วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

ราชวงศ์อับบาสียะฮฺ ที่อิรัก


บทที่ 1
บทนำ

1.1 ความสำคัญและความเป็นมาราชวงศ์อับบาสียะฮฺ

อาณาจักรอิสลามมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเริ่มตั้งแต่นบีมุฮัมหมัด
[1](r)[2]สถาปนาเป็นรัฐอิสลามแห่งแรก ณ นครมะดีนะฮฺ และได้มีการสืบทอดการปกครองจากท่านมาเรื่อยๆ โดยบรรดาคูลาฟาอฺอัรรอชีดูน[3] ราชวงศ์อุมัยยะฮฺ ราชวงศ์อับบาสียะฮฺ และราชวงศ์อื่นๆ สุดท้ายราชวงศ์อุษมานียะฮฺตามลำดับ
ราชวงศ์อับบาสียะฮฺเป็นยุคที่มีความสำคัญยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์อิสลาม และเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา การเมือง การปกครอง สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการปกครองยาวนานถึง 524 ปี และระหว่างปี ฮิจเราะฮฺศักราช
[4]132-247 เป็นช่วงแรกแห่งการเรืองอำนาจมากที่สุดของการปกครอง ซึ่งการปกครองราชวงศ์นี้โดยเคาะลีฟะฮฺ 10 ท่านแรก[5] และมีเคาะลีฟะฮฺท่านหนึ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดคือ เคาะลีฟะฮฺ ฮารูน อัรรอชีด
เคาะลีฟะฮฺ ฮารูน อัรรอชีด เป็นเคาะลีฟะฮฺคนที่ 5 ในราชอาณาจักรอับบาสียะฮฺ ท่านได้ขึ้นครองราชย์เมื่ออายุย่างเข้า 22 ปี ( al-Tabari , 1987 : 617 , Ibn Kathir, 1997 : 585 ) ปราศจากการขัดขวางจากผู้อื่น และยังสามารถปกครองราชอาณาจักรอิสลามอันกว้างใหญ่ไพศาลได้นานถึง 23 ปี เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะความเป็นผู้นำสูง และมีความสามารถในการบริหารแผ่นดินที่ดีเลิศ ในสมัยการปกครองของท่านเป็นสมัยที่วิทยาการอิสลามมีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดทั้งวิชาการศาสนา การเมืองการปกครอง การประกอบอาชีพ และอื่นๆ ความเจริญดังกล่าวจึงทำให้มีผู้แสวงหาความรู้จากตะวันตกมากมายได้เดินทางเข้าในกรุงแบกแดดซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับการยกย่องว่ามีความวิจิตรงดงามมีความเจริญก้าวหน้าและมีอารยธรรมมากที่สุดของโลก โดยมีเคาะลีฟะฮฺ ฮารูน อัรรอชีด เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์ ทรงมีกระแสรับสั่งให้มีการแปลงานศิลปะ วิทยาการต่างๆ จากกรีก อินเดียและประเทศอื่นๆ เป็นภาษาอาหรับ จึงมีนักวิชาการ พ่อค้า และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกพากันหลั่งไหลเข้ามาเพื่อศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ค้าขาย ท่องเที่ยว และนำสิ่งที่ได้รับแผ่ขยายสู่ประเทศยุโรปทำให้เคาะลีฟะฮฺ ฮารูน อัรรอชีด ได้รับการยอมรับจากประชาชาติมุสลิมและประชาชาติทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
เคาะลีฟะฮฺ ฮารูน อัรรอชีดมักจะเดินทางไปทั่วราชอาณาจักร เพื่อดูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความทุกข์ยากลำบาก ทรงแจกจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้แก่คนยากจนและคนขัดสนเป็นเนืองนิจ ทำให้ราชอาณาจักรของท่านเกิดความสงบสุข ปลอดภัย ชื่อเสียงของท่านจึงขจรขจายไปทั่วภาคพื้นตะวันออกและแผ่ขยายไปจนถึงภาคพื้นตะวันตก ดังจะเห็นได้จากหนังสือกวีนิพนธ์ลิลิตนิทราชาคริตของรัชกาลที่ 5 ที่ได้ยกย่องเคาะลีฟะฮฺ ฮารูน อัรรอชีด ว่าเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมในการปกครอง และพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองและสงบสุข ( พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว , 2530 : 134 - 135)

1.2 การถือกำเนิดของราชวงศ์อับบาสียะฮฺ
1) ยุคการก่อตัว
ราชวงศ์อับบาสียะฮฺ ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากอับบาส อิบนฺ อับดุลมุฏฎอลิบ ซึ่งเป็นอาของนบี
มุฮัมหมัด(e)โดยมีอะลี อิบนฺ อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อัลอับบาส อิบนฺ อับดุลมุฏฎอลิบ เป็นผู้นำและผู้ริเริ่ม ซึ่งในเวลานั้นพวกเขาอาศัยอยู่ในแคว้นอัลหุมัยมะฮฺ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆตั้งอยู่บริเวณทะเลตาย(Dead Sea ) ในประเทศจอร์แดนปัจจุบัน ใกล้กับเมืองอัลอะกอบะฮฺ ในสมัยการปกครองของอัลวะลิด อิบนฺ อับดุลมาลิก ในปี ฮ.ศ. 98 เคาะลีฟะฮฺ สุไลมาน อัลอะมะวียฺ ได้เชิญอะบูฮาชิม อิบนฺ มุฮัมหมัด อิบนฺ อัลฮะนะฟียะฮฺ ซึ่งเป็นผู้นำชีอะฮฺ กีซานียะฮฺให้มาพบกับท่าน หลังจากที่ได้พบและทำความรู้จักกับอะบูฮาชิมเป็นเวลาอันสมควรแล้วทำให้ท่านได้รู้จักบุคลิกและสติปัญญาของอะบูฮาชิมจึงเกิดความรู้สึกเป็นกังวลและไม่สบายใจต่อตำแหน่งการเป็นเคาะลีฟะฮฺของตัวเอง ดังนั้นเคาะลีฟะฮฺสุไลมานจึงได้วางแผนเพื่อที่จะฆ่าอะบูฮาซิมโดยการใส่สารพิษลงในนมที่ได้เตรียมไว้ ซึ่งแผนการดังกล่าวได้เป็นไปตามที่วางไว้คือ อะบูฮาชิม ได้กินอาหารที่มีพิษเข้าไปทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าตัวเองกำลังใกล้จะตาย และในขณะที่กำลังเดินทางกลับไปยังที่อาศัยนั้น เขาได้หยุดพักการเดินทางทีเมืองอัลหุมัยมะฮฺ และได้มอบตำแหน่งอิมามให้กับมุฮัมหมัด อิบนฺ อะลี อัลอับบาส พร้อมกับแนะนำให้เขารู้จักบรรดานักดาอีย์
[6]ที่มาจากเมืองกูฟะฮฺและฝากจดหมายให้บรรดานักดาอีย์เหล่านั้นไว้ด้วย จากนั้นตำแหน่งอิมามจึงเปลี่ยนจากสายตระกูลอะลี อิบนฺ อะบีฎอลีบไปยังสายตระกูลบะนีอับบาซ ซึ่งมีผู้นำ คือมุฮัมหมัด อิบนฺ อะลี อิบนฺ อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อับบาส อิบนฺ
อับดุลมุฏฎอลิบ (Hasan Ibrahim Hasan,1983 :10 –13) ในปี ฮ.ศ.100 มุฮัมหมัด อิบนฺอะลี ได้ก่อตั้งขบวนการเผยแผ่แนวคิดการปกครองของตระกูลอัลอับบาส เพื่อให้ได้รับความสำเร็จในการแผ่ขยายอิสลามจึงได้วางระบบแบบแผนดังนี้

