วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553

มหานครแบบแดด อาณาจักรอับบาซียะห์ อู่อริยธรรมโลก

อิรัก อู่อารยธรรม
ขณะนี้สายตาของชาวโลกกำลังจับจ้องมองอยู่ที่แผ่นดินอิรัก ชะตากรรมของผู้คนในประเทศนั้นและวิวัฒนาการของสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ อย่างไรก็ตามดินแดนที่เพิ่งเป็นที่รู้จักกันว่าอิรักเมื่อไม่นานมานี้เคยเป็นแหล่งอารยธรรมที่ได้เห็นทั้งการรุ่งเรืองและตกต่ำของหลากหลายอารยธรรมและได้ยินเสียงของสงครามเหนือแผ่นดินของตนเองมาหลายครั้งแล้ว

นอกจากนั้น อิรักยังเป็นแผ่นดินที่เต็มไปด้วยรอยเท้าของศาสดาหลายคนก่อนหน้านี้และมันเป็นแผ่นดินที่เป็นที่ตั้งของแม่น้ำสำคัญสองสายนั่นคือ “ดิญละฮ์” และ “ฟุรอต” (ไทกริส และยูเฟรตีส)

การเข้ามาของอิสลาม
อิสลามเข้ามาในแผ่นดินอิรักครั้งแรกเมื่อเคาะลีฟะฮ์ อุมัร อิบนุล ค็อฏฏอบ ได้ส่งทหารไปยังแผ่นดินของพวกเปอร์เซียที่ปกครองอิรักอยู่เพื่อเปิดทางให้แก่อิสลาม ใน ค.ศ.634 ทหารมุสลิมจำนวน 18,000 คนภายใต้การนำของคอลิด อิบนุวะลีดได้มาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำยูเฟรตีสแต่ถึงแม้กองทัพของพวกเปอร์เซียจะมีจำนวนมากกว่า คอลิด อิบนุวะลีดก็ได้บอกชาวเปอร์เซียว่า “ยอมรับอิสลามเสียและพวกท่านก็จะปลอดภัยหรือมิเช่นนั้นก็จงจ่ายภาษีคุ้มครอง (ญิซยะฮ) ถ้าหากพวกท่านปฏิเสธอย่างหนึ่งอย่างใด พวกท่านจะต้องตำหนิตัวเอง มีคนพร้อมอยู่ต่อหน้าท่านแล้วพวกเขารักความตายเหมือนกับที่พวกท่านรักการมีชีวิต”

พวกเปอร์เซียไม่ยอมรับทั้งสองอย่างแต่พวกเขากลับล่ามโซ่ทหารของตนเข้าไว้ด้วยกันเพื่อที่จะไม่ให้ใครหนีทัพทั้งๆที่มีกำลังมากกว่าฝ่ายมุสลิมหลายเท่า สงครามครั้งนั้นเรียกว่า "สงครามแห่งโซ่" แต่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับแม่ทัพที่ท่านนบีมุฮัมมัด ได้ให้ฉายาว่า“ดาบของอัลลอฮ”จึงต้องประสบความพ่ายแพ้และเสียหายอย่างหนักจนต้องถอยไปรวมกันภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพที่มีชื่อว่ารัสตัม หลังจากนั้น ใน ค.ศ.636 ที่กอดีซีะฮ์ซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของแบกแดดกองทัพของรัสตัมต้องต่อสู้กับกองทหารมุสลิมที่มีจำนวนน้อยกว่าถึงหกเท่า แต่กองทัพของเปอร์เซียก็ต้องประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยินและรัสตัมต้องเสียชีวิตในการรบหลังจากสิ้นสุดการต่อต้านจากพวกเปอร์เซีย เมโสโปโตเมียก็กลายเป็นหนึ่งกับรัฐอิสลาม

หลังจากนั้นไม่นานนักภาษาอาหรับก็ได้เข้าไปแทนภาษาเปอร์เซียในฐานะที่เป็นภาษาของรัฐและได้กลายเป็นภาษาของผู้คนไป ประชาชนชาวเปอร์เซียนับหมื่นคนได้หันมาเข้ารับอิสลามและมุสลิมได้แต่งงานกับผู้หญิงที่หันมาเข้ารับอิสลามและผู้ชายชาวเปอร์เซียที่หันมาเข้ารับอิสลามก็ได้แต่งงานกับผู้หญิงมุสลิม

