วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

ราชวงค์ อุษมานียะฮ์ (The Ottoman Empire)


ราชวงค์ อุษมานียะฮ์ (The Ottoman Empire)
อาณาจักร์ออตโตมาน หรือ ราชวงค์ อุษมานียะฮ์ (The Ottoman Empire) ระหว่างปี ค.ศ. 1299-1922
อาณาจักรอุษมานียะฮ์หรือออตโตมานเติร์กเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1299 หลังจากอาณาจักรเซลจูกเติร์กแห่งอนาโตเลียถูกกองทัพมงโกลรุกรานและล่มสลายในที่สุด อาณาจักรอุษมานียะฮ์ถูกสถาปนาขึ้นโดย อุษมาน และท่านอุษมานได้ประกาศตนเป็นปาดีชะห์ปกครองอาณาจักรออตโตมานที่แคว้นโซมุตทางทิศตะวันตกของอนาโตเลีย จึงนับว่าท่านเป็นสุลต่านองค์แรกแห่งราชอาณาจักนออตโตมาน (อุษมานียะฮ์)
คำว่า อุษมานียะฮ์มาจากชื่อต้นตระกูล เป็นชื่อของสุลต่านองค์แรกของราชวงค์ ผู้สถาปนาราชอาณาจักรอุษมานียฮ์
ประมุขสุงสุดของอาณาจักรออตโตมาน เรียกว่า ปาดีชะห์ หรือ สุลต่าน ผู้มีอำนาจรองลงมา คือ วาซีร อะซัม (แกรนด์วิเซียร์)ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าดิวาน ซึ่งในปัจจุบันอาจหมายถึง รัฐบาล และมีอีกตำแหน่งหนึ่งเรียกว่า ไซคุลอิสลาม ทำหน้าที่ดูแลฝ่ายกิจกรรมศาสนาอิสลาม มีฐานะเท่าเทียมกับ แกรนด์วิเซียร์ ทั้งสามสถาบันถือเป็นสถาบันหลักของอาณาจักรออตโตมาน
อาณาจักรออตโตมานมีปาดีชะห์หรือสุลต่านปกครองทั้งหมด 36 พระองค์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1299-1922 การปกครองในรัชสมัยของสุลต่านสิบพระองค์แรกนับว่าเป็นสุลต่านที่มีความสามารถเข้มแข็งในการรบ เพราะต้องรักษาดินแดนของตนพร้อมกับการขยายดินแดนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น สุลต่านองค์ที่ 2 คือ อรฮันที่ 1 ได้จัดตั้งงกองทหารราบแจนิสซารีขึ้น เพื่อเป็นกองทหารกล้าตายพิทักษ์องค์สุลต่าน เป็นผู้มีความซื่อสัตย์และจงรักภัคดีต่อสุลต่านเป็นอย่างยิ่ง แต่ในภายหลังกองทหารแจนิสซารีเป็นผู้ก่อการจลาจลเสียเอง เพราะกลัวจะเสียผลประโยชน์ บางรัชสมัยกองทหารแจนิสซารีมีอิทธิพลถึงขั้นถอดถอนแต่งตั้งสุลต่านได้ จนในที่สุดรัชสมัยสุลต่านมะห์มูดที่ 2 พระองค์ได้ปราบปรามกองทหารแจนิสซารีอย่างเด็ดขาดและได้เลิกระบบกองทหารแจนิสซารี
ในรัชสมัยของสุลต่านสิบพระองค์แรกต้องทำศึกสงครามกับอาณาจักรไบแซนทีน กลุ่มประเทศในแหลมบอลข่าน เช่น เซอร์เบีย บัลกาเรีย วอเลคเชีย (โรมาเนีย) เฮงการี เป็นต้น ผลจากการสงครามในสมัยนี้ส่วนใหญ่ออตโตมานเป็นผู้ชนะ แต่ในสมัยสุลต่านคนที่ 4 คือ บายาซิดที่ 1 พบศึกหนักต้องทำสงครามกับตาร์ตาร์ภายใต้การนำของทาร์เมอเลน สุลต่านถูกจับและสิ้นประชนในที่สุด
ต่อมาสุลต่านคนที่ 7 เมร์เมดที่ 2 ได้รับสมญานามว่า ผู้พิชิต เพราะเป็นผู้พิชิตอาณาจักรไบแซนทีนได้สำเร็จ สามารถตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ในปี ค.ศ. 1453 และได้ทรงเปลี่ยนเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรออตโตมานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเปลี่ยนชื่อเป็น อิสตันบูล ในสมัยสุลต่านสุไลมานที่ 1 นับว่าอาณาจักรออตโตมานเจริญสูงสุดแต่ในขณะเดียวกันในช่วงปลายสมัยของสุลต่านสุไลมานที่ 1 นี้ก็เป็นการเริ่มของความเสื่อมของอาณาจักรออตโตมานสาเหตุของการเสื่อมเพราะ
1.ความอ่อนแอของสุลต่านเอง คือ ไม่มีความสามารถในการรบ หมกมุ่นอยู่กับสุรานารี
2.ปล่อยให้แกรนด์วิเซียร์เป็นผู้บริหารแทน เป็นเหตุให้เกิดการการคอรัปชั่น
3.ขาดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยส่วนในยุโรปนั้นมีการอาวุธที่ทันสมัยและมีศักยภาพมากกว่า
4.กษัตริย์ในยุโรปได้ร่วมมือกันเพื่อล้มล้างอาณาจักรออตโตมาน

หลังจากสิ้นยุคการปกครองของสุลต่านสุไลมานเป็นต้นมา อาณาจักรออตโตมานเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อม ภายในราชสำนักมีแต่ความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา ฟุ่มเฟือย สุลต่านเอาแต่สนุกสนานอยู่ในฮาเร็ม มีการลอบปลงประชนแย่งชิงราชบัลลังก์ บรรดาข้าราชการแสวงหาความร่ำรวย ฉ้อราษฎร์บังหลวง สาเหตุดังกล่าวทำให้สุลต่านแห่งออตโตมานต้องปราชัยเป็นส่วนใหญ่และจากการรุกรานของชาติต่างๆในยุโรปทำให้ ไม่ สามารถขยายดินแดนได้อีก ต่อมาในสมัยมะห์มูดที่ 2 ก็ได้จัดกองทัพแบบยุโรป โดยมีฝรั่งเศสให้ความช่วยเหลือ หลังจากนั้นก็ได้ทำสงครามกับกลุ่มประเทศในแหลมบอลข่าน อิตาลีและกรีก แต่ออตโตมานก็พ่ายแพ้มาตลอด ในสมัยอับดุลฮามิดที่ 1 ได้เกิดกลุ่มยังเติร์กหรือเติร์กหนุ่มเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสุลต่านเป็นระบบสาธารณรัฐและให้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายในการปกครองประเทศ ในที่สุดเคมาล ปาชา ผู้นำกลุ่มยังเติร์กสามารถชนะกรีก และต่อมาประกาศเลิกระบบสุลต่าน เลิกระบบเคาะลีฟะฮ์ เป็นการสิ้นราชวงค์ออตโตมาน (อุษมานียะฮ์) เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐประเทศตรุกีในปี ค . ศ. 1922 จนถึงปัจจุบัน
อาณาจักรออตโตมานให้ความสำคัญกับการศึกษาเหมือนกับอาณาจักรอิสลามอื่นๆ ในอดีตมีสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นมากมายในดินแดนอาณาจักรออตโตมานทั้งในภูมิภาคเอเชียและยุโรป รัฐบาลออตโตมานไดจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างเสมอภาคไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ สถาบันการศึกษาที่สำคัญของอาณาจักรออตโตมานนอกจากสถาบันมัดรอซะห์แล้วยังมี มักตาบศิบยาน ตำหนักใน สถานพายบาล มัสญิด เตกแกและซาวียะห์ ตลอดจนจวนของบรรดาขุนนางและที่พำนักของบรรดาอุลามาอฺมีบทบาทต่อกิจกรรมการศึกษาของอาณาจักรออตโตมานป็นอย่างมาก
สังคมในสมัยออตโตมานได้แบ่งชนชั้นเป็นชนชั้นปกครองและชนชั้นถูกปกครอง ชั้นปกครองได้แก่ สุลต่าน ข้าราชบริพารในพระราชวัง ทหารต่างๆ กอฏี มุฟตี อุลามาอฺ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในสำนักงานการเงินการคลัง และสถาบันอาลักษณ์ และชนชั้นถูกปกครอง ไดแก่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง ชนบท รวมทั้งชนเร่ร่อน อาศัยอยู่ตามเชิงเขา ทะเลทราย ทุ่งหญ้า มีทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม คริสต์ ยิว และอื่นๆ



อาณาจักรออตโตมานมีการค้าทั้งภายในราชอาณาจักร และการค้าระหว่างประเทศ เมืองสำคัญด้านการค้าของอาณาจักรออตโตมานมีหลายเมือง เช่น บุรซา แอร์ซูรูม คอนยา ซีวาส อิสตันบูล เป็นต้น
มีการค้าขายกับซีเรีย อียิปต์ เอเชียน้อย เส้นทางการค้าในเขตทะเลดำก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของออตโตมาน ทำการค้าข้าวสาลี ปลา น้ำมันพืช และเกลือ เมืองท่าในทะเล Azov ออตโตมานยังเป็นศูนย์กลางการค้าผ้าและทาส สำหรับการค้ากับต่างประเทศก็มี เวนิส เจนัว แฟลนเดอร์ ฟลอเรนซ์ จีน เปอร์เซีย อาหรับ อินเดีย อินโดนีเซีย เป็นต้น และต่อมาราชอาณาจักรออตโตมานก็มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับ รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศสอีกด้วย
งานด้านสถาปัตยกรรมในยุคสมัยอาณาจักรออตโตมานปรากฏให้เห็นในรูปแบบของการก่อสร้างพระราชวัง มัสญิด สุสาน วิทยาลัยและอาคารต่างๆ ในสมัยสุลต่านแต่ละพระองค์ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. พระราชวังท็อปกาเปอ เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของสุลต่านเมห์เมดที่ 2 ภายหลังจากที่พระองค์ตีคอนสแตนติโนเปิลได้แล้ว ใช้เวลาในการก่อสร้าง 6 ปี เป็นสถาปัตยกรรมแบบออตโตมาน ซึ่งจำลองแบบมาจากรพะราชวังเดิมที่เมืองแอดิร์เน ภายในพระราชวังประกอบด้วยตำหนักน้อยใหญ่ พลับพลา พระคลังมหาสมบัติ มัสยิด หอพัก โรงอาหาร ฮาเร็ม ท้องพระโรง ศาลาลูกขุน ห้องสมุด โรงครัว น้ำพุ อุทยาน ตลอดจนถนนหนทาง
2. มัสยิดอรฮันกาซี ซึ่งเป็นชื่ออมีรคนที่ 2 แห่งราชอาณาจักรออตโตมาน สร้างขึ้นในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 14 มัสยิดนี้มีโดมสูง 16-50 เมตร ตั้งอยู่ในกรุงบุรซา
3. มัสยิดสุลต่านอะห์เมด หรือมัสยิดสีฟ้า สร้างขึ้นในสมัยสุลต่านอะห์เมดที่ 1 ตัวมัสยิดประกอบนด้วยหน้าต่างประดับด้วยกระจกสี จำนวน 260 บาน ภายในมัสยิดประกอบด้วยกระเบื้องสีฟ้า
4. มัสยิดรุสตัมปาชา ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1561 ในรัชสมัยของสุลต่านสุไลมานที่ 1 รุสตัมปาชา เป็นแกรนด์วิเซียร์และเป็นลูกเขยของสุลต่านสุไลมานที่ 1 5. มัสยิดเก่าในกรุงแอดิร์แนเป็นมัสยิดที่สร้างขึ้นในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15
6.มัสยิดเบเยซิดปาชา ที่กรุง อมาสยา
7. มัสยิดสุไลมานิเย สร้างขึ้นในรัชสมัยสุไลมานที่ 1 มียอดโดมสูง 53 เมตร มีหน้าต่าง 138 บานทำด้วยกระจกสีต่างๆดูระยิบระยับงามตาไปทั่วทั้งอาคาร
8.มัสยิดเขียว มัสยิดนี้สร้างขึ้นในกรุงบุรซา
9.มัสยิดขันธี อิบรอฮีม ปาชา สร้างในกรุงอิสตันบูล
นอกจากมัสยิดที่กล่าวมาแล้วยังมีมัสยิดอื่นๆอีกมาก ซึ่งไม่สามารถจะกล่าวในที่นี้ไดทั้งหมด นอกจากสร้างมัสยิดแล้วยังมีการสร้างสุสานอีกด้วย เช่น สุสานสุลต่านบายาซีดที่ 1 สุลต่านเมห์มัดที่ 1
นอกจากมัสยิด พระราชวัง สุสาน แล้ยังมีการสร้างอาคารอื่นๆ อีกมากมาย เช่น โรงพยาบาลที่กรุงเอดิร์เน วิทยาลัยสุไลมานปาชาที่อิซนิก วิทยาลัยบายาซิด ยิลดัมซึ่งเป็นอาคารฮาเร็ม สร้างขึ้นสำหรับพระนาง มเหสีของสุลต่านสุไลมานที่ 1

