วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มาลิก บินนะบีย์

ประวัตินักคิด มาลิก บิน นะบีย์

ปีที่เกิด ค.ศ 1905
สถานที่เกิด ติบซะฮ์ ประเทศแอลจีเรีย
เสียชีวิต  31 ตุลาคม 1973 ที่ประเทศแอลจีเรีย
สมญานาม นักคิดอิสลามและอาหรับที่ทรงอิทธิพลในศตวรรษที่ 20
สัญชาติ แอลจีเรีย
มาลิก บิน นะบีย์ เกิดในเมืองกุสตอนตีเนียน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของแอลจีเรีย เมื่อปี 1905 มาลิกเติบโตในครอบครัวที่เคร่งครัดในหลักการศาสนาอิสลาม บิดาของเขาเป็นเจ้าหน้าที่ในศาลชารีอะฮ์แห่งหนึ่ง ด้วยการรับหน้าที่ของบิดา เขาจำต้องย้ายไปอยู่ยังเขตติบซะฮ์ที่ ๆ เขาได้ร่ำเรียนอัลกุรอาน และเข้าเรียนระดับมัธยม ฯ ที่โรงเรียนฝรั่งเศสแห่งหนึ่ง จนได้สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 1925 หลังจากที่ได้เรียนมาตลอดระยะเวลา 4 ปี
                มาลิก ได้เดินทางไปฝรั่งเศสพร้อมๆ กับมิตรสหายของเขากลุ่มหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับความสำเร็จในการงาน จึงตัดสินใจกลับมายังบ้านเกิด และได้เริ่มงานใหม่ และได้ทำงานในศาล อัฟลู จนถึงปี 1927 ในช่วงที่เขาทำงานอยู่นั้น เขาได้คลุกคลีกับประชาชนระดับรากหญ้า เขาเริ่มสัมผัสถึงสภาพที่แท้จริงของบ้านเมืองเขา ต่อมาเขาได้ลาออกจากการทำงานในศาล หลังจากปี 1928 สืบเนื่องจากความขัดแย้งของเขากับ       เสมียรชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ที่ทำงานในศาล
                เขาตัดสินใจเดินทางไปฝรั่งเศสอีกครั้ง เมื่อปี 1930 แต่การเดินทางในครั้งนี้เป็นการเดินทางเพื่อการศึกษา เริ่มแรกนั้น เขาได้พยายามสมัครเข้าเรียนต่อที่สถาบันตะวันออกศึกษา แต่ในขณะนั้น เขาและคนแอลจีเรียคนอื่น ๆ ไม่ถูกอนุญาตให้เรียนในสถาบันดังกล่าวได้ มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเขาเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เขามีความจำเป็นต้องหันเป้าหมายใหม่ เขาจึงเข้าเรียนต่อยังโรงเรียนไร้สาย และสำเร็จการศึกษในฐานะผู้ช่วยวิศวกร ทำให้ความถนัดของเขาเป็นเรี่องเกี่ยวกับเทคนิคโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ เป็นงานด้านวิทยาศาตร์ล้วน ๆ ซึ่งตรงข้ามกับด้านการศาลและการเมือง
                มาลิกได้ดื่มด่ำกับการเรียนและการคิดเป็นอย่างมาก เขาจึงเลือกที่จะพำนักในฝรั่งเศส และได้สมรสกับหญิงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง หลังจากนั้นเขาได้เริ่มเขียนหนังสือต่าง ๆ มากมาย เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในโลกมุสลิม เขาได้เขียนหนังสือ ปรากฏการณ์อัลกุรอาน (อัซซอฮีเราะฮ์ อัลกุรอานียะฮ์) เมื่อปี 1946 ต่อมาเขาได้เขียนหนังสืออีกเล่ม มีชื่อว่า เงื่อนไขของการพัฒนา (ชุรูฏ อันนะฮ์เฎาะฮ์) ในปี 1948 ในงานเขียนนี้ เขาได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง คุณสมบัติของการถูกตกเป็นอาณานิคม (อัลกอบีลียะฮ์ ลิล อิสติอ์มาร์) และหนังสืออีกเล่ม ที่มีชื่อว่า มุมมองแห่งโลกมุสลิม (วิจฮะตุล อาลัม อัล อิสลามีย์) ในปี 1954 ส่วนงานเขียนของเขาที่มีชื่อว่า ปัญหาแห่งแนวคิดต่างๆ ในโลกมุสลิม  (มุชกีละฮ์ อัลอัฟการ์ ฟีล อาลัม อัลอิสลามีย์) ซึ่งนับเป็นงานเขียนที่เป็นภาษาอาหรับที่สำคัญเล่มหนึ่งในศตวรรษที่ยี่สิบ
                เขาได้ย้ายไปยังกรุงไคโร หลังจากการปฏิวัติทางทหารได้ประทุขึ้น เมื่อปี 1954 เขาได้รับการยกย่องอย่างมีเกียรติ ต่อมาเขาได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า แนวคิดเรื่องแอฟริกา-เอเซีย ในปี 1956 และได้เขียนงานที่สำคัญๆ มากมาย และหลังจากที่แอลจีเรียได้รับเอกราชแล้ว เขาได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันการอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยกลางแอลจีเรีย จนกระทั้งได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว เมื่อปี 1967 เพื่อทุ่มเทกับงานเขียน บันทึกประวัติเรื่องราวของเขา ในหนังสือที่มีชื่อว่า บันทึกแห่งผู้เห็นเหตุการณ์แห่งศตวรรษ (มูซักกีรอต ชาฮิด อัลกอรน์)
การเสียชีวิตของมาลิก
                มาลิก บิน นะบีย์ ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1973 โดยทิ้งผลงานทางความคิดที่ทรงคุณค่าและหายากอยู่เบื้องหลัง
งานเขียนของเขา
                มาลิก เป็นคนที่มีลักษณะที่มีระบบและระเบียบ ด้วยเหตุนี้เขาจึงสามารถเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในโลกได้อย่างดี เขาได้เขียนหนังสือชุดที่มีชื่อว่า ปัญหาแห่งอารยธรรม (มุชกีละฮ์ อัลฮะฎอเราะฮ์) ซึ่งเขาได้เริ่มเขียนที่ปารีส และอิยิปต์ จนเขียนเสร็จในแอลจีเรีย ซึ่งเรียบเรียงตามรูปแบบปทานุกรมทีเรียงตามตัวอักษร ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้
  • ระหว่างเส้นทางที่เที่ยงตรงกับการหลงทาง ปี 1972
  • การพินิจพิเคราะ
  • ความขัดแย้งทางความคิดในกลุ่มประเทศใต้อาณานิคม 1959
  • ปรากฏการณ์อัลกุรอาน
  • แนวคิดเรื่อง แอฟริกา – เอเซีย 1956
  • แนวคิดสังคมนิยมอิสลาม 1958
  • ท่ามกลางสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการทำสงคราม 1962
  • ปัญหาต่างๆ ที่สำคัญ
  • บันทึกของผู้เห็นเหตุการณ์แห่งศตวรรษ เด็ก 1965
  • บันทึกของผู้เห็นเหตุการณ์แห่งศตวรรษ นักศึกษา 1970
  • มุสลิมในโลกเศรษฐกิจ 1972
  • ปัญหาของแนวคิดต่างๆ ในโลกมุสลิม 1970
  • ปัญหาทางวัฒนธรรม 1958
  • สู่การเปลี่ยนแปลง
  • การกำเนิดของสังคม
  • มุมมองของโลกมุสลิม 1954
  • อนาคตของแอลจีเรีย 1964
  • ช่วยด้วย...ประชาชนชาวแอลจีเรียถูกสังหารหมู่ 1957
  • พูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาแนวใหม่ 1960 (ตีพิมท์พร้อมหนังสือ  การพินิจพิเคราะ)
  • ผลงานของบรรดานักบูรพาคดี 1968
  • อิสลาม และ ประชาธิปไตย 1968
  • นิยามของ ช่วงสมัย 1970


วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทบาทของสตรี ศึกษาตัวอย่างจากประวัติของเศาะหาบิยาต




﴿دور المرأة في المجتمع : نماذج من سير بعض الصحابيات﴾
]  ไทย – Thai – تايلاندي [
ซุฟอัม อุษมาน
ผู้ตรวจทาน : ทีมงานเว็บอิสลามเฮ้าส์ ภาษาไทย 
2010 - 1431 
﴿دور المرأة في المجتمع : نماذج من سير بعض الصحابيات﴾
« باللغة التايلاندية » 
صافي عثمان
مراجعة: فريق اللغة التايلاندية
2010 - 1431

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

บทบาทของสตรี ศึกษาตัวอย่างจากประวัติของเศาะหาบิยาต
แท้จริงแล้วอัลลอฮฺได้สร้างมนุษย์ทั้งเพศชายและเพศหญิงเป็นคู่กัน โดยทั้งคู่เป็นสิ่งที่ขาดจากกันไม่ได้เพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต ดังปรากฏในวจนะของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม มีใจความว่า แท้จริงแล้วเหล่าผู้หญิงนั้นคือผู้เคียงคู่ผู้ชาย (อบู ดาวูด) ดังนั้นจึงไม่เป็นที่คลางแคลงอีกเลยว่า บทบาทของผู้หญิงในการร่วมกันสร้างสรรค์ชีวิตครอบครัวและสังคมให้ดีนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยถ้าจะหมายถึงว่าเป็นเสาหลักแล้วก็เป็นการตีความที่ถูกต้องตามนัยยะที่ว่าภาระหน้าที่อีกส่วนหนึ่งในชีวิตผู้ชายมิอาจจะสมบูรณ์ได้ถ้าหากปราศจากผู้หญิง สังเกตได้จากหะดีษบทหนึ่งซึ่งมีความว่า ผู้ใดที่อัลลอฮฺประทานภรรยาที่ดีให้เขา แน่แท้ย่อมแสดงว่าพระองค์ได้ช่วยเหลือในครึ่งหนึ่งของศาสนาเขาแล้ว (อัล-หากิม)
ณ ที่นี้ขอยกตัวอย่างบทบาทของมุสลิมะฮฺในการทำหน้าที่เป็นเสาหลักสำหรับคู่ชีวิตของนาง จากเรื่องเล่าของบรรดาภริยาท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม และเหล่าเศาะหาบิยาต ผู้เป็นบุปผชาติแห่งสวนสวรรค์ พอสังเขปดังนี้

1.                เคาะดีญะฮฺ บินติ คุวัยลิด
เคาะดีญะฮฺ บินติ คุวัยลิด เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ภริยาคนแรกของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม เป็นสตรีหมายเลขหนึ่งซึ่งประเสริฐที่สุดในหมู่สตรีทั้งหลายในโลก ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม มักจะพูดถึงนางด้วยความชื่นชมและยกย่องเสมอ ท่านอาอิชะฮฺ เคยเล่าว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม เมื่อกล่าวถึงเคาะดีญะฮฺแล้ว ไม่เบื่อที่จะพูดยกย่องและอิสติฆฺฟารฺ(ขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ)ให้นาง วันหนึ่งขณะที่ท่านพูดถึงนางอีกครั้งฉันมีความรู้สึกหึงหวงขึ้นมา จึงได้กล่าวแก่ท่านว่า แท้จริงอัลลอฮฺได้ทดแทนให้ท่านจากหญิงที่มีอายุมาก(ด้วยภรรยาคนอื่น)แล้ว เมื่อนั้นฉันเห็นท่านรอซูลโกรธมากจนฉันใจสั่น และคิดในใจว่า โอ้ อัลลอฮฺ หากพระองค์ทำให้ท่านหายโกรธฉันแล้ว ฉันจะไม่กล่าวถึงเคาะดีญะฮฺด้วยคำพูดที่ไม่ดีอีกเลย เมื่อท่านรอซูลเห็นอาการฉันเช่นนั้น จึงกล่าวขึ้นว่า ((เธอพูดเช่นนั้นได้อย่างไรกัน? ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ แท้จริงนาง(เคาะดีญะฮฺ)ได้ศรัทธาต่อฉันในขณะที่คนอื่นทั้งหลายไม่ยอมเชื่อ นางได้ต้อนรับฉันในขณะที่ผู้อื่นปฏิเสธฉัน และฉันยังได้มีบุตรกับนาง ในขณะที่พวกเธอไม่มีบุตรกับฉันเลย)) (อัซ-ซะฮะบีย์. สิยัร อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺ. 2:112)
เมื่อครั้งที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้เจอญิบรีลครั้งแรก ซึ่งสร้างความตระหนกตกใจแก่ท่านเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้กลับไปหาเคาะดีญะฮฺด้วยอาการสั่นทั้งตัวเพราะความกลัว ท่านได้สั่งให้นางห่มผ้าให้และพูดกับนางว่า ((ฉันเป็นอะไรนี่เคาะดีญะฮฺ? ฉันกลัวเหลือเกินว่าจะเกิดอะไรไม่ดีกับฉัน)) นางได้ตอบท่านว่า ไม่ใช่เช่นนั้นอย่างแน่นอน จงยินดีเถิด ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ พระองค์จะไม่ทรงทำร้ายท่านเด็ดขาด แท้จริงท่านเป็นผู้ที่ผูกสัมพันธ์กับญาติมิตร ท่านเป็นผู้สัจจริงในคำพูด ท่านคอยแบกรับความเดือดร้อนของผู้อื่น และคอยช่วยเหลือในความถูกต้อง นางยังได้พาท่านรอซูลไปหา วะรอเกาะฮฺ อิบนุ เนาฟัล ญาติผู้หนึ่งของนางที่เป็นผู้รู้เกี่ยวกับคัมภีร์อินญีล ซึ่งได้บอกแก่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ว่า ผู้ที่มาหาท่านนั้นคือญิบรีล ผู้เคยลงมาหาศาสนทูตมูซาแล้วในอดีต (อัล-บุคอรีย์ ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:112)

