็ไม่ต้องการพักรบและหยุดการไล่ล่าข้าศึก แต่ท่านต้องยอมทำตามเพราะส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการหยุดรบ ท่านจึงยอมพักรบแม้สถานการณ์ในขณะนั้นยังได้เปรียบอยู่ บรรยากาศได้กลับสู่ความสงบอีกครั้ง
การยินยอมของทุกฝ่ายที่จะจัดให้มีการประชุมยุติศึก(ตะฮ์กีม)ขึ้น ทำให้ฝ่ายคอลีฟะห์อาลี (ร.ด.) ต้องอ่อนกำลังลง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ซอฮาบะห์บางกลุ่มที่อยู่ข้างท่านอาลี ถอนตัวเป็นจำนวนมาก พวกเขาคาดว่าการประชุมดังกล่าวแฝงด้วยเล่ห์กลทางการเมืองอีกมา และสติปัญญาของมนุษย์ไม่สามารถชี้ขาดได้ การตัดสินต้องเป็นของอัลลอฮฺเท่านั้น กลุ่มบุคคลที่แยกตัวออกจากท่านอาลี (ร.ด.) นี้เป็นที่รู้จักในนาม “อัลคอวาริจ”
ตามประวัติศาสตร์ กลุ่มนี้แยกตัวออกจากท่านอาลี (ร.ด.) มีมากถึง 12,000 คน โดยเดินทางไปรวมกันที่สถานที่แห่งหนึ่งชื่อว่า ฮะรูรออ์ โดยใช้คำขวัญว่า “การตัดสิน(ตะฮ์กีม)เป็นของอัลลอฮฺเท่านั้น” พวกเขามีความเห็นว่าการที่ท่านอาลี (ร.ด.) ยอมรับการตัดสินดังกล่าว ถือว่าหันเหออกจากฮุก่มของอัลลอฮฺ ดังนั้นท่านอาลีกับท่านมุอาวียะห์จึงมีความผิดทั้งคู่ (อับดุลกอรี แปลโดยดลมนรรจน์ บากา, 2537:114-115) ความผิดของท่านอาลีคือการยอมรับคำตัดสิน ส่วนความผิดของมุอาวียะห์คือการไม่ยอมรับการเป็นคอลีฟะห์ของท่านอาลี
สาเหตุใหญ่ในการเป็นกบฎของกลุ่มคอวาริจ
1. การขัดแย้งกับฝ่ายปกครอง ถือเป็นสาเหตุใหญ่ที่ฝ่ายนี้กล่าวอ้าง พวกเขามีความเห็นว่าผู้ปกครองที่ดำรงตำแหน่งอยู่นั้นไม่เหมาะสม ขาดคุณสมบัติและความชำนาญทางการเมือง การกำหนดให้ตระกูลกุเรชเป็นฝ่ายปกครองดูแลกิจการนั้น ถือเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการขัดแย้งของท่านอาลีกับท่านมุอาวียะห์นั้น นับว่าเป็นความเลวร้ายที่สุดเท่าที่มีมาในหน้าประวัติศาสตร์
2. ประเด็นการประชุมยุติศึก(ตะฮ์กีม) โดยที่ท่านอาลีได้ขานรับข้อเสนอดังกล่าว ทั้งๆที่กำลังได้เปรียบอยู่ สิ่งนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่ฝ่ายคอวาริจนำมากล่าวอ้าง และขอแยกตนออกไปในที่สุด
3. ความอธรรมของฝ่ายปกครองและการแพร่หลายของความเลวร้าย ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างของพวกนี้ ในความเป็นจริงแล้วพวกเหล่านี้กลับกลายเป็นผู้สร้างความเดือดร้อนเสียเอง พวกเขายังมีทัศนะว่าการทำสงครามกับผู้ที่มีทัศนะไม่ตรงกับพวกรน ถือเป็นการทำความใกล้ชิดพระเจ้า
4. ความคลั่งไคล้ในเผ่าพันธ์ตนเอง เป็นที่ทราบกันดีว่าฝ่ายคอวาริจส่วนใหญ่มาจากเผ่าร่อบีอะห์ซึ่งเป็นเผ่าที่ต่ำต้อย ไม่มีเกียรติยศและศักดิ์ศรีตามความคิดของพวกเขา เนื่องจากฝ่ายปกครองตั้งแต่ท่านศาสดา (ซ.ล.) ท่านอบูบักร์ ท่านอุมัร ท่านอุสมานและท่านอาลี ล้วนอยู่ในเผ่ามุด็อรซึ่งเป็นต้นตระกูลของกุเรซทั้งสิ้น
