محمد رشيد بن علي رضا بن شمس الدين بن بهاء الدين القلموني الحسيني
มุหัมมัด รอชีด ริฏอ บิน อะลี บิน ชัมชุดดีน บิน บะฮาอุดดีน อัล-ก้อลมูนีย์ อัล-หุซัยนีย์ เกิดเดือน ญะมาดิ้ลอูลา ปี ฮิจเราะศักราช ๑๒๘๒ ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเรียก ก้อลมูน ในตริโปลี ประเทศเลบานอน เชื่อว่าตระกูลของท่านสืบเชื้อสายมาจาก อะฮฺลิ้ลบัยต์หลานท่านนบีมุหัมมัด (ศ็อลฯ) ฮูเซน บิน อะลี บิน อะบีฏอลิบ
การศึกษาของรอชีด ริฏอ
มุหัมมัด รอชีด ริฏอเริ่มต้นการศึกษาของท่าน ด้วยการท่องจำอัล-กุรอาน คัด และเลขคณิต ต่อมาได้เข้าเรียนในโรงเรียน อัล-รุชดียะห์(الرشدية) ซึ่งสอนด้วยภาษาตุรกีที่ก่อตั้งโดยชัยคฺ หุสัยน์ อัลญิสร์ (เสียชีวิตปี 1909) ซึ่งเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ชัยคฺ หุสัยน์ เชื่อว่าหนทางที่จะทำให้มุสลิมเจริญก้าวหน้านั้นคือ การผสานการศึกษาระหว่างวิชาการศาสนาและวิชาการสมัยใหม่เข้าด้วยกัน ณ โรงเรียนแห่งนี้เองที่ รอชีด ริฎอ ได้ศึกษาวิชาการศาสนา วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และภาษา อันได้แก่ ภาษาตุรกี และฝรั่งเศส ท่านได้ศึกษางานเขียนของอัลเฆาะซาลีย์ และอิบนุตัยมี-ยะฮฺ ซึ่งดลใจให้ท่านเกิดความคิดที่จะปฏิรูปสภาพที่ตกต่ำของมุสลิม และทำให้อิสลามบริสุทธิ์จากการลัทธิศูฟีย์ ท่านจึงเขียนหนังสือ อัลหิกมะฮฺ อัล-ชัรอียะฮฺ ขึ้น เพื่อตำหนิการปฏิบัติหลาย ๆ ประการของมุสลิม หนังสือเล่มนี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์ในเลบานอน แต่อย่างไรก็ตามมันก็ได้รับการตีพิมพ์ที่อียิปต์ในเวลาต่อมา
การฟื้นฟูอิสลามของรอชีด ริฏอ
ในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ขบวนการฟื้นฟูอิสลามซึ่งนำโดย ญะมาลุดดีน อัลอัฟฆอนีย์ และ มุหัมมัด อับดุฮฺ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกมุสลิม ขบวนการนี้พยายามที่จะค้นหาสาเหตุแห่งความตกต่ำของมุสลิม และฟื้นฟูความรุ่งโรจน์ของอิสลาม นอกจากนั้นแล้ว ยังได้เน้นให้มุสลิมใช้สติปัญญา และศึกษาวิทยาศาสตร์ จุดประสงค์ขบวนการของอัลอัฟฆอนีย์ และอับดุฮฺก็เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่มุสลิม และขับไล่ตะวันตกออกจากดินแดนของพวกเขา แนวคิดต่าง ๆ ของ อัลอัฟฆอนีย์ และอับดุฮฺ ถูกถ่ายทอดผ่านวารสาร อัลอุรวะฮฺ อัลวุษกอของพวกเขา วารสารนี้พยายามที่จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ เสรีภาพ อิสรภาพ ความสามัคคี และสิทธิของผู้ถูกปกครองให้แก่ผู้อ่าน วารสารอัลอุรวะฮฺ อัลวุษกอ มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อรอชีด ริฎอ ซึ่งมีแนวคิดในการฟื้นฟูอิสลามอยู่แล้ว
มุหัมมัด รอชีด ริฎอมีความหวังอย่างแรงกล้าที่จะเข้าร่วมขบวนการของญะมาลุดดีน อัลอัฟฆอนีย์ แต่เมื่อท่านทราบว่าญะมาลุดดีนเสียชีวิต ท่านจึงเบนเข็มไปยังมุหัมมัด อับดุฮฺ ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสำคัญของญะมาลุดดีน อัลอัฟฆอนีย์ ในปี ค.ศ. 1897 รอชีด ริฎอ เดินทางเข้าสู่ประเทศอียิปต์ หลังจากอาศัยอยู่ในอียิปต์ไม่นานท่านได้เป็นลูกศิษย์และคนสนิทของอับดุฮฺ ในปี ค.