วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

ระบบกฎหมายของอาณาจักรอุษมานียะห์หรือออตโตมาน


                1)  กฎหมาย
                แนวความคิดด้านกฎหมายของออตโตมาน ได้รับแนวคิดจากอาณาจักรเปอร์เซียบ้าง  อาณาจักรเตอรกีในอดีตบ้าง  รวมถึงอาณาจักรอับบาซียะห์ซึ่งเป็นอาณาจักรอิสลามบ้าง
                แนวคิดของชาวเปอร์เซียที่ได้พัฒนามาใช้ในยุคคอลีฟะห์คือ ผู้ปกครองหรือคอลีฟะห์มีอำนาจเด็ดขาด  บทบัญญัติต่างๆ  และความยุติธรรมเป็นไปตามความเห็นของผู้ปกครองเท่านั้น
                แนวคิดของชาวเติร์กนั้นเป็นแนวความคิดที่ว่ากฎหมายมีอำนาจสูงสุด  ผู้ปกครองจะต้องบังคับใช้ด้วยความยุติธรรม  โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ส่วนตัว  แนวคิดที่เหมือนแนวคิดมุสลิมในเรื่องกฎหมายอิสลามหรือชารีอะฮที่นำมาจากอัลกุรอานและอัลหะดีษ  เมื่อกฎหมายอิสลามหรือชารีอะฮเป็นสิ่งสูงสุดในการส่งเสริมพฤติกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชน  ชารีอะฮจึงไม่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขหรือสังคายนาแต่อย่างไร
                แต่สังคมออตโตมานเป็นสังคมหลากหลายมีทั้งยิว  คริสต์  และอื่นๆ  จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายมหาชน  โดนเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดตั้งองค์กรและการบริหาร  ดังนั้นจึงมีห้องพิเศษสำหรับการตีความและออกกฎหมายในเรื่องสำคัญๆ ที่ยังไม่ปรากฏในอัลกุรอานหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนิกชนอื่น  ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารองค์กรต่างๆ  นักกฎหมายมุสลิม ส่วนมากรับรองสิทธิของสุลต่านเป็นผู้อำนาจสูงสุดในการออกกฎหมายประกาศใช้กฎหมายทางโลก  (kanun)  ในเรื่องสำคัญๆ  ที่ไม่ครอบคลุมในกฎหมายชารีอะฮ
                ดังนั้นกฎหมายที่ใช้ในอาณาจักรออตโตมานจึงมี  2  ประเภทคือ  กฎหมายชารีอะฮและกฎหมายสุลต่านคือ  สุลต่านเป็นผู้บัญญัติกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม  ผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินประหารและบังคับใช้บทบัญญัติของสุลต่าน  เรียกว่า  อะฮฺลิอุรฟ์  (ehli orf)  และอุลามะอฺจะทำหน้าที่บังคับกฎหมายชารีอะฮโดยเฉพาะในมิลเล็ตมุสลิม  สำหรับกฎหมายที่นำมาใช้บังคับกับศาสนิกชนอื่นนั้นสามารถตีความและใช้บังคับเฉพาะศาสนิกชนของตนโดยการนำของผู้นำศาสนานั้นๆ  อุลามาอฺมีสิทธิที่จะประกาศโมฆะกฎหมายโลกที่ขัดแย้งกับกฎหมายอิสลามได้
                2)  กอฎี
                กอฎี  คือ  ผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลามซึ่งเป็นสมาชิกของอุลามาอฺ  วิชาที่ศึกษาและตีความกฎหมายนี้เรียกว่า  ฟิกฮ จึงมีการแบ่งระหว่างผู้ที่ศึกษาและตีความกฎหมายหรือที่ปรึกษาของกฎหมายหรือมุฟตีกับผู้นำกฎหมายมาบังคับใช้ในศาลคือ ผู้พิพากษาหรือกอฎีนั่นเอง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าผู้ชี้ขาด (ฮากีม)
                อาณาจักรออตโตมานได้แบ่งเขตตามอำเภอศาล  ทุกเขตมีศาลประจำเขต  มีผู้พิพากษาหรือกอฎีประจำเขต  มีรองผู้พิพากษาและมีผู้ช่วยผู้พิพากษาอีกจำนวนหนึ่ง  ในราชอาณาจักรออตโตมาน  มุสลิมมีทั้ง 4  แนวทางคือ  แนวทางของมัซฮับฮานาฟี  ซาฟีอี  มาลิกี  และฮัมบาลี  แต่แนวทางที่ยอมรับเป็นทางการคือ  แนวทางของมัซฮับฮานาฟี  กอฎีที่สังกัดมัซฮับฮานาฟีเท่านั้นที่ได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในศาลต่างๆ  บางเมืองเช่น  อียิปต์และซีเรีย  เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นนั้นๆ  แนะนำให้คำปรึกษาแก่กอฎีทางการที่ถือแนวทางมัซฮับฮานาฟี
                กอฎีทุกคนจะทำหน้าที่ทั้งทางศาลและการบริหารบ้านเมือง  เมื่อเป็นผู้พิพากษาในศาลมุสลิมประจำท้องถิ่นก็จะทำหน้าที่นำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้  รวมถึงกฎหมายทางโลกที่สุลต่านออกประกาศบังคับใช้แก่ผู้อยู่ใต้อำนาจรวมถึงชนชั้นปกครองด้วย  กอฎีจะต้องให้ความเชื่อมั่นว่าศาลจะให้ความยุติธรรมแก่ทุกคนได้  การฟ้องร้องจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและยุติธรรมแก่ทุกคนได้  โดยไม่ได้แยกชนชั้นวรรณะและไม่มีการแทรกแซงจากใครทั้งสิ้น  แม้แต่ทนายความเองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปช่วยปกป้อง  ผู้หญิง  เด็ก  และเด็กกำพร้าเป็นกรณีพิเศษ
                หน้าที่สำคัญของกอฎี  คือ  สอบสวนคดีต่างๆ  เรียกตัวพยานและลงโทษผู้กระทำความผิด  กอฎีได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าเมือง  (sancak bey)  ประจำท้องถิ่นและหัวหน้าตำรวจ  และกอฎีได้รับการยอมรับให้มีอำนาจในท้องถิ่นร่วมกัน
                โดยปกติทุกๆเมือง จะมีหัวหน้าตำรวจประจำเมือง มีอำนาจจับกุมโจรผู้ร้ายตามขอบเขตอำนาจของตนและตามดุลยพินิจของกอฎี
                กอฎียังต้องรับผิดชอบการบริหารท้องถิ่นอีกด้วย  ต้องควบคุม  ตรวจตราผู้บริหารในเขตของตน  ต้องรับผิดชอบออกเอกสารสำคัญ  รับรองบัญชีรายชื่อประเมินภาษีและบัญชีจัดเก็บให้ความเป็นกลาง  หากเกิดความขัดแย้งขึ้นในศาล  บางครั้งยังให้อำนาจและบังคับแก่ข้าราชการท้องถิ่นที่ถูกปลดออก  จากการละเมิดกฎหมายให้คงรักษาการในตำแหน่งจนกว่าตัวแทนจากเมืองหลวงจะมาถึง
                สำหรับรายได้สูงสุดสำหรับกอฎีคือ  150  อักแจ /วัน  ขณะที่ขั้นต่ำได้รับต่ำกว่า  40  อักแจ/วัน  มีรายได้เพิ่มจากค่าธรรมเนียมที่เก็บในศาล  จากผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีต่างๆ หรือจากเอกสารต่างๆ  ที่กอฎีออกให้เพื่อรับรองการเกิด  การแต่งงาน  การตาย  และอื่นๆ  นอกจากนี้ยังได้รับเงินจำนวนมากจากค่าปรับ  จากการให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารองค์กรท้องถิ่น  กอฎียังมีสิทธิแต่งตั้งครู  และลูกจ้างใน  mekteb  ท้องถิ่นและ  medrese  เชื่อกันว่ากอฎียังมีสิทธิ์ที่จะคืนค่าธรรมเนียมผู้เข้าสอบแก่ผู้ที่ประสบความสำเร็จ
                กอฎีในเมืองหลวง  (อิสตันบูล)  ได้รับรายได้  500  อักแจ/วัน  กอฎีอิสตันบูลมีหน้าที่ควบคุมการตรวจตรา  การตลาด  และควบคุมราคาในเมือง  ควบคุมการสร้างอาคาร  การดูแลการจำหน่ายน้ำ  และการสุขาภิบาล  งานดังกล่าวมีผู้ช่วยคือ  ihtisap aga”  (รับผิดชอบเรื่องตลาด) , mimarbasi”  (งานอาคารและถนนหนทาง) , subasi”  (ตำรวจเทศบาล)  และ  capluk”  (รับผิดชอบงานทำความสะอาดถนนและงานในลักษณะเดียวกัน)
                ตำแหน่งผู้พิพากษาของประเทศในระดับเขตจัดอยู่ใน  mevleviyet”  และผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเรียกว่า  มอลลา (molla)”  การแต่งตั้งผู้พิพากษาสูงสุดของประเทศให้มีขึ้นภายใน  1  ปี  การแต่งตั้งกอฎีให้มีขึ้นภายในเวลา  20  เดือน  นับจากตำแหน่งดังกล่าวว่างลง
                ตามปกติแล้วช่วงที่แต่งตั้งกอฎียังมีตำแหน่งอื่นๆ อีกได้แก่  ผู้สมัครที่เหมาะสม  เช่น  กอฎี “toprak”  ทำหน้าที่เป็นตัวแทนกอฎีไปยังที่ต่างๆ  ในเขตของกอฎี  กอฎีนี้จะไปตรวจสอบการกระทำอันมิชอบตามกฎหมาย  ผิดระเบียบต่างๆ  ของท้องถิ่น  กอฎีนี้ยังถูกส่งเป็นผู้สังเกตการณ์ความไม่ยุติธรรม  รับฟังข้อร้องทุกข์  และกอฎีอาจส่งข้อร้องทุกข์ดังกล่าวไปยังกอฎีทหาร  (kazaskar)  หรือสภาสูงสุด  (imperial council)  กอฎีในระดับสูงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาทางทหาร  เพื่อทำหน้าที่กอฎีทหารในขณะที่กอฎีทหารไม่อยู่
                3)  มุฟตี  (mufti)
                มุฟตี เป็นผู้ประกาศคำฟัตวาหรือข้อวินิจฉัย  เพื่อตอบปัญหาที่กอฎีเสนอให้ หรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้เสนอ  หรือแม้แต่สามัญชนที่ต้องการอำนาจทางกฎหมายมาสนับสนุนตนเองในกรณีใดกรณีหนึ่ง  มุฟตีไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำการพิพากษาเป็นการส่วนตัว  มุฟตีต้องปัญหาบนรากฐานที่มีอยู่ในประมวลกฎหมาย  มุฟตีแต่ละคนสามารถหาคำตอบในสิ่งที่ตนต้องการโดยเลือกประมวลกฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์  กอฎีหรือผู้อื่นที่หาคำตอบในเรื่องใด  หากอ้างถึงมุฟตีถือว่าได้เปรียบที่สุดในการสนับสนุนการตัดสินใจของตน
                อุลามาอหลายท่านมีคุณวุฒิที่จะประกาศตนเองให้เป็นมุฟตีได้  หากมีผู้คนต้องการคำฟัตวา  (ตัดสินวินิจฉัย)  ในสมัยสุลต่านสุไลมานที่ 1  พระองค์พยายามตั้งองค์กรมุฟตีขึ้นโดยมีสำนักงานผู้นำมุสลิมในราชอาณาจักร (ไซคุลอิสลาม)
                ไซคุลอิสลาม  (ผู้นำมุสลิม)  เป็นผู้แต่งตั้งมุฟตีทางการในทุกเมืองใหญ่ๆ  ทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาต่างๆ  เมื่อกอฎีหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่แคว้นต่างๆ ต้องการ  มุฟตีนี้เป็น  อุลามาอที่ได้ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย  มุฟตีส่วนมากก็ยึดแนวทางฮานาฟีเป็นหลัก  เพราะฮานาฟีเป็นนิกายทางการ  แต่มุฟตีในอียิปต์  ซีเรีย  มาดีนะห์  และมักกะห์  ได้รับการแต่งตั้งโดยการขอร้องของข้าหลวงหรือผู้นำศาสนา  มุฟตีไม่มีเงินเดือนประจำ  มีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการประกาศคำวินิจฉัย  บางครั้งจะเรียกเก็บจากทรัพย์สินส่วนบุคคลที่ขอคำวินิจฉัย  (ฟัตวา)  สำหรับมุฟตีที่รัฐบาลแต่งตั้งจะได้รับค่าธรรมเนียมเป็นการถาวรจากพระคลังและยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำปหน่งอื่นๆ อีก  เป็นผู้บริหารองค์กรต่างๆ  และเป็นผู้ไกล่เกลี่ยมรดก  นอกจากนี้ยังมีมุฟตีเอกชน  ประกาศคำวินิจฉัยเป็นรายบุคคล  บางครั้งคำวินิจฉัยขัดแย้งกับมุฟตีทางการ
                4)  อุลามาอชั้นผู้น้อย  (lesser ulama
                อุลามาอชั้นผู้น้อยเป็นชนชั้นปกครองเพราะเป็นผู้ที่มีความรู้  ทำหน้าที่เป็นอิหม่ามตามมัสยิดต่างๆ  เป็นผู้นำละหมาดให้ประชาชนทั่วไป  และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของมัสยิด  เป็นคอเต็บ  อ่านคุฏบะฮ์ในวันศุกร์  อุลามาอบางคนทำหน้าที่เป็นผู้นำศาสนา  แนะนำ  อบรมประชาชน  ตามภารกิจและหน้าที่ของศาสนา  บางครั้งก็เป็นนักเผยแผ่ศาสนาในมัสยิดทุกวันสุดสัปดาห์  อุลามาอบางคนเป็นมุอัซซินทำหน้าที่เชิญชวนชาวมุสลิมให้ทำการละหมาดตามเวลาที่กำหนด  อุลามาอดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งและค่าใช้จ่ายจากผู้ดูแลเงินบริจาค  ซึ่งมีขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ  หรือจากบุคคลที่ขอความช่วยเหลือ  ในระยะหลังได้พัฒนาเป็นผู้บริจาค  ซึ่งทำให้เขาได้รับรายได้มากขึ้น  และมีอำนาจทั้งด้านการศึกษาและกฎหมายมากกว่าแต่ก่อน
อ้างจากเอกสารประกอบการสอนรายวิชาหลักการบริหารในอิสลาม3 สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น