ที่มา : Islamic center of psu Fathoni

ราชวงศ์อุมัยยะห์แห่งอันดาลูเซีย สเปน


ราชวงศ์อุมัยยะห์แห่งอันดาลูเซีย
บทความพิเศษ - อันดาลูเซีย สะพานเชื่อมอารยธรรม

หลังจากคอลีฟะห์แห่งดามัสกัสถูกโค่นล้มในปี ค.ศ. 750 และสถาปนาคอลีฟะห์วงศ์อับบาซิยะห์ขึ้นแทนที่แบกแดด อับดุรรอฮมาน บิน มุอาวิยะห์ (عبد الرحمن الداخل) หลานของอดีตคอลีฟะห์ฮิชาม ซึ่งรอดพ้นจากการสังหารหมู่ของพวกอับบาซิยะห์มาได้อย่างหวุดวิด ได้หลบหนีไปยังอัฟริกาเหนือ ที่นั่นเขาได้สั่งให้คนรับใช้ที่ชื่อบัดรฺ?ติดต่อกับพรรคพวกของวงศ์อุมัยยะห์ในสเปนอย่างลับๆ เมื่อแน่ใจว่าจะมีผู้สนับสนุนเพียงพอ จึงตัดสินใจข้ามไปยังสเปนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 755 ปรากฏว่ากองทัพของเขาเอาชนะทหารของยูซุฟ บิน อับดุรรอฮมาน อัลฟิห์รีย์ (يوسف بن عبد الرحمن الفهري) ใกล้ๆกับเมืองคอร์โดบาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 756 และสถาปนาตนเองเป็น อะมีรแห่งอันดาลูเซีย
ตลอดสมัยการปกครองเขา(ค.ศ. 756-788) ได้สถาปนาอำนาจของวงศ์อุมัยยะห์ให้เข้มแข็งด้วยการเชิญชวนผู้สนับสนุนอุมัยยะห์จากซีเรียให้อพยบมายังสเปน ปราบปรามชาวอาหรับและเบอร์เบอร์ที่กระด้างกระเดื่องต่อวงศ์อุมัยยะห์ หรือแม้แต่กับญาติสนิทที่คิดทรยศ? ขณะเดียวกัน อัสตูเรียส รัฐคริสเตียนทางตอนเหนือได้รุกเข้าไปยังดินแดนของอาหรับ ระหว่างที่เกิดปัญหาการเมืองภายใน ทำให้เขาต้องนำกองทัพไปปราบ ซึ่งในที่สุด กษัตริย์แห่งอัสตูเรียสก็ยอมลงนามสงบศึกเป็นระยะเวลา 20 ปี (ตั้งแต่ ค.ศ. 767 ถึง 786)
ค.ศ. 778 ผู้ว่าการเมืองบาร์เซโลนา ลูกเขยของยูซุฟ บิน อับดุรรอฮมาน อัลฟิห์รีย์ก่อกบฏและขอความช่วยเหลือจากพวกแฟรงก์ แต่เมื่อกษัตริย์ชาลส์ เลอมองของแฟรงก์ยกทัพมาถึงซาราโกซา (Saragossa อาหรับเรียก ซารากุสเฏาะห์) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบาร์เซโลนา ชาวเมืองกลับปฏิเสธที่จะเปิดประตูเมือง จึงถูกพวกแฟรงก์ล้อมไว้ แต่ไม่นานก็ต้องยกทัพกลับเมื่อมีข่าวการก่อกบฏในฝรั่งเศส ทัพระวังหลังของพวกแฟรงก์ภายใต้การนำของเจ้าชายโรแลนด์ถูกพวกบาสก์ซุ่มโจมตีที่รองเคสวาลล์จนเจ้าชายโรแลนด์เสียชีวิต ปรากฏอยู่ในบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของยุโรปยุคกลาง ชื่อ Chansen de Roland
ถึงแม้จะเป็นอิสระจากอำนาจของคอลีฟะห์วงศ์อับบาซิยะห์แห่งอิรัค แต่เขาก็ยังรูปแบบการปกครองท้องถิ่นตามแบบที่ข้าหลวงซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากดามัสกัสก่อนหน้านี้ปฏิบัติ คอร์โดบายังคงเป็นศูนย์กลางการปกครอง เรียกตนเองว่า ?อะมีร?? แม้แต่ในปีแรกๆที่เขามีอำนาจก็ยอมให้มีการกล่าวนามของคอลีฟะห์วงศ์อับบาซิยะห์ในระหว่างคุฏบะห์วันศุกร์ ช่วงกลางสมัยของเขามีการจัดตั้งกองทหารรับจ้าง ประกอบด้วยทหารชาวเบอร์เบอร์และพวกมัมลูก (ทาสผิวขาวที่ซื้อมาจากยุโรปตอนเหนือ) ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีกว่า 40,000 คน? ด้วยความคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน เขาได้สร้างพระราชวังใกล้คอร์โดบา ชื่อ อัรรอศอฟฟะห์ เลียนแบบพระราชวังฤดูร้อนในซีเรีย ที่เมื่อสมัยยังเป็นเด็ก เขาเคยพำนักอยู่กับปู่(คอลีฟะห์ฮิชาม) พระราชวังแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมแบบอุมัยยะห์ มีท่อส่งน้ำเข้าสู่อาคาร จัดให้มีสวนไม้ประดับ ซึ่งกลายเป็นอย่างการจัดอาคารของยุโรปในภายหลัง ปลูกพันธุ์พืชที่นำมาจากตะวันออกกลาง เช่นต้นทับทิม ลูกท้อ และต้นปาล์ม เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 788 ขณะอายุเกือบจะ 60 ปี
ฮิชามที่ 1 (هشام بن عبد الرحمن الداخل) บุตรชายคนที่สองของอับดุรรอฮมาน อ้างสิทธิการเป็นทายาท ทำให้พี่ชายที่ชื่อสุลัยมานและน้องชายชื่ออับดุลลอฮฺต้องถูกเนรเทศไปยังอัฟริกาเหนือ ตลอดยุคสมัยของเขา(ค.ศ. 788-796) การเมืองภายในมีความมั่นคง เขาให้การยอมรับคำสอนตามสำนักคิด(มัซฮับ)มาลิกีย์ และได้กลายเป็นสำนักคิดที่เป็นทางการของมุสลิมสเปนนับตั้งแต่นั้น ฮิชามเสียชีวิตขณะอายุเพียง 40 ปี แต่ก่อนที่จะเสียชีวิต ได้แต่งตายลูกชายที่ชื่ออัลฮะกัม (الحكم بن هشام) เป็นทายาท(ค.ศ. 796-822)
ความยุ่งยากเกิดขึ้นเมื่อสุลัยมานและอับดุลลอฮฺ ผู้เป็นลุงกลับมาอ้างสิทธิที่เคยถูกฮิชามแย่งไป ปรากฏว่ากองทัพของสุลัยมานพ่ายแพ้ไปขณะพยายามจะบุกเข้าคอร์โดบา สุลัยมานถูกสังหารในที่สุดที่เมริดา ส่วนอับดุลลอฮฺซึ่งพยายามขอความช่วยเหลือจากชาล์ส์เลอมอง ถูกจับได้และถูกจำกัดบริเวณที่วาเลนเซียจนกระทั่งเสียชีวิต ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เมืองซากาโกซา โทเลโดและเมริดาได้ก่อกบฏขึ้น แต่ทั้งหมดก็ถูกปราบปรามลง อัลฮะกัมได้สั่งให้สร้างป้อมปราการแห่งทูเดลา ทางตอนเหนือของซาราโกซา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชายแดนตอนเหนือ ที่โทเลโด อัลฮะกัมได้วางแผนให้มีการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมต่อชนชั้นขุนนางซึ่งเป็นมุสลิมใหม่(มุวัลลัด) ที่มักก่อกบฏอยู่เสมอเมื่อได้โอกาส
ในระหว่างที่อัลฮะกัมปราบปรามกบฏที่เมริดา ซึ่งใช้เวลานานถึง 7 ปีนั้น แผนการยึดอำนาจโดยให้ลูกพี่ลูกน้องขึ้นเป็นอะมีรแทน ถูกเปิดเผยขึ้นมา ทำให้เขาสั่งกำจัดผู้วางแผนอย่างโหดร้าย สร้างความโกรธเคืองให้กับประชาชน ซึ่งไม่พอใจพฤติกรรมส่วนตัวของอัลฮะกัม ซึ่งห่างเหินศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว? จนในที่สุด นำไปสู่การจราจลของเขตอัรระบัต ชานเมืองคอร์โดบา ภายใต้การนำของผู้นำศาสนาชาวเบอร์เบอร์ที่อัลฮะกัมเกือบจะต้องแลกมันกับบัลลังก์และชีวิต แต่ในที่สุดชาวเมืองก็ถูกปราบลงได้ ผู้นำกบฏถูกสั่งตัดหัว บ้านเรือนในเขตที่ก่อกบฏถูกเผาทำลาย และประชาชนกว่า 20,000 คน ถูกเนรเทศให้ออกจากสเปน ส่วนหนึ่งอพยบไปยังเมืองเฟซในโมรอคโค อีกส่วนหนึ่งได้สถาปนาอาณาจักรของพวกตนขึ้นบนเกาะครีต (อาณาจักรนี้ยืนหยัดอยู่จถึงปี ค.ศ. 961 เมื่อกรีกยกทัพมาตีเกาะนี้คืน) นโยบายที่สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนโดยทั่วไปนี้ ผลักดันให้เขาต้องอาศัยทหารรับจ้างมาช่วยค้ำจุนอำนาจ ยุคนี้เองที่มุสลิมพื้นเมือง(มุวัลลัด)? เบอร์เบอร์ และอดีตทาสที่เคยเป็น ทหารรับจ้าง เข้ามามีบทบาทในการปกครอง เคียงข้างกับชาวอาหรับ การวางรากฐานที่มั่นคงของอัลฮะกัม ทำให้ยุคสมัยของอับดุรรอฮฺมานที่ 2 (عبد الرحمن الثاني)ผู้เป็นทายาท(ค.ศ. 822-852) เป็นยุคที่สงบ และความเจริญทางด้านวิทยาการเฟื่องฟูขึ้น
การรบกับรัฐคริสเตียนตอนเหนือสามครั้งประสบความสำเร็จ โจมตีอะลาบาและแคสตีล และรุกเข้าไปในดินแดนกาลิเซียที่ขณะนั้นปกครองโดยอัลฟองโซที่ 2 ในการรบบาเซโลนา( อาหรับเรียก บัรชิลูนะห์) และเจโรนา แม้เขาไม่สามารถยึดเมืองทั้งสองได้ แต่ในปี ค.ศ. 841 กองทัพของมุสลิมสเปนก็สามารถรุกไปถึงดินแดนของฝรั่งเศสอีกครั้ง สามปีต่อมา โจรสลัดนอร์ทแมนด์จากคาบสมุทรสแกนดิเนเวียบุกปล้นสะดมเมืองต่างๆริมมหาสมุทรแอตแลนติค เมืองลิสบอน( อาหรับเรียก อัล อุชบูนะห์)ถูกโจมตีอย่างหนัก หลังจากนั้นโจรสลัดยกมายึดเมืองคาดิส เมืองเซวิลล์ (อาหรับเรียก อิชบิลิยะห์) ที่ปราศจากการป้องกันถูกปล้นสะดม ชาวเมืองที่ไม่สามารถหลบหนีทัน ถูกฆ่าตายหรือไม่ก็ถูกจับไปเป็นทาส อับดุรรอฮมานที่ 2 ต้องระดมกำลังทหารเพื่อขับไล่โจรสลัดเหล่านี้ออกไป และสร้างแนวป้องกันและทัพเรือ เมื่อโจรสลัดเหล่านี้กลับมาโจมตีอีกในปี ค.ศ. 859 และ 866 จึงถูกขับไล่ออกไปอย่างง่ายดาย ด้านความสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ มีความพยายามในการสานสัมพันธ์กับไบแซนไทน์ เนื่องจากมีศัตรูร่วมกันคือคอลีฟะห์วงศ์อับบาซียะห์แห่งแบกแดดและอาณาจักรแฟรงก์แห่งฝรั่งเศส มีการส่งทูตติดต่อกัน แม้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
ถึงตอนนี้ สเปนภายใต้การปกครองของอะมีรแห่งอันดาลูเซีย กลายเป็นดินแดนที่มีมั่งคั่งที่สุดในบรรดารัฐริมทะเลเมดิเตอเรเนียน การค้าและอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เฟื่องฟู สร้างรายได้ให้กับอาณาจักร คอร์โดบาและเซวิลล์กลายเป็นศูนย์ทางการค้าที่มีชีวิตชีวา ความเป็นอยู่ของอะมีรที่โอ่อ่า หรูหรา ให้การส่งเสริมดนตรีและศิลปะ ให้ความสนใจในการอุปถัมภ์การศึกษาวิชาการแขนงต่างๆ แสดงให้เห็นความพยายามเทียบชั้นกับคอลีฟะห์แห่งแบกแดด ยุคนี้เองที่นักปราชญ์อย่างอิบนุ ฟิรนาสและซิรยาบมีชีวิตอยู่ในสเปน
อารยธรรมความเป็นอยู่ของชาวอาหรับ ยั่วยวนคริสเตียนสเปนให้เลียนแบบ แม้จะไม่ยอมรับนับถืออิสลามก็ตาม ยอมที่จะถอดเสื้อตามแบบของตะวันตกยุคกลางมาใส่เสื้อผ้าที่เบาบางและมีสีสรรอันงดงามของอาหรับ โดยอ้างว่ามันจะสะดวกสบายกว่า รู้จักการใช้เครื่องเทศในการปรุงแต่งอาหาร และรู้จักดนตรีอันไพเราะของอาหรับ ยอมรับที่จะเรียนรู้วิทยาการและศิลปะอันงดงามของอาหรับ กลายเป็นวัฒนธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันที่เรียกกันว่า โมซาแรบ(Mozarab มาจากคำว่า มุสตะอฺริบ แปลว่าผู้ที่ยอมรับภาษาและวิถีของชาวอาหรับ) อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาโต้ตอบของผู้นำคริสเตียนรุนแรงขึ้น เมื่อพบว่าคริสเตียนสเปนจำนวนมากหันมานับถืออิสลาม บาทหลวงเปอร์เฟคตุสได้กล่าวดูถูกเหยียดหยามท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ต่อหน้าสาธารณชน บาทหลวงถูกลงโทษประหารชีวิตในปี ค.ศ. 850 จนได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญ กระตุ้นให้หนุ่มสาวคริสเตียนอีกหลายคนให้กระทำการลักษณะดังกล่าว แม้จะรู้ถึงชะตากรรมของตนว่าสุดท้ายจะลงเอยแบบใด แค่เวลาไม่ถึงสองเดือน มีคริสเตียนที่ยอมตายด้วยการกระทำดังกล่าวถึง 11 คน
ช่วงปลายสมัยของอับดุลรอฮมานที่ 2 มีความพยายามลอบสังหารเขา แต่ไม่ประสบผล อย่างไรก็ตาม เขาเสียชีวิตในอีก 2 ปีต่อมา มุฮัมมัดที่ 1 ( محمد بن عبد الرحمن الأوسط‎)บุตรชายได้เป็นอะมีรสืบแทน (ค.ศ. 852-886) ปรากฏว่าเกิดการกบฏของหัวเมืองสำคัญๆ ทั่วสเปน จนอำนาจของอะมีรเหลืออยู่เพียงรอบๆคอร์โดบาเท่านั้น ที่นับว่าอันตรายที่สุดก็คือการก่อกบฏของอุมัร บิน ฮัฟซูน (عمر بن حفصون) ฐานกำลังสำคัญอยู่ที่ป้อมโบบาสโตร (Bobastro) มุฮัมมัดเสียชีวิตขณะนำกำลังไปปราบกบฏอุมัร อัลมุนซิร (المنذر)ผู้เป็นทายาท สืบอำนาจต่อมาเพียงระยะเวลาสั้นๆ (ค.ศ. 886-888)
พระราชวัง มะดีนะฮฺ อัซซะฮฺรออฺ นอกเมืองคอร์โดบา
ประตูเมืองและสะพานอัลกันตะเราะห์ เมืองโทเลโด สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 866(ซ้าย)
ป้อมปราสาท Gormaz สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 956 สมัยอัลฮะกัมที่ 2 เพื่อเป็นฐานในการควบคุมรัฐคริสเตียนตอนเหนือ (ขวา)
Cristo de la Luz เมืองโทเลโด เดิมคือมัสยิด Bab Almardum สร้างในปี ค.ศ. 999-1000
อับดุลลอฮฺ (عبد الله بن محمد)น้องชายของอัลมุนซิร สือต่ออำนาจต่อมา (ค.ศ.888-912) การแก่งแย่งชิงอำนาจในวัง เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลุกฮือของหัวเมืองต่างๆ และความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ทำให้สเปนยุคนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวาย มุสลิมพื้นเมือง(มุวัลลัด)ตั้งรัฐอิสระของตนขึ้นทางตะวันตกเฉียงใต้ และรบพุ่งกับอาหรับที่ปกครองเขตเอลไวรา เช่นเดียวกับในเซวิลล์ ที่ความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับชนพื้นเมืองลงเอยด้วยการก่อตั้งรัฐอิสระที่มีอิบรอฮิม บิน ฮัจญาจเป็นผู้นำ ต่อมากลายเป็นญาติกับอุมัร บิน ฮัฟซูน ผ่านการแต่งงาน โทเลโดแยกตัวโดยตระกูลซุนนูน ขณะที่ตระกูลกูซีย์ได้ปกครองซาราโกซา
อับดุลรอฮฺมานที่ 3 (عبد الرحمن الثالث ค.ศ. 912-961) กลายเป็นบุคคลที่มากอบกู้สถานการณ์ของอะมีรวงศ์อุมัยยะห์ ตอนที่เขารับตำแหน่ง มีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น แต่ด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่นและปราดเปรื่อง ทำให้เขาสามารถกอบกู้ดินแดนของมุสลิมสเปนให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เอซิจา (อาหรับเรียก อิสตะญะห์) ยอมจำนนในปีแรกที่เขาเป็นอะมีร ตามด้วยเมืองอาร์ชิโดนา (อาหรับเรียก อุรดูซูนะห์) และเซวิลล์ในปีต่อมา ป้อมโบบาสโตรของอุมัร บิน ฮัฟซูนถูกเขายึดได้ในปี ค.ศ. 917 และโทเลโด ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขหลังจากที่ต่อต้านอยู่นาน 3 ปี?ในช่วงที่ติดพันกับสงครามภายในอยู่นั้น รัฐคริสเตียนตอนเหนือมักบุกเข้ามาคุกคามชายแดนมุสลิมอยู่บ่อยครั้ง? ค.ศ. 914 รัฐลิยองยึดป้อมซาน เอสเตอบานไว้ได้ พร้อมตัดคอแม่ทัพมุสลิมเสียบประจานไว้ข้างหัวสุกร อับดุรรอฮมานจึงยกทัพไปราบปราม ได้รับชัยชนะที่วัล เดอ จุนเควราส (Val de junqueras) และการรบที่เมซและแพมโพลนา(เมืองหลวงของนาวาเรีย อาหรับเรียก บัมบะลูนะห์) ทำให้รัฐลิยองและนาวาเรียต้องยอมจำนนในที่สุด แต่สงครามในปี ค.ศ. 939 ทัพอับดุรรอฮมานพ่ายแพ้ต่อทัพผสมของรามิโอที่ 3 แห่งลียอง และราชินีโททาแห่งนาวาเรีย ที่อัลฮันเดกา (มาจากภาษาอาหรับ อัลคอนดัก) ตอนใต้ของซาลามังกา อย่างไรก็ตาม ต่อมา ราชินีโททาต้องเดินทางมาเข้าพบอับดุรรอฮมาที่คอร์โดบาเพื่อขอความช่วยเหลือทางทหารและรักษาโรคอ้วนของหลานที่ชื่อซานโจ
ทางด้านชายแดนตอนใต้ เพื่อป้องกันการโจมตีของคอลีฟะห์วงศ์ฟาฏิมิยะห์ซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ที่ตูนิเซีย อับดุรรอฮมานได้ส่งทัพเรือเข้ายึดเมืองท่าซับตะห์ (Ceuta) ฏอนญะห์ (Tangier) และเมลลิละห์ (Mellila) ดินแดนหลายแห่งในโมรอคโคยอมตกลงที่จะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของอับดุรรอฮมาน
เมื่อถึงสิ้นปี ค.ศ. 928 อับดุรรอฮมานที่ 3 ถึงจุดสูงสุดแห่งอำนาจ เขาสถาปนาตัวเองเป็นคอลีฟะห์ เรียกตนเองว่า คอลีฟะห์อันนาซิร ลิดดี นิลลาฮฺ ทำให้โลกอิสลามขณะนั้นมีคอลีฟะห์ถึง 3 คนในคราวเดียวกัน คือคอลีฟะห์วงศ์อับบาซิยะห์แห่งแบกแดด วงศ์ฟาฏิมิยะห์แห่งตูนิเซีย(ต่อมาย้ายไปอียิปต์) และวงศ์อุมัยยะห์แห่งอันดาลูเซีย ความรุ่งเรืองทางสถาปัตยกรรมและศิลปะวิทยาการของอุมัยยะห์แห่งอันดาลูเซียถึงจุดสูงสุดในยุคของอับดุรรอฮมาน ฐานะของคอลีฟะห์แห่งอันดาลูเซียรู้จักกันในยุโรปขณะนั้นว่าเป็นผู้ครองอาณาจักรที่มีความร่ำรวย มั่งคั่งและมีความเป็นอยู่ที่โอ่อ่าหรูหรา ทุกปีจะมีทูตจากไบแซนไทน์ เยอรมัน อิตาลีและฝรั่งเศษมาเจริญสัมพันธ์ไมตรี? อิบนุ อิซารีย์ นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย บันทึกถึงนครคอร์โดบา เมืองหลวงของอันดาลูเซียว่ามีประชากรประมาณ 500,000 คน บ้านเรือน 113,000 หลัง และมัสยิด 3,000 แห่ง นอกจากแบกแดดและคอนสแตนติโนเปิลแล้ว ไม่มีเมืองใดจะยิ่งใหญ่เท่าคอร์โดบา พระราชวังของคอลีฟะห์อยู่บนภูเขาเซียราโมเรนา ริมฝั่งแม่น้ำกัวดัลคีวีร์ (Guadalquivir มาจากภาษาอาหรับ Wadi al-Kabir) ห่างจากคอร์โดบาประมาณ 7 ก.ม. เรียกกันว่า มะดีนะฮฺ อัซซะฮฺรออฺ (المدينهُ الزهراء) ใช้คนงานก่อสร้างประมาณหมื่นคน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 936-940 ใช้หินอ่อนที่นำมาจากนูมิเดียและคาร์เทจ เสาหินจากไบแซนไทน์ รอบๆพระราชวังแบ่งเป็นพื้นที่ 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นสวนดอกไม้ ค่ายทหารและตลาด ชั้นที่สองเป็นที่พักของบรรดาขุนนาง ส่วนพระราชวังอยู่ชั้นบนสุด มีห้องโถง 400 ห้อง มีสระน้ำขนาดใหญ่และบริเวณชมทิวทัศน์อยู่ด้านหน้า จากบันทึกของอิบนุ อิซารีย์ ระบุว่าที่พระราชวังแห่งนี้ มีทหารรับจ้างต่างชาติอยู่ถึง 3,750 คน
อัลฮะกัมที่ 2 (الحكم الثاني) เป็นทายาทสืบต่อจากอับดุรรอฮมาน (ค.ศ.961-976) นับเป็นผู้อุปถัมภ์การศึกษาและศิลปะคนสำคัญของวงศ์อุมัยยะห์ ในยุคนี้การโจมตีของพวกโจรสลัดนอร์ดแมนสองครั้งในปี 966 และ 971 ถูกขับไล่ออกไปอย่างง่ายดาย ทั้งนาวาเรียและลิยองก็ยอมสวามิภักดิ์ต่ออุมัยยะห์ แต่เมื่อลิยอง แคชตีล นาวาเรียและบาร์เซโลนารวมตัวกันเป็นพันธมิตร อัลฮะกัมก็นำทัพไปโจมตีแคชตีลด้วยตนเองในปี ค.ศ. 963 จนรัฐคริสเตียนเหล่านั้นต้องยอมลงนามสงบศึก ส่วนทางใต้ ภัยจากฟาฏิมิยะห์แทบจะหมดไป เมื่อคอลีฟะห์วงศ์ฟาฏิมิยะห์ย้ายไปอียิปต์
อย่างไรก็ตาม การตายของอัลฮะกัมในปี ค.ศ. 976 ทำให้วงศ์อุมัยยะห์ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากผู้เป็นทายาท ฮิชามที่ 2 (ค.ศ. 976-1009) มีอายุเพียง 12 ปี อำนาจการปกครองที่แท้จริงตกเป็นของเสนาบดีที่ชื่อ มุฮัมมัด บิน อะบีอามีร หรืออัลมันซูร ( محمد بن عبد الله بن أبي عامر الحاجب المنصور , Almanzor ตามชื่อเรียกขานของชาวยุโรป) เขาพยายามรวบอำนาจในวังไปเป็นของตน กำจัดคู่แข่งการการเมืองจำนวนมาก? ความเด็ดขาดต่ออาชญากรทำให้เขาได้รับความนิยมจากชาวคอร์โดบา เขานำทัพเข้าโจมตีรัฐคริสเตียนหลายครั้ง ค.ศ. 981 ตีเมืองซาโมรา (อาหรับเรียกซัมมูเราะห์) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และในระหว่างการทำสงครามกับพวกคริสเตียนครั้งที่ 13 เขาก็ยึดบาร์เซโลนามาได้อีก ปรากฏว่าในปี ค.ศ. 988 เขาบุกไปถึงเมืองลิยอง สำหรับอัฟริกาเหนือซึ่งปลอดอิทธิพลของฟาฏิมิยะห์แล้ว เขาพยายามซื้อความภักดีของผู้นำชาวเบอร์เบอร์ เผ่าซานะตะห์ ด้วยของกำนัลจำนวนมาก สามารถกำจัดพวกอิดรีซีย์ที่เหลืออยู่จนสิ้นซาก? เขาเสียชีวิตขณะกลับมาจากสงครามครั้งสุดท้ายของเขาในปี 1002
ถึงแม้ว่าอัลมันซูรจะทำให้อันดาลูเซียเป็นรัฐทหารที่มีความเข็มแข็ง แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพด้วยการทำลายระบบชนเผ่า (แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารโดยไม่คำนึงถึงระบบเผ่าของชาวอาหรับ) รวมทั้งเกณฑ์ทหารรับจ้างชาวเบอร์เบอร์จำนวนมาก ได้ทำลายสมดุลของอำนาจทางสังคมที่ประกอบไปด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ของสเปนไป
ต้องเข้าใจว่า ตั้งแต่อุมัยยะห์ขึ้นมามีอำนาจ ผู้นำของวงศ์อุมัยยะห์พยายามรักษาความสมดุลระหว่างชนชาติอาหรับ ที่แบ่งเป็นสองพวกใหญ่ๆ คืออาหรับเหนือและใต้ ชนชาติเบอร์เบอร์ และสุดท้ายคือมุสลิมพื้นเมือง ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้นำวงศ์อุมัยยะห์มีอำนาจทางการเงินเพียงพอที่จะรักษาสมดุลดังกล่าวนี้ อะมีรสามารถที่จะหลอมรวมชาวอาหรับกับมุสลิมพื้นเมืองได้ไม่ยากเย็นนัก แต่เมื่อโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ชนพื้นเมืองสเปนเข้ารับนับถืออิสลามมากขึ้น ทำให้มุสลิมกลายเป็นชนส่วนใหญ่ของสเปน(ดูเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ใน
การเมือง การปกครอง สภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุคอุมัยยะห์ ) ตัวแทนของกลุ่มอำนาจในสังคมก็เพิ่มขึ้น จนวิธีการเดิมๆที่ผู้นำวงศ์อุมัยยะห์เคยใช้ ไม่บังเกิดผลอีกต่อไป
หลังอัลมันซูรเสียชีวิต อับดุลมะลิค อัลมุซัฟฟัร ลูกชาย สืบทอดตำแหน่งเสนาบดีแทน เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1008 โดยน้องชายที่ชื่ออับดุรรอฮมานสืบตำแหน่งต่อ (รู้จักกันในนามของซานเจโล เนื่องจากมีหน้าตาคล้ายคลึงกับกษัตริย์ซานโจ การ์เซส ที่ 2 แห่งนาวาเรีย ผู้เป็นตา) สภาพอนาธิปไตยที่มุสลิมสเปนเรียกกันว่า al-fitnah เริ่มก่อตัวขึ้น เขาบังคับให้ฮิชามที่ 2 ซึ่งเป็นคอลีฟะห์เพียงแต่ในนามตั้งแต่สมัยของบิดา ยกตำแหน่งคอลีฟะห์ให้ แต่ชาวเมืองคอร์โดบากลับสนับสนุนมุฮัมมัดที่ 2 ผู้อ้างตัวมาจากตระกูลอุมัยยะห์ ปรากฏว่าซานเจโลถูกสังหารในปี 1009 ส่วนมุฮัมมัดที่ 2 ก็ถูกสังหารจากกบฏเบอร์เบอร์ ลูกชายของอับดุรรอฮมานที่ 3 ที่ชื่อสุลัยมานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคอลีฟะห์แทน แต่ไม่นานก็ถูกปลดออก และฮิชามที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งกลับมาใหม่ สุลัยมานร่วมมือกับเบอร์เบอร์โจมตีคอร์โดบาในปี ค.ศ. 1013 และสังหารฮิชามที่ 2 เสีย ค.ศ. 1016 นายทหารชื่ออะลี บิน ฮัมมูด (علي بن حمود)ยึดอำนาจการการปกครองในคอร์โดบาไว้ได้ สถาปนาตนเองเป็นคอลีฟะห์วงศ์ฮัมมูดิยะห์ แต่ไม่นานก็เกิดความขัดแย้งในวงศ์ฮัมมูดิยะห์ จนชาวเมืองคอร์โดบาต้องหันไปสนับสนุนอัลมุรตะฎอ คนของวงศ์อุมัยยะห์ขึ้นเป็นคอลีฟะห์แทน ท้ายที่สุด หลังจากความล้มเหลวในการรื้อฟื้นอำนาจของคอลีฟะห์ ชาวคอร์โดบาก็ตัดสินใจยกเลิกระบบคอลีฟะห์ เปลี่ยนไปเป็นระบบสาธารณรัฐแทน ตอนนั้น อำนาจของคอร์โดบาเหลือเพียงดินแดนโดยรอบเท่านั้น
ประวัติศาสตร์ของมุสลิมในสเปนนับตั้งแต่นี้ไป เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า มุลูค อัฏ เฏาะวาอีฟ (ملوك الطوائف ภาษาสเปญเรียกว่า reyes de taifas หรือ party kings ในภาษาอังกฤษ) สเปนได้แตกเป็นรัฐเล็กๆปกครองโดยอะมีรหรือสุลต่านจำนวนมาก ที่สำคัญคือรัฐโทเลโด เซวิลล์ คอร์โดบา วาเลนเซีย(อาหรับเรียก บะลันซิยยะห์) และเกรนาดา (อาหรับเรียก ฆอรนาเฏาะห์)
http://www.azizstan.ac.th/th/index.php?option=com_content&view=article&id=113:2008-09-13-05-10-53&catid=57:2010-03-19-14-46-25&Itemid=69
การเมือง การปกครอง สภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุคอุมัยยะห์
บทความพิเศษ - อันดาลูเซีย สะพานเชื่อมอารยธรรม