นโยบายและอุดมการณ์ของอัลคอวาริจ
อุดมการณ์หรือแนวคิดของอัลคอวาริจถือว่าชัดเจนมาก โดยเฉพาะการตัดสินการเป็นกุโฟรสำหรับผู้ที่พวกเขาเห็นว่าละเมิดหลักการของศาสนา และกล่าวโจมตีลูกหลานของเผ่ากุเรชและทุกเผ่าที่มาจากตระกูลมุด็อร หลักการสำคัญๆ หรืออุดมการณ์มีดังนี้
1. ตำแหน่งคอลีฟะห์จะต้องได้มาโดยการเลือกตั้งอย่างเสรี จากมวลมุสลิมทังหมด มิใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คอลีฟะห์จะต้องดำรงความยุติธรรมและปฏิบัติตามหลักการอย่างเคร่งครัด ห่างไกลจากความผิดและการเอนเอียง หากผู้นำออกนอกลู่นอกทาง จำเป็นต้องปลดออกจากตำแหน่ง หากยังดื้อดึงก็ให้สังหารเสีย
2. ตำแหน่งคอลีฟะห์จะไม่จำกัดเพียงลูกหลานของเผ่ากุเรชหรือชาวอรับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ถ้าผู้นำมิใช่ชาวกุเรช จะง่ายต่อการปลดหรือสังหารในกรณีฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า เพราะไม่มีการถือชาตินิยมเข้ามาเกี่ยวข้องหรือมาคุ้มครองได้ ซึ่งผู้นำของฝ่ายคอวาริจทุกคนมิใช่ชาวกุเรช
3. กลุ่มนัจดาตมีทัศนะว่า ตำแหน่งผู้นำไม่มีความจำเป็นสำหรับกลุ่มชนที่มีความยุติธรรมให้แก่กัน การแต่งตั้งผู้นำเป็นเรื่องอนุญาตให้ทำได้เท่านั้น
4. ผู้กระทำบาปใหญ่ตกเป็นกาเฟร(ผู้ไม่ศรัทธา) ไม่ว่าจะมีความผิดใดก็ตาม หากขัดแย้งกับความถูกต้องในทัศนะของพวกเขาแล้ว ถือว่าตกเป็นกาเฟรทั้งหมด พวกเขาจึงตัดสินท่านอาลีว่าเป็นกาเฟร เพราะยอมรับการประชุมยุติศึก(ตะฮ์กีม) และตัดสินท่านอุสมานว่าเป็นการเฟร เพราะบกพร่องต่อหน้าที่คอลีฟะห์ เป็นต้น (อบูซะฮ์เราะห์, มปป:63)
ปรัชญากลุ่มคอวาริจกับแนวคิดเรื่องผู้นำ
เรื่องผู้นำถือเป็นปัญหาใหม่ของอัลคอวาริจ และเป็นสาเหตุแรกที่ทำให้พวกเขาต้องแยกตนออกเป็นอิสระ นับตั้งแต่สมัยคอลีฟะห์อาลี (ร.ด.) เรื่อยมาจนถึงสมัยของราชวงศ์อุมัยยะห์และช่วงต้นของราชวงศ์อับบาซียะห์ พวกเหล่านี้จะยกประเด็นเรื่องการเป็นผู้นำนี้มาเป็นข้ออ้างในการปฏิบัติการณ์โค่นล้มอำนาจที่พวกเขาเห็นว่าไม่ยุติธรรม โดยใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งการกล่าวหาผู้นำว่าไม่เหมาะสมกับการบริหารบ้านเมือง การปลุกระดมในการกำหนดคุณสมบัติของผู้นำที่ถูกต้อง การตรวจสอบผู้นำและจุดยืนในการต่อต้านผู้นำที่ทุจริตต่อหน้าที่ เป็นต้น
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกโศกนาฎกรรมครั้งสำคัญคือ การฆาตกรรมท่านอาลี (ร.ด.) ซึ่งเกิดจากความร่วมมืออย่างลับๆ ของพวกคอวาริจ ที่ได้ดำเนินการตามแนวคิดเรื่องผู้นำที่ทุจริต ความเด็ดเดี่ยวและความเฉียบขาดในอันที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้กลุ่มคอวาริจนี้ได้ประชุมกันเพื่อวางแผนการร้าย สังหารบรรดาผู้นำ คือท่านอาลี ท่านมุอาวียะห์ และท่านอัมร์ยบุตรอาศ ซึ่งเป็นผู้ชี้ขาดในกรณีประชุมยุติศึก (ตะฮ์กีม) ให้ตายไปพร้อมๆกัน (อับดุลลอฮ์ อัลกอรี แปลโดยดลมนรรจน์ บากา, 2537:135-136) ตามความคิดเห็นของพวกเขานั้น บุคคลทั้งสามนี้เป็นต้นเหตุให้เกิดความแตกแยกและการเข่นฆ่าในหมู่ประชาชาติมุสลิมด้วยกัน ปฏิบัติการณ์เริ่มต้นพร้อมๆกัน และจบลงที่ท่านคอลีฟะห์อาลีเพียงท่านเดียวเท่านั้น ที่ถูกสังหารในขณะที่ท่านกำลังเดินไปมัสยิด
