วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หลักรัฐศาสตร์อิสลามกับการปรองดอง

                อัสสาลามูอาลัยกุมวาเราะห์มาตุลลอฮีวาบารอกาตุฮ อาอูซูบิลลาฮฮิมีนัซซัยฏอนนิรรอยีม
และจงรำลึกถึงขณะที่พระเจ้าของเจ้าได้ตรัสแก่มะลาอิกะฮฺว่า แท้จริงข้าจะให้มีผู้แทนคนหนึ่ง ในพิภพ มะลาอิกะฮฺได้ทูลขึ้นว่า พระองค์จะทรงให้มีขึ้นในพิภพซึ่งผู้ที่บ่อนทำลาย และก่อการนองเลือด ในพิภพกระนั้นหรือ? ทั้ง ๆ ที่พวกข้าพระองค์ให้ความบริสุทธิ์ พร้อมด้วยการสรรเสริญพระองค์ และเทิดทูนความบริสุทธิ์ในพระองค์ พระองค์ตรัสว่า แท้จริงข้ารู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้ (อัลบากาเราะห์ : 20)
อิสลาม คือศาสนา ซึ่งอัลลอฮได้ทรงคัดเลือกศาสดาให้ทำการเผยแพร่ในแต่ละยุคในแต่ละสมัยตั้งแต่นบีอาดัม จนถึงนบีมูฮัมหมัด โดยที่สอนหลักการที่สำคัญที่สุดคือ ความเอกภาพของอัลลอฮ ให้เคารพพระเจ้าองค์เดียว อิสลามมิใช่เป็นศาสนาเพียงแค่ชื่อศาสนาที่พระเจ้าทรงเลือกศาสดาไปเผยแพร่แก่มนุษย์ แต่อิสลามยังเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งในโลกนี้อีกด้วย
อิสลามมิได้หมายถึงศาสนาเท่านั้น แต่อิสลามหมายถึงวิถีแห่งการดำเนินชีวิตหรือธรรมนูญแห่งชีวิต ของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และอื่นๆเป็นต้น และศาสดามูฮัมหมัดถูกส่งมาเพื่อความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย ทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิม อัลลอฮได้ทรงตรัสไว้ว่า
ความว่า และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย (อัลอัมบิยาอฺ:107) จากอายัตอัลกุรอานที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นจุดเริ่มต้นของหลักการทางรัฐศาสตร์อิสลาม คืออาณาจักรพระผู้เป็นเจ้า ระบบอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าโดยอิสลาม ระบบนี้มิได้ปกครองโดยชนชั้นศาสนาใดโดยเฉพาะ แต่สร้างขึ้นเพื่อชุมชนมุสลิมทั้งหมด รวมทั้งผู้มีตำแหน่งและคนต่ำต้อย ประชาชนมุสลิมทั้งหมดบริหารกิจการภาครัฐตามคัมภีร์อัลกุรอานของอัลลอฮ และปฏิบัติตามแนวทางของศาสดาของพระองค์คือ ศาสดามูฮัมหมัด อัลลอฮซุบฮานะฮุวาตะอาลา ได้ทรงตรัสว่า
ความว่า : โดยแน่นอนเราได้ส่งบรรดาร่อซูลของเราพร้อมด้วยหลักฐานทั้งหลายอันชัดแจ้งและเราได้ประทานคัมภีร์และความยุติธรรมลงมาพร้อมกับพวกเขาเพื่อมนุษย์จะได้ดำรงอยู่บนความเที่ยงธรรม และเราได้ให้มีเหล็กขึ้นมา เพราะในนั้นมีความแข็งแกร่งมาก และมีประโยชน์มากหลายสำหรับมนุษย์ และเพื่ออัลลอฮฺจะได้ทรงรู้ถึงผู้ที่ช่วยเหลือพระองค์ และบรรดารอซูลของพระองค์ (มีความเชื่อมั่น) โดยทางลับ (ต่อพระองค์) แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงพลัง ผู้ทรงอำนาจ (อัลฮาดีด : 25)

ในโองการนี้เหล็กเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางการเมือง และทำให้กระจ่างชัดว่า ภารกิจของท่านศาสดา คือการกำหนดเงื่อนไข ซึ่งประชาชนผู้เป็นมวลชน จะได้รับความยุติธรรมทางสังคมอย่างแน่นอนตามมาตรฐานที่ได้ประกาศไว้โดยพระผู้เป็นเจ้า ในคัมภีร์ของพระองค์ ซึ่งได้มอบคำสอนอย่างแจ่มชัด สำหรับประมวลกฎหมายของชีวิต ที่มีวินัยเป็นอย่างดี
(ฮัสบุลลอฮ ตาเห,เอกสารประกอบการสอนรายวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น,สาขารัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา)

