วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

ราชวงศ์อุมัยยะห์แห่งอันดาลูเซีย สเปน


ราชวงศ์อุมัยยะห์แห่งอันดาลูเซีย
บทความพิเศษ - อันดาลูเซีย สะพานเชื่อมอารยธรรม

หลังจากคอลีฟะห์แห่งดามัสกัสถูกโค่นล้มในปี ค.ศ. 750 และสถาปนาคอลีฟะห์วงศ์อับบาซิยะห์ขึ้นแทนที่แบกแดด อับดุรรอฮมาน บิน มุอาวิยะห์ (عبد الرحمن الداخل) หลานของอดีตคอลีฟะห์ฮิชาม ซึ่งรอดพ้นจากการสังหารหมู่ของพวกอับบาซิยะห์มาได้อย่างหวุดวิด ได้หลบหนีไปยังอัฟริกาเหนือ ที่นั่นเขาได้สั่งให้คนรับใช้ที่ชื่อบัดรฺ?ติดต่อกับพรรคพวกของวงศ์อุมัยยะห์ในสเปนอย่างลับๆ เมื่อแน่ใจว่าจะมีผู้สนับสนุนเพียงพอ จึงตัดสินใจข้ามไปยังสเปนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 755 ปรากฏว่ากองทัพของเขาเอาชนะทหารของยูซุฟ บิน อับดุรรอฮมาน อัลฟิห์รีย์ (يوسف بن عبد الرحمن الفهري) ใกล้ๆกับเมืองคอร์โดบาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 756 และสถาปนาตนเองเป็น อะมีรแห่งอันดาลูเซีย
ตลอดสมัยการปกครองเขา(ค.ศ. 756-788) ได้สถาปนาอำนาจของวงศ์อุมัยยะห์ให้เข้มแข็งด้วยการเชิญชวนผู้สนับสนุนอุมัยยะห์จากซีเรียให้อพยบมายังสเปน ปราบปรามชาวอาหรับและเบอร์เบอร์ที่กระด้างกระเดื่องต่อวงศ์อุมัยยะห์ หรือแม้แต่กับญาติสนิทที่คิดทรยศ? ขณะเดียวกัน อัสตูเรียส รัฐคริสเตียนทางตอนเหนือได้รุกเข้าไปยังดินแดนของอาหรับ ระหว่างที่เกิดปัญหาการเมืองภายใน ทำให้เขาต้องนำกองทัพไปปราบ ซึ่งในที่สุด กษัตริย์แห่งอัสตูเรียสก็ยอมลงนามสงบศึกเป็นระยะเวลา 20 ปี (ตั้งแต่ ค.ศ. 767 ถึง 786)
ค.ศ. 778 ผู้ว่าการเมืองบาร์เซโลนา ลูกเขยของยูซุฟ บิน อับดุรรอฮมาน อัลฟิห์รีย์ก่อกบฏและขอความช่วยเหลือจากพวกแฟรงก์ แต่เมื่อกษัตริย์ชาลส์ เลอมองของแฟรงก์ยกทัพมาถึงซาราโกซา (Saragossa อาหรับเรียก ซารากุสเฏาะห์) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบาร์เซโลนา ชาวเมืองกลับปฏิเสธที่จะเปิดประตูเมือง จึงถูกพวกแฟรงก์ล้อมไว้ แต่ไม่นานก็ต้องยกทัพกลับเมื่อมีข่าวการก่อกบฏในฝรั่งเศส ทัพระวังหลังของพวกแฟรงก์ภายใต้การนำของเจ้าชายโรแลนด์ถูกพวกบาสก์ซุ่มโจมตีที่รองเคสวาลล์จนเจ้าชายโรแลนด์เสียชีวิต ปรากฏอยู่ในบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของยุโรปยุคกลาง ชื่อ Chansen de Roland
ถึงแม้จะเป็นอิสระจากอำนาจของคอลีฟะห์วงศ์อับบาซิยะห์แห่งอิรัค แต่เขาก็ยังรูปแบบการปกครองท้องถิ่นตามแบบที่ข้าหลวงซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากดามัสกัสก่อนหน้านี้ปฏิบัติ คอร์โดบายังคงเป็นศูนย์กลางการปกครอง เรียกตนเองว่า ?อะมีร?? แม้แต่ในปีแรกๆที่เขามีอำนาจก็ยอมให้มีการกล่าวนามของคอลีฟะห์วงศ์อับบาซิยะห์ในระหว่างคุฏบะห์วันศุกร์ ช่วงกลางสมัยของเขามีการจัดตั้งกองทหารรับจ้าง ประกอบด้วยทหารชาวเบอร์เบอร์และพวกมัมลูก (ทาสผิวขาวที่ซื้อมาจากยุโรปตอนเหนือ) ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีกว่า 40,000 คน? ด้วยความคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน เขาได้สร้างพระราชวังใกล้คอร์โดบา ชื่อ อัรรอศอฟฟะห์ เลียนแบบพระราชวังฤดูร้อนในซีเรีย ที่เมื่อสมัยยังเป็นเด็ก เขาเคยพำนักอยู่กับปู่(คอลีฟะห์ฮิชาม) พระราชวังแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมแบบอุมัยยะห์ มีท่อส่งน้ำเข้าสู่อาคาร จัดให้มีสวนไม้ประดับ ซึ่งกลายเป็นอย่างการจัดอาคารของยุโรปในภายหลัง ปลูกพันธุ์พืชที่นำมาจากตะวันออกกลาง เช่นต้นทับทิม ลูกท้อ และต้นปาล์ม เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 788 ขณะอายุเกือบจะ 60 ปี
ฮิชามที่ 1 (هشام بن عبد الرحمن الداخل) บุตรชายคนที่สองของอับดุรรอฮมาน อ้างสิทธิการเป็นทายาท ทำให้พี่ชายที่ชื่อสุลัยมานและน้องชายชื่ออับดุลลอฮฺต้องถูกเนรเทศไปยังอัฟริกาเหนือ ตลอดยุคสมัยของเขา(ค.ศ. 788-796) การเมืองภายในมีความมั่นคง เขาให้การยอมรับคำสอนตามสำนักคิด(มัซฮับ)มาลิกีย์ และได้กลายเป็นสำนักคิดที่เป็นทางการของมุสลิมสเปนนับตั้งแต่นั้น ฮิชามเสียชีวิตขณะอายุเพียง 40 ปี แต่ก่อนที่จะเสียชีวิต ได้แต่งตายลูกชายที่ชื่ออัลฮะกัม (الحكم بن هشام) เป็นทายาท(ค.ศ. 796-822)
ความยุ่งยากเกิดขึ้นเมื่อสุลัยมานและอับดุลลอฮฺ ผู้เป็นลุงกลับมาอ้างสิทธิที่เคยถูกฮิชามแย่งไป ปรากฏว่ากองทัพของสุลัยมานพ่ายแพ้ไปขณะพยายามจะบุกเข้าคอร์โดบา สุลัยมานถูกสังหารในที่สุดที่เมริดา ส่วนอับดุลลอฮฺซึ่งพยายามขอความช่วยเหลือจากชาล์ส์เลอมอง ถูกจับได้และถูกจำกัดบริเวณที่วาเลนเซียจนกระทั่งเสียชีวิต ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เมืองซากาโกซา โทเลโดและเมริดาได้ก่อกบฏขึ้น แต่ทั้งหมดก็ถูกปราบปรามลง อัลฮะกัมได้สั่งให้สร้างป้อมปราการแห่งทูเดลา ทางตอนเหนือของซาราโกซา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชายแดนตอนเหนือ ที่โทเลโด อัลฮะกัมได้วางแผนให้มีการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมต่อชนชั้นขุนนางซึ่งเป็นมุสลิมใหม่(มุวัลลัด) ที่มักก่อกบฏอยู่เสมอเมื่อได้โอกาส
ในระหว่างที่อัลฮะกัมปราบปรามกบฏที่เมริดา ซึ่งใช้เวลานานถึง 7 ปีนั้น แผนการยึดอำนาจโดยให้ลูกพี่ลูกน้องขึ้นเป็นอะมีรแทน ถูกเปิดเผยขึ้นมา ทำให้เขาสั่งกำจัดผู้วางแผนอย่างโหดร้าย สร้างความโกรธเคืองให้กับประชาชน ซึ่งไม่พอใจพฤติกรรมส่วนตัวของอัลฮะกัม ซึ่งห่างเหินศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว? จนในที่สุด นำไปสู่การจราจลของเขตอัรระบัต ชานเมืองคอร์โดบา ภายใต้การนำของผู้นำศาสนาชาวเบอร์เบอร์ที่อัลฮะกัมเกือบจะต้องแลกมันกับบัลลังก์และชีวิต แต่ในที่สุดชาวเมืองก็ถูกปราบลงได้ ผู้นำกบฏถูกสั่งตัดหัว บ้านเรือนในเขตที่ก่อกบฏถูกเผาทำลาย และประชาชนกว่า 20,000 คน ถูกเนรเทศให้ออกจากสเปน ส่วนหนึ่งอพยบไปยังเมืองเฟซในโมรอคโค อีกส่วนหนึ่งได้สถาปนาอาณาจักรของพวกตนขึ้นบนเกาะครีต (อาณาจักรนี้ยืนหยัดอยู่จถึงปี ค.ศ. 961 เมื่อกรีกยกทัพมาตีเกาะนี้คืน) นโยบายที่สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนโดยทั่วไปนี้ ผลักดันให้เขาต้องอาศัยทหารรับจ้างมาช่วยค้ำจุนอำนาจ ยุคนี้เองที่มุสลิมพื้นเมือง(มุวัลลัด)? เบอร์เบอร์ และอดีตทาสที่เคยเป็น ทหารรับจ้าง เข้ามามีบทบาทในการปกครอง เคียงข้างกับชาวอาหรับ การวางรากฐานที่มั่นคงของอัลฮะกัม ทำให้ยุคสมัยของอับดุรรอฮฺมานที่ 2 (عبد الرحمن الثاني)ผู้เป็นทายาท(ค.ศ. 822-852) เป็นยุคที่สงบ และความเจริญทางด้านวิทยาการเฟื่องฟูขึ้น