คอร์โดบา เมืองหลวงของอุมัยยะห์ในสมัยของอับดุรรอฮมานที่ 3 จนถึงสมัยของอัลมันซูร เป็นมหานครที่ใหญ่โตและเจริญรุ่งเรื่องมากที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป เป็นศูนย์กลางทางอารยธรรมเคียงคู่คอนแสตนติโนเปิลและแบกแดด ด้วยประชากรครึ่งล้านคน บ้านเรือน 113,000 หลัง เขตชานเมือง 21 แห่ง มัสยิด 3,000 แห่ง หอสมุดกว่า 70 แห่ง สถานที่อาบน้ำสาธารณะ และพระราชวังหลายสิบแห่ง ตามบันทึกของนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ทำให้มหานครแห่งนี้เป็นที่ประทับใจของผู้มาเยือน ปรากฏอยู่ในบันทึกของนักเดินทางยุคนั้น ถนนหนทางที่ได้รับการปูพื้นอย่างดีและสว่างไสวจากโคมไฟสาธารณะ เมื่อเทียบกับปารีสขณะนั้น ผู้คนที่เดินตามท้องถนนในหน้าฝน อาจต้องย่ำลงโคลนที่ลึกถึงตาตุ่ม และอีก 700 ปีพึ่งจะปรากฏโคมไฟสาธารณะในลอนดอน และขณะที่นักศึกษาของออกซ์ฟอร์ดถือว่าการอาบน้ำเป็นการปฏิบัติของพวกนอกรีต นักปราชญ์แห่งคอร์โดวากลับนิยมอาบน้ำในที่อาบน้ำสาธารณะที่มีอยู่ทั่วไปในเมือง บันทึกของซะอิด(เสียชีวิต ค.ศ. 1070) นักกฏหมายที่ถูกส่งไปพบกษัตริย์ออตโตของเยอรมัน ที่ระบุว่า "เพราะดินแดนของพวกเขา ดวงอาทิตย์ไม่ได้พาดผ่านหัวโดยตรง อากาศจึงหนาวและเย็นยะเยือก มีผลต่อนิสัยของพวกเขา ทำให้เป็นคนนิ่งเฉยและหยาบคาย แม้ร่างกายจะใหญ่โต กำยำ แต่หาได้มีความปราชญ์เปรื่องไม่ ส่วนใหญ่เป็นคนโง่" สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของอาหรับสเปนที่ดูถูกชาวยุโรปขณะนั้นเป็นอย่างดี เมื่อใดที่กษัตริย์ของลียอง นาวาเรีย หรือบาร์เซโลนา ต้องการแพทย์ สถาปนิก นักร้อง หรือแม้แต่ช่างตัดเสื้อ ก็จะนึกถึงคอร์โดบา เพื่อแสวงหาสิ่งที่ต้องการเหล่านั้น ในบันทึกของแม่ชีเยอรมัน ที่อยู่ไกลออกไปทางเหนือ กล่าวขานถึงคอร์โดบาว่าเป็น "เพชรเม็ดงามของโลก" แสดงให้เห็นถึงความเลื่องลือของคอร์โดบาในสายตาของชาวยุโรปขณะนั้น
รูปแบบการบริหารการปกครองของคอลีฟะห์แห่งอุมัยยะห์ แม้จะไม่ได้ถอดแบบจากที่ใช้กันอยู่ในวังของคอลีฟะห์อุมัยยะห์แห่งดามัสกัสหรือคอลีฟะห์อับบาซิยะห์แห่งแบกแดด แต่ก็ไม่ได้แตกต่างไปมากนัก คอลีฟะห์ดำรงตำแหน่งโดยการสืบทอด แม้จะมีบางครั้งที่ได้มาโดยการเลือกของนายทหารและขุนนาง ดังในสมัยปลายของวงศ์อุมัยยะห์ ระหว่างคอลีฟะห์กับองค์มนตรีหรือวิเซียร์ (วะซีร) จะมีตำแหน่งมหาดเล็ก (ฮาญิบ) เป็นตัวกลาง วิเซียร์จะเป็นประธานของที่ประชุมของสภาขุนนาง(ดิวาน) ซึ่งเลขานุการ(กุตตาบ)มีบทบาทสำคัญ ตอนนั้นสเปนแบ่งออกเป็นหกจังหวัด นอกจากคอร์โดบาซึ่งเป็นเมืองหลวง มีวะลีเป็นผู้ว่าการ อาจจะมาจากพลเรือนหรือทหาร คอลีฟะห์เป็นผู้แต่งตั้งกอฎี เป็นผู้พิพากษา ในคอร์โดบาจะมีสภาของกอฎีอยู่ กรณีของคดีอาญชากรรม การตัดสินจะตกเป็นของ ศอฮิบ อัชชุรเฏาะห์ ในคอร์โดบายังมีตำแหน่งต่างหาก เรียกว่า ศอฮิบ อัลมะซอลิม รับเรื่องร้องทั่วไป บทลงโทษที่ใช้กันมีตั้งแต่ การปรับ เฆี่ยนตี คุมขัน ตัดแขนขา และโทษสำหรับการดูหมิ่นศาสนาคือประหารชีวิต ยังมีตำแหน่ง มุฮฺตะซิบ (ภาษาสเปน almotacen) ตรวจสอบดูแลการค้าขาย จับกุมการพนัน การละเมิดบทบาทศาสนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศ และการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม
คอลีฟะห์อัลฮะกัม ถือได้ว่าเป็นทั้งนักปกครองและนักปราชญ์ที่ให้การอุปถัมภ์การศึกษา ได้จ่ายค่าตอบแทนเลี้ยงดูแก่บรรดานักปราชญ์และสร้างโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาฟรีถึง 27 แห่งในคอร์โดบา มหาวิทยาลัยแห่งคอร์โดบาถูกจัดตั้งขึ้นในสมัยคอลีฟะห์อับดุรรอฮมาน ในบริเวณเดียวกับมัสยิดกลาง ถือได้ว่านำหน้ามหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรแห่งอียิปต์ และนิซอมิยะห์แห่งแบกแดดในขณะนั้น ดึงดูดนักศึกษาจากที่ต่างๆ ไม่เฉพาะในสเปน หากแต่ยังมาจากยุโรป อัฟริกาและเอเซีย นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เช่น อิบนุล กูฏิยะห์ นักประวัติศาสตร์ และอะบู อะลี อัลกอลี ที่งานเขียนของเขาชื่อ อะมาลีย์ ยังคงถูกใช้สอนในโลกอาหรับจนถึงปัจจุบัน หอสมุดของคอลีฟะห์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอัลฮะกัมรวบรวมหนังสือไว้ถึงสี่แสนเล่ม คอลีฟะห์ส่งตัวแทนเดินทางไปยังที่ต่างๆในโลกอิสลามเพื่อจัดหาหนังสือมาไว้ เขายอมจ่ายเงินถึงหนึ่งพันดินาร์ เพื่อให้ได้ต้นฉบับของหนังสือ อะฆอนีย์ แต่งโดยอิสฟะฮานีย์จากอิรัค นักประวัติศาสตร์ยุโรป ( เช่น Dozy ผู้เขียนหนังสือ Histoire des Musulmans) บรรยายสภาพของสเปนขณะนั้นว่า "เกือบทุกคนสามารถอ่านและเขียนได้" สภาพเช่นนี้ ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปขณะนั้น ที่การศึกษาส่วนใหญ่ตกอยู่เฉพาะกับบาทหลวง
รายได้ส่วนใหญ่ของอาณาจักรมาจากภาษีการค้า สเปนยุคนั้นเป็นภูมิภาคที่มีประชากรอาศัยกันอยู่หนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนังเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในคอร์โดบาเอง จนเป็นที่มาของเครื่องหนังชั้นดีที่เรียกว่า Cordovan และคำว่า
Cordwainer (ช่างทำรองเท้าหนัง) ในภาษาอังกฤษ ผ้าไหมและขนสัตว์เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของทั้งคอร์โดบา มาลากา และอัลเมอเรีย ชาวอาหรับนำเอาวิธีการผลิตผ้าไหมมาสู่สเปน ซึ่งต่อมาแพร่หลายสู่ยุโรป วาเลนเซียขึ้นชื่อในเรื่องของการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เหมืองแร่ทองคำและเงินอยู่ที่จาเอนและอัลการ์บ มาลากาเป็นแหล่งผลิตพลอย เหมืองทองแดงและเหล็กที่คอร์โดบา โทเลโดขึ้นชื่อในด้านการผลิตเครื่องเหล็ก โดยเฉพาะดาบ กรรมวิธีการฝังเส้นเงินหรือเส้นทองเป็นลวดลายประดับบนผิวเหล็ก หรือการคร่ำทอง ถูกนำมาเผยแพร่โดยชาวอาหรับจากดามัสกัส และเป็นที่มาของคำว่า Damascene (เหล็กคร่ำทอง) ในภาษาอังกฤษ(damasquiner ในภาษาฝรั่งเศส และ damaschino ในภาษาอิตาเลี่ยน)
ชาวอาหรับยังเป็นผู้นำความรู้ในการทำเทคนิคการเกษตรและพันธุ์พืชหลายชนิดสู่ยุโรป เช่น ข้าว ( rice มาจากคำว่า arroz ในภาษาสเปน ซึ่งเพี้ยนมาจาก al-aruzz ในภาษาอาหรับ รากศัพท์เดิมมาจากภาษาสันสฤต) ต้นแอปปริคอต (apricot มาจากคำว่า albaricoque ในภาษาสเปน ซึ่งเพี้ยนมาจาก al-barquq ในภาษาอาหรับ) ต้นพีช ทับทิม ส้ม (ส้มที่แพร่หลายในยุโรป ถูกนำมาจากอินเดีย โดยชาวโปรตุเกสในภายหลัง) ต้นอ้อย ต้นฝ้าย (cotton มาจากคำว่า coton ในภาษาสเปน ซึ่งเพี้ยนมาจาก al-qutn ในภาษาอาหรับ) และหญ้าฝรั่น การจัดสวนที่เรียกว่า Generalife ( มาจากคำว่า Jannah al-arif ในภาษาอาหรับ) ที่เลื่องลือให้เรื่องของความงาม ศิลปะการตกแต่งต้นไม้ ประเภทของพันธุ์ไม้พุ่ม ลำธารและน้ำตกที่สอดคล้องกับอาคารโดยรอบ ก่อให้เกิดความลงตัวระหว่างสายลมและสายน้ำ สิ่งนี้เป็นมรดกที่ชาวอาหรับสเปนถ่ายทอดไว้ให้ชาวยุโรป
The Mezquita เมืองคอร์โดบา เดิมคือมัสยิดประจำเมือง
เมื่อแคชตีลยึดเมืองนี้ไป ได้ดัดแปลงโดยต่อเติมโบสถ์ไว้ตรงกลาง
ชาวอาหรับจากอียิปต์นิยมเข้าไปตั้งถิ่นฐานแถบเมืองมุรเซีย การชลประทานจึงมีรูปแบบเดียวกับที่ใช้ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ ขณะที่แถบเซวิลล์ วาเลนเซีย และเกรนาดาเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวอาหรับจากซีเรีย เทคนิคการเกษตร เช่น การใช้กังหันทดน้ำ การปรับระดับระดับผิวดินเพื่อการเกษตรและการจัดสวนในแบบของซีเรียถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ภูมิประเทศของเซวิลล์คล้ายๆกับซีเรียมาก บันทึกของนักเขียนและกวีอาหรับตั้งฉายาเมืองนี้ว่าเป็น ฮิมส์แห่งอันดาลุส (ฮิมส์ เมืองแห่งหนึ่งในซีเรีย) ภูมิประเทศและภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกันนี่เอง ที่ทำให้ภาพยนต์เรื่อง Lawrence of Arabia ถ่ายทำกันที่เมืองเซวิลล์ ในตอนที่มีฉากของดามัสกัส
ตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์ยุโรปบางคน เช่น Henri Pirenne มองว่าการยึดครองสเปนของอาหรับ ทำให้เส้นทางการค้าทางทะเลที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมันตอนปลายขาดสะบั้นลง มีผลทำให้ยุโรปตะวันตกถูกตัดขาดและอับเฉา เส้นทางการค้าค่อยๆ เปลี่ยนจากดินแดนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนขึ้นไปทางเหนือ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุโรปในศตวรรษต่อมา
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ Phillip Grierson ใน Commerce in the Dark Ages : A critique of the Edidence กลับเห็นในทางตรงกันข้าม เส้นทางการค้าที่ขาดสะบั้นลงในความหมายของ Pirenne นั้นหมายถึงเฉพาะในวงไพบูลย์ของโรมัน ซึ่งขณะนั้นไบแซนไทน์เป็นผู้สืบทอด ความจริงแล้วอาหรับต่างหากที่เป็นผู้เปิดเส้นทางการค้าของสเปญให้เชื่อมต่อกับเครือข่ายที่กว้างใหญ่กว่าในตะวันออกกลาง ซึ่งเชื่อมต่อกับอินเดีย ทะเลดำ เอเซียกลางและจีน? เส้นทางการค้าไม่เคยถูกปิดลงโดยสิ้นเชิง แม้ก่อนหน้านั้น คอลีฟะห์อับดุลมะลิค ของวงศ์อุมัยยะห์แห่งดามัสกัส (ค.ศ. 685-705 ?)จะดำเนินมาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อไบแซนไทน์ ปรากฏว่าเฉพาะชายฝั่งแถบตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ และเกิดกับสินค้าบางรายการ เช่น กระดาษปาปิรุสและสินค้าอื่นอีกบางรายการ เครื่องเทศหรือสินค้าอื่นๆ ยังมีการค้าขายไปมาตามปกติ ไบแซนไทน์ต่างหากที่กลับเป็นผู้ปิดกั้นเส้นทางการค้านี้เมื่อสามารถฟื้นตัวขึ้นมาต่อต้านอำนาจของโลกอิสลามในช่วงปี ค.ศ. 752-827 การเผชิญหน้าระหว่างไบแซนไทน์กับอาหรับ ทำให้เศรษฐกิจของไบแซนไทน์ต้องพึ่งพาทั้งสินค้าและตลาดจากยุโรปตะวันตก สมดุลของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีมาตั้งแต่ยุคโรมันย้อนกลับไปในทิศทางตรงกันข้าม สเปนภายใต้การยึดครองของอาหรับได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของวงศ์อุมัยยะห์ที่เป็นมิตรกับไบแซนไทน์นั่นเอง
ในคริสตวรรษที่ 10 ตอนที่อาหรับสามารถยึดครองจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้เกือบหมด (เกาะครีต ซิซิลี และหมู่เกาะบาเลียริค) อาหรับไม่ได้ปิดกั้นเส้นทางการค้า ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้ทั้งภูมิภาคสามารถเข้าสู่ตลาดนี้และเชื่อมต่อกับระบบเศรษฐกิจในส่วนอื่นของโลก(จีน อินเดีย อัฟริกาตะวันออกและเอเซียวันออกเฉียงใต้) โดยมีทองคำที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์จากอัฟริกาตะวันตกเข้ามาหล่อเลี้ยงไว้
ความจริง เศรษฐกิจของยุโรปตะวันตก ไบแซนไทน์ และโลกอิสลามพึงพาอาศัยกัน การไหลเวียนของทองคำจากโลกอิสลามสู่ยุโรปตะวันตก (เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ) และจากยุโรปตะวันตกสู่ไบแซนไทน์(เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าฟุ่มเฟือยและเครื่องเทศ) สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์นี้ สัดส่วนของมูลค่าทองคำและเงินแตกต่างกันในระบบเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค ทองคำมักเคลื่อนไหวจากที่ที่มันมีมูลค่าน้อยไปสู่ที่ที่มันมูลค่าสูงกว่า ตรงกันข้ามกับเงิน การไหลเวียนดังกล่าวนี้กระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างระบบเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค ไม่ว่าระบบเศรษฐกิจนั้นจะมีมาตรฐานของเงินตราที่ต่างกัน (เงินใช้กันในยุโรปตะวันตก ทองคำใช้กันในไบแซนไทน์ และในโลกอิสลาม ใช้ทั้งทองคำและเงิน)
ผลของสงครามครูเสดที่เกิดจากการรุกรานของชาวยุโรปในคริสตวรรษที่ 11 ต่างหาก ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคหยุดชะงัก แต่กระนั้นก็ตาม สเปนก็ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะพวกมุรอบิฏูนที่เข้ามายึดครองสเปน (
ดูบทถัดไป) เป็นผู้ครอบครองเส้นทางของทองคำจากอัฟริกาตะวันตก
จากบันทึกและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ (เหรียญเงิน สินค้า) แสดงให้เห็นว่าการค้าของสเปนในยุคอุมัยยะห์มีการเชื่อมต่อกับอเลกซานเดรีย คอนสแตนติโนเปิล ยุโรปตะวันตก ดามัสกัส และแบกแดด มีสินค้าของสเปนปรากฏอยู่ไกลถึงอินเดียและเอเซียกลาง ศัพท์ทางการค้าและการเดินเรือหลายสิบคำมาจากภาษาอาหรับ เช่น admiral ( มาจากภาษาอาหรับ amir al-bahri) arsenal average (จากภาษาอาหรับ awariyah) cable corvette ( corbeta ในภาษาสเปน เพี้ยนมาจาก ghurab ในภาษาอาหรับ) และ tariff บันทึกของอัลอิดรีซีย์ นักภูมิศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในยุคกลาง กล่าวถึงการเดินเรือของบุคคลกลุ่มหนึ่งในมหาสมุทรแอนแลนติค ซึ่งชาวอาหรับเรียกว่า bahr al-zulumat (ทะเลแห่งความมืดมิด) โดยออกจากเมืองท่าลิสบอน(อาหรับ เรียก อัลอุชบูนะห์) ไปประมาณ 35 วันทางตะวันตก ก็พบเกาะๆหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน (อาจจะเป็นเกาะในหมู่เกาะคานารีย์หรือเคปเวอร์ด)
เหรียญเงินสมัยอับดุรรอฮมานที่ 3 ด้านหนึ่งของเหรียญระบุว่า
لا اله الا الله وحده لا شرك له
และ بسم الله ضرب هذا الدرهم بالاندلس سنة ثلثين و ثلث مئةอีกด้านระบุว่า محمد رسول الله ارسله بالهدى و دين الحق ليظهره على الدين كله ولو كره المشركون
และ الامام الناصر لدين الله عبد الرحمن امير المؤمنين قاسم
เหรียญกษาปณ์ของมุสลิมสเปนเรียกกันว่า ดินาร์ สำหรับเหรียญทองคำ และดิรฮัมสำหรับเหรียญเงิน ไม่ได้แตกต่างไปจากหน่วยที่ใช้กันอยู่ในตะวันออกกลางขณะนั้น เหรียญเหล่านี้ยังนิยมใช้ในรัฐคริสเตียนตอนเหนืออยู่นานถึง 400 ปี เคียงคู่เงินตราของฝรั่งเศสตลอดสมัยการปกครองของวงศ์อุมัยยะห์ สะท้อนให้เห็นการรักษาสมดุลระหว่างกลุ่มอำนาจทางสังคมที่ประกอบขึ้นจากหลายๆเชื้อชาติ คือชาวอาหรับ เบอร์เบอร์ มุสลิมสเปนพื้นเมือง โมซาแรบ และพวกซอกอลิบะห์(ทาสผิวขาวที่ถูกอบรมให้เป็นมุสลิมและทหารตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทำนองเดียวกับทหารแจนนิสซารีในยุคออตโตมัน)