ความสำคัญของผู้นำ
ผู้นำถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคม ประชาชนจะได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากการบริหารงานของผู้นำที่ดี มีความรู้ความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆของประชาชนได้
สำหรับฝ่ายคอวาริจแล้ว ทัศนะเรื่องผู้นำสามารถแยกได้ 2 กลุ่มคือ
1. ส่วนใหญ่ของกลุ่มมีความเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีผู้นำ ตราบใดที่สถานการณ์ทางสังคมมีความต้องการ
2. กลุ่มที่มีความเห็นว่า ตำแหน่งผู้นำไม่มีความจำเป็น หากประชาชนมีความยุติธรรมให้แก่กันและกัน กลุ่มนี้ได้แก่กลุ่มอัลมุฮักกะมะห์ อัลนัจดาดและอับอิบาฎียะห์
กลุ่มผู้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นในเรื่องผู้นำ ได้อ้างเหตุผลไว้ว่าอุดมการณ์ที่ว่า “ไม่มีการตัดสินใดๆ นอกจากเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺเท่านั้น” ถือว่ามีความหมายที่ตรงตัวและชัดเจน ไม่มีประโยชน์อะไรในการจัดตั้งรัฐบาล ข้อชี้ขาดใดๆก็ตามไม่ใช่หน้าที่ของมนุษย์ ดังนั้นความจำเป็นจริงๆ คือการดำเนินตามบทบัญญัติของศาสนา หากมนุษย์ทุกคนทำตามนั้นผู้นำก็ไม่จำเป็นต้องมี และที่สำคัญอัลกุรอานและอัลหะดีษมิได้ชี้แจงหรือวางกฏเกณฑ์เอาไว้อย่างชัดเจนในกรณีดังกล่าวนี้ด้วย (อะวาญีย์, มปป:113)
แม้พวกเหล่านี้จะมองไม่เห็นความจำเป็นในการมีผู้นำ แต่ความเป็นจริงแล้วในกลุ่มพวกเขานี้ก็มีผู้นำกลุ่มเช่นเดียวกัน เพราะทุกครั้งที่มีการขัดแย้งเกิดขึ้นภายในกลุ่ม จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พวกเขาจะแยกตัวออกไปตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมาอีกพร้อมผู้นำคนใหม่ ดังนั้นแนวคิดดังกล่าวจึงเป็นเพียงความคิดลอยๆ ที่ไร้ซึ่งการนำมาปฏิบัติ
เงื่อนไขการเป็นผู้นำ
อัลคอวาริจได้วางกฏเกณฑ์ไว้อย่างรัดกุมและเข้มงวด แก่ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำ โดยประชาชนทั้งหมดจะต้องยินยอมกับผลการเลือกตั้ง หากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่พอใจ ถือว่าการเลือกตั้งไม่สมบูรณ์และเป็นโมฆะ การเลือกผู้นำจะไม่พิจารณาว่าจะอยู่ในตระกูลใด เชื้อชาติใด พวกคอวาริจไม่ไห้ความสำคัญกับเงื่อนไขการเป็นชาวกุเรช แม้จะมีรายงานจากท่านศาสดามูฮำหมัด (ซ.ล.) ก็ตาม
เงื่อนไขผู้นำตามทัศนะของฝ่ายคอวาริจมีดังนี้