อิสลามได้บัญญัติสิทธิต่างๆโดยทั่วไปของชนต่างศาสนิกทั้งที่เป็นพลเมืองและผู้อาศัยที่อยู่ภายใต้ การคุ้มครองของรัฐอิสลามดังต่อไปนี้
1.สิทธิด้านเกียรติแห่งความเป็นมนุษย์
ท่านรอซูลลุลลอฮได้กล่าวในคำปราศรัยในคุฏบะฮ พิธีฮัจญ์อำลาในปีที่10 ฮิจเราะห์ศักราช มีใจความว่า โอ้มนุษยชาติ พึ่งทราบเถิดว่า แท้จริงองค์อภิบาลของพวกเจ้ามีเพียงหนึ่งเดียว และแท้จริงบิดาของพวกเจ้ามีหนึ่งเดียว พึ่งทราบเถิดว่า ชาวอาหรับไม่ได้ประเสริฐไปกว่า ชาวต่างชาติ และชาวต่างชาติก็ไม่ได้ประเสริฐไปกว่าชาวผิวแดง ชาวผิวแดงไม่ประเสริฐไปกว่าชาวผิวดำ และชาวผิวดำไม่ได้ประเสริฐไปกว่าชาวผิวแดง นอกจากความยำเกรงต่ออัลลอฮ
ดังนั้นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า อิสลามให้เกียรติแห่งความเป็นมนุษยชาติอย่างเหลือล้น ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นมุสลิมหรือมิใช่มุสลิม ก็จะได้รับความคุ้มครอง
2.สิทธิความอิสระในด้านความเชื่อ
อัลลอฮซุบฮานาฮุวาตะอาลา ได้ตรัสว่า ความว่า ไม่มีการบังคับใดๆในการเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม (อัลบากอเราะห์ :256 ) จากอายัตดังกล่าวจะเห็นได้ว่าอิสลามไม่มีการบังคับบรรดาผู้ที่มีความเชื่อต่างจากตนให้เข้ารับอิสลาม แต่ทว่ากลับให้สิทธิเสรีภาพ และเปิดโอกาสอย่างเต็มที่ แก่ผู้ที่มิใช่มุสลิม ที่ยึดมั่นในศาสนาของตนต่อไป
3.สิทธิด้านการยึดมั่นในบทบัญญัติศาสนา
อิสลามไม่เคยบังคับให้คนต่างศาสนิก ปฏิบัติตามบทบัญญัติอิสลามดังที่มุสลิมต้องปฏิบัติ พวกเขาจึงได้รับการอนุโลมโดยไม่ต้องจ่ายซะกาต ไม่ต้องละหมาด และอื่นๆเป็นต้น ที่บัญญัติไว้ในอัลกุรอาน แต่ทว่ามุสลิมจะปฏิเสธศรัทธาไม่ได้เด็ดขาดแต่พวกเขาจะต้องจ่ายค่าญิซยะห์ อันน้อยนิดเพื่อแหลกกับการอนุโลมดังกล่าว
อิสลามไม่เคยลงโทษพลเมืองต่างศาสนิกในความผิดตามบทบัญญัติอิสลาม ตราบใดสิ่งดังกล่าวเป้นสิ่งที่อนุมัติในศาสนาของพวกเขา เช่นการดื่มเหล้า บริโภคเนื้อสุกร เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป้นที่ต้องห้ามในอิสลาม

4.สิทธิด้านความยุติธรรม
อัลลอฮตะอาลาได้ทรงตรัสว่า ความว่า
ถ้าหากพวกเขามาหาเจ้า ก็จงตัดสินระหว่างพวกเขา หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงพวกเขาเสีย และถ้าหากเจ้าหลีกเลี่ยงพวกเขา พวกเขาก็จะไม่ให้โทษแก่เจ้าได้แต่อย่างใดเลย และหากเจ้าตัดสินใจ ก็จงตัดสินใจระหว่างพวกเขา ด้วยความยุติธรรม แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ยุติธรรม (อัลมาอีดะห์ : 42)

จากอายัตดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อิสลามให้ความสำคัญที่เต็มเปี่ยมของอิสลามต่อพลเมืองที่มิใช่มุสลิม นอกเหนือจากการให้ความอิสระแก่พวกเขาในการขึ้นศาลและพิจรณาคดีตามบทบัญญัติศาสนาของพวกเขาแล้ว อิสลามยังยืนยันถึงความเสมอภาคระหว่างพวกเขากับชาวมุสลิมในสิทธิแห่งความเป็นธรรมที่พึ่งจะได้รับ
5.สิทธิด้านการให้ความคุ้มครองต่อเลือดเนื้อทรัพย์สินและเกียรติ
ท่านรอซูลลุลลอฮ ได้กล่าวคุฏบะฮในวันอารอฟะฮว่า ความว่า แท้จริงเลือดเนื้อของพวกเจ้า และเกียรติของพวกเจ้าเป้นที่ต้องห้ามสำหรับพวกเจ้า เสมือนกับสิ่งที่ต้องห้ามในวันนี้(วันอารอฟะฮ) ของพวกเจ้า ในพื้นแผ่นดินของพวกเจ้าผืนนี้ และในเดือนของพวกเจ้าเดือนนี้ (ซุลฮิจญะฮ)
จากที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ห้ามเฉพาะมุสลิมเท่านั้น เพราะท่านนบีมูฮัมหมัด กล่าวว่า ความว่า ผู้ใดสังหารชีวิตต่างศาสนิกอยู่ในพันธะสัญญา เขาจะไม่ได้สัมผัสกับกลิ่นของสวรรค์ และแท้จริงกลิ่นอายของมันสามารถสัมผัสได้ในระยะทางถึงสี่สิบปี บอกโดยบุคอรีย์
ดังนั้นอิสลามไม่อนุญาตให้ทำร้ายชนศาสนิกไม่ว่าเขาจะเป็นพลเมืองดั้งเดิมหรือผู้มาเยี่ยมก็ตาม โดยปราศจากความชอบธรรมหรือจะด้วยวิธีใดก็ตาม
6.สิทธิด้านการป้องกันจากศัตรูผู้รุกราน
อัลมัรวาดีย์กล่าวว่า ชาวซิมมีย์ ต้องได้รับสิทธิอันชอบธรรมอันเนื่องจากการจ่ายส่วยญิซยะฮของพวกเขา 2 ประการดังนี้ คือ 1.ต้องไม่ทำอันตรายต่อพวกเขา 2.ต้องให้ความคุ้มครองและปกป้องพวกเขา เพราะการไมทำอันตรายต่อพวกเขา ทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างสงบสันติ และการให้ความคุ้มครองและปกป้องพวกเขา ทำให้พวกเขาได้รับการดูแลอารักษ์ขา ดังนั้น การละเลยต่อการให้ความคุ้มครองพวกเขา ถือว่าเป็นการอธรรมที่ร้ายแรงยิ่ง อัลลอฮได้ตรัสว่า ความว่า และผู้ใดในหมู่พวกเจ้าที่ปฏิบัติอธรรม แน่แท้เราจะให้เขาได้ลิ้มรสแห่งการลงโทษสาหัสยิ่ง (อัลฟุรกอน 19)

