วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ลักษณะเศรษฐกิจของอาณาจักรออตโตมาน



1.  อาชีพ
                อาณาประชาราษฎร์ของราชอาณาจักรออตโตมานในชนบทส่วนใหญ่เป็นชาวนาปลูกข้าว  ฝ้าย  องุ่น  มะกอก  ส้ม  พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกได้แก่อียิปต์  ซีเรีย  และแคว้นต่างๆ รอบๆ ทะเลดำ  ส่วนในเมืองประชาชนมีอาชีพค้าขาย  ค้าขายภายในประเทศและค้าขายกับต่างประเทศ  ในสมัยสุลต่านเมห์เมดที่ 2  พระองค์ผูกขาดสินค้าบางประเภท  เช่น  เกลือ  สบู่  และเทียนไข
                อาชีพอีกประเภทหนึ่งของชาวออตโตมานก็คือ  การเป็นช่างประเภทต่างๆ  เพราะสุลต่านแต่ละพระองค์มีการสร้างอาคารต่างๆ กัน  เช่น  สร้างพระราชวัง  มัสยิด  โรงพยาบาล  ที่พักกองคาราวาน  ที่อาบน้ำสาธารณะ  สุสาน  ในการก่อสร้างอาคารดังกล่าวก็จำเป็นต้องอาศัยช่างประเภทต่างๆ  ช่างเหล่านั้นมีการรวมตัวเป็นชมรม  เป็นสมาคม  เพื่อปรับปรุงคุณภาพของงานให้ดียิ่งขึ้น
                ส่วนผู้คนที่เร่ร่อนซึ่งอาศัยอยู่ตามภูเขา  ทุ่งหญ้า  และทะเลทราย  มีอาชีพเลี้ยงสัตว์  ทำฟาร์มสัตว์  ล่าสัตว์  สัตว์ที่เลี้ยงส่วนมาก  ได้แก่  อูฐ  แพะ  และแกะ  ซึ่งมีผลผลิตเป็นทั้งเนื้อ  หนัง  นม  และน้ำมัน  ซึ่งสามารถขายให้ชาวเมืองและข้าราชบริพารของสุลต่านได้  นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ชาวเมือง

2.  ที่ดิน
                สุลต่าน เป็นผู้ครอบครองที่ดิน พระองค์ทรงจัดการที่ดินทั้งหมด ให้เป็นไปตามชารีอะห์และกฎหมายของพระองค์  (kanun)  สุลต่านให้เกษตรกรเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตร  เกษตรกรจะได้รับส่วนแบ่งที่ดินเป็นหน่วย  (unit)  เรียกว่า “donum”  เกษตรกรจะได้รับตั้งแต่  60-150  donum  (1 donum  เท่ากับ 1,000  ตารางเมตร)  ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมต่างมีสิทธิ์ที่จะเช่าที่ดินจากสุลต่านด้วยกัน  เกษตรกรผู้เช่าที่ดินจะต้องจ่ายเงิน  22  อักแจ/ปี  ไม่ว่าผลผลิตทางด้านการเกษตรจะได้มากหรือน้อยก็ตาม  ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19  สุลต่านและข้าราชบริพารต้องใช้เงินมาก  เกษตรกรต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็นปีละ  33  อักแจ  และในระยะต่อมาต้องจ่ายถึง  50  อักแจ  และถ้าเกษตรกรผู้ใดไม่ทำประโยชน์ในที่ดินเป็นเวลา  3  ปี  ที่ดินก็จะถูกโอนให้ผู้อื่นเช่าต่อไป


3.  การเงินการคลัง
                เกี่ยวกับการเงินการคลังของราชอาณาจักรออตโตมาน  มีสำนักงานที่ทำหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินเงินทองของสุลต่านของราชอาณาจักร  เพื่อดำเนินกิจการต่างๆ  เช่น  สงคราม  การสร้างพระราชวัง  การสร้างมัสยิด  สำนักงานนี้เรียกว่า  maliye  ในระยะแรกๆ ของการสถาปนาอาณาจักร  การจัดการด้านการเงินการคลังยังมีน้อย  สุลต่านเก็บทรัพย์สินส่วนพระองค์ในคลังสมบัติของพระองค์เช่นกัน
                ในสมัยสุลต่านบายาซิดที่ 1  ได้มีการจัดตั้งกรมพระคลังแห่งอนาโตเลีย  เพื่อดูแลทรัพย์สินสุลต่านในเอเซีย  ต่อมาภายหลังก็มีการจัดตั้งกรมพระคลังแห่งรูแมลี  มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สมบัติของสุลต่านในภาคพื้นยุโรป
                กรมพระคลังแบ่งออกเป็น  4  แผนก  คือ
1)            แผนกงานทะเบียน  (defterhane)
2)            แผนกงานบัญชี  (muhasebe)
3)            แผนกงานตรวจสอบ  (musakabe)
4)            แผนกครอบครองที่ดิน  (mevkufat)
