นักฟื้นฟูอิสลาม ซัยยิด กุฎบฺ
นักคิดและนักปฏิวัติในการรื้อฟื้นอิสลาม
ซัยยิด กุฎบฺ แกนนำของญะมาอะฮฺอิควาน อัล มุสลิมูน(ขบวนการภราดรภาพมุสลิม) เป็นผู้ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อคนหนุ่มสาวมุสลิมอาหรับในช่วงปลายทศวรรษที่ ๒๐ นักเขียนตะวันตกในยุคปัจจุบันต่างมีความเห็นว่าท่านคือหนึ่งในสองของผู้มีอิทธิพลสูงสุดต่อนักคิดมุสลิมในศตวรรษนี้ อีกท่านหนึ่งนั้นคือ ซัยยิด อบุล อะอฺลา อัล เมาดูดียฺ
งานเขียนของซัยยิด กุฎบฺ ก่อนปี 1951 มีลักษณะไปทาง “นักศีลธรรม” หลังจากที่ท่านได้ศึกษาแนวคิดของซัยยิด เมาดูดีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญในประเด็นที่ว่า อิสลามคือระบอบชีวิตที่สมบูรณ์ และ การสถาปนากฎหมายของอัลลอฮฺขึ้นบนโลกนี้เป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของบรรดามุสลิม ได้เปลี่ยนแปลงท่านสู่ลักษณะแบบ “นักปฏิวัติ”
การใช้ชีวิตอยู่ชั่วคราว 2 ปี ( 1948 – 1950 ) ในสหรัฐอเมริกาของท่าน ได้เปิดโลกทัศน์ให้ท่านได้เห็นถึงความเลวร้ายของวัฒนธรรมตะวันตกและอุดมการณ์ที่ไม่ใช่อิสลามทั้งหลาย
หลังจากการเดินทางกลับสู่อียิปต์ ซัยยิด กุฎบฺได้ลาออกจากงานในกรมการศึกษา และอุทิศตัวของท่านเพื่ออุดมการณ์ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งระบบ อุดมการณ์ของอิควานมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้นเมื่อท่านซึ่งถูกจองจำอยู่ในห้องขัง ท่านได้เขียนหนังสือปรับปรุงแนวคิดความใฝ่ฝันของ อัช ชะฮีด ฮะซัน อัล บันนา ซึ่งปรารถนาจะสถาปนารัฐอิสลามขึ้นในอียิปต์หลังจากที่ได้ทำให้ชาติแปรเปลี่ยนสู่อิสลามทั่วทุกด้านแล้ว ซัยยิด กุฎบฺ กลับเสนอทัศนะว่า อันดับแรกนั้น แนวหน้าของการปฏิวัติจะต้องสถาปนารัฐอิสลามขึ้นก่อน ต่อจากนั้นถึงกำหนดโครงการเปลี่ยนสังคมอิยิปต์ – ที่หันเหไปสู่อุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับ - ให้กลายเป็นสังคมอิสลาม ช่วงระยะเวลา 11 ปีหลังกำแพงคุกเปิดโอกาสให้ซัยยิด กุฎบฺ ได้ยืนยันสิ่งที่ท่านประจักษ์แก่ใจจากงานเขียนของเมาดูดีย์ และนั้นนำไปสู่คำสั่งประหารชีวิตของท่านจากรัฐบาลเซคคิวลาร์นัสเซอร์ ในข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง
กำเนิดและตระกูลของซัยยิด กุฎบฺ
ซัยยิด กุฎบฺ (Sayyid Qutb) ถือกำเนิดเมื่อ 8 ตุลาคม1906 ในหมู่บ้านโมชา แคว้นโคฮา จังหวัดอาสยูต ในอียิปต์ หรือมีชื่อเรียกกันอย่างมักคุ้นอีกอย่างว่า เมืองอับดุลฟะตาฮฺ เมืองมูเชะฮฺ หรือมูชาหากพิจารณาด้านภูมิศาสตร์จะเห็นว่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูงของอิยิปต์ ใกล้กับแม่น้ำไนล์ พลเมืองส่วนใหญ่ในเมืองนี้เป็นมุสลิม ขณะเดียวกันมีพลเมืองส่วนน้อยนับถือศาสนาคริสต์อาศัยอยู่ในเมื่องนี้เช่นกัน
บิดาของท่านคือ ฮัจญฺ กุฏบฺ อิบนุ อิบรอฮีม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นผู้เคร่งครัดศาสนาในหมู่บ้าน และมารดาของท่านก็เป็นสตรีผู้ยึดมั่นอย่างมั่นคงในศาสนาจากครอบครัวที่มีชื่อเสียง เป็นผู้ซึ่งคอยห่วงใยตัวท่านและน้องสาวทั้งสองของท่าน ฮามิดะฮฺและอามินะฮฺ และน้องชายของท่านมุฮัมมัด
บิดา ของท่าน ฮัจญีกุฏุบ อิบรอฮีม ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำของสายตระกูล แต่หลังจากบิดาของท่านได้เสียชีวิตลงอำนาจผู้นำครอบครัวก็ตกอยู่ในมือของซัย ยิดกุฎุบ คุณลักษณะพิเศษประการหนึ่งของซัยยิด คือ ชอบบริจาคแก่คนยากจน การบริจาคของซัยยิดถึงขั้นที่ว่าเมื่อทรัพย์สินของท่านหมด ท่านจะแบ่งพื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนขายเพื่อนำเงินมาบริจาคแก่คนยากจน พื้นแล้วพื้นเล่า จนกระทั่งบ้านหลังใหญ่ที่ส่วยงามท่านก็แบ่งขายเพื่อนำเงินไปบริจาค กิจวัตรประจำปีของซัยยิดคือ เมื่อวันอีดฟิฏริ อีดกุรบาน วันอาชูรอ วันนิศฟูชะฮฺบาน วันขึ้นมิอฺราจญ์ของศาสดา (ซ็อล ฯ) และเดือนเราะมะฏอนเวียนมาถึง ท่านจะจัดให้มีการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานภายในบ้านของท่าน เพื่อความเหมาะสมตามเทศกาลดังกล่าว หลังจากอัลเชิญเสร็จสิ้นแล้ว ท่านจะจัดเลี้ยงอาหารอย่างดี คุณลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของซัยยิด อันเป็นมรดกตกทอดที่บิดาได้พร่ำสอนเอาไว้คือ ความนอบน้อมถ่อมตน
สภาพครอบครัวของซัยยิด
ฮาจญีกุฎุบ อิบรอฮีม ในชีวิตของท่านได้สมรส 2 ครั้ง การแต่งงานครั้งแรกของท่านได้ให้กำเนิดบุตรสาว 1 คน ส่วนการสมรสครั้งที่ 2 ท่านให้กำเนิดบุตร 5 คน เป็นธิดา 3 คน และเป็นบุตรชาย 2 คน ทั้งหมดเมื่อถึงวัยบรรลุนิติภาวะได้ร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐบาล และทั้งหมดได้ลิ้มรสการทรมานและการถูกจองจำในเรือนจำ เมื่อซัยยิดกุฏุบถูกจับกุมในฐานะที่เรียกร้องอิสลามท่านได้ถูกนำตัวไปคุมขัง ไว้ในเรือนจำ ต่อมาน้องสาวของท่าน นะฟีซะฮฺ หลานชายของท่าน รุฟิอัต และอัซมี ก็ถูกจับกุมและส่งไปคุมขังในที่เดียวกัน ทั้งหมดถูกกลั่นแกล้งและได้รับการทรมานจากเจ้าหน้าที่ขุมขัง หลังจากนั้นไม่นาน นะฟีซะฮฺ ได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ แต่บุตรชาย 2 คน ของเธอต้องได้รับโทษถูกขุมขังต่อไป รัฐบาลต้องการให้รุฟิอัต ต่อต้านน้าชายของตนโดยเป็นพยานเท็จแก่ซัยยิดกุฎุบ ถ้าเขาทำเช่นนั้นเขาจะได้รับอิสรภาพ แต่รุฟิอัต ไม่ยอมรับเงื่อนไขของรัฐบาล เขาสู้ทนรับการทรมานและการกลั่นแกล้งต่อไป แต่เนื่องจากได้รับการทรมานอย่างหนักทำให้ รุฟิอัต ได้ชะฮีดในเวลาต่อมาในเรือนจำนั่นเอง แต่น้องชายของเขา อัซมี ได้รับอิสรภาพในเวลาต่อมา
