วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ดีวานอัล-บารีด (กรมไปรษณีย์ )ในประวัติศาสตร์อิสลาม


ดีวานอัล-บารีด (กรมไปรษณีย์ )ในประวัติศาสตร์อิสลาม

โดย  :นาย วันอิดรีส  ปะดุกา
นักศึกษาปริญญาโท
 สาขาวิชาประวัติศาสตร์และอารยธรรมอิสลาม
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

บทนำ

        الحمد لله رب العالمين، والصلاة والسلام على أشرف الأنبياء والمرسلين، وعلى آلة وأصحابه أجمعين : أما بعد...

          ประวัติศาสตร์อิสลามมิได้เป็นแค่เพียงเรื่องเล่าที่ขับขานกันเพื่อให้ความรู้และความบันเทิงเพียงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนให้ผู้คนในยุคหนึ่งได้มองเห็นถึงภาพชีวิตของคนในอีกยุคหนึ่ง ซึ่งเรื่องราวของเขาเหล่านั้นล้วนมีความหมายและมีบทบาทสำคัญต่อการมีอยู่ของผู้คนในยุคต่อมาเป็นอย่างมา
       จากการศึกษาประวัติศาสตร์อิสลาม ทำให้เรารู้และตระหนักถึง บทบาทและความสามารถของมุสลิมในอดีตว่าเขาเหล่านั้น เคยได้ริเริ่มและสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองและอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ไว้อย่างมากมายจนอาจเรียกว่าอิสลามและมุสลิมในยุคนั้นคือครูของโลกทั้งมว
           ในบรรดาระบบ ระเบียบ กฏเกณฑ์ และความเจริญรุ่งเรืองที่มุสลิมได้สรรค์สร้างเอาไว้นั้น ระบบไปรษณีย์ ก็เป็นอีกผลงานหนึ่งที่นับเป็นตัวอย่างที่ดีของ องค์กรหรือ หน่วยงานราชการ ในรัฐอิสลาม นอกเหนือจาก ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ  ระบบทหาร   และระบบสาธารณสุข ที่มีความโดดเด่นในอิสลามตลอดระยะเวลากว่า1,000 ปี ที่สาร์นแห่งอิสลามถูกประกาศไปสู่มนุายชาต
           บทความสั้นๆบทนี้เป็นการรวบรวมเกร็ดความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางด้านของประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของระบบไปรษณีย์ หรือ นิซอม อัล บะรีด ในอิสลามมานำเสนอ ซึ่งหวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากบทความชิ้นนี้บ้างไม่มากก็น้อย
                                                                                                                                                                                                     
ความหมายตามหลักภาษา

البريد  ในทางภาษาศาสตร์ หมายถึง  ระยะทาง 2 ฟัรซัค (หรือประมาณ                12  ไมล์)    ดังมีตัวอย่างที่กล่าวว่า ในระหว่างบ้านสองหลังนั้นจะมีหนึ่ง بريد  [1]              ส่วนคำว่า  بريدا    หมายถึง  การส่งสาร[2] ส่วนที่มาของคำว่า  بريد  นั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงและขัดแย้งกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ  บางทัศนะบอกว่าเป็นคำที่มาจากภาษาอาหรับ แต่อีกทัศนะหนึ่งบอกว่าเป็นคำที่มาจาก ภาษาเปอร์เซีย (فارس معرب ) ที่ชาวอาหรับนำมาใช้ทับศัพท์     คำว่า بريد นี้  (مشتق)  แตกมาจากคำว่า  بَرَد  หรือ  أبرد ซึ่งมีความหมายว่า أرسل  หมายถึง  การส่งสิ่งต่างๆ
                และยังมีบางทัศนะที่บอกว่า  برد  แปลว่า  ثبت (มั่งคง) เช่น ประโยคที่ว่า  "اليوم يوم بارد سمومه"  วันนี้เป็นวันที่มีอากาศที่  ثابتة
                ส่วนทัศนะที่กล่าวว่ามาจาก  فارس معرب  นั้นกล่าวว่า  แท้จริงแล้วรากศัพท์ ของคำๆนี้มาจากภาษาเปอร์เซียคือคำว่า بريد دم   มีความหมายว่า  الذنب  (บาป)[3]