ศ. 1898 รอชีด ริฎอ ได้ตีพิมพ์วารสารรายสัปดาห์ชื่อ “อัลมะนาร” ต่อมาวารสารฉบับนี้ถูกตีพิมพ์เป็นรายเดือน จุดมุ่งหมายของวารสาร อัลมะนาร ก็เพื่อที่จะเผยแผ่แนวคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูอิสลาม และเพื่อผสานความสามัคคีในบรรดามุสลิม เนื้อหาของอัลมะนารจะประกอบไปด้วยการอรรถาธิบายอัลกุรอานของอับดุฮฺ การฟัตวาของรอชีด ริฎอเกี่ยวกับปัญหาใหม่ ๆ และบทความที่เกี่ยวกับสังคม วรรณคดี และศาสนา จะเห็นได้ว่าวารสารอัลมะนาร ยึดแนวทางของวารสารอัลอุรวะฮฺ อัลวุษกอ โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่จะมุ่งเน้นการปฏิรูปสังคม และการศึกษาเป็นหลัก แต่เมื่ออับดุฮฺเสียชีวิตลง วารสาร อัลมะนารก็เคลื่อนไหวในด้านการเมืองอย่างชัดเจน รอชีด ริฎอเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับระบอบเผด็จการ, ความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปจักรวรรดิออตโตมาน, การมีระบบชูรอ (การปรึกษาหารือ), รัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตย, จักรวรรดินิยม และการคุกคามของชาวต่างชาติวารสารอัลมะนารเป็นวารสารที่แพร่หลายในประเทมุสลิมหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย ประเทศในแอฟริกา และอื่น ๆ อัลมะนารกลายเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านเกือบทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี ผู้พิพากษา นักวิชาการ หรือนักเรียนนักศึกษา
มุหัมมัด รอชีด ริฎอ เป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมาย ท่านมีงานเขียนมากกว่าอับดุฮฺ และอัฟฆอนีย์เสียอีก นอกจากจะเป็นนักเขียน และบรรณาธิการให้วารสารอัลมะนารแล้ว รอชีด ริฎอยังได้เขียนหนังสือต่าง ๆ ไว้อีกมากมาย เช่นเดียวกับอับดุฮฺ รอชีด ริฎอเชื่อในความสอดคล้องกันระหว่างอิสลามและความเป็นสมัยนิยม รอชีด ริฎอ เน้นให้มีการอิจญติฮาดเพื่อตีความหลักคำสอนของอิสลาม เกี่ยวกับเอกภาพของมุสลิมและการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และวัฒนธรรมนั้น ท่านมองว่าแหล่งที่มาดั้งเดิมของอิสลามนั้นคือหลักพื้นฐานของการฟื้นฟูอิสลาม
รอชีด ริฎอทุ่มเทเวลาให้กับการฟื้นฟูอิสลามตลอดชีวิตของท่าน ท่านเชื่อว่า ความตกต่ำของมุสลิมเกิดขึ้นเนื่องจากการหยุดนิ่งของนักวิชาการ และการมีผู้นำเผด็จการ ท่านมองว่า การที่มุสลิมต้องตกเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตกนั้นก็เนื่องจากว่ามุสลิมมีความอ่อนแอ และขาดความสามารถในการเป็นเลิศในด้านวิทยาศาสตร์ ในการก่อตั้งสถาบันทางการเมือง และการจำกัดอำนาจของรัฐบาลนั้น รอชีด ริฎอกระตุ้นให้มุสลิมเรียนรู้อารยธรรมของตะวันตก อันได้แก่วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ท่านพยายามที่จะผสานระหว่างวิทยาการอิสลามและวิชาการสมัยใหม่เข้าด้วยกัน และได้ใช้แนวคิดนี้ในโรงเรียนแห่งการเผยแผ่และทางนำ (
งานเขียนของรอชีด ริฎอ
ถือได้ว่ารอชีด ริฎอคือตัวเชื่อมต่อแนวคิดของญะมาลุดดีน อัลอัฟฆอนีย์ และมุหัมมัด อับดุฮฺ กับนักวิชาการรุ่นหลัง ๆ เช่น หะสัน อัลบันนา และสัยยิด กุฏุบได้เป็นอย่างดี นอกจาก ตัฟซี้ร อัลมะนารแล้ว ท่านยังทิ้งผลงานอื่นๆไว้อีกมากมายเช่น
-อัล-หิกมะฮฺ อัล-ชัรอียะฮฺ ,
-อัลวะหฺฮี อัล-มุหัมมะดีย์ ,
-มุหาวะรอต อัล-มุศลิหฺ วะ อัล-มุกกอลลิด ,
-ตารีค อัล-อุสตาซ อัล-อิหม่าม อัล-ชัยคฺ มุหัมมัด อับดุฮฺ ,
-อัลมะนาร วะ อัล-อัซฮาร ,
-นิดาอฺ อิลา ญินส์ อัล-ละฏีฟ
อ้างอิงจาก เอกสารประกอบการสอนรายวิชา นักคิดและกลุ่มฟื้นฟูอิสลาม เรียบเรียงโดย อาจารย์อับดุลลาตีฟ การี อาจารย์ประจำคณะอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น