ต่อมาภายหลังสุลต่านได้ตั้งองค์กรของการคลังกลางในกรุงอิสตันบูล  ซึ่งเป็นเมืองหลวงเรียกว่า  กรมพระคลังหลวง  (the imperial treasury department-hazine-i amire dairesi)  ทำหน้าที่รายงานเกี่ยวกับเงินสด  รวมทั้งภาษีรายหัวของคนที่มิใช่มุสลิม  แยกออกระหว่างภาคพื้นยุโรปและภาคพื้นเอเซีย  และยังแยกทรัพย์สินที่สุลต่านพระราชทานแก่อุลามาอหรือให้เป็นวากัฟอีกด้วย
4.  ระบบภาษี
                ระบบภาษีของราชอาณาจักรออตโตมาน ได้เก็บภาษีตามหลักชารีอะห์และตามพระราชบัญชาของสุลต่านในส่วนที่ไม่ปรากฏในชารีอะห์  ภาษที่สำคัญที่สุดตามชารีอะห์ได้แก่
1)            ภาษีที่เก็บจากผลผลิตการเกษตร  เป็นภาษีหนึ่งในสิบ  ซึ่งเก็บ  10%
2)            ภาษีรายหัว  ซึ่งเก็บจากประชาชนที่ไม่ใช่มุสลิม  เก็บตามความสามารถในการจ่าย
3)            เงินซากาต  รัฐเป็นผู้เก็บเงินซากาตและเป็นผู้บริหารเงินซากาตอีกด้วย
4)            ภาษีการค้า  เป็นภาษีที่เก็บจากการค้าในตลาด  ผู้ตรวจตลาดจะเป็นผู้เก็บภาษีนี้จากพ่อค้า  แม่ค้าที่ขายในตลาด
5)            ภาษีอื่นๆ  นอกจากภาษีดังกล่าวแล้ว  ราชอาณาจักรออตโตมานยังเก็บรวบรวมภาษีจากหมู่บ้านเมืองและแคว้นต่างๆ  อีกด้วย

5.  การค้าขาย
                อนาโตเลียเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการค้าในตะวันออกกลางมาตั้งแต่อดีต  ในสมัยอาณาจักรมองโกล  (mongol  empire)  อนาโตเลียเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ  ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมการค้าระหว่างตะวันตกและตะวันออก  พ่อค้าวานิชชาวอิตาลีมาทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับกองคาราวานพาณิชย์จากตะวันออกไกลและเปอร์เซียที่ท่าเรืออะยาส  (ayas)  ทางตอนใต้ของอนาโตเลีย  และที่เมืองตรับโซน  (trabzon)  ทางทิศเหนือของอนาโตเลีย  ในสมับมองโกลนั้นมีเส้นทางหลวงที่สำคัญสายหนึ่งเชื่อมต่อระหว่างเมืองแอร์ซูรูม  (erzurum)  เมืองซีวัส  (sivas)  และเมืองแอร์ซินญาน  (erzincan)  เส้นทางนี้ถือว่าเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเปอร์เซีย  อาหรับ  อนาโตเลีย  และแยกเส้นทางไปยังเมืองคอนสแตนติโนเปิล  โดยทางเรือจากท่าเรือเมืองตรับโซน
                ในคริสต์ศตวรรษที่ 13  บนเส้นทางระหว่างเมืองซีวัสและเมืองคอนยามีที่พักแรมหรือที่เรียกว่า  คาราวานสะราย  (karvan sarayi)  ของคาราวานพาณิชย์ที่สำคัญถึง  23  แห่งซึ่งมีซากปรักหักพังหลงเหลือจนถึงปัจจุบัน  สินค้าหลักจากตะวันออกในสมัยนั้นคือ  เส้นไหมจีนและเปอร์เซีย  ส่วนจากตะวันตกก็คือ  เสื้อผ้าจากเมืองแฟลนเดอร์  (flander)  และเมืองฟลอเรนซ์  (florence)  ซึ่งนิยมใช้กันมากในหมู่ขุนนางชั้นสูงในตะวันออก  อนาโตเลียนอกจากเป็นสะพานเชื่อมการค้าระหว่างตะวันออกกับตะวันตกแล้ว  ยังเป็นเส้นทางผ่านสินค้าระหว่างยุโรปตะวันออกกับเหล่ากลุ่มประเทศอาหรับ  พ่อค้าชาวอาหรับนำเครื่องเทศ  น้ำตาล  และผ้ามาแลกเปลี่ยนกับขนสัตว์และทาส  ซึ่งเป็นสินค้าหลักของชาวยุโรป
                พ่อค้าชาวอิตาลีส่วนใหญ่นิยมส่งสินค้าทางทะเล  ส่วนพ่อค้าชาวอาหรับนิยมขนส่งสินค้าทางบก  เช่น
-                   จากเมืองอันตัลยา  (antalya)  ไปยังเมืองคอนยา  (konya)  และเมืองซีวัส  (sivas)
-                   จากเมืองอะเลปโป  (aleppo)  ไปยังเมืองบไกสะรี  (kayseri)  เมืองซีวัส  (sivas)  เมืองสิโนบ  (sinop)  และเมืองซัมซูน  (samsun
เมืองสำคัญต่างๆ  ของอนาโตเลียเช่น  เมืองซีวัส  เมืองไกสะรี  เมืองอักสาราย  เมืองคอนยา  เมืองอะมัสเสียน  และเมืองอังการา  ล้วนแต่เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าของอนาโตเลีย