ชาวอาหรับซึ่งมีอยู่ไม่เกินแสนคน อพยพเข้ามาตั้งแต่ศตวรรษแรกของการยึดครอง เป็นชนชั้นผู้ปกครอง จะอาศัยอยู่แถบดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ตลอดฝั่งแม่น้ำกัวดัลคีวัร์ เอโบรและเจนีล บริเวณรอบๆโทเลโด และพื้นที่ที่ชลประทานเข้าถึงของภูมิภาคตะวันออกและภาคใต้ ชาวอาหรับจะรักษาขนบธรรมเนียมและผูกพันกับระบบชนเผ่าของตนค่อนข้างมาก แม้จะหันมาแต่งงานกับชาวยุโรปและอัฟริกามากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกดังกล่าวลดลง ความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าจึงปรากฏให้เห็นเสมอๆ โดยเฉพาะระหว่างอาหรับเหนือ(มุฎอริบะห์) และอาหรับใต้ (ยะมานิยะห์)
ชาวเบอร์เบอร์อพยพมาจากอัฟริกาเหนือจำนวนหลายแสนคน เข้าไปอาศัยผสมผสานกับชาวอาหรับ ไม่ปรากฏว่ามีชุมชนที่พูดเฉพาะภาษาเบอร์เบอร์ชัดเจนในสเปน ส่วนใหญ่จะปรับตัวไปใช้ภาษาอาหรับหรือไม่ก็ละตินที่เป็นภาษาของชนพื้นเมืองพร้อมๆกับภาษาแม่ เกิดการลุกฮือของชาวเบอร์เบอร์เกิดขึ้นในสมัยของอับดุรรอฮมานที่ 1 ภายใต้การนำของชักยา บิน อับดุลวะฮีด ในสมัยของอัลฮะกัมที่ 1 ภายใต้การนำของอัซบัก บิน วันซุซ และการก่อกบฏของชนเผ่าเทาริลต่ออะมีรอับดุรรอฮมานที่ 2 อย่างไรก็ตามความวุ่นวายที่เกิดในสมัยของอะมีรอับดุลลอฮฺ สะท้อนให้เห็นรูปแบบของความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่แตกต่างออกไป สงครามกลางเมืองครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 889 โดยแม่ทัพอาหรับชื่อ กุรอยบ์ บิน คอลดูน แห่งเซวิลล์ ทำสงครามต่อต้านมุสลิมสเปนพื้นเมือง ปรากฏว่าเขาได้รับการสนับสนุนจากอาหรับใต้และชาวเบอร์เบอร์ภายใต้การนำของญุนัยด์ บิน วะฮฺบ อัลกัรมูนีย์ (ชาวเมืองคาร์โมนา) ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามคืออาหรับเหนือ มุสลิมพื้นเมืองสเปนและเบอร์เบอร์ที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มของญุนัยด์
ชาวเบอร์เบอร์ค่อยๆกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองของชาวอาหรับ งานเขียนจำนวนมากจากสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นกระแสเกลียดชังและกีดกันชาวเบอร์เบอร์(Berberphobia)ในหมู่ปัญญาชนอาหรับ ในงานเขียนของอิบนุ ฮัยยาน ถึงกับกล่าวโทษว่าการยอมรับและนิยมชมชอบวิถีแบบเบอร์เบอร์ของคอลีฟะห์วงศ์อุมัยยะห์ คือสาเหตุที่ทำให้เกิดกลียุค และนำไปสู่การล่มสลายของระบบคอลีฟะห์ในที่สุด
มุสลิมพื้นเมืองนับเป็นกลุ่มที่มีอยู่มากที่สุด ปัญหาหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์พยายามหาคำตอบจากประวัติศาสตร์ของมุสลิมสเปนก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรของสเปญหลังการยึดครอง แน่นอนว่ามีชาวอาหรับและเบอร์เบอร์จำนวนมากอพยบเข้าไปในสเปน แต่สำหรับชนพื้นเมือง การเปลี่ยนมานับถืออิสลามมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เกิดขึ้นทันทีทันใดหรือไม่ นักประวัติศสาตร์พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพื้นฐานแล้ว มุสลิมให้การยอมรับคริสเตียนและยิวว่าเป็น "ชาวคัมภีร์" (อะห์ลุล กิตาบ) และ "ชนที่ต้องได้รับการคุ้มครอง" (ซิมมีย์) โดยพวกเขามีสิทธิและหน้าที่ตามความเชื่อทางศาสนา มีกฏหมายและผู้พิพากษาตามศาสนาของตนเอง ห้ามไม่ให้มุสลิมไปบังคับให้เปลี่ยนศาสนา แต่พวกเขาต้องจ่ายภาษีที่เรียกว่า "ญิซยะห์" แลกเปลี่ยนกับการได้รับการคุ้มครอง (ในส่วนของมุสลิม ก็ต้องเสียภาษีทางศาสนา ที่เรียกว่า "ซะกาต" )
ด้วยสภาพแห่งการยอมรับดังกล่าว กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนมานับถืออิสลามของสเปนพื้นเมืองเกิดขึ้นจากปัจจัยและแรงผลักดันทางสังคมมากกว่าการเผยแผ่ศาสนาของนักปราชญ์โดยตรง ชนชั้นปกครองเดิม ซึ่งรู้ดีว่าตนจะสามารถคงสถานภาพดั้งเดิมของตนได้ หากเปลี่ยนเป็นมุสลิม?หรือชาวเมืองที่เห็นโอกาสในความก้าวหน้าของอาชีพการงานหรือการศึกษาจากชนชั้นผู้ปกครองและพ่อค้าที่เป็นอาหรับ หรือแม้แต่ด้วยการแต่งงาน ซึ่งอิสลามอนุญาตให้บุรุษแต่งงานกับสตรีคริสเตียนหรือยิว ฯลฯ จะเห็นว่า อับดุลอาซิซ บุตรของ มูซา บิน นุซัยร์ ผู้บุกเบิกสเปนในระยะแรก ก็แต่งงานกับภรรยาม่ายของโรเดอริก กษัตริย์ของวิซิโกธ ส่วนคอลีฟะห์อับดุรรอฮมานที่ 3 ก็เป็นลูกของทาสีคริสเตียน หรือแม้แต่อัลมันซูรก็พอใจที่จะแต่งงานกับสตรีชาวบาสก์ มากกว่าที่จะแต่งงานกับสตรีอาหรับ?บรรดาขุนนางมุสลิมที่ปกครองหัวเมืองต่างๆ เป็นคนที่มาจากตระกูลที่เคยมีอำนาจมาตั้งแต่ก่อนการยึดครองของอาหรับ ปัจจัยทางสังคมที่กล่าวมา ค่อยๆเปลี่ยนให้ชนพื้นเมืองสเปนหันมานับถืออิสลาม กลายเป็นกลุ่มชนที่ค่อยๆมีบทบาทสังคมแทนที่ชาวอาหรับในระยะต่อมา ชาวอาหรับเรียกมุสลิมใหม่นี้ว่า มุวัลละดูน
Richard W. Bulleit นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ตั้งสมมุติฐานรูปแบบการเปลี่ยนมานับถืออิสลามของชนพื้นเมืองสเปนว่ามีลักษณะเป็นทวีคูณ ดังแผนภูมิข้างล่าง
สมมุติฐานดังกล่าวนี้ อยู่บนพื้นฐานจากการศึกษาตำราลำดับศักดิ์ของวงศ์ตระกูลที่เขียนขึ้นในยุคดังกล่าว ในโลกมุสลิมยุคกลางนั้น การเขียนปทานุกรมเรียบเรียงลำดับชั้นของวงศ์ตระกูลจะเป็นที่นิยมกันทั่วไป ตัวอย่างหนึ่งของหนังสือที่ Bulleit ใช้วิเคราะห์ ก็คือบันทึกชีวประวัติของผู้พิพากษา(กอฎี)แห่งคอร์โดบา เขียนโดยอัลกุชานีย์ ที่มีชีวิตอยู่ในคอร์โดบากลางคริสตวรรษที่ 10 สืบสาววงศ์ตระกูลของกอฎีแต่ละท่าน ชื่อที่ปรากฏในบันทึกซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของบุคคลในวงศ์ตระกูลแต่ละช่วงอายุจากชื่อคริสเตียน เช่น Tudmir, Rudruq, Lubb ฯลฯ ค่อยๆเพิ่มไปเป็นชื่อมุสลิม เช่น Ali, Muhammad และ Umar ฯลฯ แสดงให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของแต่ละตระกูลได้เป็นอย่างดี
แม้สมมุติฐานนี้ไม่อาจบ่งบอกตัวเลขในเชิงปริมาณได้เที่ยงตรงนัก แต่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบนี้ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในแต่ละสมัย จากสมมุติฐานดังกล่าวนี้ เราประมาณการได้คร่าวๆว่า ประมาณปี ค.ศ. 800 หรือเกือบร้อยปีหลังการยึดครองของอาหรับ มีมุสลิมสเปนพื้นเมืองอยู่เพียงร้อยละ 8 และเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 12.5 ในอีก 50 ปีต่อมา โดยภาพรวม มุสลิมยังคงเป็นชนส่วนน้อย การเปลี่ยนมาเข้ารับอิสลามจำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นปกครองและชนชั้นสูงของสังคม สอดคล้องกับบันทึกที่มาจากช่วงดังกล่าวที่สะท้อนให้เห็นเฉพาะเรื่องราวของชนชั้นปกครองและสังคมของผู้คนในเมือง อำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่ยังตกเป็นของชาวอาหรับและเบอร์เบอร์ที่อพยบเข้ามา โครงสร้างบริหารในรูปแบบดั้งเดิมของชาวอาหรับก็ถือว่าเพียงพอ ที่สำคัญ สิ่งนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมอับดุรรอฮมานที่ 1 ซึ่งแม้จะเป็นศัตรูกับคอลีฟะห์วงศ์อับบาซิยะห์แห่งแบกแดด แต่ก็ไม่ได้สถาปนาตนขึ้นเป็นคอลีฟะห์ แม้จะยึดสเปนมาได้ ทั้งๆที่เขาก็มาจากวงศ์อุมัยยะห์แห่งดามัสกัสที่พึ่งถูกอับบาซิยะห์โค่นล้มไป เขาคงเข้าใจดีว่าสเปนขนะนั้นยังต้องพึ่งพาโลกอิสลามจากส่วนกลาง ไม่อาจแยกตัวเป็นเอกเทศโดยสิ้นเชิงได้นั่นเอง
การติดต่อระหว่างมุสลิมกับชนพื้นเมืองค่อยๆเพิ่มขึ้น ทำให้ชนพื้นเมือง โดยเฉพาะชาวนา และประชาชนตามชนบทเข้ารับอิสลามมากขึ้น อัตราการเปลี่ยนแปลงเริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมุสลิมพื้นเมืองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ในช่วงปี ค.ศ. 900 หรือในอีก 50 ปีต่อมา ชนพื้นเมืองสเปนมีบทบาทในทางการปกครองมากขึ้น เหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์นี้ก็คือการก่อกบฏของอุมัร บิน ฮัฟซูน (ประมาณปี ค.ศ. 880-917) กล่าวได้ว่าคือกบฏของชนพื้นเมืองที่ต่อต้านการปกครองชาวอาหรับนั่นเอง ในฟากของคริสเตียน เราจะเห็นความไม่พอใจของผู้นำคริสเตียนต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกิดความขัดแย้งทางศาสนาในช่วงของอับดุรรอฮมานที่ 2?เกิดกรณีของนักบุญเปอร์เฟคตุสและยูโลกิอุสที่ดูถูกเหยียดหยามท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ในที่สาธารณะ จนถูกโทษประหาร แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของฟากคริสเตียนต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ชนพื้นเมืองมุสลิมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นร้อยละ 50 ในปี ค.ศ. 950 ช่วงปลายสมัยของอับดุรรอฮมานที่ 3 และเป็นร้อยละ 75 ในช่วงปี ค.ศ. 1000 นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้อับดุรรอฮมานที่ 3 เห็นว่าตนเองสามารถที่จะอ้างสิทธิการเป็นคอลีฟะห์ของโลกอิสลามได้อย่างเต็มตัว
การสร้างและต่อเติมมัสยิดกลางของเมืองคอร์โดบาสอดคล้องกับสมมุติฐานนี้ เดิมทีนั้น มัสยิดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยอับดุรรอฮมานที่ 1 ในช่วงปลายรัชสมัย ประมาณปี ค.ศ. 784-786 และได้รับการต่อเติมในอีก 50 ปีต่อมา สมัยของอับดุรรอฮมานที่ 2 ระหว่างปี ค.ศ. 833-848? ต่อเติมอีกครั้งในปี ค.ศ.961-966 ในสมัยของอัลฮะกัมที่ 2 และได้รับการต่อเติมครั้งสุดท้ายโดยอัลมันซูร ระหว่างปี ค.ศ. 987-990 สะท้อนให้เห็นการเพิ่มขึ้นของสัปบุรุษ ที่เกิดจากการทะยอยเข้ารับอิสลามของพื้นเมืองมากขึ้นนั่นเอง
โดยสรุปแล้ว เราประมาณการคร่าวๆ ถึงจำนวนประชากรของสเปนได้ว่ามีประชากรอยู่ประมาณ 7 ล้านคนในปีที่อาหรับเข้ายึดครอง จำนวนไม่ได้เพิ่มขึ้นไปกว่านี้มากนักในคริสตวรรษที่ 11 เพราะมีคริสเตียนจำนวนมากที่อพยพไปอยู่ทางเหนือ ประมาณปี ค.ศ. 912 ทั้งมุสลิมพื้นเมือง อาหรับและเบอร์เบอร์มีอยู่ประมาณ 2.8 ล้านคน และในปี ค.ศ. 1100 เพิ่มเป็น 5.6 ล้านคน
ลักษณะการเพิ่มขึ้นในรูปแบบดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆของโลกอิสลาม กว่ามุสลิมจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอิรัค ก็ย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 3 ของอิสลาม ในอียิปต์ ใช้เวลา 4 ศตวรรษ และในอัฟริกาเหนือ ประชากรจำนวนมากยังไม่ได้เป็นมุสลิม จนกระทั่งมุสลิมที่ถูกขับไล่ออกจากสเปนในช่วงคริสตวรรษที่ 13-15 อพยพไปตั้งถิ่นฐาน
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า คริสเตียนและยิวจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายอิสลาม พวกเขาได้รับอนุญาตให้ใช้กฎหมายของตนเอง มีศาลศาสนาและผู้พิพากษาของตนเองเพื่อปกครองประชาชนในชุมชนของตน ตราบใดที่ผู้ร้องทุกข์และผู้ถูกกล่าวหาเป็นบุคคลของชุมชนนั้นๆ โดยทั่วไปแล้ว อำนาจของศาสนานี้จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว และความสัมพันพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่ปรากฏมีอยู่ในบทบัญญัติทางศาสนา ในสมัยแรกๆ อัรรอบิอฺ หัวหน้าของชุมชนคริสเตียนในคอร์โดบาเป็นตำแหน่งสำคัญตำแหน่งหนึ่งในวังของวงศ์อุมัยยะห์ และในชุมชนยิว กฎหมายตัลมูดตามแบบการตีความของสำนักคิดบาบิโลเนียนถูกนำมาใช้
โมซาแรบ เป็นคำที่ใช้เรียกชาวคริสเตียนสเปนที่ยอมอยู่ใต้การปกครองของชาวอาหรับ ( Mozarab มาจากคำว่า Musta'rib แปลว่าผู้ที่ยอมรับภาษาและวิถีของชาวอาหรับ) ในบันทึก Indiculus luminosus ของ Paul Albar กล่าวถึงหนุ่มสาวคริสเตียนชาวคอร์โดบาในคริสตวรรษที่ 9 ว่าสนใจที่จะพูดแต่อาหรับ จนไม่สามารถพูดภาษาแม่ของตนได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีงานเขียนภาษาอาหรับที่เขียนโดยคริสเตียนสเปน (อาจจะมี แต่ไม่มีเหลือมาจนถึงปัจจุบัน) คำว่า"โมซาแรบ" ปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกภาษาละติน และดูเหมือนว่ามุสลิมจะไม่ได้ใช้คำๆนี้เรียกคริสเตียนสเปนเสียด้วยซ้ำ จึงเป็นไปได้คำๆนี้จะเกิดขึ้นจากการรณรงค์ของผู้นำคริสเตียนอย่างยูโลกิอุสให้ต่อต้านมุสลิม หลังพบว่ามีคริสเตียนจำนวนมากเข้ารับนับถืออิสลาม จนกลายเป็นความขัดแย้งทางศาสนาที่เกิดในช่วงของอับดุรรอฮมานที่ 2 ดังที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้นั่นเอง แม้คริสเตียนสเปญจะรับอิทธิพลของวัฒนธรรมอาหรับได้ช้ากว่าชาวยิว แต่ในปี ค.ศ. 1085 ตอนที่แคชตีลยึดเมืองโทเลโดคืนไปนั้น พบว่าคริสเตียนทั้งหมดที่อยู่ในเมืองพูดได้เฉพาะภาษาอาหรับ
สำหรับยิว บุคคลที่มีชื่อเสียงในสมัยอุมัยยะห์ก็คือ ฮัสดาย บิน ชัฟรุต เป็นทูตและนายแพทย์ ในสมัยมุลูก อัฏเฏาะวาอีฟ(
ดูบทถัดไป) ยิวจากตระกูลแนกเรลลา คือ ซามุเอลและโจเซฟ ดำรงตำแหน่งเป็นวิเซียร์ของสุลต่านวงศ์ซิรีย์แห่งเกรนนาดาซึ่งเป็นเบอร์เบอร์ ตอนนั้นเศรษฐกิจของชนชั้นกลางของเกรนนาดาตกอยู่กับชาวยิว สุลต่านจึงใช้ยิวคานอำนาจของขุนนางอาหรับ วงศ์ซิรีย์แห่งเกรนาดารักษาอำนาจของตนไว้ได้ด้วยการหลอมรวมเศรษฐกิจและการบริหารจัดการของยิวกับกองทัพเบอร์เบอร์ที่เข็มแข็ง นั่นเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดที่ยิวเคยได้รับในสมัยที่อิสลามครอบครองสเปน
ความสัมพันธ์ระหว่างชนต่างศาสนาเริ่มมีปัญหาในช่วงปลายสมัยอุมัยยะห์ ซึ่งตอนนั้นมุสลิมกำลังประสบปัญหาการเมืองภายใน และรุนแรงขึ้นในสมัยการปกครองของพวกมุรอบิฏูน (ดูบทถัดไป) คริสเตียนและยิวถูกกวาดล้างที่คอร์โดบาในปี ค.ศ. 1013 ที่ซาราโกซาในปี ค.ศ.1039 และเกรนาดา ในปี ค.ศ. 1066 พวกมูรอบิฏูนได้เนรเทศพวกโมซาแรบในปี ค.ศ. 1120 เกิดจราจลต่อต้านยิวที่คอร์โดบาในปี ค.ศ. 1135 และที่วาเลนเซียในปี ค.ศ. 1144-1145
http://www.azizstan.ac.th/th/index.php?option=com_content&view=article&catid=57&id=117%3A--&Itemid=69