อุมัรได้สั่งให้สร้างเมืองทหารขึ้นสองเมืองเพื่อคุ้มครองแผ่นดินใหม่ของรัฐอิสลาม นั่นคือเมืองกูฟะฮ์เมืองหลักและต่อมาได้กลายเป็นเมืองหลวงของอิมามอะลีและอีกเมืองหนึ่งก็คือเมืองบัสเราะฮ์ที่ต่อมาได้กลายเป็นเมืองท่า

ความก้าวหน้าทางด้านอุดมการณ์
ด้วยการปกครองแบบรัฐอิสลามหรือรัฐคิลาฟะฮ์ ทำให้เมโสโปเตเมียและผู้คนได้รับความเจริญรุ่งเรือง นี่คือผลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของสังคมที่ใช้อุดมการณ์ในการดำเนินชีวิต อุดมการณ์คือความคิดกว้างๆที่ค้นพบได้โดยผู้มีศึกษา ชีวิตของเขาและจักรวาลที่เขาอาศัยอยู่ ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์กว้าง มันสามารถที่จะให้คำตอบแก่ปัญหาใดๆก็ตามที่มนุษย์เผชิญอยู่และสามารถจัดระบบสังคมให้โดยไม่ต้องไปดูที่อื่น

ยุคทอง
ค.ศ.750 ยุคของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ได้เริ่มต้นขึ้น ใน ค.ศ.762 แบกแดดได้ถูกสร้างขึ้นและหลังจากนั้นไม่นานก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอิสลามที่ปกครองด้วยเคาะลีฟะฮ์ ภายใต้อิสลาม แบกแดดไม่เพียงแต่จะเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจในโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางที่มีชื่อเสียงของโลกในด้านการเรียนรู้ การค้าและวัฒนธรรมที่สร้างความรุ่งเรืองทางด้านวิทยาศาสตร์และวรรณกรรมในทุกสาขา มันเป็นจุดสุดยอดทางด้านปัญญาของโลกและหลายคนถือว่านี่เป็นช่วงเวลาที่อิสลามถึงจุดสุดยอด นั่นคือยุคทองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์

แม่น้ำไทกริสและยูเฟรตีสก็มีส่วนสำคัญในการสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้เกินพอสำหรับการเลี้ยงดูเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองไปจากคอนสแตนติโนเปิล ฮารูน อัร-รอชีดซึ่งได้ขึ้นมาเป็นเคาะลีฟะฮ์ปกครองอิรักในช่วง ค.ศ.786-806 ได้ถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในบรรดาเคาะลีฟะฮ์ผู้ทรงคุณธรรมและอยู่ในทางนำ

แผ่นดินอิรักได้สร้างนักคิดขึ้นมากมายอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน มันเป็นแผ่นดินที่เป็นศูนย์กลางสำหรับความคิดก็ต่อเมื่อรัฐที่ปกครองด้วยเคาะลีฟะฮ์นำอุดมการณ์อิสลามมาปฏิบัติ ครั้งหนึ่ง มุฮัมมัด อิบนุ อิดรีส อัช-ชาฟีอีผู้ทรงความรู้เรื่องอิสลามได้มายังเมืองแบกแดดในศตวรรษที่ 8 และได้อภิปรายทางวิชาการกับอิมาม มุฮัมมัด อิบนุ ฮะซัน ชัยบานี ลูกศิษย์คนสำคัญของอิมามอบูฮะนีฟะฮ์ ที่นี่อิมามชาฟีอีได้ตั้งสนักนิติศาสตร์อิสลามของตนขึ้นและได้สอนลูกศิษย์คนสำคัญอีกคนหนึ่ง นั่นคืออิมามอะหมัด อิบนุ ฮัมบัล อิมามอะหมัดเกิดในแบกแดดและเสียชีวิตที่นั่น จึงเห็นได้ว่าในยุคนั้นเป็นยุครุ่งเรืองทางวิชาการของอิสลามเช่นเดียวกับวิชาการด้านอื่นๆ มีโรงพยาบาลและโรงพยาบาลฝึกสอนเปิดขึ้นหลายแห่ง อบูญะฟัร มุฮัมมัด อิบนุ มูซา อัล-ควาริซมีได้ค้นพบวิชาพีชคณิตและได้ถูกยกย่องว่าเป็นผู้ประดิษฐ์เลขศูนย์ขึ้นมา หนังสือ “กิตาบ อัล-ญับร์ วะ มุกอบะละฮฺ”ของเขาได้ถูกนำไปใช้สอนวิชาพีชคณิตให้ชาวยุโรปและในยุคที่มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาการในยุโรป ชื่อของเขาก็ได้ถูกแปลผิดเป็น “อัลกอริซม์” มาจนถึงทุกวันนี้