                ในคริสต์ศตวรรษที่ 14  หลังจากอาณาจักรอิลฮานิด  (ilhanid)  ในเปอร์เซียล่มสลายพร้อมกับการขึ้นมาของอาณาจักรออตโตมานเติร์กในอนาโตเลียตะวันตก  การเมืองและการค้าของอนาโตเลียก็ย้ายมายังอนาโตเลียตะวันตกด้วย  โดยมีเมืองบุรซา  (bursa)  ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเป็นศูนย์กลางทางการเมือง  และการค้าของอนาโตเลียนั้นสามารถรวมการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน
                ในปี ค.ศ.1391  อาณาจักรออตโตมานเติร์กสามารถครอบครองเมืองสำคัญต่างๆ ในอนาโตเลียตะวันตก  เช่น  เมืองปาลาเตีย  เมืองเอฟิซุส  เมืองอิซมิร  และเชื่อมเส้นทางเหล่านี้ยังเมืองหลวงบุรซา  ทำให้เมืองบุรซามีความสำคัญด้านการพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น  พ่อค้าชาวเปอร์เซียนิยมนำสินค้าทางเรือมาขึ้นบกที่ทำเรือบุรซาแล้วนำคาราวานสินค้าไปยังเมืองต่างๆ  ทางทิศตะวันออก  จนถึงเมืองแอร์ซินญาน  โดยผ่านเมืองอะมัสเซียและเมืองโตกัต  ยกเว้นคาราวานสินค้าเส้นไหมที่นิยมใช้เส้นทางทางบกตั้งแต่เปอร์เซียไปยังเมืองบุรซา
                ในคริสต์ศตวรรษที่ 14  เมืองอะมัสเซียและเมืองโตกัตเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในอนาโตเลียรองลงมาจากเมืองหลวงบุรซา
                ในปี ค.ศ.1399  สุลต่านบายาซิดที่ 1  ทรงรับสั่งให้เปิดเมืองอันตัลยาและเมืองอะลันยา  เป็นเมืองท่าในการรองรับสินค้าของอินเดียและอาหรับที่เข้ามายังอนาโตเลียได้  พ่อค้าวานิชต้องการนำคาราวานไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิลต่อ  โดยใช้เส้นทางทางบกก็สามารถใช้เส้นทางหลักระหว่างเมืองอะเลปโปกับกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่ผ่านเมืองอะดานา  และคอนยาได้อาณาจักรออตโตมานเติร์กยังไม่สามารถครอบครองเมืองท่าต่างๆ  ในอนาโตเลียได้อย่างสมบูรณ์จนกว่าอำนาจทางการเมืองของราชวงศ์คารามานในอนาโตเลียสิ้นสุดลง
                ในปี ค.ศ.1468    อาณาจักรออตโตมานสามารถควบคุมดูแลเส้นทางการค้าทั้งหมดใน อนาโตเลีย  คาราวานพาณิชย์สามารถเดินทางไปยังเปอร์เซีย   และจากอาหรับมายังเมืองบุรซาโดยไม่ต้องกังวลในเรื่องความปลอดภัย  พ่อค้าชาวยุโรป  เช่น  ชาวเวนิส  ชาวเจนัว  ชาวฟลอเรนซ์  บางส่วนก็ทำการค้าที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลและกาลาตา  ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในแถบเลอวองต์  อย่างไรก็ตามเมืองบุรซาเป็นตลาดที่ใกล้ที่สุดสำหรับพ่อค้าชาวยุโรปที่จะมาซื้อสินค้าตะวันออกและขายสินค้าขนสัตว์  สินค้าชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญและสร้างความมั่งคั่งแก่ชาวเมืองบุรซาคือ  เส้นไหมเปอร์เซีย  เมืองบุรซาเป็นตลาดส่งเส้นไหมเปอร์เซียไปยังเมืองเวนิสและเมืองลุคคาแล้วไปสู่ยุโรปกลาง
                ในคริสต์ศตวรรษที่ 15  การพัฒนาอุตสาหกรรมเส้นไหมได้แพร่หลายในยุโรป  ทำให้เมืองบุรซากลายเป็นตลาดส่งออกวัตถุดิบเส้นไหมที่สำคัญของยุโรป  ในปี ค.ศ.1542 เพียงปีเดียว  เมืองบุรซาได้รับภาษีจากการค้าเส้นไหมถึง  43,000  เหรียญทอง  เส้นไหมเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากเมือง  asterabad  และเมือง  gilan  ทางตอนเหนือของเปอร์เซีย
                ถึงแม้ว่าอาณาจักรออตโตมานได้ย้ายเมืองหลวงมายังกรุงอิสตันบูลแล้วก็ตาม  แต่เมืองบุรซาก็ยังคงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาณาจักรนับศตวรรษ  พร้อมๆ กับเมืองอะเลปโป  ซึ่งเป็นแหล่งการค้าเส้นไหมที่เป็นคู่แข่งกับเมืองบุรซา  กองคาราวานเส้นไหมจากเปอร์เซียที่มายังเมืองอะเลปโปส่วนใหญ่ใช้เส้นทางผ่านแม่น้ำยูเฟรติสและเมืองแอร์ซูรูม  และมีจำนวนไม่น้อยที่ใช้เส้นทางจากเมืองตาบีรผ่านเมืองวัน  เมืองบิดลิส  เมืองดิยารแบกิร  และเมืองบิแรจิก