น้อง สาวอีกท่านหนึ่งของซัยยิดกุฏุบนามว่า อะมีนะฮฺ และฮะมีดะฮฺ และน้องชายของท่านนามว่า มุฮัมมัด กุฎุบ ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก มูฮัมมัด กุฎุบ ได้ถือกำเนิดในปี ค.ศ. 1919 แต่เนื่องจากท่านเป็นนักต่อสู้กับความอธรรมทางการเมืองมาโดยตลอด ทำให้ท่านได้มีโอกาสสมรสเมื่อมีตอนอายุถึง 50 ปี ขณะนั้นท่านได้เดินทางไปประเทศซาอุดิอารเบีย เพื่อศึกษาวิจัยและเขียนหนังสือ
มาร ดาของซัยยิด กุฎุบ เป็นหญิงมีเกียรติใช้ชีวิตเรียบง่ายมีความสมถะสูง และนางมาจากครอบครัวชั้นผู้ดี ก่อนที่นางจะสมรสกับฮัจญีอิบรอฮีม กุฏุบ นั้น นางได้ใช้ชีวิตอยู่ในอียิปต์ น้องชาย 2 คนของนางเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ในอิยิปต์ คุณสมบัติพิเศษประการหนึ่งของมารดาซัยยิดกุฎุบคือ นางชอบฟังเสียงอัล-กุรอานเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ นางจึงตั้งเจตนาว่าจะส่งซัยยิดกุฎุบไปเรียนอัล-กุรอาน เพื่อว่าเมื่อสำเร็จแล้วจะได้มาอ่านให้นางฟัง มารดาของซัยยิดกุฎุบ ได้อำลาจากโลกไปเมื่อปี ค.ศ. ที่ 1940 ในเมืองมูเชะฮฺนั่นเอง
ช่วงเวลาการศึกษาของซัยยิด กุฎุบ
เมื่อวัยเด็กของซัยยิดกุฎุบ ผ่านพ้นไป บิดามารดาของท่านตัดสินใจว่าจะส่งซัยยิดไปโรงเรียนในเวลานั้นซัยยิดไม่มีกระใจจะเรียนหนังสือเท่าไหร่นัก แต่ด้วยเสียงอ้อนวอนจากบิดามารดาในปี ค.ศ. ที่ 1912 ซัยยิดได้ยอมไปเรียนหนังสือ ชาวบ้านบางคนในเมืองไม่ชอบโรงเรียนของรัฐบาลเท่าใดนัก เนื่องจากโรงเรียนเหล่านั้นมีนโยบายสอนสิ่งที่ขัดแย้งกับอัล-กุรอาน
เมื่อซัยยิดเข้าชั้นประถมปีที่ 2 เจ้าของสถาบันอัล-กุรอานแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนชอบคอกันกับบิดาของซัยยิดกุฎุบ ซัยยิดอิบรอฮีม เขาได้ขอร้องให้ซัยยิดอิบรอฮีมลาซัยยิดกุฎุบออกจากโรงเรียน เพื่อส่งไปศึกษาและท่องจำอัล-กุรอาน ณ สถาบันสอนอัล-กุรอานของตน พร้อมกับศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับอิสลาม ในรุ่งเช้าของอีกวันหนึ่งซัยยิดได้รับคำชี้นำจากบิดาหลังจากนั้นท่านได้เดิน ทางไปศึกษาอัล-กุรอาน ซัยยิดกุฎุบ ตัดสินใจว่าจะเรียนหนังสือและท่องจำอัล-กุรอานไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเริ่มท่องจำอัล-กุรอานตั้งแต่อยู่ชั้นประถมปีที่ 2 จนกระทั่งจบชั้นประถมปีที่ 4 อายุราว 10 ปี พอดีท่านก็สามารถท่องจำอัล-กุรอานได้ทั้งฉบับ ซัยยิดเป็นคนละเอียดอ่อนและชั่งสังเกตตั้งแต่เด็กๆ ท่านไม่เคยพูดจาสิ่งใดโดยปราศจากเหตุผลเลย ตัวของซัยยิดกล่าวว่า วันหนึ่งมีนักปราชญ์จากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรเดินทางมาเผยแผ่ยังหมู่บ้านของ เรา ท่านได้ตัฟซีร (อรรถาธิบาย) อัล-กุรอานโองการหนึ่งจากบท อัลกะฮฺฟิ ติดต่อกันหลายคืน ซึ่งนักปราชญ์ท่านนั้นได้อ่านโองการ (18/64) ว่า “เขากล่าวว่า นั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องการหา ดังนั้น ทั้งสองจึงหวนกลับตามร่องรอยไปที่เดิม”
قَالَ ذَلِكَ مَا كُنَّا نَبْغِ فَارْتَدَّا عَلَى آثَارِهِمَا قَصَصًا
ซัยยิด กุฎุบ กล่าวว่าฉันได้ถามเขาจากด้านล่างของมิมบัรว่า โอ้ เชคครับเพราะเหตุใดอักษร ยา ในคำว่า นับฆิ จึงถูกตัดหายไปทั้งที่ไม่ได้เป็น ญาซิม
ซัยยิด กุฎุบ เป็นคนชอบหนังสือและชอบอ่านหนังสืออย่างมาก ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ของท่านเป็นที่เรื่องลือกันทั้งหมู่บ้าน หลังจากนั้นไม่นานซัยยิดได้ซื้อหนังสือเป็นประจำ จนกระทั่งท่านได้ตกลงกับร้านขายวารสารฉบับหนึ่งนามว่า อุมูมซอลิฮฺ ให้ส่งวารสารมาประจำหมู่บ้าน ท่านมีห้องสมุดส่วนตัวซึ่งมีหนังสืออยู่ประมาณ 25 เล่มเท่านั้น แต่ต่อมาห้องสมุดส่วนตัวได้กลายเป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้านมูเชะฮฺ ซัยยิดกุฎุบได้ศึกษาอัล-กุรอานพร้อมกับเรียนหนังสือหลังจาก 6 ปี ผ่านไปในปี ค.ศ. ที่ 1918 ท่านจบชั้นประถมปีที่ 6 พอดี หลังจากจบแล้วท่านได้เข้าร่วมชั้นเรียนของบิดาที่สอนปัญหาสังคม และการเมืองของอียิปต์เป็นประจำขณะนั้นซัยยิดกุฎุบมีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้นเอง
การเดินทางไปศึกษาต่อ
ซัยยิด กุฎุบไม่อาจศึกษาต่อไปได้เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากความขัดแย้งภายใน ในปี ค.ศ. ที่ 1920 ท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อที่กอเฮเระฮฺ และพักอาศัยอยู่ที่บ้านของน้าชาย อะฮฺมัด ฮุซัยนฺ อุซมาน เมื่ออายุได้ 16 ปี ท่านได้เข้าไปศึกษาในสถานศึกษา อับดุลอะซีซ ซึ่งเป็นวิทยาลัยครูแห่ง กอเฮเราะฮฺ เมือจบหลักสูตรแล้วท่านได้รับใบประกาศนียบัตรจากกระทรวงศึกษา และสามารถสอนหนังสือในระดับชั้นประถมได้ สมัยที่ท่านเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย ดารุลอุลูม อธิการบดีมหาวิทยาลัยขณะนั้นคือ ดร. ฎอฮา ฮุซัยนฺ ประมาณปีการศึกษาที่ 3 ทางมหาวิทยาลัยได้จัดสัมมนา และอธิการบดีได้มอบโอกาสให้ซัยยิดกุฎุบ กล่าวปราศรัย ท่านได้เขียนบทความเพื่ออ่านในที่ประชุมภายใต้หัวข้อว่า ความสำคัญของนักกวีในชีวิต และบทกวีแห่งยุคสมัย ซึ่งบทความของท่านสร้างความประหลาดใจแก่แขกที่เข้าประชุมเป็นอย่างยิ่ง
