ตะกียุดดีน ซัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮ |
กำเนิดและวัยเด็กอิบนุ ตัยมียะฮฺ
ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (นักปฏิวัติความคิดและผู้นำการญิฮาด) มีชื่อเต็มว่า
อะฮฺหมัด ตะกียุดดีน อะบุล อับบ้าส บิน อับดุลฮะลีม บิน อับดุสสลาม บิน อับดุลลอฮ บิน อะบี กอเซ็ม อัล-ฆอฏ้อร บิน มุฮัมหมัด อัล-ฆอฏ้อร บิน อะลี บิน อับดุลลอฮ บิน ตัยมียะฮฺ อัล-ฮุ้รรอนีย์
อะฮฺหมัด ตะกียุดดีน อะบุล อับบ้าส บิน อับดุลฮะลีม บิน อับดุสสลาม บิน อับดุลลอฮ บิน อะบี กอเซ็ม อัล-ฆอฏ้อร บิน มุฮัมหมัด อัล-ฆอฏ้อร บิน อะลี บิน อับดุลลอฮ บิน ตัยมียะฮฺ อัล-ฮุ้รรอนีย์
) أحمد تقي الدين أبو العباس بن عبد الحليم بن عبد السلام بن عبد الله بن أبي القاسم الخضر بن محمد بن الخضر بن علي بن عبد الله بن تيمية الحراني . (
ส่วนที่มาของ อัตตัยมียะฮฺ นักวิชาการระบุว่า เนื่องจากมารดาของปู่ซึ่งเป็นผู้คอยตักเตือนมีนามว่า ตัยมียะฮฺ และบางรายงานบอกว่า ตัยมียะฮฺ มาจากคำว่า ตัยมาอฺ(تيماء)ซึ่งแปลว่าทะเลทราย ทั้งนี้เนื่องจากปู่ของท่านได้เดินทางไปทำฮัจญผ่านทะเลทรายและเฆ้นเด็กผูหญิงเล่นอยู่ บังเอิญเมื่อท่านกลับบ้านภรรยาได้เกิดเป็นเด็กผู้หญิง ปู่จึงเรียกลูกหญิงว่า โอ้ ตัยมาอฺ หมายเด็กหญิงที่ชอบเล่นในทะเลทราย(อับดุลลอฮ ซอและห์ บิน อับดุลอาซีซ อัล-ฆุสนีย์)
อิบนุ ตัมียะฮฺ เกิดที่เมืองฮัรรอน(ตอนเหนือของอิรักในปัจจุบัน) วันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1263(ประมาณ 150 ปี หลังจากการเสียชีวิตของอีหม่ามฆอซาลี) ท่านเกิดในครอบครัวของผู้รู้ พ่อของท่านชื่อว่า อับดุล ฮะลีม อาชื่อว่า ฟัครุดดีน และปู่ชื่อว่า มัจญดุดดีน ล้วนแต่เป็นอุละมาอ์คนสำคัญของมัซฮับฮัมบะลียฺ และได้เขียนหนังสือไว้จำนวนมาก
ในปี 1269 ครอบครัวของท่านถูกบังคับให้ออกจากที่อยู่อาศัย ก่อนที่กองทัพมองโกลจะเข้ามายึดครอง ทำให้ครอบครัวของท่านต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยที่ต้องอพยพไปอยู่นครดามัสกัส ตอนนั้นท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ อายุได้ 7 ขวบ
พ่อของท่านคือ อับดุล ฮะลีม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์และเป็นหัวหน้าของมัดรอซะฮฺ ซุกกะรียะฮฺ ในดามัสกัส ในตอนนี้เองที่อิบนุ ตัยมียะฮฺได้รับการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ไม่ว่าการท่องจำอัลกุรอานและอัลฮะดีษ การศึกษาทุกสาขาของวิชาฟิกฮฺ ตรรกวิทยาและคณิตศาสตร์ ด้วยสติปัญญาที่เฉียบแหลมและด้วยความจำทีดีเลิศ ท่านสามารถครอบครองศาสตร์ต่างๆเหล่านี้ได้อย่างลึกซึ้ง
ครูของอิบนุ ตัยมียะฮฺ มีมากกว่า 200 ท่าน ในจำนวนนี้มีครูที่มีชื่อ ซึ่งท่านได้ศึกษาอยู่หลายปี นั่นคือ ท่านซัยนุดดีน อัล มุก็อดดีซียฺ ท่านนัจญมุดดีน อะซากิร และปราชญ์ที่เป็นสตรีท่านซัยนับ บินติ มักกียฺ
ด้วยวัยเพียง 17 ปี อิบนุ ตัยมียะฮฺ จึงมีความสามารถในการฟัตวา และเปิดการเรียนการสอนวิชาการต่างๆได้แล้ว ท่านจึงถูกจัดให้เป็นอุละมาอ์ชั้นนำคนหนึ่งของนครดะมัสกัชตั้งแต่วัยหนุ่ม