                ในปี ค.ศ.1516-1517  สุลต่านซาลิมที่ 1  สามารถขยายดินแดนไปยังประเทศอียิปต์  ซีเรีย  และดินแดนอาราเบียได้  เมืองอะเลปโปจึงเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมานนั้น  หมายถึงศูนย์การค้าเส้นไหมเปอร์เซียที่ทำการค้ากับยุโรปตกอยู่ในเงื้อมมือของออตโตมานเติร์กทั้งหมด  และยังสามารถควบคุมศูนย์กลางการผลิตเส้นไหมเมือง  shirvan และเมือง  gilan  ทางตอนเหนือของเปอร์เซียอีกด้วย
                นอกจากเส้นไหมแล้ว  ชะมด  น้ำเต้า  และเครื่องถ้วยชามจีนจากเอเชียกลางก็เป็นสินค้าที่สำคัญเข้ามายังตลาดเมืองบุรซา  พ่อค้าเปอร์เซียรับเอาขนสัตว์ยุโรป  เครื่องประดับไหม  ผ้ากำมะหยี่  เหรียญเงินและทองกลับยังเปอร์เซีย  สิ่งเหล่านี้มีค่าสูงมากในเปอร์เซีย  โดยทั่วไปแล้วสินค้าที่คาราวานนำมานั้นมีค่าสูง  มีราคาแพง  แต่มีน้ำหนักน้อยเช่น  พวกเครื่องเทศ  สีสำหรับย้อม  ยาสมุนไพร  เส้นไหม  และเสื้อผ้า  พ่อค้าผู้นำคาราวานจากตะวันออกส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจากเมืองอะเลปโปและดามากัส  ในคริสต์ศตวรรษที่ 15  ราชวงศ์บะฮ์มานีแห่งอินเดียส่งทูตนำสินค้าอินเดียมาค้าขายในตลาดเมืองบุรซาทุกปี
                ในคริสต์ศตวรรษที่ 16  โปรตุเกสซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจทางทะเลเข้ามามีบทบาท  พยายามสร้างอาณานิคมการค้าในตะวันออก  ซึ่งพยายามขัดขวางและตัดเส้นทางกาค้าจากอินเดียและอินโดนีเซียที่มายังตะวันออกใกล้โดยผ่านอ่าวเปอร์เซียและทะเลแดง  ไม่เพียงเท่านั้นโปรตุเกสยังเข้ามาสร้างอาณานิคมในคาบสมุทรอาราเบีย  โดยเฉพาะในเยแมน  และเอเดน  แถมยังข่มขู่ที่จะยึดเมืองมักกะฮ์และเมืองมะดีนะฮ์อีกด้วย  ออตโตมานเติร์กไม่อาจนิ่งเฉยต่อการกระทำของโปรตุเกสได้  สุลต่านซาลิมที่ 1  ทรงรับสั่งให้กองทัพนาวีขับไล่ชาวโปรตุเกสออกจากแหลมอาราเบีย
                ในปี ค.ศ.1517  และปีค.ศ.1525  กองทัพราชนาวีของออตโตมานสามารถขับไล่ชาวโปรตุเกสออกจากแหลมอาราเบียและยึดเมืองเยแมนและเอเดน  ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญในแหลมอาราเบีย  กองทัพราชนาวีออตโตมานตั้งใจจะขับไล่เรือโปรตุเกสออกจากมหาสมุทรอินเดีย  แต่ก็ทำไม่สำเร็จทั้งนี้เพราะว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากราชวงศ์  gujerat  แห่งอินเดีย  อย่างไรก็ตามการค้าระหว่างอินเดียและอินโดนีเซียกับตะวันออกใกล้ก็สามารถดำเนินต่อได้อย่างปกติ  ในฤดูพิธีฮัจย์ทุกปีจะมีเรือพาณิชย์บรรทุกเครื่องเทศมากกว่า  20  ลำเข้ามาเทียบท่าที่จิดดะฮ  ซึ่งเป็นเมืองท่าของนครมักกะฮ์  หลังจากเสร็จพิธีฮัจย์แล้วกองคาราวานจากเมืองต่างๆ  ก็จะกวาดซื้อสินค้าและเครื่องเทศกลับยังเมืองของตน
                ในปี ค.ศ.1562  เมืองดามัสกัสสามารถเก็บภาษีจากสินค้าประเภทเครื่องเทศที่คาราวานฮัจย์นำเข้ามาสูงถึง  100,000  เหรียญทอง  พ่อค้าชาวยุโรปรับซื้อเครื่องเทศจากเมืองดามัสกัสส่งยังเมืองบุรซาและกรุงอิสตันบูล  โดยผ่านเมืองเบรุตแล้วส่งต่อยังเมืองต่างๆ  ในแหลมบอลข่าน  และเมืองตางๆ ทางตอนเหนือ
                ในปี ค.ศ.1590  มีบันทึกว่าพ่อค้าชาวเวนิสเคยนำผ้ามาขายที่กรุงอิสตันบูล  และซื้อเครื่องเทศจากอิสตันบูลกลับยังประเทศของตน