7.สิทธิด้านการปฏิบัติที่ดีต่อกัน
อัลลอฮทรงตรัสว่า ความว่า อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม แต่ว่าอัลลอฮทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า และช่วยเหลือให้ขับไล่พวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะผูกมิตรกับพวกเขาและผู้ใดผูกมิตรกับพวกเขา ชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นผู้อธรรม (อัลมุมตาฮินะฮ :8-9)
จากอายัตดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หลักการพื้นฐานการเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันกับชุมชนต่างศาสนิก มีลักษณะการการปฏิบัติที่ดี ความเอื้ออาทร เมตตา ตราบใดที่ไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพวกเขา ได้ตั้งตนเป้นศัตรูกับอิสลามและชาวมุสลิมอย่างชัดแจ้ง
8.สิทธิด้านการให้หลักประกันสังคม
อัลลอฮทรงตรัสว่า ความว่า “แท้จริงทานทั้งหลายนั้น สำหรับบรรดาผู้ที่ยากจนและบรรดาผู้ที่ขัดสนบรรดาเจ้าหน้าที่ในการรวบรวมมัน และบรรดาผู้ที่หัวใจของพวกเขาสนิทสนม และในการไถ่ทาส และบรรดาผู้ที่หนี้สินล้นตัวและในทางของอัลลอฮ์ และผู้ที่อยู่ในระหว่างเดินทาง ทั้งนี้เป็นบัญญัติอันจำเป็นซึ่งมาจากอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ (อัตเตาบะฮ: 60)
จากอายัตอัลกุรอานข้างตนจะเห้นได้ว่า หลักประกันทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อเป็นการบรรเทาช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสที่ยากจน หรือขัดสน ในการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้มีความสงบสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
(ศอลิห์ หุสัยน์ อัลอายิด ; อุษมาน อิดรีส, ถอดความและเรียบเรียง,สิทธิของชนต่างศาสนิกในประเทศอิสลาม,ปัตตานี : วิทยาลัยอิสลามยะลา, 2548.)

                 โมเดลการปรองดองในอิสลามโดยมีแบบฉบับจากท่านศาสดามูฮัมหมัดศ็อลฯ


1.การสร้างความเป็นน้องระหว่างเผ่าเอาส์กับเผ่าค็อซรอจญ์ที่รบกันมาเป็นเวลายาวนานที่นครมาดีนะห์ด้วยอัลอิสลาม