การรบกับรัฐคริสเตียนตอนเหนือสามครั้งประสบความสำเร็จ โจมตีอะลาบาและแคสตีล และรุกเข้าไปในดินแดนกาลิเซียที่ขณะนั้นปกครองโดยอัลฟองโซที่ 2 ในการรบบาเซโลนา( อาหรับเรียก บัรชิลูนะห์) และเจโรนา แม้เขาไม่สามารถยึดเมืองทั้งสองได้ แต่ในปี ค.ศ. 841 กองทัพของมุสลิมสเปนก็สามารถรุกไปถึงดินแดนของฝรั่งเศสอีกครั้ง สามปีต่อมา โจรสลัดนอร์ทแมนด์จากคาบสมุทรสแกนดิเนเวียบุกปล้นสะดมเมืองต่างๆริมมหาสมุทรแอตแลนติค เมืองลิสบอน( อาหรับเรียก อัล อุชบูนะห์)ถูกโจมตีอย่างหนัก หลังจากนั้นโจรสลัดยกมายึดเมืองคาดิส เมืองเซวิลล์ (อาหรับเรียก อิชบิลิยะห์) ที่ปราศจากการป้องกันถูกปล้นสะดม ชาวเมืองที่ไม่สามารถหลบหนีทัน ถูกฆ่าตายหรือไม่ก็ถูกจับไปเป็นทาส อับดุรรอฮมานที่ 2 ต้องระดมกำลังทหารเพื่อขับไล่โจรสลัดเหล่านี้ออกไป และสร้างแนวป้องกันและทัพเรือ เมื่อโจรสลัดเหล่านี้กลับมาโจมตีอีกในปี ค.ศ. 859 และ 866 จึงถูกขับไล่ออกไปอย่างง่ายดาย ด้านความสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ มีความพยายามในการสานสัมพันธ์กับไบแซนไทน์ เนื่องจากมีศัตรูร่วมกันคือคอลีฟะห์วงศ์อับบาซียะห์แห่งแบกแดดและอาณาจักรแฟรงก์แห่งฝรั่งเศส มีการส่งทูตติดต่อกัน แม้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
ถึงตอนนี้ สเปนภายใต้การปกครองของอะมีรแห่งอันดาลูเซีย กลายเป็นดินแดนที่มีมั่งคั่งที่สุดในบรรดารัฐริมทะเลเมดิเตอเรเนียน การค้าและอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เฟื่องฟู สร้างรายได้ให้กับอาณาจักร คอร์โดบาและเซวิลล์กลายเป็นศูนย์ทางการค้าที่มีชีวิตชีวา ความเป็นอยู่ของอะมีรที่โอ่อ่า หรูหรา ให้การส่งเสริมดนตรีและศิลปะ ให้ความสนใจในการอุปถัมภ์การศึกษาวิชาการแขนงต่างๆ แสดงให้เห็นความพยายามเทียบชั้นกับคอลีฟะห์แห่งแบกแดด ยุคนี้เองที่นักปราชญ์อย่างอิบนุ ฟิรนาสและซิรยาบมีชีวิตอยู่ในสเปน
อารยธรรมความเป็นอยู่ของชาวอาหรับ ยั่วยวนคริสเตียนสเปนให้เลียนแบบ แม้จะไม่ยอมรับนับถืออิสลามก็ตาม ยอมที่จะถอดเสื้อตามแบบของตะวันตกยุคกลางมาใส่เสื้อผ้าที่เบาบางและมีสีสรรอันงดงามของอาหรับ โดยอ้างว่ามันจะสะดวกสบายกว่า รู้จักการใช้เครื่องเทศในการปรุงแต่งอาหาร และรู้จักดนตรีอันไพเราะของอาหรับ ยอมรับที่จะเรียนรู้วิทยาการและศิลปะอันงดงามของอาหรับ กลายเป็นวัฒนธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันที่เรียกกันว่า โมซาแรบ(Mozarab มาจากคำว่า มุสตะอฺริบ แปลว่าผู้ที่ยอมรับภาษาและวิถีของชาวอาหรับ) อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาโต้ตอบของผู้นำคริสเตียนรุนแรงขึ้น เมื่อพบว่าคริสเตียนสเปนจำนวนมากหันมานับถืออิสลาม บาทหลวงเปอร์เฟคตุสได้กล่าวดูถูกเหยียดหยามท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ต่อหน้าสาธารณชน บาทหลวงถูกลงโทษประหารชีวิตในปี ค.ศ. 850 จนได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญ กระตุ้นให้หนุ่มสาวคริสเตียนอีกหลายคนให้กระทำการลักษณะดังกล่าว แม้จะรู้ถึงชะตากรรมของตนว่าสุดท้ายจะลงเอยแบบใด แค่เวลาไม่ถึงสองเดือน มีคริสเตียนที่ยอมตายด้วยการกระทำดังกล่าวถึง 11 คน
ช่วงปลายสมัยของอับดุลรอฮมานที่ 2 มีความพยายามลอบสังหารเขา แต่ไม่ประสบผล อย่างไรก็ตาม เขาเสียชีวิตในอีก 2 ปีต่อมา มุฮัมมัดที่ 1 ( محمد بن عبد الرحمن الأوسط‎)บุตรชายได้เป็นอะมีรสืบแทน (ค.ศ. 852-886) ปรากฏว่าเกิดการกบฏของหัวเมืองสำคัญๆ ทั่วสเปน จนอำนาจของอะมีรเหลืออยู่เพียงรอบๆคอร์โดบาเท่านั้น ที่นับว่าอันตรายที่สุดก็คือการก่อกบฏของอุมัร บิน ฮัฟซูน (عمر بن حفصون) ฐานกำลังสำคัญอยู่ที่ป้อมโบบาสโตร (Bobastro) มุฮัมมัดเสียชีวิตขณะนำกำลังไปปราบกบฏอุมัร อัลมุนซิร (المنذر)ผู้เป็นทายาท สืบอำนาจต่อมาเพียงระยะเวลาสั้นๆ (ค.ศ. 886-888)
พระราชวัง มะดีนะฮฺ อัซซะฮฺรออฺ นอกเมืองคอร์โดบา
ประตูเมืองและสะพานอัลกันตะเราะห์ เมืองโทเลโด สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 866(ซ้าย)
ป้อมปราสาท Gormaz สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 956 สมัยอัลฮะกัมที่ 2 เพื่อเป็นฐานในการควบคุมรัฐคริสเตียนตอนเหนือ (ขวา)
Cristo de la Luz เมืองโทเลโด เดิมคือมัสยิด Bab Almardum สร้างในปี ค.ศ. 999-1000
อับดุลลอฮฺ (عبد الله بن محمد)น้องชายของอัลมุนซิร สือต่ออำนาจต่อมา (ค.ศ.888-912) การแก่งแย่งชิงอำนาจในวัง เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลุกฮือของหัวเมืองต่างๆ และความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ทำให้สเปนยุคนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวาย มุสลิมพื้นเมือง(มุวัลลัด)ตั้งรัฐอิสระของตนขึ้นทางตะวันตกเฉียงใต้ และรบพุ่งกับอาหรับที่ปกครองเขตเอลไวรา เช่นเดียวกับในเซวิลล์ ที่ความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับชนพื้นเมืองลงเอยด้วยการก่อตั้งรัฐอิสระที่มีอิบรอฮิม บิน ฮัจญาจเป็นผู้นำ ต่อมากลายเป็นญาติกับอุมัร บิน ฮัฟซูน ผ่านการแต่งงาน โทเลโดแยกตัวโดยตระกูลซุนนูน ขณะที่ตระกูลกูซีย์ได้ปกครองซาราโกซา