                เส้นทางการค้าทางทะเลจากท่าเรือในซีเรียและอียิปต์มายังท่าเรือเมืองอันตัลยา  เมืองอะลันยา  และท่าเรืออิสตันบูลก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าเส้นทางการค้าทางบก  มาลูเปียโร  ได้บันทึกไว้ว่าเมืองอันตัลยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการขนส่งเครื่องเทศมายังเอเชียน้อย  จากการบันทึกบัญชีภาษีกาค้าในปีค.ศ.1559  ของเมืองอันตัลยา  พบว่าในรอบปีมีเรือพาณิชย์เข้ามาเทียบท่าไม่น้อยกว่า  50  ลำ  ในแต่ละลำมีพ่อค้าวานิชจำนวน  20-30  คน  เจ้าของเรือส่วนใหญ่เป็นมุสลิม  และสินค้าหลักที่พ่อค้าเหล่านั้นรับจากเอเชียน้อยบรรทุกส่งไปขายยังซีเรีย  และอียิปต์  คือ  ไม้ซุง  เหล็ก  เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ  ที่ทำด้วยเหล็ก  เส้นไหมบุรซา  ผ้าขนสัตว์อังการา  ผ้าฝ้าย  พรม  ผลไม้แห้ง  ขี้ผึ้ง  และน้ำมันดิบ  ส่วนสินที่พ่อค้านิยมนำมาจากซีเรียและ  อียิปต์  คือ  เครื่องเทศ  และครามอินเดีย  ผ้าลินินอียิปต์  ข้าวสาร  น้ำตาล  และสบู่ซีเรีย  ภาษีนำเข้าและนำออกจากสินค้าเหล่านี้ สร้างรายได้แก่เมืองอันตัลยาเป็นจำนวนมหาศาล
                นอกจากนี้เมืองอันตัลยายังเป็นศูนย์กลางการค้าทาสโดยจัดส่งทางผิวขาวยังเมืองต่างๆ ทางตอนใต้  และนำเข้าพวกนิโกรทาสผิวดำ  อันตัลยาเป็นเมืองท่าที่พ่อค้าทาสวานิชนิยมนำเรือพาณิชย์เข้ามาเทียบท่าแวะชั่วคราวระหว่างทางไปและกลับจากเมืองบุรซา  เมื่อท่าเรือของกรุงอิสตันบูลซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรเริ่มมีบทบาทในการส่งออกและนำเข้าสินค้ามากขึ้น  ประกอบกับอียิปต์กลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนออตโตมานในปี ค.ศ.1516-1517  เรือพาณิชย์จากซีเรียและอียิปต์ที่เคยนำส่งและรับสินค้าที่ท่าเรือเมืองอันตัลยา  ก็เริ่มย้ายมายังท่าเรือของกรุงอิสตันบูลโดยตรง  จึงทำให้ท่าเรือเมืองอันตัลยาลดบทบาททางการค้าเป็นอย่างมาก  จนกลายเป็นท่าเรือท้องถิ่นเล็กๆ  แห่งหนึ่งของอนาโตเลีย
                เส้นทางการค้าในเขตทะเลดำ  ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจออตโตมานเติร์กมาตั้งแต่อดีตโดยปราศจากคู่แข่งชาวต่างชาติ  หลังจากที่ออตโตมานสามารถยึดช่องแคบดาร์ดะเนลส์ได้  ทำให้ง่ายต่อการควบคุมพ่อค้าชาวอิตาลีซึ่งมีบทบาทในการค้าในเขตทะเลดำได้  พร้อมกับพัฒนาเส้นทางการค้าในเขตทะเลดำ ให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจของอาณาจักรเหมือนกับในซีเรียและอียิปต์
                ตั้งแต่อดีตมาอาหารและยุทธปัจจัยที่ส่งมาหล่อเลี้ยงชาวอิสตันบูลและประชาชนในแถบทะเลอีเจียน  เช่น  พวกข้าวสาลี  ปลา  น้ำมันพืชและเกลือ  ล้วนแต่มาจากทางตอนเหนือของทะเลดำทั้งสิ้น  เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดแคลนที่อาจเกิดขึ้น  สุลต่านเมห์เมดที่ 2  เคยทรงมีกระแสรับสั่งห้ามส่งยุทธปัจจัยเหล่านี้ออกนอกประเทศ  และได้สั่งให้มีการตรวจตราเรือต่างชาติที่ลอบขนส่งสินค้าเหล่านี้อย่างเข้มงวด  โดยตั้งด่านตรวจที่กรุงอิสตันบูลและที่แกลิโบลู  และต่อมาด้วยเหตุผลทางความมั่นคงและทหารได้ทรงห้ามเรือต่างชาติเข้ามาในแถบนี้  ซึ่งส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเป็นเรือของชาวอิตาลี
                ในปีค.ศ.1475  ออตโตมานสามารถยึดครองเมืองท่าต่างๆ  ใน  caffaและ  azov  ทางตอนเหนือของทะเลดำ  และในปี ค.ศ.1484  killia  และ  akkerman  ก็ตกเป็นเมืองอาณัติของออตโตมาน  นั้นหมายความว่าเมืองท่าต่างๆ  ในทางตอนเหนือของทะเลดำตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรออตโตมานอย่างสมบูรณ์  ในคริสต์ศตวรรษที่  15-16  มีการบันทึกว่าเรือพาณิชย์อิตาลีและเวนิส  เคยนำส่งไวน์จาเกาะ  crete  หรือ  chios  เข้ามายังแถบนี้