ความหมายตามหลักนิรุกติศาสตร์

                ความหมายตามหลักนิรุกติศาสตร์ อัลบะรีด หมายถึง การส่งสารโดยการใช้ม้าเร็วไปยังสถานที่ต่าง เมื่อผู้ส่งสารที่ต้องใช้ความเร็วอย่างสูงได้ส่งสารไปยังอีกที่หนึ่ง ม้าเร็วจะต้องหยุดพัก และก็จะเปลี่ยนให้ม้าเร็วคนอื่นส่งสารต่อไปเป็นทอดๆ จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ[4]

                ส่วนความหมายที่เป็นที่ต้องการในทางประวัติศาสตร์อิสลามนั้น ไม่ใช่ดังความหมายที่ใช้ในปัจจุบัน   แต่อัลบะรีดนั้นเปรียบเสมือนหัวหน้าของ     البوليس السري                (ตำรวจลับ) หรือผู้ควบคุมแผนกงานนี้ หรืออาจหมายถึงผู้ตรวจสอบจดหมาย ข่าวสาร หรือคอยเป็นหูเป็นตาให้แก่เคาะลีฟะฮฺ   และยังสามารถที่จะเคลื่อนย้ายข่าวสารจากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งได้

             ดังนั้น  البريد  จึงเปรียบเสมือนมือขวาของเคาะลีฟะฮฺ ซึ่งจำเป็นต้องคัดเลือกเฉพาะผู้ที่เชื่อถือและไว้ใจได้เท่านั้นมาปฏิบัติหน้าที่อันนี้  จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้ได้ว่า หน่วยงานนี้เริ่มมีรากฐานมาตั้งแต่ในสมัยของท่านศาสดา (ศ็อลฯ)   ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านจัดส่งผู้แทนไปยังผู้นำต่างๆ เช่น จักรพรรดิแห่งโรม เปอร์เซีย อียิปต์ และ เอธิโอเปีย เพื่อนำสาส์น เชิญชวนพวกเขาเหล่านั้นมาสู่อิสลาม

       ต่อมาในสมัยการปกครองของท่าน อุมัร อิบนิ อัลค็อตต็อบ เคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม              ท่านที่2 แห่งอิสลาม เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองเกิดขึ้น หน่วยงานราชการต่างๆก็ได้รับการจัดหมวดหมู่และยกฐานะขึ้นเป็นดีวาน

            ซึ่ง ดีวาน ( Diwan ) นี้เป็นคำในภาษาเปอร์เซีย[5] หมายถึง การจดบันทึก หรือสถานที่จัดเก็บเอกสารสำคัญต่างๆ ในการบริหารราชการแผ่นดิน  และการดูแลด้านการคลังของอาณาจักรอิสลามเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เปรียบเสมือน กรม หรือ กระทรวง ต่างๆในยุคปัจจุบัน

            ดีวาน อัลบะรีด หรือ กรมไปรษณีย์  ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ในสมัยของท่าน อุมัร (..) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อดูแลและรับผิดชอบงานในด้านนี้โดยเฉพาะ                                 หลังจากนั้น ดีวาน อัลบะรีด ก็ได้มีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าจนกลายมาเป็น ดีวานที่มีความสำคัญระดับต้นๆทางการเมืองการปกครองในยุคต่อๆมา

                สรุปแล้ว  อัลบะรีด  เป็นคำที่มาจากภาษาอาหรับ  มีความหมายว่า  การสื่อสารกันทางไปรษณีย์  และ การให้บริการด้านข่าวสารหรือสื่อต่างๆ  จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง ตลอดจนมีหน้าที่คอยส่งข่าวสารทางราชการจากศูนย์กลางการปกครองไปยังแคว้นต่างๆ  อาทิเช่น การนำข่าวสารจากเคาะลีฟะฮฺส่งไปยังวะลีย์ (ข้าหลวง)              ของแคว้นใดแคว้นหนึ่ง หรือนำข่าวของวะลีย์ไปส่งให้เคาะลีฟะฮฺ   ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้  เรียกว่า  ซอฮิบ  อัลบะรีด ( Sahib al-Barid )  ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนสายสืบของ              เคาะลีฟะฮฺ  เพื่อคอยควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารการปกครองของวะลีย์  ตามแคว้นต่างๆและรับผิดชอบงานไปรษณีย์ทั่วไปอีกด้วย

ระบบไปรษณีย์ในสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮฺและอับบาซียะฮฺ

                สองยุคนี้ระบบไปรษณีย์ได้เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองการปกครองเป็นอย่างมากกับโดยเฉพาะกับฝ่ายที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ และบุคคลแรกที่ได้จัดตั้งหรือวางรูปแบบการไปรษณีย์ในอิสลาม คือ มุอาวียะฮฺ อิบนิ อบีซุฟยาน ผู้ซึ่งเคยเป็นข้าหลวงปกครองแคว้นชาม  อดีตเมืองขึ้นของโรมัน[6] ที่ท่านได้มีคำสั่งให้มีการปรับปรุงหน่วยงานที่เรียกว่า ดีวานอัลบะรีด เพื่อมารับผิดชอบดูแลงาน จัดส่งเอกสาร จดหมาย ประกาศ ฟัตวา และหนังสือ สำคัญของทางราชการต่างๆ ทั้งภายในอาณาจักรอิสลามและภายนอกอาณาจักร

           นอกจากนั้น ดีวาน อัลบะรีด ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบ ควบคุมความประพฤติ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และข้าราชการที่ถูกส่งไปทำงานตามหน่วยงาน   ในดินแดนต่างๆ ทั่วทั้งอาณาจักรอิสลาม หากมีความมิชอบมาพากลใดๆ ก็จะมีการรายงานไปยังนครหลวงเพื่อให้ท่าน เคาะลีฟะฮฺทรงทราบและพิจารณาแก้ไขต่อไป

          หลังจากนั้นไปรษณีย์อิสลามก็ได้ถูกปรับปรุงขนานใหญ่อีกครั้งโดย  อับดุลมะลิก อิบนิ มัรวาน จนกลายมาเป็นองค์กรสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากต่องานราชการและการประกอบธุรกิจต่างๆมาจนถึงปัจจุบัน

                ในกรุงแบกแดด นครหลวงของอาณาจักรอับบาซียะฮฺ กรมไปรษณีย์นั้นเป็นหน่วยงานที่สำคัญมาก เพราะมันมีบทบาทอย่างสูงต่อการกระจายข่าวสารและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ของในชาติ  เนื่องจากสามารถติดต่อสื่อสารกันไปมาได้อย่างสะดวก             โดยจะมีการใช้นกพิราบเป็นสื่อในการรับ-ส่งจดหมายระหว่างกัน  ตลอดจนเป็นผลดีในการทำธุรกิจค้าขายและการเดินทาง

            แต่ข้อจำกัดของการไปรษณีย์ในยุคนี้ก็คือจดหมายส่วนใหญ่จะเป็นจดหมายที่ใช้ในทางราชการมากกว่า    การใช้ส่งจดหมายของประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันการส่งข่าวที่เป็นความลับของบ้านเมืองไปบอกกับศัตรูของอิสลาม     หากจะเปรียบเทียบบทบาทของการไปรษณีย์ในยุคนั้นกับปัจจุบันก็อาจจะกล่าวได้ว่า      ดีวานอัลบะรีดก็คือกรมไปรษณีย์ รวมกับกระทรวงการต่างประเทศ[7] และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติก็อาจเป็นได้

                บรรดาผู้ปกครองในสมัยอับบาซียะฮฺ ต่างให้ความสำคัญกับระบบไปรษณีย์เป็นอย่างยิ่งโดยได้ยึดเอา ดีวาน อัลบะรีด หรือกรมไปรษณีย์ เป็นหน่วยงานที่สำคัญในการบริหารประเทศ ดังตัวอย่างเช่น สมัยของเคาะลีฟะฮฺ อบูญะอฺฟัร อัลมันซูร ที่ท่านได้ใช้ดีวาน อัลบะรีดเป็นผู้ช่วยในการบริหารงานของประเทศ และเป็นสายลับคอยสืบความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม

             และในสมัยของของเคาะลีฟะฮฺ อบูญะอฺฟัร อัลมันซูร นี้เช่นกัน ได้มีการจัดเวรผลัดเปลี่ยนกันในการทำงานของหน่วยงานราชการต่างๆ  ดีวาน อัลบะรีด เองก็ได้แบ่งออกเป็น  2  ช่วงเวลาทำการเช่นกัน คือ

ช่วงที่หนึ่งเริ่มตั้งแต่หลังละหมาดซุบฮิ   จนกระทั่งถึงก่อนละหมาดมัฆริบ
                ช่วงที่สองเริ่มตั้งแต่หลังละหมาดมัฆริบ จนกระทั่งถึงก่อนละหมาดซุบฮิ [8]
                สำหรับตารางการผลัดเปลี่ยนช่วงเวลาทำงานของแต่ละบุคคลนั้นจะถือเป็นความลับระหว่างเคาะลีฟะฮฺ กับบุคลากรของ ดีวาน อัลบะรีด เท่านั้นที่จะสามารถรู้ได้ว่าใครอยู่ช่วงเวลาใดในแต่ละวัน[9]