2.การจับมือเป็นพี่น้องกันระหว่างกลุ่มมูฮาญีรีนกับอันศอรที่นครมาดีนะห์
          บรรดากลุ่มที่อพยพ(อัลมุฮาญิรูน) ได้ทิ้งทั้งบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย ตลอดจนทรัพย์สินรวมถึงครอบครัวไว้ที่นครมักกะห์ ซึ่งพวกเขาได้มาพร้อมกับหัวใจและไม่มีสิ่งใดเลยที่ติดตัวมานอกจากศาสนา ดังนั้นจึงเกิดปัญหาหลายด้านด้วยกัน บ้างขาดแคลนที่อยู่อาศัย ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีใครที่จะช่วยเหลือแม้แต่ที่หลับนอนพักแรม และปัญหาของคนพลัดถิ่นที่ต้องรอนแรมไปยังที่อื่น ยังคงเป็นปัญหาที่สังคมมนุษยชาติต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งมิใช่เป็นการง่ายที่จะแก้ไขได้ด้วยระยะเวลาเพียงสั้น ๆ หากแต่ว่าบุคคลซึ่งเป็นผู้นำแห่งมนุษยชาติ(ท่านนะบี) ได้วางแนวทางแก้ไขไว้อย่างชัดเจนยิ่ง และด้วยความพยายามที่จะแก้ปัญหาต่างๆให้ลุล่วงไปด้วยดี โดยการให้จับมือเป็นพี่เป็นน้องกันระหว่างกลุ่มของผู้อพยพ (มุฮาญิรีน) กับ กลุ่มผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศ็อร)  ซึ่งเป็นเจ้าของท้องถิ่น โดยแต่ละฝ่ายจับมือเป็นพี่น้องกันเป็นคู่ๆ จึงทำให้เกิดความอบอุ่นใจแก่บรรดาคนต่างถิ่น และเป็นการลดความทุกข์ยากรวมถึงทำให้เกิดความสนิทสนมซึ่งกันและกัน อีกทั้งความเป็นพี่เป็นน้องกันระหว่างกลุ่มมุฮาญิรีนกับกลุ่มอันศ็อร มีความลึกซึ้งเกินกว่าพี่น้องทางสายเลือดเสียอีก และไม่เคยเห็นรูปแบบของความสัมพันธ์อย่างนี้ในสมัยใดมาก่อนเลย จนมีสิทธิ์รับมรดกทางทรัพย์สินซึ่งมากกว่าทายาทด้วยซ้ำ และการจับมือเป็นพี่เป็นน้องกันมิได้สร้างความหนักอกหนักใจให้แก่ชาวอันศ็อร ซึ่งบรรดาชาวอันศ็อรจะต้องบรรเทาทุกข์ด้วยการแบ่งปันทรัพย์สิน ดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด ฯลฯ ในทางกลับกันชาวอันศ็อรต้องการที่จะให้มากกว่าที่ถูกเรียกร้องเสียอีก จากการจับมือเป็นพี่เป็นน้องกันนี้ พวกเขาได้เสนอต่อท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ว่าจะแบ่งปันสวนอินทผลัมให้แก่พี่น้องชาวมุฮาญิรีนอีกด้วย แต่ท่านไม่รับข้อเสนอดังกล่าว ชาวอันศ็อรจึงเสนอให้ชาวมุฮาญิรีนสามารถเข้าไปใช้แรงงานในสวน แล้วพวกเขาจะแบ่งปันผลอินทผลัมให้ กลุ่มมุฮาญิรีนจึงรับข้อเสนอนั้น (*3*)
อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงชมเชยชาวอันศ็อรและแจ้งถึงส่วนที่พวกเขามีความเอื้อเฟื้อเมตตาในคำตรัสของพระองค์ ว่า :
          “และบรรดาผู้ที่ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ในนครมะดีนะฮ์(ชาวอันศ็อร) และพวกเขาได้ศรัทธาก่อนหน้า การอพยพของพวกเขา (ชาวมุฮาญิรีน) พวกเขารักใคร่ผู้ที่อพยพมายังพวกเขา     และจะไม่พบความต้องการหรือความอิจฉาอยู่ในหัวอกของพวกเขาในสิ่งที่ได้ถูกประทานให้ และยังให้สิทธิ์แก่ผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเอง ถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอยู่มากก็ตาม และผู้ใดปกป้องการตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขา ชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ” (อัลฮัชร์ 59 : 9)
          บรรดามุฮาญิรีนเกรงว่าชาวอันศ็อร จะรับเอาผลบุญที่จะได้แก่พวกเขาไปหมดสิ้น ชาวมุฮาญิรีนจึงพูดกับท่านเราะซูล ว่า :
          “โอ้ ผู้เป็นเราะซูลของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พวกเราไม่เคยพบใครเหมือนกับกลุ่มคนที่พวกเราอพยพมา พวกเขาได้ทุ่มเทให้อย่างมากมาย และไม่เคยเห็นใครที่ได้แสดงความเป็นพี่เป็นน้อง แม้ในส่วนเล็กน้อย พวกเขาได้ให้พวกเราร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย พวกเราได้มีความเป็นอยู่อย่างเพียงพอ ซึ่งแน่นอน พวกเราเกรงว่าพวกเขาจะเอาผลบุญไปหมดสิ้น”
ท่านนะบี จึงได้กล่าวว่า :
          (( كَلاَّ مَا أثْنَيْتُمْ عَلَيْهِمْ بِهِ ، وَدَعَوْتُمْ اللهَ – عز وجل – لَهُمْ ))
          ความว่า : “ใช่แล้ว ตามที่พวกท่านกล่าวชมพวกเขานั้น และพวกท่านได้ขอวิงวอนต่ออัลลอฮฮ์ –อัซซะวะญัล- ให้กับพวกเขา”  (*4*)
          ซะอ์ด บิน อัรร่อบีอะฮ์ ที่เป็นชาวอันศ็อรกับพี่น้องของเขา คือ อับดุรเราะฮ์มาน บิน เอ๊าฟ จากชาวมุฮาญิรีน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ชาวอันศ็อรที่มีความจริงใจเมตตาสงสารต่อชาวมุฮาญิรีน และชาวมุฮาญิรีนที่รู้สึกสำนึกในบุญคุณอันงดงามยิ่ง ท่านเราะซูล ให้เขาจับมือเป็นพี่น้องกันระหว่างทั้งสองคน แล้ว ซะอ์ด ได้เสนอทรัพย์สินที่มีอยู่ให้แก่อับดุรเราะฮ์มานครึ่งหนึ่ง ตลอดจนจะทำการหย่าภรรยาของเขาหนึ่งในสองคนที่มีอยู่แล้วให้ได้แต่งงานด้วย อับดุรเราะฮ์มานจึงพูดว่า :
          “ขออัลลอฮฺทรงประทานศิริมงคลให้แก่ท่านในครอบครัวและทรัพย์สินของท่านด้วยเถิด”   (เขาไม่รับข้อเสนอนั้น)
แล้วพูดว่า :
          “ขอท่านจงบอกแหล่งท้องตลาดให้แก่ฉันด้วย”
          อับดุรเราะฮ์มานได้วนเวียนค้าขายอยู่ในตลาด จนเขาได้กลายเป็นคนมั่งคั่งในหมู่ชาวมุฮาญิรีน (*5*)
          แท้จริง การจับมือเป็นพี่น้องกันได้นำไปสู่ความผูกพันทางใจแก่บรรดาผู้ศรัทธาและทำให้อบอุ่นใจยิ่งในบรรดาชาวมุฮาญิรีน เป็นการสร้างสังคมที่มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น เปี่ยมด้วยความรัก ความเป็นพี่น้อง เมื่อการดำรงชีวิตของชาวมุฮาญิรีนมีความสมบูรณ์ดีและมั่นคงเป็นที่พอเพียงแล้ว อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงยกเลิกการรับมรดกตกทอดกันในรูปของการจับมือเป็นพี่น้องกัน โดยเปลี่ยนเป็นการรับมรดกโดยทางสายเลือดดังดำรัสของพระองค์ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า :
         "และบรรดาผู้ที่ได้ศรัทธาที่หลัง และได้อพยพ และต่อสู้ร่วมกับพวกเจ้านั้น ชนเหล่านี้แหละเป็นส่วนหนึ่งของพวกเจ้า และบรรดาญาตินั้น บางส่วนของพวกเขาเป็นผู้สมควรต่ออีกบางส่วน ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง" (อัลอันฟาล 8 : 75)
หมายเหตุ
1.ดู ซอฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์ : กิตาบ-อัศศอลาฮ์- เรื่อง : บุนยานุ้ลมัสญิด ซึ่งอยู่ในหนังสือ ฟัตฮุ้ลบารีย์เล่มที่ 1 หน้า 540
2.ดูหนังสือ : “ดิรอซะฮ์ ฟิสซีเราะฮฺ” หน้า 149