ผู้พิชิตโลก
เมื่อเตมูจินหัวหน้าเผ่าชาวมองโกลคนหนึ่งสามารถรวบรวมเผ่ามองโกลที่แตกกระสานซ่านเซ็นให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ ในตอนต้นศตวรรษที่ 13เขาก็นำผู้คนชาวมองโกลเข้าผิดชิตไซบีเรียและจีนตอนเหนือจนเมืองปักกิ่งต้องราบคาบ หลังจากนั้น เขาก็นำกองทหารที่เข้มแข็งของเขาจำนวน 700,000 คนมุ่งหน้ามาทางตะวันตกสู่อาณาจักรอิสลาม เขาทำลายเมืองสะมาร์คันด์ในอุซเบกีสถาน เมืองบอลค์ในอาฟกานิสถาน เมืองเมิร์ฟในเตอร์มานิสถานและเมืองเนย์ชาบูร์ในอิหร่าน ผู้คนในเมืองเหล่านี้ถูกฆ่าตายหมด ต่อมาเตมูจินได้เปลี่ยนชื่อของเขาเป็นเจงกิสข่านซึ่งหมายถึงผู้ปกครองจักรวาลหรือผู้พิชิตโลก

เจงกิสข่านเชื่อว่าเทพเจ้าของเขาเหนือกว่าพระเจ้าองค์เดียวของมุสลิมและหาทางที่จะพิสูจน์เรื่องนี้โดยการพิชิตอาณาจักรอิสลามทั้งหมด

“ ข้าคือการลงโทษของพระเจ้า ถ้าหากพวกเจ้าไม่ได้ทำบาปใหญ่ พระเจ้าก็ไม่น่าจะส่งการลงโทษอย่างเช่นข้ามายังพวกเจ้า” (เจงกิสข่าน)

เมื่อเขาเสียชีวิตใน ค.ศ.1227 ในการต่อสู้พวกตังกุตของจีนทางตะวันออกเฉียงเหนือ หากเปรียบเทียบพื้นที่ที่เขาพิชิตได้ เขาก็คือผู้พิชิตที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล

ใน ค.ศ.1258 ฮูลากูข่านหลานชายของเตมูจินได้โจมตีแบกแดด ในเวลานั้นกองทัพของเขาเป็นกองทัพแห่งการทำลายล้างที่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้ เคาะลีฟะฮ์อัล-มุสตะซิมบิลละฮ์ถูกฆ่าและมุสลิมนับแสนคนถูกฆ่าจนถนนในแบกแดดกองไปด้วยซากศพและถนนกลายเป็นแม่น้ำโลหิต

พวกมองโกลเข้าแบกแดดในวันอาชูรอและอาณาจักรอิสลามของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ต้องสิ้นสุดลงไปด้วยเลือด กล่าวกันว่าแม่น้ำในแบกแดดได้กลายเป็นสีฟ้าจากหนังสือในห้องสมุดซึ่งถูกทำลายและถนนต้องแดงฉานไปด้วยเลือดของมุสลิม

หลังจากทำลายแบกแดดแล้ว กองทัพของฮูลากูก็บ่ายหน้าขึ้นเหนือไปทำลายแผ่นดินซีเรียและยึดเมืองดามัสกัสไว้ใน ค.ศ.1259 เมืองหลวงของอาณาจักรมุสลิมถูกทำลาย กองทัพต่างๆต้องพ่ายแพ้ลงอย่างราบคาบให้แก่ความดุดันห้าวหาญของทหารม้าและทหารราบของพวกมองโกลจนมุสลิมต้องสิ้นหวังในการที่จะต้านทาน ความโหดเหี้ยมของพวกมองโกลในทุกที่ที่ไปก็ทำลายขวัญของมุสลิมลง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ใน ค.ศ.1260 พวกมองโกลไม่เพียงแต่จะพ่ายแพ้เท่านั้น แต่ยังได้ถูกกวาดล้างออกไปจากแผ่นดินมุสลิมในสงครามอัยน์ญะลูตที่เลื่องลือด้วย เราจะได้เห็นว่าความพ่ายแพ้ได้แปรเปลี่ยนเป็นชัยชนะได้อย่างไร