                ในปี ค.ศ.1456  หลังจาก  moldavia  ตกเป็นเมืองอาณัติของออตโตมาน  พ่อค้ามอลดาเวียได้รับสิทธิพิเศษในการค้าทางทะเลในแถบนี้  โดยอาศัยเรือพาณิชย์เมือง  caffa  akkerman  และ  killa  กับประเทศโปแลนด์  โดยผ่านเมือง  suceava ใน  moldavia  และเมือง  lvov (lemberg)  ในโปแลนด์ได้รับการพัฒนาให้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญและแหล่งรวมสินค้าที่หลากหลายในแถบนี้  ถึงแม้ว่าโปแลนด์พยายามจะแทรกแซงอำนาจใน  moldaviaakkerman  และ  killa  แต่ก็กระทำไม่สำเร็จ  การที่ออตโตมานเติร์กเข้ามาควบคุมอำนาจใน  caffa  akkerman  และ  killa  ไม่เพียงแต่เหตุผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น  แต่เป็นความจำเป็นในทางการเมืองอีกด้วย  นอกจากนี้เมืองท่าทั้งสามแห่งนี้เป็นประตูการค้าที่สำคัญระหว่างทางเหนือกับดินแดนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  จากการบันทึกการค้าในปี ค.ศ.1490  เพียงภายใน  4  เดือน  มีเรือพาณิชย์ถึง 75  ลำ  เข้ามาเทียบท่าในคัฟฟา  ในจำนวนเรือเหล่านั้นเป็นเรือของกรีก  8  ลำ  เรือของอิตาลี  7  ลำ  เรือรัสเซีย  1  ลำ  และที่เหลือเป็นเรือของพ่อค้ามุสลิม  ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอิสตันบูล  กาลาตา  ตรับโซน  อะโซฟ  สิโนป  และเมืองอิสมิต  ท่าเรืออิสตันบูลเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการรวมและผ่าน  สินค้าของยุโรป  อาหรับ  เปอร์เซีย  และอินเดีย  เช่น  เสื้อผ้ายุโรป  เครื่องเทศ  และวัตถุย้อมสีอินเดีย  ไหมบุรซา  และผ้าฝ้ายจากอนาโตเลีนตะวันตก  ในแถบ  kastamonu  (ทางใต้ของทะเลดำ)  มีการส่งออกข้าวสาร  เหล็ก  ฝ้าย  และผ้าขนแพะ  โดยใช้ท่าเรือที่เมืองสิโนป  เมืองโตสยา  ถือว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าขนแพะที่สำคัญในแถบนี้  เมือง   amasya  เป็นสถานที่ผลิตผ้าไหม  เครื่องประดับดอกไม้เงินดอกไม้ทอง  และขี้ผึ้งส่งออกไปยัง  caffa  นอกจากนี้ยังมีสินค้าผ้าขนแพะและข้าวสารจากเมืองอังการา  ฝิ่นจากเมือง  beysehir  และพรมจากเมือง  usak  และเมือง  gordes  ตลาด  caffa  เคยได้รับสินค้ามะกอก  น้ำมันมะกอก  ถั่ว  ลูกเกด  เหล้าองุ่น  และน้ำส้มจากแถบทะเลอีเจียน  พ่อค้าจากเมืองบุรซานำเส้นไหม  พรม  และวัตถุใช้ย้อมสีเข้ามาค้าขายใน  caffa  ส่วนจากอิสตันบูลส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้ายุโรป  สินค้าอินเดียและอาหรับ
                สำหรับสินค้าจาก  caffa  ส่งมายังทางใต้ประกอบด้วยพวกข้าวสาลี  แป้ง  น้ำผึ้ง  เนย  และเนยแข็ง  ซึ่งเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญในพระราชวังและเมืองใหญ่ๆ  นอกจากนี้ไข่ปลาคาร์เวียก็เป็นสินค้าเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ส่งมายังทางใต้และกรุงอิสตันบูล  พ่อค้าชาวเวนิสและเจนัวเคยมารับแป้ง  ปลา  และไข่ปลาคาร์เวียจากอิสตันบูลเข้าไปขายยังอิตาลี  เกลือก็เป็นอีกสินค้าหนึ่งที่ไครเมียโดยเฉพาะจากเมือง  sarukerman  ส่งมายัง  azov  และอิสตันบูล  เกลือนอกจากใช้ในอาหารแล้วยังใช้ในอุตสาหกรรมปลาอีกด้วย  มีการบันทึกในคริสต์ศตวรรษที่  16  ไครเมียเคยส่งเกลือเข้ามาขายในอิสตันบูลประมาณ  1,000-1,200  ตัน/ปี
                นอกจากนี้  caffa  และเมืองท่าต่างๆ ในทะเล  azov  เมือง  kerch taman และ  kopa  ล้วนแต่เป็นตลาดการค้าทาสที่สำคัญในภูมิภาคนี้  ทาสเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ชาวตาตาร์จับมาจากรัสเซียและดปแลนด์  แล้วนำมายังตลาด  caffa  เพื่อรอแลกเปลี่ยนกับผ้าที่พ่อค้าอนาโตเลียนำมา  ทาสเหล่านี้ถูกซื้อนำมายังอิสตันบูล  เมืองสิโนป  และเมืองอิแนบอลู  ก่อนสมัยออตโตมาน  การค้าทาสใน  caffa  อยู่ในมือของพ่อค้าชาวเจนัว
                ในคริสต์ศตวรรษที่  15  และ  16  ออตโตมานได้เชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียโดยใช้เส้นทางทะเลดำ  เส้นทางนี้เรียกว่า  เส้นทางการค้าออตโตมาน-มอสโก  สินค้าของรัสเซียถูกส่งมายัง  killa  และ  akkerman  โดยผ่านเส้นทางเมือง  chernigov  และ  kiev  และอีกส่วนหนึ่งส่งมายังทะเล  azov  และไครเมียโดยผ่านเส้นทาง  kursk  belgorod  และ  cherkassy  สินค้าหลักของรัสเซียคือ  จำพวกขนสัตว์  และวัสดุเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็ก  นอกจากนี้ก็มีผ้าลินินรัสเซีย  และงา  walrus  ก็เป็นสินค้าที่นิยมในตลาดออตโตมาน
                ในปี ค.ศ.1479  สุลต่านออตโตมานทรงอนุญาตให้พ่อค้ารัสเซียเข้ามาค้าขายในดินแดนออตโตมานอย่างเสรี  มีพ่อค้ารัสเซียจำนวนมากมาทำการค้าขายใน  caffaakkerman  kilia  และข้ามมายังทางใต้ทะเลดำจวนถึงเมืองบุรซา  ในปี ค.ศ.1577  สุลต่านออตโตมานเคยส่งคณะทูตไปยังรัสเซีย เพื่อสั่งซื้อผ้าขนสัตว์เข้าใช้ในพระราชวัง เป็นมูลค่ามหาศาล
                เมือง  kilia  และ  akkerman  ก็เป็นประตูการค้าอีกแห่งหนึ่งระหว่างเหนือและใต้  เฉกเช่นเมือง  caffa  สินค้านับร้อยชนิดนับตั้งแต่ฝ้าย  ผ้าเส้นไหม  เครื่องแก้ว  จนถึงรองเท้าจากตุรกีเข้ามายัง  kilia  และ  akkerman  นอกจากบันทึกบัญชีภาษีนำเข้าในปี ค.ศ.1490  พบว่าในช่วง  4  เดือนแรกมีเรือพาณิชย์เข้ามาเทียบท่า  akkerman  ถึง  20  ลำ  ในบรรดาเรือเหล่านั้น  15  ลำ  เป็นของพ่อค้าชาวกรีก  6 ลำเป็นของพ่อค้าชาวมุสลิม  3  ลำเป็นของชาวอิตาลี  และอีก  1  ลำเป็นของพ่อค้าชาวอาร์เมเนีย  นอกจากนี้เมือง  kilia  และ  akkerman  ส่วนใหญ่เป็นชาว  moldavia  เชื้อชาติรูเมเนีย  เอร์มาเนีย  กรีก  ตาตาร์  และยิว  ซึ่งมีจำนวนขี้ผึ้ง  น้ำผึ้ง  เนย  และเครื่องหนังเป็นสินค้าหลัก  นอกจากนี้พ่อค้ามุสลิมจำนวนไม่น้อยจากอิสตันบูลและเมืองต่างๆ ในอนาโตเลียก็เข้ามาค้าฝ้ายและเส้นไหมในตลาดแห่งนี้  kilia  ยังเป็นเมืองท่าที่พ่อค้ามุสลิมจากเมืองต่างๆ ในแหลมบอลข่านนิยมนำเรือมาแวะเทียบท่าชั่วคราวเพื่อรบยุทธปัจจัยในระหว่างการค้าเครื่องเทศ  เส้นไหมบุรซา  ฝ้ายและขนแกะอนาโตเลียอีกด้วย  kilia  เคยรับสินค้มารองเท้าจากแอดิรแน  ผ้าขนแกะจากทางใต้ของบัลกาเรีย  จาก  salonica  และ  dubrovnik  โดยสรุปแล้ว  kilia  เป็นทั้งเส้นทางการค้าในทะเลดำ  และศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งในแหลมบอลข่าน พร้อมกับเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของอาณาจักรออตโตมานอีกด้วย
                ก่อนปี ค.ศ.1569  ประเทศอิตาลี  โดยเฉพาะชาวเวนิสเป็นมหาอำนาจทางทะเลในแถบเมดิเตอร์เรเนียน  อิตาลีเข้ามาควบคุมการค้าและพยายามสร้างอาณานิคมในแถบเลอวองต์  เส้นทางการค้าที่สำคัญในแถบเลอวองต์ตั้งแต่ทะเลอาซอฟจนถึงอเล็กซานเดรีย  ล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้ของพ่อค้าชาวเวนิสและเจนัว  เมือ่อาณาจักรออตโตมานได้แผ่ขยายอำนาจอย่างรวดเร็วไปในไบแซนทีนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าที่อาจสูญเสียแก่อำนาจใหม่นี้  ชาวเวนิส
ใช้นโยบายการครอบครองจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ  ในอัลบาเนีย    ionian  morea  และหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลอีเจียน  พร้อมกับเข้ามายึดครองเกาะไซปรัส