  • 3.ดู หนังสือ : ฟัตฮุ้ลบารีย์ ของอิบนิ ฮะญัร เล่มที่ 5 / 8 หน้า 322 อยู่ในคำอธิบายฮะดีษที่มีในซอฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์ หมายเลข 2325---271
  • 4.สุนันติรมิซี 4/653 มัสนัด อะฮฺมัด 3/200 สุนัน บัยหะกี 6/183
  • 5.เรื่องนี้ไปดูที่ซอฮีฮฺห์ อัลบุคอรีย์ : กิตาบุ้ลบุยู๊อฺ บาบ : บท เมื่อเสร็จสิ้นการละหมาดแล้วจึงแยกย้ายไปบนหน้าแผ่นดิน หะดีษที่ 2048 - 2049

  • อ้างจาก http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=10&id=1763

    3.การประนีประนอมที่ "อัลฮุดัยบียะห์"
                     หลังจากบรรดามุสลิมได้อพยพมาอยู่ที่มะดีนะฮ์ 6 ปี พวกเขาถูกตัดขาดมิให้เยี่ยมเยือนมัสญิด อัล ฮะรอม และการฏอวาฟที่บัยตุลลอฮ์ ทั้งๆ ที่พวกเขามีสิทธิ์ในการเยี่ยมเยือนและทำการดูแลมากกว่าพวกมุชริกีน ครั้นเมื่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงให้บรรดามุสลิมมีความเข้มแข็ง มีกำลังมากขึ้น และทรงทำให้ฝ่ายมุชริกีนอ่อนกำลังหลังจากสมรภูมิสนามเพลาะจบลง จึงถึงเวลาที่บรรดามุสลิมจะได้ไปเยี่ยมเยือนมัสญิด อัล ฮะรอม เหมือนกับชาวอาหรับอื่นๆ สิ่งที่ทำให้ท่านเราะซูล ต้องทำเช่นนั้น คือ ท่านได้ฝันเห็นว่าท่านและบรรดาศอฮาบะฮ์ทำการฏอวาฟอุมเราะฮ์ ที่บัยติลลาฮิลฮะรอม
               “แท้จริง อัลลอฮ์ ได้ทรงทำให้ความฝันนั้นเป็นจริงแก่เราะซูลของพระองค์ด้วยความเป็นจริง แน่นอน พวกเจ้าจะได้เข้าสู่มัสญิดอัล ฮะรอม อย่างปลอดภัยตามที่อัลลอฮ์ ทรงประสงค์โดย (บางคน) ของพวกเจ้าโกนผมและ (อีกบางคน) ตัดผม พวกเขาไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ เพราะอัลลอฮ์ ทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้ ดังนั้น พระองค์จึงได้ทรงกำหนดชัยชนะอื่นจากนั้นด้วยกับชัยชนะอันใกล้นี้”   (อัลฟัตฮ์ 48 : 27)
              ท่านนะบี ได้คาดการณ์แล้วว่าพวกกุเรชจะขัดขวางมิให้เข้าสู่มักกะฮ์  ท่านจึงพยายามรวบรวมมุสลิมให้ได้มากที่สุด มีบรรดามุสลิมีนที่ไปพร้อมกับท่านถึง 10,400 คน(*1*)   และได้แสดงให้ชาวกุเรชเห็นว่าเจตนาของท่านนั้นบริสุทธิ์ใจ มิได้ออกไปเพื่อทำสงครามด้วย ท่านได้ต้อนฝูงสัตว์ที่จะเชือดในการทำพิธีให้อยู่หน้าขบวน และพร้อมทั้งสวมชุดอิฮรามเพื่อทำอุมเราะฮ์ และเมื่อได้ทราบข่าวในระหว่างทางว่าชาวกุเรชเตรียมขัดขวางไม่ให้เข้ามักกะฮ์ และมีเจตนาที่จะทำสงคราม ท่านจึงเปลี่ยนเส้นทางเดินเพื่อหลบเลี่ยงการปะทะ จนเดินทางไปถึงที่ “ อัลฮุดัยบียะฮ์ ” และลงพักที่ตรงนั้น