2.                อาอิชะฮฺ บินติ อบู บักรฺ
ในบรรดาภริยาทั้งหลายของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ท่านอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เป็นภรรยาที่ท่านรักมากที่สุด เพราะนางมีความพิเศษหลายประการที่สร้างความสุขให้ชีวิตของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม
ในฐานะสามี สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือความสุขที่ได้รับจากภรรยา และอาอิชะฮฺได้ทำหน้าที่นี้อย่างดีเยี่ยมแก่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม นางเป็นภรรยาคนเดียวที่ท่านรอซูลแต่งงานในขณะที่ยังเป็นสาว เป็นบุตรีของอบู บักรฺ สหายผู้เป็นที่รักที่สุดของท่านรอซูล นางมีนิสัยเยี่ยงเด็กสาวที่มักจะขี้เล่น อ่อนโยน ไร้เดียงสาเหมือนเด็กๆ ในขณะที่มีความเฉลียวฉลาดเป็นยอด และเข้าใจปรนนิบัติสามีของนางอย่างดี
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เล่าให้ฟังว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้วิ่งแข่งกับนางและนางได้วิ่งชนะท่าน จนเมื่อนางอ้วนขึ้นท่านก็วิ่งชนะนาง และกล่าวแก่นางว่า นี่อาอิชะฮฺ ชนะครั้งนี้แทนที่แพ้ครั้งก่อนไงล่ะ (อะหฺมัด, อบู ดาวูด, อัน-นะสาอีย์, อิบนุ มาญะฮฺ. ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:174)
ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม เคยนอนหนุนตักอาอิชะฮฺในขณะที่นางมีรอบเดือน และท่านได้อ่านอัล-กุรอานให้นางฟัง ท่านเคยจูบนางในขณะที่นางถือศีลอด และยังให้นางหวีผมให้เมื่อตอนที่ท่านอิอฺตีก้าฟในมัสยิดโดยยื่นศรีษะให้นางซึ่งอยู่นอกมัสยิด (อัล-บุคอรีย์และมุสลิม)
ท่านอาอิชะฮฺ ได้เล่าอีกว่า เคยอาบน้ำญะนาบะฮฺร่วมกับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม จากถังใบเดียว ท่านได้รีบอาบแข่งกับฉัน จนฉันกล่าวว่า ปล่อยบ้าง ปล่อยให้ฉันอาบบ้าง (มุสลิม)
เมื่อครั้งที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ใกล้จะเสียชีวิตนั้น อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อบู บักรฺ ได้เข้ามาหาท่านพร้อมไม้สีฟันที่ยังสดอยู่ ท่านได้มองดูมัน จนท่านอาอิชะฮฺสังเกตเห็นและเข้าใจว่าท่านต้องการมัน นางเล่าว่า ฉันจึงเอาไม้สีฟันนั้นมากัดให้นุ่มและส่งให้ท่าน ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้ใช้ไม้นั้นสีฟันและส่งมันคืนแก่ฉัน แต่มือของท่านตกลงไปด้วยไม่มีแรง ฉันได้ขอดุอาอ์ให้ท่านด้วยดุอาอ์ที่ญิบรีลได้ขอให้ท่านทุกครั้ง เป็นดุอาอ์ที่ท่านรอซูลเองขอให้ตัวเองเมื่อท่านป่วย แต่ครั้งนี้ท่านไม่ได้อ่านมัน จากนั้นท่านได้มองไปยังเบื้องบนและกล่าวว่า ((สู่การเป็นสหายกับผู้สูงส่งยิ่ง)) แล้วลมหายใจของท่านก็หมดลง ขอสรรเสริญอัลลอฮฺที่ได้รวมน้ำลายของฉันกับของท่านในห้วงสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านรอซูลในโลกดุนยา (อะหฺมัด, อัล-หากิม. ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:189)
มีคนถามท่านอาอิชะฮฺว่า โอ้ ผู้เป็นมารดาแห่งศรัทธาชน อัลกุรอานและความรู้เกี่ยวกับสิ่งหะลาลและหะรอมนั้นท่านรับมาจากรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ส่วนความรู้เกี่ยวกับกวี เชื้อสาย และเรื่องเล่านั้นท่านรับมาจากบิดาและคนอื่นๆ แล้วความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ท่านรับมาจากไหนกันเล่า? ท่านอาอิชะฮฺตอบว่า ได้มีแขกจากที่ต่างๆ มาหาท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม เป็นประจำ บ่อยครั้งที่มีผู้ถามท่านเกี่ยวกับโรคนั้นโรคนี้ และท่านได้บอกพวกเขาถึงยาต่างๆ ในการใช้รักษา ฉันได้ฟังได้จำมาและเข้าใจมัน (อัซ-ซะฮะบีย์. 2:197)

3.                อุมมู สะละมะฮฺ
เมื่อครั้งที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม เสร็จจากการทำสนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮฺ ท่านได้สั่งบรรดาเศาะหาบะฮฺให้เชือดสัตว์และโกนผมเพื่อออกจากอิหฺรอม แต่ต่างคนต่างก็ไม่มีผู้ใดทำเพราะยังฝังใจที่พวกกุเรชขัดขวางไม่ให้เข้ามักกะฮฺ ท่านได้สั่งเช่นนั้นถึงสามครั้ง เมื่อเห็นว่าไม่มีใครทำตาม จึงเข้าไปหาอุมมุ สลามะฮฺ และเล่าให้นางฟัง ด้วยไหวพริบของอุมมุ สลามะฮฺ นางบอกแก่ท่านรอซูลว่า ท่านจงออกไปโดยไม่ต้องพูดกับผู้ใดทั้งสิ้น จนกว่าท่านได้เชือดสัตว์และโกนผมแล้ว ท่านจึงได้ออกไปอีกครั้งและทำตามที่นางเสนอ เมื่อเหล่าเศาะหาบะฮฺเห็นดังนั้นจึงรีบทำตามท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม กันอย่างถ้วนหน้า (อิบนุล ก็อยยิม. ซาดุล มะอาด )

4.                อุมมู ซุลัยมฺ
อุมมู ซุลัยมฺ เป็นภรรยาของอบู ฏ็อลหะฮฺ เป็นมารดาของท่านอะนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุม
อะนัส เคยเล่าถึงแม่ของท่านว่า ลูกคนหนึ่งของอุมมู ซุลัยมฺ ป่วยหนัก เมื่ออบู ฏ็อลหะฮฺ ออกไปยังมัสยิดเด็กน้อยก็เสียชีวิต นางจึงจัดแจงศพของเขาให้เรียบร้อยและสั่งว่าอย่าเพิ่งบอกแก่อบู ฏ็อลหะฮฺ เมื่ออบู ฏ็อลหะฮฺกลับมา นางก็จัดอาหารค่ำให้และทั้งสองร่วมหลับนอนจนกระทั่งเมื่อถึงช่วงท้ายของคืน นางก็พูดกับอบู ฏ็อลหะฮฺว่า ท่านเห็นอย่างไรกับครอบครัวหนึ่งที่ยืมของจากคนอื่นมา และเมื่อเจ้าของมาทางของคืนพวกเขากลับไม่ยอมให้มันแก่เขา และรู้สึกลำบากที่จะคืนให้  อบู ฏ็อลหะฮฺ ตอบว่า แสดงว่าพวกเขาไม่มีสำนึก นางจึงกล่าวต่อว่า แท้จริงลูกของท่านก็เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺให้ท่านยืมมา แล้วพระองค์ก็ได้มาเอาคืนไปแล้ว เมื่อนั้นอบู ฏ็อลหะฮฺ จึงได้กล่าว อินนาลิลลาฮฺ วะอินนา อิลัยฮิ รอญิอูน และสรรเสริญอัลลอฮฺ จนเมื่อถึงรุ่งเช้า อบู ฏ็อลหะฮฺ ได้ไปพบกับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ไม่ทันที่จะพูดอะไร ท่านรอซูล ก็กล่าวว่า ((ขออัลลอฮฺทรงประทานความประเสริฐให้กับคืนของพวกเจ้าทั้งสอง)) (อัล-บุคอรีย์และมุสลิม ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:310)