หลังจากนี้ อิรักก็ได้รับความเดือดร้อนจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจและได้สูญเสียความรุ่งเรืองไป

พวกมองโกลเจตนาทำลายระบบการชลประทานลงซึ่งทำให้แผ่นดินกลายเป็นหนองบึงขึ้นมาแทน ระบบเผ่าได้เกิดขึ้นมาจนกลายเป็นอิรักสมัยใหม่

แต่ก็เช่นเป็นดังเช่นเคย คนที่เห็นระบบอิสลามได้ยอมรับมันเช่นเดียวกับพวกมองโกลผู้รุกราน ผู้ทำลายได้เริ่มสร้างมัสญิดและโรงเรียนขึ้นหลายแห่งดังเช่นฆ็อซซาน คานได้ยอมรับอิสลามเป็นศาสนาของรัฐของเขาอย่างเป็นทางการในตอนต้นศตวรรษที่ 14

จากศตวรรษที่ 16 อาณาจักรอิสลามที่ปกครองด้วยเคาะลีฟะฮ์ราชวงศ์อุษมานี (ออตโตมานเติร์ก) ได้ใช้แบกแดดเป็นที่ตั้งทางทหารแห่งหนึ่ง พวกอุษมานีได้ให้ความสนใจในการพิชิตยุโรปมากกว่าการฟื้นฟูเมืองหลวงเก่าของรัฐให้กลับมารุ่งโรจน์ดังเดิม ดังนั้น รัฐของพวกเศาะฟาวีย์ (ที่ประกาศให้หลักความเชื่อของชีอ๊ะฮ์เป็นศาสนาทางการของอิหร่าน) จึงได้ลุกขึ้นต่อสู้และเข้ามาควบคุมแบกแดดไว้ในช่วงเวลาสั้นๆถึงสองครั้งในศตวรรษที่ 16 และ 17 แต่หลังจากนั้น พวกอุษมานีก็สามารถเข้ามาควบคุมได้ทั้งสองครั้ง วันเวลาแห่งความรุ่งโรจน์จึงผ่านไปชั่วเวลาหนึ่ง แต่อิรักก็ยังคงอยู่ภายใต้ร่มเงาการปกครองแบบคิลาฟะฮ์จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20

อิรักที่ปราศจากการปกครองแบบคิลาฟะฮ์
ใน ค.ศ.1914 อังกฤษได้มาขึ้นบกที่ชัตตุลอาหรับและยึดเมืองบัสเราะฮไปจากพวกอุษมานี เมื่อถูกปิดล้อมในหลายด้านและได้รับอิทธิพลจากตัวแทนอังกฤษคือมุสฏอฟา เคมาลที่อ้างว่ามีเป้าหมายสำคัญอื่นๆอีกมากที่จะต้องป้องกัน แบกแดดจึงตกเป็นของอังกฤษหลังจากสงครามนองเลือดหลายครั้งใน ค.ศ.1917