1. ผู้นำจะต้องยึดมั่นในหลักการอย่างบริสุทธิใจ ทั้งในด้านอิบาดะห์และอะกีดะห์ ตามความเข้าใจของพวกเขา
2. ผู้นำจะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีความตั้งใจจริง มีความคิดริเริ่ม มีความกล้าหาญและกล้าตัดสินใจ
3. ผู้นำจะต้องไม่บกพร่องในการศรัทธา ไม่หมดมุ่นในความผิดทั้งเล็กและใหญ่ แม้ว่าเขาจะสารภาพผิด(เตาบะห์)ตัวแล้วก็ตาม (อะวาญีย์, มปป:113)
การตรวจสอบผู้นำ
กลุ่มคอวาริจมีกฏเกณฑ์ในการตรวจสอบผู้นำที่เข้มงวดมาก ซึ่งแตกต่างกับแนวคิดกลุ่มชีอะห์ พวกเขาจะคอยพิจารณาถึงตัวผู้นำว่าจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี มีความยุติธรรมทั้งด้านวาจาและการกระทำ โดยไม่มีข้อบกพร่องแม้จะเล็กน้อยก็ตาม ผู้นำจะต้องตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่าควรจะอยู่ต่อไปหรือไม่ และถือเป็นเรื่องแปลกที่ว่าหากผู้นำทำผิดตกเป็นกุโฟร และผู้ตามกลับปล่อยวางไม่เอาผิด ถือว่าผู้ตามก็ตกเป็นกุโฟรด้วย นั่นไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดฝ่ายคอวาริจจึงได้แตกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมากมาย มีการรบราฆ่าฟันกันในระหว่างกลุ่มอยู่บ่อยครั้ง
กลุ่มคอวาริจในปัจจุบัน
อัลคอวาริจในประวัติศาสตร์อิสลามยังมิได้ดับสูญไป อุดมการณ์และแนวปฏิบัติยังคงมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะคอวาริจอิบาฎียะห์ ที่แตกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ยังคงหลบซ่อนและจะเผยให้เห็นแนวคิดที่รุนแรงเป็นระยะๆ เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มหนึ่งที่ใช้แนวคิดนี้ได้ถือกำเนิดเปิดตัวขึ้นพร้อมกับนโยบายอันแข็งกร้าว นั่นก็คือ “กลุ่ม ญะมาอะตุ้ลตักฟีรวัลฮิจเราะห์” ซึ่งได้ประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่าพวกเขาคือผู้ที่จะนำอิสลมอันแท้จริงมาสู่ประชาชนผู้ศรัทธาทุกคน (อะห์มัด ญะลีย์, 1988:108)
เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวทางของกลุ่มนี้ค่อนข้างจะรุนแรง มีการชักจูงคนหนุ่มสาวให้เข้าร่วมการต่อสู้ครั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้คนเหล่านั้นมายอมรับหลักการก็คือ การชูประเด็นการบริหารที่ล้มเหลวของผู้นำโลกอิสลาม ที่ละเมิดบทบัญญัติของศาสนา ยึดเอากฏหมายของมนุษย์ผู้ที่จ้องทำลายล้างอิสลามมาใช้ และกล่าวหาบรรดาผู้รักอัลลอฮฺอย่างแท้จริงว่าเป็นพวกก่อกวน มีการตัดสินลงโทษในรูปแบบต่างๆ เพียงแค่พวกเขาเปล่งเสียงออกมาว่าพระเจ้าของเราคืออัลลอฮฺ และเรียกร้องให้นำแนวทางอันแท้จริงกลับคืนสู่สังคมเท่านั้นเอง
อ้างจาก http://www.miftahbandon.org/data/index.php?option=com_content&view=article&id=17:2009-08-25-04-03-52 วันที่ 9-2-2554.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น