1.1) จัดตั้งศูนย์กลางการเผยแผ่แนวคิด
[7]
1. เมืองกูฟะฮฺ[8] ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางประชาสัมพันธ์ในการเผยแผ่แนวคิดนี้ และได้แต่งตั้ง
มัยสาเราะฮฺ เป็นเมาลา
[9]อะลี อิบนฺ อับดุลลอฮฺ เป็นผู้นำการเผยแผ่ ณ เมืองกูฟะฮฺ (Muhammad al-khudri Bek, 2001 : 16 )
2. แคว้นคูรอซานเป็นแคว้นที่กว้างใหญ่ในทวีปเอเชียซึ่งทิศเหนือและทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำโอซุส ( Oxus River )และทิศใต้ ติดกับภูเขาฮินดูกูซ ส่วนชายแดนติดกับเปอร์เชีย เป็นที่อยู่อาศัยของพวกที่สนับสนุนชีอะฮฺและได้แต่งตั้งมุฮัมหมัด อิบนฺ กูไนซี หัยยาน อัล-อัฏฏอร และ อะบูอิกริมะฮฺ ซัยยาด อิบนฺ ดัรฮัม อัซซีราจ (อะบู มุฮัมหมัด อัล-ศอดิก) เป็นผู้นำเพื่อความสำเร็จในการเผยแผ่ในแคว้นนี้ ต่อมาอะบูอิกริมะฮฺได้คัดเลือกและแต่งตั้งหัวหน้านักเผยแพร่ 12 คน เป็นผู้สนับสนุนช่วยในการดำเนินงานผู้นำทั้ง 2 คนนั้นด้วย คือ
1. สุไลมาน อิบนฺ กะษีร อัลคอซาอียฺ
2. มาลิก อิบนฺ อัลไฮษัม อัลคอซาอียฺ
3. ฏอลฮะฮฺ อิบนฺ ซะริค อัลคอซาอียฺ
4. อัมรู อะอฺยูน อิบนฺ อัลคอซาอียฺ
5. อีชา อิบนฺ อะอฺยูน อัลคอวาอียฺ
6. กูหฺตูบะฮฺ อิบนฺชาบีบ อัลฎออียฺ
7. ลาฮีส อิบนฺ กูรอซ์ อัลตะมีมียฺ
8. มูชา อิบนฺ กาอฺบ์ อัลตะมีมียฺ
9. อะบู ดาวูด คอลีด อิบนฺ อิบรอฮีม อัลไชบานียฺ
10. อะบู อะลี อัลฮัรวียฺ ชาบ์ลู อิบนฺฎอห์มาน อัลฮะนะฟียฺ
11. อัลกอฺชีม อิบนฺ อิสมาแอล อัลมุตีอียฺ
12. อิมรอน อิบนฺ อิสมาแอล อัล-มุอีฏี
หลังจากนั้นได้คัดเลือกบุคคลเป็นสมาชิกแนวหน้าเพื่อดำเนินงานจำนวน 70 คน พวกเขาได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนถึงการสถาปนาในปี ฮ.ศ.132 และได้แต่งตั้งอะบูญะอฺฟัร อัลมันศูรเป็น
เคาะลีฟะฮฺ ท่านแรกของราชวงศ์นี้( Muhammad al- Khudri bek, 2001 : 16 )