แน่นอน ภายใต้การปกครองของพวกอุษมานี อิรักก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่มีสามจังหวัดที่อยู่ภายใต้ร่มเงาการปกครองของพวกอุษมานี นั่นคือโมซุลในตอนเหนือ แบกแดดในตอนกลางและบัสเราะฮ์ในตอนใต้ ภายใต้สัญญาไซกีส-พีโกต์ (Sykes-Picot) โมซุลจะต้องตกเป็นของฝรั่งเศส ส่วนแบกแดดและบัสเราะฮ์จะเป็นของอังกฤษ แต่ฝรั่งเศสได้ถอนตัวออกจากโมซุลใน ค.ศ.1920 ในปีนั้นได้มีการกบฏต่อต้านการปกครองของอังกฤษหลายครั้งและอังกฤษรู้สึกว่าหากไม่มีโมซุล อีกสองเมืองก็ไม่สามารถที่จะเป็นอาณานิคมที่เป็นเอกราชได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือเป็นที่รู้กันว่าโมซุลเป็นแหล่งสำรองน้ำมันขนาดใหญ่ ในปีเดียวกัน อะมีรฟัยซอลที่เห็นรัฐบาลของตนในดามัสกัสซึ่งถูกอังกฤษทำลายได้ถูกอังกฤษแต่งตั้งให้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ของอิรักซึ่งทำให้อิรักเกิดขึ้นมาเป็นราชอาณาจักร แต่เนื่องจากในอิสลามไม่มีแนวความคิดเรื่องเพลงชาติ อังกฤษจึงได้เลือกเอาเพลง“ก็อดเซฟเดอะคิง” ขึ้นมาบรรเลงในการแต่งตั้งเขาขึ้นนั่งบัลลังก์

เซอร์เพอร์ซี ค็อกซ ข้าหลวงใหญ่ได้อาศัยอยู่ในอิรักเพื่อให้การดูแลแหล่งสำรองน้ำมัน หลังจากนั้นบริษัทปิโตรเลียมอิรักที่เป็นของอังกฤษก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้น ค่ายทหารต่างๆได้ป้องกันช่องทางไปสู่อินเดีย โครงสร้างพื้นฐานของอิรักเป็นแบบกึ่งศักดินาที่ประกอบด้วยพวกชีอ๊ะฮ์กลุ่มใหญ่ในตอนใต้ พวกเคิร์ดในตอนเหนือซึ่งต้องการมีรัฐชาติของตัวเอง พวกอาหรับเผ่าต่างๆที่มีอยู่ก่อนนั้นและยังคงอยู่ที่นั่นตั้งแต่พวกมองโกลบุกเข้ามา

อิรักได้รับเอกราชใน ค.ศ.1932 และได้ถูกรับเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติในปีเดียวกันโดยทิ้งตัวแทนอาหรับอย่างเช่นนูร สะอี๊ดไว้ข้างหลัง สิ่งที่ตามมาก็คือการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจกันเป็นเวลาหลายปีซึ่งในจำนวนนี้ก็มีการโค่นอำนาจราชวงศ์โดยรอชาด อะลี ทำให้สะอี๊ดต้องหนีออกจากอิรัก แต่หลังจากนั้นก็มีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกและอะลีต้องหนีหนีไปอยู่ที่ซาอุดีอารเบีย ขณะเดียวกัน ในดามัสกัสได้มีการก่อตั้งพรรคบาธขึ้นโดยไมเคิล อัฟลัก ชาวคริสเตียนกรีกออร์โธดอกซ์ หลักการของพรรคบาธคือสังคมนิยม ต่อต้านพวกล่าอาณานิคมและนิยมประเพณีอาหรับที่นำไปสู่ปรัชญาการรวมชาติอาหรับ คำขวัญของพรรคก็คือ “เอกภาพ เสรีภาพ สังคมนิยม” โดยมีเป้าหมายที่อาหรับพรรคบาธได้ขึ้นมามีอำนาจในซีเรียและอิรัก พวกบาธได้ให้ความช่วยเหลือรอชาด อะลีในการก่อการปฏิวัติและหนึ่งในจำนวนนั้นก็มีซัดดัม ฮุสเซนรวมอยู่ด้วย

ใน ค.ศ.1958 นายทหารอิรักสองคนคือพลตรีกัสเซ็มและพันเอกอับเดล สะลาม อารีฟ ได้โค่นอำนาจกษัตริย์ลง กษัตริย์อับดุลลอฮ์และเจ้าชายในเวลานั้นได้ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อทั้งสองออกมาจากราชวังที่ถูกล้อมอยู่เพื่อยอมแพ้ นูร สะอี๊ดได้หลบหนีไป แต่ก็ได้ถูกตามตัวได้ แต่ก่อนที่จะถูกจับ เขาก็ยิงตัวเองตาย วันที่ 14 กรกฎาคมเป็นวันก่อตั้งสาธารณรัฐมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ซัดดัมขึ้นมามีอำนาจ
ซัดดัม ฮุสเซนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรัฐประหารในปี 1958 แต่เขาได้ขึ้นมามีอำนาจหลังจากนั้นในการทำรัฐประหารของพวกพรรคบาธต่อนายพลกัสเซ็มและอันเอกอับเดล สะลาม อารีฟใน ค.ศ.1968 ซัดดัมซึ่งอังกฤษให้การสนับสนุนได้มองเห็นตัวเองว่าเป็นผู้นำอาหรับที่ยิ่งใหญ่ถึงแม้เขาจะเป็นคนรับใช้เจ้านายของเขาในตะวันตก เขาปกครองประเทศแบบเผด็จการและเหี้ยมโหด ใช้สื่อประโคมสร้างภาพพจน์ให้แก่ตัวเองและสร้างบารมีด้วยอำนาจตำรวจลับของเขา