    การทำสัตยาบัน  “อัรริฎวาน”
              สถานที่อัล ฮุดัยบียะฮ์นี้เอง ท่านนะบี ได้ส่งอุษมาน บิน อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เป็นตัวแทนเพื่อเจรจากับพวกกุเรช และพยายามที่จะให้พวกเขาเปิดเส้นทางให้บรรดามุสลิมเข้าสู่มัสญิดอัล ฮะรอม และ ทำอุมเราะฮ์ แต่ว่าพวกกุเรชได้กักขังหน่วงเหนี่ยวอุษมาน แล้วปล่อยข่าวว่าได้ทำการสังหารอุษมานเสียแล้ว   ท่านเราะซูล จึงให้บรรดาซอฮาบะฮ์ทำสัตยาบัน ในการร่วมเป็นร่วมตายด้วยกัน บรรดาซอฮาบะฮ์จึงจับมือทำสัตยาบันร่วมกับบท่านนะบี และเรียกการทำสัตยาบันครั้งนี้ว่า “บัยอะตุรริฎวาน” ซึ่งทำกันใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงชมเชยผู้ที่เข้าทำสัตยาบันในครั้งนี้ ด้วยโองการที่กล่าวว่า :
               “แท้จริง อัลลอฮ์ ทรงพอพระทัยต่อบรรดาผู้ศรัทธา ขณะที่พวกเขาให้สัตยาบันแก่เจ้า (มุฮัมมัด) ใต้ต้นไม้ (ที่ฮุดัยบียะฮ์) พระองค์ทรงรอบรู้ดีถึงสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของพวกเขา พระองค์จึงได้ทรงประทานความสงบใจลงมาบนพวกเขาและได้ทรงตอบแทนให้แก่พวกเขาซึ่งชัยชนะอันใกล้นี้”  (อัลฟัตฮ์ 48 : 18)
              เมื่อพวกกุเรชได้ล่วงรู้ถึงการทำสัตยบัน พวกเขาจึงปล่อยท่านอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ แล้วส่งตัวแทนเพื่อเจรจาต่อรองกับท่านนะบีมุฮัมมัด ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันแก่ชาวกุเรชว่า ท่านนะบีมุฮัมมัด กับบรรดาศอฮาบะฮ์นั้นมิได้มาเพื่อสู้รบ หากแต่ว่ามาเพื่อทำการเยี่ยมเยือน (ซิยาเราะฮ์) อัลบัยตัลฮะรอม แต่พวกกุเรชไม่ยอมอนุญาตให้ตามที่ได้แจ้งไป เพราะการอนุญาตนั้นพวกเขาถือว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของพวกเขาต่อหน้าชาวอาหรับ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงคิดหาทางออก และทำให้เกิดการประนีประนอมเพื่อรักษาหน้าไว้ และแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของมุสลิมจากข้อตกลง  ท่านเราะซูล ได้ตกลงร่วมกับพวกเขาคือ ;
    • ให้มุสลิมเดินทางกลับในปีนี้ โดยไม่เข้ามักกะฮ์เพื่อทำอุมเราะฮ์ แล้วปีหน้าให้กลับไปทำใหม่
    • ให้ยุติสงครามระหว่างทั้งสองฝ่าย เป็นระยะเวลา 10 ปี
    • ใครที่เป็นมุสลิมออกจากมักกะฮ์ไปอยู่มะดีนะฮ์ให้ส่งกลับมักกะฮ์
    • ใครออกจากการเป็นมุสลิมแล้วกลับไปมักกะฮ์ ชาวกุเรชจะไม่ส่งคืนเขาให้กับมุสลิม
    • บุคคลในเผ่าต่าง ๆ ที่จะเข้ารวมกับมุฮัมมัดหรือกุเรช พวกเขาก็ย่อมทำได้และให้แต่ละฝ่ายเคารพให้เกียรติพันธมิตรอื่น ๆ ด้วย
              เท่าที่พิจารณาในเงื่อนไขต่างๆ เท่ากับเป็นการบีบบังคับหรือลิดรอนสิทธิ์ของมุสลิม จึงทำให้มุสลิมทั้งหลายได้ทักท้วงท่านเราะซูลุลลอฮ์ หลายครั้งและแสดงความไม่เห็นด้วยในข้อตกลงนั้น แต่ทว่า ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า :
              (( إِنِّيْ رَسُوْلُ الله وَلَنْ يُضَيِّعنِي الله ))
              “แท้จริง ฉันเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แน่นอน อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะไม่ทรงทอดทิ้งฉันแน่นนอน”
              ในท้ายที่สุดได้เป็นที่ประจักษ์แก่บรรดามุสลิมว่า เงื่อนไขต่างๆได้กลับกลายเป็นผลดีกับบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหมด จนทำให้ชาวกุเรชได้ขอยกเลิกข้อตกลงที่บรรดามุสลิมเคยคิดว่าเป็นการบีบบังคับ และลิดรอนสิทธิ์ของพวกเขาออกไป
    ผลลัพธ์ของการประนีประนอมที่ “อัลฮุดัยบียะฮ์”
              อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเรียกการประนีประนอมครั้งนี้ว่าชัยชนะ (ฟัตฮัน)  พระองค์ได้ประทานดำรัสให้กับศาสนทูตในขณะที่ท่านเดินทางกลับว่า :
               “แท้จริง เราได้ให้ชัยชนะแก่เจ้าซึ่งเป็นชัยชนะอย่างชัดแจ้ง”   (อัลฟัตฮ์ 48 : 1) (*2*)

               มีชายคนหนึ่งถามท่านนะบี ว่า : “มันเป็นชัยชนะใช่ไหม?”
              ท่านนบี ตอบว่า :
            
              (( نعم ، والذِيْ نَفْسِيْ بِيَدِهِ إِنَّهُ لَفَتْحٌ ))

              “ใช่แล้ว ขอสาบานด้วยผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า แน่นอน มันคือชัยชนะที่แท้จริง” (*3*) 
     