อิสลามในสเปน

อิสลามในสเปน
อิสลามเริ่มเยียบเข้าที่แผ่นดินสเปนเมื่อ ค . ศ .710 โดยการนำทัพของเฏาะรีฟ (Torif) ซึ่งก่อนหน้านั้นวิติสา (Witiza) กษัตริย์วีซิโกร (Visigoth) ได้เกิดข้อพิพาทอย่างรุนแรงกับรอดเดอริก (Rodrick) แต่ในที่สุดรอดเดอดริกก็สามารถกำชัยชนะ (Yahaya and Halimi, 1994 : 337) รอดเดอริกเป็นกษัตริย์ที่ละโมภ ลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติและนารี กล่าวกันว่าครั้งหนึ่งรอดเดอริกได้ลวนลามบุตรีของจูเลียน (Julian) ขุนนางผู้ครองเมืองซีตา (Cauta) ในขณะนั้น (Yahaya, 1990 : 5) จากพฤติกรรมของรอดเดอริกในครั้งนั้น ทำให้จูเลียนโกรธเคืองและเคียดแค้นเป็นอย่างมาก จนเป็นสาเหตุทำให้จูเลียนตัดสินใจเข้าพบมูซา อิบนุ นุศอยร (Musa Ibnu Nusayr) ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้ครองอัฟริกาเหนือ จูเลียนพยายามที่จะผูกไมตรีกับมุสลิม และพยายามโน้มน้าวมูซาให้ยกทัพไปตีสเปน และได้บรรยายถึงความงดงามและความร่ำรวยของประเทศสเปน ความพยายามทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความประสงค์ของจูเลียน ที่จะให้ทหารมุสลิมยกทัพไปทำศึกสงครามกับกษัตริย์รอดเดอริกผู้ครองสเปนในขณะนั้น
ครั้งแรกมูซาลังเลใจที่จะส่งทหารไปยังสเปน เพราะเกรงจะเป็นกลอุบายของจูเลียน แต่เมื่อมูซาได้รับอนุญาตจากวะลีด อิบนุ อับดุลมาลิก (Walid Ibnu Abd al Malik) เคาะลีฟะฮแห่งดามัสกัส มูซาจึงส่งรี้พลจำนวน 500 นายไปยังสเปนโดยการนำของเฏาะรีฟ (Hitti, 1989 : 493 , Yahaya, 1990 : 5-6; Yahaya and Halimi, 1994 : 337) ทหารหารเหล่านี้ได้ขึ้นบกที่ชายหาดทางตอนใต้ของสเปน บริเวณดังกล่าวต่อมาชาวอาหรับเรียกว่า “ เฏาะรีฟัน ” (Tarifan) ในภาษาอังกฤษเรียกว่า ตารีฟา (Tarifa) (Hitti, 1989 : 443 ; Yahaya, 1990 : 6) จากนั้นทหารมุสลิมได้เข้ายึดเมืองอัลเจซีรัส (Algeciras) จากการยกทัพไปยังสเปนในครั้งนี้ บรรดาทหารมุสลิมได้นำทรัพย์สินสงครามจำนวนมากมายกลับมายังกอยเราะวาน (Qairawan)
ต่อมาฏอริก อิบนุ สียาด (Tariq ibu Ziyad) พร้อมด้วยรี้พลจำนวน 7,000 นาย ได้เดินทัพไปยัง สเปนอีกครั้ง ฏอรีกท่านนี้เป็นแม่ทัพที่กล้าหาญชาญชัย ทหารมุสลิมได้ลงเรือและมุ่งหน้าไปยังสเปนโดยได้รับการสนับสนุนจากจูเลียน การยกตราทัพไปยังสเปนของทหารมุสลิมในครั้งนี้ได้ล่วงรู้ถึงกษัตริย์รอดเดอริก พระองค์จึงไม่รอช้า และทรงยกทัพมาสู้รบกับทหารมุสลิมอย่างห้าวหาญ เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นทางตอนใต้ของสเปนที่ใกล้กับรีโอ บาร์เบต (Rio Babate) การสู้รบในครั้งนี้มุสลิมได้รับชัยชนะ ส่วนกษัตริย์รอดเดอริกได้สิ้นพระชนม์ในศึกครั้งนี้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค . ศ . 711 (Yahaya, 1990 : 6) หลังจากนั้นฏอริกก็มุ่งหน้าไปยังคอร์โดวา (Cordova) ในเดือนตุลาคม ค . ศ .711 คอร์โดวาและโทเลโด (Toledo) ก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของทหารมุสลิม
ชัยชนะของฏอริกในครั้งนี้กลายเป็นแรงดลใจให้มูซา อิบนุ นุศอยรเดินทางไปยังสเปนและได้ยึดเมืองเซวิล (Seville) ต่อมามูซาและฏอริกได้พบกันที่ใกล้ ๆ เมืองทาราเวรา (Talavera) จากนั้นทหารมุสลิมก็เข้ายึดเมืองซารากอซซา (Saragossa) แอสตรูเรียส (Astrurias) ลียง (Leon) แอสโตร์กา (Astorga) อารากอน (Aragon) (Yahaya and Halimi, 1994 : 338)
จากชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าของทหารมุสลิม ทำให้มุสลิมสามารถครอบครองดินแดนอันกว้างใหญ่ของสเปน อันเป็นเหตุทำให้อัล วะลีด (al Walid) เคาะลีฟะฮแห่งซีเรียเกิดความหวาดระแวงต่อชัยชนะเหนือดินแดนสเปนในครั้งนี้ ดังนั้น ท่านจึงบัญชาให้มูซาและฏอริกกลับมายังกรุงดามัสกัสแห่งซีเรีย มูซาตอบรับคำบัญชาและกลับไปยังดามัสกัส แต่เป็นที่น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่งที่ต่อมามูซา อิบนุ นุศอยรถูกเคาะลีฟะฮซุไลมาน (Kalifah Sulaiman) ผู้เป็นเคาะลีฟะฮคนใหม่ทรมาน ในที่สุดมูซาได้เสียชีวิต ต่อมาบุตรของมูซาได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ครองอัฟริกาเหนือแทนบิดาของตน
อับดุลอะสีส (Abd al Aziz) บุตรของมูซาท่านนี้ได้ยาตราทัพไปยังสเปนอีกครั้ง และในปี ค . ศ . 715 ท่านก็สามารถยึดเมืองปัมโปลนา (Pamplona) จีโรนา (Geronal) นาร์บอนน์ (Narbonne) มาลากา (Malaga) เอลวีรา (Elvira) ในปีคริสตศักราชที่ 716 อับดุลอะสิสถูกลอบสังหาร การครอบครองดินแดนของสเปนในสมัยอุมัยยะฮก็เป็นอันสิ้นสุดลง (Yahaya and Halimi, 1994 : 338, Yahaya, 1990 : 7-8) ดินแดนที่ถูกมุสลิมยึดครองในสมัยนี้เป็นที่รู้จักในนาม “ อันดาลุซ ” (Andalus)


Islamic information center of psu Fathoni

อันดาลุส (สเปนมุสลิม) : สวรรค์ที่สูญหาย

อันดาลุส (สเปนมุสลิม) : สวรรค์ที่สูญหาย
ในตอนปลายคริศตศตวรรษที่ 8 สเปนเป็นแหล่งความเจริญและวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุโรปนานนับเป็นศตวรรษ การค้าขายกับโลกภายนอกของสเปนไม่มีใครสามารถมาแข่งขันได้ และในช่วงเวลาแห่งการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจนี้เอง พวกยิวที่ได้ถูกชาวคริสเตียนขับไล่ทำลายออกไปจากคาบสมุทรแห่งนี้ในศตวรรษที่ 7 ได้เติบโตและมีความเจริญมั่งคั่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง


อันดาลุส (เป็นภาษาอาหรับที่ถูกใช้เรียกสเปน) เจริญรุ่งเรืองไม่เพียงแต่เฉพาะในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นรู้จักกันดีในฐานะเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรม บทกวีและศิลปอันยิ่งใหญ่อีกด้วย ในขณะที่สเปนกำลังรุ่งเรืองอยู่นั้น ยุโรปส่วนใหญ่กำลังอยู่ใน “ยุคมืด” แต่เป็นเพราะอัล-อันดาลุสนี้เองที่ความรู้ของมุสลิมได้ผ่านเข้าไปยังยุโรปและทำให้ยุโรปเกิดยุค “ฟื้นฟูศิลปวิทยาการ” (เรอเนซองส์) ขึ้นมา

ลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของอิสลามในขณะที่รุ่งเรืองอยู่ในสเปนเป็นเวลาหลายศตวรรษนั้นก็คือความใจกว้างที่มีต่อชาวยิวและชาวคริสเตียนของมุสลิม ชาวยิวและชาวคริสเตียนทั้งหมดที่ยอมรับมุสลิมเป็นผู้ปกครองประเทศจะได้รับอนุญาตให้ถือครองทรัพย์สินของตนและมีเสรีภาพในความเชื่อและการปฏิบัติศาสนาของตน

มุสลิมเข้าไปในสเปนครั้งแรกพร้อมด้วยกองทหารจำนวน 30,000 คนใน ค.ศ.711 ภายใต้การบังคับบัญชาของตารีค บิน ซิยาด ทหารมุสลิมได้ยึดอำนาจจากพวกวิซิโกธที่เข้ามายึดอำนาจมาจากพวกโรมัน ใน ค.ศ.715 กองทัพมุสลิมได้ข้ามภูเขาพีเรนีสและได้เข้าควบคุมพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัยถึง 4 ล้านคน ภายในเวลาเพียง 7 ปี ดินแดนสี่ในห้าส่วนของคาบสมุทรสเปนก็ถูกพิชิตและการปกครองแบบเคาะลีฟะฮก็ได้ถูกสถาปนาขึ้น ดังนั้น ใน ค.ศ.733 กองทัพของฝ่ายคริสเตียนจึงได้สกัดกั้นมุสลิมมิให้ขยายตัวลึกเข้าไปในยุโรปมากกว่านั้นอีก

ในตอนต้นศตวรรษที่ 9 ชาวคริสเตียนจำนวนมากมายได้หันมาเข้ารับอิสลาม ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง มุสลิมก็พิชิตแคว้นซินด์ซึ่งปัจจุบันคือประเทศปากีสถานได้ นั่นหมายความว่าภายในระยะเวลาไม่ถึง 150 ปี อิสลามซึ่งเริ่มต้นจากขบวนการเล็กๆของชาวทะเลทรายเพียงหยิบมือหนึ่งได้ขยายตัวออกไปกลายเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลก

ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นก็เพราะว่ามุสลิมในเวลานั้นเป็นคนที่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา เจตนาเบื้องแรกของพวกเขาในขณะที่ทำการญิฮาดนั้นก็คือการเผยแผ่อิสลาม มิใช่การแสวงหาทรัพย์สินและทรัพย์เชลย ไม่ว่าพวกเขาจะไปที่ไหนก็ตาม พวกเขาจะสร้างระบบสังคมที่วางพื้นฐานอยู่บนความยุติธรรมขึ้นมาแทนระบบทรราชย์และระบบกษัตริย์ที่เป็นอยู่ในเวลานั้น

ผู้คนในดินแดนที่มุสลิมเข้าไปปกครองนั้นมีเสรีภาพที่จะเลือกนับถืออิสลามหรือปฏิบัติตามศาสนาเดิมของตนต่อไป หากเลือกที่จะนับถือศาสนาเดิม คนเหล่านั้นก็จะต้องจ่ายภาษี “ญิซยะฮ์” ที่ทำให้พวกเขาได้รับการยกเว้นจากการเป็นทหาร แต่ผู้คนจำนวนมากได้หันมาเข้ารับอิสลามเพราะได้เห็นลักษณะและความประพฤติของมุสลิมที่เข้ามาปกครองพวกตน


นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมาเมืองหลวงของรัฐเคาะลีฟะฮ์อันดาลุสก็คือเมืองคอร์โดบาซึ่งมีประชากร 600,000 คน มีอาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 200,000 หลัง มัสญิด 1,500 แห่งและห้องอาบน้ำสาธารณะประมาณ 1,000 แห่ง ในห้องสมุดของเมืองมีเอกสารและบันทึกต่างๆกว่าครึ่งล้านชุด ศูนย์กลางของเมืองมีระบบลำคลองที่เชื่อมกันและในตอนกลางคืนแม้แต่ถนนที่แย่ที่สุดก็มีแสงสว่าง

กล่าวโดยสั้นๆ เมืองนี้มีสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างที่ไม่สามารถพบได้ในเมืองยุโรปอื่นๆ แม้แต่กษัตริย์คริสเตียนหลายคนก็ยังส่งลูกหลานของตนมาศึกษาในอันดาลุสทั้งนี้เนื่องจากที่นี่มีมหาวิทยาลัยที่ดีหลายแห่ง และภาษาอาหรับเป็นภาษาสำคัญของโลก