ใน ค.ศ.1980 ซัดดัมได้พาอิรักเข้าสู่สงครามอันน่าเศร้ากับอิหร่านตามคำยุยงของตะวันตก ในช่วงเวลานี้เองที่อาวุธทำลายล้างสูงชนิดต่างๆได้ถูกรัฐบาลตะวันตกส่งเข้ามา สงครามดำเนินไป 8 ปีโดยมีผู้คนนับล้านต้องบาดเจ็บและล้มตาย

ในระหว่างสงครามครั้งนี้ พวกเคิร์ดได้พยายามหาทางสร้างชาติของตนเองโดยการทำสงครามกองโจรต่อรัฐบาลอิรัก แต่เนื่องจากยังทำสงครามอยู่กับอิหร่าน ซัดดัมจึงไม่สามารถจัดการเรื่องของชาวเคิร์ดได้ แต่เมื่อสงครามกับอิหร่านสิ้นสุด เขาก็หันมาจัดการกับพวกเคิร์ดอย่างรุนแรง ซัดดัมโจมตีพวกเคิร์ดหลายครั้งรวมทั้งใช้แกสพิษและแกสประสาทสังหารพลเรือนอย่างเหี้ยมโหดที่ฮาลับจาไปประมาณ 5 พันคน ตะวันตกจึงฉวยโอกาสเอาการกระทำดังกล่าวมาเป็นตัวอย่างและเป็นข้ออ้างสำหรับการทำสงครามต่ออิรักว่าเพื่อเป็นการทำลายอาวุธร้ายแรงทั้งๆที่ตะวันตกเองเป็นผู้ขายแกสพิษให้แก่ซัดดัม และชาติตะวันตกอีกนั่นเองที่สังหารประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามนับแสนคนที่เกาะฮิโรชิมาและนางาซากิ การทำลายศัตรูผู้รุกราน

เหตุผลประการหนึ่งที่ฮูลากูข่านสามารถยึดแบกแดดได้ก็คืออัล-กอมีเสนาบดีของเคาะลีฟะฮ์มุอ์ตะซิมบิลละฮ์ทรยศเป็นไส้ศึกให้ฮูลากู

อัล-กอมีสัญญาพวกมองโกลอย่างลับๆว่าเขาจะหาทางไม่ให้มีการต่อต้านใดๆจากฝ่ายมุสลิมเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการให้เขาได้เป็นผู้ปกครองคนต่อไปในอนาคต

หลังจากนั้นเขาก็สร้างความเชื่อมั่นให้แก่มุตะซิมบิลละฮ์และพาไปพบกับพวกมองโกล แต่แล้วมุตะซิมบิลละฮ์ก็ถูกฆ่า หลังจากที่แบกแดดถูกยึดได้ ฮูลากูก็เห็นว่าในเมื่ออัล-กอมียังสามารถทรยศต่อประชาชนของตัวเองได้ ทำไมเขาจะทรยศต่อพวกมองโกลไม่ได้ ดังนั้น เขาจึงฆ่าอัล-กอมีเสีย

หลังจากที่พวกมองโกลจัดการกับซีเรียและดามัสกัสแล้ว เขาก็หันไปยังอียิปต์ฐานที่มั่นสุดท้ายของโลกมุสลิม ด้วยความเกลียดชังต่อมุสลิมเขาได้ส่งสารไปยังมะฮ์มูด ซัยฟุดดีน กุตูซ ผู้ปกครองอียิปต์ว่า :

“ ข้าได้ทำลายแผ่นดิน ทำให้เด็กต้องกำพร้า ทรมานผู้คนและฆ่าพวกเขา หยามเกียรติพวกเขาและจับผู้นำของพวกเขาไว้เป็นเชลยเจ้าคิดว่าจะสามารถหนีรอดไปจากพวกเราได้กระนั้นหรือ ? ไม่ช้าเจ้าก็จะได้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น….”