5.                อัสมาอ์ บินติ อบู บักรฺ
อัสมาอ์ บินติ อบู บักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เป็นผู้ที่คอยนำอาหารและน้ำให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม และบิดาของนาง เมื่อครั้งที่ทั้งสองอพยพจากมักกะฮฺและพักอยู่ในถ้ำหิรออฺ นางได้เล่าให้ฟังว่า ฉันได้เตรียมสำรับให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ในบ้านของพ่อเมื่อครั้งที่ท่านต้องการอพยพ แต่ฉันไม่มีเชือกที่จะใช้ผูกถุงสำรับอาหารและที่ใส่น้ำดื่ม ฉันกล่าวกับพ่อว่า ฉันไม่มีอะไรนอกจากผ้าคาดเอวของฉันเท่านั้น ท่านจึงสั่งให้ฉันฉีกผ้าออกเป็นสองสายและใช้ผูกถุงสำรับอาหารกับน้ำดื่ม ตั้งแต่นั้นมานางจึงได้ชื่อว่า ซาตุน นิฏอก็อยนฺ หมายถึง หญิงผู้มีผ้าคาดเอวสองสาย และอบู ญะฮัล ได้มาหานางที่บ้านเพื่อซักถามว่าพ่อของนางไปไหน นางเล่าว่า ฉันตอบว่า ฉันไม่รู้ ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ฉันไม่รู้ว่าเขาไปไหน เมื่อนั้นอบู ญะฮัลจึงยกมือขึ้นตบหน้าฉันจนกระทั่งต่างหูอันหนึ่งหลุดไป (อัซ-ซะฮะบีย์. 2:289-290)
อัสมาอ์ ได้แต่งงานกับ ซุเบร อิบนุ อัล-เอาวาม นางเล่าว่า ซุเบรได้แต่งงานกับฉัน เขาไม่มีสมบัติอะไรนอกจากม้าที่ฉันคอยดูแลและหาอาหารให้ ฉันจะคอยหาเมล็ดอินทผาลัมมาทุบให้มันกิน ฉันจะขนเมล็ดพวกนั้นจากสวนของซุเบรที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม แบ่งให้เขาซึ่งอยู่ไกลจากบ้านมาก วันหนึ่งขณะที่ฉันกำลังเดินทูนเมล็ดอินผาลัมบนหัว ท่านได้รอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้ขี่อูฐมาพร้อมกับเศาะหาบะฮฺหลายคน ท่านได้เข้ามาใกล้ฉันและสั่งให้อูฐนั่งลงเพื่อให้ฉันขึ้นไปขี่ข้างหลัง แต่ฉันอายและนึกถึงความหึงหวงของซุเบรจึงไม่ได้ขึ้นไปขี่ ท่านรอซูลจึงจากไป เมื่อถึงบ้านฉันได้เล่าเรื่องนี้ให้ซุเบรฟัง เขาได้กล่าวว่า แท้จริง ที่เธอทูนเมล็ดพวกนั้นบนหัวย่อมหนักใจแก่ฉันมากกว่าที่เธอขึ้นไปขี่หลังอูฐกับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม จนกระทั่งเมื่ออบู บักรฺ ได้ส่งคนใช้มาให้ฉัน ฉันจึงไม่ต้องคอยดูแลม้าอีก และรู้สึกเหมือนเป็นทาสที่ถูกปลดปล่อย (อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:291)
ในสมัยการปกครองของอับดุลมาลิก อิบนุ มัรฺวาน บุตรคนหนึ่งของนางคืออับดุลลอฮฺ อิบนุ ซุเบร ไม่ยอมขึ้นต่ออับดุลมาลิก โดยได้แยกตัวมาปกครองมักกะฮฺ อับดุลมาลิกจึงใช้แม่ทัพของตนยกทัพมาตีมักกะฮฺ ในฐานะที่เป็นแม่ อัสมาอ์ ผู้มีความเด็ดเดี่ยวได้ปลูกฝังจิตสำนึกในตัวลูกของนางด้วยการสั่งเสียว่า ลูกจงมีชีวิตอยู่ด้วยเกียรติ จงตายไปด้วยเกียรติ และจงอย่ายอมให้ใครมาจับเป็นเชลย เจ้าอย่าเชียวที่จะยอมรับข้อเสนอที่เจ้าไม่เห็นด้วย เพียงเพราะเจ้ากลัวตาย (อัซ-ซะฮะบีย์. 2:293)

บทเรียน
                เรื่องราวต่างๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างของเหล่าสตรีศอลิหะฮฺที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทในการเป็นเสาหลัก ทั้งในด้านการเป็นพลังทางใจที่สำคัญ เป็นผู้มอบความสุขในชีวิตให้แก่สามี เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ปรนนิบัติ ผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ยืนหยัดและเด็ดเดี่ยว คอยช่วยเหลือ เข้าใจและรับภาระในหน้าที่ของตนอย่างมั่นคง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น วัลลอฮฺ อะอฺลัม

เมาลานา ซัยยิด อบุล ฮะซัน อาลี อัน นัดวียฺ

เมาลานา ซัยยิด อบุล ฮะซัน  อาลี  อัน นัดวียฺ(ค.ศ.1914-1999)
ผู้เป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของคนทำงานอิสลามร่วมสมัย

ประวัติของท่านเมาลานา ซัยยิด อบุล ฮะซัน  อาลี  อัน นัดวียฺ
               
                เมาลานา ซัยยิด  อบุล ฮะซัน อลี อัน นัดวียฺ เกิดในปีค.ศ 1914  รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย สืบเชื้อสายโดยตรงจากครอบครัวท่านนบีมุฮัมมัดฯ ทางสายของท่านฮะซัน บิน อะลี(รฎิยัลลอฮุ อันฮุ)  ท่านเสียชีวิตเมื่อปี  ค..  1999 ด้วยวัย 86 ปี
         บิดาของท่านเป็นอุละมาอฺใหญ่ ชื่อว่าซัยยิด อับดุลหัยยฺ อัล ฮะซะนียฺ ซึ่งได้ประพันธ์หนังสือไว้หลายเล่ม ปู่ทวดของท่านคืออุลามาอฺนักญิฮาดที่โด่งดัง คือ ท่านซัยยิด อะหฺมัด ชะฮีด(มีชีวิตอยู่ในปี 1786-1831 ประวัติของท่านผู้นี้หาอ่านได้ในหนังสือขบวนการฟื้นฟูอิสลาม เขียนโดยมัรยัม ญะมีละฮฺ แปลโดย บรรจง บินกาซัน) 
        เมาลานา อบุล ฮะซัน ได้รับการเลี้ยงดูจากพี่ชายของท่านคือ ดร.อับดุล อะลียฺ อัล ฮะซะนียฺ อดีต หัวหน้านัดวะตุล อุลามาอฺ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลกับบุคลิกภาพของท่าน และให้การศึกษาท่านทั้งวิชาการศาสนาจากรั้วของนัดวะตุล อุละมาอ์ อันเป็นสถาบันทางวิชาการอิสลามที่มีเชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลกมุสลิม และเดินทางศึกษากับปราชญ์อิสลามสาขาต่างๆอีกหลายท่าน ท่านยังศึกษาแนวคิดสมัยใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย จนจบปริญญาโทด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยลัคเนา
       ท่านมีความรู้แตกฉานในภาษาอาหรับ อูรดู เปอร์เซีย และอังกฤษ  พร้อมกับความรู้ความเข้าใจในศาสตร์อิสลามด้านต่างๆอย่างลึกซึ้ง
       เมาลานา อบุล ฮะซัน เคยมีครอบครัว แต่ภริยาของท่านเสียชีวิตไปหลายสิบปีแล้ว โดยไม่มีบุตรด้วยกัน  ชีวิตครอบครัวท่านจึงไม่มีใครกล่าวถึงมากนัก  
               