แต่ปัจจุบัน สภาพการณ์กลับตรงกันข้าม หลายเมืองในประเทศมุสลิมกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมหรือที่เรียกว่าสลัมและไม่มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ผู้คนได้รับความเดือดร้อนจากความยากจน สงคราม โรคภัยไข้เจ็บและด้อยการศึกษา

รัฐมุสลิมที่ปกครองโดยระบบเคาะลีฟะฮ์ในสเปนล่มสลายลงใน ค.ศ.1492 เมื่อเมืองแกรนาดาถูกพิชิตโดยกษัตริย์เฟอร์ดินานด์และราชินีอิซาเบลลา กษัตริย์และราชินีคู่นี้คือผู้ปกครองที่ให้เรือ 3 ลำแก่โคลัมบัสไปเริ่มต้นการล่าอาณานิคม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการค้าทาสในอเมริกา

มุสลิมและชาวยิวที่หลงเหลืออยู่ในตอนนั้นมีทางเลือกสามทาง นั่นคือ
(1) หากจะนับถือศาสนาของตนต่อไปก็ต้องออกไปจากประเทศ
(2) หันมารับนับถือศาสนาคริสต์ และ
(3) ถูกฆ่า

เหตุผลดังกล่าวมาทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะวิเคราะห์ว่าทำไมหลังศตวรรษที่ 8 มุสลิมจึงได้เสียยุโรปตะวันตกให้แก่คริสเตียน นั่นก็เพราะว่าพวกเขาไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างที่พวกเขาจะต้องปฏิบัติ ดังนั้น จากความมั่งคั่งรุ่งเรืองจึงได้กลายเป็นความเสื่อมสลาย อันดาลุสได้แตกออกเป็นรัฐเล็กๆที่ต่อสู้กันเอง บางครั้งถึงขนาดที่ว่าพวกเขาได้เอาทหารแคธอลิกมาเป็นผู้ช่วยในการต่อสู้กับพวกเขาด้วยกันเอง

จากประสบการณ์ของอันดาลุส เราได้รับบทเรียนหลายอย่าง มุสลิมจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าอัลลอฮฺผู้ทรงอานุภาพจะทรงช่วยเราถ้าหากเราช่วยพระองค์ในหนทางของพระองค์ นั่นหมายความว่าถ้ามุสลิมปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาแล้ว ความสำเร็จก็ได้ถูกวางไว้ไม่เพียงแต่เฉพาะในโลกหน้าเท่านั้น แต่ยังในโลกนี้อีกด้วย

มุสลิมได้สูญเสียอันดาลุส, บอลข่าน, อินเดียและอื่นๆอีกมากมายเพราะความผิดพลาดของพวกเขาเอง มุสลิมไม่เคยลุกขึ้นร่วมกันต่อสู้เมื่อลัทธิล่าอาณานิคมทำลายเอกภาพมุสลิมและนำเอาการปกครองที่ขัดต่อหลักศาสนาเข้ามาแบ่งแยกและปกครองแผ่นดินมุสลิม

บทความโดย อะลีฟุดดีน , บรรจง บินกาซัน แปล
คัดลอกจาก: Thaimuslimshop.com

วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553

ราชวงศ์อุมัยยะห์ ที่ซีเรีย

ความเป็นมาของราชวงค์ อุมัยยะฮ์



หลังจากเคาะลีฟะฮอุษมานถูกพวกกบฎสังหาร อะลี อิบนุ อบี ฏอลิบได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮคนที่สี่ บรรดาผู้นำและนักปราชญ์มุสลิม รวมทั้งกลุ่มกบฏที่เกี่ยวพันกับการฆาตกรรมเคาะลีฟะฮอุษมานได้เข้าร่วมให้สัตยาบันกับท่านอะลี การมาร่วมกล่าวสัตยาบันของกลุ่มกบฏในครั้งนี้ได้ทำให้มุสลิมบางกลุ่มไม่พอใจ และโกรธเคืองท่านอะลีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะฎอลฮะฮ (Talhah) และอัล - สุบัยร (al Zubayr) ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกล่าวบัยอะฮกับท่านอะลี เมื่อทั้งสองรู้ว่ากลุ่มกบฎเข้าร่วมกล่าวสัตยาบันกับท่านอะลี ท่านทั้งสองจึงไม่พอใจ และได้เรียกร้องให้ท่านอะลีลงโทษกลุ่มกบฏ ที่พัวพันกับการฆาตกรรมท่านอุษมาน ความไม่พอใจและความโกรธเคืองต่อท่านอาลีในครั้งนี้ได้ทวีความรุนแรง

ต่อมาได้เกิดสงครามระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยฏอลฮะฮและอัล - สุบัยร ฝ่ายหนึ่งกับท่านอะลีอีกฝ่ายหนึ่ง ท่านหญิงอาอิชะฮก็เป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมกับฝ่ายฎอลฮะฮและอับ - สุบัยร เพื่อทำสงครามต่อต้านท่านอะลี สงครามนี้รู้จักในนามสงครามญะมัล ( สงครามอูฐ ) สงครามครั้งนี้ท่านเคาะลีฟะฮ อะลี เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ส่วนอาอิชะฮ์มารดาแห่งศรัทธาชนตกเป็นเชลย แต่ท่านหญิงได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากเคาะลีฟะฮอะลี และต่อมาท่านหญิงอาอิชะฮ์ก็ถูกส่งกลับไปยังมะดีนะฮโดยสวัสดิภาพ (Yahaya and Halimi, 1994 195)


มุอาวิยะก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ไม่พอใจกับท่านอะลี และได้หยิบยกประเด็นการสังหารเคาะลีฟะฮอุษมานมาปลุกระดมบรรดามุสลิมให้ลุกขึ้นต่อต้านท่านอะลี โดยมุอาวิยะฮได้กล่าวว่ากลุ่มกบฏที่สังหารอุษมานยังลอยนวล อีกทั้งยังร่วมให้บัยอะฮ ( กล่าวสัตยบัน ) กับท่านอะลี การปลุกเร้าของอุมาวิยะฮในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้มุสลิมจำนวนมากให้การสนับสนุนท่านมุอาวิยะฮ จึงเกิดสงครามขึ้นระหว่างเคาะลีฟะฮอะลีกับมุอาวิยะฮ สงครามครั้งนี้เป็นที่รู้จักในนาม “ สงครามศิฟฟีน ”

ก่อนที่สงครามศิฟฟีนจะยุติฝ่ายมุอาวิยะฮเป็นฝ่ายเสียเปรียบและเกือบจะพ่ายแพ้ แต่ด้วยไหวพริบของอัมร อิบนุ อาศ (Amr Ibnu As) ทำให้มุอาวิยะฮสามารถผ่านภาวะวิกฤตนี้ได้ ท่านอัมร อิบนุ อาศได้ยื่นข้อเสนอให้ยุติข้อพิพาทระหว่างท่านอะลีกับมุอาวิยะฮ ด้วยการหันมาเจรจาโดยสันติวิธี และการยุติข้อพิพาทดังกล่าวจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของอัลกุรอาน โดยมอบหมายให้มัจญลีซตะหกีมเป็นผู้ตัดสิน อัมร อิบนุ อาศ ตระหนักดีว่าหากยื่นข้อเสนอดังกล่าว ทหารของท่านอะลีจะแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งจะสนับสนุนข้อเสนอ อีกฝ่ายหนึ่งจะปฏิเสธ แม้ท่านอะลีจะรู้ว่าข้อเสนอของอัมร อิบนุ อาศเป็นอุบายสงคราม เพราะในขณะนั้นทหารของมุอาวิยะฮเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่ท่านอะลี มิอาจที่จะปฏิเสธข้อเสนอนี้ได้ ด้วยเหตุผลสองประการคือ หากปฏิเสธข้อเสนอ ท่านอะลีจะถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริง เหตุผลที่สองคือ ได้เกิดความแตกแยกท่ามกลางทหารของท่าน ฝายหนึ่งสนับสนุนข้อเสนอ อีกฝ่ายปฏิเสธ หากท่านเคาะลีฟะฮอะลียังยืนกรานที่จะทำสงครามอีกท่านอาจเพลี้ยงพล้ำได้


การยอมรับข้อเสนอให้ยุติข้อพิพาททางการเมืองด้วยสันติวิธีในครั้งนี้ ทำให้ผู้ที่เคยสนับสนุนท่านอะลีบางกลุ่มไม่พอใจ และได้ถอนตัวออกไป กลุ่มนี้เป็นที่รู้จักในนาม “ เคาะวาริจญ ” (Khawarij) เงื่อนไขอย่างหนึ่งที่ทำให้กลุ่มเคาะวาริจญไม่พอใจคือ การกำหนดเงื่อนไขของมัจญลีซตะหกิมที่ได้กำหนดว่า ในระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างท่านอะลีกับมุอาวิยะฮในมัจญลีซตะหกิมนั้น หากมีคนหนึ่งคนใดระหว่างทั้งสองเสียชีวิต ผู้ที่ยังมีชีวิตจะดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ จากเงื่อนไขข้อนี้ทำให้พวกเคาะวาริจญถอนตัวจากการสนับสนุนท่านอะลี โดยพวกเคาะวาริจญได้กล่าวว่ามนุษย์ไม่สามารถที่จะสร้างกฏของอัลลอฮ์ได้ และไม่มีกฎใด ๆ นอกจากกฎของอัลลอฮ์เท่านั้น


การหาข้อยุติทางการเมืองในครั้งนี้ ท่านอะลีได้ส่งอบู มูซา อัล อัชอารี (Abu Musa al Ash ari) ให้เป็นตัวแทนของท่าน ส่วนมุอาวิยะฮได้ส่งอัมร อิบนุ อาศ (Amr Ibnu As) แต่การยุติข้อพิพาทด้วยสันติวิธีที่แท้จริงก็ไม่เกิดขึ้น


ต่อมาพวกเคาะวาริจญได้รับข่าวว่า ท่านอะลีจะปฏิเสธข้อเสนอการยุติข้อพิพากโดยผ่านมัจญลิสตะหกีม พวกเขาจึงเดินทางเพื่อไปพบท่านอะลี ในระหว่างทางพวกเคาะวาริจญได้สังหารอับดุลลอฮ อิบนุ คอบบาบ (Abd Allah Ibnu Khabbab) เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงท่านอะลี ท่านจึงบัญชาให้พวกเคาะวาริจญส่งตัวผู้สังหารอิบนุ คอบบาบ แต่พวกเคาะวาริจญกลับดื้อดึงและกล่าวว่าพวกเขาทุกคนเป็นคนฆ่า หลังจากนั้นท่านอะลีจึงยกทัพมาทำสงครามกับพวกเคาะวาริจญ การสู้รบในครั้งนั้นพวกเคาะวาริจญถูกสังหารเป็นจำนวนมาก และเป็นเหตุทำให้พวกเคาะวาริจญโกรธแค้นท่านอะลีเป็นอย่างยิ่ง และความโกรธแค้นที่มีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณนี้ได้กลายเป็นชนวนของการสังหารท่านอะลีในเวลาต่อมา

หลังจากการสู้รบ พวกเคาะวาริจญ ได้ขบคิดแผนชั่วที่จะทำการฆาตกรรมเคาะลีฟะฮอะลี มุอาวิยะฮ และอัมร อิบนุ อาศ มือสังหารที่ส่งไปสังหารท่านอะลีประสบความสำเร็จ และสามารถฆาตกรรมท่านได้เมื่อวันที่ 17 รอมฎอน อ . ศ . 40 ตรงกับวันที่ 24 มกราคม ค . ศ . 661 ส่วนฆาตกรที่ส่งไปสังหารมุอาวิยะฮและอัมร อิบนุ อาศประสบกับความล้มเหลว เมื่อเคาะลีฟะฮอะลีได้เสียชีวิต มุอาวิยะฮ อิบนุ อบี ซุฟยาน จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์สืบต่อจากท่านอะลี และมุอาวิยะฮท่านนี้ก็คือเคาะลีฟะฮคนแรกแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ คำว่า “ อุมัยยะฮ ” นั้นมาจากชื่อทวดของท่าน มุอาวิยะฮ อิบนุ อบี ซุฟยาน ฮัรบ อิบนุ อุมัยยะฮ (Mu awiyah Ibnu Abi Sufyan Harb Ibnu Umayyah)






ที่มา : Islamic information center of psu Fathoni

มหานครแบบแดด อาณาจักรอับบาซียะห์ อู่อริยธรรมโลก

อิรัก อู่อารยธรรม
ขณะนี้สายตาของชาวโลกกำลังจับจ้องมองอยู่ที่แผ่นดินอิรัก ชะตากรรมของผู้คนในประเทศนั้นและวิวัฒนาการของสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ อย่างไรก็ตามดินแดนที่เพิ่งเป็นที่รู้จักกันว่าอิรักเมื่อไม่นานมานี้เคยเป็นแหล่งอารยธรรมที่ได้เห็นทั้งการรุ่งเรืองและตกต่ำของหลากหลายอารยธรรมและได้ยินเสียงของสงครามเหนือแผ่นดินของตนเองมาหลายครั้งแล้ว

นอกจากนั้น อิรักยังเป็นแผ่นดินที่เต็มไปด้วยรอยเท้าของศาสดาหลายคนก่อนหน้านี้และมันเป็นแผ่นดินที่เป็นที่ตั้งของแม่น้ำสำคัญสองสายนั่นคือ “ดิญละฮ์” และ “ฟุรอต” (ไทกริส และยูเฟรตีส)

การเข้ามาของอิสลาม
อิสลามเข้ามาในแผ่นดินอิรักครั้งแรกเมื่อเคาะลีฟะฮ์ อุมัร อิบนุล ค็อฏฏอบ ได้ส่งทหารไปยังแผ่นดินของพวกเปอร์เซียที่ปกครองอิรักอยู่เพื่อเปิดทางให้แก่อิสลาม ใน ค.ศ.634 ทหารมุสลิมจำนวน 18,000 คนภายใต้การนำของคอลิด อิบนุวะลีดได้มาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำยูเฟรตีสแต่ถึงแม้กองทัพของพวกเปอร์เซียจะมีจำนวนมากกว่า คอลิด อิบนุวะลีดก็ได้บอกชาวเปอร์เซียว่า “ยอมรับอิสลามเสียและพวกท่านก็จะปลอดภัยหรือมิเช่นนั้นก็จงจ่ายภาษีคุ้มครอง (ญิซยะฮ) ถ้าหากพวกท่านปฏิเสธอย่างหนึ่งอย่างใด พวกท่านจะต้องตำหนิตัวเอง มีคนพร้อมอยู่ต่อหน้าท่านแล้วพวกเขารักความตายเหมือนกับที่พวกท่านรักการมีชีวิต”

พวกเปอร์เซียไม่ยอมรับทั้งสองอย่างแต่พวกเขากลับล่ามโซ่ทหารของตนเข้าไว้ด้วยกันเพื่อที่จะไม่ให้ใครหนีทัพทั้งๆที่มีกำลังมากกว่าฝ่ายมุสลิมหลายเท่า สงครามครั้งนั้นเรียกว่า "สงครามแห่งโซ่" แต่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับแม่ทัพที่ท่านนบีมุฮัมมัด ได้ให้ฉายาว่า“ดาบของอัลลอฮ”จึงต้องประสบความพ่ายแพ้และเสียหายอย่างหนักจนต้องถอยไปรวมกันภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพที่มีชื่อว่ารัสตัม หลังจากนั้น ใน ค.ศ.636 ที่กอดีซีะฮ์ซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของแบกแดดกองทัพของรัสตัมต้องต่อสู้กับกองทหารมุสลิมที่มีจำนวนน้อยกว่าถึงหกเท่า แต่กองทัพของเปอร์เซียก็ต้องประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยินและรัสตัมต้องเสียชีวิตในการรบหลังจากสิ้นสุดการต่อต้านจากพวกเปอร์เซีย เมโสโปโตเมียก็กลายเป็นหนึ่งกับรัฐอิสลาม

หลังจากนั้นไม่นานนักภาษาอาหรับก็ได้เข้าไปแทนภาษาเปอร์เซียในฐานะที่เป็นภาษาของรัฐและได้กลายเป็นภาษาของผู้คนไป ประชาชนชาวเปอร์เซียนับหมื่นคนได้หันมาเข้ารับอิสลามและมุสลิมได้แต่งงานกับผู้หญิงที่หันมาเข้ารับอิสลามและผู้ชายชาวเปอร์เซียที่หันมาเข้ารับอิสลามก็ได้แต่งงานกับผู้หญิงมุสลิม

อุมัรได้สั่งให้สร้างเมืองทหารขึ้นสองเมืองเพื่อคุ้มครองแผ่นดินใหม่ของรัฐอิสลาม นั่นคือเมืองกูฟะฮ์เมืองหลักและต่อมาได้กลายเป็นเมืองหลวงของอิมามอะลีและอีกเมืองหนึ่งก็คือเมืองบัสเราะฮ์ที่ต่อมาได้กลายเป็นเมืองท่า

ความก้าวหน้าทางด้านอุดมการณ์
ด้วยการปกครองแบบรัฐอิสลามหรือรัฐคิลาฟะฮ์ ทำให้เมโสโปเตเมียและผู้คนได้รับความเจริญรุ่งเรือง นี่คือผลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของสังคมที่ใช้อุดมการณ์ในการดำเนินชีวิต อุดมการณ์คือความคิดกว้างๆที่ค้นพบได้โดยผู้มีศึกษา ชีวิตของเขาและจักรวาลที่เขาอาศัยอยู่ ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์กว้าง มันสามารถที่จะให้คำตอบแก่ปัญหาใดๆก็ตามที่มนุษย์เผชิญอยู่และสามารถจัดระบบสังคมให้โดยไม่ต้องไปดูที่อื่น

ยุคทอง
ค.ศ.750 ยุคของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ได้เริ่มต้นขึ้น ใน ค.ศ.762 แบกแดดได้ถูกสร้างขึ้นและหลังจากนั้นไม่นานก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอิสลามที่ปกครองด้วยเคาะลีฟะฮ์ ภายใต้อิสลาม แบกแดดไม่เพียงแต่จะเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจในโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางที่มีชื่อเสียงของโลกในด้านการเรียนรู้ การค้าและวัฒนธรรมที่สร้างความรุ่งเรืองทางด้านวิทยาศาสตร์และวรรณกรรมในทุกสาขา มันเป็นจุดสุดยอดทางด้านปัญญาของโลกและหลายคนถือว่านี่เป็นช่วงเวลาที่อิสลามถึงจุดสุดยอด นั่นคือยุคทองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์

แม่น้ำไทกริสและยูเฟรตีสก็มีส่วนสำคัญในการสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้เกินพอสำหรับการเลี้ยงดูเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองไปจากคอนสแตนติโนเปิล ฮารูน อัร-รอชีดซึ่งได้ขึ้นมาเป็นเคาะลีฟะฮ์ปกครองอิรักในช่วง ค.ศ.786-806 ได้ถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในบรรดาเคาะลีฟะฮ์ผู้ทรงคุณธรรมและอยู่ในทางนำ