1.2) ขั้นตอนการเผยแผ่ของราชวงศ์อับบาสียะฮฺ
2.1ขั้นตอนแรกของการเผยแผ่อย่างลับๆ โดยปราศจากอาวุธใด ๆ บรรดานักเผยแผ่ในขั้นนี้ได้ปลอมตัวเป็นพ่อค้าและเป็นผู้แสวงหาบุญในช่วงเวลาทำพิธีฮัจย์ พวกเขาได้ใช้เวลาในการแผ่ขยายแนวคิดด้วยความอดทนถึง 27 ปี จนถึงปี เริ่มตั้งแต่ปี ฮ.ศ. 100 จนถึงปี ฮ.ศ. 127
กลุ่มอับบาสียะฮฺเริ่มมีการเคลื่อนไหวและขยายบทบาทของตัวเองให้มากขึ้นในสมัยของ อุมัร
อับดุลอะซิซ
[10]ผู้เป็นเคาะลีฟะฮฺของราชอาณาจักรอุมัยยะฮฺ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหรือโอกาสดีของราชวงศ์
อับบาสียะฮฺที่จะกำเนิดเกิดขึ้นมา นับได้ว่าในยุคนี้เป็นโอกาสของราชวงศ์อับบาสิยะฮฺอย่างมาก ที่ได้จัดขบวนการเคลื่อนไหวพร้อมกับจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างลับๆ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสถาปนาอาณาจักรอิสลามเป็นของตนเอง
การปกครองในยุคของเคาะลีฟะฮฺ อุมัร อับดุลอะซิซ ประชาชาติมีอิสระในการดำเนิชีวิตประจำวันอย่างมาก และท่านยังได้สร้างความยุติธรรม ความยำเกรงต่อเอกองค์อัลลอฮฺ ให้เกิดขึ้นต่อประชาชาติทั้งมวล ในขณะเดียวกันเคาะลีฟะฮฺ อุมัร อับดุลอะซิซ พยายามต่อต้านความอธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ท่านได้ใช้หลักการ และกฎหมายอิสลามอย่างจริงจัง พร้อมกับสร้างความยุติธรรมเท่าเทียมกัน ประชาชนมีสิทธิที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ และยังมีจุดยืนเป็นของตัวเองได้แต่ห้ามรวบรวมผู้คนซ่องสุมกำลังทหารต่อสู้กับรัฐบาลด้วยเหตุนี้กลุ่มอับบาสียะฮฺจึงฉวยโอกาสที่เอื้ออำนวยนี้มาวางแผนอย่างลับๆ ไม่ได้เปิดเผยอย่างชัดเจนให้เป็นที่รู้จักต่อสังคม แต่กลุ่มของอับบาสียะฮฺใช้ชื่อของฮาชิมเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกระหว่างซีอะฮฺที่สนับสนุนอาลีกับชีอะฮฺที่สนับสนุนอับบาส ซึ่งทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นสายตระกูลของฮาชิม
[11]ด้วยกันทั้งสองฝ่าย จากนั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มอับบาสียะฮฺก็ดำเนินการเผยแผ่แนวคิดต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง (Hasan Ibrahim Hasan,1983 : 12 –13 )
2.2 ขั้นตอนการประกาศตัวอย่างชัดเจน ขั้นตอนนี้เริ่มขึ้นในปี ฮ.ศ.128 หลังจากอะบูมุสลิม
อัลคูรอซานียฺ มีอำนาจในคูรอซาน จนสามารถก่อตั้งอาณาจักรอับบาสียะฮฺในปี ฮ.ศ. 132
(Ibn Kathir,1997 : 223 )
ในปี ฮ.ศ. 105 บุไกร์ อิบนฺ มาฮาน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีฐานะร่ำรวยและมีเกียรติ มีอิทธิพลอย่างมากในการช่วยเหลือในด้านการเงินและอื่นๆของตระกูลนี้ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำที่เมืองกูฟะฮฺแทน
มัยสาเราะฮฺที่เสียชีวิตไป ต่อมาบูไกร์ อิบนฺ มาฮาน ได้ดำเนินการแผ่ขยายอิสลามด้วยความเข้มแข็งและมีความสามารถมาก และเมื่อท่านเสียชีวิต ลูกเขยของท่าน คือ ฮัฟเซน อิบนฺ สุไลมาน เจ้าของฉายา
อะบูซะละมะฮฺ อัลคอลลาล ขึ้นเป็นผู้นำแทน
ในช่วงการแพร่ขยายแนวคิดที่คูรอซานบรรดานักเผยแผ่ของราชวงศ์อับบาสียะฮฺหลายคนถูกจับ และ ถูกทรมาน บางคนก็ถูกฆ่าหรือไม่ก็ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ
ต่อมาในปีฮ.ศ 125 มุฮัมหมัด อิบนฺ อะลีอัลอับบาส เสียชีวิต ลูกชายชื่ออิบรอฮีม ซึ่งมีฉายา
“ อัลอิมาม ” ก็ได้รับการดำรงตำแหน่งเป็นอิมามต่อไป อิบรอฮีม พยายามสร้างความสัมพันธ์และชักชวนโน้มน้าวกับกลุ่มเยาวชนที่กล้าหาญทั้งหลาย ความพยายามดังกล่าวทำให้อาบูมุสลิม อัลคูรอซาน
[12] ได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักเผยแผ่เหล่านี้ด้วย
ในปี ฮ.ศ.127หลังจากได้เห็นถึงความสำคัญอันแข็งกล้าและความใฝ่ฝันอันสูงส่งของ อะบูมุสลิม อัลคูรอซานียฺ แล้วทำให้ อิบรอฮีม อัลอิมาม แต่งตั้ง อะบูมุสลิม เป็นผู้นำในการเผยแผ่แนวคิดที่เมือง
คูรอซาน จากนั้นอะบูมุสลิม อัลคูรอซานียฺ ถูกส่งไปยังคูรอซานพร้อมกับจดหมายฝากให้ชาวคูรอซานซึ่งข้อความในจดหมายนั้นมีความว่า " ชาวคูรอซานทุกคนต้องภักดีและปฏิบัติตามคำสั่งของอะบูมุสลิม (Ibn Kathir, 1997 : 223 )
บุคคลสำคัญในการเคลื่อนไหวระดับแนวหน้าของอับบาสียะฮฺก็ได้ปรากฏตัวขึ้นนับตั้งแต่อะบูมุสลิมอัลคูรอซานียฺได้เริ่มเผยแผ่แนวคิดก่อตั้งอาณาจักรอับบาสียะฮฺที่แคว้นคูรอซาน ในปี ฮ.ศ. 129 ก่อนที่ราชวงศ์อุมัยยะฮฺจะสลายลงเพียง 3 ปี แต่ก่อนที่ราชวงศ์อุมัยยะฮฺจะล่มสลายไป บุคคลในตระกูลฮาชิมซึ่งประกอบด้วยกลุ่มลูกหลานของท่านอะลี อิบนฺ อะบีฏอลิบ ซึ่งเรียกกันว่า “อัลอะละวียีน” และลูกหลานของอับบาส ซึ่งเรียก “อัลอับบาสิยีน” ได้ประชุมกันขึ้นที่แคว้นฮิญาซ