บุคลิกภาพ
               
                ด้วยวัยยี่สิบเศษ เมาลานา อบุล ฮะซัน ก็กลายเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักวรรณกรรม และนักคิดที่แหลมคม เป็นผู้ที่ทุ่มเทในงานดะอฺวะฮฺและการสร้างแรงบันดาลใจให้ลุกโชติช่วงขึ้นในอุมมะฮฺอิสลามในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ประกอบกันบุคลิกภาพที่สมถะ การมีชีวิตที่เรียบง่าย มีมารยาทที่งดงาม เป็นที่ดึงดูดใจแก่ผู้พบเห็น ความโดดเด่นด้วยจิตใจที่สูงส่ง เสมือนบุคลิคลักษณะของอุลามาอฺในยุคสลัฟ
           เชค ดร.มุสฏอฟา ซิบาอียฺ อุลามาอฺคนสำคัญและเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการอิควาน มุสลิมูน สาขาซีเรีย นักต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ ได้กล่าวถึงเชค อบุล หะสัน อัน-นัดวียฺไว้ว่า ในโลกอิสลามได้เกิดขบวนการที่เข็มแข็ง เพื่อนำอิสลามในฐานะชะรีอะฮฺที่เป็นระบอบแห่งชีวิตกลับมาอีกครั้ง และเพื่อสถาปนาบรรทัดฐานแห่งความยุติธรรมระหว่างมนุษย์  เพื่อให้มวลมุสลิมปลดปล่อยดินแดนต่างๆออกจากการยึดครอง เพื่อปลดปล่อยสติปัญญาออกจากความเขลาและเรื่องราวเหลวไหลไร้สาระ เพื่อปลดปล่อยสังคมให้พ้นจากการกดขี่ การขาดแคลน และความยุ่งเหยิง…..หนึ่งในบุคคลชั้นนำแห่งขบวนการอันสูงส่งนี้ คือ อุสตาซ อบุล หะสัน อัน-นัดวียฺท่านคืออะลีมนักฟื้นฟู นักดะอฺวะฮฺผู้จริงใจ...ท่านผู้นี้มีลักษณะส่วนตัวที่ดีเด่นในเรื่องของจิตวิญญานที่เจิดจรัส บุคลิคของท่านเป็นเช่นบุคลิคภาพแห่งศาสดาฯอันมีเกียรติ การดำเนินชีวิตของท่านทำให้เรานึกถึงกัลยาณชนยุคแรก(สะละฟุศศอลิหฺ) ไม่ว่าในเรื่องของความสมถะ เรียบง่าย การอิบาดะฮฺ และความเอื้อเฟื้อของท่าน”  
               

แนวความคิด 
               
                ทัศนะทางศาสนาของเมาลานา อบุล ฮะซัน วางอยู่บนการ อิสลาหฺหรือการสมานปรองดองระหว่างแนวคิดต่างๆ โดยวางอยู่บนพื้นฐานของหลักการอิสลาม เมาลานา อบุล ฮะซัน ได้ยกย่องอุลามาอฺนักฟื้นฟูในอดีตอย่าง อิบนุ ตัยมียะฮฺ ผู้ฟื้นฟูแนวทางของชาวสลัฟ  เช่นเดียวกับที่ท่านยกย่องเชค อับดุลเกาะดีร อัล-ญิลานียฺ  อุลามาอฺที่มีชื่อเสียงทางด้านตัซกียะฮฺ(การขัดเกลาจิตใจ)
                 กระนั้น ในทัศนะของท่านนั้น การประสานปรองดองดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง หากมีแนวคิดบิดเบือนที่เป็นอันตรายต่ออิสลาม ท่านจะเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญอย่างไม่รีรอ โดยไม่เกรงกลัวผู้ใดทั้งสิ้น  ดังตัวอย่างที่ท่านได้เปิดโปงลัทธิ กอดียานียะฮฺในหนังสือ อัล-กอดียานียฺ วัล-กอดียานียะฮฺ : ดิรอสะฮฺ วะ ตะหฺลีล”(พวกกอดยานียฺ และลัทธิก็อดยานียฺ : การศึกษาและวิเคราะห์) 


ผู้สรรค์สร้างวรรณกรรม

           เมาลานา อบุล ฮะซัน อัน นัดวียฺ ได้เขียนหนังสือมากมาย ทั้งภาษาอาหรับและอูรดู และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆนับสิบภาษา

           อุสตาซ อันวารฺ อัล-ญุนดียฺ นักเขียนที่มีชื่อเสียงในโลกอาหรับได้กล่าวถึงได้กล่าวถึง อุสลูบหรือสไตล์การเขียนของเชคอบุล หะสัน ไว้ว่า วิธีการเขียนของเชคอบุล ฮะซัน มีความงดงามยิ่งนัก ท่านมีพลังอย่างสูงในการอธิบายเรื่องต่างๆ และมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่ออิสลาม

           ดร.มุสฏอฟา อัซ ซิบาอียฺ ได้กล่าวถึงการเขียนหนังสือของเชคอบุล หะสัน ไว้ว่า หนังสือและงานเขียนของท่านมีลักษณะพิเศษในเรื่องความละเอียดอ่อนทางวิชาการ มีความล้ำลึก ในการสร้างความเข้าใจต่อหลักการอิสลาม และมีการวิเคราะห์อย่างแม่นยำต่อปัญหาต่างๆในโลกมุสลิม รวมไปถึงหาวิธีการเพื่อแก้ไขให้ด้วย

            หนังสือวิเคราะห์ประวัติศาสตร์โลกและอิทธิพลของอิสลามที่ปรากฏในฐานะการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปลดปล่อย ชื่อว่า มาซา เคาะซิร็อล อะละมุ บิ อินหิฏอฏิล มุสลิมีน(โลกสูญเสียอะไรจากความตกต่ำของมุสลิม) หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือที่ขายดี มีการตีพิมพ์นับสิบครั้ง ซัยยิด กุฏบฺ ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า นี้เป็นหนังสือที่ดีเล่มหนึ่งจากหนังสือในแนวนี้ที่ข้าพเจ้าได้อ่านนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ มีลักษณะพิเศษที่ยอดเยี่ยมคือการเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อรายละเอียดทั้งหมดของสปิริตแห่งอิสลามในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ หนังสือนี้ไม่เพียงมีความยอดเยี่ยมในรูปแบบการวิจัยทางศาสนาและสังคมเท่านั้น แต่รวมไปถึงรูปแบบทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนจากมุมมองของอิสลาม” 

         หนังสือของท่าน ชื่อว่า อัล-อัรกานุล อัรบะอะฮฺ(หลักการทั้งสี่) คือ นมาซ ถือศีลอด จ่ายซะกาต และฮัจญ์ ท่านได้กล่าวถึงความลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ในหลักการพื้นฐานของอิสลามทั้ง 4 ข้อของอิสลามนี้  ซึ่งนักเขียนสตรีมุสลิม อดีตชาวยิวอเมริกัน มัรญัม ญะมีละฮฺ ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า อัล-อัรกานุล อัรบะอะฮฺ(ฉบับภาษาอังกฤษ) เป็นหนังสือที่ดีมาก และเป็นหนังสือที่สมบูรณ์แบบ จนบัดนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่า เป็นหนังสือเล่มนี้ดีที่สุดในหนังสือทั้งหมดที่ตีพิมพ์ออกมาในหัวข้อนี้

        หนังสืออื่นๆของท่านมีอีกจำนวนมาก ที่ปรากฏเป็นเล่มใหญ่มีมากกว่า 50 เล่ม เช่น อัส-สีเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ(ชีวิตของท่านนบีฯ) อัฏ-ฏอรีก อิลัล มะดีนะฮฺ(ถนนสู่มะดีนะฮฺ) อีลัล อิสลาม มิน ญะดีด(กลับสู่อิสลามอีกครั้ง) อีซา ฮับบัต รีหุล อีมาน(เมื่อสายลมแห่งศรัทธาได้พัดผ่าน) อัล-อะกีดะฮฺ วัล-อิบาดะฮฺ วัส-สุลูก(หลักยึดมั่น การเคารพภักดี และการประพฤติปฏิบัติ) เป็นต้น นอกจากนี้มีจุลสารเล่มเล็กๆของท่านนับร้อยชิ้น ที่ท่านได้เขียนขึ้นในงานวิชาการ และการประชุมต่างๆ 

       หนังสือของท่านที่ถูกแปลมาเป็นภาษาไทยไม่กี่เล่ม เช่นหนังสือชื่อ อัศ-ศิรออฺ บัยนัล ฟิกเราะติล อิสลามียะฮฺ วะ ฟิกเราะติล ฆ็อรบียะฮฺ(การปะทะกันระหว่างแนวความคิดอิสลามและแนวความคิดตะวันตก) แปลเป็นภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาอังกฤษในชื่อ อารยธรรมตะวันตก อิสลามและมุสลิมโดย ดร.กิติมา อมรทัต ร่วมกับ ดร.อิมรอน มะลูลีม, และหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ มุสลิมจำลอง แปลโดย ดร.อนัส อมาตยกุล, วิกฤติศรัทธาและจริยธรรม แปลโดย อุสตาซ อับดุศ เศาะมัด อัน นัดวียฺ 