อับดุลรอฮฺมานที่ 3 (عبد الرحمن الثالث ค.ศ. 912-961) กลายเป็นบุคคลที่มากอบกู้สถานการณ์ของอะมีรวงศ์อุมัยยะห์ ตอนที่เขารับตำแหน่ง มีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น แต่ด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่นและปราดเปรื่อง ทำให้เขาสามารถกอบกู้ดินแดนของมุสลิมสเปนให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เอซิจา (อาหรับเรียก อิสตะญะห์) ยอมจำนนในปีแรกที่เขาเป็นอะมีร ตามด้วยเมืองอาร์ชิโดนา (อาหรับเรียก อุรดูซูนะห์) และเซวิลล์ในปีต่อมา ป้อมโบบาสโตรของอุมัร บิน ฮัฟซูนถูกเขายึดได้ในปี ค.ศ. 917 และโทเลโด ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขหลังจากที่ต่อต้านอยู่นาน 3 ปี?ในช่วงที่ติดพันกับสงครามภายในอยู่นั้น รัฐคริสเตียนตอนเหนือมักบุกเข้ามาคุกคามชายแดนมุสลิมอยู่บ่อยครั้ง? ค.ศ. 914 รัฐลิยองยึดป้อมซาน เอสเตอบานไว้ได้ พร้อมตัดคอแม่ทัพมุสลิมเสียบประจานไว้ข้างหัวสุกร อับดุรรอฮมานจึงยกทัพไปราบปราม ได้รับชัยชนะที่วัล เดอ จุนเควราส (Val de junqueras) และการรบที่เมซและแพมโพลนา(เมืองหลวงของนาวาเรีย อาหรับเรียก บัมบะลูนะห์) ทำให้รัฐลิยองและนาวาเรียต้องยอมจำนนในที่สุด แต่สงครามในปี ค.ศ. 939 ทัพอับดุรรอฮมานพ่ายแพ้ต่อทัพผสมของรามิโอที่ 3 แห่งลียอง และราชินีโททาแห่งนาวาเรีย ที่อัลฮันเดกา (มาจากภาษาอาหรับ อัลคอนดัก) ตอนใต้ของซาลามังกา อย่างไรก็ตาม ต่อมา ราชินีโททาต้องเดินทางมาเข้าพบอับดุรรอฮมาที่คอร์โดบาเพื่อขอความช่วยเหลือทางทหารและรักษาโรคอ้วนของหลานที่ชื่อซานโจ
ทางด้านชายแดนตอนใต้ เพื่อป้องกันการโจมตีของคอลีฟะห์วงศ์ฟาฏิมิยะห์ซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ที่ตูนิเซีย อับดุรรอฮมานได้ส่งทัพเรือเข้ายึดเมืองท่าซับตะห์ (Ceuta) ฏอนญะห์ (Tangier) และเมลลิละห์ (Mellila) ดินแดนหลายแห่งในโมรอคโคยอมตกลงที่จะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของอับดุรรอฮมาน
เมื่อถึงสิ้นปี ค.ศ. 928 อับดุรรอฮมานที่ 3 ถึงจุดสูงสุดแห่งอำนาจ เขาสถาปนาตัวเองเป็นคอลีฟะห์ เรียกตนเองว่า คอลีฟะห์อันนาซิร ลิดดี นิลลาฮฺ ทำให้โลกอิสลามขณะนั้นมีคอลีฟะห์ถึง 3 คนในคราวเดียวกัน คือคอลีฟะห์วงศ์อับบาซิยะห์แห่งแบกแดด วงศ์ฟาฏิมิยะห์แห่งตูนิเซีย(ต่อมาย้ายไปอียิปต์) และวงศ์อุมัยยะห์แห่งอันดาลูเซีย ความรุ่งเรืองทางสถาปัตยกรรมและศิลปะวิทยาการของอุมัยยะห์แห่งอันดาลูเซียถึงจุดสูงสุดในยุคของอับดุรรอฮมาน ฐานะของคอลีฟะห์แห่งอันดาลูเซียรู้จักกันในยุโรปขณะนั้นว่าเป็นผู้ครองอาณาจักรที่มีความร่ำรวย มั่งคั่งและมีความเป็นอยู่ที่โอ่อ่าหรูหรา ทุกปีจะมีทูตจากไบแซนไทน์ เยอรมัน อิตาลีและฝรั่งเศษมาเจริญสัมพันธ์ไมตรี? อิบนุ อิซารีย์ นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย บันทึกถึงนครคอร์โดบา เมืองหลวงของอันดาลูเซียว่ามีประชากรประมาณ 500,000 คน บ้านเรือน 113,000 หลัง และมัสยิด 3,000 แห่ง นอกจากแบกแดดและคอนสแตนติโนเปิลแล้ว ไม่มีเมืองใดจะยิ่งใหญ่เท่าคอร์โดบา พระราชวังของคอลีฟะห์อยู่บนภูเขาเซียราโมเรนา ริมฝั่งแม่น้ำกัวดัลคีวีร์ (Guadalquivir มาจากภาษาอาหรับ Wadi al-Kabir) ห่างจากคอร์โดบาประมาณ 7 ก.ม. เรียกกันว่า มะดีนะฮฺ อัซซะฮฺรออฺ (المدينهُ الزهراء) ใช้คนงานก่อสร้างประมาณหมื่นคน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 936-940 ใช้หินอ่อนที่นำมาจากนูมิเดียและคาร์เทจ เสาหินจากไบแซนไทน์ รอบๆพระราชวังแบ่งเป็นพื้นที่ 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นสวนดอกไม้ ค่ายทหารและตลาด ชั้นที่สองเป็นที่พักของบรรดาขุนนาง ส่วนพระราชวังอยู่ชั้นบนสุด มีห้องโถง 400 ห้อง มีสระน้ำขนาดใหญ่และบริเวณชมทิวทัศน์อยู่ด้านหน้า จากบันทึกของอิบนุ อิซารีย์ ระบุว่าที่พระราชวังแห่งนี้ มีทหารรับจ้างต่างชาติอยู่ถึง 3,750 คน
อัลฮะกัมที่ 2 (الحكم الثاني) เป็นทายาทสืบต่อจากอับดุรรอฮมาน (ค.ศ.961-976) นับเป็นผู้อุปถัมภ์การศึกษาและศิลปะคนสำคัญของวงศ์อุมัยยะห์ ในยุคนี้การโจมตีของพวกโจรสลัดนอร์ดแมนสองครั้งในปี 966 และ 971 ถูกขับไล่ออกไปอย่างง่ายดาย ทั้งนาวาเรียและลิยองก็ยอมสวามิภักดิ์ต่ออุมัยยะห์ แต่เมื่อลิยอง แคชตีล นาวาเรียและบาร์เซโลนารวมตัวกันเป็นพันธมิตร อัลฮะกัมก็นำทัพไปโจมตีแคชตีลด้วยตนเองในปี ค.ศ. 963 จนรัฐคริสเตียนเหล่านั้นต้องยอมลงนามสงบศึก ส่วนทางใต้ ภัยจากฟาฏิมิยะห์แทบจะหมดไป เมื่อคอลีฟะห์วงศ์ฟาฏิมิยะห์ย้ายไปอียิปต์
อย่างไรก็ตาม การตายของอัลฮะกัมในปี ค.ศ. 976 ทำให้วงศ์อุมัยยะห์ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากผู้เป็นทายาท ฮิชามที่ 2 (ค.ศ. 976-1009) มีอายุเพียง 12 ปี อำนาจการปกครองที่แท้จริงตกเป็นของเสนาบดีที่ชื่อ มุฮัมมัด บิน อะบีอามีร หรืออัลมันซูร ( محمد بن عبد الله بن أبي عامر الحاجب المنصور , Almanzor ตามชื่อเรียกขานของชาวยุโรป) เขาพยายามรวบอำนาจในวังไปเป็นของตน กำจัดคู่แข่งการการเมืองจำนวนมาก? ความเด็ดขาดต่ออาชญากรทำให้เขาได้รับความนิยมจากชาวคอร์โดบา เขานำทัพเข้าโจมตีรัฐคริสเตียนหลายครั้ง ค.ศ. 981 ตีเมืองซาโมรา (อาหรับเรียกซัมมูเราะห์) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และในระหว่างการทำสงครามกับพวกคริสเตียนครั้งที่ 13 เขาก็ยึดบาร์เซโลนามาได้อีก ปรากฏว่าในปี ค.ศ. 988 เขาบุกไปถึงเมืองลิยอง สำหรับอัฟริกาเหนือซึ่งปลอดอิทธิพลของฟาฏิมิยะห์แล้ว เขาพยายามซื้อความภักดีของผู้นำชาวเบอร์เบอร์ เผ่าซานะตะห์ ด้วยของกำนัลจำนวนมาก สามารถกำจัดพวกอิดรีซีย์ที่เหลืออยู่จนสิ้นซาก? เขาเสียชีวิตขณะกลับมาจากสงครามครั้งสุดท้ายของเขาในปี 1002
ถึงแม้ว่าอัลมันซูรจะทำให้อันดาลูเซียเป็นรัฐทหารที่มีความเข็มแข็ง แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพด้วยการทำลายระบบชนเผ่า (แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารโดยไม่คำนึงถึงระบบเผ่าของชาวอาหรับ) รวมทั้งเกณฑ์ทหารรับจ้างชาวเบอร์เบอร์จำนวนมาก ได้ทำลายสมดุลของอำนาจทางสังคมที่ประกอบไปด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ของสเปนไป
ต้องเข้าใจว่า ตั้งแต่อุมัยยะห์ขึ้นมามีอำนาจ ผู้นำของวงศ์อุมัยยะห์พยายามรักษาความสมดุลระหว่างชนชาติอาหรับ ที่แบ่งเป็นสองพวกใหญ่ๆ คืออาหรับเหนือและใต้ ชนชาติเบอร์เบอร์ และสุดท้ายคือมุสลิมพื้นเมือง ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้นำวงศ์อุมัยยะห์มีอำนาจทางการเงินเพียงพอที่จะรักษาสมดุลดังกล่าวนี้ อะมีรสามารถที่จะหลอมรวมชาวอาหรับกับมุสลิมพื้นเมืองได้ไม่ยากเย็นนัก แต่เมื่อโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ชนพื้นเมืองสเปนเข้ารับนับถืออิสลามมากขึ้น ทำให้มุสลิมกลายเป็นชนส่วนใหญ่ของสเปน(ดูเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ใน