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่เข้มแข็งซึ่งครอบครองดินแดนของมุสลิมไปสามในสี่ส่วนแล้ว กุตูซก็ต้องทำในสิ่งที่เขาต้องทำ นั่นคือการฆ่าตัวแทนของพวกมองมองโกลที่นำสารมาและแขวนศพไว้ในถนน

หลังจากนั้น เขาก็ส่งตัวแทนของเขาไปยังมุสลิมที่อยู่รอบๆซึ่งในจำนวนนี้ก็มีพวกมัมลู้กที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเขาทำลายศัตรูผู้รุกราน

จากนั้น กุตูซก็ได้ใช้ผู้ทรงความรู้ทางด้านศาสนามาช่วยเขาโดยการปลุกเร้าให้ประชาชนนึกถึงหน้าที่ในการญิฮาดและรวมมวลชนให้แก่เขา กุตูซได้ขอให้อัล-อิซซุดดีน อับดุสสะลามผู้นำทางศาสนากำหนดเรียกเก็บภาษีจากประชาชนเพื่อมาสร้างกองทัพ แต่ก็มีนักวิชาการบางคนออกมาปฏิเสธพวกเจ้าเมืองต่างๆที่มีความร่ำรวยจึงต้องนำเงินออกมาช่วยกันกองทัพมุสลิมจึงได้เกิดขึ้น

กุตูซได้สั่งกองทัพของเขาให้รุกคืบหน้าไปและภายใต้การนำของบัยบาร์ มุสลิมได้รับชัยชนะในสงครามย่อยหลายครั้งก่อนที่จะไปถึงกาซาในปาเลสไตน์ เมื่อมาถึงกุตูซได้เตือนพวกครูเสดให้วางตัวเป็นกลางในสงครามครั้งนี้หรือไม่ก็จะต้องถูกทำลาย พวกครูเสดรับข้อเสนอของกุตูซ ในที่สุดกองทัพใหญ่ของทั้งสองก็ปะทะกันในเดือนเราะมะฎอนที่อัยน์ญะลูต ในขณะที่การรบกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดและมุสลิมกำลังตกเป็นฝ่ายถูกรุกหนักจนเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

กุตูซได้ปีนขึ้นไปบนก้อนหินและถอดหมวกเหล็กของเขาโยนทิ้งเพื่อให้ทหารเห็นหน้าเขาพร้อมกับตะโกนว่า“วะอิสลามะฮ์ วะอิสลามะฮ์” หลังจากนั้นเขาก็กระโจนเข้าไล่ฟันพวกมองโกลล้มตายไปตลอดทาง ด้วยเหตุนี้ทหารมุสลิมจึงเกิดขวัญกำลังใจในการสู้รบและเริ่มรวมพลังกันกลับมาต่อสู้อีกครั้งหนึ่งจนสามารถเป็นฝ่ายได้เปรียบ สถานการณ์สู้รบจึงพลิกผัน พวกมองโกลที่วิ่งหนีถูกประชาชนชาวซีเรียไล่ฆ่าเป็นการแก้แค้นจนพวกศัตรูผู้รุกรานถอยหนีกลับไปยังดินแดนของตน

ปัจจุบันแทนที่มุสลิมจะมีผู้ปกครองที่จริงใจอย่างกุตูซผู้เข้าใจและเอาใจใส่ประชาชนและหน้าที่ของตนเองเรากลับมีผู้ปกครองที่ขี้ขลาดและทรยศอย่างอัล-กอมี ผู้ปกครองเหล่านี้ไม่ยอมให้กองทัพของตนออกมาขับไล่ศัตรู ดังนั้นผู้ปกครองพวกนี้ต่างหากที่จะต้องถูกขจัดออกไปในฐานะที่เป็นความจำเป็น เช่นเดียวกับการอาบน้ำนมาซเป็นข้อบังคับก่อนการทำนมาซ เพราะการนมาซในตัวของมันเองเป็นหน้าที่ ดังนั้นการขจัดผู้ปกครองผู้ทรยศเหล่านี้จึงกลายเป็นหน้าที่เพราะการส่งกองทัพไปขับไล่ศัตรูที่มารุกรานเป็นหน้าที่ตามหลักการชะรีอ๊ะฮ์ อะไรก็ตามที่นำไปสู่หน้าที่ (วาญิบ) สิ่งนั้นก็เป็นวาญิบในตัวของมันเอง คนที่จริงใจอย่างกุตูซจะต้องลุกขึ้นมาแสดงพลังอำนาจของอุมมะฮ์ซึ่งเป็นอำนาจที่นักล่าอาณานิคมหวั่นกลัว