ซัยยิดในช่วงที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ท่านเป็นคนสนุกสนานร่าเริงตลอดเวลา แต่มากไปด้วยความรอบรู้ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าท่านเป็นนักศึกษาเพียงคนเดียว ที่กล้าหาญท้วงติง คณะนักวิชาการฝ่ายการศึกษาและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย ทั้งที่สมัยนั้นท่านยังเป็นวัยรุ่นอยู่ด้วยซ้ำ แต่ท่านกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นทั้งเรื่องเศรษฐศาสตร์ สังคม และการเมืองกับบรรดาคณาจารย์ได้อย่างองอาจ บรรดาอาจารย์ต่างฉงนสงสัยในความพยายามของซัยยิดในทุกๆ ด้าน ขณะเดียวกันพวกท่านก็ดีใจที่มีลูกศิษย์อย่างซัยยิด
อาจารย์ท่านหนึ่งของซัยยิด นามว่า มุฮัมมัด มะฮฺดียฺ อะลาม กล่าวว่า ความกล้าหาญของซัยยิด และความอิสรเสรีของเขา เป็นสาเหตุทำให้เขาเป็นที่รักของทุกคน และเป็นเกียรติยศสำหรับมหาวิทยาลัย ดารุลอุลูม ในปี ค.ศ. 1932 ซัยยิด ได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขา วรรณกรรมอาหรับ จากมหาวิทยาลัยดารุลอุลูม และในปีนั้นเองท่านได้เข้าร่วมกับกลุ่ม ญะมาอัตดารุลอุลูม ซึ่งเป้าหมายของกลุ่มดังกล่าวได้คัดเลือกนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยแห่งนั้น เพื่อปกป้องวรรณกรรมอาหรับ กลุ่มดังกล่าวหลังจากผ่านไประยะเวลาหนึ่งพวกเขาได้จัดพิมพ์วารสารเผยแผ่ นามว่า ดารุลอุลูม
ในปี ค.ศ. ที่ 1933 ซัยยิดกุฎุบ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาให้ไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ในปีนั้นเองท่านได้ไปสอนหนังสือในโรงเรียน ดาวูดียะฮฺ ในอียิปต์ ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นการเป็นครูของท่าน ซัยยิดกุฎุบ ได้สอนหนังสือในโรงเรียน ดัมยาฏ บนีสุวัยยิฟ และฮะละวาน จนกระทั่ง 6 ปี ผ่านไปท่านได้เวียนสอนหนังสืออยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ในปี ค.ศ. ที่ 1940 ท่านได้เป็นข้าราชการเต็มตัว และได้เข้ารับราชการประจำที่กระทรวงศึกษาธิการ ท่านทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ทั่วไป สถิติ และดูแลโรงเรียนประถมทั่วไป ในปี ค.ศ 1945 ท่านได้กลับมารับตำแหน่งเดิมคือ ประชาสัมพันธ์ทั่วไป จนถึงปี ค.ศ. ที่ 1948
ถูกส่งไปอเมริกา
ซัยยิดกุฎุบและเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกับท่าน ซึ่งทั้งหมดได้ร่วมกิจกรรมทางการเมือง และสังคมในมหาวิทยาลัยจึงทำให้พวกเขาสนิทสนมและรู้จักกันอย่างดี และในทีสุดน้าชายของซัยยิดได้เป็นผู้สนับสนุนให้จัดตั้งพรรค วะฟิด ซึ่งซัยยิดได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของพรรค และต่อมาซัยยิดได้จัดพิมพ์บทความของตนในนามของพรรค
หลังจากบทความของซัยยิดเรื่องปัญหาของอิยิปต์ได้ถูกตีพิมพ์ระยะหนึ่ง รัฐบาลเห็นความสำคัญของซัยยิด จึงตัดสินใจส่งซัยยิดไปอเมริกาเพื่อปฏิบัติหน้าที่หนึ่ง ซึ่งการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้มี 2 วัตถุประสงค์ กล่าวคือ (1) ต้องการกีดกันซัยยิดให้ห่างไกลจากสังคม วัฒนธรรม วิชาการ และการเมืองของอิยิปต์ในระยะหนึ่ง เพื่อว่าซัยยิดจะได้หมดโอกาสแสดงบทบาทด้านการเมือง และประชาชนก็จะได้ไม่สนใจการเคลื่อนไหวอิสลาม (2) เพื่อว่าขณะที่อยู่ในอเมริกาซัยยิดจะได้รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างเต็มตัว ในความหมายคือต้องการให้ซัยยิดหมดอันตรายสำหรับตะวันตก ขณะเดี่ยวกันก็เป็นผู้ถ่ายทอดวัฒนธรรมตะวันตกแทน
ในปี ค.ศ.ที่ 1948 ซัยยิดได้เริ่มออกเดินทางโดยทางเรือออกจากเมืองท่า อเล็กซานเดอร์ โดยมุ่งหน้าไปยังนิวยอร์ก เมื่อไปถึงนิวยอร์กแล้วซัยยิดก็เริ่มปฏิบัติหน้าที่ของตน ท่านเดินทางไปมหาวิทยาลัยในอเมริกาทุกวัน เพื่อศึกษาระบบการศึกษาที่นั่น ซัยยิดได้พำนักอยู่ในอเมริกานานประมาณ 2 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวท่านได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งจากวิทยุ โทรทัศน์ และสือต่างๆ ประกอบการความเข้าใจการเมืองอย่างดีของท่าน ท่านจึงเข้าใจว่ารัฐบาลอเมริกาและอังกฤษต้องการจะทำอะไรกับโลก พวกเขาต้องการครอบครองโลกอาหรับอิสลามต่อไป ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงตัดสินใจว่าเมื่อกลับอียิปต์ท่านจะเขียนบทความ โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่เยาวชนและคนรุ่นใหม่ เพื่อเปิดโปงอเมริกาและแผนการร้ายของเขา
เมื่อกลับคืนสู่อียิปต์
ใน ปี ค.ศ. 1950 ท่านซัยยิดกุฏุบได้เดินทางกลับอียิปต์ และดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ การเดินทางไปอเมริกาของท่านไม่ได้ทำให้ท่านห่างเหินการเมืองและสังคมอียิปต์ เลย และวัฒนธรรมตะวันตกก็ไม่สามารถซึมทราบเข้าไปในจิตใจของท่านได้เลย ทว่าหัวใจของท่านกลับเต็มไปด้วยอียิปต์และอิสลามและการต่อสู้กับพวก จักรวรรดินิยม การต่อสู้ด้านวัฒนธรรมไม่เคยหันห่างไปจากจิตใจของท่าน ฉะนั้น ในปี ค.ศ. 1952 ท่านได้ยืนใบลาออกต่อกระทรวงศึกษา เวลานั้นท่านไม่พร้อมที่จะร่วมงานกับพวกเขาอีกต่อไป แต่ใบลาออกของท่านถูกระงับอยู่นานประมาณ 2 ปีเศษ ในที่สุดต้นปี ค.ศ. 1954 ท่านก็ได้รับอนุญาตให้ลาออก
กำลังสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์
ซัยยิด กุฎุบได้เริ่มเขียนบทความลงสื่อสิ่งพิมพ์ในอียิปต์ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ท่านชอบที่จะเขียนข่าวและบทความลงหนังสือพิมพ์ บทความแรกที่ท่านเขียนส่งไปตีพิมพ์ในวารสารชื่อว่า เซาะฮีฟะฮฺบิลาฆ ขณะนั้นท่านมีอายุได้เพียง 16 ปีเท่านั้น ในปี ค.ศ.ที่ 1922 บทความของท่านได้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ในตอนแรกท่านได้เขียนบทความส่งให้สำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของประเทศ เช่น อัลบิลาฆ อัลบิลาฆุลอุสบูอียฺ อัลญิฮาด อัลอิฮฺรอม และสำนักพิมพ์อื่นๆ อีกหลายสำนักพิมพ์ด้วยกัน ซึ่งท่านได้ส่งบทความให้สำนักพิมพ์เหล่านั้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