กับขบวนการอิสลาม

        ไม่เพียงเป็นเลิศในเชิงวรรณกรรม การเขียน และวิชาการอิสลามต่างๆ เท่านั้น ท่านได้เป็นผู้นำคนสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามระดับนำของโลก ท่านอยู่ในฐานะหัวหน้าของขบวนการปัญญาชน นัดวะตุล อุลามาอฺซึ่งมีศูนย์กลางการให้วิชาความรู้อยู่ที่เมืองลัคเนาว์ เมืองหลวงของรัฐอุตรประเทศ อินเดีย เรียกว่า ดารุล อุลูม”(บ้านแห่งวิทยาการ) ซึ่งเป็นศูนย์กลางศึกษาอิสลามที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลกมุสลิม เป็นแหล่งผลิตนักวิชาการที่หวังจะ สมานฉันท์ให้กับประชาคมมุสลิม  สถานภาพที่ท่านดำรงอยู่ เป็นสถานะภาพของ ผู้นำทางจิตวิญญานแก่คนมุสลิมในอินเดียและที่อื่นๆในโลกนับล้านคนที่ดำเนินตามท่าน

       เมาลานา อบุล ฮะซัน มีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับเมาลานา อิลยาสผู้ก่อตั้งญะมาอะฮฺ ตับลีฆ ผู้ซึ่งอาวุโสกว่าท่านกว่า 20 ปี ท่านได้เขียนประวัติของเมาลานาอิลยาสด้วยการความยกย่อง

      ขณะเดียวกันท่านก็ได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากอัช-ชะฮีด ฮะซัน อัล-บันนา ผู้ก่อตั้งญะมาอะฮฺ อิควาน มุสลิมูน ท่านได้ยกย่องอิหม่ามฮะซัน อัล-บันนาว่าเป็น ผู้นำที่ยิ่งใหญ่เป็น มุร็อบบียฺ(ผู้ทำหน้าที่อบรม-ตัรบียะฮฺผู้อื่น)ที่สูงส่ง

       เมาลานา อบุล ฮะซัน ได้ยกย่องซัยยิด เมาดูดีอย่างสูงในฐานะที่ท่านเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างกล้าหาญ ท่านกล่าวไว้ว่า  แม้ว่ามีความแตกต่างกันใน ทัศนะ ความเข้าใจ ในข้อเท็จจริงบางอย่างทางศาสนา รวมไปถึงวิธีการและการนำเสนอ….แต่ก็จำเป็นต้องยอมรับว่า ญะมาอัต อิสลามีและผู้ก่อตั้งท่านเมาลานา อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดี มีบทบาทที่ทรงคุณค่าในการการวิพากษ์แนวคิดตะวันตกและความไม่แท้จริงของมัน ในแง่มุมของวิชาการและศาสนา” 

        บุคคลในโลกอาหรับที่เมาลานา อบุล ฮะซัน เคารพและนับถือมาก คือ ซัยยิด กุฎบ ซึ่งอาวุโสกว่าท่าน 11 ปี แต่ก็คบหากันในฐานะทั้งมิตรและครู หนังสือหลายเล่มที่เมาลานา อบุล ฮะซัน เขียน ได้รับการเขียนคำนำโดยซัยยิด กุฏบฺ ความเหมือนของทั้งสองท่านนี้คือ ความสามารถพิเศษในวรรณกรรมอาหรับและความลึกซึ้งในคำสอนอิสลาม  เมาลานา อบุล ฮะซันได้พบกับซัยยิด กุฏบฺ ปี 1950 ณ หิญาซ คาบสมุทรอาหรับ  ที่นั่นท่านได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และพักอยู่ร่วมกันเป็นเวลาสั้นๆ ซึ่งสร้างความประทับให้กับชีวิตของท่านเป็นอย่างมาก

      เมาลานา อบุล ฮะซัน ถือว่าซัยยิด กุฏบฺ ไปไกลเกินกว่านักวรรณกรรม นักคิด นักเขียน หลังจากนั้นในปี 1966 สัยยิด กุฏบฺ ถูกประหารชีวิต เนื่องจากงานเขียนของเขาเอง ท่ามกลางความเศร้าเสียใจของเชคอบุล หะสัน ท่าน(สัยยิด กุฏบฺ)ได้จ่ายราคาของแนวความคิดของท่าน ด้วยเลือดของท่าน ลมหายใจของท่าน และวิญญานอันบริสุทธิ์ของท่าน ที่จริงแล้วท่านได้ขายชีวิตของท่านและทำให้สัญญาระหว่างท่านและอัลลอฮฺสมบูรณ์แล้ว

      เมาลานา อบุล ฮะซัน ถูกบันทึกไว้ในฐานะเป็นอุลามาอฺระดับนานาชาติ ท่านมีความผูกพันกับโลกมุสลิมอย่างแน่นเฟ้น ท่านเป็นผู้ให้ทั้งกำลังใจ และคำตักเตือนแก่กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆทั่วทุกมุมโลก เชคอบุล หะสัน มีส่วนร่วมที่สำคัญเช่นเดียวกับท่านเมาดูดี ในการร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมะดีนะฮฺ  และร่วมอยู่ในองค์การเราะบิเฏาะฮฺ ด้วยเช่นกัน  

      ดร. ยูซุฟ อัล กอรฎวียฺ ได้กล่าวถึง เมาลานา อบุล ฮะซัน ไว้ว่า   ไม่แปลกใจเลยที่เราเห็นว่า ชัยคฺของเรา ท่านซัยยิด อบุล ฮะซัน เป็นตัวอย่างที่มีลักษณะพิเศษ ในแบบของอุลามาอฺที่ยอมจำนนต่ออัลลอฮฺโดยสิ้นเชิง เป็นนักดะอฺวะฮฺที่ฟื้นฟูอิสลามขึ้นมาใหม่  เป็นตัวอย่างระหว่างความประณีตละเอียดอ่อนของร็อบบานียีน(ผู้ที่มีชีวิตอยู่เพื่ออิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺและมีความรู้ที่สมบูรณ์แบบ)และการยึดมั่นในเอกภาพของอัลลอฮฺของสลาฟียีน(ผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางสลัฟ-ชนรุ่นแรก) เป็นตัวอย่างการรักษาพันธะของซุนนียีน(ผู้ดำเนินตามสุนนะฮฺของท่านนบีฯ)และการมีการศึกษาตามแบบของมุอาศิรีน(คนในยุคร่วมสมัย) ท่านเป็นแหล่งน้ำแห่งอัล-กุรอานและอัซ ซุนนะฮฺอันบริสุทธิ์ อย่างมีความรู้และความเข้าใจ ที่เต็มไปด้วยรสชาติและการปฏิบัติ จนใช้ดื่มกินและดับกระหายได้ ท่านเป็นตัวอย่างของความเชี่ยวชาญในวรรณกรรมอาหรับ วรรณกรรมเปอร์เซีย และวรรณกรรมอูรดู  ในตัวของท่านเต็มไปด้วยคลังแห่งมรดกอิสลามที่มั่งคั่ง ท่านเป็นบุคคลตัวอย่างที่ยึดมั่นในสิ่งที่ชัดเจนและละทิ้งในสิ่งคลุมเคลือ แบบอย่างที่ดีงามนี้เห็นได้ชัดเจนจากสโลแกนของขบวนการนัดวะตุล อุลามาอฺ ที่ว่า เชื่อมระหว่างสิ่งสืบทอดจากอดีตที่ดีงามเข้ากับสิ่งใหม่ที่ให้คุณ ประสานระหว่างศรัทธาที่หนักแน่นเข้ากันความรู้ที่กว้างขวาง
อ้างจาก 
http://www.muslim2world.com






















วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องฟิกฮของอิหม่ามฮาซัน อัลบันนา

วันหนึ่งในเดือนรอมฎอน กับอีหม่ามฮะซัน อัลบันนา
วันหนึ่งในช่วงรอมฎอน ท่านอิหม่ามหะสัน อัล-บันนาได้รับเชิญให้ไปบรรยายในหมู่บ้านเล็กๆในประเทศอียิปต์ฺ ประชาชนที่นั้นได้แตกแยกออกเป็น สองกลุ่ม เนื่องด้วยความเชื่อที่ไม่เหมือนกันเกี่ยวกับจำนวนรอกาอัตในละหมาดตะรอเวียะห์  กลุ่มหนึ่งได้พยายามอธิบายถึงการปฏิบัติของท่าน อุมัร อิบนุคอตตอบ(ร.ฎ)ว่าพวกเขาควรจะปฏิบัติ 20 รอกาอัต   กลุ่มที่เหลือพวกเขาได้เชื่อมั่นว่าพวกเขาต้องปฏิบัติ 8 รอกาอัต พวกเขารู้ว่าท่านนบี(ซ.ล)ไม่เคยปฏิบัติเกินว่าจำนวนนี้เลยไม่ว่าเวลาใด   ดังนั้นกลุ่มหนึ่งจึงได้กล่าวหาว่าอีกกลุ่มเป็นพวกบิดอะฮฺ(อุตริกรรมทางศาสนา) พวกเขาทะเลาะกันถึงขั้นอันตราย เกือบจะนำไปสู่ความขัดแย้งของผู้คนโดยทั่วไป เมื่ออีหม่ามอันบันนาได้มาถึง พวกเขาก็เห็นพ้องกันที่จะนำเรื่องนี้ให้ท่านพิจารณา วิธีการที่ท่านใช้จัดการต่อเหตุการณ์นั้น ได้เป็นการสอนแก่พวกเราทุกคนด้วย  เริ่มแรกท่านได้ตั้งคำถามว่า อะไรคือสถานะของละหมาดตะรอเวียะห์ ? คำตอบคือ เป็นสุนัต ซึ่ง ผู้ใดปฏิบัติก็จะได้รับผลตอบแทน ผู้ใดไม่ปฏิบัติก็จะไม่ถูกลงโทษ  ท่านถามต่อไปว่า อะไรคือสถานะของความเป็นพี่น้องในระหว่างมุสลิม ? พวกเขาตอบว่า มันเป็นฟัรฎู(ข้อกำหนด)เป็นหนึ่งในรากฐานของความศรัทธา   จากนั้นท่านจึงสรุปว่า มันสมเหตุสมผลแล้วหรือที่พวกท่านละทิ้งฟัรฎูเพื่อสุนัต ท่านได้บอกพวกเขาต่อไปว่า ถ้าหากเป็นการรักษาความเป็นพี่น้อง และแต่ละคนก็ไปปฏิบัติที่บ้าน ตามความเชื่อมั่นของตัวเอง มันจะเป็นการดีกว่าที่ท่านได้ออกห่างจากการโต้เถียงและขัดแย้งกัน  เมื่อฉันได้เล่าเรื่องนี้ให้บางคนฟัง พวกเขากลับกล่าวว่า การกระทำของอันบันนา เป็นการหนีความจริง หมายถึงการไม่ยอมชี้ถึงข้อแตกต่างระหว่างสุนนะฮฺ(แบบอย่างท่านนบีฯ)และบิดอะฮฺ(อุตริกรรม)  โดยพวกเขายืนยันว่า สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของมุสลิม  ฉันได้ตอบว่านี้เป็นเรื่องของความคิดเห็นที่ต่างกัน(ที่มีต่อตัวบท ไม่ใช่เรื่องซุนนะฮ์และบิดอะฮฺ) ดังนั้น ถึงแม้ฉันเองได้ปฏิบัติละหมาด 8 รอกาอัต ฉันก็จะไม่กล่าวหาว่ากลุ่มที่ปฏิบัติ 20รอกาอัตเป็นกลุ่มบิดอะฮฺ    แต่พวกเขาได้ยืนยันว่า การตัดสินใจเลือกในกรณีเช่นนี้ ถือเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  ฉันได้ยืนยันกับพวกเขาว่า ถูกต้อง หากว่ามันเป็นการเลือกระหว่างสิ่งที่ต้องห้าม(ฮะรอม)กับสิ่งที่อนุมัติ(ฮะลาล) แต่กรณีนี้ยังมีข้อแตกต่างทางความคิดเห็นระหว่างนักนิติศาสตร์ของสำนักต่างๆอยู่ ถึงที่สุดก็ย่อมทำให้พวกเราแต่ละคนมีความเห็นเป็นของตัวเอง
            ฉะนั้น จะดันทุรังหรือคลั่งไคล้ไปทำไมกัน !!!
 ..................................

http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=218&Itemid=31 โดย อบูริจญาล

เชคยูซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ คุฏบะห์ครั้งแรกในรอบ30 ปี

http://www.youtube.com/watch?v=Haxwcqa2btA คลิกเลย
ต่อด้วยดุอา http://www.youtube.com/watch?v=w5CWK1dwl88&feature=player_embedded คลิกเลย
ต่อด้วย http://www.youtube.com/watch?v=c-TAXBK6xqE&feature=player_embedded คลิกเลย

มาดูประวัติของท่านบ้าง

ชัยคฺ ดร. ยูซุฟ  อัล เกาะเราะฎอวียฺอิหม่ามหะสัน อัลบันนาแห่งยุคสมัย
Sample Image
 อัล อัค เรียบเรียง