[13]พวกเขาได้ปรึกษาหารือกันถึงวิธีการที่จะกำจัดราชวงศ์อุมัยยะฮฺและคัดเลือกตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺแทน ในกรณีที่การปฏิวัติเป็นผลสำเร็จ ในที่สุดผู้ที่เข้าร่วมประชุมก็ได้คัดเลือกตัวบุคคลผู้หนึ่งซึ่งร่วมประชุมอยู่ด้วย ชื่อ
มุฮัมหมัด อิบนฺ อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อัลหะซัน ซึ่งเป็นบุตรของอัลหะซัน อิบนฺ อะลี อิบนฺ อะบีฏอลิบให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ แต่เมื่อการปฏิวัติประสบผลสำเร็จในภาย หลัง บุคคลผู้นี้กลับไม่ได้รับตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺตำแหน่งดังกล่าวกลับไปตกอยู่ที่บุคคลผู้หนึ่งในตระกูลอัลอับบาสียะฮ์ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า “ อะบูอับบาส” เมื่อเหตุการณ์ได้กลับกลายมาเป็นเช่นนี้ พวกอะละวียีนจึงได้ลุกขึ้นทำการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งดังกล่าวนั้น คนแล้วคนเล่าที่พวกเขาได้ลุกขึ้นเรียกร้อง แต่ก็ไม่ได้รับความสำเร็จตรงกันข้ามกลับได้รับการกดขี่ข่มเหงและถูกทำร้ายทารุณตลอดมาดังเช่นที่พวกเขาได้เคยประสบมาแล้วจากอุมัยยะฮฺ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ขัดขวางความพยายามของพวกอะละวียีนที่ขอตำแหน่งให้แก่กลุ่มตระกูลของตน เหตุการณ์ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ อะบูมุสลิม อัลคูรอซานียฺ ซึ่งฉวยโอกาสที่เอื้ออำนวยไปปรากฏตัวที่แคว้นคูรอซาน ในขณะที่สถานการณ์ทั่วไปเลวลง เขาได้จุดชนวนความปั่นป่วนขึ้น และปรากฏตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์อุมัยยะห์อย่างเปิดเผย ความพยายามของเขาได้รับความสำเร็จ โดยได้รับความร่วมมือจากพวกอัลมะวาลีย์
[14] ซึ่งได้พากันหลั่งไหลเข้ามายังแคว้นคูรอซานทั่วทุกทิศและได้มารวมตัวกันอยู่ที่บ้านอะบูมุสลิมที่แคว้นคูรอซาน เป็นจำนวนถึงหนึ่งแสนคน เพื่อร่วมแผ่ขยายแนวคิดนี้ พวกเขาสามารถยุแหย่บุคคลในตระกูลอุมัยยะฮฺที่อาศัยอยู่ในแคว้นคูรอซานให้จงเกลียดจงชังราชวงศ์
อุมัยยะฮฺด้วย นอกจากนั้นยังสามารถเกลี้ยกล่อมชาวเยเมนที่อยู่ในแคว้นนั้น ซึ่งเป็นศัตรูต่อราชวงศ์
อุมัยยะฮฺอยู่แล้วให้เข้าสมัครพรรคพวกได้ ต่อมาพวกเขาไปรวมตัวกันอยู่ที่ชานเมืองเมิร์ฟ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นคูรอซาน ในขณะเดียวกัน นัศรฺ อิบนฺ สิยาร ข้าหลวงของอาณาจักรอุมัยยะฮฺที่ประจำอยู่ที่แคว้น
คูรอซาน ได้ส่งสารไปขอความช่วยเหลือจากท่านเคาะลีฟะฮฺมัรวาน อิบนฺ มุฮัมหมัด หลายครั้งแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด ต่อมากองกำลังของทั้งสองฝ่ายได้เข้าทำการต่อสู้กันอย่างดุเดือด ในที่สุดฝ่ายของนัศรฺ อิบนฺ สิยาร ก็แตกพ่ายกระเจิงไป และตัวเขาเองได้สิ้นชีวิตลงที่เมืองเมิร์ฟ(Marv)นั่นเอง ฝ่ายของอะบูมุสลิมจึงเข้ายึดเมืองเมิร์ฟ(Marv)ได้สำเร็จ เขาได้กำจัดหัวหน้าเผ่าต่างๆ ที่พยายามจะชิงกันเป็นใหญ่ลงจนหมดสิ้น ชื่อเสียงของอะบูมุสลิมได้โด่งดังขึ้นและเป็นที่ร่ำลือกันทั่วไป หลักจากนั้นไม่นานบุคคลระดับแนวหน้าของฝ่ายอับบาสิยะฮฺได้เดินทางมายังเมืองกูฟะฮฺ โดยมีผู้เข้าร่วมเดินทางหลายคน เช่น อะบูอับบาสอัสสะฟาฮฺ, อะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร , อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อะลีอัลอับบาสียฺผู้เป็นน้าของอะบูอับบาส และอะบูญะอฺฟัรและอีซา อิบนฺ มูชา อิบนฺ อะลี อิบนฺ อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อับบาส บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นบุคคลสำคัญของตระกูลอับบาสิยะฮฺทั้งสิ้น หลังจากนั้นสองปีต่อมาตระกูลอับบาสิยะฮฺสามารถกำชัยชนะและมีอิทธิพลในเมืองกูฟะฮฺไว้ทั้งหมดอิบนฺหุบัยเราะฮฺข้าหลวงราชวงศ์อุมัยยะฮฺประจำเมืองกูฟะฮฺถูกพวกอับบาสิยะฮฺตีแตกไปอย่างยับเยินจนต้องถอยทัพไปอยู่ที่เมืองวาสิฏ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกูฟะฮฺกับเมืองบัสเราะฮฺในภาคใต้ของอิรัก ( Abd Allah Ibn ‘Ali al-Musnid,1993 : 65 - 66 )
ในต้นปี ฮ.ศ. 132 อะบูสะลามะฮฺ อัลค๊อลลาล ได้เข้ายึดเมืองกูฟะฮฺไว้อย่างเด็ดขาด แต่ยังไม่ได้ดำเนินการให้สัตยาบันต่อผู้นำของอับบาส จึงทำให้เกิดการสงสัยกันขึ้นว่า อะบูสะลามะฮฺ อาจมีแนวความคิดที่จะเปลี่ยนการให้สัตยาบันในการเป็นเคาะลีฟะฮฺไปยังพวกอาลาวิยีน ในที่สุดพรรคพวกของตระกูลอับบาสียะฮฺจึงให้ทั้งสองคน คือ อะบูอับบาส และอะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร ปรากฏตัวขึ้นต่อหน้าประชาชน และได้มีการให้สัตยาบันกันเป็นทางการ

