วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ลักษณะการบริหารการปกครองของอาณาจักรออตโตมาน


อาณาจักรออตโตมานเติร์กมีอาณาจักรครอบคลุมถึง 3 ทวีป ได้แก่ เอเชีย ยุโรป และอัฟริกา ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 20 ล้านตารางกิโลเมตร อาณาจักรออตโตมานเป็นอาณาจักรที่มีประชากรประกอบด้วยเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อที่หลากหลายรวมอาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินของอาณาจักรนับเกือบ 7 ศตวรรษภายใต้การนำของออตโตมานเติร์ก ชาวเติร์กมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในถิ่นฐานบริเวณเอเชียกลางก่อนอพยพมายังเขตอนาโตเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเติร์กได้ขยายดินแดนและมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนตุรกีในปัจจุบัน ซึ่งอดีตเคยเป็นดินแดนอารยธรรมโบรานที่เจริญรุ่งเรืองของพวกฮิตไทต์ (Hittites) และเมืองอิสตันบูล(Istanbul) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรออตโตมานนั้นคือกรุงคอนสแตนติโนเปิลของจักรวรรดิ์ไบแซนทีน (Byzentine) นั้นเอง ดังนั้นในมิติของเวลาและสถานที่จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอาณาจักรออตโตมานเติร์กได้สร้างอารยธรรมมากมายให้ประจักษ์แก่ชาวโลก  เนื่องจากศาสนาและอารยธรรมของออตโตมานเติร์กได้วิวัฒนาการคงไว้ซึ่งลักษณะเฉพาะของความเป็นเติร์กที่อยู่บนพื้นฐานหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม
                ประมุขสูงสุดของอาณาจักรออตโตมานเรียกว่า ปาดีซะห์ (Padisyah) แต่ในประวัติศาสตร์ตะวันตกใช้คำว่า สุลต่าน ผู้มีอำนาจรองลงมาเรียกว่า วะซีร อะซัม (Vaziri Aram) หรือ ซัดรี อะซัม (Sadri Azam)แกรนด์วิเซียร์  ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าดิวาน (Divan) ซึ่งปัจจุบันอาจหมายถึงรัฐบาล  และมีอีกตำแหน่งหนึ่งเรียกว่า ไซคุลอิสลาม (Shaikhul-Islam)ทำหน้าที่ดูแลฝ่ายกิจการศาสนาอิสลาม มีฐานะเทียบเท่าแกรนด์ ทั้งสามสถาบันนี้ถือเป็นสถาบันหลักในออตโตมานเติร์ก
                ดังนั้นองค์กรบริหารการปกครองของอาณาจักรออตโตมานเติร์กสามารถแบ่งเป็นองค์กร ดังนี้

1. องค์การบริหารส่วนกลาง
     1.1 ปาดีซะฮ (Padishah) และเชคซาแด (Shehzade)
                ในยุคเริ่มแรกของการสถาปนาอาณาจักรออตโตมาน  ผู้ปกครองหรือประมุขของอาณาจักรเรียกว่า (Bey)ต่อท้ายนาม เช่น อุษมาน เบย์ (Osman Bey) อรฮัน เบย์
(Orhan  Bey)เป็นต้น  ต่อมาเมื่ออาณาจักรได้ขยายดินแดนอย่างกว้างขวางและมีการทำสงครามกับข้าศึกที่มิใช่มุสลิมพร้อมกับได้นำศาสนาอิสลามไปเผยแผ่ยังดินแดนของข้าศึกจึงเรียกประมุขของอาณาจักรออตโตมานว่ากาซี (Gazi)ซึ่งแปลว่านักรบเพื่อศาสนา เป็นสมญานามต่อท้ายนามพระองค์ เช่น อุษมาน กาซี (Osman Gazi) อรฮัน กาซี
(Orhan Gazi) มูร็อด กาซีที่1 (Murad GaziI ) เป็นต้น
                นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆเป็นสมญานาม เรียกประมุขผู้ปกครองอาณาจักรออตโตมาน เช่น ฮาน (Han) ฮากัน (Hakan) สุลต่าน (Sultan) ฮุนการ  เป็นต้น  ส่วนสุลต่านมูร็อดที่ 1  นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่าพระองค์เคยได้รับสมญานามว่า  พระมหากษัตริย์ธิราชเจ้าบนพื้นพิภพ  (hudavendigar)  นำหน้านามของพระองค์  ต่อมาระยะหลังประมุขของอาณาจักรออตโตมานเติร์ก  โดยรวมแล้วเรียกว่า  ปาดีซะห์  (padisah)  อาณาจักรออตโตมานในยุคสถาปนามีปาดีซะห์จำนวน  6  พระองค์ด้วยกันคือ
1)            อุษมาน  เบย์ (1299-1324)
2)            อรฮัน  เบย์  (1324-1362)
3)            มูร็อด  เบย์ที่ 1  (1362-1389)
4)            บายาซิด  เบย์ที่ 1  (1389-1402)
5)            เมห์เมด  เบย์ที่ 1  (1413-1421)
6)            มูร็อด  เบย์ที่ 2  (1421-1451)
ราชบัลลังก์ส่วนใหญ่จะสืบทายาทจากพระราชบิดา  แต่กระนั้นก็ไม่ได้เป็นกฏเกณฑ์ตายตัวเสมอไป  ผู้ที่จะเป็นรัชทายาทได้มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นทายาทในราชวงศ์อุษมาน  กาซี  (osman  gazi)  เท่านั้น  ราชโอรสที่เป็นรัชทายาทหรือมกุฎราชกุมารเรียกว่า  เชคซาแด  โดยที่เชคซาแดจะถูกส่งไปเป็นข้าหลวงในเมืองต่างๆ  ทั้งนี้เพื่อฝึกฝนหาประสบการณ์ในการบริหารและการปกครองบ้านเมือง  เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ราชบัลลังก์ในอนาคตต่อไป  ในระหว่างที่รัชทายาทดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงนั้นจะมีขุนนางอาวุโสที่เรียกว่า  ลาแล  อยู่เคียงข้างพระองค์ตลอด  ลาแล  คือ  ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่รอบรู้ในเรื่องการเมืองการปกครองและการทหาร  ทำหน้าที่คอยถวายการฝึกฝนและให้การปรึกษาหารือในการบริหารบ้านเมืองแก่เชคซาแด  โดยทั่วไปรัชทายาทที่กำลังดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงมีชื่อเรียกว่า  แชแลบี  หรือบางครั้งก็เรียกว่า  แชแลบี  สุลต่าน”   ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15  มีเชคซาแดมากมายเป็นข้าหลวงเมืองต่างๆ  ในมณฑลแถบอนาโตเลีย  เช่น  เมืองอิซมิร  บุรซา  เอสกีซาฮีร  ไอดีน  กุตะห์ยา  บาเลอเกซีร  อันตัลยา  อะแมเซีย  มานีซา  และเมืองซีวัส  เป็นต้น  ส่วนมณฑลต่างๆ  ในรูเมเลีย  (rumalia  หรือ  rumeli  หมายถึงดินแดนของอาณาจักรออตโตมานในยุโรป)  ไม่ค่อยนิยมส่งเชคซาแดเป็นข้าหลวงมากนัก
เมื่อสุลต่านซาลิมสามารถพิชิตและยึดครองอียิปต์จากราชวงศ์มัมลุกได้ในปี ค.ศ.1517  ตำแหน่งคอลีฟะฮ์แห่งโลกมุสลิม ซึ่งราชวงศ์มัมลุกรับช่วงจากราชวงศ์อับบาซียะห์แห่งแบกแดดนั้นตกเป็นของราชวงศ์ออตโตมานเติร์ก  นับตั้งแต่นั้นมาประมุขหรือปาดีชะฮ์แห่งอาณาจักรออตโตมานได้รับการยกย่องเป็นคอลีฟะฮ์แห่งโลกมุสลิม  คือประมุขสูงสุดของมุสลิมทั่วโลก
ชีวิตส่วนตัวของปาดีชะฮ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในพระราชวังในตำแหน่งฮาเร็ม  พระมารดาของท่านเรียกว่า  วาลีดะฮ  สุลต่าน  ส่วนเหล่าพระมเหสีของพระองค์เรียกว่า  ฮาแสกี  สุลต่าน  มีนางสนมและข้าราชบริพารส่วนหนึ่งทำหน้าที่ปรนนิบัติพระองค์และครอบครัวในตำหนักนี้
1.1.1  ตำหนักพระราชวัง