การทรยศของผู้ปกครองเหล่านี้ยังคงฝังรากลึกอยู่ถึงปัจจุบันเพราะถ้าหากคนพวกนี้ไม่ยอมให้ใช้แผ่นดินมุสลิมการรุกรานอิรักก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น มันเป็นไปไม่ได้ที่อเมริกาจะโจมตีอิรักจากวอชิงตันเช่นเดียวกับที่อังกฤษจะโจมตีจากลอนดอน ทหารของชาติมหาอำนาจทั้งสองนี้มีฐานทัพอยู่ในซาอุดีอารเบีย จอร์แดนและฐานทัพอากาศในตุรกีที่สภาลงมติให้อนุญาตให้ใช้น่านฟ้าในฐานะเป็นมรดกของมุสตอฟา เคมาล ปาชา การรุกรานเริ่มต้นจากคูเวต พวกผู้ปกครองประเทศเหล่านี้ร่วมกับบุชและแบลร์กำลังถือมีดที่ถูกใช้เพื่อเข่นฆ่าบรรดาผู้ศรัทธา ดังนั้นชาติมุสลิมจึงต้องมีผู้ปกครองที่จะส่งกองทัพปลดปล่อยออกมาและปิดฐานทัพทุกแห่งของพวกศัตรู

การรวมกันของประเทศต่างๆภายใต้การปกครองแบบคิลาฟะฮ์อีกครั้งหนึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสุดยอด พวกมัมลู้กช่วยกุตูซก็เพราะทั้งสองฝ่ายเป็นประชาชาติ (อุมมะฮ์) เดียวกันจากเคาะลีฟะฮ์คนเดียวกัน กุตูซปลดปล่อยซีเรียเพราะเขาและประชาชนของเขามาจากอุมมะฮ์เดียวกัน เขาไม่ได้กล่าวว่าผมเป็นคนอียิปต์ ส่วนคุณเป็นชาวปาเลสไตน์ ดังนั้นผมจะไม่ช่วยคุณ อังกฤษและฝรั่งเศสต่างหากที่ตกลงกันในสัญญาไซกีส-พีโกต์ใน ค.ศ.1917 เพื่อแบ่งแยกเรา ดังนั้นยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่โซ่ตรวนจอมปลอมเหล่านี้จะต้องถูกทำลายทิ้ง ?

ภายใต้การปกครองแบบคิลาฟะฮ์ สิ่งที่กล่าวมาได้เกิดขึ้นกับพวกมองโกลแล้ว ถึงแม้ระบบคิลาฟะฮ์ได้ถูกทำลายไปแต่อุดมการณ์อิสลามยังคงมีอยู่ในผู้นำอย่างเช่นกุตูซ ในนักวิชาการศาสนาที่จิตใจบริสุทธ์ ในทหารและในประชาชน ปัจจุบันเราถูกแบ่งแยกและไม่มีผู้นำอย่างกุตูซ แต่หลักความเชื่อและอุดมการณ์อันเดียวกันยังอยู่ในจิตใจของมุสลิมปัจจุบัน หากเราได้นำเอาอิสลามมาใช้ในการแก้ปัญหามันก็จะมีสงครามอัยน์ญะลูตอีกครั้งหนึ่งสงครามโซ่อีกครั้งหนึ่งและผู้นำอย่างฮารูน อัร-รอชีดหรือผู้นำอย่างมะฮ์มูด ซัยฟุดดีน กุตูซอีกคนหนึ่ง

แปลโดย อาจารย์บรรจง บินกาซัน คัดลอกจาก: Thaimuslimshop.com

1 ความคิดเห็น: