วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นักฟื้นฟูอิสลาม อิหม่าม หะซัน อัล บันนา

                                 นักฟื้นฟูอิสลาม อิหม่าม หะซัน อัล บันนา
ครูของเหล่านักฟื้นฟูอิสลาม 
อิหม่ามหะซัน อัล บันนา มีชื่อเต็มว่า หะซัน บิน อะฮหมัด บิน อับดุลเราะห์มาน บิน มุหัมมัด อัล-บันนา อัสสาอาตี( حسن أحمد عبد الرحمن محمد البنا الساعاتي )
เกิดเมื่อ วันที่ ๑๔ เดือน ตุลาคม ปี ค.ศ 1906 ในเมืองมุฮัมมะดียียะฮ์ อำเภอบุฮัยเราะห์ ประเทศอิยิปต์ เติบโตขึ้นมาด้วยบรรยากาศทางศาสนาที่อบอุ่น จดจำอัล กุรอานได้ทั้งเล่ม ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากบิดาที่เป็นเชคคนหนึ่ง เมื่อโตขึ้นในวัย 16 ปีได้ท่านมาศึกษาต่อระดับวิทยาลัยที่ดารุล อาลูม ที่นี้เองที่ท่านได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของขบวนการสลาฟียฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของมุฮัมมัด รอชีด ริฎอ เมื่อท่านจบการศึกษาในวัย 21 ปี ท่านได้ไปเป็นครูสอนนักเรียนระดับประถมที่เมืองอิสมาอีลียะฮฺ ที่นี้เองที่ท่านได้เริ่มก่อตั้งขบวนการภราดรภาพมุสลิม(อัล อิควาน อัล มุสลิมูน)ในปี 1928 เพื่อเสนออิสลามในฐานะระบอบชีวิตที่ครอบคลุมทุกด้าน และอิสลามในฐานะอุดมการณ์แห่งความหวัง
ในอีกทศวรรษต่อมา ขบวนการนี้ได้มีสมาชิกเข้าร่วมถึงครึ่งล้านคน จึงมีบทบาทสำคัญในสังคมอิยิปต์เป็นอย่างสูง จนนำไปสู่การเผชิญหน้ากับผู้ปกครองแนวเซ็คคิวลาร์ และลงเอยด้วยการลอบสังหารท่านในปี 1949  แต่ความตายไม่อาจหยุดขบวนการเคลื่อนไหวของท่านได้ ในไม่ช้าขบวนการภราดรภาพมุสลิมก็เติบโตไปสู่ประเทศมุสลิมต่างๆ จนกลายเป็นขบวนการที่ใหญ่โตและทรงอิทธิพลที่สุดในโลกมุสลิมทุกวันนี้
แน่นอนสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนทั้งหลายอย่างมากก็คือ อิทธิพลที่ท่านได้ทิ้งไว้หลังจากที่ท่านได้ถูกลอบสังหาร มันเป็นอิทธิพลที่มากมายกว่าที่จะคิดไปถึง อิทธิพลที่ว่าไม่ใช่งานเขียน เพราะท่านไม่อาจถูกนับได้ว่าเป็นนักเขียนอย่างเต็มปากเต็มคำนัก ท่านไม่ได้มีงานเขียนชิ้นใหญ่ๆ เช่น ตัฟซีร หรือฟัตวาที่ที่ถูกรวมเป็นหนังสือชุดใหญ่ๆ ท่านมีเพียงจุลสารเล็กๆ มีเพียงบันทึกคำปราศรัยเท่านั้น
ความสำเร็จของท่านอยู่ที่การสร้างคน จนตัวท่านถูกเปรียบเป็นโรงเรียนที่ได้ผลิตนักเรียนออกมามากมาย  อิหม่ามหะซัน อัล บันนา ได้เสียชีวิตจากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 43 ปีเท่านั้น หนุ่มเกินกว่าที่จะให้อิทธิพลใดๆต่อโลกสมัยใหม่ได้ แต่ความจริงมันตรงข้ามกับความสั้นของชีวิตของท่าน
ขบวนการที่ท่านก่อตั้งถูกเปรียบเป็นบิดาแห่งขบวนการอิสลามอื่นๆ ตัวของท่านถูกเปรียบเป็นครู ผู้อบรมสั่งสอนบรรดานักฟื้นฟูอิสลามตลอดศตวรรษที่ผ่านมาอย่างมากมาย

ชีวประวัติหะซัน  อัล-บันนา 
ชีวประวัติที่น่าสนใจของนักปฏิรูปสังคมผู้ยิ่งใหญ่  เขาเป็นนักต่อสู้ในยุคปัจจุบันคนเดียวที่สังคมมุสลิมจะไม่มีวันลืมได้เลย  แม้ว่าเขาจะจากไปก็เพียงเรือนร่าง  ส่วนคุณความดียังคงอยู่ตลอดไป  ประการหนึ่งเลือดข้นที่เขาพลีเพื่อ  อัล-อิสลาม  จะยังคงแดงฉานอยู่  ไม่รู้เหือดแห้งตราบชั่วจิรกาลสาน  ฉะนั้นเขาคือชัยคฺ หะซัน  อัล-บันนา
ในปี  ค.ศ.  1906    เมืองมะหฺมูดิยะฮฺ  ในประเทศอียิปต์  ได้มีเด็กชายคนหนึ่งถือกำเนิดมาเพื่อเป็นผู้ต่อสู้เพื่อหลักการอิสลามที่เข้มแข็งที่สุดเท่าทีโลกรับได้เคยพบเห็น  เด็กชายผู้นี้คือ  ชัยคฺ  หะซัน  อัล-บันนา
หะซัน  อัล-บันนา  ได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวมุสลิมที่เคร่งครัดศาสนาเขามักจะพูดเสมอว่า  อิสลามคือชีวิตจิตใจของฉัน  บิดาของอัล-บันนา(อะฮหมัด บิน อับดุลเราะห์มาน) มีความสำคัญต่อชีวิตด้านการศึกษาและศาสนาของเขาอยู่ไม่น้อย  ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการทำนาฬิกาทำให้ตัวเขาและครอบครัวเจริญรุ่งเรือง  เขาทำงานในเวลากลางคืน  ส่วนตอนกลางวันทำหน้าที่เป็นอิมานในมัสยิดเทศนาสั่งสอนคนในถิ่นนั้น  เขาใช้เวลาว่างอยู่ในห้องสมุด  เขามีความสนใจในอิสลามเป็นพิเศษ  มุวัฏเฏาะฮฺของท่านอิมานมาลิก  และมุสนัด  ของท่านอิมานชาฟีอี  คือสิ่งที่เขาโปรดปรานมาก  นอกจากนั้นเขาได้เขียนอธิบาย  มุสนัด  ของท่านอิมานอะหมัด  อิบนิ-ฮัมบาล  บิดาของเขาทำหน้าที่เป็นครูคอยคอบคุมให้เขาท่องจำคัมภีร์อัล-กรุอานทั้งเล่ม  เมื่อเขาอายุมากขึ้น  บิดาก็อนุญาตให้อ่านหนังสือในห้องสมุดได้ตามต้องการ  ดังนั้น  หะซัน  อัล-บันนาจึงได้รับการศึกษาอย่างแท้จริง  เกี่ยวกับอิสลามจากพ่อ  เขามีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาอาหรับซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองและไม่เคยเล่าเรียนภาษอื่นๆ เลย
หะซัน  อัล-บันนา  มีความกระตืนรืนร้นในด้านศาสนา  และมีอัจฉริยะในการเป็นผู้นำมาตั้งแต่เด็ก  เมื่ออายุยังน้อยอยู่เขาร่วมมือกับน้องชาย  จัดตั้งญะมาอะฮ์ขึ้นโดยมีจุดประสงค์  ให้คนประกอบกรรมดีและละเว้นความชั่ว  เด็กน้อยผู้นี้เขียนคำประกาศชักชวนให้คนเลิกสวมแหวนทองและใช้เสื้อผ้าที่ทำด้วยไหม  เขาอุตส่าห์เขียนข้อความด้วยมือและนำไปปิดประกาศตามประตูมัสยิด  และแจกจ่ายไปยังคนสำคัญๆ ของเมืองนั้น  เมื่ออายุเพียง  12  ปี  เขาก็เป็นผู้นำในการนมาซร่วมกันในมัสยิด  และเป็นผู้อะซานบนหอคอย  ป่าวประกาศให้ผู้คนมานมาซ  ในตอนเช้าตรู่เด็กชายผู้นี้จะเที่ยวเคาะประตูบ้านปลุกให้ตื่นไปนมาซศุบหฺ  แล้วยังถือเป็นหน้าที่ของตัวเองที่จะต้องไปปลุก  มุอัซซิน  (ผู้มีหน้าที่ป่าวประกาศให้คนมานมาซ)  อีกด้วย  เขาถือศีลอดในเดือนรญับ  และซะบาน  เพิ่มจากเดือนรอมฎอน  ความศรัทธาอย่างดื่มด่ำในคัมภีร์อัล-กรุอาน  จะเห็นได้จากการที่เขาศึกษาคัมภีร์นี้ตลอดเวลาทั้งตอนอยู่บ้าน  อยู่โรงเรียน  หรือแม้แต่เดินตามถนน

รูปครอบครัวของ หะซัน อัล-บันนา
<!--[if !vml]--><!--[endif]-->


หะซัน อัล-บันนา ผู้ต่อสู้เพื่ออิสลาม
            เมื่อเขาอายุได้  16  ปี  พ่อก็ตัดสินใจส่งไปเรียน  ดารุลอุลูม  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูในไคโร  เมื่อไปถึงไคโรเขาตกใจที่เห็นความเสื่อมโทรมด้านศีลธรรมและความเฉยเมยต่อศาสนาของคนเมืองหลวง  ขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่นั่น  ด๊อกเตอร์  ฏอฮา  หุเซ็น  ได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ  “ON  PRE  ISLAM  POETRY”  ในหนังสือเล่มนี้  เขาพยายามสร้างข้อสงสัยเกี่ยวกับความแท้จริงของอัล-กรุอานและอัลหะดิษ  ในเวลาเดียวกันนี้เอง  ชัยคฺ  อะลียฺ  อับดุรรซีด  ก็พิมพ์หนังสือเรื่อง  “ISLAM  AND  THE  PRINCIPLES  OF  GOVERNMENT”  เพื่อสนับสนุนให้มุสลิมเลิกเชื่อความจริงในศาสนา  นอกจากนี้ยังมีนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ลงโฆษณาชวนเชื่อ  เช่นลงข้อความ  อียิปต์เป็นส่วนหนึ่งของยุโรป  ในขณะเดียวกันพวกชาตินิยมก็กระตุ้นให้ประชาชนหวนกลับไปคิดถึงสมัยฟาโรเพื่อยึดเป็นแบบอย่าง  และวัฒนธรรม  ผลก็คือประชาชนต้องการที่จะตามนโยบายเลียนแบบชาวตะวันตกที่เคมาลอาตาเตอร์บังคับใช้ในตรุกี
          หะซัน  อัล-บันนา  รู้สึกเศร้าใจที่เห็นบุคคลผู้เป็นที่เคารพนับถือและมีอิทธิพลในอียิปต์กลายเป็นพวกหัวสมัยใหม่  และนำประชาชนให้หลงผิด  เขาจึงหันเข้ารวมกลุ่มกับ  มุฮัมมัด  รชีด-ริฎอ  และสานุศิษย์ตอนนี้เองที่เขาเริ่มคิดตั้งขบวนการยุติการแพร่หลายของพวกนอกศาสนา  เขาต้องการที่จะแนะนำให้เพื่อนร่วมชาติศรัทธาในอิสลามเป็นปัจจัยสำคัญทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและส่วนรวม  ในงานเขียนครั้งสุดท้ายที่มหาวิทยาลัย  (วิทยานิพนธ์)  นักศึกษาทุกคนต้องเขียนบรรยายถึงความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว  และวิถีทางที่จะทำให้ความหวังนั้นเป็นจริง  หะซัน  อัล-บันนา  เขียนไว้ดังนี้
          ข้าพเจ้าจะเป็นทั้งผู้แนะนำและครูถ้าข้าพเจ้าสอนเด็กๆ ข้าพเจ้าก็จะไม่ละทิ้งการสอนศาสนาแก่พ่อของเขาซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของความสุข  และการดำเนินชีวิตที่ดีของเด็ก  ข้าพเจ้าจะสอนพ่อของเขาด้วยการเขียน  การแสดงปาฐกถา  การสนทนาโต้ตอบและการเดินทางสั่งสอนธรรมะ  ข้าพเจ้าจะเตรียมตัวที่จะเป็นครูด้วยการมองคนในแง่ดี  ส่วนการสั่งสอนพ่อของเด็กนั้นข้าพเจ้าจะใช้ความอุตส่าหพยายามและความเสียสละทั้งสองอย่างนี้เป็นปัจจัยสำคัญของผู้ปฏิรูปสังคมและเป็นเคล็ดลับไปสู่ความสำเร็จ  นี่คือคำสัญญาต่อพระเจ้า  ซึ่งข้าพเจ้าขอบันทึกลงไว้    ที่นี้และขอให้คุณครูเป็นพยานสัญญานี้จะไม่มีสิ่งอื่นใดมามีอิทธิพลเหนือได้  นอกจากความรู้สึกผิดชอบ  ผู้ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ย่อมได้รับพรจากพระเจ้า
          หะซัน  อัล-บันนา  ได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยดารุลอุลูม  ในปี  ค.ศ.  1927  เมื่อเขาอายุได้  21  ปี  เขาเป็นนักศึกษาที่ฉลาดหลักแหลม  และมีความสามารถเป็นหนึ่งของชั้นเรียน