    ผลลัพธ์จากการประนีประนอมนั้นมีดังนี้ : -
    1. ในการประนีประนอมครั้งนี้ ชาวกุเรชได้ยอมรับต่อการมีเสถียรภาพและเขตแดนของมุสลิม ในขณะที่มีการเซ็นสัญญาตกลงกันทำให้บางเผ่าได้เข้าร่วมเป็นมิตรกับบรรดามุสลิมอย่างเปิดเผย อย่างไม่หวาดเกรงหรือต้องเอาใจชาวกุเรชอีกต่อไป เช่น ที่เผ่าคุซาอะฮ์ได้กระทำ
    2. การยุติสงครามกับชาวกุเรช ได้เปิดโอกาสให้บรรดามุสลิมไปจัดการกับศัตรูฝ่ายอื่นๆ จึงทำให้การกวาดล้างพวกยิวในเมือง “คอยบัร” เสร็จสมบูรณ์และสามารถยึดครองได้ใน ปีที่ 7 แห่งฮิจญ์เราะฮ์ศักราช ตลอดจนการกวาดล้างเผ่า “ฆ็อต่อฟาน” ทางหัวเมือง “นัจด์” ในสงครามที่ชื่อว่า “ซาติรร่อก็ออ์” รวมถึงการส่งกองกำลังไปที่เมือง “มุอ์ตะฮ์” ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของคาบสมุทรอาหรับและสุดท้ายของการกวาดล้าง คือสงครามที่ชื่อว่า “ซาตุสสะลาซิล”เพื่อเป็นบทเรียนให้เผ่าต่างๆ
    3. การประนีประนอมในครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้มุสลิม มีเวลาในการเผยแพร่อิสลาม ท่านเราะซูล ได้ส่งตัวแทนไปยังเจ้าเมืองต่าง ๆ และบรรดาผู้นำประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ทำการเชิญชวนพวกเขาให้เข้ารับอิสลาม การประนีประนอมนี้ได้ให้โอกาสแก่เผ่าต่างๆ กล้าที่จะมีสัมพันธ์ติดต่อกับบรรดามุสลิม และรับทราบเรื่องราวของอิสลาม  เป็นการชี้ให้เห็นว่าอิสลามนั้นได้แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 2 ปีของการทำสัญญาประนีประนอม ทำให้มีนักต่อสู้เดินทางพร้อมกับท่านเราะซูล เพื่อพิชิตเมืองมักกะฮ์ถึง 10,000 คน  เช่นเดียวกัน ได้มีคนที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งเข้ารับนับถืออิสลาม เช่น คอลิด บิน อัลวลีด และอัมรุบนุ้ลอ๊าซ-ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา- เป็นต้น
    หมายเหตุ
  • 1.ซ่อฮี๊ฮฺ อัล บุคอรีย์ กิตาบุ้ลมะฆอซีย์ บาบ ฆ็อซวะตุ้ลฮุดัยบียะฮฺ ซ่อฮี๊ฮฺ มุสลิม กิตาบุ้ลอิมาเราะฮฺ บาบ อิสติฮฺบาบ “มุบายะอะฮฺ อัล อิมาม”
  • 2.ดู ความหมายของอายะฮฺในตัฟซีร อัฏฏอบรีย์ และอิบนิ กะซี๊ร
  • 3.มุสนัด อิมาม อะฮฺมัด 3/420 และอัลฮากิมใน “มุสตัดร็อก” ของท่าน 2/459 และท่านได้บอกว่าถูกต้อง (ซอฮี๊ฮฺ) อัซซะฮะบีย์ก็เห็นด้วย
  •  อ้างจาก http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=10&id=1781


    4.การมีข้อตกลงกับชาวยิว
              ในขณะที่เราะซูลุลลอฮ์ ได้เข้าสู่นครมะดีนะฮ์ ได้มีชาวยิวอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นด้วย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการสร้างสังคมที่นครมะดีนะฮ์ พร้อมวางกฎเกณฑ์การก่อตั้งอาณาจักรรัฐอิสลามอย่างชัดเจน จึงต้องกำหนดความสัมพันธ์กับชาวยิว ซึ่งพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชาวเมืองมะดีนะฮ์ นี่คือสิ่งที่ท่านนะบีถือปฏิบัติและได้มีสนธิสัญญาข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับยิวกลุ่มต่างๆ โดยที่พื้นฐานอันสำคัญของข้อตกลงมีว่า :
    • มีการนับถือศาสนาโดยเสรี “มุสลิมมีศาสนาของมุสลิม ยิวมีศาสนาของยิว”
    • ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบในการป้องกันนครมะดีนะฮ์ในขณะที่มีภัยรุกรานจากภายนอก
    • ความปลอดภัยภายในของนครมะดีนะฮ์ อยู่บนความรับผิดชอบของทุกคน “หมายความว่า ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัย”
    • ทุกฝ่ายต้องให้เกียรติต่อกัน และจะไม่เป็นมิตรกับชาวกุเรชและไม่มีการช่วยเหลือใด ๆ
    • ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายจะต้องตั้งมั่นอยู่บนความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่มีการซ่อนเร้น  หรือเล่ห์เหลี่ยมใด ๆ ทั้งสิ้น
    • ท่านเราะซูล เป็นผู้นำสูงสุดของกลุ่มชน และชาวยิวเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชน ชาวยิวต้องอยู่ภายใต้การปกครอง ในเรื่องที่มีการพิพาทกันให้ท่านเราะซูลเป็นผู้ชี้ขาด อำนาจการออกคำสั่งเป็นสิทธิ์ของท่านนะบี ทั้งในด้านการทำสงคราม และอื่นๆ  (*1)
               การก่อตั้งมัสญิด การจับมือเป็นพี่น้องกัน ตลอดจนการเขียนสนธิสัญญากับชาวยิวนั้น ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ได้วางรากฐาน กฏเกณฑ์การจัดตั้งรัฐอิสลามให้อยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง มัสญิดเป็นที่ฝึกฝนบรรดามุสลิม และเป็นการจัดระเบียบมารยาท รวมถึงการเป็นพี่เป็นน้องกันทำให้เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของส่วนรวม ด้วยความรัก ความซื่อตรงและความเมตตาสงสาร ส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับสนธิสัญญา เป็นการควบคุมอุปนิสัยใจคอของบรรดาผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม (2*)
              หลังจากนั้น การดำรงชีวิตในรูปแบบอิสลามจึงเริ่มดำเนินไปอย่างสมบูรณ์แบบ มีการตราบัญญัติทางศาสนา คำสอนของอิสลามตามบัญญัติของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพื่อเป็นการจัดระบบให้กับสังคมมุสลิมและรัฐอิสลาม จัดระบบวิถีชีวิตส่วนตัวและสังคม รวมทั้งความผูกพันกับพระผู้เป็นเจ้า จัดระบบรัฐซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และสิทธิต่างๆ มีองค์กรทำหน้าที่คอยควบคุมดูแล ใช้หลักบัญญัติเพื่อเผยแผ่คำสอน และให้ความรู้แก่หมู่ชนในเรื่องศาสนา พร้อมทั้งปกครองตัดสินให้เกิดความเป็นธรรมและจัดการโทษแก่ผู้ทำผิด จัดเตรียมทหารเพื่อให้เกิดความมั่นคงในบ้านเมือง ปกป้องพื้นที่ของอิสลาม และเตรียมพร้อมที่จะพิชิตหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อขยายการเชิญชวนสู่อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ให้เข้าถึงทุกหมู่ชน