ซัยยิด กุฎุบ เมื่ออายุได้ 40 ปี ได้ให้ความร่วมมือกับองค์กรเคลื่อนไหวอิสลามเพื่อการปฏิวัติ ท่านได้เผยแผ่เอกสารสิ่งพิมพ์ เช่น อัลกิตาบ อัลมิซริ อัลกิตาบ อัสวาดา อัชชุอูน อัลิจญฺติมาอียะฮฺ และอื่นๆ อีกมากมาย หลังจากนั้น 2 – 3 ปี ท่านได้เขียนบทความพิมพ์ลงในวารสารเล่มหนึ่งนามว่า อัลละวาอฺ อัลญะดีดะฮฺ ซึ่งเป็นส่วนของเยาวชนพรรค มาตุภูมิอียิปต์ แต่อยู่ได้ไม่นานนักวารสารฉบับดังกล่าวต้องถูกปิดไป เนื่องจากกลุ่มจักรวรรดินิยมไม่ยอมและต้องการล้างแค้นซัยยิด ประกอบกับรัฐบาลให้ความร่วมมือกับพวกเขาด้วย แต่หลังจากวารสาร อัลละวาอฺ อัลญะดีดะฮฺ ถูกปิดลง ซัยยิด ก็ไม่เคยย่อท้อในการต่อสู้ ท่านยังต่อสู้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งจนในที่สุดท่านได้เลื่อนไปเป็น บรรณาธิการและนักเขียน ประจำวารสาร อัดดะวะฮฺ บทความของซัยยิดกุฎุบในวารสารฉบับนี้ ส่วนใหญ่เขียนเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนปฏิวัติ ทำการปฏิรูปสังคม พร้อมกับจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นปกครองอียิปต์ เปลี่ยนแปลงผู้ปกครองใหม่ ทำนองเดียวกันวารสารฉบับด้งกล่าวมีอายุอยู่ได้ไม่นานนัก เนื่องจากรัฐบาลอียิปต์ได้สั่งปิดวารสารฉบับดังกล่าว ซัยยิดกุฎุบไม่สิ้นหวังในการต่อสู้ท่านได้ร่วมมือกับ ยูซุฟ ชุมาตะฮฺ เปิดวารสารฉบับใหม่นามว่า อัลอาลัม อัลอาเราะบียฺ ขณะนั้น ยูซุฟ ดำรงตำแหน่งในฐานะที่เป็นบรรณาธิการจัดการ ส่วนซัยยิดกุฎุบเป็นเลขา ทั้งสองได้ร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมต่อไป
ซัยยิด กุฎุบ นั้นมีนโยบายต่างไปจากวารสารฉบับอื่นๆ ในวารสารอัลอาลัม อัลอาเราะบียฺ นั้นท่านได้เปลี่ยนตัวเลข และวันที่จากเลขสากล มาเป็นเลขอาหรับและวันที่ก็นับตามจันทรคติ ในปี ค.ศ. ที่ 1948 ซัยยิดได้ร่วมมือกับกลุ่ม อิควานุลมุสลิมีน จัดตั้งวารสารฉบับหนึ่งนามว่า อัลฟิกรุ อัลญะดีด ในวารสารฉบับนี้ท่านได้เรียกร้องการปฏิรูปสังคม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐ และการจัดตั้งรัฐอิสลาม บทความที่ซัยยิดเขียนลงในวารสารฉบับนี้หนักหน่วงและดูว่าเข็มแข็งกว่าที่ แล้วมามากนัก แต่เนื่องจากบทความของซัยยิดเรียกร้องให้ประชาชนปฏิวัติและทำการปฏิรูปสังคม จึงถูกรัฐบาลสั่งปิดในเวลาต่อมา
ใน ปี ค.ศ. ที่ 1954 กลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ได้จัดพิมพ์วารสารฉบับหนึ่งนามว่า อิควานุลมุสลิมีน พวกเขาได้เลือกให้ซัยยิดเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ทำหน้าที่วิเคราะห์ข่าว วารสารฉบับนี้เป็นรายสัปดาห์จะตีพิมพ์ทุกๆ วันพฤหัสบดี ฉบับแรกได้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 17 เราะมะฏอน ปี ฮ.ศ. 1373 ซัยยิดได้พยายามสอดใส่แนวคิดอิสลามและแนวทางปฏิวัติของตนไว้ในวารสาร แต่หลังจากวารสารได้ตีพิมพ์ไปได้ 12 ฉบับ วันที่ 6 เดือนซุลฮิจญฺ ปี ฮ.ศ. 1373 ก็ถูกสั่งปิดลงอีกเช่นเคย และดูเหมือนว่าเป็นวารสารฉบับสุดท้ายของซัยยิด เนื่องจากหลังจากวารสารถูกปิดตัวลงซัยยิดก็ถูกจับกุมและถูกจองจำอยู่ในเรือน จำ
ซัยยิด กุฎุบ ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ท่านอยู่กับสื่อสิ่งพิมพ์ ท่านได้เขียนบทความถึง 455 บทความ ซึ่งทั้งตีพิมพ์ในวารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ในอียิปต์ (คอลิดียฺ หน้า 109) ซัยยิดกุฎุบ ครึ่งชีวิตได้ทุ่มเทให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งวารสารและหนังสือพิมพ์บางฉบับก็ไม่ยอมลงบทความของท่าน เนื่องจากไม่มั่นใจและเกิดความคลางแคลงใจในตัวท่าน ซึ่งเป็นไปได้ว่าหนังสือพิมพ์และวารสารเหล่านั้น อาจเป็นกระบอกเสียงให้กับต่างชาติที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองของอียิปต์ หรืออย่างน้อยก็มีความสัมพันธ์กันในด้านหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ บทความภายใต้หัวข้อ «الدوله تخفق الأدب» เป็นบทความต่อต้านรัฐและจักรวรรดินิยมจึงไม่ได้รับการตีพิมพ์
คณาจารย์ที่มีบทบาทต่อซัยยิด
มีผู้คนมากมายมีบทบาทสำคัญต่อซัยยิดทั้งด้านความเชื่อและการกระทำ ซึ่งในที่นี้จะขอเอ่ยนามเพียง 2 ท่านเท่านั้น ได้แก่
1) อบุลอะอฺลา เมาดูดียฺ (เสียชีวิต เมื่อ ค.ศ. 1979) ท่านเป็นหนึ่งในนักคิดที่ยิ่งใหญ่ชาวปากีสถาน ท่านมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความจำเป็นในการจัดระเบียบสังคม การจัดตั้งสังคมในระบอบอิสลาม และการต่อสู้กับจักรวรรดินิยม ในปี ค.ศ.ที่ 1941 ท่านได้ก่อตั้งพรรค ญะมาอะตุลอิสลามี ในประเทศอินเดีย ซึ่งมีความคล้ายเหมือนกับกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนในประเทศอียิปต์อย่างยิ่ง นอกจากนั้นท่านยังเป็นนักเขียนหนังสืออีกต่างหาก ซึ่งขณะที่ซัยยิดได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำท่านได้อ่านหนังสือ และผลงานด้านต่างๆ ของท่านเมาดูดียฺ
ตามทัศนะของ อบุลอะอฺลา เมาดูดียฺ อิสลามคือ ศาสนาสมบูรณ์ ถ้าบุคคลใดได้ปฏิบัติตามบางส่วนของอิสลาม และละทิ้งอีกบางส่วนถือว่าตกศาสนาในบางส่วน ท่านเชื่อว่าอิสลามที่ปราศจากผู้ปกครองนั่นไม่ใช่อิสลาม ซึ่งแนวคิดและผลงานของเมาดูดียฺนั้น มีอิทธิพลต่อแนวคิดของซัยยิดกุฏุบเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ซัยยิดถูกจับกุมนั้นเจ้าหน้าที่ได้ถามว่า ความคิดทางการเมืองของท่านนั้นได้รับอิทธิพลมาจาก อบุลอะอฺลาเมาดูดียฺใช่ไหม ท่านตอบว่า ใช่ ความคิดและทัศนะของฉันคือ ความคิดและทัศนะของอบุลอะอฺลาเมาดูดียฺ