พระราชวังของอาณาจักรออตโตมานไม่เป็นแต่เพียงที่พำนักหรือพระราชฐานของกษัตริย์เท่านั้น  หากเป็นศูนย์กลางการปกครองและบริหารของอาณาจักร  และเป็นแหล่งผลิตขุนนางชั้นปกครอง  ผู้นำทางทหารและบุคคลสำคัญของรัฐอีกด้วย  ในช่วงต้นของอาณาจักรออตโตมาน  ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่โซฆุตและบุรซา  สถาบันพระราชวังค่อนข้างจะเรียบง่ายและไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก  เมื่อย้ายเมืองหลวงมายังเมืองแอดิรแนในเขตยุโรประหว่างปี ค.ศ.1402-1453  สถาบันพระราชวังเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเมื่อสุลต่านเมห์เมดที่ 2  สามารถพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ในปี ค.ศ.1453  และเปลี่ยนชื่อกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นอิสตันบูล  พร้อมกับย้ายเมืองหลวงมายังกรุงอิสตันบูล  แล้วพระองค์ทรงสร้างพระราชวังใหม่ที่มีชื่อว่าพระราชวัง  topkapi  ขึ้นในปี ค.ศ.1459  บทบาทของสถาบันพระราชวังจึงเห็นเด่นชัดมากขึ้น  และเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรออตโตมานอย่างสมบูรณ์  พระราชวังนี้สร้างเสร็จอย่างสมบูรณ์เพียบพร้อมกับกำแพงล้อมรอบในปี ค.ศ.1478  ซึ่งเป็นที่พระราชฐานของบรรดาปาดีชะฮ์แห่งออตโตมานเติร์กและเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรอย่างต่อเนื่องราว  4  ศตวรรษ  พระราชวังแห่งนี้ประกอบด้วยตำหนักใหญ่ๆ  3  ตำหนักได้แก่
1).  ตำหนักนอก
2).  ตำหนักใน
3).  ตำหนักฮาเร็ม
โดยมีประตูหลัก  3  บานคือ  ประตูบาเบอ  ฮุมายูน  ประตูบาบูสสะลาม  และประตูบาบูสสะอะแด
ประตูบาเบอ  ฮุมายูน  เป็นประตูชั้นแรกเข้ามายังลานตำหนักนอก  ซึ่งเป็นลานสำนักงานและที่อยู่อาศัยของมหาดเล็กและเจ้าหน้าที่ต่างๆ  ที่ถวายบริการในราชสำนักต่อจากตำหนักนอกแล้วมีประตูบาบูสสะลามเป็นประตูทางเข้ายังลานตำหนักใน  ตำหนักนี้เป็นที่เก็บคลังพระราชสมบัติ  เป็นลานที่จัดราชพิธีต่างๆ  และเป็นสำนักงานที่ทำงานของขุนนางชั้นผู้ใหญ่  และครอบครัวของพระองค์  และประตูบาบูสสะอะแดเป็นประตูเข่าตำหนักฮาเร็ม  ซึ่งเป็นเขตพำนักส่วนตัวของปาดีชะฮ์และครอบครัวของพระองค์  ซึ่งสนมคนรับใช้และข้าทาสบริวารที่ถวายปรนนิบัติและรับใช้พระองค์และครอบครัว
1.1.2  ตำหนักฮาเร็ม
คำว่า  ฮาเร็ม  เป็นที่รู้กันในโลกมุสลิมมาแต่อดีตก่อนออตโตมานเติร์กเสียอีก  ฮาเร็ม  เป็นชื่อเรียกเขตตำหนักหนึ่งในพระราชวังและเป็นเขตหวงห้าม  ในพระราชวัง  topkapi   ตำหนักฮาเร็มเป็นเขตพำนักส่วนตัวของปาดีชะฮ์  และครอบครัวของพระองค์ซึ่งมีสนมคนรับใช้และข้าทาสบริวารที่ถวายปรนนิบัติและรับใช้พระองค์และครอบครัว  โดยทั่วไปพระราชมารดาของปาดีชะฮ์เรียกว่า  วาลีแด  สุลต่าน  แต่ในวรรณกรรมคลาสสิกบางเล่มใช้คำว่า  mehd-i ulya-i-saltanat”ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 16  ใช้คำว่า  ฮาตูน  เป็นสมญานามเรียกพระราชมารดาของปาดีชะฮ์  ซึ่งเข้าใจว่ารับประเพณีมาจากอาณาจักรซัลจูก  พระราชมารดาปาดีชะฮ์ส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากเชลยศึกที่ปรนนิบัติอยู่ในพระราชสำนัก  ซึ่งมาจากเผ่าพันธุ์และเชื้อชาติที่แตกต่างกัน  วาลีแด  สุลต่าน  มีอิทธิพลและบทบาทมากในพระราชสำนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำหนักฮาเร็ม  และในบางสมัยปาดีชะฮ์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนางในการบริหารอาณาจักรอีกด้วย
                พระมเหสีของปาดีชะฮ์มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันเช่น  อิกบัล  ฮาแซกี  กาดีน  อาแฟนดี  เป็นต้น  ในยุคแรกนั้นปาดีชะฮ์นิยมอภิเษกสมรสกับพระธิดาของกษัตริย์เพื่อนบ้านทั้งนี้เพื่อความมั่นคงของพระราชบัลลังก์  ต่อมาตั้งแต่สมัยสุลต่านเมห์เมดที่ 2  เป็นต้นมา  ปาดีชะฮ์นิยมเลือกเชลยศึก  ที่ผ่านการอบรมในราชสำนักมาเป็นพระมเหสีเป็นประเพณีสืบต่อกันมา  แต่ก็มิได้เป็นกฎของราชสำนัก  เพราะสุลต่านบายาซิดที่ 2  และสุลต่านอุษมานที่ 2  ทรงอภิเษกสมรสกับสตรีจากตระกูลขุนนางชั้นสูง
คำว่า  สุลต่าน  ยังเป็นสมญานามที่ใช้เรียกพระราชธิดาของปาดีชะฮ์ต่อท้ายพระนามของนางอีกด้วย  เช่น  ฟัตมา  สุลต่าน  ซัยนับ  สุลต่าน  เป็นต้น  ชีวิตส่วนใหญ่ของนางอยู่ในตำหนักฮาเร็มภายใต้การดูแลของบรรดาเหล่านางสนมจนกว่านางจะอภิเษกสมรสจึงจะออกจากตำหนักนี้ได้  เมื่อนางเข้าวัยศึกษาจะจัดพิธีเรียกว่า  Bed-i-besmele”  เป็นพิธีเริ่มต้นเข้าศึกษาเล่าเรียนของนาง  โดยทางราชสำนักจัดหาครูที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นเข้ามาถวายให้การศึกษาแก่นาง  การศึกษาเริ่มด้วยศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน  ความรู้ศาสนา  วิชาภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์  และวิชาคัดเขียน  ต่อมามีการสอนวิชาศิลปะดนตรีเพิ่มอีกด้วย
ราชโอรสของปาดีชะฮ์ที่เกิดจาก  Haseki, Ikbal และ  Jariyah  เรียกว่า  แชแลบี  ต่อมาหลังจากสมัยสุลต่านมุร็อดที่ 2  เรียกว่า  เชคซาแด  ในเยาวว์วัยเชคซาแดจะได้รับการดูแลจากเหล่านางสนมที่ทางราชสำนักแต่งตั้งไว้  เมื่อพระชนมายุถึง  4-5  ชันษา  ผู้ดูแลจาก  Has Oda  ที่เรียกว่า  ลาลา  จะเข้ามาถวายให้การดูแลและอบรมสั่งสอนพระองค์  เมื่อย่างเข้าวัยศึกษาทางราชสำนักจะจัดหาราชครูที่มีชื่อเสียงที่สุด  ในสมัยนั้นเข้ามาถวายการศึกษาให้แก่พระองค์ในวิชาความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นตลอดจนกฎเกณฑ์  มารยาท  และจารีตประเพณีต่างๆ  ในราชสำนัก  เมื่อผ่านการศึกษาในราชสำนักแล้ว  และย่างเข้าวัยหนุ่ม  เชคซาแดเหล่านั้นจะถูกส่งไปเป็นข้าหลวง  ปกครองเมืองต่างๆ  เพื่อฝึกฝนและหาประสบการณ์ในการบริหารรัฐ  และเตรียมความพร้อมเพื่อสู่ราชบัลลังก์ในโอกาสต่อไป  โดยทั่วไปแล้วเมืองที่นิยมส่งเชคซาแดไปเป็นข้าหลวงคือ  Sanjak  Amasya (Amasia)  และ Manisa  (เป็นเมืองหนึ่งในอนาโตเลีย)  พระองค์ทรงจำลองเมืองนั้นเหมือนกับเมืองหลวงโดยจัดตั้งสภา  Divan-i-Humayun  จำลองขึ้นมาเป็นสภาสูงสุดในการบริหาร  ข้อปฏิบัตินี้ได้ยกเลิกไปในสุลต่านเมห์เมดที่ 2  โดยกำหนดให้เชคซาแดอยู่ในพระราชวังเท่านั้น  ทำให้รัชทายาทอ่อนประสบการณ์ในเรื่องโลกภายนอกเป็นอย่างมาก  ต่อมาการแต่งตั้งเชคซาแดเป็นข้าหลวงเริ่มมีการปฏิบัติใหม่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18
1.1.3  ตำหนักใน
ในคริสต์ศตวรรษที่ 15  เป็นต้นมา  สถาบันการศึกษาที่สำคัญในอาณาจักรออตโตมานนอกจากสถาบันมัดราซะห์แล้ว  ตำหนักในยังทำหน้าที่เป็นสถาบันการศึกษา  และสถาบันฝึกอบรมที่สำคัญอีกสถาบันหนึ่งในการผลิตขุนนางชั้นผู้ใหญ่  นายทหาร  และบุคคลสำคัญของรัฐ  เพื่อรับใช้ราชสำนักและอาณาจักร  ระบบการศึกษาในตำหนักในแบ่งออกเป็น  7  ระดับซึ่งมีชื่อเรียกเป็นห้องดังนี้
1.              Kucuk  Oda
2.              Buyuk  Oda
3.              Doganci Kogusu
4.              Seferi Kogusu
5.              Kilerci Odasi
6.              Hazine  Odasi
7.              Has  Oda
ผู้ที่ไม่สามารถศึกษาสำเร็จถึงขั้นระดับสุดท้ายนี้ได้  จะถูกเรียกว่า  จิกแม  จะถูกส่งไปเป็นทหาร  ปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพต่างๆ
การศึกษาในสองขั้นแรกที่เรียกว่า  Kucuk  Oda และ Buyuk  Oda  (ห้องเล็กและห้องใหญ่)  เป็นด่านขั้นแรกที่ใช้คัดเลือก  “Acemi  Oglan”  (เด็กผู้ชายคริสเตียนที่ถูกส่งมาเป็นบรรณการหรือเป็นเชลยศึก)  ที่มีความสามารถสูงและผ่านการฝึกอบรมในระดับต่างๆ มาแล้ว  เมื่อเด็กเหล่านั้นนำเข้ามาในตำหนักในแล้วจะเรียกว่า  อิชอุคลัน  เด็กเหล่านี้จะให้การศึกษาในเรื่องศาสนาอิสลาม  วัฒนธรรม  ภาษาตุรกี  ภาษาอาหรับ  และภาษาเปอร์เซีย  โดยมีอาจารย์ในพระราชสำนักเป็นผู้ดูแล  นอกจากนี้จะศึกษาในเรื่องวิชาการต่อสู้  วิชาขี่ม้า  ยิงธนู  และอื่นๆ  ผู้เข้าศึกษาจะต้องสวมใส่เสื้อคลุม  เรียกว่า  “Dolama”  จึงเรียกนักศึกษาชั้นนี้ว่า  “Dolamali”  นักศึกษาเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยประมาณ  15  ปี  การศึกษาและอบรมในแต่ละขั้นใช้เวลาประมาณ  4  ปี  เมื่อสำเร็จผ่านแต่ละขั้นและออกไปเรียกว่า  “Cikma”  ผู้ที่ผ่านและสำเร็จใน  2  ขั้นแรกแล้วก็สามารถเข้าศึกษาขั้นที่  3  ต่อ  ซึ่งเรียกว่าห้องDogansi Kogusu  ในขั้นนี้จะรับอิชอุคลันประมาณ  40  คน  ต่อมาห้องนี้ได้ยกเลิกไปในสมัยสุลต่านเมห์เมดที่ 4
การศึกษาในขั้นที่ 4  เรียกว่าห้อง  “Seferli  Kogusu”  ห้องนี้จัดตั้งขึ้นในสมัยสุลต่านมูร็อดที่ 4  ในปี ค.ศ.1635  ในขั้นที่ 4  นี้  อิชอุคลันจะเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะดนตรี  การขับร้องวิชาการต่อสู้ด้วยมือเปล่า  การยิงธนู  วิชาช่างตัดผม  และเรียนรู้การจัดการเกี่ยวกับ  Hamam  (ห้องอาบน้ำแบบชาวเติร์ก)  มีศิลปินและกวีนิพนธ์จำนวนมากเกิดจากผลผลิตของห้อง  seferli  kogusu  นี้  ผู้ที่สำเร็จและออกจากขั้นนี้จะส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในกองทหารม้า
การศึกษาในขั้นที่ 5  เรียกว่าห้อง  “Kilerci  Kogusu”  ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยสุลต่านเมห์เมดที่ 2  มีหน้าที่บริการอาหารและเครื่องดื่มแก่ปาดีชะฮ์  หัวหน้าหรือผู้นำห้องนี้เรียกว่า  “Ser-kileri-hassa”  ขั้นนี้อิชอุคลันเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในการดูและจัดเตรียมและถวายบริการอาหาร  ของหวาน  เครื่องดื่ม  และอื่นๆ  แก่ปาดีชะฮ์  และครอบครัวของพระองค์ในเขตตำหนักฮาเร็ม  การจุดเทียนในมัสยิดและตามห้องต่างๆ  ในราชสำนักก็เป็นหน้าที่ของ  Kilerci  Kogusu  เมื่ออิชอุคลันผ่านการศึกษาจากห้อง   Kelerci  Kogusu  แล้วก็จะเข้าปฏิบัติงานในกองทหารม้ารักษาพระองค์
                การศึกษาในขั้นที่ 6  เรียกว่าห้อง  “Hazine  Kogusu”  ห้องนี้จัดตั้งขึ้นโดยสุลต่านเมห์เมดที่ 2  เช่นกัน  ขุนนางห้องนี้เรียกว่า  “Hazinedarbasi  และ  Hazine  kethudase”  ตำแหน่งนี้มีอิทธิพลมากในราชสำนัก  ทำหน้าที่ดูแลราชบริพารและทาสบริวารที่อยู่ในแผนกช่างและงานฝีมือในราชสำนัก  ซึ่งมีมากกว่า  2,000  คน  ขุนนางในตำแหน่งนี้นอกจากทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศิลปหัตถกรรมในราชสำนักแล้ว จะต้องรับผิดชอบดูแลเครื่องประดับเครื่องเพชรพลอยและราชสมบัติในราชสำนักอีกด้วย  อิชอุคลัน  ที่ผ่านขั้นห้องนี้แล้วจะเข้าไปอยู่ในกองทหารม้ารักษาพระองค์หรือมหาดเล็กรักษาพระองค์
                การศึกษาในขั้นสุดท้ายเรียกว่า  “Has  Oda”  ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดในระบบและกระบวนการฝึกอบรมในราชสำนัก  ผู้ที่ผ่านการทดสอบจากชั้น  Hazine  Odasi  และมีความสามารถมาก  จึงจะได้คัดเลือกเข้ามาฝึกอบรมในสุดท้ายนี้  หัวหน้า  “Has  Oda”  เรียกว่า  “Has Odabasi”  ซึ่งมีความใกล้ชิดกับปาดีชะฮ์มากที่สุด  ภาระหน้าที่ของ  Has Oda  คือ  ดูแลรักษามรดกอันศักดิ์สิทธิ์ในเขต Hirka-i-Saadet  (เป็นชื่อห้องที่ใช้เก็บรักษาสิ่งของส่วนตัวของนบีมุฮัมหมัด  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ซ฿งเป็นมรดกสืบทอดมาจากราชวงศ์ต่างๆ  เช่น  เสื้อคลุม  ไม้เท้า  ดาบ  รองเท้า  เส้นผม  แหวน  เครื่องประทับตราและอื่นๆ)  ทำหน้าที่อ่านอะซานในราชสำนัก  เขียนจดหมายลับของปาดีชะฮ์  ดูแลเครื่องใช้ส่วนตัวของพระองค์และถวายปรนนิบัติอย่างใกล้ชิด  พร้อมกับเป็นยามรักษาพระองค์ในเวลากลางคืนอีกด้วย  เมื่อสำเร็จและผ่านการฝึกอบรมในขั้นนี้แล้วจะได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางระดับต่างๆ ตามความอาวุโส  เช่น  เป็นข้าหลวงในจังหวัดต่างๆ  ผู้บัญชาการแจนิสซารี  หรือเป็นหัวหน้ากองพลทหารม้ารักษาพระองค์  ในปี ค.ศ.1522  สุลต่านสุไลมานเคยแต่งตั้งอิบรอฮีม  ปาชา  ซึ่งเป็นหัวหน้า  Has Oda  เป็น  Vazir-i-Azam  ของพระองค์ (Halil Inalcik,1995:80)
เมื่อดูภารกิจและระบบการดำเนินงานของตำหนักในทั้ง 7  ขั้นแล้วจะเห็นว่าระบบการศึกษาในตำหนักในไม่เหมือนกับสถาบันการศึกษาทั่วไป ที่ให้ความสำคัญในภาคทฤษฎี  แต่ระบบการศึกษาในตำหนักใน     จะเน้นภาคปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี      จนสามารถแยกความสามารถและความถนัดของนักศึกษาได้อย่างเด่นชัดไม่ว่าในเรื่องศิลปะดนตรี ศิลปหัตถกรรม   ศิลปการสงคราม  การเมืองและการปกครอง  เป็นต้น  เด็กคริสเตียนที่นำมาฝึกฝนและอบรมในตำหนักในหรือที่เรียกว่าอิชอุคลันเหล่านี้  ไม่ว่าจะมาจากเชื้อชาติที่แตกต่างกัน  เช่น  กรีก  เปอร์เซีย  บัลแกเรีย  แอลบาเนีย  ฮังการี  และรัสเซียก็ตาม  จะได้รับการดูแลและปฏิบัติเหมือนกันหมดในฐานะข้าของแผ่นดินของปาดีชะฮ์  เด็กเหล่านี้เติบโตในราชสำนักและได้รับการศึกษาฝึกอบรมตามประเพณีของเติร์ก  โดยเหล่าครูมุสลิมเติร์ก  อิชอุคลันจะปลูกฝังในภารกิจอันสำคัญสองประการคือ  ปกป้องราชสำนักและสงครามศาสนา

  1.2  สภาสูงสุด (Divan-I  Humayun : Imperial Council)
                การบริหารราชการแผ่นดินของอาณาจักรออตโตมานในเริ่มแรกนั้น  ไม่ค่อยจะสลับซับซ้อนมากนัก  เป็นไปตามหัวหน้าเผ่า  ตามประเพณีบรรพบุรุษของชาวเติร์ก  เมื่อมีการขยายดินแดนมากขึ้น  การบริหารรัฐเริ่มมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น  ประมุขไม่อาจตัดสินเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐคนเดียวได้  จำเป็นต้องขอความเห็นและปรึกษาหารือกับเหล่าขุนนางเสนาบดี  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการจัดตั้งสภาขึ้นมา  นักประวัติศาสตร์ชาวเติร์ก  อุซูนชัรสือลือ  กล่าวว่า  ระบบสภาต่างๆ  ในอาณาจักรออตโตมานรับรูปแบบมาจากอาณาจักรชาวเติร์กในอดีต  กล่าวคือ  ในสมัยอาณาจักรเซลจูกเติร์ก  มีสภาอาลี  สมัยอาณาจักรอิลฮานิดแห่งเปอร์เซีย  มีสภากาบีร  และอาณาจักรมัมลูกนั้นมีสภาสุลต่านใช้อยู่แล้ว  (I.H.  Uzuncarsili, 1970 : 39,87,208,275)
                สภาสูงสุด  ทำหน้าที่ดูแลกิจการของรัฐโดยมีปาดีชะฮ์เป็นประธาน  ในอาณาจักรออตโตมานเริ่มมีการใช้ระบบสภาสูงสุดขึ้นในสมัยของสุลต่านอรฮัน  กาซี  ตั้งแต่สมัยอรฮัน  กาซี  จนถึงสมัยตอนต้นของสุลต่านเมห์เมดที่ 2  มีการประชุมสภาสูงสุด  เริ่มตั้งแต่หลังละหมาดซุบฮในตอนเช้าจนถึงใกล้เที่ยงของทุกวัน  ประชาชนผู้ใดที่มีเรื่องทุกข์ร้อนหรือถูกรังแกไม่ได้รับความยุติธรรม  จะฟ้องร้องใครก็สามารถถวายฟ้องร้องต่อหน้าปาดีชะฮ์ได้โดยตรงผ่านกระบวนการสภาสูงสุด  ปาดีชะฮ์จะทรงรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเหล่าประชาชนและทรงแก้ปัญหาเหล่านั้นในที่ประชุมสภาสูงสุด  ดังเช่น  ในสมัยสุลต่านมูร็อดที่ 1  สมัยสุลต่านบายาซิดที่ 1  สุลต่านเมห์เมดที่ 1  และสุลต่านมูร็อดที่ 2  (Ahmet Muncu, 1976 : 23)
                ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16  สภาสูงสุดได้ลดความถี่ของการประชุมเป็นสัปดาห์ละ  4  วัน  ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17  ลดเหลือ  2  ครั้งต่อสัปดาห์  ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่  18  สมัยสุลต่านอะห์มัดที่ 3  ลดเหลือสัปดาห์ละ  1  ครั้ง  จนกระทั่งเคยยกเลิกการประชุมไปช่วงหนึ่ง  แต่เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นสุลต่านจึงมีพระราชบัญชารับสั่งให้มีการประชุมขึ้นอีกครั้ง  โดยเริ่มแรกให้จัดประชุมในวันอังคารของทุกสัปดาห์  ต่อมาได้กำหนดให้  6  สัปดาห์ต่อครั้ง  และกิจการของรัฐส่วนใหญ่ได้มอบให้แกรนต์วิเชียร์เป็นองค์ประธานของสภาสูงสุด
                นับตั้งแต่การก่อตั้งสภาสูงสุดจนถึงสมัยสุลต่านเมห์เมดที่ 2  ปาดีชะฮ์จะเป็นประธานของสภาสูงสุดตลอด  หลังจากนั้นได้มอบหมายให้แกรนวิเชียร์  แม้แต่เครื่องประทับตราของรัฐก็อยู่ในมือของแกรนวิเชียร์ด้วย  สภาสูงสุดมีบทบาทที่สำคัญมากและเป็นศูนย์กลางในการบริหารรัฐ  เรื่องราวที่สำคัญเกี่ยวกับการเมือง  การบริหาร  การทหาร  จารีตประเพณี  กฎหมาย  การศาล  และการคลัง  การฟ้องร้องและคดีสำคัญต่างๆ  จนนำมาพิจารณาในสภาสูงสุด  และมติของสภาสูงสุดถือว่าเป็นที่สิ้นสุดและชี้ขาด  สภาสูงสุดเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนโดยไม่จำกัดเพศ  ชนชั้น  ศาสนา  เชื้อชาติและหน้าที่การงาน  ใครที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  มีเรื่องทุกข์ร้อน  ไม่ว่าจากแคว้นไหนหรือกรณีเป็นข้าหลวง  ชนชั้นสูง  ทหาร  หรือใครก็ตามสามารถนำเรื่องฟ้องร้องต่อสภาสูงสุดได้โดยตรง  ในสภาสูงสุดมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลเรื่องราวดังนี้
1)            เรื่องราวเกี่ยวกับบริหารและจารีตประเพณี  แกรนวิเชียร์เป็นผู้ดูแล
2)            เรื่องเกี่ยวกับที่ดิน  Nisanci  เป็นผู้ดูแล
3)            เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายและชารีอะฮ์  Kadiaskar  เป็นผู้ดูแล
4)            เรื่องการเงินการคลัง  Defterdar  เป็นผู้รับผิดชอบ
มติของสภาสูงสุดจะบันทึกไว้ในเอกสารบันทึกที่เรียกว่า  “Muhimme, Ahkam  Tahvil, Ruus, Name  หรือ  Ahidname”  แล้วแต่กรณี  เมื่อเอกสารเหล่านี้ได้รับการประทับตราพระราชลัญจกรเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะเก็บไว้ที่หอเอกสารแห่งชาติ (Defterhane)
การประชุมสภาสูงสุดนั้นเริ่มตั้งแต่เช้าหลังละหมาดซุบฮตอนเช้าจนกระทั่งใกล้เที่ยง  เมื่อเลิกการประชุมแล้ว  ผู้บัญชาการแจนิสซารีจะเข้าเฝ้าปาดีชะฮ์เพื่อรายงานเกี่ยวกับกองทัพแจนิสซารี  หลังจากนั้น  Kadiaskar  จะเข้าเฝ้าเพื่อรายงานในเรื่องความรับผิดชอบและต่อด้วยแกรนวิเชียร์  องค์วิเชียร์ต่างๆ  เข้าเฝ้าและรับประทานอาหารเที่ยงพร้อมกับปาดีชะฮ์  ประเพณีนี้ได้ปฏิบัติกันจนถึงสมัยสุลต่านเมห์เมดที่ 2  ต่อมาได้ทรงอนุญาตให้แกรนวิเชียร์  เสนาบดีพระคลัง  องค์วิเชียร์ต่างๆ  Defterdar  ต่างๆ  และ  Nisanci  เข้าร่วมรับประทานอาหารมื้อเที่ยงกับปาดีชะฮ์ด้วย  ประชาชนที่เข้ามารับฟังการประชุมของสภาสูงสุดทุกคนก็ได้รับเชิญรับประทานอาหารเช่นกันด้วย
สมาชิกถาวรของสภาสูงสุดประกอบด้วยแกรนวิเชียร์  (Vazir-i-Azam)  วิเชียร์ (VazirKadiaskar  Defterdar  และ  Nisanci  นอกจากนี้  Reisulkuttab, Kapicilar, Kethudasi  ก็เข้าร่วมประชุมสภาสูงสุดด้วย  มีนักวิจัยบางท่านกล่าวว่าตั้งแต่ ค.ศ.1536  เป็นต้นมา  ข้าหลวงใหญ่แห่งรูแมลีก็เป็นสมาชิกของสภาสูงสุดด้วย
1.2.1  แกรนวิเชียร์และวิเชียร์  (Vazir-i-Azam  และ  Vazir)
วะซีรเป็นหัวหน้าขุนนางและเสนาบดีต่างๆ  หัวหน้าของวะซีรเรียกว่า วะซีรอะซัม  หรือแกรนวิเชียร์เป็นผู้ดูแล  ครอบครองพระราชลัญจกรของปาดีชะฮ์  ซึ่งแสดงถึงการเป็นตัวแทนของปาดีชะฮ์โดยตรง  ประทับตรานี้เรียกว่า  “Muhur-i-Mumayun”  เมื่อปาดีชะฮ์ทรงเรียกตรานั้นคืน  ก็แสดงถึงการปลดออกจากตำแหน่งนั้นโดยอัตโนมัติ  โดยทั่วไปแล้ววะซีรและวะซีรอะซัมจะได้รับแต่งตั้งจากกลุ่มนักปราชญ์ชนชั้นอุลามะอฺ  ตำแหน่งนี้มีจำนวนไม่มากนัก  ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15  มีเพียงไม่เกิน  3  ท่าน  เนื่องจากใน  Kanuname  (กฎหมายของสุลต่านแต่ละองค์)  ได้กำหนดวะซีรอะซัมเป็นตัวแทนปาดีชะฮ์อย่างสมบูรณ์  ตำแหน่งนี้จึงมีบทบาทและอิทธิพลมากในการบริหารรัฐซึ่งอำนาจหน้าที่ดังนี้
1)            เป็นประธานของสภาสูงสุดแทนปาดีชะฮ์
2)            เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งถอดถอนและโยกย้ายขุนนาง  ข้าราชการในระดับต่างๆ
3)          ในภาวะสงครามมีสิทธิเด็ดขาดในการออกคำสั่งประหารใครก็ได้โดยไม่ต้องขอพระบรมราชานุญาตจากปาดีชะฮ์ก่อน
4)            ต้องออกศึกกับปาดีชะฮ์ทุกครั้ง
5)            ออกศึกเป็นผู้บัญชาการสูงสุดในกองทัพแทนปาดีชะฮ์  ถ้าปาดีชะฮ์ไม่สามารถออกศึกได้  และจะแต่งตั้งตัวแทนของท่านที่เรียกว่า  ซะดะรัด  กัยมากอม  ทำหน้าที่แทนท่านในเมืองหลวงในขณะที่ท่านไม่อยู่  ในการออกศึกนั้นจะได้รับยศเรียกว่า  เซรดารี  อักรอม  ซึ่งมีอำนาจเหมือนปาดีชะฮ์ทุกประการ  ความผิดพลาดของท่านในระหว่างนั้นไม่สามารถนำมาสอบสวนได้
วะซีรอะซัม  จะเปิดจวนของท่านเป็นสภาให้ประชาชนเข้ามาแจ้งเรื่องทุกข์ร้อนได้ในช่วงบ่ายหลังละหมาดอัสรีของทุกวันจันทร์  พุธ  ศุกร์  เสาร์และอาทิตย์  ซึ่งเรียกว่า  สภาตอนเย็น  ในสภานี้มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมด้วย  ในเรื่องราวหรือคดีต่างๆ  ที่สามารถแก้ไขได้ตามอำนาจของท่านได้ก็จะแก้ไขและสิ้นสุดในสภานี้  แต่ถ้าหากเป็นเรื่องสำคัญเหนืออำนาจของท่านก็จะส่งเรื่องไปยังสภาสูงสุดพิจารณาต่อไป
1.2.2  เสนาบดีกรมตุลาการทหาร  หรือกอฎีทหาร  (Kadiaskar)
เป็นข้าราชการสายทหารที่มีความรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับกฎหมายและชารีอะฮ์ของบรรดาเหล่าทหารและกองทัพ  กรมตุลาการทหาร  เริ่มก่อตั้งเมื่อไรนั้นนักประวัติศาสตร์มีทรรศนะที่แตกต่างกัน  กล่าวคือ  บางรายงานกล่าวว่า  เริ่มขึ้นใน ค.ศ.1360  ในสมัยสุลต่านอรฮัน  กาซี  โดยมีกอฎีแห่งเมืองบุรซา  คือ  Halil  HayreddinPasa  จากตระกูล  Chandar  ดำรงตำแหน่ง  Kadiaskar  เป็นคนแรก  แต่มีบางรายงานว่า  เริ่มเกิดขึ้นในสมัยของสุลต่านมูร็อดที่ 1  ในปี ค.ศ.1362  เป็นที่น่าสังเกตว่าตำแหน่งนี้มาจากขรนชั้นทหาร  ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อรองรับความจำเป็นในด้านกฎหมายและชารีอะฮ์ของบรรดาเหล่าทหารและกองทัพเป็นพื้นฐาน  และเกิดขึ้นก่อนสถาบันไซคุลอิสลามราว  80  กว่าปี  กรมนี้มีภารกิจหลักในการบริหารตุลาการทหารในการแก้ปัญหาทางด้านกฎหมาย  และชารีอะฮ์  และดูแลคดีต่างๆ  ของเหล่าทหารทั้งในภาวะปกติและสงคราม  นอกจากนี้ดูแลเกี่ยวกับการศึกษาของรัฐโดยรวมอีกด้วย  บางครั้งด้วยเหตุผลทางการเมืองและความสงบเรียบร้อยของชาติ  กรมนี้ทำหน้าที่เหมือนศาลฎีกา  สามารถวินิจฉัย  อนุญาตสังหารพระอนุชามุฮัมหมัด  แต่ได้รับการปฏิเสธจาก  Esad  Efandi  สุลต่านอุษมานที่ 2  จึงขอคำวินิจฉัยจาก  Taskopruzade  Kemeleddin  Efandi  ซึ่งเป็น  Kadiaskar  ในกรมตุลาการแห่งภาคพื้นยุโรปสมัยนั้น
      ในเริ่มแรกตำแหน่งนี้มีคนเดียวเท่านั้น  เมื่ออาณาจักรได้ขยายดินแดนในเขตอนาโตเลียและรูแมลี  กรมดังกล่าวจึงแบ่งเป็น  2  เขต  ในปี ค.ศ.1418  คือ  กรมตุลาการทหารแห่งรูแมลี  ซึ่งมี  Muslihiddin  Kastalani  เป็น  Kadiaskar  ส่วนในเขตอนาโตเลียมีกอฎีแห่งกรุงอิสตันบูลคือ  Haci  Hasanzade  แห่ง  Balikesir  ดำรงตำแหน่งเป็น  Kadiaskar  แห่งอนาโตเลีย  พอถึงในสมัยสุลต่านซาลิม  อาณาจักรได้ขยายดินแดนมากขึ้นในด้านตะวันออกจึงได้มีการแต่งตั้งกรมนี้เพิ่มเรียกว่า  กรมตุลาการทหารอาหรับและไม่ใช่อาหรับ  ที่เมืองดิยารบากิร  โดยมี  Idris-i-Bitlisi  ดำรงเป็นเสนาบดีกรม  ต่อมากรมนี้ได้ถูกยกเลิก  โดยคงเหลือกรมตุลาการแห่งรูแมลีและอนาโตเลียไว้จนถึงยุคท้ายของอาณาจักรออตโตมานเติร์ก ในระหว่างกรมตุลาการทหารต่างๆ  กรมตุลาการแห่งรูเมเลียมียศและบรรดาศักดิ์สูงที่สุดและได้รับเงินเดือนมากกว่ากรมตุลาการทหารอื่นๆ
                โดยทั่วไปตำแหน่งเจ้ากรมหรือเสนาบดีกรมมีวาระ  2  ปี  จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17  ได้ลดวาระเป็น  1  ปี  ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17  เป็นต้นมา  บทบาทของกรมนี้ได้ลดลงเป็นอย่างมาก  โดยมีสถาบันไซคุลอิสลามเข้ามาทดแทนบทบาทของกรมนี้  จนกระทั่งไซคุลอิสลามสามารถแต่งตั้งและถอดถอนเสนาบดีนี้ได้ในที่สุด
Kadiaskar  ในฐานะเป็นสมาชิกถาวรของสภาสูงสุด  ซึ่งเป็นสภาสูงสุดของรัฐมีที่นั่งในสภาอยู่ทางซ้ายมือของแกรนวิเชียร์  เมื่อเสร็จการประชุมสภาแล้ว  เสนาบดีกรมจะเข้าเฝ้าปาดีชะฮ์  เพื่อเสนอแต่งตั้งและถอดถอนกอฎี  (ผู้พิพากษา)  และครูผู้สอนในจังหวัดและแคว้นต่างๆ  นอกเหนือจากวันอังคารและวันพุธเสนาบดีกรมจะเปิดจวนของท่านเป็นที่ประชุมทุกวันเพื่อสะสางงานที่รับผิดชอบ  โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย  6  ตำแหน่งด้วยกัน  คือ  Tezkereci, Ruznameli, Matlabci, Mektupcu  และ  Kethuda
ในภาวะสงคราม  KADIASKAR จะต้องออกศึกพร้อมกับปาดีช์ด้วย ถ้าหากปาดีชะฮ์ไม่ออกศึกด้วยตนเอง KADIASKAR ก็จะไม่ออกศึกด้วยแต่จะแต่งตั้งผู้พิพากษาทหารร่วมเดินทางออกศึกพร้อมกับกองทัพด้วย
1.2.3  เสนาบดีพระคลัง  (Defterdar)
คำว่า  “Defterdar”  เริ่มปรากฏขึ้นในอาณาจักรออตโตมานในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15  เป็นต้นมา  ในสมัยอาณาจักรอิลฮานิต  กรมนี้มีชื่อว่า  ดัฟตารี  เมมาลิก  และเข้าใจว่าออตโตมานเติร์กรับแนวความคิดการจัดตั้งกรมพระคลังนี้จากอาณาจักรอิลฮานิด  ในสมัยสุลต่านบายาซิดที่ 2  ได้จัดตั้งกรมพระคลังอนาโตเลียขึ้น  เพื่อดูแลราชทรัพย?สินและราชสมบัติในเขตอนาโตเลีย  ต่อมากรมนี้ได้มีการก่อตั้งเพิ่มขึ้นในเขตต่างๆ  ซึ่งเรียกว่า  กรม  Sikke-i-Evvel, Sikke-i-Sani  และ  Sikke-i-Salis”  เพื่อดูแลรับผิดชอบในเรื่องรายรับรายจ่ายของราชสมบัติและราชทรัพย์สินในเขตต่างๆ
กรมพระคลังแห่งรูเมเลีย  เป็นศูนย์ของกรมพระคลังทั้งหมด  เจ้ากรมดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกรมพระคลัง  และรับผิดชอบสูงสุดในเรื่องการคลังของรัฐ  ถึงแม้ว่าบทบาทของกรมต่างๆ  จะลดลงหลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 18  แต่กรมพระคลังแห่งรูมเลียกลับเพิ่มบทบาทมากยิ่งขึ้น  กล่าวคือ  เรื่องการคลังของรัฐทั้งหมดไม่อาจสิ้นสุดกับกรมพระคลังอื่นๆ ได้  เว้นแต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากเสนาบดีพระคลังแห่งรูเมเลีย  เสนาบดีกรมนี้นอกจากจะดูแลเรื่องคลังของรัฐแล้ว  ยังต้องรับผิดชอบในการจัดทำงบประมาณรายปีของรัฐถวายบังปาดีชะฮ์อีกด้วย  ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกรมนี้คือ  จะต้องสามารถหารายได้เข้ารัฐและสามารถจ่ายเงินเดือนแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ได้ตรงตามเวลา  เนื่องจากกรมนี้มีภารกิจมากจึงจัดตั้งกองต่างๆ  ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกรมนี้กล่าวคือ
1)            กอง  Mukataa, Mevkufat, Varidat, Kila’tezkireciligi
2)            กอง  Tezkire-i-Ahkam
กรมนี้ได้มีการพัฒนาเรื่อยๆ  จนกระทั่งในปี ค.ศ.1840  กรมพระคลังนี้ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นกระทรวงการคลัง
1.2.4  กรม  Nisanci
Nisanci  เป็นสมาชิกถาวร 1 ใน 4 ขององค์สมาชิกสภาสูงสุด  (ดิวานฮุมายูน)  บางครั้งก็เรียกว่า  ตุฆรัยหรือมิร  เตากีอี  กรม  Nisanci  เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไรนั้นไม่เป็นที่ทราบแน่นอน  แต่อย่างไรก็ตามในสมัยสุลต่านอรฮัน  กาซีมีการใช้เครื่องประทับตราลงพระปรมาภิไธยแล้วในเอกสารราชการต่างๆ  และเข้าใจว่ากรมนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ 2  ของคริสต์ศตวรรษที่ 14  ในสมัยอาณาจักรอับบาซิยะฮ์  กรมนี้เรียกว่า  “Tavki  หรือ  Tavki’I”  ส่วนในสมัยอาณาจักรเติร์กซัลจูก  เรียกว่า  ซอบีฮี  ตุกรอ  หรือตุฆรัย  ในสมัยออตโตมานกรมนี้ปรากฏใน  Kanuname  ของสุลต่านเมห์เมดที่ 2
NISANCI มีความรับผิดชอบในการดูแลพระราชโองการ พระราชกฎหมาย พระราชบัญญัติหรือหนังสือราชการต่างๆ ที่ออกมาจากสภาสูงสุด เพื่อประทับตราลงพระปรมาภิไธย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการแปลหนังสือราชการของต่างชาติที่เข้ามายังราชสำนัก เพื่อนำเสนอยังสภาสูงสุดหรือถวายยังปาดีชะฮ์ต่อไป
สภาสูงสุดนอกจากมีองค์สมาชิกหลักแล้วยังมีสำนักงานและกองต่างๆ  ที่สนับสนุนการดำเนินงานของดิวานให้สามารถบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย  ซึ่งประกอบด้วยดังนี้
1)  กรมเลขานุการสภา  (Reisulkuttab)
สภาสูงสุดนอกจากมีสมาชิกถาวรทั้ง  4  ที่เรียกว่า  อัรกานนี  อัรบาอาอฺ  แล้วยังมีเลขานุการสภา  ทำหน้าที่ดูแลงานธุรการต่างๆ  พร้อมกับดูแลสำนักงาน  กอง  และหน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับสภาสูงสุด  ถึงแม้ว่าตำแหน่งเลขานุการสภาในอาณาจักรออตโตมานเติร์กเกิดขึ้นเมื่อไรนั้นไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่นอนก็ตาม  แต่ใน  Kanuname  ของสุลต่านเมห์เมดที่ 2  มีการกล่วถึงสถานภาพของตำแหน่งเลขานุการสภาไว้หลายที่ด้วยกัน  ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15  เป็นต้นมา  ตำแหน่งเลาขานึการสภาเพิ่มความสำคัญพร้อมๆ  กับความสำคัญของสภาสูงสุด  ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นขุนนางชั้นสูงและสำคัญยิ่ง  เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเมืองและการทูต  ทั้งภายนอกและภายในประเทศ  เลขานุการสภานอกจากทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาแล้ว  ยังทำหน้าที่ดูแลพิธีการทางการทูตที่เข้ามาในราชสำนักพร้อมกับทำหน้าที่เป็นล่ามในราชสำนักอีกด้วย  ภารกิจนี้ค่อนข้างจะเด่นชัดมากขึ้นในช่วงปลายของอาณาจักรออตโตมาน  จนกระทั่งได้พัฒนาเปลี่ยนสถานภาพเป็นกอง  และเป็นกระทรวงการต่างประเทศในเวลาต่อมา
2)  กรมผู้ช่วยเลขานุการสภา  (Beylikei  หรือ  Divan  Kalemi)
กองผู้ช่วยเลขานุการสภา  ทำหน้าที่เป็นเลขาช่วยเหลือเลขานุการสภาในการดูแลสำนัก  กรม  และหน่วยงานต่างๆ  ของสภาสูงสุด  ตรวจทานพระราชโองการ  พระราชบัญญัติ  สนธิสัญญา  ร่างกฎหมาย  และอื่นๆ  ก่อนที่จะส่งไปยังกรม  กองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ติดตามผลสนธิสัญญาที่รัฐทำกับนานาชาติ  รับผิดชอบในการจัดส่งมติของสภาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมกับติดตามผล นอกจากนี้ผู้ช่วยเลขานุการสภาสภายังมีหน้าที่บันทึกข้อคำสั่งหรือกฎหมายต่างๆ ที่ออกจากสภาเก็บไว้ในสมุดบันทึกเรียกว่า มุฮิมมะดัฟตัรลารีและเจ้าหน้าที่ผู้บันทึกเรียกว่า “Muhimmmenuvisan” หัวหน้าหรือผู้อำนวยการกองกองผู้ช่วยเลานุการสภา เรียกว่า  “Beylikei  Efandi”
3)  กองธุรการ
กองนี้บางครั้ง  เรียกว่า  “Nisan  หรือ  Kese  Kalemi”  หัวหน้ากองเรียกว่า  “Tahvil  Kesedari”กองนี้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือพระบรมราชโองการแต่งตั้งวิเชียร์  ข้าหลวงใหญ่  ข้าหลวง  และผู้พิพากษาประจำนครพร้อมกับดูแลบัญชีแปลนที่ดินที่ทรงพระราชทานแก่บุคคลเหล่านี้  เมื่อมีพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดิน  พระบรมราชโองการนั้นจะส่งไปยังหอบรรณสารแห่งชาติเพื่อลงรหัสและบันทึกข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวข้อง  เสร็จแล้วก็จะส่งต่อไปยังกองธุรการ  เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล  กองธุรการ  จะวาดแปลนที่ดินและออกหนังสือโอนกรรมสิทธิ์แก่ข้าราชการขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ได้พระราชทานที่ดินนั้นพร้อมกับแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ  เสร็จแล้วจัดทำรายงานส่งมายังกรมเลขานุการสภา
4)  Ruus  Kalemi
กองนี้มีชื่อเรียกอีกว่ากอง  Ruus  Humayun  Kalemi  รับผิดชอบในการรวบรวมพระบรมราชโองการแต่งตั้งขุนนาง  ข้าราชการ  เจ้าหน้าที่และเสมียนในระดับต่างๆ ทั้งหมด  ยกเว้นข้าราชการขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ครอบครองที่ดินติมาร์  เช่น  ข้าหลวงใหญ่  แกรนวิเชียร์  และวิเชียร์ต่างๆ  พร้อมกับออกพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่และภารกิจของบุคคลเหล่านั้น  ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และคนรับใช้ในตำแหน่งต่างๆ  ในสำนักพระราชวัง  เจ้าหน้าที่ดูแลงานมูลนิธิการกุศลต่างๆ  บุคคลที่ให้บริการในด้านศาสนา  เช่น  นักเทศนาธรรม  ครูศาสนา  อิมาม  คอเต็บ  เป็นต้น  ข้อปฏิบัติต่างๆ  ที่เกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้จะบันทึกไว้ในบันทึกที่เรียกว่า  “Ruus  Defterleri”  เนื่องจากกองนี้มีงานรับผิดชอบค่อนข้างมาก  จึงมีหน้าที่ปฏิบัติงานหลายตำแหน่ง  มีรายงานว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 18  จำนวนเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ  ในกองนี้มีถึง  150  คน
5)  Amedi  Kalemi
กองนี้มีหัวหน้าเรียกว่า  “Amedi  Divan-I  Humayun”  หรือ  Amedi  บางครั้งเรียกว่า  “Amedi Efandi”  ตำแหน่งนี้เป็นผู้ช่วยคนที่หนึ่งและสำคัญของ  Reisulkuttab  กล่าวคือเป็นหัวหน้าเลขานุการเฉพาะของกรมเลขานุการสภา  กองนี้มีภาระที่ในการทำรายงานสรุปหรือที่เรียกว่า  Takrir  และ  Telhisให้แก่  Vazir-i-Azam  เพื่อนำถวายเสนอแก่ปาดีชะฮ์  ทำหน้าที่ขัดเกลาหนังสือหรือเอกสารสำคัญต่างๆ  ที่กรมเลาขานุการสภาจะนำเสนอให้  Vazir-i-Azam  และที่  วะซีร  อะซัม  จะนำถวายแก่ปาดีชะฮ์ต่อไป  กอง  Amedi  Kalemi  รับผิดชอบในการเตรียมข้อสัญญาและสนธิสัญญาต่างๆ  ที่รัฐจะทำกับนานาชาติ  มีหน้าที่ร่างสาส์นหรือจดหมายโต้ตอบของวะซีร  อะซัม  ที่มีต่อผู้นำต่างชาติอื่นๆ  นอกจากนี้พิธีการทางการทูต  ล่ามภาษา  เอกสารและหนังสือราชการต่างๆ  ที่เกี่ยวกับทูตและพ่อค้าวาณิชต่างชาติ  ล้วนแต่เป็นความรับผิดชอบของกองนี้
