วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553

การบริหารด้านการคลังในยุคอับบาสียะฮฺ


การบริหารด้านการคลังในยุคอับบาสียะฮฺ

           เป็นหน้าที่ที่สำคัญในการบริหารการปกครองตามรูปแบบอิสลามต้องดูแลบริหารการเงินและการคลัง โดยมีดีวานหรือกระทรวงเฉพาะ ซึ่งเป็นที่รู้จักตามรูปแบบอิสลามว่า “ดีวานบัยตุลมาล”
[1] (Baitu al-mal) ซึ่งมีหน้าที่จัดวางแผนงบประมาณค่าใช้จ่ายของราชอาณาจักร และกำหนดการเก็บภาษีต่างๆ อย่างถูกต้อง สำหรับรายได้ของราชอาณาจักรอับบาสียะฮฺ โดยเฉพาะยุคของเคาะลีฟะฮฺฮารูน อัรรอชีด อาจจะแบ่งได้ดังนี้
5.1 อัลฆอนีมะห์ ( al-Ghanimah )
5.2 อัลคอรอจญ์ ( al-Kharraj )
5.3 อัลศอดากอตฺ ( al-Sadagat )
5.1 อัลฆอนีมะห์คือ ทรัพย์สินที่ได้รับจากสงครามกับศัตรูอิสลาม หลังจากได้รับชัยชนะ ทรัพย์สินถูกกำหนดในอัลกุรอานว่า
“ และพึงรู้เถิดว่า แท้จริงสิ่งใดที่พวกเจ้าได้มาจากการทำศึกนั้น แน่นอนหนึ่งในห้าเป็นของอัลลอฮ และเป็นของรอซูล และเป็นของญาติที่ใกล้ชิด และบรรดาเด็กกำพร้า และบรรดาผู้ขัดสน และผู้เดินทาง...” (อัลอันฟาล, 8 : 41)

5.2 อัลคอรอจญ์ คือ ภาษีที่ดิน
รายได้อัลคอรอจญ์ เป็นรายได้ของราชอาณาจักรเช่นกัน ซึ่งรวมอยู่ 3 อย่าง คือ
5.2.1.ภาษีที่ดินซึ่งผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ไม่ใช่อิสลาม แต่อยู่ภายใต้อำนาจราชอาณาจักรอิสลาม
5.2.2.ภาษีญิซยะฮ ( Jizyah ) คือ ภาษีรายหัวที่เก็บจากผู้ที่ไม่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรอิสลาม ภาษีดังกล่าวเปรียบเสมือนการจ่ายซะกาตของมุสลิม
5.3.3.ภาษีจากผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศอิสลาม ( Muhammad al-Khudri bek, 2001 : 119-121)
5.3 อัลศอดะกอต คือ เงินบริจาคจากมุสลิมที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้แก่ราชอาณาจักร หรือเงินซะกาตต่างๆ เช่น
5.3.1 ซะกาตสัตว์ คือ อูฐ วัว แพะ
5.3..2 ซะกาตเงินตรา ทองคำ ตามเปอร์เซ็นต์ที่กำหนดในหลักฟิกฮฺ
5.3.3 ภาษีรายได้สิบชักหนึ่ง ภาษีหนึ่งในห้าของผลผลิตจากเหมืองแร่และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ภาษีที่เรียกจากผู้มิใช่มุสลิม (แทนการต้องเป็นทหาร) ภาษีศุลกากร ภาษีเกลือและการประมง ภาษีที่เจ้าของร้านค้าต้องเสียในการใช้สถานที่สาธารณะ ภาษีโรงงาน และอื่นๆ
การกำหนดรายจ่ายของราชวงศ์อับบาสียะฮฺโดยเฉพาะยุคเคาะลีฟะฮฺ ฮารูน อัรรอชีด ซึ่งเน้นถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชาติ ซึ่งได้จัดการใช้จ่ายจากคลังทรัพย์สินบัยตุลมาลดังนี้
1.รายจ่ายเงินเดือนสำหรับผู้บริหารราชอาณาจักร เช่น เงินเดือนวะซีร วะลีย์ กอฎี และพนักงานเจ้าหน้าที่ ดีวานต่างๆ รวมทั้งเงินเดือนทหาร
2.จัดงบประมาณเพื่อเตรียมในด้านทหาร ไม่ว่าจะเป็นชุดทหาร อาวุธต่างๆ อาหารและอื่นๆ
3.จัดงบประมาณ เพื่อซ่อมแซมถนนหนทาง พัฒนาสายน้ำ ขุดบ่อน้ำ สร้างคูระบายน้ำ และท่อส่งน้ำไปตามบ้านเรือนของประชาชนและสร้างสะพานตามความจำเป็น
4.จัดงบประมาณ เพื่อมอบให้กับแคว้นมักกะห์ มะดีนะห์ และมัสยิดต่างๆ เพื่อปรับปรุงพัฒนาสถานที่ดังกล่าวให้ดีขึ้น
5.จัดงบประมาณในการก่อสร้างอาคารต่างๆ เช่น ค่ายทหาร อาคารส่งเสริมการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่อิสลาม และอารยธรรมอิสลาม
6.จัดเตรียมกองทุนช่วยเหลือให้แก่ประชาชาติทุกระดับชั้น

7.จัดงบประมาณ เพื่อเป็นอาหารและอื่นๆ ให้กับผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ[1] บัยตุลมาล คือ กองคลังที่เก็บทรัพย์สินต่างๆที่เป็นรายได้ของรัฐ / ระบบบัยตุลมาลได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่นครมาดีนะฮฺโดยเคาะลีฟะฮฺ อูมัร อิบนู อัลค๊อฏฏอบ (ดลมนรรจน์ บากา, 2536 : 47)


อ้างจากเอกสารประกอบการสอนรายวิชาหลักการบริหารในอิสลาม 3 สาขารัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เรียบเรียงโดย อาจารย์อับดุลเลาะห์ อูมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น