2) ยุคการก่อตั้ง

2.1) ยุคของอะบูอับบาส อัสสะฟาฮฺ
ในปี ฮ.ศ. 132 (ค.ศ. 750) อะบู อับบาส อัสสะฟาฮฺ ขึ้นครองราชย์ เป็นเคาะลีฟะฮฺท่านแรกของอาณาจักรอับบาสียะฮฺ ท่านเป็นลูกของมุฮัมหมัด อิบนฺ อะลี อิบนฺ อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อัลอับบาส อิบนฺ
อับดุลมุฏฏอลิบ ท่านได้รับการแต่งตั้งจากพี่ชายของท่าน คือ อิบรอฮีม อัลอิมาม ให้เป็นเคาะลีฟะฮฺ อะบูอับบาส เป็นผู้ทำงานอย่างจริงจังและมีระเบียบวินัยตั้งแต่เริ่มรับหน้าที่ ท่านถูกตั้งฉายาว่า “ อัสสะฟาฮฺ ” มีความหมายว่า “การนองเลือด” ท่านเป็นผู้ออกคำสั่งให้ฆ่าและสังหารบุคคลสำคัญๆ และผู้อาวุโสในราชวงศ์อุมัยยะฮฺอย่างเหี้ยมโหดที่สุด ถึงแม้ว่าต้องขุดหลุมฝังศพคนที่ตายแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างไรความเหี้ยมโหดที่อะบู อัลอับบาส อัสสะฟาฮฺ ได้กระทำไว้ ก็ยังมีบุคคลผู้หนึ่ง คือ อับดุลเราะมาน เจ้าชายที่เฉลียวฉลาดแห่งวงศ์ตระกูลอุมัยยะฮฺ สามารถหลบหนีออกจากเมืองไปได้ และได้จัดตั้งขบวนการเพื่อวางแผนในการก่อตั้งอาณาจักรอิสลามในประเทศสเปน
ถึงแม้สถานการณ์ภายในจะไม่สงบเรียบร้อยอันเนืองมาจากกระแสการต่อต้านอะบูอับบาส เพราะความโหดเหี้ยมของเขาก็ตาม แต่การปฏิรูปและการพิชิตดินแดนของท่านก็ยังคงดำเนินต่อไป ท่านได้ก่อตั้งเมืองใหม่ที่มีชื่อว่าฮัชมียะฮฺ ขึ้นมาอีกเมืองหนึ่งในอิรักและให้เมืองนี้เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์อับบาสียะฮฺ ตำแหน่งเสนาบดีหรือวะซีรได้ถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อิสลามและมีการปฏิรูปการบริหารงานหลายอย่าง การกบฏของพวกฮินดูในแคว้นซินด์ได้ถูกปราบและพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากการต่อสู้ได้ถูกฟื้นฟูบูรณะให้คนเข้ามาอยู่อีกครั้งหนึ่ง
ถึงแม้จะเป็นคนที่ชอบใช้ความรุนแรงและโหดเหี้ยม แต่อะบู อับบาส อัสสะฟาฮฺก็ยังเป็นผู้ปกครองที่ฉลาด ใจกว้างและยังมีจิตใจที่คิดจะช่วยเหลือคนอื่นอยู่บ้าง เขาเกลียดความหรูหราฟุ่มเฟือยและชีวิตเสเพลแต่ในขณะเดียวกันเขาก็ชอบการศึกษาหาความรู้ (Ibn Kathir,1997 : 61 ) อะบู อับบาส อัสสะฟาฮฺเสียชีวิตในเดือนซุลฮิจญะฮฺ ฮ.ศ. 136