แผ่นดินอิรักได้สร้างนักคิดขึ้นมากมายอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน มันเป็นแผ่นดินที่เป็นศูนย์กลางสำหรับความคิดก็ต่อเมื่อรัฐที่ปกครองด้วยเคาะลีฟะฮ์นำอุดมการณ์อิสลามมาปฏิบัติ ครั้งหนึ่ง มุฮัมมัด อิบนุ อิดรีส อัช-ชาฟีอีผู้ทรงความรู้เรื่องอิสลามได้มายังเมืองแบกแดดในศตวรรษที่ 8 และได้อภิปรายทางวิชาการกับอิมาม มุฮัมมัด อิบนุ ฮะซัน ชัยบานี ลูกศิษย์คนสำคัญของอิมามอบูฮะนีฟะฮ์ ที่นี่อิมามชาฟีอีได้ตั้งสนักนิติศาสตร์อิสลามของตนขึ้นและได้สอนลูกศิษย์คนสำคัญอีกคนหนึ่ง นั่นคืออิมามอะหมัด อิบนุ ฮัมบัล อิมามอะหมัดเกิดในแบกแดดและเสียชีวิตที่นั่น จึงเห็นได้ว่าในยุคนั้นเป็นยุครุ่งเรืองทางวิชาการของอิสลามเช่นเดียวกับวิชาการด้านอื่นๆ มีโรงพยาบาลและโรงพยาบาลฝึกสอนเปิดขึ้นหลายแห่ง อบูญะฟัร มุฮัมมัด อิบนุ มูซา อัล-ควาริซมีได้ค้นพบวิชาพีชคณิตและได้ถูกยกย่องว่าเป็นผู้ประดิษฐ์เลขศูนย์ขึ้นมา หนังสือ “กิตาบ อัล-ญับร์ วะ มุกอบะละฮฺ”ของเขาได้ถูกนำไปใช้สอนวิชาพีชคณิตให้ชาวยุโรปและในยุคที่มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาการในยุโรป ชื่อของเขาก็ได้ถูกแปลผิดเป็น “อัลกอริซม์” มาจนถึงทุกวันนี้

ผู้พิชิตโลก
เมื่อเตมูจินหัวหน้าเผ่าชาวมองโกลคนหนึ่งสามารถรวบรวมเผ่ามองโกลที่แตกกระสานซ่านเซ็นให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ ในตอนต้นศตวรรษที่ 13เขาก็นำผู้คนชาวมองโกลเข้าผิดชิตไซบีเรียและจีนตอนเหนือจนเมืองปักกิ่งต้องราบคาบ หลังจากนั้น เขาก็นำกองทหารที่เข้มแข็งของเขาจำนวน 700,000 คนมุ่งหน้ามาทางตะวันตกสู่อาณาจักรอิสลาม เขาทำลายเมืองสะมาร์คันด์ในอุซเบกีสถาน เมืองบอลค์ในอาฟกานิสถาน เมืองเมิร์ฟในเตอร์มานิสถานและเมืองเนย์ชาบูร์ในอิหร่าน ผู้คนในเมืองเหล่านี้ถูกฆ่าตายหมด ต่อมาเตมูจินได้เปลี่ยนชื่อของเขาเป็นเจงกิสข่านซึ่งหมายถึงผู้ปกครองจักรวาลหรือผู้พิชิตโลก

เจงกิสข่านเชื่อว่าเทพเจ้าของเขาเหนือกว่าพระเจ้าองค์เดียวของมุสลิมและหาทางที่จะพิสูจน์เรื่องนี้โดยการพิชิตอาณาจักรอิสลามทั้งหมด

“ ข้าคือการลงโทษของพระเจ้า ถ้าหากพวกเจ้าไม่ได้ทำบาปใหญ่ พระเจ้าก็ไม่น่าจะส่งการลงโทษอย่างเช่นข้ามายังพวกเจ้า” (เจงกิสข่าน)

เมื่อเขาเสียชีวิตใน ค.ศ.1227 ในการต่อสู้พวกตังกุตของจีนทางตะวันออกเฉียงเหนือ หากเปรียบเทียบพื้นที่ที่เขาพิชิตได้ เขาก็คือผู้พิชิตที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล

ใน ค.ศ.1258 ฮูลากูข่านหลานชายของเตมูจินได้โจมตีแบกแดด ในเวลานั้นกองทัพของเขาเป็นกองทัพแห่งการทำลายล้างที่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้ เคาะลีฟะฮ์อัล-มุสตะซิมบิลละฮ์ถูกฆ่าและมุสลิมนับแสนคนถูกฆ่าจนถนนในแบกแดดกองไปด้วยซากศพและถนนกลายเป็นแม่น้ำโลหิต

พวกมองโกลเข้าแบกแดดในวันอาชูรอและอาณาจักรอิสลามของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ต้องสิ้นสุดลงไปด้วยเลือด กล่าวกันว่าแม่น้ำในแบกแดดได้กลายเป็นสีฟ้าจากหนังสือในห้องสมุดซึ่งถูกทำลายและถนนต้องแดงฉานไปด้วยเลือดของมุสลิม

หลังจากทำลายแบกแดดแล้ว กองทัพของฮูลากูก็บ่ายหน้าขึ้นเหนือไปทำลายแผ่นดินซีเรียและยึดเมืองดามัสกัสไว้ใน ค.ศ.1259 เมืองหลวงของอาณาจักรมุสลิมถูกทำลาย กองทัพต่างๆต้องพ่ายแพ้ลงอย่างราบคาบให้แก่ความดุดันห้าวหาญของทหารม้าและทหารราบของพวกมองโกลจนมุสลิมต้องสิ้นหวังในการที่จะต้านทาน ความโหดเหี้ยมของพวกมองโกลในทุกที่ที่ไปก็ทำลายขวัญของมุสลิมลง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ใน ค.ศ.1260 พวกมองโกลไม่เพียงแต่จะพ่ายแพ้เท่านั้น แต่ยังได้ถูกกวาดล้างออกไปจากแผ่นดินมุสลิมในสงครามอัยน์ญะลูตที่เลื่องลือด้วย เราจะได้เห็นว่าความพ่ายแพ้ได้แปรเปลี่ยนเป็นชัยชนะได้อย่างไร

หลังจากนี้ อิรักก็ได้รับความเดือดร้อนจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจและได้สูญเสียความรุ่งเรืองไป

พวกมองโกลเจตนาทำลายระบบการชลประทานลงซึ่งทำให้แผ่นดินกลายเป็นหนองบึงขึ้นมาแทน ระบบเผ่าได้เกิดขึ้นมาจนกลายเป็นอิรักสมัยใหม่

แต่ก็เช่นเป็นดังเช่นเคย คนที่เห็นระบบอิสลามได้ยอมรับมันเช่นเดียวกับพวกมองโกลผู้รุกราน ผู้ทำลายได้เริ่มสร้างมัสญิดและโรงเรียนขึ้นหลายแห่งดังเช่นฆ็อซซาน คานได้ยอมรับอิสลามเป็นศาสนาของรัฐของเขาอย่างเป็นทางการในตอนต้นศตวรรษที่ 14

จากศตวรรษที่ 16 อาณาจักรอิสลามที่ปกครองด้วยเคาะลีฟะฮ์ราชวงศ์อุษมานี (ออตโตมานเติร์ก) ได้ใช้แบกแดดเป็นที่ตั้งทางทหารแห่งหนึ่ง พวกอุษมานีได้ให้ความสนใจในการพิชิตยุโรปมากกว่าการฟื้นฟูเมืองหลวงเก่าของรัฐให้กลับมารุ่งโรจน์ดังเดิม ดังนั้น รัฐของพวกเศาะฟาวีย์ (ที่ประกาศให้หลักความเชื่อของชีอ๊ะฮ์เป็นศาสนาทางการของอิหร่าน) จึงได้ลุกขึ้นต่อสู้และเข้ามาควบคุมแบกแดดไว้ในช่วงเวลาสั้นๆถึงสองครั้งในศตวรรษที่ 16 และ 17 แต่หลังจากนั้น พวกอุษมานีก็สามารถเข้ามาควบคุมได้ทั้งสองครั้ง วันเวลาแห่งความรุ่งโรจน์จึงผ่านไปชั่วเวลาหนึ่ง แต่อิรักก็ยังคงอยู่ภายใต้ร่มเงาการปกครองแบบคิลาฟะฮ์จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20

อิรักที่ปราศจากการปกครองแบบคิลาฟะฮ์
ใน ค.ศ.1914 อังกฤษได้มาขึ้นบกที่ชัตตุลอาหรับและยึดเมืองบัสเราะฮไปจากพวกอุษมานี เมื่อถูกปิดล้อมในหลายด้านและได้รับอิทธิพลจากตัวแทนอังกฤษคือมุสฏอฟา เคมาลที่อ้างว่ามีเป้าหมายสำคัญอื่นๆอีกมากที่จะต้องป้องกัน แบกแดดจึงตกเป็นของอังกฤษหลังจากสงครามนองเลือดหลายครั้งใน ค.ศ.1917

แน่นอน ภายใต้การปกครองของพวกอุษมานี อิรักก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่มีสามจังหวัดที่อยู่ภายใต้ร่มเงาการปกครองของพวกอุษมานี นั่นคือโมซุลในตอนเหนือ แบกแดดในตอนกลางและบัสเราะฮ์ในตอนใต้ ภายใต้สัญญาไซกีส-พีโกต์ (Sykes-Picot) โมซุลจะต้องตกเป็นของฝรั่งเศส ส่วนแบกแดดและบัสเราะฮ์จะเป็นของอังกฤษ แต่ฝรั่งเศสได้ถอนตัวออกจากโมซุลใน ค.ศ.1920 ในปีนั้นได้มีการกบฏต่อต้านการปกครองของอังกฤษหลายครั้งและอังกฤษรู้สึกว่าหากไม่มีโมซุล อีกสองเมืองก็ไม่สามารถที่จะเป็นอาณานิคมที่เป็นเอกราชได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือเป็นที่รู้กันว่าโมซุลเป็นแหล่งสำรองน้ำมันขนาดใหญ่ ในปีเดียวกัน อะมีรฟัยซอลที่เห็นรัฐบาลของตนในดามัสกัสซึ่งถูกอังกฤษทำลายได้ถูกอังกฤษแต่งตั้งให้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ของอิรักซึ่งทำให้อิรักเกิดขึ้นมาเป็นราชอาณาจักร แต่เนื่องจากในอิสลามไม่มีแนวความคิดเรื่องเพลงชาติ อังกฤษจึงได้เลือกเอาเพลง“ก็อดเซฟเดอะคิง” ขึ้นมาบรรเลงในการแต่งตั้งเขาขึ้นนั่งบัลลังก์

เซอร์เพอร์ซี ค็อกซ ข้าหลวงใหญ่ได้อาศัยอยู่ในอิรักเพื่อให้การดูแลแหล่งสำรองน้ำมัน หลังจากนั้นบริษัทปิโตรเลียมอิรักที่เป็นของอังกฤษก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้น ค่ายทหารต่างๆได้ป้องกันช่องทางไปสู่อินเดีย โครงสร้างพื้นฐานของอิรักเป็นแบบกึ่งศักดินาที่ประกอบด้วยพวกชีอ๊ะฮ์กลุ่มใหญ่ในตอนใต้ พวกเคิร์ดในตอนเหนือซึ่งต้องการมีรัฐชาติของตัวเอง พวกอาหรับเผ่าต่างๆที่มีอยู่ก่อนนั้นและยังคงอยู่ที่นั่นตั้งแต่พวกมองโกลบุกเข้ามา

อิรักได้รับเอกราชใน ค.ศ.1932 และได้ถูกรับเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติในปีเดียวกันโดยทิ้งตัวแทนอาหรับอย่างเช่นนูร สะอี๊ดไว้ข้างหลัง สิ่งที่ตามมาก็คือการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจกันเป็นเวลาหลายปีซึ่งในจำนวนนี้ก็มีการโค่นอำนาจราชวงศ์โดยรอชาด อะลี ทำให้สะอี๊ดต้องหนีออกจากอิรัก แต่หลังจากนั้นก็มีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกและอะลีต้องหนีหนีไปอยู่ที่ซาอุดีอารเบีย ขณะเดียวกัน ในดามัสกัสได้มีการก่อตั้งพรรคบาธขึ้นโดยไมเคิล อัฟลัก ชาวคริสเตียนกรีกออร์โธดอกซ์ หลักการของพรรคบาธคือสังคมนิยม ต่อต้านพวกล่าอาณานิคมและนิยมประเพณีอาหรับที่นำไปสู่ปรัชญาการรวมชาติอาหรับ คำขวัญของพรรคก็คือ “เอกภาพ เสรีภาพ สังคมนิยม” โดยมีเป้าหมายที่อาหรับพรรคบาธได้ขึ้นมามีอำนาจในซีเรียและอิรัก พวกบาธได้ให้ความช่วยเหลือรอชาด อะลีในการก่อการปฏิวัติและหนึ่งในจำนวนนั้นก็มีซัดดัม ฮุสเซนรวมอยู่ด้วย

ใน ค.ศ.1958 นายทหารอิรักสองคนคือพลตรีกัสเซ็มและพันเอกอับเดล สะลาม อารีฟ ได้โค่นอำนาจกษัตริย์ลง กษัตริย์อับดุลลอฮ์และเจ้าชายในเวลานั้นได้ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อทั้งสองออกมาจากราชวังที่ถูกล้อมอยู่เพื่อยอมแพ้ นูร สะอี๊ดได้หลบหนีไป แต่ก็ได้ถูกตามตัวได้ แต่ก่อนที่จะถูกจับ เขาก็ยิงตัวเองตาย วันที่ 14 กรกฎาคมเป็นวันก่อตั้งสาธารณรัฐมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ซัดดัมขึ้นมามีอำนาจ
ซัดดัม ฮุสเซนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรัฐประหารในปี 1958 แต่เขาได้ขึ้นมามีอำนาจหลังจากนั้นในการทำรัฐประหารของพวกพรรคบาธต่อนายพลกัสเซ็มและอันเอกอับเดล สะลาม อารีฟใน ค.ศ.1968 ซัดดัมซึ่งอังกฤษให้การสนับสนุนได้มองเห็นตัวเองว่าเป็นผู้นำอาหรับที่ยิ่งใหญ่ถึงแม้เขาจะเป็นคนรับใช้เจ้านายของเขาในตะวันตก เขาปกครองประเทศแบบเผด็จการและเหี้ยมโหด ใช้สื่อประโคมสร้างภาพพจน์ให้แก่ตัวเองและสร้างบารมีด้วยอำนาจตำรวจลับของเขา

ใน ค.ศ.1980 ซัดดัมได้พาอิรักเข้าสู่สงครามอันน่าเศร้ากับอิหร่านตามคำยุยงของตะวันตก ในช่วงเวลานี้เองที่อาวุธทำลายล้างสูงชนิดต่างๆได้ถูกรัฐบาลตะวันตกส่งเข้ามา สงครามดำเนินไป 8 ปีโดยมีผู้คนนับล้านต้องบาดเจ็บและล้มตาย

ในระหว่างสงครามครั้งนี้ พวกเคิร์ดได้พยายามหาทางสร้างชาติของตนเองโดยการทำสงครามกองโจรต่อรัฐบาลอิรัก แต่เนื่องจากยังทำสงครามอยู่กับอิหร่าน ซัดดัมจึงไม่สามารถจัดการเรื่องของชาวเคิร์ดได้ แต่เมื่อสงครามกับอิหร่านสิ้นสุด เขาก็หันมาจัดการกับพวกเคิร์ดอย่างรุนแรง ซัดดัมโจมตีพวกเคิร์ดหลายครั้งรวมทั้งใช้แกสพิษและแกสประสาทสังหารพลเรือนอย่างเหี้ยมโหดที่ฮาลับจาไปประมาณ 5 พันคน ตะวันตกจึงฉวยโอกาสเอาการกระทำดังกล่าวมาเป็นตัวอย่างและเป็นข้ออ้างสำหรับการทำสงครามต่ออิรักว่าเพื่อเป็นการทำลายอาวุธร้ายแรงทั้งๆที่ตะวันตกเองเป็นผู้ขายแกสพิษให้แก่ซัดดัม และชาติตะวันตกอีกนั่นเองที่สังหารประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามนับแสนคนที่เกาะฮิโรชิมาและนางาซากิ การทำลายศัตรูผู้รุกราน

เหตุผลประการหนึ่งที่ฮูลากูข่านสามารถยึดแบกแดดได้ก็คืออัล-กอมีเสนาบดีของเคาะลีฟะฮ์มุอ์ตะซิมบิลละฮ์ทรยศเป็นไส้ศึกให้ฮูลากู

อัล-กอมีสัญญาพวกมองโกลอย่างลับๆว่าเขาจะหาทางไม่ให้มีการต่อต้านใดๆจากฝ่ายมุสลิมเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการให้เขาได้เป็นผู้ปกครองคนต่อไปในอนาคต

หลังจากนั้นเขาก็สร้างความเชื่อมั่นให้แก่มุตะซิมบิลละฮ์และพาไปพบกับพวกมองโกล แต่แล้วมุตะซิมบิลละฮ์ก็ถูกฆ่า หลังจากที่แบกแดดถูกยึดได้ ฮูลากูก็เห็นว่าในเมื่ออัล-กอมียังสามารถทรยศต่อประชาชนของตัวเองได้ ทำไมเขาจะทรยศต่อพวกมองโกลไม่ได้ ดังนั้น เขาจึงฆ่าอัล-กอมีเสีย

หลังจากที่พวกมองโกลจัดการกับซีเรียและดามัสกัสแล้ว เขาก็หันไปยังอียิปต์ฐานที่มั่นสุดท้ายของโลกมุสลิม ด้วยความเกลียดชังต่อมุสลิมเขาได้ส่งสารไปยังมะฮ์มูด ซัยฟุดดีน กุตูซ ผู้ปกครองอียิปต์ว่า :

“ ข้าได้ทำลายแผ่นดิน ทำให้เด็กต้องกำพร้า ทรมานผู้คนและฆ่าพวกเขา หยามเกียรติพวกเขาและจับผู้นำของพวกเขาไว้เป็นเชลยเจ้าคิดว่าจะสามารถหนีรอดไปจากพวกเราได้กระนั้นหรือ ? ไม่ช้าเจ้าก็จะได้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น….”