การเมือง การปกครอง สภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุคอุมัยยะห์ ) ตัวแทนของกลุ่มอำนาจในสังคมก็เพิ่มขึ้น จนวิธีการเดิมๆที่ผู้นำวงศ์อุมัยยะห์เคยใช้ ไม่บังเกิดผลอีกต่อไป
หลังอัลมันซูรเสียชีวิต อับดุลมะลิค อัลมุซัฟฟัร ลูกชาย สืบทอดตำแหน่งเสนาบดีแทน เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1008 โดยน้องชายที่ชื่ออับดุรรอฮมานสืบตำแหน่งต่อ (รู้จักกันในนามของซานเจโล เนื่องจากมีหน้าตาคล้ายคลึงกับกษัตริย์ซานโจ การ์เซส ที่ 2 แห่งนาวาเรีย ผู้เป็นตา) สภาพอนาธิปไตยที่มุสลิมสเปนเรียกกันว่า al-fitnah เริ่มก่อตัวขึ้น เขาบังคับให้ฮิชามที่ 2 ซึ่งเป็นคอลีฟะห์เพียงแต่ในนามตั้งแต่สมัยของบิดา ยกตำแหน่งคอลีฟะห์ให้ แต่ชาวเมืองคอร์โดบากลับสนับสนุนมุฮัมมัดที่ 2 ผู้อ้างตัวมาจากตระกูลอุมัยยะห์ ปรากฏว่าซานเจโลถูกสังหารในปี 1009 ส่วนมุฮัมมัดที่ 2 ก็ถูกสังหารจากกบฏเบอร์เบอร์ ลูกชายของอับดุรรอฮมานที่ 3 ที่ชื่อสุลัยมานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคอลีฟะห์แทน แต่ไม่นานก็ถูกปลดออก และฮิชามที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งกลับมาใหม่ สุลัยมานร่วมมือกับเบอร์เบอร์โจมตีคอร์โดบาในปี ค.ศ. 1013 และสังหารฮิชามที่ 2 เสีย ค.ศ. 1016 นายทหารชื่ออะลี บิน ฮัมมูด (علي بن حمود)ยึดอำนาจการการปกครองในคอร์โดบาไว้ได้ สถาปนาตนเองเป็นคอลีฟะห์วงศ์ฮัมมูดิยะห์ แต่ไม่นานก็เกิดความขัดแย้งในวงศ์ฮัมมูดิยะห์ จนชาวเมืองคอร์โดบาต้องหันไปสนับสนุนอัลมุรตะฎอ คนของวงศ์อุมัยยะห์ขึ้นเป็นคอลีฟะห์แทน ท้ายที่สุด หลังจากความล้มเหลวในการรื้อฟื้นอำนาจของคอลีฟะห์ ชาวคอร์โดบาก็ตัดสินใจยกเลิกระบบคอลีฟะห์ เปลี่ยนไปเป็นระบบสาธารณรัฐแทน ตอนนั้น อำนาจของคอร์โดบาเหลือเพียงดินแดนโดยรอบเท่านั้น
ประวัติศาสตร์ของมุสลิมในสเปนนับตั้งแต่นี้ไป เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า มุลูค อัฏ เฏาะวาอีฟ (ملوك الطوائف ภาษาสเปญเรียกว่า reyes de taifas หรือ party kings ในภาษาอังกฤษ) สเปนได้แตกเป็นรัฐเล็กๆปกครองโดยอะมีรหรือสุลต่านจำนวนมาก ที่สำคัญคือรัฐโทเลโด เซวิลล์ คอร์โดบา วาเลนเซีย(อาหรับเรียก บะลันซิยยะห์) และเกรนาดา (อาหรับเรียก ฆอรนาเฏาะห์)
http://www.azizstan.ac.th/th/index.php?option=com_content&view=article&id=113:2008-09-13-05-10-53&catid=57:2010-03-19-14-46-25&Itemid=69
การเมือง การปกครอง สภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุคอุมัยยะห์
บทความพิเศษ - อันดาลูเซีย สะพานเชื่อมอารยธรรม

คอร์โดบา เมืองหลวงของอุมัยยะห์ในสมัยของอับดุรรอฮมานที่ 3 จนถึงสมัยของอัลมันซูร เป็นมหานครที่ใหญ่โตและเจริญรุ่งเรื่องมากที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป เป็นศูนย์กลางทางอารยธรรมเคียงคู่คอนแสตนติโนเปิลและแบกแดด ด้วยประชากรครึ่งล้านคน บ้านเรือน 113,000 หลัง เขตชานเมือง 21 แห่ง มัสยิด 3,000 แห่ง หอสมุดกว่า 70 แห่ง สถานที่อาบน้ำสาธารณะ และพระราชวังหลายสิบแห่ง ตามบันทึกของนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ทำให้มหานครแห่งนี้เป็นที่ประทับใจของผู้มาเยือน ปรากฏอยู่ในบันทึกของนักเดินทางยุคนั้น ถนนหนทางที่ได้รับการปูพื้นอย่างดีและสว่างไสวจากโคมไฟสาธารณะ เมื่อเทียบกับปารีสขณะนั้น ผู้คนที่เดินตามท้องถนนในหน้าฝน อาจต้องย่ำลงโคลนที่ลึกถึงตาตุ่ม และอีก 700 ปีพึ่งจะปรากฏโคมไฟสาธารณะในลอนดอน และขณะที่นักศึกษาของออกซ์ฟอร์ดถือว่าการอาบน้ำเป็นการปฏิบัติของพวกนอกรีต นักปราชญ์แห่งคอร์โดวากลับนิยมอาบน้ำในที่อาบน้ำสาธารณะที่มีอยู่ทั่วไปในเมือง บันทึกของซะอิด(เสียชีวิต ค.ศ. 1070) นักกฏหมายที่ถูกส่งไปพบกษัตริย์ออตโตของเยอรมัน ที่ระบุว่า "เพราะดินแดนของพวกเขา ดวงอาทิตย์ไม่ได้พาดผ่านหัวโดยตรง อากาศจึงหนาวและเย็นยะเยือก มีผลต่อนิสัยของพวกเขา ทำให้เป็นคนนิ่งเฉยและหยาบคาย แม้ร่างกายจะใหญ่โต กำยำ แต่หาได้มีความปราชญ์เปรื่องไม่ ส่วนใหญ่เป็นคนโง่" สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของอาหรับสเปนที่ดูถูกชาวยุโรปขณะนั้นเป็นอย่างดี เมื่อใดที่กษัตริย์ของลียอง นาวาเรีย หรือบาร์เซโลนา ต้องการแพทย์ สถาปนิก นักร้อง หรือแม้แต่ช่างตัดเสื้อ ก็จะนึกถึงคอร์โดบา เพื่อแสวงหาสิ่งที่ต้องการเหล่านั้น ในบันทึกของแม่ชีเยอรมัน ที่อยู่ไกลออกไปทางเหนือ กล่าวขานถึงคอร์โดบาว่าเป็น "เพชรเม็ดงามของโลก" แสดงให้เห็นถึงความเลื่องลือของคอร์โดบาในสายตาของชาวยุโรปขณะนั้น
รูปแบบการบริหารการปกครองของคอลีฟะห์แห่งอุมัยยะห์ แม้จะไม่ได้ถอดแบบจากที่ใช้กันอยู่ในวังของคอลีฟะห์อุมัยยะห์แห่งดามัสกัสหรือคอลีฟะห์อับบาซิยะห์แห่งแบกแดด แต่ก็ไม่ได้แตกต่างไปมากนัก คอลีฟะห์ดำรงตำแหน่งโดยการสืบทอด แม้จะมีบางครั้งที่ได้มาโดยการเลือกของนายทหารและขุนนาง ดังในสมัยปลายของวงศ์อุมัยยะห์ ระหว่างคอลีฟะห์กับองค์มนตรีหรือวิเซียร์ (วะซีร) จะมีตำแหน่งมหาดเล็ก (ฮาญิบ) เป็นตัวกลาง วิเซียร์จะเป็นประธานของที่ประชุมของสภาขุนนาง(ดิวาน) ซึ่งเลขานุการ(กุตตาบ)มีบทบาทสำคัญ ตอนนั้นสเปนแบ่งออกเป็นหกจังหวัด นอกจากคอร์โดบาซึ่งเป็นเมืองหลวง มีวะลีเป็นผู้ว่าการ อาจจะมาจากพลเรือนหรือทหาร คอลีฟะห์เป็นผู้แต่งตั้งกอฎี เป็นผู้พิพากษา ในคอร์โดบาจะมีสภาของกอฎีอยู่ กรณีของคดีอาญชากรรม การตัดสินจะตกเป็นของ ศอฮิบ อัชชุรเฏาะห์ ในคอร์โดบายังมีตำแหน่งต่างหาก เรียกว่า ศอฮิบ อัลมะซอลิม รับเรื่องร้องทั่วไป บทลงโทษที่ใช้กันมีตั้งแต่ การปรับ เฆี่ยนตี คุมขัน ตัดแขนขา และโทษสำหรับการดูหมิ่นศาสนาคือประหารชีวิต ยังมีตำแหน่ง มุฮฺตะซิบ (ภาษาสเปน almotacen) ตรวจสอบดูแลการค้าขาย จับกุมการพนัน การละเมิดบทบาทศาสนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศ และการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม
คอลีฟะห์อัลฮะกัม ถือได้ว่าเป็นทั้งนักปกครองและนักปราชญ์ที่ให้การอุปถัมภ์การศึกษา ได้จ่ายค่าตอบแทนเลี้ยงดูแก่บรรดานักปราชญ์และสร้างโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาฟรีถึง 27 แห่งในคอร์โดบา มหาวิทยาลัยแห่งคอร์โดบาถูกจัดตั้งขึ้นในสมัยคอลีฟะห์อับดุรรอฮมาน ในบริเวณเดียวกับมัสยิดกลาง ถือได้ว่านำหน้ามหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรแห่งอียิปต์ และนิซอมิยะห์แห่งแบกแดดในขณะนั้น ดึงดูดนักศึกษาจากที่ต่างๆ ไม่เฉพาะในสเปน หากแต่ยังมาจากยุโรป อัฟริกาและเอเซีย นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เช่น อิบนุล กูฏิยะห์ นักประวัติศาสตร์ และอะบู อะลี อัลกอลี ที่งานเขียนของเขาชื่อ อะมาลีย์ ยังคงถูกใช้สอนในโลกอาหรับจนถึงปัจจุบัน หอสมุดของคอลีฟะห์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอัลฮะกัมรวบรวมหนังสือไว้ถึงสี่แสนเล่ม คอลีฟะห์ส่งตัวแทนเดินทางไปยังที่ต่างๆในโลกอิสลามเพื่อจัดหาหนังสือมาไว้ เขายอมจ่ายเงินถึงหนึ่งพันดินาร์ เพื่อให้ได้ต้นฉบับของหนังสือ อะฆอนีย์ แต่งโดยอิสฟะฮานีย์จากอิรัค นักประวัติศาสตร์ยุโรป ( เช่น Dozy ผู้เขียนหนังสือ Histoire des Musulmans) บรรยายสภาพของสเปนขณะนั้นว่า "เกือบทุกคนสามารถอ่านและเขียนได้" สภาพเช่นนี้ ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปขณะนั้น ที่การศึกษาส่วนใหญ่ตกอยู่เฉพาะกับบาทหลวง
รายได้ส่วนใหญ่ของอาณาจักรมาจากภาษีการค้า สเปนยุคนั้นเป็นภูมิภาคที่มีประชากรอาศัยกันอยู่หนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนังเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในคอร์โดบาเอง จนเป็นที่มาของเครื่องหนังชั้นดีที่เรียกว่า Cordovan และคำว่า
Cordwainer (ช่างทำรองเท้าหนัง) ในภาษาอังกฤษ ผ้าไหมและขนสัตว์เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของทั้งคอร์โดบา มาลากา และอัลเมอเรีย ชาวอาหรับนำเอาวิธีการผลิตผ้าไหมมาสู่สเปน ซึ่งต่อมาแพร่หลายสู่ยุโรป วาเลนเซียขึ้นชื่อในเรื่องของการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เหมืองแร่ทองคำและเงินอยู่ที่จาเอนและอัลการ์บ มาลากาเป็นแหล่งผลิตพลอย เหมืองทองแดงและเหล็กที่คอร์โดบา โทเลโดขึ้นชื่อในด้านการผลิตเครื่องเหล็ก โดยเฉพาะดาบ กรรมวิธีการฝังเส้นเงินหรือเส้นทองเป็นลวดลายประดับบนผิวเหล็ก หรือการคร่ำทอง ถูกนำมาเผยแพร่โดยชาวอาหรับจากดามัสกัส และเป็นที่มาของคำว่า Damascene (เหล็กคร่ำทอง) ในภาษาอังกฤษ(damasquiner ในภาษาฝรั่งเศส และ damaschino ในภาษาอิตาเลี่ยน)
ชาวอาหรับยังเป็นผู้นำความรู้ในการทำเทคนิคการเกษตรและพันธุ์พืชหลายชนิดสู่ยุโรป เช่น ข้าว ( rice มาจากคำว่า arroz ในภาษาสเปน ซึ่งเพี้ยนมาจาก al-aruzz ในภาษาอาหรับ รากศัพท์เดิมมาจากภาษาสันสฤต) ต้นแอปปริคอต (apricot มาจากคำว่า albaricoque ในภาษาสเปน ซึ่งเพี้ยนมาจาก al-barquq ในภาษาอาหรับ) ต้นพีช ทับทิม ส้ม (ส้มที่แพร่หลายในยุโรป ถูกนำมาจากอินเดีย โดยชาวโปรตุเกสในภายหลัง) ต้นอ้อย ต้นฝ้าย (cotton มาจากคำว่า coton ในภาษาสเปน ซึ่งเพี้ยนมาจาก al-qutn ในภาษาอาหรับ) และหญ้าฝรั่น การจัดสวนที่เรียกว่า Generalife ( มาจากคำว่า Jannah al-arif ในภาษาอาหรับ) ที่เลื่องลือให้เรื่องของความงาม ศิลปะการตกแต่งต้นไม้ ประเภทของพันธุ์ไม้พุ่ม ลำธารและน้ำตกที่สอดคล้องกับอาคารโดยรอบ ก่อให้เกิดความลงตัวระหว่างสายลมและสายน้ำ สิ่งนี้เป็นมรดกที่ชาวอาหรับสเปนถ่ายทอดไว้ให้ชาวยุโรป
The Mezquita เมืองคอร์โดบา เดิมคือมัสยิดประจำเมือง
เมื่อแคชตีลยึดเมืองนี้ไป ได้ดัดแปลงโดยต่อเติมโบสถ์ไว้ตรงกลาง
ชาวอาหรับจากอียิปต์นิยมเข้าไปตั้งถิ่นฐานแถบเมืองมุรเซีย การชลประทานจึงมีรูปแบบเดียวกับที่ใช้ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ ขณะที่แถบเซวิลล์ วาเลนเซีย และเกรนาดาเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวอาหรับจากซีเรีย เทคนิคการเกษตร เช่น การใช้กังหันทดน้ำ การปรับระดับระดับผิวดินเพื่อการเกษตรและการจัดสวนในแบบของซีเรียถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ภูมิประเทศของเซวิลล์คล้ายๆกับซีเรียมาก บันทึกของนักเขียนและกวีอาหรับตั้งฉายาเมืองนี้ว่าเป็น ฮิมส์แห่งอันดาลุส (ฮิมส์ เมืองแห่งหนึ่งในซีเรีย) ภูมิประเทศและภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกันนี่เอง ที่ทำให้ภาพยนต์เรื่อง Lawrence of Arabia ถ่ายทำกันที่เมืองเซวิลล์ ในตอนที่มีฉากของดามัสกัส
ตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์ยุโรปบางคน เช่น Henri Pirenne มองว่าการยึดครองสเปนของอาหรับ ทำให้เส้นทางการค้าทางทะเลที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมันตอนปลายขาดสะบั้นลง มีผลทำให้ยุโรปตะวันตกถูกตัดขาดและอับเฉา เส้นทางการค้าค่อยๆ เปลี่ยนจากดินแดนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนขึ้นไปทางเหนือ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุโรปในศตวรรษต่อมา
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ Phillip Grierson ใน Commerce in the Dark Ages : A critique of the Edidence กลับเห็นในทางตรงกันข้าม เส้นทางการค้าที่ขาดสะบั้นลงในความหมายของ Pirenne นั้นหมายถึงเฉพาะในวงไพบูลย์ของโรมัน ซึ่งขณะนั้นไบแซนไทน์เป็นผู้สืบทอด ความจริงแล้วอาหรับต่างหากที่เป็นผู้เปิดเส้นทางการค้าของสเปญให้เชื่อมต่อกับเครือข่ายที่กว้างใหญ่กว่าในตะวันออกกลาง ซึ่งเชื่อมต่อกับอินเดีย ทะเลดำ เอเซียกลางและจีน? เส้นทางการค้าไม่เคยถูกปิดลงโดยสิ้นเชิง แม้ก่อนหน้านั้น คอลีฟะห์อับดุลมะลิค ของวงศ์อุมัยยะห์แห่งดามัสกัส (ค.ศ. 685-705 ?)จะดำเนินมาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อไบแซนไทน์ ปรากฏว่าเฉพาะชายฝั่งแถบตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ และเกิดกับสินค้าบางรายการ เช่น กระดาษปาปิรุสและสินค้าอื่นอีกบางรายการ เครื่องเทศหรือสินค้าอื่นๆ ยังมีการค้าขายไปมาตามปกติ ไบแซนไทน์ต่างหากที่กลับเป็นผู้ปิดกั้นเส้นทางการค้านี้เมื่อสามารถฟื้นตัวขึ้นมาต่อต้านอำนาจของโลกอิสลามในช่วงปี ค.ศ. 752-827 การเผชิญหน้าระหว่างไบแซนไทน์กับอาหรับ ทำให้เศรษฐกิจของไบแซนไทน์ต้องพึ่งพาทั้งสินค้าและตลาดจากยุโรปตะวันตก สมดุลของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีมาตั้งแต่ยุคโรมันย้อนกลับไปในทิศทางตรงกันข้าม สเปนภายใต้การยึดครองของอาหรับได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของวงศ์อุมัยยะห์ที่เป็นมิตรกับไบแซนไทน์นั่นเอง