2.2) ยุคของอะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร
อะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร น้องชายของอะบู อับบาส อัสสะฟาฮฺ ได้ขึ้นมาสืบทอดอำนาจขึ้นครองราชย์เป็นเคาะลีฟะฮฺ ต่อจากอะบูอับบาส อัสสะฟาฮฺในปี ฮ.ศ.136 ( ค.ศ.754 ) ท่านเป็นผู้ปกครองที่เข้มงวดและเด็ดขาดในการปฏิบัติงานต่างๆ และท่านเป็นผู้รวบรวมรัฐอิสลามให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง ท่านไม่เกรงกลัวต่ออำนาจของราชวงศ์อุมัยยะฮฺที่ล่มสลายไปแล้วแต่ที่ท่านกลัว คือ การสูญเสียตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ เพราะสาเหตุ 3 ประการ ดังนี้
1. ความขัดแย้งกับน้าของท่าน คือ อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อะลี ซึ่งเป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งและเป็นที่เกรงขาม ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักในวงศ์ตระกูลอับบาสียะฮ์ จากบุคลิกและสติปัญญา อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อะลี ก็มีความต้องการที่จะครองตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺด้วยเหมือนกัน
2. อะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร ยอมรับว่าอะบูมุสลิมเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการโค่นล้มอาณาจักรอุมัยยะฮฺ ท่านจึงเห็นว่า อะบูมุสลิมไม่ใช่คนสามัญธรรมดา หากเขายังอยู่อำนาจการปกครองของท่านจะมีอุปสรรคเพราะงานทุกอย่างจะต้องผ่านความเห็นชอบจากอะบูมุสลิมก่อน ด้วยเหตุนี้อะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร จึงเกรงว่าอะบูมุสลิมจะแย่งตำแหน่งนี้ไป
3. อะบูญะฟัร อัลมันศูร กลัวต่อสายตระกูล อะลี อิบนฺ อะบีฏอลิบ ซึ่งประชาชาติส่วนใหญ่มีความใกล้ชิดกับสายตระกูลนี้อย่างมาก แต่ตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺไม่ได้อยู่กับพวกเขา ท่านเกรงว่าหากสายตระกูลนี้เรียกร้องตำแหน่งคาะลีฟะฮฺ แน่นอนที่สุดพวกเขามีสิทธิ์อย่างมากที่จะได้รับตำแหน่งนี้
สาเหตุ 3 ประการดังกล่าวทำให้เคาะลีฟะฮฺ อะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร มีความกังวลเกี่ยวกับตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺของท่านที่อาจจะต้องสูญเสียไป ดังนั้นท่านจึงพยายามที่จะขจัดความขัดแย้งดังนี้
1. ในการเผชิญหน้ากับแม่ทัพ อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อะลี เคาะลีฟะฮฺอะบูญะฟัร อัลมันศูร ได้ส่ง
อีชา อิบนฺ มูซอ เพื่อไปเจรจาให้ อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อาลี ยอมรับความเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่าน แต่อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อาลี ปฏิเสธไม่ยอมรับ ท่านจึงส่งอะบูมุสลิมเป็นแม่ทัพไปปราบ กองทัพของอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อะลี เมื่ออะบูมุสลิมไปเผชิญหน้ากับกองทัพของอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อะลี ที่หมู่บ้านฮารอนโดยอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อาลี ได้เตรียมตัว และนำทัพจากเมืองชาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอัลยาซีเราะห์ และ ชาวคูรอซาน พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียงอาหาร และยังได้เตรียมความพร้อมต่างๆ เมื่อทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันจึงเกิดสงครามขึ้นหลายครั้งด้วยกัน สุดท้ายฝ่ายอะบูมุสลิมได้รับชัยชนะสามารถปราบกองทัพของ อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อะลี ได้อย่างราบคาบ
2. เมื่ออะบูมุสลิมสามารถปราบอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อะลีแล้ว อะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร จึงวางแผนขั้นที่สองอีกโดยการลวงอะบูมุสลิม อัลคูรอซาน ด้วยการส่งกองกำลังส่วนหนึ่งยึดเอาทรัพย์สินของ อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อะลี ที่อะบูมุสลิมยึดได้ในสงครามครั้งนั้นกลับเมืองหลวง แล้วถอดถอน อะบูมุสลิม ออกจากการเป็นผู้ปกครองเมืองให้ไปปกครองประเทศชามและอียีปต์แทน ทำให้อะบูมุสลิมเกิดความไม่พอใจอย่างมากจึงตัดสินใจออกจากเมืองคูรอซาน โดยไม่ฟังคำสั่งของเคาะลีฟะฮฺ อะบูญะอฺฟัร อัลมัศูร แต่อย่างใด
แต่ อะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร ส่งตัวแทนสองคนไปพบเพื่อเจรจาจนสามารถนำอะบูมุสลิมกลับมายังเมืองแบกแดดได้อีกครั้งหนึ่ง ขั้นต่อมาอะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร ได้อุบายหลอกถามอะบูมุสลิมเกี่ยวกับทรัพย์สงครามที่ยึดได้จาก อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อะลี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ อะบูมุสลิม เกิดความอ่อนแอ ซึ่งขณะนั้นเคาะลีฟะฮฺได้ให้ทหารที่ท่านซ่อนไว้ออกมาฆ่าอะบูมุสลิมจนถึงแก่ชีวิต จากนั้นอำนาจการปกครองของท่านในราชอาณาจักรอับบาสิยะฮฺมีความสงบสุขโดยไม่มีผู้ใดต่อต้าน (Ibn Kathir,1997 : 61)
หลังจากที่สามารถควบคุมการก่อความไม่สงบภายในไว้ได้แล้ว อะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร ก็มีเวลาพอที่จะอุทิศให้กับการพัฒนาบริหารราชการ และการพิชิตดินแดน โดยยึดนโยบายหลัก 4 ประการในการปกครองประเทศ คือ
1. กำหนดตำแหน่งผู้พิพากษา ให้ตัดสินความอย่างยุติธรรมโดยยึดหลักการอิสลามเป็นบรรทัดฐาน
2. กำหนดตำแหน่งหัวหน้าตำรวจ เพื่อให้ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร
3. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้เก็บภาษีรายได้ ที่มีความซื่อสัตย์และแต่งตั้งด้วยความโปร่งใส
4. แต่งตั้งฝ่ายข่าวให้รายงานความมั่นคงขึ้นตรงต่อท่าน
จากนั้น อะบูญะอฺฟัร อัลมันศูร จึงได้ย้ายเมืองหลวงจากคูรอซานไปเมืองแบกแดดซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำไทกริสมาพัฒนาโดยวางแผนอย่างดีจนกระทั่งเมืองนี้ได้กลายเป็นเมืองที่มีความสวยงามอลังการที่สุดในยุคนั้น และเนื่องจากแบกแดดมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมศิลปะและวิทยาการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมืองนี้จึงมีชื่อเสียงขึ้นมาในประวัติศาสตร์ของอารยธรรมและวัฒนธรรมโลก
ใน ฮ.ศ 158 อะบูญะฟัร อัลมันศูร ได้เดินทางไปทำฮัจญ์ แต่เขาได้เสียชีวิตลงเสียก่อนในระหว่างการเดินทาง

2.3) ยุคของอัลมะห์ดี
หลังจากอะบูญะฟัร อัลมันศูร สิ้นชีวิตไป มุฮัมหมัด อิบนฺ อัลมันศูร อัลมะห์ดี ลูกชายของเขาขึ้นมาสืบทอดอำนาจต่อ ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ มุฮัมหมัด อัลมะห์ดี ก็มีพวกกบฏต่อต้านขึ้นหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น
1. กบฏยูซูฟ อัลบัรมากี จากเมืองคูรอซาน ซึ่งไม่พอใจกับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของ มุฮัมหมัด
อัลมะห์ดี เขาก็เลยเริ่มมีการเคลื่อนไหวและแผ่ขยายแนวคิดไปทั่วทุกสารทิศของเมืองทำให้มีผู้สนับสนุนอย่างมาก จนมีกำลังที่เข้มแข็ง แต่อย่างไรก็ตาม ในการเผชิญหน้ากับกลุ่มกบฏดังกล่าว มุฮัมหมัด
อัลมะห์ดี ได้ส่ง คือ ยะซีด อิบนฺ ฟะรีด เป็นผู้นำทัพทหารเพื่อไปปราบกบฏดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายเกิดปะทะกันอย่างดุเดือด สุดท้ายกบฏยูซูฟ อัลบัรมากี ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงถูกจับเป็นเชลยพร้อมๆ กับผู้สนับสนุน และถูกฆ่าจนหมดสิ้น
2. ในปี ฮ.ศ 161 เกิดกบฏต่อต้านขึ้นอีก คือ อัลมุกนีอฺ จากเมืองเมิร์ฟ(Marv)อยู่ในแคว้นคูรอซาน ซึ่งเขาได้นำศาสนาใหม่มาเผยแผ่ การเคลื่อนไหวของเขาได้รับการสนับสนุนจากบรรดาผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านศาสนาเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ในการเผชิญหน้ากับพวกเขา มุฮัมหมัด อัลมะห์ดี
ก็ส่งกองทัพซึ่งนำโดยมูอาซ อิบนุ มุสลิม
[15] ไปปราบกบฏดังกล่าว การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นหลายครั้ง จนในที่สุด อัลมุกนีอฺ ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้
ในยุคของเคาะลีฟะฮฺ มุฮัมหมัด อัลมะห์ดี ก็มีการพัฒนาเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ถนนทุกสายที่ไปสู่มักกะห์ได้รับการขยายให้กว้างขึ้นมีการสร้างบ้านพักใหม่ๆ ขึ้นหลายหลัง กะอฺบะฮฺ มัสยิดนาบาวียฺ ที่
มะดีนะฮฺ และมัสยิดญามิอฺที่บัสเราะฮฺ ได้รับการปรับปรุง และขยายให้กว้างขึ้น มีการสร้างวังใหม่ขึ้นบนฝั่งแม่น้ำไทกริสและยังได้เพิ่มเติมงานก่อสร้างกรุงแบกแดดให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จนกลายเป็นเมืองที่ถนนทุกสายของโลกมุ่งสู่กรุงแบกแดดในยุคนั้น นอกจากนั้นเคาะลีฟะฮฺมุฮัมหมัดอัลมะห์ดี ยังเป็นผู้ทะนุบำรุงศาสตร์ต่างๆ ทุกสาขา อันได้เจริญรุ่งเรืองในยุคต่อๆ มา แกรนด์วิเซีย ในยุคนี้คือ ยะห์ยา อัลบัรมากียฺ เป็นผู้สนับสนุนงานวรรณกรรมต่างๆยิ่งใหญ่ ในกิจการบริหารทุกด้าน เคาะลีฟะฮฺ มุฮัมหมัด อัลมะห์ดีเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด และมีความสามารถจึงนับเป็นผู้บุกเบิกและเริ่มต้นสร้างยุคทองของอารยธรรมอาหรับ กล่าวกันว่า ” อัลมันศูร สร้างกรุงแบกแดด แต่ อัลมะห์ดีเลือกคนที่เหมาะสมให้แก่แบกแดด ” สุดท้ายเคาะลีฟะฮฺ มุฮัมหมัด อัลมะห์ดีเสียชีวิตในเดือนมูฮัรรอม ปี 169 ฮ.ศ. ซึ่งท่านมีอายุได้ 43 ปี (Ibn Kathir ,1997 : 154 -155 )