          บทสรุป
                ระบบการไปรษณีย์เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการเขียนและการสื่อความหมาย ก็เริ่มที่จะมีความต้องการการติดต่อสื่อสารกัน จนมีการพฒนารูปแบบในการสื่อสารทางไปรษณีย์เรื่อยมา
                จนกระทั่งระบอบการปกครองและรัฐอิสลามได้ถูกสถาปนาขึ้นในปีฮิจเราะฮฺที่หนึ่งเป็นต้นมา อิสลามก็ได้มีการริเริ่มและจัดระบบหน่วยงานราชการต่างๆ การไปรษณีย์ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการจัดระบบในครั้งนี้ และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


บรรณานุกรม

 ...................ย้อนรอยประวัติศาสตร์ 2548โลก กรุงเทพ :นานมีบุคส์.

เชากี อบูคอลีล  1987 อัลหะฎอเราะฮฺ อัล อารบียะฮฺ อัล อิสลามียะฮฺ  ตรีโลี : มันชูรอต  กุลลียะฮฺ อัล ดิรอซาต อัลอิสลามียะฮฺ.

 ประจักษ์ ช่วยไล่ 2521โลกอิสลาม  กรุงเทพ : เซาธ์ซีพับลิเกชั่น.

หะซัน อิบรอฮีม หะซัน  2001 ตารีค อัล อิสลาม ไคโร : ดาร อัล ญีล.

อบี อัลหะซัน อาลี อัลมาวัรดีย์ (มปป) อัลอะฮฺกาม อัล ซุลตอนียะฮฺ ฟี อัล วิลายาต อัล ดีนียะฮฺ   เบรูต : ดาร อัล กุตุบ อัล อาละมียะฮฺ.

 อบุล หะซัน อาลี อัลนัดวี  2526 อารยธรรมตะวันตก อิสลาม และมุสลิม แปลโดย กิติมา  อมรทัตอิมรอน มะลูลีม กรุงเทพ :สำนักพิมพ์ .วงศ์เสงี่ยม.

 อบุลวัสมีย์ อาลี เสือสมิง 2544 ร้อยเรื่องสารพันสรรหามาเล่า กรุงเทพ : ศูนย์หนังสืออิสลาม.

อัรรอบีเฏาะฮฺ อาณาจักรอิสลามสมัยอามาวียะฮฺ  กรุงเทพ : ดาร อัล รอบิเฏาะฮฺ.

 อิบนุ มันซูร   1994 ลิซาน อัล อะหรับ  เบรุต :  ดารุลซาดีร.




[1] เชากี อบูคอลีล อัล หะฎอเราะฮฺ อัล อารบียะฮฺ อัล อิสลามียะฮฺ  กุลลียะฮฺ อัล ดะอฺวะฮฺ อัล อิสลามียะฮฺ   ตรีโปลี หน้า 205.
[2] อิบนุ มันซูร  ลิซาน อัล อะหรับ  ดาร อัล ซาดีร  เบรุต  1994  เล่ม  3  หน้า  86.
[3] หะซัน อิบรอฮีม หะซัน  ตารีค อัล อิสลาม ดาร อัล กุตุบ อัล อาละมียะฮฺ  ไคโร  2001 หน้า  183.

[5] อบุ้ลวัสมี่ย์ อาลี เสือสมิง ร้อยเรื่องสารพันสรรหามาเล่า ศุนย์หนังสืออิสลาม กรุงเทพ  2001 หน้า 27.
[6] หะซัน อิบรอฮีม  หะซัน  อ้างแล้ว  หน้า  331.
[7] หะซัน อิบรอฮีม  หะซัน  อ้างแล้ว หน้า  134.
[8] เล่มเดียวกัน หน้า 184-185.
[9] เล่มเดียวกัน หน้า 184-185.

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมอยากจะถามผู้รู้เรื่องหลักคำห้ามของอิสลามการบริจาคผมของผู้หญิงอิสลามทำได้ป่าวบริจาคเส้นผมเพื่อให้คนต่างศาสนาไว้ทำวิกปลอมซึ่งเขาป่วยด้วยโรคมะเร็งรักษาผมร่วงหัวล้านครับ

    ตอบลบ