ในคริสตวรรษที่ 10 ตอนที่อาหรับสามารถยึดครองจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้เกือบหมด (เกาะครีต ซิซิลี และหมู่เกาะบาเลียริค) อาหรับไม่ได้ปิดกั้นเส้นทางการค้า ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้ทั้งภูมิภาคสามารถเข้าสู่ตลาดนี้และเชื่อมต่อกับระบบเศรษฐกิจในส่วนอื่นของโลก(จีน อินเดีย อัฟริกาตะวันออกและเอเซียวันออกเฉียงใต้) โดยมีทองคำที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์จากอัฟริกาตะวันตกเข้ามาหล่อเลี้ยงไว้
ความจริง เศรษฐกิจของยุโรปตะวันตก ไบแซนไทน์ และโลกอิสลามพึงพาอาศัยกัน การไหลเวียนของทองคำจากโลกอิสลามสู่ยุโรปตะวันตก (เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ) และจากยุโรปตะวันตกสู่ไบแซนไทน์(เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าฟุ่มเฟือยและเครื่องเทศ) สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์นี้ สัดส่วนของมูลค่าทองคำและเงินแตกต่างกันในระบบเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค ทองคำมักเคลื่อนไหวจากที่ที่มันมีมูลค่าน้อยไปสู่ที่ที่มันมูลค่าสูงกว่า ตรงกันข้ามกับเงิน การไหลเวียนดังกล่าวนี้กระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างระบบเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค ไม่ว่าระบบเศรษฐกิจนั้นจะมีมาตรฐานของเงินตราที่ต่างกัน (เงินใช้กันในยุโรปตะวันตก ทองคำใช้กันในไบแซนไทน์ และในโลกอิสลาม ใช้ทั้งทองคำและเงิน)
ผลของสงครามครูเสดที่เกิดจากการรุกรานของชาวยุโรปในคริสตวรรษที่ 11 ต่างหาก ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคหยุดชะงัก แต่กระนั้นก็ตาม สเปนก็ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะพวกมุรอบิฏูนที่เข้ามายึดครองสเปน (
ดูบทถัดไป) เป็นผู้ครอบครองเส้นทางของทองคำจากอัฟริกาตะวันตก
จากบันทึกและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ (เหรียญเงิน สินค้า) แสดงให้เห็นว่าการค้าของสเปนในยุคอุมัยยะห์มีการเชื่อมต่อกับอเลกซานเดรีย คอนสแตนติโนเปิล ยุโรปตะวันตก ดามัสกัส และแบกแดด มีสินค้าของสเปนปรากฏอยู่ไกลถึงอินเดียและเอเซียกลาง ศัพท์ทางการค้าและการเดินเรือหลายสิบคำมาจากภาษาอาหรับ เช่น admiral ( มาจากภาษาอาหรับ amir al-bahri) arsenal average (จากภาษาอาหรับ awariyah) cable corvette ( corbeta ในภาษาสเปน เพี้ยนมาจาก ghurab ในภาษาอาหรับ) และ tariff บันทึกของอัลอิดรีซีย์ นักภูมิศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในยุคกลาง กล่าวถึงการเดินเรือของบุคคลกลุ่มหนึ่งในมหาสมุทรแอนแลนติค ซึ่งชาวอาหรับเรียกว่า bahr al-zulumat (ทะเลแห่งความมืดมิด) โดยออกจากเมืองท่าลิสบอน(อาหรับ เรียก อัลอุชบูนะห์) ไปประมาณ 35 วันทางตะวันตก ก็พบเกาะๆหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน (อาจจะเป็นเกาะในหมู่เกาะคานารีย์หรือเคปเวอร์ด)
เหรียญเงินสมัยอับดุรรอฮมานที่ 3 ด้านหนึ่งของเหรียญระบุว่า
لا اله الا الله وحده لا شرك له
และ بسم الله ضرب هذا الدرهم بالاندلس سنة ثلثين و ثلث مئةอีกด้านระบุว่า محمد رسول الله ارسله بالهدى و دين الحق ليظهره على الدين كله ولو كره المشركون
และ الامام الناصر لدين الله عبد الرحمن امير المؤمنين قاسم
เหรียญกษาปณ์ของมุสลิมสเปนเรียกกันว่า ดินาร์ สำหรับเหรียญทองคำ และดิรฮัมสำหรับเหรียญเงิน ไม่ได้แตกต่างไปจากหน่วยที่ใช้กันอยู่ในตะวันออกกลางขณะนั้น เหรียญเหล่านี้ยังนิยมใช้ในรัฐคริสเตียนตอนเหนืออยู่นานถึง 400 ปี เคียงคู่เงินตราของฝรั่งเศสตลอดสมัยการปกครองของวงศ์อุมัยยะห์ สะท้อนให้เห็นการรักษาสมดุลระหว่างกลุ่มอำนาจทางสังคมที่ประกอบขึ้นจากหลายๆเชื้อชาติ คือชาวอาหรับ เบอร์เบอร์ มุสลิมสเปนพื้นเมือง โมซาแรบ และพวกซอกอลิบะห์(ทาสผิวขาวที่ถูกอบรมให้เป็นมุสลิมและทหารตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทำนองเดียวกับทหารแจนนิสซารีในยุคออตโตมัน)
ชาวอาหรับซึ่งมีอยู่ไม่เกินแสนคน อพยพเข้ามาตั้งแต่ศตวรรษแรกของการยึดครอง เป็นชนชั้นผู้ปกครอง จะอาศัยอยู่แถบดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ตลอดฝั่งแม่น้ำกัวดัลคีวัร์ เอโบรและเจนีล บริเวณรอบๆโทเลโด และพื้นที่ที่ชลประทานเข้าถึงของภูมิภาคตะวันออกและภาคใต้ ชาวอาหรับจะรักษาขนบธรรมเนียมและผูกพันกับระบบชนเผ่าของตนค่อนข้างมาก แม้จะหันมาแต่งงานกับชาวยุโรปและอัฟริกามากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกดังกล่าวลดลง ความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าจึงปรากฏให้เห็นเสมอๆ โดยเฉพาะระหว่างอาหรับเหนือ(มุฎอริบะห์) และอาหรับใต้ (ยะมานิยะห์)
ชาวเบอร์เบอร์อพยพมาจากอัฟริกาเหนือจำนวนหลายแสนคน เข้าไปอาศัยผสมผสานกับชาวอาหรับ ไม่ปรากฏว่ามีชุมชนที่พูดเฉพาะภาษาเบอร์เบอร์ชัดเจนในสเปน ส่วนใหญ่จะปรับตัวไปใช้ภาษาอาหรับหรือไม่ก็ละตินที่เป็นภาษาของชนพื้นเมืองพร้อมๆกับภาษาแม่ เกิดการลุกฮือของชาวเบอร์เบอร์เกิดขึ้นในสมัยของอับดุรรอฮมานที่ 1 ภายใต้การนำของชักยา บิน อับดุลวะฮีด ในสมัยของอัลฮะกัมที่ 1 ภายใต้การนำของอัซบัก บิน วันซุซ และการก่อกบฏของชนเผ่าเทาริลต่ออะมีรอับดุรรอฮมานที่ 2 อย่างไรก็ตามความวุ่นวายที่เกิดในสมัยของอะมีรอับดุลลอฮฺ สะท้อนให้เห็นรูปแบบของความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่แตกต่างออกไป สงครามกลางเมืองครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 889 โดยแม่ทัพอาหรับชื่อ กุรอยบ์ บิน คอลดูน แห่งเซวิลล์ ทำสงครามต่อต้านมุสลิมสเปนพื้นเมือง ปรากฏว่าเขาได้รับการสนับสนุนจากอาหรับใต้และชาวเบอร์เบอร์ภายใต้การนำของญุนัยด์ บิน วะฮฺบ อัลกัรมูนีย์ (ชาวเมืองคาร์โมนา) ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามคืออาหรับเหนือ มุสลิมพื้นเมืองสเปนและเบอร์เบอร์ที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มของญุนัยด์