2.4) ยุคของอัลฮาดี
หลังจากนั้นลูกชายของอัลมะห์ดีที่ชื่อ มูชา อัลฮาดี ขึ้นมาสืบทอดอำนาจต่อ ท่านเป็นเคาะลีฟะฮฺที่ดูแลช่วยเหลือประชาชน ทันทีที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ ท่านก็ย้ายเจ้าหน้าที่เฝ้าประตูวังไปที่อื่น ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าเฝ้าเพื่อขอความช่วยเหลือและแจ้งเรื่องต่างๆได้โดยสะดวก ท่านเป็นคนที่รักความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยแต่ในขณะเดียวกันก็รักในศาสนาเหมือนกับบิดาของท่าน ในเวลานั้นฮุเซน อิบนฺ อะลี อิบนฺ ฮาซัน ซึ่งเป็นสมาชิกอะฮฺลุลบัยต์คนหนึ่งได้ประกาศตัวเป็นคาะลีฟะฮฺที่มะดีนะฮฺ มูชาจึงส่งทหารไปปราบฮุเซน อิบนฺ อะลีพร้อมกับฆ่าพวกเขาอีกหลายคน อิดรีสญาติคนหนึ่งของเขาสามารถหลบหนีไปยังตะวันตก
[16](المغرب )และสามารถสถาปนาการปกครองที่เป็นอิสระของตนเองขึ้นที่นั้น
ใน ฮ.ศ. 172 รัฐที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่จึงถูกเรียกว่ารัฐอิดรีส หลังจากการลุกขึ้นต่อสู้ของสมาชิก
อะฮฺลุลบัยต์ ในครั้งนั้นแล้ว พวกเคาะวาริจญ์ก็ก่อกบฏขึ้นมาอีกในยะซีเราะฮฺ แต่ก็ถูกปราบปรามจนราบคาบ ในปี ฮ.ศ. 169 พวกโรมันได้บุกรุกพื้นที่ชายแดนของมุสลิมหลายแห่งด้วยกันและได้ยึดเมืองฮะดีษะฮฺเอาไว้ มูชาจึงส่งทหารไปต่อต้านการบุกรุก กองทหารของพระองค์ไม่เพียงแต่จะปลดปล่อยเมืองได้เท่านั้น แต่ยังสามารถยึดดินแดนของพวกโรมันไบแซนทีนไว้ได้อีกหลายแห่งด้วยกัน เคาะลีฟะฮฺ มูชา อัลฮาดี เป็นผู้ปกครองที่ใจกว้าง มีความรู้ หยิ่งในศักดิ์ศรีของตัวเอง กล้าหาญและเด็ดเดี่ยว ท่านเสียชีวิตในปีฮ.ศ.170 ( Hasan Ibrahim Hasan , 1983 : 44 - 50 )