แม้ว่า อิบนุ ตัยมียะฮฺ จะได้รับการฝึกฝนทางความรู้มากับมัซฮับ(สำนักฟิกฮฺ) ฮัมบะลียฺ แต่ความรู้ของท่านได้ก้าวข้ามมัซฮับที่ท่านสังกัดไปสู่มัซฮับอื่นๆ(ในกลุ่มอะหฺลุซซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ) จุดเด่นที่ยากจะหาจากอุละมาอ์ท่านอื่นๆก็คือ ท่านไม่อคติกับมัซฮับฮะนาฟี ชาฟิอี และมาลิกี การฟัตวาของท่านยังอ้างอิงถึงมัซฮับอื่นๆอีกด้วย งานเขียนของท่านยังยกทรรศนะมาจากมัซฮับทั้งสี่อยู่บ่อยๆ วิธีการของท่านเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับนักวิชาการในทุกวันนี้ แต่สำหรับยุคนั้นกลายเป็นเรื่องที่แปลกอยู่ไม่น้อย จนบางครั้งนำไปสู่การบิดเบือนให้ร้ายต่อท่าน
นอกจากนี้ ท่านยังเข้าไปศึกษาตำรับตำราของกลุ่มบิดเบือนต่างๆและแนวคิดที่มิใช่อิสลามอย่างมากมายจนเป็นที่มาของความปราดเปรื่องในการเข้าถึงวิธีคิดที่หลากหลายรูปแบบของท่าน
เมื่ออายุได้ 30 ปี ท่านถูกเสนอให้เป็นผู้พิพากษาใหญ่จากทางการ แต่ท่านปฏิเสธ เนื่องจากไม่ต้องการให้การทำงานของท่านถูกจำกัดด้วยทางการ
อิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้ใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่วิกฤติของโลกมุสลิม ด้านหนึ่งศัตรูภายนอกอย่างพวกตาร์ตาร์กำลังรุกรานโลกมุสลิม อีกด้านหนึ่งกลุ่มบิดเบือนกำลังเติบโตภายในโลกมุสลิมเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ ความเป็นเลิศทางวิชาการของท่านจึงไม่จำกัดอยู่ในสนามทางความคิดอีกต่อไป ท่านได้เข้าไปสู่กิจกรรมทางการเมืองและปัญหาของโลกมุสลิม ท่านไม่กำหนดตัวเองเป็นเพียงนักวิชาการ นักเขียน หรือนักพูด แต่ได้ก้าวไปสู่การเป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและนักรบในสมรภูมิญิฮาดอีกด้วย
ในปี 1300 พวกมองโกล ภายใต้การนำของกษัตริย์ฆอซาน ได้รุกรานซีเรีย ท่ามกลางนักวิชาการที่ได้ลี้ภัยไปอยู่อิยิปต์ ท่านอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้ออกไปปราศรัยเรียกร้องประชาชนสู่สมรภูมิญิฮาด โดยท่านได้ออกเดินทางปลุกเร้าไปตามเมืองต่างๆ และเมื่อถึงเวลามองโกลบุกซีเรีย ท่านได้นำนักรบเข้าปะทะกับกองทัพมองโกลอย่างกล้าหาญที่สมรภูมิชักฺฮับ และกองทัพมุสลิมก็มีชัยในสงครามครั้งนั้น สงครามครั้งนี้สามารถหยุดกองทัพมองโกลในการรุกรานโลกมุสลิมได้สำเร็จ
นอกจากนี้ อิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ยังได้เข้าร่วมกับสงครามย่อยๆกับกองทัพของพวกมัมลูก(กลุ่มผู้ปกครองมุสลิมแห่งอิยิปต์)อีกหลายครั้ง
ตลอดเวลา ท่านอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้ใช้เวลาไปกับการฟื้นฟูคำสอนอิสลาม การสอนหนังสือของท่านมีทั้งโวหารที่ดึงดูดใจคน และการอ้างอิงหลักฐานที่คมชัด ท่านได้ใช้ความรู้ในการคัดค้านความหลงผิดต่างๆ จนถูกผู้ปกครองอธรรมจับคุมขังหลายครั้ง
ท่านเมาลานา ซัยยิด อบุล ฮะซัน อลี อัน นัดวียฺ ได้เขียนถึงอิบนุ ตัยมียะฮฺ ในแง่มุมต่างๆไว้ในหนังสือเล่มใหญ่ของท่านชื่อว่า “อัล ฮาฟิซ อะหฺมัด อิบนุ ตัยมียะฮฺ” โดยท่านได้กล่าวถึงหลักการในการฟื้นฟูอิสลามของอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ไว้ว่ามี 4 ประการ สรุปได้ดังต่อไปนี้
1.การฟื้นฟูแก่นแท้ของคำสอนอิสลาม ได้แก่ การฟื้นฟูเตาฮีด และขจัดแนวคิดชิรกฺ
2.การวิพากษ์แนวคิดที่ครอบงำโลกมุสลิม ได้แก่ การวิพากษ์ตรรกวิทยาและปรัชญาของกรีก พร้อมๆกับนำเสนอวิธีการของอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺเข้าแทนที่ทุกสนามของอิสลาม
3.การใช้วิธีการทางวิชาการชี้แจงกลุ่มที่ออกนอกกรอบคำสอนอิสลาม เป็นการตอบโต้กลุ่มบิดเบือนต่างๆ และคัดค้านแนวคิดและอิทธิพลของมัน
4.การฟื้นฟูศาสตร์ต่างๆของอิสลาม และการนำแนวคิดอิสลามกลับมาใหม่
ศิษยานุศิษย์ของอิบนุ ตัย มิยะฮ์
การเป็นครูที่อุทิศตัวของท่าน ทำให้ท่านมีลูกศิษย์มากมาย ตั้งแต่ซีเรียถึงอิยิปต์ และที่ไกลออกไปจากนี้ก็มีมาก ที่สำคัญกลุ่มศิษย์ของท่านได้เข้าร่วมการสอนและพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูของท่าน กล่าวได้ว่าจุดเด่นของท่านคือการที่มีศิษย์ที่มีความสามารถมากมายร่วมงานด้วย คนที่สำคัญคนแรกคือ
๑- ท่านอิบนุ กอยยิม อัล เญาซียะฮฺ(ตายปี 1350) นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ นักปฏิรูปแนวทางซูฟีให้อยู่ในแนวทางสลัฟ ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์ที่สะท้อนแนวคิดของอาจารย์ได้มากที่สุด ศิษย์ที่โดดเด่นคนอื่นๆ เช่น
๒- ท่าน อิบนุ อับดุล ฮาดียฺ(ตาย1343) เสียชีวิตเมื่ออายุได้เพียง 40 ปี มีความรอบรู้มาก และได้ทิ้งงานเขียนที่มีค่าไว้ชุดหนึ่ง,
๓- ท่านอิบนุ กะษีร(ตาย 1373)เป็นศิษย์ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง เป็นนักประวัติศาสตร์(งานที่โด่งดังด้านนี้คือ อัล บิดายะฮฺ วัล นิฮายะฮฺ)และเป็นนักตัฟซีร(ตัฟซีร อิบนุ กะษีร อันโด่งดัง) ท่านผู้นี้สังกัดมัซฮับชาฟิอียฺ(โดยไม่อคติกับมัซฮับอื่นเช่นครูของท่าน),
๔- ท่านฮาฟิซ อัซ ซะฮาบียฺ(ตาย 1348) โดดเด่นทางด้านฮะดีษ โดยได้แต่งหนังสือไว้หลายเล่มในสาขานี้,
๕- ท่านมุฮัมมัด บิน มุฟลิหฺ(ตาย 1362) นักเขียนหนังสือหลายเล่ม,
๖-ท่านอบู ฮัฟซฺ อัล บัซซาร(ตาย 1349) เป็นผู้เขียนประวัติอิบนุตัยมียะฮฺ,
๗-ท่านอิบนุ อัล วัรดี(ตาย 1348) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมและไวยากรณ์อาหรับ,
๘-ท่านกอฎียฺ อิบนุ ฟัฎลุลลอฮฺ(ตาย 1349)นักเขียนผู้โด่งดัง
งานเขียนของ อิบนุ ตัยมิยะฮฺ
ท่านอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ไม่เพียงผลิตศิษย์ที่ได้สร้างสรรค์งานวิชาการอย่างมากมาย ตัวท่านเองได้เขียนหนังสือไว้เป็นจำนวนมากกว่า 500 เล่ม แต่ว่าส่วนใหญ่จะสูญหายไป คงเหลือ 64 เล่ม งานฟัตวา 37 เล่มใหญ่ของท่านเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ถูกรวบรวมไว้ในชื่อ “มัจญมูอฺ ฟะตาวา” ซึ่งเป็นงานที่เป็นเหมือนคลังความรู้ให้แก่นักวิชาการรุ่นหลัง
ท่านซัยยิด อบุล อะอฺลา อัล เมาดูดียฺ ได้กล่าวไว้ ในหนังสือ A Short History of the Revivalist Movement in Islam ถึงความสามารถในการเป็นนักฟื้นฟูที่โดดเด่นของอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ไว้ด้วยผลงาน 4 ประการ ซึ่งมีทั้งสนามทางความคิดและสนามการต่อสู้ พอที่จะสรุปได้ดังต่อไปนี้
1.ความสามารถในการวิพากษ์ตรรกวิทยาและปรัชญาของกรีกที่ครอบงำวิชาการด้านอะกีดะฮฺอิสลาม แม้ว่าอีหม่ามฆอซาลียฺจะทำไว้ก่อนหน้านี้ แต่อิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ทำได้จริงจังและหนักแน่นกว่า และส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง
2.การนำเสนออะกีดะฮฺอิสลามและกฎเกณฑ์อิสลามพร้อมข้อโต้แย้งที่หนักแน่นและสมเหตุสมผล โดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอิสลาม ด้วยการนำเสนอจากอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺที่บริสุทธิ์โดยตรง
3.ความสามารถในการ อิจญติฮาด(การวินิจฉัยตัวบทเข้ากับความเป็นจริง) พร้อมๆกับการเข้าถึงสำนักนิติศาสตร์ที่หลากหลาย และยังแสดงให้เห็นถึงวิธีใช้อิจญติฮาดอย่างแม่นยำ
4.การลงไปสู่สนามแห่งการปฏิบัติด้วยการคัดค้านชิรกฺและประเพณีที่หลงผิดต่างๆ ความกล้าหาญของท่านในเรื่องนี้ทำให้ท่านต้องถูกจำคุกหลายครั้ง นอกจากนี้ ท่านยังได้ประกาศญิฮาดกับพวกตาร์ตาร์ที่รุกรานโลกมุสลิม โดยท่านได้เป็นผู้นำคนหนึ่งในการต่อสู้อย่างกล้าหาญ
ท่านอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ เสียชีวิตในป้อมปราการอันเป็นที่คุมขังท่านในเมืองดามัสกัส เมื่อวันที่ 26 กันยายน 1328 หลังจากถูกจับขังกว่าสองปีสามเดือน อันเป็นการจับกุมครั้งสุดท้ายซึ่งก่อนหน้านี้ท่านถูกจับมาแล้วหลายครั้งจากผู้ปกครองมุสลิมที่อธรรม ซึ่งรวมเวลาอยู่ในคุกแล้วมากกว่าห้าปี
วันที่ท่านเสียชีวิต ผู้คนจำนวนมาก ทั้งผู้เห็นด้วยกับท่านและผู้ไม่เห็นด้วยกับท่าน ได้ร่วมในพิธีศพของท่านอย่างล้นหลาม
เป็นที่ยอมรับกันว่า อิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งกับนักฟื้นฟูอิสลามรุ่นหลัง ทั้งในคาบสมุทรอาหรับ แอฟริกาเหนือ จนถึงอินเดีย ตลอดจนถึงขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออิสลามจำนวนมากในทุกวันนี้
อ้างอิงจาก เอกสารประกอบการสอนรายวิชา นักคิดและกลุ่มฟื้นฟูอิสลาม เรียบเรียงโดย อาจารย์อับดุลลาตีฟ การี อาจารย์ประจำคณะอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
ขอมูลเป็นประโยน์มากเลยครับ ได้รู้เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ของนักปราชญ์อิสลาม
ตอบลบผมดีใจมากเลยครับที่มีพี่น้องเขียนเว็บบล็อกบันทึกเรื่องราวดีๆ ให้เราได้อ่านกัน
เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันนี้ ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกมากครับ
สำหรับการเผยแพร่ความรู้แล้วก็ย่อมบังเกิดผลบุญ Insyalloh ผมจะช่วยโปรโมตให้พี่น้องของเราได้อ่านเรื่องราวดีๆเช่นนี้ในโอกาสต่อไปครับ
อัลฮัมดุลิลลาฮฺ
ตอบลบอัลหัมดุลิลละฮ
ตอบลบอัลฮัมดูลิลลาฮฺ
ตอบลบญาซากั้ลลอฮฺ ค็อยร็อน
ตอบลบ