ชาวเบอร์เบอร์ค่อยๆกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองของชาวอาหรับ งานเขียนจำนวนมากจากสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นกระแสเกลียดชังและกีดกันชาวเบอร์เบอร์(Berberphobia)ในหมู่ปัญญาชนอาหรับ ในงานเขียนของอิบนุ ฮัยยาน ถึงกับกล่าวโทษว่าการยอมรับและนิยมชมชอบวิถีแบบเบอร์เบอร์ของคอลีฟะห์วงศ์อุมัยยะห์ คือสาเหตุที่ทำให้เกิดกลียุค และนำไปสู่การล่มสลายของระบบคอลีฟะห์ในที่สุด
มุสลิมพื้นเมืองนับเป็นกลุ่มที่มีอยู่มากที่สุด ปัญหาหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์พยายามหาคำตอบจากประวัติศาสตร์ของมุสลิมสเปนก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรของสเปญหลังการยึดครอง แน่นอนว่ามีชาวอาหรับและเบอร์เบอร์จำนวนมากอพยบเข้าไปในสเปน แต่สำหรับชนพื้นเมือง การเปลี่ยนมานับถืออิสลามมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เกิดขึ้นทันทีทันใดหรือไม่ นักประวัติศสาตร์พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพื้นฐานแล้ว มุสลิมให้การยอมรับคริสเตียนและยิวว่าเป็น "ชาวคัมภีร์" (อะห์ลุล กิตาบ) และ "ชนที่ต้องได้รับการคุ้มครอง" (ซิมมีย์) โดยพวกเขามีสิทธิและหน้าที่ตามความเชื่อทางศาสนา มีกฏหมายและผู้พิพากษาตามศาสนาของตนเอง ห้ามไม่ให้มุสลิมไปบังคับให้เปลี่ยนศาสนา แต่พวกเขาต้องจ่ายภาษีที่เรียกว่า "ญิซยะห์" แลกเปลี่ยนกับการได้รับการคุ้มครอง (ในส่วนของมุสลิม ก็ต้องเสียภาษีทางศาสนา ที่เรียกว่า "ซะกาต" )
ด้วยสภาพแห่งการยอมรับดังกล่าว กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนมานับถืออิสลามของสเปนพื้นเมืองเกิดขึ้นจากปัจจัยและแรงผลักดันทางสังคมมากกว่าการเผยแผ่ศาสนาของนักปราชญ์โดยตรง ชนชั้นปกครองเดิม ซึ่งรู้ดีว่าตนจะสามารถคงสถานภาพดั้งเดิมของตนได้ หากเปลี่ยนเป็นมุสลิม?หรือชาวเมืองที่เห็นโอกาสในความก้าวหน้าของอาชีพการงานหรือการศึกษาจากชนชั้นผู้ปกครองและพ่อค้าที่เป็นอาหรับ หรือแม้แต่ด้วยการแต่งงาน ซึ่งอิสลามอนุญาตให้บุรุษแต่งงานกับสตรีคริสเตียนหรือยิว ฯลฯ จะเห็นว่า อับดุลอาซิซ บุตรของ มูซา บิน นุซัยร์ ผู้บุกเบิกสเปนในระยะแรก ก็แต่งงานกับภรรยาม่ายของโรเดอริก กษัตริย์ของวิซิโกธ ส่วนคอลีฟะห์อับดุรรอฮมานที่ 3 ก็เป็นลูกของทาสีคริสเตียน หรือแม้แต่อัลมันซูรก็พอใจที่จะแต่งงานกับสตรีชาวบาสก์ มากกว่าที่จะแต่งงานกับสตรีอาหรับ?บรรดาขุนนางมุสลิมที่ปกครองหัวเมืองต่างๆ เป็นคนที่มาจากตระกูลที่เคยมีอำนาจมาตั้งแต่ก่อนการยึดครองของอาหรับ ปัจจัยทางสังคมที่กล่าวมา ค่อยๆเปลี่ยนให้ชนพื้นเมืองสเปนหันมานับถืออิสลาม กลายเป็นกลุ่มชนที่ค่อยๆมีบทบาทสังคมแทนที่ชาวอาหรับในระยะต่อมา ชาวอาหรับเรียกมุสลิมใหม่นี้ว่า มุวัลละดูน
Richard W. Bulleit นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ตั้งสมมุติฐานรูปแบบการเปลี่ยนมานับถืออิสลามของชนพื้นเมืองสเปนว่ามีลักษณะเป็นทวีคูณ ดังแผนภูมิข้างล่าง
สมมุติฐานดังกล่าวนี้ อยู่บนพื้นฐานจากการศึกษาตำราลำดับศักดิ์ของวงศ์ตระกูลที่เขียนขึ้นในยุคดังกล่าว ในโลกมุสลิมยุคกลางนั้น การเขียนปทานุกรมเรียบเรียงลำดับชั้นของวงศ์ตระกูลจะเป็นที่นิยมกันทั่วไป ตัวอย่างหนึ่งของหนังสือที่ Bulleit ใช้วิเคราะห์ ก็คือบันทึกชีวประวัติของผู้พิพากษา(กอฎี)แห่งคอร์โดบา เขียนโดยอัลกุชานีย์ ที่มีชีวิตอยู่ในคอร์โดบากลางคริสตวรรษที่ 10 สืบสาววงศ์ตระกูลของกอฎีแต่ละท่าน ชื่อที่ปรากฏในบันทึกซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของบุคคลในวงศ์ตระกูลแต่ละช่วงอายุจากชื่อคริสเตียน เช่น Tudmir, Rudruq, Lubb ฯลฯ ค่อยๆเพิ่มไปเป็นชื่อมุสลิม เช่น Ali, Muhammad และ Umar ฯลฯ แสดงให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของแต่ละตระกูลได้เป็นอย่างดี
แม้สมมุติฐานนี้ไม่อาจบ่งบอกตัวเลขในเชิงปริมาณได้เที่ยงตรงนัก แต่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบนี้ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในแต่ละสมัย จากสมมุติฐานดังกล่าวนี้ เราประมาณการได้คร่าวๆว่า ประมาณปี ค.ศ. 800 หรือเกือบร้อยปีหลังการยึดครองของอาหรับ มีมุสลิมสเปนพื้นเมืองอยู่เพียงร้อยละ 8 และเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 12.5 ในอีก 50 ปีต่อมา โดยภาพรวม มุสลิมยังคงเป็นชนส่วนน้อย การเปลี่ยนมาเข้ารับอิสลามจำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นปกครองและชนชั้นสูงของสังคม สอดคล้องกับบันทึกที่มาจากช่วงดังกล่าวที่สะท้อนให้เห็นเฉพาะเรื่องราวของชนชั้นปกครองและสังคมของผู้คนในเมือง อำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่ยังตกเป็นของชาวอาหรับและเบอร์เบอร์ที่อพยบเข้ามา โครงสร้างบริหารในรูปแบบดั้งเดิมของชาวอาหรับก็ถือว่าเพียงพอ ที่สำคัญ สิ่งนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมอับดุรรอฮมานที่ 1 ซึ่งแม้จะเป็นศัตรูกับคอลีฟะห์วงศ์อับบาซิยะห์แห่งแบกแดด แต่ก็ไม่ได้สถาปนาตนขึ้นเป็นคอลีฟะห์ แม้จะยึดสเปนมาได้ ทั้งๆที่เขาก็มาจากวงศ์อุมัยยะห์แห่งดามัสกัสที่พึ่งถูกอับบาซิยะห์โค่นล้มไป เขาคงเข้าใจดีว่าสเปนขนะนั้นยังต้องพึ่งพาโลกอิสลามจากส่วนกลาง ไม่อาจแยกตัวเป็นเอกเทศโดยสิ้นเชิงได้นั่นเอง