[1] นบีมุฮัมหมัด (r ) เป็นศาสนทูตท่านสุดท้ายของพระองค์อัลลอฮฺ
[2] อ่านว่า “ ศ็อลลัลลอฮฺฮุอะลัยฮิวะซัลลัม”หมายความว่า : ขอให้อัลลอฮฺทรงโปรดปรานและให้ความสันติสุขแด่ท่าน “ เป็นมารยาทที่ชาวมุสลิมควรกล่าวทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงท่านศาสดามุฮัมหมัด ( r )
[3] บรรดาคูลาฟาอฺ อัรรอชีดูน หมายถึง เคาะลีฟะฮฺที่ได้รับการชี้นำสี่ท่าน คือ อะบีบักร์ อัศศิดีค อุมัร อัล- ค็อฏฏอบ อุษมาน อิบนุ
อัฟฟาน และ อะลี อิบนุ อะบีฏอลิบ ซึ่งปกครองอาณาจักรอิสลามในช่วงปี ฮ.ศ.11-40ตรงกับ ค.ศ. 632-679
[4] ฮิจเราะฮฺศักราช เป็นการนับศักราชของศาสนาอิสลาม ฮ.ศ. 1 เริ่มตั้งแต่ปีที่นบีมุฮัมหมัดอพยพจากเมืองมักกะฮฺไปยังเมืองมะดีนะฮฺ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากนบีมูฮัมหมัดถูกปองร้ายและถูกต่อต้าน ขณะที่เผยแผ่ศาสนาอิสลามในระยะแรก ณ เมืองมักกะฮฺ การอพยพไปมะดีนะฮฺทำให้การเผยแผ่.ศาสนาอิสลามสำเร็จ ถือเป็นศักราชแรกของการประกาศศาสนาอิสลาม ฮ.ศ. 1 ตรงกับ ค.ศ. 571
[5] นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้แบ่งยุคประวัติศาสตร์อับบาสียะฮฺออกเป็นสองยุคใหญ่ๆ คือยุคต้นและยุคปลาย ยุคต้นหมายถึง ตั้งแต่เริ่มแรกการสถาปนาราชวงศ์อับบาสียะฮฺในปี ฮ.ศ.132/ ค.ศ. 750 จนถึงปี ฮ.ศ. 232 / ค.ศ.847 ซึ่งรวมระยะเวลาการปกครองประมาณหนึ่งศตวรรษ ส่วนยุคปลายหมายถึง ตั้งแต่ปี ฮ.ศ. 232 / ค.ศ. 847 จนถึงพวกมงโกลเข้ามายึดครองเมืองแบกแดดหรือการสิ้นพระชนม์ของเคาะลีฟะฮฺอับดุลลอฮฺ อัลมุอฺตะซิมบิลลาฮฺ ในปี ฮ.ศ.656 / ค.ศ. 1258 ซึ่งรวมระยะเวลาการปกครองประมาณ 424 ปี ในยุคปลายของราชวงศ์อับบาสียะฮฺ สามารถแบ่งออกเป็นสี่ช่วงดังนี้ 1. ช่วงชาวเตอร์กเรืองอำนาจ คือ ระหว่างปี ฮ.ศ. 232 – 334 / ค.ศ. 847 – 946 รวมระยะเวลาประมาณ 102 ปี ช่วงดังกล่าวชาวเตอร์กมีบทบาทมากในการกำหนดทิศทางทางการเมืองการปกครองและการทหารของราชวงศ์อับบาสียะฮฺ 2. ช่วงพวกบูไวยฮ์เรืองอำนาจ คือ ระหว่างปี ฮ.ศ. 334 – 447 / ค.ศ. 946 – 1055 รวมระยะเวลา 113 ปี ในช่วงนี้อำนาจทางการเมืองและการปกครองของราชวงศ์อับบาสียะฮฺตกอยู่ในมือของพวกบูไวยฮ์ซึ่งเป็นชีอะฮฺ 3. ช่วงเซลจูกเรืองอำนาจ คือ ระหว่างปี ฮ.ศ. 447 - 530 / ค.ศ. 1055 - 1136 รวมระยะเวลา 83 ปี ในช่วงนี้อำนาจทางการเมืองของราชวงศ์อับบาสียะฮฺถูกควบคุมโดยพวกเซลจูก ซึ่งเป็นสุนนีย์ที่เข้ามาโค่นอำนาจของพวกบูไวยฮ์ซึ่งเป็นชีอะฮ์ 4. ช่วงสุดท้ายและล่มสลาย คือระหว่างปี ฮ.ศ. 530 -656 / ค.ศ.1136-1258 ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเซลจูกกำลังเสื่อมโทรม ในขณะเดียวกันมีการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูอำนาจของอับบาสียะฮฺใหม่ แต่ก็ถูกคุกคามโดยอำนาจใหม่แห่งราชวงศ์มงโกลจนล่มสลายไปในที่สุดช่วงนี้มีระยะเวลาการปกครองประมาณ 126 ปี ( มูหัมมัดรอฟลี แวหะมะ, 2544 : 17-18 )
16 ดาอีย์ เป็นคำที่มาจากภาษาอาหรับ แปลเป็นภาษาไทยว่า นักเผยแผ่ศาสนาอิสลาม (ผู้วิจัย)
[7] หรือ เผยแผ่อุดมการณ์เพื่อโค่นล้มราชวงศ์อุมัยยะฮฺ
18 กูฟะห์เป็นเมืองหนึ่งอยู่ในประเทศอิรัก สถาปนาในสมัยของเคาะลีฟะฮฺอุมัร อิบนฺ อัลค็อฏฏอบ(ร.ฎ.)ในปี ฮ.ศ. 17 ตรงกับ ค.ศ. 638 ตั้งอยู๋ทางตะวันตกของแม่นํ้ายูเฟรตีส ( al-Bakri, 1403/1983/3: 1141-1142)โดยทั่วไปเป็นสถานที่ที่อยู่อาศัยของพวกสนับสนุนฝ่าย ” อะฮฺลุลบัยต์ ”
และผู้สนับสนุนลูกหลานของสายตระกูลอาลี อิบนฺ อะบีฎอลิบ


[9] เมาลา(Mawla) เป็นคำเอกพจน์ในภาษาอาหรับ คำพหูพจน์ คือ อัลมะวาลีย์(Al mawali) หมายถึง ทาส และได้รับการปล่อยเป็นไทอีกครั้ง
[10] ได้รับตำแหน่งเคาะลีฟฮฺ คนที่ 9 ในราชวงศ์อุมัยยะห์ ที่ดามัสกัส
[11] ฮาชีม ในที่นี้ คือ ปู่ของท่านนบีมุฮัมหมัด(r)
[12] อะบูมุสลิม อัลคูรอซาน เป็นบุคคลสำคัญในการสถาปนาอาณาจักรอับบาสิยะฮฺ มีชื่อเต็มว่า อับดุลเราะห์มัน อิบนฺ มุสลิม
[13] แค้วนฮิญาซ อยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปัจจุบันประกอบด้วย มักกะฮฺ , ฏออีฟ , และมะดีนะฮฺ
[14] อัลมะวาลียฺ เป็นคำที่มาจากภาษาอาหรับ แปลเป็นไทยว่า ทาสผู้รับใช้ที่ได้รับการปล่อยตัว
[15] ท่านเป็นผู้นำเมืองคูรอซาน
[16] ตะวันตก(المغرب) หรือ อัฟริกาเหนือในปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึง (المغرب) จะครอบคลุมเขตต่างๆดังนี้
1. เขตตะวันตกใกล้( المغرب الاْدني) ซึ่งครอบคลุมประเทศลิเบีย และตูนีเซีย
2. เขตตะวันตกกลาง( المغرب الاْوسط) ซึ่งครอบคลุมประเทศแอลจีเรีย
3. เขตตะวันตกไกล ( المغرب الاْقصى) ซึ่งครอบคลุม โมร็อคโคปัจจุบัน



อ้างจากเอกสารประกอบการสอนรายวิชาหลักการบริหารในอิสลาม 3 สาขารัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เรียบเรียงโดย อาจารย์อับดุลเลาะห์ อูมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น