          เมื่อหะซัน  อัล-บันนา  ไปเป็นครูในโรงเรียนเตรียมของรัฐบาล  อิสไมเลียเขาได้จัดตั้งญะมาอะฮ์  อิคฺวานุลมุสลิมูนขึ้นญะมาอะฮ์นี้  ในครั้งแรกมีกรรมการ  6  คน  และมีนักศึกษาที่สนใจศาสนาเป็นผู้ค้ำจุนเขามักจะไปที่ร้านกาแฟใหญ่ๆ บ่อยครั้งและเทศนาคำสอนที่น่าฟังเกี่ยวกับนรกสวรรค์  แม้เสียงของเขาก็เพียงพอแล้วที่จะปลูกผู้ฟังที่ง่วงที่สุด  ในตอนค่ำเขาจะไปนมาซที่สุพีซะวียะฮฺ  ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักแล้วจึงกลับไปเทศนาสั่งสอนต่อที่ร้านกาแฟจนกระทั่งดึก  ระหว่างปิดภาคเรียนในหน้าร้อนเขาเดินทางจากมุมหนึ่งไปยังอีกมุมหนึ่งของอียิปต์ทั้งโดยเท้าและโดยรถไฟชั้นสามที่แออัดไปด้วยผู้คน  เขาจะไม่ผ่านเมืองหมู่ใดโดยไม่แวะเข้าไปพักและเทศนาสั่งสอนประชาชนตามบ้านหรือมัสยิดเลยเป็นอันขาด
          หะซัน  อัล-บันนา  เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับงานนี้  นอกจากสติปัญญาอันเฉียบแหลมแล้ว  เขายังมีร่างกายที่แข็งแรง  มีลักษณะของชายชาตรี  มีสุขภาพสมบูรณ์ตอลดชีวิตของเขา  มีกำลังและมีความสามารถพอที่จะไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยต่องานหนัก  ไม่มีอะไรที่จะเข้าถึงจิตใจชาวอาหรับได้ดีเท่ากับคำพูดที่ประทับใจ  และ  หะซัน  อัล-บันนา  ก็มีพรสวรรค์ทางด้านการพูดอยู่มากที่เดียวเมื่อใดที่เขาพูด  ชนชั้นกรรมกรที่ไม่รู้หนังสือตลอดจนหัวหน้าเผ่าผู้มีการศึกษาสูงจะรวมกลุ่มกันเข้าฟัง  คนเหล่านี้ถูกดึงดูดด้วยศิลปในการพูดและบุคลิกลักษณะที่จูงใจของ  หะซัน  อัล-บันนา
          ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งลมหายใจครั้งสุดท้าย  ชัยคฺ  หะซัน  อัล-บันนา  ได้อุทิศความสามารถ  กำลังกาย  เวลา  ทรัพย์สมบัติ  และท้ายที่สุดได้อุทิศชีวิตเพื่ออัลลอฮฺและอิสลาม  เขาได้สละทุกสิ่งที่เขามีเขาจำเป็น  ชาฮีด  ตามความหมายที่แท้จริงที่สุด

งานเขียนของ หะซัน อัล-บันนา
مذكرات الدعوة والداعية (วารสารสำหรับการเผยแพร่และนักเผยแพร่)
المرأة المسلمة.
تحديد النسل.
مباحث في علوم الحديث.
السلام في الإسلام.
قضيتنا.
الرسائل.(หนังสือหรือคู่มือ)
رسالة المنهج   
              رسالة الانتخابات     
مقاصد القرآن الكريم


อ้างอิงจากเอกสารประกอบการสอนรายวิชานักคิดและกลุ่มฟื้นฟูอิสลาม 

เรียบเรียงโดย อาจารย์อับดุลลาตีฟ การี อาจารย์ประจำคณะอิสลามศึกษา
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา 

3 ความคิดเห็น:

  1. บังเอิญว่าอยางรู้จัก หะซัน อัล บันนา ว่าเขาเป็นใคร ก็เลยหลงเข้ามาที่นี่ ดูไปดูมา...อ้าวเป็นของเพื่อนนักศึกษามหาลัยเรานี่...ดีใจนะที่มีข้อมูลดีดีสร้างสรรค์ๆอย่างนี้ให้อ่าน...ก็ขอให้ทำต่อไปล่ะ

    ตอบลบ
  2. แบเขียนได้ดีมากเลยครับ...เเต่หากแบได้เกลาเรื่องภาษาอีกนิดจะเพิ่มความน่าสนใจมากยิ่งขึ่น ผู้อ่านจะได้ไหลลื่นไปกับเนื้อหาที่แบเขียน อินชาอัลลอฮฺ(เป็นกำลังใจให้ครับ)

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณคับที่แนะนำ อินชาอัลลอฮจะนำไปปรับปรุงคับ

      ลบ