หลังจากปี ค.ศ.1793  เป็นต้นมา  อาณาจักรออตโตมานได้เชื่อสมัพันธไมตรีกับต่างชาติมากขึ้น  และเปิดสถานทูตและสถานกงสุลในประเทศยุโรปหลายแห่งด้วยกัน  รัฐได้รับสาส์นรายงานจากสถานทูต  สถานกงสุลในต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก  ซึ่งสาส์นรายงานเหล่านั้นมีความสำคัญต่อนโยบายความสัมพันธ์กับต่างประเทศของรัฐเป็นอย่างมาก  กองนี้นอกจากมีหน้าที่รวบรวมและเก็บสาส์นรายงานเหล่านี้แล้ว  ยังมีหน้าที่ตีความและถอดรหัสสลับในสาส์นรายงานเหล่านั้นด้วย  พร้อมกับร่างหนังสือโต้ตอบกับสถานทูตและสถานกงสุลนั้นๆ  ข้าราชการที่จะมาทำหน้าที่ในกองนี้ต้องได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ  นอกจากจะมีจริยธรรมดีงามแล้ว  ยังต้องมีความซื่อสัตย์  สามารถรักษาความลับของรัฐได้  พร้อมกับต้องมีความรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมของต่างชาติอีกด้วย
6)  กองพระราชพิธี (Teshrifatcilik)
กองนี้มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากองอื่นๆ  ถึงแม้ว่ากองนี้เพิ่งก่อตั้งเป็นสัดส่วนขึ้นในสมัยสุลต่านสุไลมานก็ตาม  แต่ข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับพระราชพิธีในอาณาจักรออตโตมานนั้นมีมาพร้อมๆ  กับการเกิดขึ้นของอาณาจักร  เริ่มแรกนั้นพระราชพิธีต่างๆ  มีไม่มากและจะเรียบง่ายไม่ค่อยยุ่งยากมากนัก  ต่อมาระยะหลังอาณาจักรได้แผ่ขยายดินแดนมากขึ้นพระราชพิธีต่างๆ  ก็เพิ่มมากขึ้นและสลับซับซ้อนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ใน  Kanunname  ของสุลต่านเมห์เมดที่ 2  มีบัญญัติถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชพิธีและในสมัยสุลต่านมูร็อดที่ 2  ก็มีการใช้ข้อปฏิบัติบางอย่างในการนำทูตต่างชาติเข้าเฝ้าปาดีชะฮ์  พระราชพิธีจะเพิ่มความสลับซับซ้อนและกฏเกณฑ์ข้อปฏิบัติมากขึ้นพร้อมๆ กับความยิ่งใหญ่และแผ่ขยายของอาณาจักร  จึงต้องจัดตั้งกองขึ้นมาเพื่อรองรับและรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง  ไม่ว่าในเรื่องพระราชพิธีราชาภิเษก  พระราพิธีคาดดาบ  งานพิธีพระราชสมภพ  พิธีอภิเษกสมรส  การจัดงานวันอีดและพิธีถวายพระพรวันอีดและวันสำคัญอื่นๆ  ทางศาสนา  พิธีต้อนรับอาคันตุกะ  พิธีประดับเครื่องยศขุนนางชั้นผู้ใหญ่และราชพิธีอื่นๆ  ในราชสำนัก  ล้วนแต่เป็นหน้าที่ของกองนี้ทั้งสิ้น  นอกจากนี้ยังรับผิดชอบเกี่ยวกับพิธีนำเรือรบลงทะเล  พิธีเคลื่อนทัพออกศึกและพิธีต้อนรับการกลับมาของกองทัพ
ภายใต้กองนี้มีหน่วยย่อยต่างๆ  เรียกว่า  Teshrifat  Kalemi  ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยเรียกว่า  “Teshrifat  Kesedari, Teshrifat  Halifesi, Kaftancibasi”  และ  Teshrifat  Kesededari  yemegi  หน่วยย่อยเหล่านี้นอกจากรับผิดชอบในเรื่องราชพิธีต่างๆ  แล้วยังมีหน้าที่ต้องบันทึกพระราชพิธีต่างๆ  ในสมุดบันทึก  3  เล่มดังนี้
ก.  สมุดบันทึกเล่มแรกเรียกว่า  เยาวมีเย  เดฟตารี  (Yevmiye  Defteri)  คือ  สมุดบันทึกย่อที่เกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ  ที่จัดตั้งทั้งในและนอกราชสำนัก  โดยเรียงลำดับตามวัน  เดือน  ปี  ที่จัดพิธีนั้นๆ
ข.  สมุดบันทึกเล่มที่สองเรียกว่า  มุฟัซซัล  เดฟตารี  (Mufassan  Defteri)  คือ  สมุดบันทึกรายละเอียดของพระราชพิธีต่างๆ  ทั้งในและนอกราชสำนักอย่างละเอียดถี่ถ้วน  บันทึกพระราชประเพณี  ข้อปฏิบัติต่างๆ ตลอดจน  ชุดการแต่งกายของผู้เข้าร่วมพระราชพิธีต่างๆ  อย่างละเอียดสามารถนำมาอ้างอิงเมื่อจะจัดพระราชพิธีในเวลาต่อไป
ค.  สมุดบันทึกเล่มที่สาม  เรียกว่า  มุตาฟัรริก  ดัฟตารี  (Muteferrik  Defteri)  คือ  สมุดบันทึกเรื่องงบประมาณ  ค่าใช้จ่ายและวัสดุที่ใช้ในพระราชพิธีต่างๆ  อย่างละเอียด  เช่น  ค่าเสื้อผ้า  ค่าตกแต่ง  ค่าอาหารงานเลี้ยง  เป็นต้น
สมุดบันทึกทั้งสามเล่มนี้  จะเก็บรักษาไว้ที่คลังราชสมบัติ  เมื่อเกิดความขัดแย้งในรูปแบบข้อปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชพิธีใดพิธีหนึ่ง  ก็จะใช้สมุดบรรทุกเหล่านี้เป็นที่อ้างอิง  ต่อมาเจ้าหน้าที่ในกองนี้หรือขุนนางผู้สนใจได้รวบรวมพระราชพิธีต่างๆ  ในราชสำนักแห่งอาณาจักรออตโสตมานเติร์ก  ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในราชสำนักเป็นอย่างมาก  ปัจจุบันตำราเหล่านี้มีหลายเล่มด้วยกันที่สำคัญเช่น  ตำรา  Muqaddeme-i-Kavanin-i-Teshrifat  (กฎพระราชพิธีเบื้องต้น)  แต่งโดย  Naili  Abdullah  Pasa  ซึ่งเสียชีวิตในปี ค.ศ.1758  ปัจจุบันต้นฉบับตำราเหล่านี้อยู่ที่ห้องสมุด  Turk  Tarih  Kurumu  ในนครอังการา  ตำรา  Defter-i-Teshrifat  (สมุดบันทึกพระราชพิธี)  ของ  Mehmed  b.Ahmed  ปัจจุบันต้นฉบับตำรามีอยู่ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอิสตันบูล  เลขที่  9810  เป็นต้น
7)  กองบันทึกรัฐประวัติ  (Vakanuvislik)
การเขียนประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการในอาณาจักรออตโตมานเติร์ก  หรือที่เรียกว่า  กองบันทึกรัฐประวัติ  เริ่มจัดตั้งขึ้นในรูปของกองใยสมัยของสุลต่านสุไลมานที่ 1  แต่อย่างไรก็ตามบทกวีสรรเสริญราชวงศ์  การบันทึกพระราชกรณียกิจมีอยู่แล้วในสมัยสุลต่านเมห์เมดที่ 2  และสุลต่านบายาซิดที่ 2  เจ้าหน้าที่ในกองนี้เรียกว่า  วากานุวิส  ทำหน้าที่เสมือนเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ของรัฐ  กองนี้มีหน้าที่ในการบันทึกเหตุการณ์ณ์ต่างๆ  ในราชสำนัก  บันทึกในพระราชกรณียกิจ  กรณียกิจของขุนนางชั้นปกครอง  และเหตุการณ์ณ์และเรื่องราวต่างๆ  ของรัฐ  โดยบันทึกและเขียนในรูปวรรณกรรมสรรเสริญยกย่อง  ปัจจุบันวรรณกรรมเหล่านี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก  ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16  ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17  มีหลายท่านทำหน้าที่ในกองนี้  เช่น  Arifi  Celebi (969)  Eflatun  (972)  Seyyid  Lokman  (1010)  Talikizade  (1036)  Mulhemi  Ibraim Efandi  (1048) Ganizade Nadiri (1036)  Mulhemi  Ibrahim (1060)  เป็นต้น  บุคคลเหล่านี้ได้รวบรวมผลงานวรรณกรรมด้านนี้มากมาย  ซึ่งบางเล่มได้สูญหายไปกับกาลเวลาก่อนจะถึงมือเรา  ปัจจุบันวรรณกรรมเหล่านี้นอกจากมีคุณค่ามหาศาลในด้านประวัติศาสตร์แล้ว  ในด้านภาษาและวรรณคดีก็มีความสำคัญยิ่งด้วย
กองบันทึกรัฐประวัตินี้ได้จัดเข้าเป็นกองหนึ่งของสภาสูงสุดในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18  และได้คัดเลือกขุนนางที่มีความสามารถในการประพันธ์บทกวี  และวรรณกรรมเข้าดำรงตำแหน่งเป็น  วากานุวิส  ในกองนี้  ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16  จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20  ราวเกือบ  400  ปี  ประวัติศาสตร์อาณาจักรออตโตมานถูกบันทึกไว้โดยวากานุวิสอย่างต่อเนื่อง  วากานุวิสที่มีชื่อเสียงและมีผลงานจนถึงปัจจุบัน  เช่น  Mustafa  Naima  Efandi  แห่ง  Aleppo  (Halep)  มีผลงานชื่อว่า  Naima  Tarihi  มี 6  เล่ม  Rashid  Efandi  มีผลงานชื่อว่า  Rashid  Tarihi  มี 4  เล่ม  Celebrizade Asim Efandi  ได้เขียนต่อเติมผลงานของ Rashid Efandi, Izzi  Efandi  มีผลงานชื่อว่า  Tavarih-i-Osman  มี 8 เล่ม Edib Efandi  มีผลงานชื่อว่า  Edip Efandi, Halil Nuri Bey  มีผลงานชื่อว่า  Halil Nuri Bey, Shanizade Ataullah  มีผลงานชื่อว่า  Shani-Zade Tarihi, Vasif Ahmed Efandi  เป็นต้น  บทบาทของกองบันทึกประวัติศาสตร์ได้ลดลงเมือ่มีการพิมพ์และใช้หนังสือพิมพ์ทางการขึ้น  หนังสือพิมพ์ฉบับแรกมีชื่อว่า  Takvim-i-Vekayi
8)  หน่วยแปลภาษาของดิวาน  ฮุมายูน
ในสภาสูงสุดมีสาส์นและหนังสือเข้ามากมายหลากหลายภาษาทั้งจากภายในและภายนอกราชอาณาจักร  หนังสือต่างชาติเหล่านั้นจะต้องแปลก่อนนำเสนอเข้าไปยังสภา  เพื่อทราบพิจารณาหรือดำเนินการต่อไป  หนังสือหรือสาส์นที่ออกจากสภา  เพื่อส่งไปยังต่างชาติทั้งชาติตะวันออกและตะวันตกก็จะต้องเขียนเป็นภาษาต่างชาติ  เมื่อคณะทูตต่างชาติเข้าเฝ้าสภาก็ต้องใช้ล่ามในการสื่อสาร  เมื่อสภารับคดีของคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรแต่ไม่รู้ภาษาตุรกี  สภาก็ไม่สามารถพิจรณาคดีได้ถ้าปราศจากล่ามแปล  หน่วยที่รับผิดชอบในเรื่องล่ามและการแปลภาษาต่างๆ  เหล่านี้เรียกว่า 
หน่วยแปลภาษาของดิวาน  ฮุมายูน  ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ช่วยเลขานุการสภา  หน่วยนี้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16  เป็นต้นมา  ขุนนางในหน่วยนี้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม  โดยมีบรรดาศักดิ์เรียกว่า  ซาแด  และมีค่าตอบแทนที่เป็นที่ดินติมาร์  ยกเว้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17  ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19  ตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยนี้ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของชาวคริสต์  เชื้อสายกรีกตระกูลขุนนางเก่าของโรมัน  เช่น  ตระกูล         Saribeyzadeler, Yanakizadeler, Kalmakizadeler, Ipsilantizadeler, Iskerletzadeler  เป็นต้น  ต่อมาล่ามชาวกรีกคริสเตียนเหล่านี้มีปัญหาในการขายและเปิดเผยความลับของรัฐให้แก่ต่างชาติ  บางคนถูกปลดและบางคนถึงขั้นถูกลงโทษประหารชีวิต  ในสมัยสุลต่านมะฮ์มูดที่ 2  ได้ยกเลิกการแต่งตั้งชาวกรีกคริสเตียนดำรงตำแหน่งเป็นล่ามในหน่วยนี้  โดยหันมาสนับสนุนและแต่งตั้งมุสลิมเติร์กแทน  ในขณะเดียวกันในปี ค.ศ.1821  (E. Ihsanoglu, 1994, 186-187)  พระองค์ทรงก่อตั้งหอภาษาใน  Bab-i-Ali  เพื่อสอนภาษาต่างชาติแก่เยาวชนมุสลิมชาวเติร์ก  เพื่อเตรียมความพร้อมขึ้นสู่ในตำแหน่งล่าม  การทูต  การต่างประเทศ  และผู้ช่วยแกรนวิเชียร์ในอนาคตต่อไป
9)  สภาซูรอ  สภาปรึกษาหารือ  (Meshveret Meclisileri)
ซูรอเป็นระบบที่สำคัญและเป็นที่รู้จักมานานในโลกมุสลิม  หลักคำสอนของศาสนาอิสลามไม่ว่าในอัลกุรอานหรือฮาดีษ  ให้ความสำคัญและกำชับให้มุสลิมปรึกษาหารือในกิจการงานต่างๆ  จะเห็นว่าระบบซูรอเป็นที่นิยมใช้กันมากในรัฐอิสลามตั้งแต่อดีตมา  ชาวเติร์กก็รู้จักระบบนี้ตั้งแต่ยังใช้ชีวิตแบบเผ่าพันธุ์อยู่       หรือที่เรียกว่า  ยุคเบย์ลิก  นักประวัติ
ศาสตร์ได้บันทึกว่า  หัวหน้าชาวเติร์ก  Osman  Gazi  เคยสั่งพระโอรสอรฮัน  กาซีให้หมั่นปรึกษาหารือกับบรรดาอุลามะอฺในเรื่องกิจกรรมของรัฐ  เรื่องราวที่เกี่ยวกับการศึกษาหารือหรือระบบซูรอพบมากในเอกสารหรือวรรณกรรมที่เขียนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16  ระบบนี้มีบทบาทและจัดเป็นระบบมากขึ้นตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17  ซึ่งเป็นยุคที่บทบาทของสภาสูงสุดเริ่มถดถอยลง  โดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19  สภาซูรอมีบทบาททำหน้าที่ทดแทนสภาสูงสุดเกือบทุกเรื่อง
เรื่องราวหรือประเด็นที่นำมาศึกษาหารือในสภาซูรอส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับปัญหาเรื่องวิกฤติของชาติ  เช่น  สนธิสัญญาและความสัมพันธ์กับต่างชาติ  เรื่องความมั่นคงและเศรษฐกิจและอื่นๆ  บางครั้งสภาซูรอมีอำนาจถึงขั้นแต่งตั้งหรือถอดถอนราชบัลลังก์ได้  เช่น  การขึ้นและลงราชบัลลังก์ของสุลต่านมุสตาฟาที่ 1  สุลต่านอิบรอฮีม  สุลต่านอะหมัดที่ 4  เป็นต้น  องค์ประชุมของสภาซูรอประกอบด้วย  Shayhkulislam  Kazaskerler  Defterdar  เป็นผู้บัญชาการแจนิสซารี  ขุนนางและทหารชั้นผู้ใหญ่  โดยมี  Padishah  หรือ  Vazir-i-Azam  เป็นองค์ประธาน  สภานี้ส่วนใหญ่จัดประชุมที่  Bab-i-Ali  หรือบางครั้งจัดที่ตำหนักของไซคุลอิสลาม
  
 2.  องค์กรบริหารส่วนภูมิภาค
                ในการบริหารการปกครองของราชอาณาจักรออตโตมาน  นอกจากจะมีองค์กรบริหารส่วนกลางแล้วยังมีองค์กรบริหารส่วนภูมิภาค  ซึ่งแบ่งเป็นแคว้นหรือจังหวัด  เขตเมืองและหมู่บ้าน
                การปกครองระดับแคว้นหรือจังหวัดเป็นการปกครองที่ได้แบบถ่ายทอดมาจากสมัยซัลจูกเติร์ก  ผู้ปกครองเรียกว่า  “Sancak”  เป็นผู้มีอำนาจทั้งด้านการทหารและพลเรือนในแคว้นนั้นๆ  ชื่อท้ายมีคำว่า  เบย์  อาณาจักรออตโตมานยุคแรกมี  Sancak  เพียงผู้เดียว  ต่อมาภายหลังมี  Sancak  2  คน  คือ  Sancak  แห่งยุโรป  Sancak  แห่งเอเซีย  ผู้ได้รับตำแหน่งนี้จะมีชื่อท้ายว่า  “beylerbeyi”  คือเป็น  “bey”  ทั้งหลาย  ในคริสต์ศตวรรษที่ 14  “beylerbeyi”  ในเอเชียได้แยกเป็น  beyleybeyi  ที่เมืองกุตะห์ยาอีกด้วย
                Beylerbyi  เป็นผู้รักษาชายแดนมิให้มีอริราชศัตรูเข้ามาแย่งดินแดนได้  จะมีมกุฎราชกุมารเป็นผุ้ควบคุมดูแล  Beylerbeyi  อีกต่อหนี่ง  ในคริสต์ศตวรรษที่ 16  เริ่มใช้คำว่า  วาลี  แทน  ซึ่งเป็นตำแหน่งของข้าหลวง  Governer  เป็นชนชั้นระดับ  2  horsetails  เทียบเท่าตำแหน่งวิเชียร์  มีชื่อท้ายว่า  ปาซา
                แคว้นหรือจังหวัดแบ่งเป็นเขต (Kazar) จากเขตก็แบ่งเป็นเมือง  จากเมืองก็แบ่งเป็นหมู่บ้าน
                เจ้าหน้าที่ที่ปกครองในเขต  เมือง  หมู่บ้าน  ได้รับการแต่งตั้งจากชนชั้นปกครองในกรุงอิสตันบูล  ข้าหลวงประจำแคว้นส่วนใหญ่จะประสานงานกับสำนักเลขานุการ  (Divan Efandi Council Secretary)  พร้อมทั้งมีการจดบันทึกการปฏิบัติงาน  มีคลังจังหวัดหรือคลังประจำแคว้นเป็นผู้ดูแลรายได้ของแคว้น  มีผู้พิพากษาประจำแคว้นเป็นผู้ดูแลกฎหมาย  (Kadi)  และสภาประจำแคว้นหรือสภาจังหวัด  (Vilayets Divan)  ทำหน้าที่อย่างเดียวกับสภาสูงสุด  (Imperial Coulcil)

 อ้างจากเอกสารประกอบการสอนในรายวิชาหลักการบริหารในอิสลาม3 สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น