2) อับบาส มะฮฺมูด อะกอด หลังจากซัยยิดกุฎุบได้เข้าไปในเมืองกอเฮเระฮฺแล้ว ท่านได้รู้จักคนๆ หนี่งนามว่า อะฮฺมัด ฮุซัยนฺ อุสมาน โดยการแนะนำของน้าชายของท่าน และเนื่องจากว่าทั้งสองมีความคิดใกล้เคียงกันและเหมือนกันเกือบทุกเรื่อง ความคิดของอับบาส จึงมีอิทธิพลต่อความคิดของซัยยิดอย่างมาก ช่วงระยะเวลาหนึ่งซัยยิดกุฏุบ ได้ศึกษาอยู่ในโรงเรียน อะกอดียะฮฺ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ มะฮฺมูด อะกอด ในช่วงเวลานั้นเองที่ซัยยิดได้ศึกษาความเชื่อและแนวความคิดของ มะฮฺมูด อะกอด อย่างเต็มที่ แต่ต่อมาอะกอดได้หักล้างผลงานด้านวรรณกรรมของซัยยิด เนื่องจากเมื่อปี ค.ศ. ที่ 1951 ซัยยิดกุฎุบได้เข้าร่วมขบวนการ อิควานุลมุสลิมีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งมะฮฺมูดอะกอด นั้นต่อต้านขบวนการอิควานุลมุสลิมีน ท่านจึงได้ท้วงติงและหักล้างซัยยิดอย่างรุนแรง ในสมัยนั้นท่านได้เขียนบทความภายใต้หัว «ارادة الغفلة» เพื่อต่อต้านซัยยิดซึ่งนับว่าเป็นบทความที่ไร้ความปรานีกับซัยยิดอย่างยิ่ง
แนวคิดและหลักความเชื่อของซัยยิดกุฎุบ
ซัยยิด กุฎุบ ถือได้ว่าเป็นมันสมองสำคัญของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน นับตั้งแต่ปี ค.ศ.ที่ 1952 จนถึงปี ค.ศ. 1964 ซึ่งซัยยิดและสมาชิกของกลุ่มได้ร่วมกันต่อต้านรัฐ และพวกจักรวรรดนิยมในสมัยนั้นอย่างต่อเนื่อง ซัยยิด กล่าวถึงกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนว่า ขออัลลอฮฺทรงโปรดประทานชีวิตยืนยาวนานแก่กลุ่มอิควานุลมุสลิมีน เพราะพวกเขาคือผู้ให้ชีวิตใหม่แก่ชาวอียิปต์ พวกเขาได้ขยายความคำว่า ญิฮาด ซึ่งในทัศนะของประชาชนมันเป็นเพียงสโลแกน หรือเป็นเพียงการปรบมือเท่านั้น ให้เป็นความเข้าใจที่แท้จริงถูกต้องนั้นคือ การกระทำและการเสียสละ และสอนให้ประชาชนได้รู้จักการต่อสู้ที่เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ ให้เปลี่ยนเป็นการเสียสละ และชะฮาดัตในหนทางของพระเจ้า
ซัยยิด กุฎุบ เชื่อว่าทุกกลุ่มหรือทุกรัฐบาลที่บุกโจมตีประเทศมุสลิมประเทศใดประเทศหนึ่ง จำเป็นต้องถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเมือง ซัยยิด กล่าวว่า รัฐบาลอเมริกา และอังกฤษโดยได้รับความร่วมมือจากประเทศรัสเซีย พวกเขาได้ขับไล่พี่น้องมุสลิมปาเลสไตน์ออกนอกประเทศ ประเทศฝรั่งเศสได้ก่อสงครามทางตอนเหนือของแอฟริกา เพื่อต่อต้านเราอีกทั้งได้กลั่นแกล้งและทรมานพี่น้องของเรา และปัจจุบันพวกเขาก็ได้ร่วมมือกันต่อต้านเราและศาสนาของเรา ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากเราได้ทำสัญญาตกลง หรือให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ ตามทัศนะของอิสลามแล้วถือว่า ไม่ถูกต้อง เช่นกันประชาชนไม่มีสิทธิ์ให้ความร่วมมือ กับรัฐบาลที่ไม่ได้จัดตั้งอย่างถูกต้องตามหลักชัรอียฺ ทว่าต้องขัดขวางรัฐบาลไม่ให้กระทำสิ่งที่ฮะรอมตามกำลังความสามารถของเราที่ มี
ซัยยิด กุฎุบ ต้องการให้กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่ออิสลามในทุกประเทศ ตัดความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับศัตรูอิสลามทั้งหมด ท่านเชื่อว่าบริษัทห้างร้าน องค์กรเศรษฐกิจ และกลุ่มอื่นที่ให้ความร่วมมือกับศัตรูอิสลาม ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักชัรอียฺ (อ้างแล้วเล่มเดิม) ซัยยิดกุฎุบ ก็เหมือนกับนักคิดอิสลามท่านอื่นๆ ที่ต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกอย่างรุนแรง อีกทั้งได้ท้วงติงแนวคิดและอารยธรรมของตะวันตกอย่างรุนแรง ท่านได้เขียนบทความภายใต้หัวข้อ การกลับคือสู่ตะวันออก ลงพิมพ์ในวารสาร อัลอาลัม อัลอาระบียฺ
ซัยยิด กุฎุบ ได้แบ่งสังคมออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ สังคมอิสลามและสังคมอานารยชน ท่านได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า วันนี้เราได้ย้อนยุคไปสู่ความโง่เขลาอีกครั้ง ขณะที่อิสลามได้ปรากฏโฉมออกมาแล้ว ทว่าเราได้ถลำไปสู่ความมืดมิดยิ่งกว่าเสียด้วยซ้ำ สิ่งแวดล้อมที่อยู่รายลอบตัวเราล้วนเป็นความโง่เขลาทั้งสิ้น หน้าที่ของเรา ณ ตรงนี้คือ การเปลี่ยนแปลงภายในของเราให้ดีให้ถูกต้อง เพื่อว่าบนพื้นฐานดังกล่าวเราจะได้สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ อิสลามไม่อาจรู้จักได้เกิน 2 สังคม นั่นคือ สังคมอิสลาม หรือสังคมของอานารยชน สังคมอิสลามคือ สังคมที่ความเชื่อ อิบาดะฮฺ ชะรีอะฮฺ กฎเกณฑ์ การยกระดับจิตใจให้สูงส่ง และจริยธรรมอิสลามได้เกิดขึ้นและครอบคลุมในทุกหัวระแหง ส่วนสังคมของอานารยชนนั้นคือ สังคมที่ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของอิสลาม
แนวความคิดด้านการเมืองของซัยยิดกุฎุบ นั้นทำให้เราหวนคิดถึงท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ขึ้นมาโดยทันที ซึ่งท่านอิมามกล่าวเสมอว่า รัฐบาลนั้นมี 2 ระบบ กล่าวคือ รัฐบาลอิสลาม หรือไม่ก็รัฐบาลของฎอฆูต ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ซัยยิดกุฎุบ เชื่อว่าอิสลามที่ศัตรูได้แนะนำให้โลกได้รู้จัก กับอิสลามที่ท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) ได้นำมาเผยแพร่นั้นแตกต่างกันอย่างลิบลับ ซัยยิดกุฎุบ เป็นคนแรกของโลกอิสลามที่ได้ประดิษฐ์คำว่า อิสลามอเมริกา ขึ้นมาประดับสังคม ตามความเชื่อของซัยยิดทุกวันนี้อเมริกาเองมีความต้องการในอิสลามอย่างสูง เพื่อว่าในแถบตะวันออกและประเทศอิสลามส่วนใหญ่จะได้ต่อสู้กับระบบคอมิวนิสต์ ซัยยิดกุฎุบ เชื่อว่าสังคมใดก็ตามที่พลเมืองเป็นมุสลิม แต่ไม่มีการปฏิบัติตามหรือไม่ใส่ใจต่อกฎเกณฑ์ของอิสลาม แม้ว่าพวกเขาจะดำรงนมาซ ถือศีลอด จ่ายทานบังคับ (ซะกาต) และประกอบพิธีฮัจญฺ จะไม่ถือว่านั่นเป็นสังคมอิสลามเด็ดขาด ทว่านั่นคือสังคมของอานารยชน ตามความเชื่อของซัยยิดสังคมที่ยอมรับอัลลอฮฺ (ซบ.) แต่ไม่อนุญาตให้ประชาชนปฏิบัติศาสนากิจหรือนำเอาศาสนาขึ้นชี้นำสังคม ทว่าอนุญาตให้ประชาชนแสดงความเคารพภักดีพระเจ้าแต่เฉพาะในมัสญิดเท่านั้น นั้นคือสังคมของญาฮิล (อานารยชน) ไม่ใช่สังคมอิสลาม
ซัยยิด กุฎุบ มีทัศนะคติที่เลวร้ายต่อสังคมยิวไซออนิสต์เป็นอย่างยิ่ง ท่านเชื่อว่ายิวคือสาเหตุที่ทำให้สังคมอิสลามเกิดความล้าหลัง ท่านกล่าวว่า เป้าหมายของยิวคือการทำให้ความเชื่อศรัทธาของมุสลิมเกิดความอ่อนแอ แผนการร้ายของยิวและจักรวรรดินิยมสามารถค้นเจอได้จากตำรา หนังสือ คำปราศรัยของเหล่าผู้นำ และการละเล่นต่างๆ ที่พวกเขาได้สร้างขึ้นทั้งหมดเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ที่อธิบายให้เห็นถึงเป้า หมาย และเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพวกเขา ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้กระทำลงไปเพื่อทำลายความเชื่อของอิสลามให้อ่อนแอลง และต้องการทำลายล้างวัฒนธรรมอิสลาม ตลอดจนจารีตและจริยธรรมอิสลาม พวกเขาต้องการให้อิสลามห่างไกลจากประเทศอียิปต์ ในฐานะที่เป็นเมื่องแม่ในการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับอิสลาม ในหนังสือ มะอาลิม ฟิด ตะรีก เฎาะรูเราะฮฺ ญิฮาด ฎิด ดุชมัน ซัยยิดกล่าวว่า เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลแห่งพระเจ้าบนหน้าแผ่นดิน เนื่องจากหัวใจของรัฐบาลคือมนุษย์ การยึดอำนาจจากปวงบ่าวที่ฉ้อฉลส่งคืนให้กับพระเจ้า การถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระองค์ การทำลายกฎเกณฑ์ของมนุษย์ ไม่ใช่การตักเตือนและพูดเพียงอย่างเดียวแล้วจะสำเร็จ ซัยยิด เชื่อว่าอิสลามคือหนึ่งเดียวที่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างลงตัว ซึ่งไม่มีระบบใดอีกแล้วที่จะสร่างความเจริญผาสุกอันแท้จริงให้แก่มนุษย์ได้ นอกจากระบบอิสลาม
ซัย ยิดกุฎุบ มีความเชื่อเรื่องความอิสระทางความคิด ซัยยิดเชิ่อว่าความอิสระคือ การปลดวางจากทุกเงื่อนไข ยกเว้นการเป็นบ่าวต่อพระเจ้า ท่านเชื่อว่าความอิสระคือการทำตนเป็นบ่าวที่ดีของพระเจ้า
ซัยยิดกล่าวว่า คำว่า «لا إله إلا الله» ไม่ มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ คือรากเหง้าของความคิดในอิสลาม จุดประสงค์ของประโยคนี้คือ การแสดงตนเป็นบ่าวที่ดีของพระเจ้า บนพื้นฐานของความอิสระและสติปัญญา โดยไม่ยอมตนเป็นบ่าวของสิ่งอื่น บนพื้นฐานของความคิดอิสระนั่นเอง ท่านในฐานะที่เป็นนักปราชญ์ทรงคุณวุฒิของฝ่ายซุนนีย์
การต่อสู้ด้านการเมืองของซัยยิดกุฏุบ
ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตต่อสู้ของซัยยิดกุฎุบคือ ช่วงเวลาที่ท่านได้เข้าร่วมกับขบวนการ อิควานุลมุสลิมีน เนื่องจากสมาชิกของขบวนการ อิควานุลมุสลิมีนคือนักต่อสู้ที่แท้จริง ในปี ค.ศ. ที่ 1930 จนถึงปี ค.ศ. 1960 ขบวนการดังกล่าวได้สร้างกิจกรรมและสาขาในประเทศอาหรับมากมาย ซึ่งศูนย์บัญชาการใหญ่ของขบวนการอยู่ที่ อียิปต์ สมาชิกของขบวนการนั้นส่วนหนึ่ง ฮะซัน อัลบันนา ได้ก่อตั้งขบวนการนี้เมื่อเดือน ซูลเกาะดะฮฺ ปี ฮ.ศ.ที่ 1347 ในเมืองอิสมาอีลียะฮฺ ประเทศอียิปต์ โดยเริ่มกิจกรรมครั้งแรกที่โรงเรียน อัตตะฮฺซีบ ท่านได้สอนอัล-กุรอาน ตัจญวีด ฮะดีซ ตัฟซีร และวิชาการอิสลามด้านอื่นอีก ฮะซัน อัลบันนา ในปี ฮ.ศ.ที่ 1350 ได้พิมพ์สารซึ่งอธิบายถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของกลุ่ม อิควานุลมุสลิมีน ซึ่งในเวลานั้นท่านได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม เมื่อสงครามระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอลได้ก่อตัวขึ้นในปี ค.ศ. 1948 กลุ่มอิควานุลมุสลิมีนได้รีบเดินทางไปช่วยเหลือพี่น้องชาวปาเลสไตน์ทันที ซึ่งในสงครามดังกล่าวมีสมาชิกของกลุ่มจำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมต่อสู้ หลังจากสงครามสิ้นสุดลง กลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ได้รับความนิยมและเป็นที่รักของผู้คนโดยทั่วไปทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น จำนวนมากมาย อีกด้านหนึ่งรัฐบาลอียิปต์ และรัฐบาลอังกฤษเริ่มไม่พอใจกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนอย่างรุนแรงที่ให้การช่วย เหลือปาเลสไตน์ ในปี ฮ.ศ.ที่ 1368 มาลิกฟารูค จึงได้ออกคำสั่งให้สลายกลุ่ม แต่เพื่อเป็นการตอบโต้คำสั่งของรัฐบาล กลุ่มอิควานุลมุสลีมีนจึงได้สังหารนายกรัฐมนตรีของอียิปต์ (นะเกาะรอชี พอชา) ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ตอบโต้การกระทำของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนอย่างรุนแรง เช่นกัน โดยการลอบสังหารหัวหน้ากลุ่ม ฮะซัน อัลบันนา เสียชีวิต ในปี ฮ.ศ. 1369