    หมายเหตุ 
  • 1.รายละเอียดของหนังสือสัญญาและความรู้เพิ่มเติมนั้นดูที่ –อัลอัมรีย์- อัซซีเราะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ อัซเซาะฮีฮะฮฺ – มะฮฺดีริสกุลลอฮฺ.อัซซีเราะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ ฟีฎอวอิ้ล มะซอดิริลอัศลียะฮฺ..306-318—282-292
  • 2.ดู ข้อเขียนของซอและฮฺ อัชชามีย์ : มินมุอีนิซซีเราะฮฺ : 165
     
  • อ้างจาก http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=10&id=1763



                  จากตัวอย่างข้างต้นที่ข้าพเจ้าได้หยิบหยกมาเพียงแค่ 4 โมเดลนั้นที่ท่านศาสดามูฮัมหมัดได้ปฏิบัติไว้ แสดงให้เห็นว่าท่านศาสดามูฮัมหมัดศ็อลฯสร้างความปรองดองได้ด้วยอัลอิสลาม โดยใช้สันติวิธีสู่สันติภาพสากล มีการเจรจาต่อรอง มีการทำข้อตกลงที่ทุกกลุ่ม ทุกเผ่าได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ล่วงละเมิดอีกกลุ่มหนึ่งหรือเผ่าพันธ์หนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดของการปรองดองที่ท่านศาสดามูฮัมหมัดศ็อลฯ ได้ปฏิบัตินั้นก็คือการสร้างความเป็นพี่น้องระหว่างเผ่าเอาส์กับเผ่าค็อซรอจญ์ที่รบรากันมาเป็นเวลายาวนาน และสร้างความเป็นพี่น้อง ความเป็นปึกแผ่นระหว่างกลุ่มมูฮาญีรีนกับกลุ่มอันศอร นี่เป็นต้นแบบของการปรองดองในประวัติศาสตร์อิสลาม

              อิสลาม เชื่อว่า อัลลอฮเป็นผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และสิ่งที่อยู่ระหว่างทั้งสอง และมนุษย์ที่อยู่บนโลกนี้ พระองค์คือพระเจ้าเพียงองค์เดียวของเรา และพระองค์คือพระเจ้าของทุกคนในโลกนี้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
    อิสลาม เชื่อว่า อาดัมกับอีฟหรือฮาวาเป็นมนุษย์คู่แรกบนโลกใบนี้และทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มใด ผิวขาว ผิวดำ ผิวเหลือง หรือผิวแทน เป็นต้น ก็เป็นลูกหลานของอาดัม กับฮาวา
    อิสลามเชื่อว่า มูฮัมหมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮคนสุดท้าย ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมที่อยู่ในช่วงศาสดามูฮัมหมัดหรือหลังจากนั้น ก็เป็นประชาชาติของมูฮัมหมัด
    เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ไม่มีสาเหตุที่ทุกคนจะมาทะเลาะกัน เราสร้างรัฐแห่งการปรองดองกัน เพราะทุกคนเป็นบ่าวของอัลลอฮ เป็นลูกหลานของอาดัม และเป็นประชาชาติของมูฮัมหมัด เรามาพร้อมใจกัน เป็นบ่าวด้วยกัน เป็นเอกภาพเดียวกัน ความคิดที่ไม่เหมือนกันก็ให้มาปรึกษาหารือกันเพื่อการอยู่ร่วมกันของพวกเราอย่างสันติภาพทั้งโลกนี้และโลกหน้า

                วะบิลลาฮฮีเตาฟีก วัลฮีดายะห์ อัสสาลามูอาลัยกุมวาเราะหมาตุลลอฮ ฮีวาบารอกาตุฮ

    บรรณานุกรม

    1.ฮัสบุลลอฮ ตาเห,เอกสารประกอบการสอนรายวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น,สาขารัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
    2.ศอลิห์ หุสัยน์ อัลอายิด ; อุษมาน อิดรีส, ถอดความและเรียบเรียง,สิทธิของชนต่างศาสนิกในประเทศอิสลาม,ปัตตานี : วิทยาลัยอิสลามยะลา, 2548.
    3. http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=10&id=1763 สืบค้นวันที่ 17-6-2555
    4.http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=10&id=1781สืบค้นวันที่ 17-6-2555

    เรียบเรียงโดย ม.ฆอซาฟี มะดอหะ
    ปรับรุงจากเดิม เมื่อวันที่ 17-6-2555


  •  
  • 1 ความคิดเห็น:

    1. ขอขอบคุณ สำหรับข้อมูล มากน่ะคับ พอดีจะใช้เป็นข้อมูลทำวิจัย ป.โท

      ตอบลบ