                ในปี ค.ศ.1489  ชาวเวนิสได้วางแผนจะพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลก่อนที่เมืองนี้จะตกเป็นของออตโตมาน  ทั้งนี้เห็นได้จากชาวเวนิสได้เข้ามายึดครองเมือง  salanica  ระหว่างปี ค.ศ.1423-1430  อย่างไรก็ตามเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าชาวเวนิสพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารกับอำนาจใหม่ออตโตมานนี้  ความตึงเครียดระหว่างอิตาลีกับออตโตมานเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อสุลต่านบายาซิดที่ 1  ทรงรับสั่งให้ปิดช่องแคบบอสฟอรัส  โดยการสร้างป้อมด่านที่เรียกว่า  อะนาดอลู  ฮิสาเรอ  และช่องแคบที่กาลิโบลู  เมื่อควบคุมและสกัดกั้นเรือต่างชสติที่ผ่านเข้ามาในแถบนี้  ในปี ค.ศ.1416  เรือชาวเวนิสบุกเข้าทำลายป้อมด่านที่กาลิโบลู  และทำลายฐานทัพเรือของออตโตมานในป้อมนั้น  การเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสองชาตินี้เริ่มเกิดขึ้นเรื่อยๆ  ผลสุดท้ายสุลต่านเมห์เมดที่ 2  สามารถกอบกู้สถานการณ์และควบคุมช่องแคบได้ทั้งหมด
                ในต้นปี ค.ศ.1352  ออตโตมานเคยเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้ากับชาวเวนิสและเจนัว  โดยการทำสัญญาผูกขาดการซื้อสินค้า  สารส้มที่ผลิตจากเมืองมานิสา  เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมผลิตผ้าในยุโรป  ในช่วงนั้นเกาะ  chios  และ  foca  (ทางตะวันตกของอนาโตเลีย)  นอกจากสารส้มแล้วสุลต่านออตโตมานได้อนุญาตให้พ่อค้าชาวเวนิสทำการค้าข้าวสาลีอีกด้วย  สุลต่านบายาซิดที่ 1  เคยใช้การค้าข้าวสาลีเป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองกับชาวเวนิสในช่วงการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล  สุลต่านเมห์เมดที่ 2  ก็ทรงอนุญาตให้พ่อค้าชาวเวนิสทำการค้าข้าวสาลี  ในดินแดนของออตโตมานอย่างเสรี  โดยเก็บภาษีการค้าเพียงร้อยละ  2  เท่านั้น  ต่อมาเกิดวิกฤติทางการเมือง  morea  และอัลบาเนีย  สุลต่านเมห์เมดที่ 2  ทรงตัดสินพระทัยเกิดสงครามกับชาวเวนิสในระหว่างปี  ค.ศ.1463-1476  พระองค์ทรงรับสั่งให้จับพ่อค้าชาวเวนิส พร้อมกับจับสินค้าของพวกเขาทั้งหมดในดินแดนของออตโตมาน  ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงติดต่อและเปิดโอกาสให้พ่อค้าชาวฟลอเรนซ์  และชาว  ragusa debrounik  เข้ามาค้าขายในดินแดนออตโตมานแทนพ่อค้าชาวเวนิส
                ในปีค.ศ.1469  ชาวฟลอเรนซ์กว่า  50  บริษัทเข้ามาค้าขายในดินแดนออตโตมาน  จำนวนพ่อค้าชาวฟลอเรนซ์ในตลาดบุรซาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว   และทำการค้าขายอย่างคึกคัก  บุรซากลายเป็นตลาดค้าผ้าที่สำคัญของชาวฟลอเรนซ์ไปยังอนาโตเลียและเปอร์เซีย  และขากลับพวกเขารับซื้อสินค้าเส้นไหมกลับยังประเทศ
                ในปี ค.ศ.1463  เมือง  bosnia  และ  herzegovinia  ตกเป็นเมืองขึ้นของออตโตมาน  สุลต่านเมห์เมดที่ 2  ทรงรับสั่งให้เปิดเส้นทางการค้าใหม่กับฟลอเรนซ์ซึ่งเป็นทางตรงโดยผ่านเมือง  ragusa  ทำให้การค้าระหว่างสองชาตินี้ขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว  เส้นทางการค้าระหว่างเมือง  ragusa  กับกรุงอิสตันบูลหรือกับเมืองบุรซาโดยผ่านเมือง  foca  เมือง  novibazar  เมืองแอดิรแนแล้วเข้าไปยังกรุงอิสตันบูลหรือเมืองบุรซาโดยแยกเส้นทางที่เมือง  gallipoli  มีความคึกคักและเพิ่มความสำคัญมากขึ้น  สินค้าจากเมือง  ragusa  นำลงเรือข้ามทะเล  adriatic  ยังท่าเรือเมือง  ancona  แล้วส่งต่อยังเมืองฟลอเรนซ์

อ้างจากหนังสือหลักการบริหารในอิสลาม 3 สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น