                        ชัยคฺ ยูซุฟ อับดุลลอฮฺ อัล ก็อรฎอวียฺ  เกิดวันที่ 9 กันยายน ค.ศ 1926 จังหวัด ฆอรบียะฮฺ อิยิปต์ เป็นสมาชิกของครอบครัวชาวนายากจนที่เคร่งครัดศาสนา  ท่านกลายเป็นเด็กกำพร้าเมื่ออายุสองขวบ เมื่อพ่อของท่านได้จากไป ท่านจึงได้รับการเลี้ยงดูโดยอาของท่าน ผู้ซึ่งเป็นคนที่ใจดีและได้ใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของท่าน 
                       อาของท่านได้ให้ท่านท่องจำอัล-กุรอานในโรงเรียนสอนอัล-กุรอานประจำหมู่บ้าน ท่านได้จำอัล-กุรอานทั้งเล่มเมื่ออายุได้ 9 ขวบ อาของท่านจึงได้ฉลองโอกาสนี้และจากวันนั้นเป็นต้นมา ญาติพี่น้องของท่านได้เรียกท่านด้วยชื่อนำหน้าว่า ชัยคฺ (อ่านสำเนียงไทยว่า เชค ซึ่งคำนำหน้าที่ใช้เรียกอาเหล่มในโลกอาหรับ) เมื่อท่านสำเร็จการศึกษาระดับประถม อาของท่านคิดจะสอนงานฝีมือให้แก่ท่านเพื่อให้ท่านมีที่มาของแหล่งรายได้ แต่ท่านไม่ได้คิดอย่างนั้น ท่านมีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาต่อในวิชาการอิสลาม ท่านจึงโน้มน้าวให้อาของท่านเห็นด้วยกับความต้องการของท่าน และอีกครั้งหนึ่งที่อาผู้ใจดีได้ปูทางให้แก่การศึกษาของท่าน
                       ท่านเข้าร่วมการศึกษาสถาบันทางศาสนาที่ฏอนฏอ นี้คือก้าวแรกสู่อัล-อัซฮัร เก้าปีต่อปีมาท่านสำเร็จการศึกษาและได้เดินทางไปศึกษาต่อที่อัล-อัซฮัร ที่ที่เขาได้ลงทะเบียนในคณะอุซูลุดดีน ในปี 1953 เขาสำเร็จจากคณะนี้ด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งของชั้นเรียน
                     ระหว่างปี 1953-1960 ท่านยังคงต่อเนื่องด้วยความสำเร็จปริญญาทางศึกษาจากอัซฮัร ในปี 1957 ท่านได้ที่หนึ่งจากนักเรียน 500 คน ในความชำนาญพิเศษทางการสอนของคณะภาษาอาหรับ  พร้อมๆกับการสำเร็จการศึกษาปริญญาด้านภาษาอาหรับ ท่านได้ลงทะเบียนในโครงการปริญญาของภาควิชาอัล-กุรอานและสุนนะฮฺของคณะอุซูลุดดีน ท่านเป็นนักศึกษาเพียงคนเดียวในเพื่อนร่วมชั้นที่ผ่านการสอบเบื้องต้นและสำเร็จการศึกษาในปี 1960                      ปี 1960 ท่านเริ่มเตรียมตัวเพื่อทำปริญญาเอก แต่ก็ต้องหยุดชะงัก โดยระบอบการปกครองประธานาธิบดีนาซิร(นัซเซอร์) ที่กวาดล้างสมาชิกของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม(ซึ่งท่านเข้าร่วมตั้งแต่วัยเด็ก)  นำไปสู่การล่าช้าในการสอบปริญญาเอกอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ จนถึงปี 1973 ท่านก็ผ่านการสอบระดับปริญญาเอกอย่างยอดเยี่ยม หัวข้อของวิทยานิพนธ์คือ ซะกาต และผลของมันในการแก้ไขปัญหาสังคม
  Sample Imageชัยคฺ อัล ก็อรฎอวียฺ ได้ร่วมกับขบวนการอิสลามภราดรภาพมุสลิม” ตั้งแต่วันที่เขาศึกษาระดับประถมอยู่ที่ฏอนฏอ  ท่านกล่าวว่าอีหม่าม อัช ชะฮีด ฮะซัน อัล บันนา(ผู้ก่อตั้งขบวนการภราดรภาพมุสลิม) คือครูที่สำคัญยิ่งของท่าน แม้ว่าท่านมีโอกาสพบกับอิหม่ามเพียงไม่กี่ครั้งก็ตาม แต่อิทธิพลจากบุคลิกภาพของอิหม่ามที่มีต่อท่านก็มีอย่างมหาศาล  ส่วนชัยคฺอื่นๆที่มีอิทธิผลต่อบุคลิคภาพต่อท่านได้แก่ ชัยคฺ มุฮัมมัด อัล-ฆอซาลี, ชัยคฺ อัล-บะฮี อัล-โคลี, ชัยคฺ มุฮัมมัด อับดุลลอฮฺ ดะร็อส, ชัยคฺ มุฮัมมัด ชัลตูฎ,ชัยคฺอับดุล ฮะลีม มะหฺมูด             นอกจากนี้ท่านยังให้ความเคารพต่องานเขียนของอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺอิหม่ามอิบนุ กอยยิมและชัยคฺ มุฮัมมัด เราะชีด ริฎอ เป็นอย่างยิ่งชัยคฺ อัล ก็อรฎอวียฺ เริ่มสอนอย่างเป็นทางการที่มัสญิดแห่งไคโรในปี 1956 แต่แล้วในปี 1959 การสอนก็ถูกแบน และถูกส่งตัวกลับไปยังแผนกวัฒนธรรมอิสามในอัล-อัซฮัร                 และเนื่องจากท่านสังกัดอยู่กับขบวนการภราดรภาพมุสลิม อันนำไปสู่การจองจำในคุกของอิยิปต์ในปี 1949 และระหว่างปี 1954-1956 และช่วงสั้นๆในปี 1962 ซึ่งครั้งหลังเกิดจากการเขียนหนังสือชื่อว่า "ทรราชย์และอุละมาอ์"                 ในปี 1962 อัล-อัซฮัรได้ส่งตัวท่านไปยังกาตาร์ เพื่อเป็นประธานสถาบันศึกษาศาสนาระดับมัธยมของกาตาร์  ปี 1977 ท่านได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อคณะชะรีอะฮฺอิสลามในมหาวิทยาลัยกาตาร์ และท่านเองก็รับเป็นคณะบดี  ในปีเดียวกันก็ได้ก่อตั้งศูนย์กลางเพื่อการค้นคว้าด้านสีเราะฮฺและสุนนะฮฺ ท่านเป็นคนแรก ๆ ที่ได้เรียกร้องให้มีการก่อตั้งสมาคมนานาชาติเพื่อการสงเคราะห์แห่งอิสลาม  เพื่อช่วยเหลือมุสลิมในโลก ที่ต้องเผชิญหน้ากับความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บ
          แม้ว่าชัยคฺ อัล ก็อรฎอวียฺ จะเป็นสมาชิกของขบวนภราดรภาพมุสลิมที่มีบทบาทสูงมายาวนาน  แต่ท่านปฏิเสธตำแหน่งผู้นำสูงสุด(มุรชีด อาม)ที่ท่านเคยได้รับการเสนอชื่อถึงสามครั้งสามด้วยกัน ท่านใช้ชีวิตอย่างสมถะและเป็นที่ยอมรับกันในฐานะผู้อาวุโสอันเป็นที่ไว้วางใจของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออิสลามทั่วโลก มิเพียงขบวนการภราดรภาพมุสลิมเท่านั้น แต่ท่านยังได้รับการเชื่อถือจากกลุ่มทำงานอิสลามจำนวนมากให้เป็นผู้นำทางความคิด เมื่อใดทีฟัตวาของท่านได้ถูกประกาศไป ก็จะมีคนนับล้านตั้งแต่สหรัฐอเมริกาจนถึงฟิลิปปินส์ปฏิบัติตาม
 นอกจากนี้ชัยคฺ อัล ก็อรฎอวียฺ ยังเป็นกวีที่มีความสามารถพิเศษคนหนึ่ง มีการนำบทกวีของท่านมารวมกันไว้ในหนังสือชื่อว่า นะฟะหัต วะ ละฟะหัต” และท่านได้เรียบเรียงหนังสือมากกว่า 40 เล่ม หนึ่งในลักษณะพิเศษของงานเขียนของท่านก็คือ การใช้วิธีเขียนเชิงวิชาการและมีความคิดที่ไม่ลำเอียง  บางทีงานเขียนชื่อ "ฟิกฮุซ ซะกาต" ของท่าน คืองานเขียนที่ลึกซึ้งที่สุดในด้านซะกาตก็ว่าได้ ดังที่อิหม่าม อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดี ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น หนังสือแห่งศตวรรษในด้านฟิกฮฺ
 ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ชัยคฺ อัล ก็อรฎอวียฺ ได้ตีพิมพ์งานเขียนเกี่ยวกับแนวคิดชี้นำแก่คนหนุ่มสาวมุสลิมจำนวนมาก แน่นอนว่าความสมดุลและการยึดสายกลางในทัศนะของท่านทำให้ท่านกลายเป็นนักคิดที่ได้รับการนับถือที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในหมู่คนหนุ่มสาวมุสลิมทั่วทุกมุมโลก
 .....................................................................
หมายเหตุ

สำหรับผู้ที่รู้ภาษาอาหรับ สามารถเข้าชมเว็บไซต์ส่วนบุคคลของ
 ชัยคฺ ดร.ยูซุฟ อัล ก็อรฎอวียฺได้ที่http://www.qaradawi.net
และเว็บไซต์สองภาษา(อังกฤษและอาหรับ) http://www.islam-online.net ที่มีชื่อเสียงในการสะท้อนทรรศนะจากโลกมุสลิม ภายใต้การดูแลของท่าน



**********************************
 http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=169&Itemid=32