การติดต่อระหว่างมุสลิมกับชนพื้นเมืองค่อยๆเพิ่มขึ้น ทำให้ชนพื้นเมือง โดยเฉพาะชาวนา และประชาชนตามชนบทเข้ารับอิสลามมากขึ้น อัตราการเปลี่ยนแปลงเริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมุสลิมพื้นเมืองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ในช่วงปี ค.ศ. 900 หรือในอีก 50 ปีต่อมา ชนพื้นเมืองสเปนมีบทบาทในทางการปกครองมากขึ้น เหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์นี้ก็คือการก่อกบฏของอุมัร บิน ฮัฟซูน (ประมาณปี ค.ศ. 880-917) กล่าวได้ว่าคือกบฏของชนพื้นเมืองที่ต่อต้านการปกครองชาวอาหรับนั่นเอง ในฟากของคริสเตียน เราจะเห็นความไม่พอใจของผู้นำคริสเตียนต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกิดความขัดแย้งทางศาสนาในช่วงของอับดุรรอฮมานที่ 2?เกิดกรณีของนักบุญเปอร์เฟคตุสและยูโลกิอุสที่ดูถูกเหยียดหยามท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ในที่สาธารณะ จนถูกโทษประหาร แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของฟากคริสเตียนต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ชนพื้นเมืองมุสลิมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นร้อยละ 50 ในปี ค.ศ. 950 ช่วงปลายสมัยของอับดุรรอฮมานที่ 3 และเป็นร้อยละ 75 ในช่วงปี ค.ศ. 1000 นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้อับดุรรอฮมานที่ 3 เห็นว่าตนเองสามารถที่จะอ้างสิทธิการเป็นคอลีฟะห์ของโลกอิสลามได้อย่างเต็มตัว
การสร้างและต่อเติมมัสยิดกลางของเมืองคอร์โดบาสอดคล้องกับสมมุติฐานนี้ เดิมทีนั้น มัสยิดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยอับดุรรอฮมานที่ 1 ในช่วงปลายรัชสมัย ประมาณปี ค.ศ. 784-786 และได้รับการต่อเติมในอีก 50 ปีต่อมา สมัยของอับดุรรอฮมานที่ 2 ระหว่างปี ค.ศ. 833-848? ต่อเติมอีกครั้งในปี ค.ศ.961-966 ในสมัยของอัลฮะกัมที่ 2 และได้รับการต่อเติมครั้งสุดท้ายโดยอัลมันซูร ระหว่างปี ค.ศ. 987-990 สะท้อนให้เห็นการเพิ่มขึ้นของสัปบุรุษ ที่เกิดจากการทะยอยเข้ารับอิสลามของพื้นเมืองมากขึ้นนั่นเอง
โดยสรุปแล้ว เราประมาณการคร่าวๆ ถึงจำนวนประชากรของสเปนได้ว่ามีประชากรอยู่ประมาณ 7 ล้านคนในปีที่อาหรับเข้ายึดครอง จำนวนไม่ได้เพิ่มขึ้นไปกว่านี้มากนักในคริสตวรรษที่ 11 เพราะมีคริสเตียนจำนวนมากที่อพยพไปอยู่ทางเหนือ ประมาณปี ค.ศ. 912 ทั้งมุสลิมพื้นเมือง อาหรับและเบอร์เบอร์มีอยู่ประมาณ 2.8 ล้านคน และในปี ค.ศ. 1100 เพิ่มเป็น 5.6 ล้านคน
ลักษณะการเพิ่มขึ้นในรูปแบบดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆของโลกอิสลาม กว่ามุสลิมจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอิรัค ก็ย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 3 ของอิสลาม ในอียิปต์ ใช้เวลา 4 ศตวรรษ และในอัฟริกาเหนือ ประชากรจำนวนมากยังไม่ได้เป็นมุสลิม จนกระทั่งมุสลิมที่ถูกขับไล่ออกจากสเปนในช่วงคริสตวรรษที่ 13-15 อพยพไปตั้งถิ่นฐาน
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า คริสเตียนและยิวจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายอิสลาม พวกเขาได้รับอนุญาตให้ใช้กฎหมายของตนเอง มีศาลศาสนาและผู้พิพากษาของตนเองเพื่อปกครองประชาชนในชุมชนของตน ตราบใดที่ผู้ร้องทุกข์และผู้ถูกกล่าวหาเป็นบุคคลของชุมชนนั้นๆ โดยทั่วไปแล้ว อำนาจของศาสนานี้จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว และความสัมพันพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่ปรากฏมีอยู่ในบทบัญญัติทางศาสนา ในสมัยแรกๆ อัรรอบิอฺ หัวหน้าของชุมชนคริสเตียนในคอร์โดบาเป็นตำแหน่งสำคัญตำแหน่งหนึ่งในวังของวงศ์อุมัยยะห์ และในชุมชนยิว กฎหมายตัลมูดตามแบบการตีความของสำนักคิดบาบิโลเนียนถูกนำมาใช้
โมซาแรบ เป็นคำที่ใช้เรียกชาวคริสเตียนสเปนที่ยอมอยู่ใต้การปกครองของชาวอาหรับ ( Mozarab มาจากคำว่า Musta'rib แปลว่าผู้ที่ยอมรับภาษาและวิถีของชาวอาหรับ) ในบันทึก Indiculus luminosus ของ Paul Albar กล่าวถึงหนุ่มสาวคริสเตียนชาวคอร์โดบาในคริสตวรรษที่ 9 ว่าสนใจที่จะพูดแต่อาหรับ จนไม่สามารถพูดภาษาแม่ของตนได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีงานเขียนภาษาอาหรับที่เขียนโดยคริสเตียนสเปน (อาจจะมี แต่ไม่มีเหลือมาจนถึงปัจจุบัน) คำว่า"โมซาแรบ" ปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกภาษาละติน และดูเหมือนว่ามุสลิมจะไม่ได้ใช้คำๆนี้เรียกคริสเตียนสเปนเสียด้วยซ้ำ จึงเป็นไปได้คำๆนี้จะเกิดขึ้นจากการรณรงค์ของผู้นำคริสเตียนอย่างยูโลกิอุสให้ต่อต้านมุสลิม หลังพบว่ามีคริสเตียนจำนวนมากเข้ารับนับถืออิสลาม จนกลายเป็นความขัดแย้งทางศาสนาที่เกิดในช่วงของอับดุรรอฮมานที่ 2 ดังที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้นั่นเอง แม้คริสเตียนสเปญจะรับอิทธิพลของวัฒนธรรมอาหรับได้ช้ากว่าชาวยิว แต่ในปี ค.ศ. 1085 ตอนที่แคชตีลยึดเมืองโทเลโดคืนไปนั้น พบว่าคริสเตียนทั้งหมดที่อยู่ในเมืองพูดได้เฉพาะภาษาอาหรับ
สำหรับยิว บุคคลที่มีชื่อเสียงในสมัยอุมัยยะห์ก็คือ ฮัสดาย บิน ชัฟรุต เป็นทูตและนายแพทย์ ในสมัยมุลูก อัฏเฏาะวาอีฟ(
ดูบทถัดไป) ยิวจากตระกูลแนกเรลลา คือ ซามุเอลและโจเซฟ ดำรงตำแหน่งเป็นวิเซียร์ของสุลต่านวงศ์ซิรีย์แห่งเกรนนาดาซึ่งเป็นเบอร์เบอร์ ตอนนั้นเศรษฐกิจของชนชั้นกลางของเกรนนาดาตกอยู่กับชาวยิว สุลต่านจึงใช้ยิวคานอำนาจของขุนนางอาหรับ วงศ์ซิรีย์แห่งเกรนาดารักษาอำนาจของตนไว้ได้ด้วยการหลอมรวมเศรษฐกิจและการบริหารจัดการของยิวกับกองทัพเบอร์เบอร์ที่เข็มแข็ง นั่นเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดที่ยิวเคยได้รับในสมัยที่อิสลามครอบครองสเปน
ความสัมพันธ์ระหว่างชนต่างศาสนาเริ่มมีปัญหาในช่วงปลายสมัยอุมัยยะห์ ซึ่งตอนนั้นมุสลิมกำลังประสบปัญหาการเมืองภายใน และรุนแรงขึ้นในสมัยการปกครองของพวกมุรอบิฏูน (ดูบทถัดไป) คริสเตียนและยิวถูกกวาดล้างที่คอร์โดบาในปี ค.ศ. 1013 ที่ซาราโกซาในปี ค.ศ.1039 และเกรนาดา ในปี ค.ศ. 1066 พวกมูรอบิฏูนได้เนรเทศพวกโมซาแรบในปี ค.ศ. 1120 เกิดจราจลต่อต้านยิวที่คอร์โดบาในปี ค.ศ. 1135 และที่วาเลนเซียในปี ค.ศ. 1144-1145
http://www.azizstan.ac.th/th/index.php?option=com_content&view=article&catid=57&id=117%3A--&Itemid=69

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น