การลอบสังหารฮะซัน อัลบันนา เป็นช่วงที่ซัยยิดกุฎุบถูกส่งไปอเมริกา ซึ่งท่านได้เห็นว่าหนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆ ได้แสดงความดีใจเมื่อได้ยินข่าวว่า ฮะซัน อัลบันนา ถูกลอบสังหารเสียชีวิตแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง ซัยยิดกุฎุบจึงตัดสินใจ ณ ที่นั้น หลังจากกลับจากอเมริกาในปี ค.ศ. 1915 ท่านจึงได้เข้าร่วมกลุ่ม อิควานุลมุสลีมีนอย่างเป็นทางการ ซัยยิดนั้นมีความนิยมชมชอบกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนมาอย่างช้านาน ท่านจึงกล่าวเสมอว่า ฉันเกิดใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1951
ซัยยิด กุฎุบ หลังจากเป็นสมาชิกถาวรของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนแล้ว ในตอนแรกท่านได้เป็นสมาชิกฝ่ายชี้นำ หลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้วิเคราะห์ข่าวประจำหนังสือพิมพ์ของอิค วานุลมุสลิมีน ซึ่งท่านสามารถเขียนบทความที่ตรงไปตรงมาลงพิมพ์ในหนังสือฉบับดังกล่าวได้ อย่างเสรี ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นสาเหตุทำให้ท่านถูกจับกุมพร้อมกับ ฮะซัน อัลฮะฎีบียฺ ในปี ค.ศ. 1954 และถูกตัดสินจำคุก 15 ปี หลังจากพิพากษาแล้ว ซัยยิดได้ถูกนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำเก่าชื่อว่า ลัยมาน เฏาะเราะฮฺ ซึ่งมีอายุเกินกว่า 500 ปี ขณะที่อยู่ในเรือนจำท่านซัยยิดไม่ได้ว่างเว้นงานเขียนท่านยังคงเขียนหนังสือ ต่อไป ในเรือนจำนั้นท่านได้เขียนตัฟซีฟกุรอานขึ้นมาชุดหนึ่งนามว่า ฟีฏิลาลิลกุรอาน หลังจากต้องโทษการเมืองผ่านไปประมาณ 5 ปี ซัยยิดก็ล้มป่วยลงทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าท่านจะเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนในอียิปต์ ได้ติดต่อกับผู้นำกลุ่มในอีรักนามว่า อัมญัด ซะฮาวียฺ เขาได้อธิบายและบอกให้อัมญัด พยายามติดต่อ อับดุลสลาม อาริฟ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอีรักในสมัยนั้น เพื่อให้เขาช่วยเจรจากับญะมาลอับดุลนาซิร ปล่อยตัวซัยยิดให้เป็นอิสระ อับดุลสลาม อาริฟ ได้ส่งสารถึง ญะมาล และในที่สุดในปี ค.ศ. ที่ 1964 ซัยยิดก็ได้รับอิสรภาพ
หลังจากได้รับอิสรภาพแล้ว ซัยยิดก็เข้าดำเนินกิจกรรมของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนทันที แต่เกิดมีความคิดเห็นขัดแย้งกันภายในกลุ่ม อับดุลฟะตาฮฺ อิสมาอีล ในฐานะที่เป็นสมาชิกชี้นำพร้อมกับเพื่อนร่วมแนวคิดเดียวกัน มีความคิดเห็นว่ากลุ่มต้องดำเนินการญิฮาดต่อไป แต่สมาชิกบางท่านไม่เห็นด้วย ซัยยิดกุฎุบ ซึ่งชีวิตของท่านคือการปฏิวัติและการญิฮาด ท่านจึงได้เข้าร่วมกับอิสมาอีล อัลดุลฟะตาฮฺ หลังจากนั้นท่านได้เขียนบทความเกี่ยวกับความจำเป็นในการในการเปลี่ยนแปลง ระบบการปกครอง และการวางรากฐานการปกครองในระบอบอิสลาม ต่อมาบทความของท่านได้ถูกพิมพ์เป็นหนังสือ ภายใต้ชื่อ มะอาลิม ฟี อัฎเฎาะรีก และเนื่องจากแนวความคิด และผลงานด้านการเขียนของท่านซัยยิดมีอิทธิพลต่อเยาวชนอียิปต์และโลกอาหรับ อย่างสูง ทำให้ในปีถัดมาปี ค.ศ. 1965 ท่านถูกจับกุมอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้มีกลุ่มคอมนิวนิสต์อียิปต์ ซึ่งไม่ชอบแนวคิดของซัยยิด พวกเขาได้พากันออกมาและตะโกนคำว่า ญะมาล จงเชือดทิ้ง จงเชือดทิ้ง หลังจากถูกจำคุกได้ประมาณ 4 เดือน เจ้าหน้าที่ได้แยกซัยยิดไปขังเดี่ยว ซึ่งท่านได้เห็นเขาประหารชีวิตหลานชาย รุฟิอัต ต่อหน้าต่อตา ตัวของซัยยิดได้ถูกพิพากษาให้เป็นนักโทษระต้น ญะมาลอับดุลนาซิร จึงมีคำสั่งให้นำตัวซัยยิดไปฝากขังไว้ในเรือนจำของทหาร เมื่อวันที่ 4 / 12 / ปี ค.ศ. 1966 ซึ่งท่านได้ถูกคุมขังอยู่ที่นั่นนานประมาณ 36 วันเศษ พวกเขากำลังรอคำพิพากษาขั้นสุดท้ายว่าจะให้จัดการอย่างไร
ชะฮาดัตซัยยิดกุฎุบ
หลังจากได้มีการพิจารณาคดีผ่านไปได้ประมาณ 4 เดือน ในที่สุดผู้พิพากษาแห่งอียิปต์ ฟะวาอิด อัดดิจญฺวา ก็ได้มีคำพิพากษาประกาศออกมาให้ประหารชีวิต ซัยยิดกุฎุบ มุฮัมมัด ยูซุฟ ฮะวาชิ และอับดุลฟะตาฮฺ อิสมาอีล ส่วนสมาชิกคนที่เหลือของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนได้ถูกพิพากษาให้จำคุก 10 ปี บ้าง ส่วนบางคนก็ถูกพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ซัยยิดได้ตอบคำถามเพื่อนๆ ที่ถามว่า ท่านรู้สึกอย่างไรกับคำสั่งประหารชีวิต ท่านตอบว่า ขอบคุณพระเจ้าที่ฉันได้เฝ้าหวังชะฮีดมานานถึง 15 ปี เพื่อนบางคนขอจากซัยยิด ว่าให้ลุแก่โทษในสิ่งทีกระทำลงไปเพื่อว่าโทษจะได้เบาลงและไม่ต้องถูกประหาร ชีวิต แต่ซัยยิดได้ตอบพวกเขาไปว่า ฉันจะไม่ลุแก่โทษต่อการกระทำที่ฉันได้กระทำลงไปเพื่อพระเจ้าเด็ดขาด ในที่สุดวันประหารชีวิตก็ได้เวียนมาถึง ซึ่งตรงกับวันที่ 9 ตุลาคม ปี 1966 ขณะที่พระอาทิตย์กำลังทอแสงจับขอบฟ้าของวันใหม่ ซัยยิดได้ถูกนำตัวไปยังหลักประหาร
ผลงานด้านการเขียนของซัยยิดกุฎุบ
ซัยยิด กุฎุบ ได้สร้างผลงานอันทรงคุณค่ายิ่งแก่โลกอิสลามไว้เป็นจำนวนมากมาย ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ของท่านได้รับการแปลเป็นภาษาฟารซียฺและภาษาอื่นๆมากมาย เช่น
1) อเมริกาในทัศนะของ ซัยยิดกุฎุบ แปลโดย มุซเฎาะฟา อัรยอบียฺ เตหะราน นัชรฺ อิฮฺซอน ปี 1370 จำนวน 265 หน้า
2) ซัยยิดกุฎุบ วะอัชอาร อู เขียนโดย อับดุลลอฮฺ เราะซูล เนะฮฺฌอด เตหะราน นัชรฺ อิฮฺซอน ปี 1379 จำนวน 271 หน้า
3) ซัยยิดกุฎุบ จากเกิดถึงชะฮาดัต เขียนโดย เซาะลาฮฺ อับดุลฟะตาฮฺ คอลิดียฺ แปลโดย ญะลีล บะฮฺรอมียฺ เนะยอ เตหะราอน เตหะราน นัชรฺ อิฮฺซอน ปี 1380 จำนวน 712 หน้า
4) วิเคราะห์และเปรียบเทียบความเข้าใจเรื่องความยุติธรรม ในทัศนะของชะฮีดมุเฎาะฮะรียฺ ชะรีอะตียฺ และซัยยิดกุฎุบ เขียนโดย อะลี เรซา มะรอมียฺ เตหะราน มัรกัซ เอสนอด อิงกะลอบ อิสลามียฺ ปี 1378 จำนวน 197 หน้า
5) มุตะฟักเกร นอบิเฆะฮฺ อิสลาม เซฟฟุลลอฮฺ ระฮีมียฺ มัซระเอะฮฺ เชค มัชฮัด สำนักพิมพ์ คอดิม ปี 1377 จำนวน 82 หน้า
หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับซัยยิดกุฎุบ ซึ่งเขียนเป็นภาษาฟารซียฺ
ซัยยิด กุฎุบ นอกจากจะมีผลงานเหล่านี้แล้ว ท่านยังได้เขียนหนังสืออีกจำนวนมากมาย ซึ่งได้มีโอกาสพิมพ์ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เช่น
1) อิสลามวะมุชกิลลาต อัลฮิฎอร ซัยยิดกุฎุบ กุม ดารุลกิตาบ อัลอิสลามียฺ ปี ฮ.ศ. 1412 จำนวน 199 หน้า
2) อัตตัซวีร อัลฟันนียฺ ฟี อัลกุรอาน ซัยยิดกุฎุบ กุม ดารุลกิตาบ อัลอิสลามียฺ ปี 1412 จำนวน 208 หน้า (ในสือเล่มนี้ซัยยิดได้อธิบายถึง ศิลปะ และวาทศิลป์อันสูงส่งของอัลกุรอาน ซึ่งแปลเป็นภาษาฟารซียฺภายใต้ชื่อว่า ออฟะรีเนช โฮนารี ดัรกุรอาน แปลโดย มุฮัมมัด มะฮฺดียฺ ฟูลอดวัน และยังมีหนังสืออีกเล่มเป็นภาคผนวกสมบูรณ์ของหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งซัยยิดได้เขียนขึ้นภายใต้ชื่อ มะชอฮิด อัลกิยามะฮฺ ฟิลกุรอาน ซึ่งสำนักพิมพ์ดารุล อัสสะอฺดิ ในอียิปต์ ได้แยกพิมพ์ต่างหาก
3) ฮาซา อัดดีน ซัยยิด กุฎุบ กุม อะดับ ปี 1371 จำนวน 96 หน้า
4) เคาะซออิซ อัตตะเซาวุร อัลอิสลามียฺ วะมัฟฮูมมาติฮี ซัยยิดกุฎุบ กุม ดารุลกิตาบ อัลอิสลามียฺ ปี ฮ.ศ. 1410 จำนวน 236 หน้า
5) มุฮิมมะฮฺ อัชชาเอร ฟิลฮะยาต วะชิอฺรุ อัลเญล อัลฮาฎิร ซัยยิด กุฎุบ กอเฮะเระฮฺ บีนอ ปี ค.ศ. 1933 (หนังสือเล่มนี้คือข้อเขียนที่ซัยยิดได้เขียนขึ้นและอ่านในงานสัมมนา ณ มหาวิทยาลัยกดารุลอิมลฺ)
6) อัชชาฎียฺ อัลมัจญฺฮูล ซัยยิด กุฎุบ กอเฮะเระฮฺ บีนอ ปี ค.ศ. 1935 จำนวน 208 หน้า
7) นักดิ กิตาบ มุสตักบัล อัซซะกอฟะฮฺ ฟี มิซรฺ ซัยยิด กุฎุบ กอเฮะเระฮฺ บีนอ ปี ค.ศ. 1939
8) อัลอิฎฎิยอฟ อัลอัรบะอะฮฺ ซัยยิด กุฎุบ กอเฮะเระฮฺ นัชรฺ ญอมิอีน ปี ค.ศ. 1945 (หนังสือเล่มนี้รวบรวมประสบการณ์ของพี่ชายน้องสาว ฮะมีดะฮฺ อามีนะฮฺ มุฮัมมัด และของซัยยิดเอง)
9) ฎิฟ มินัล กอรียะฮฺ ซัยยิด กุฎุบ กอเฮะเระฮฺ นัชรฺ ญอมิอีน ปี ค.ศ. 1946 (หนังสือเล่มนี้อธิบายวิถีชีวิตของซัยยิดตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเดินทางไปกอ เฮะเราะฮฺ)
10) อัลมะดีนะฮฺ อัลมุสเฮาเราะฮฺ ซัยยิด กุฎุบ กอเฮะเราะฮฺ ดารุลมะอาริฟ ปี ค.ศ. 1946
11) อัลอะดาละฮฺ อัลอิจญฺติมาอียะฮฺ ฟิล อิสลาม ซัยยิด กุฎุบ กอเฮะเราะฮฺ ดารุลอะฮฺยา อัลกุตุบ อัลอะเราะบียะฮฺ ปี ค.ศ. 1964 (หนังสือเล่มนี้แปลเป็นภาษาฟารซียฺ ภายใต้ชือ อะดอลัตอิจญฺติมออียฺ ดัรอิสลาม และได้รับการพิมพ์ใหม่ถึง 25 ครั้ง)
12) มะอฺริกะฮฺ อัลอิสลาม วัรเราะอฺซุมาลียะฮฺ ซัยยิดกุฎุบ เบรุต (หนังสือเล่มนี้ อายะตุลลอฮฺ มุฮัมมัดชีรอซียฺ แปลเป็นภาษาฟารซียฺ ภายใต้ชื่อ อิสลามวะซัรมอเยะดอรียฺ) พิมพ์ที่เตหะราน
13) อัลอิสลาม อัลอาลัมมียฺ วัล อิสลาม ซัยยิดกุฎุบ กอเฮะเราะฮฺ ดารุลกิตาบ อัลอะเราะบียฺ ปี ค.ศ. 1950 (หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ปัญหาความสงบสุขของโลก)
14) ตัฟซีร ฟี ฎิลาล อัลกุรอาน ซัยยิดกุฎุบ เบรูต ดารุลชุรูก ปี ฮ.ศ. 1415 จำนวน 6 เล่ม (ซัยยิดได้เขียนต่อจากหนังสือ อัตตัสวีร อัลฟันนียฺ ฟี อัลกุรอาน ซึ่งท่านตัดสินใจว่ากุรอานหน้าจะถูกอธิบายความในเชิงของการต่อสู้ ซึ่งการเขียนหนังสือตัฟซีรชุดนี้มีอยู่ 4 ขั้นตอน
ขั้น ตอนที่หนึ่ง เป็นบทความที่มีความต่อเนื่องกัน ภายใต้หัวข้อ ฟีฎิลาล ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร อัลมุสลิมูน จนถึงปี ค.ศ. 1952 ซึ่งซัยยิดสามารถเขียนถึงโองการที่ 103 บทอัลบะเกาะเราะฮฺ
ขั้น ตอนที่สอง เมื่อซัยยิดตัดสินใจว่าจะอธิบายอัลกุรอานในลักษณะดังกล่าว ท่านจึงได้เขียนเป็นหนังสือแยกต่างหาก ซึ่งญุซแรกนั้นได้รับการจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ดารุล อะฮฺยาอฺ อัลกุตุบ อัลอะเราะบียฺ ในอียิปต์ จนถึงปี ค.ศ. 1954 ทางสำนักพิพม์ได้พิมพ์จนถึงญุซที่ 16
ขั้นตอนที่สาม เกี่ยวข้องกับสมัยที่ท่านถูกจับกุมและถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งในช่วงนี้ท่านสามารถเขียนตัฟซีรจนจบบริบูรณ์
ขั้นตอนที่สี่ เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงที่ซัยยิดได้เปลี่ยนแปลงบางอย่างในตัฟซีร เนื่องจากขณะที่อยู่ในเรือนจำซัยยิดได้คิดว่า เพราะเหตุใดเขาจึงจับกุมเรา และท่านได้พบว่าสาเหตุนั้นมาจาก การเคลื่อนไหวอิสลาม และการมีเป้าหมายที่จะปฏิวัตินั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงตัดสินใจเปลี่ยนตัฟซีรกุรอานให้ออกมาในแนวของการญิฮาด ซึ่งในขั้นแรกท่านได้ตัฟซีรแนวนี้ ใน 3 ญุซสุดท้ายของอัล-กุรอาน หลังจากนั้นได้ตัฟซีร 10 ญุซแรกของอัลกุรอาน ซึ่ง สำนักพิมพ์ ดารุล อะฮฺยาอฺ อัลกิตาบ อัลอาเราะบียะฮฺได้จัดพิมพ์ทั้งหมด และหลังจากได้รับอิสรภาพแล้ว ท่านได้เขียนต่อญุซที่ 11-13 แต่ส่วนที่เหลือไม่สามารถเขียนต่อได้ เนื่องจากท่านถูกพิพากษาประหารชีวิต และได้รับชะฮีดในเวลาต่อมา ตัฟซีร ฟีฎิลาลิลกุรอาน ได้รับการแปลและจัดพิมพ์ใหม่หลายครั้งด้วยกันด้วยภาษา ฝรั่งเศส อังกฤษ ตุรกี เปอร์เชีย สเปน และอุรดู
อ้างอิงจาก เอกสารประกอบการสอนรายวิชา นักคิดและกลุ่มฟื้นฟูอิสลาม เรียบเรียงโดย อาจารย์อับดุลลาตีฟ การี อาจารย์ประจำคณะอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น