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่เข้มแข็งซึ่งครอบครองดินแดนของมุสลิมไปสามในสี่ส่วนแล้ว กุตูซก็ต้องทำในสิ่งที่เขาต้องทำ นั่นคือการฆ่าตัวแทนของพวกมองมองโกลที่นำสารมาและแขวนศพไว้ในถนน

หลังจากนั้น เขาก็ส่งตัวแทนของเขาไปยังมุสลิมที่อยู่รอบๆซึ่งในจำนวนนี้ก็มีพวกมัมลู้กที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเขาทำลายศัตรูผู้รุกราน

จากนั้น กุตูซก็ได้ใช้ผู้ทรงความรู้ทางด้านศาสนามาช่วยเขาโดยการปลุกเร้าให้ประชาชนนึกถึงหน้าที่ในการญิฮาดและรวมมวลชนให้แก่เขา กุตูซได้ขอให้อัล-อิซซุดดีน อับดุสสะลามผู้นำทางศาสนากำหนดเรียกเก็บภาษีจากประชาชนเพื่อมาสร้างกองทัพ แต่ก็มีนักวิชาการบางคนออกมาปฏิเสธพวกเจ้าเมืองต่างๆที่มีความร่ำรวยจึงต้องนำเงินออกมาช่วยกันกองทัพมุสลิมจึงได้เกิดขึ้น

กุตูซได้สั่งกองทัพของเขาให้รุกคืบหน้าไปและภายใต้การนำของบัยบาร์ มุสลิมได้รับชัยชนะในสงครามย่อยหลายครั้งก่อนที่จะไปถึงกาซาในปาเลสไตน์ เมื่อมาถึงกุตูซได้เตือนพวกครูเสดให้วางตัวเป็นกลางในสงครามครั้งนี้หรือไม่ก็จะต้องถูกทำลาย พวกครูเสดรับข้อเสนอของกุตูซ ในที่สุดกองทัพใหญ่ของทั้งสองก็ปะทะกันในเดือนเราะมะฎอนที่อัยน์ญะลูต ในขณะที่การรบกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดและมุสลิมกำลังตกเป็นฝ่ายถูกรุกหนักจนเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

กุตูซได้ปีนขึ้นไปบนก้อนหินและถอดหมวกเหล็กของเขาโยนทิ้งเพื่อให้ทหารเห็นหน้าเขาพร้อมกับตะโกนว่า“วะอิสลามะฮ์ วะอิสลามะฮ์” หลังจากนั้นเขาก็กระโจนเข้าไล่ฟันพวกมองโกลล้มตายไปตลอดทาง ด้วยเหตุนี้ทหารมุสลิมจึงเกิดขวัญกำลังใจในการสู้รบและเริ่มรวมพลังกันกลับมาต่อสู้อีกครั้งหนึ่งจนสามารถเป็นฝ่ายได้เปรียบ สถานการณ์สู้รบจึงพลิกผัน พวกมองโกลที่วิ่งหนีถูกประชาชนชาวซีเรียไล่ฆ่าเป็นการแก้แค้นจนพวกศัตรูผู้รุกรานถอยหนีกลับไปยังดินแดนของตน

ปัจจุบันแทนที่มุสลิมจะมีผู้ปกครองที่จริงใจอย่างกุตูซผู้เข้าใจและเอาใจใส่ประชาชนและหน้าที่ของตนเองเรากลับมีผู้ปกครองที่ขี้ขลาดและทรยศอย่างอัล-กอมี ผู้ปกครองเหล่านี้ไม่ยอมให้กองทัพของตนออกมาขับไล่ศัตรู ดังนั้นผู้ปกครองพวกนี้ต่างหากที่จะต้องถูกขจัดออกไปในฐานะที่เป็นความจำเป็น เช่นเดียวกับการอาบน้ำนมาซเป็นข้อบังคับก่อนการทำนมาซ เพราะการนมาซในตัวของมันเองเป็นหน้าที่ ดังนั้นการขจัดผู้ปกครองผู้ทรยศเหล่านี้จึงกลายเป็นหน้าที่เพราะการส่งกองทัพไปขับไล่ศัตรูที่มารุกรานเป็นหน้าที่ตามหลักการชะรีอ๊ะฮ์ อะไรก็ตามที่นำไปสู่หน้าที่ (วาญิบ) สิ่งนั้นก็เป็นวาญิบในตัวของมันเอง คนที่จริงใจอย่างกุตูซจะต้องลุกขึ้นมาแสดงพลังอำนาจของอุมมะฮ์ซึ่งเป็นอำนาจที่นักล่าอาณานิคมหวั่นกลัว

การทรยศของผู้ปกครองเหล่านี้ยังคงฝังรากลึกอยู่ถึงปัจจุบันเพราะถ้าหากคนพวกนี้ไม่ยอมให้ใช้แผ่นดินมุสลิมการรุกรานอิรักก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น มันเป็นไปไม่ได้ที่อเมริกาจะโจมตีอิรักจากวอชิงตันเช่นเดียวกับที่อังกฤษจะโจมตีจากลอนดอน ทหารของชาติมหาอำนาจทั้งสองนี้มีฐานทัพอยู่ในซาอุดีอารเบีย จอร์แดนและฐานทัพอากาศในตุรกีที่สภาลงมติให้อนุญาตให้ใช้น่านฟ้าในฐานะเป็นมรดกของมุสตอฟา เคมาล ปาชา การรุกรานเริ่มต้นจากคูเวต พวกผู้ปกครองประเทศเหล่านี้ร่วมกับบุชและแบลร์กำลังถือมีดที่ถูกใช้เพื่อเข่นฆ่าบรรดาผู้ศรัทธา ดังนั้นชาติมุสลิมจึงต้องมีผู้ปกครองที่จะส่งกองทัพปลดปล่อยออกมาและปิดฐานทัพทุกแห่งของพวกศัตรู

การรวมกันของประเทศต่างๆภายใต้การปกครองแบบคิลาฟะฮ์อีกครั้งหนึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสุดยอด พวกมัมลู้กช่วยกุตูซก็เพราะทั้งสองฝ่ายเป็นประชาชาติ (อุมมะฮ์) เดียวกันจากเคาะลีฟะฮ์คนเดียวกัน กุตูซปลดปล่อยซีเรียเพราะเขาและประชาชนของเขามาจากอุมมะฮ์เดียวกัน เขาไม่ได้กล่าวว่าผมเป็นคนอียิปต์ ส่วนคุณเป็นชาวปาเลสไตน์ ดังนั้นผมจะไม่ช่วยคุณ อังกฤษและฝรั่งเศสต่างหากที่ตกลงกันในสัญญาไซกีส-พีโกต์ใน ค.ศ.1917 เพื่อแบ่งแยกเรา ดังนั้นยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่โซ่ตรวนจอมปลอมเหล่านี้จะต้องถูกทำลายทิ้ง ?

ภายใต้การปกครองแบบคิลาฟะฮ์ สิ่งที่กล่าวมาได้เกิดขึ้นกับพวกมองโกลแล้ว ถึงแม้ระบบคิลาฟะฮ์ได้ถูกทำลายไปแต่อุดมการณ์อิสลามยังคงมีอยู่ในผู้นำอย่างเช่นกุตูซ ในนักวิชาการศาสนาที่จิตใจบริสุทธ์ ในทหารและในประชาชน ปัจจุบันเราถูกแบ่งแยกและไม่มีผู้นำอย่างกุตูซ แต่หลักความเชื่อและอุดมการณ์อันเดียวกันยังอยู่ในจิตใจของมุสลิมปัจจุบัน หากเราได้นำเอาอิสลามมาใช้ในการแก้ปัญหามันก็จะมีสงครามอัยน์ญะลูตอีกครั้งหนึ่งสงครามโซ่อีกครั้งหนึ่งและผู้นำอย่างฮารูน อัร-รอชีดหรือผู้นำอย่างมะฮ์มูด ซัยฟุดดีน กุตูซอีกคนหนึ่ง

แปลโดย อาจารย์บรรจง บินกาซัน คัดลอกจาก: Thaimuslimshop.com

มหานครแบบแดด อาณาจักรอับบาซียะห์ที่อิรัก

นครแบกแดด (بَغْدَادُ )
นครหลวงของอิรักตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไทกริส (دِجْلَة ) มีประชากรราว 3 ล้าน 2 แสน 5 พันคน, เป็นราชธานีของราชวงศ์อับบาซียะฮฺ และเป็นหนึ่งจากราชธานีของอิสลามในประวัติศาสตร์, ค่อลีฟะฮฺอัลมันซู๊ร แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺได้สร้างนครแห่งนี้ขึ้นในปี ฮ.ศ.144/คศ. 762 และทรงเรียกขานว่า นครแห่งสันติภาพ (مَدْيَنةُ السَّلاَمِ )
นครแบกแดดในรัชสมัยค่อลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺมีความเจริญรุ่งเรืองสุดขีด โดยเฉพาะรัชสมัยค่อลีฟะฮฺ อัลมะฮฺดีย์, อัลฮาดีย์, และฮารูน อัรร่อชีดฺ ต่อมามีการย้ายราชธานีไปยังนครซามัรรออฺ (سَامَرَّاءُ ) ในระหว่างปี คศ.836-892 หลังจากนั้นนครแบกแดดก็กลับมาเป็นราชธานีของราชวงศ์อับบาซียะฮฺอีกครั้งและเจริญสุดขีดในศตวรรษต่อมา,
นครแบกแดดเคยเป็นที่พำนักของบรรดานักปราชญ์, นักกวี และเป็นศูนย์กลางของวรรณกรรมและศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ , นครแห่งนี้มีบ้านเรือน อาคาร มัสยิดและโรงเรียนมากมาย ตลอดจนมีโรงพยาบาลที่ถูกเรียกว่า บีมาริสตาน และห้องอาบน้ำสาธารณะเป็นอันมาก
ส่วนหนึ่งจากโรงเรียน (มัดร่อซะฮฺ) ที่โด่งดังของนครแบกแดดคือ อันนิซอมียะฮฺ และอัลมุสตันซิรียะฮฺ และหอสมุดดารุ้ลอิลฺมิ เป็นต้น, ในปีคศ.1258 ฮูลากู แม่ทัพมองโกลได้กรีฑาทัพเข้าตีนครแบกแดด ตามดัวยตัยมูร แลงก์ ในปีคศ.1392 และ 1401

ซามัรรออฺ เมืองหลวงคู่นครแบกแดด มหาวิทยาลัยอัลมุสตันซีรียะฮฺในแบกแดด
พวกซ่อฟาวียะฮฺและพวกอุษมานียะฮฺได้ผลัดกันเข้ายึดครองแบกแดดในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 และในปีคศ.1638 ซุลตอนมุร็อดที่ 4 แห่งอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน เติร์ก) สามารถเข้ายึดครองนครแบกแดดเอาไว้ได้
มัสญิดญามิอฺในนครแบกแดด
นครแบกแดดเป็นศูนย์กลางทางการพาณิชย์, อุตสาหกรรมและการศึกษา, มีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมวัตถุโบราณในสมัยอิสลาม มีมหาวิทยาลัยอัลมุสตันซีรียะฮฺ และบรรดามัสยิดตลอดจนปราสาทและตลาดโบราณเป็นจำนวนมาก, เป็นชุมทางรถไฟที่เชื่อมต่อกับตุรกี และสนามบินนานาชาติ, มีโรงกลั่นน้ำมันดิบที่ถูกส่งมาจากเมืองกัรกูก (เคอร์คุก) มีเขตปกครองแบ่งออกเป็นบัฆด๊าด, อัล-อะอฺซ่อมียะฮฺ, อัลกาซิมียะฮฺ, อัลมะฮฺมูดียะฮฺ และอัลมะดาอิน
Suq al-Ghazel (The Yarn Bazaar) Minaret in Baghdad

alisuasaming.com

เคาะลีฟะห์ต่อๆมาของราชวงศ์อับบาซียะห์

23 – เคาะลีฟะห์ต่อ ๆ มาของราชวงศ์อับบาซียะห์
อัล – มุอ์ตาซิม ( AlMu’ta – sim ) ( คศ. 833 – 845 )
ด้วยความปราถนาที่จะได้เป็นเคาะลีฟะห์มาช้านาน อัล – มุอ์ตาซิมจึงได้ทรงพยายามเกลี้ยกล่อม อัล – มะมูน ซึ่งขณะนั้นกำลังล้มป่วยได้แต่งตั้งตนเป็นเคาะลีฟะห์ ตอนแรกการได้ตำแหน่งของอัล – มุอ์ตาซิมได้รับการคัดค้านอย่างแข็งขันในกองทัพซึ่งต้องการให้อับบาสเป็นผู้สืบต่อบิดา แต่เมื่ออัล – มะมูน ได้ทรงแต่งตั้งอัล – มุอ์ตาซิม ทหารทั้งกองทัพก็ยอมรับว่าเขาจะเป็นเคาะลีฟะห์ในเวลาต่อมา อัล – มุอ์ตาซิม จึงรีบกลับมายังกรุงบัฆดาดและได้เข้าทำพิธีรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 กันยายน คศ. 833 เมื่อดำรงตำแหน่งแทนเคาะลีฟะห์แล้ว อัล – มุอ์ตาซิมก็ต้องการจะมีทหารราชองค์รักษ์ไว้รักษาความปลอดภัยให้ตนเอง ได้พวกทาสชาวเตอรกีมาตั้งให้เป็นทหารทั้งกองทัพ กองทัพนั้นจึงประกอบด้วยชาวเตรอกีและชาวต่างประเทศ อื่น ๆ ซึ่งต่อมาจะได้กลายเป็นอันตรายอย่างสาหัสใหญ่หลวงต่อตำแหน่งเคาะลีฟะห์ ความประพฤติอันไม่สมควรของทหารเตอรกีเหล่านี้ในที่สุดก็เป็นผลให้ต้องย้ายเมืองหลวง ทหารเตอรกีเหล่านี้มักฉุดผู้หญิงและเด็ก ๆ ไปทำการข่มเหง และทะเลาะเบาะแว้งฆ่าฟันกันเองอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เคาะลีฟะห์จึงสั่งให้ยกเลิกเมืองหลวงเก่าคือ กรุงบัฆดาดและทรงสร้างเมืองหลวงใหม่ คือเมืองสะมัรรอ ( Samarra ) ขึ้นใน คศ. 836 นโยบายเช่นนี้ของอัล – มุอ์ตาซิม นำสู่ความหายนะของราชวง์อับบาซียะห์เพราะทำให้ผู้เป็นเคาะลีฟะห์ ต้องตกอยู่ในกำมือของพวกทหารองครักษ์ชาวต่างชาติคือชาวเตอรกี
กบฎชาวแซตต์ ( zatt ) ทำการรุกราน
ในระหว่างนี้ชาวแจต ( Jat ) ในอินเดียนักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับเรียกว่าชาวแซตต์ได้ปรากฎตัวขึ้นตามฝั่งแม่น้ำไทกริส อัล – มะมูนได้เคยพยายามที่จะปราบปรามคนเหล่านี้ไม่สำเร็จ เมื่อ อัล – มุอ์ตาซิมกลับมายังเมืองบัฆดาดก็ได้พบว่าผู้คนพลเมืองกำลังประสบความเดือดร้อนอย่างใหญ่หลวงเพราะพวกแจตเหล่านั้นได้ตัดเส้นทางที่จะนำอินผลัมมาจากเมืองบัศเราะห์เสียหมด ท่านจึงพยายามที่จะปราบพวกนี้ให้ได้ หลังจากได้ต่อสู่อย่างดุเดือดอยู่เป็นเวลา 7 ปี คนเหล่านั้นจึงยอมแพ้โดยที่เคาะลีฟะห์ ต้องสัญญาว่าจะไว้ชีวิตและไม่ยึดสินทรัพย์ของพวกเขา คนเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ไปอาศัยอยู่ตามชายแดน
เมืองสิซิเลีย ( Sicilia )
งานที่ยากลำบากอีกอย่างหนึ่งที่ตกเป็นหน้าที่ของอัล – มุอ์ตะซิมคือการปราบปรามกบฎ บาเบค ( Babek ) กบฎผู้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเป็นอย่างมากที่แคว้นอเซอร์ไบยาน เคาะลีฟะห์ได้ส่งกองทัพใหญ่โดยมีอัฟซิน นายทัพผู้สามารถชาวเตอรกีไปปราบหลังจากสู้รบกันได้ 3 ปี บาเบคก็ถูกจับตัวเป็นนักโทษ ถูกนำตัวมาประหารชีวิตที่เมืองสะมัรรอ

สงครามไบแซนไตน์
พระมหาจักพรรดดิ์ธีโอฟีลุสได้ฉวยโอกาสที่กองทัพมุสลิมกำลังยุ่งอยู่กับการปราบบาเบคซึ่งชาวกรีกก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วยนี้เข้ามาโจมตีเขตแดนมุสลิม และฆ่ามุสลิมตายไปหลายร้อย เมืองซีบาตรา ( Sibatra ) ก็ถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน เคาะลีฟะห์จึงส่งกองทัพมาปราบ จนจักรพรรดิ์ธีโอฟีลุสพ่ายแพ้ยับเยิน พระองค์ให้ยกทัพต่อไปยังเมืองอมอเรียม ( Amorium ) และยึดเมืองได้ทรัพย์มากจากเมืองนั้น แต่เมื่อทรงได้ข่าวว่า ได้มีผู้วางแผนการที่จะฆ่าท่านในกองทัพจึงทรงยุติการยกทัพต่อไปนั้นเสีย
การแข็งข้อ ที่ตาบาริสถาน ( Tabaristan )
เมื่อเคาะลีฟะห์เพิ่งกลับมาถึงเมืองก็เกิดการกบฎ อย่างหนักขึ้นที่ตาบาริสถานโดยมี มาเซีย ( Mazier ) เป็นหัวหน้า การกบฎนี้ถูกปราบปรามลงได้อย่างยากลำบาก มาเซียถูกฆ่าตายในขณะเดียวกันก็ได้พบว่าอัฟซินผู้ซึ่งเคาะลีฟะห์ทรงโปรดปรานเป็นอย่างมาก เป็นผู้ยุยงให้เกิดการกบฎครั้งนี้เพื่อจะสร้างอาณาจักรอิสระขึ้นทางภาคตะวันออก เขาจึงถูกจับตัวไปกักขังและในที่สุดก็สิ้นชีพลง อัล – มุอ์ตาซิม สิ้นชีพในเดือนมกราคม คศ. 842
วาษิก ( Wathiq ) ( ฮศ. 223 – 228 หรือ คศ. 842 - 847 )
วาษิกขึ้นเป็นเคาะลีฟะห์ต่อจากพระราชบิดา ท่านทรงเป็นนักปกครองที่ดี เป็นผู้อุปถัมภ์วรรณกรรม ทรงทำนุบำรุงการค้าและอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าจะทรงโปรดความสนุกสนาน แต่ชีวิตก็ไม่มีด่างพร้อย ตอนปลายรัชสมัยของท่านได้มีการแลกเปลี่ยนเชลยศึกระหว่างเคาะลีฟะฮ์กับจักรพรรดิ์กรีก แต่ท่านก็ยังคงโปรดปรานทหารเตอรกีมากกว่าทหารอาหรับ และเปอร์เซียอันเป็นนโบายที่บิดาทรงดำเนินไว้
วาษิกสิ้นชีพแต่ยังเยาว์หลังจากครองราชย์ได้ 6 ปี ทรงเป็นกษัตยริ์ที่มีพระทัยโอบอ้อมอารีและเมตตาโดยเฉพาะต่อคนยากจน ในเมืองมักกะฮ์และมะดีนะฮ์

อัล-มุตะวักกิล (Al-Mutawakkil) (คศ.233-297 - คศ.847-911)
เนื่องจากวาษิกสิ้นชีพลงโดยมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดสืบต่อแทน พวกขุนนางอำมาตย์ ของท่านจึงต้องการให้มุฮัมมัด โอรสซึ่งยังเยาว์วัยของท่านได้เป็นเคาะลีฟฮ์สืบแทน แต่ วัสซีฟ (Wessif) และอิตาก (ltakh) ผู้เป็นหัวหน้าชาวเตอรกีกลับต้องการให้ตำแหน่งนี้ได้แก่ ญะอ์ฟัร (Jafar) ผู้เป็นอนุชาของวาษิก ญะอ์ฟัรจึงได้รับตำแหน่งโดย ใช้นามว่าอัล-มุตะวักกิล สิ่งแรกที่ทรงทำก็คือสังหารเสนาบดีชื่ออิบนุลซัยยาด (lbn al Zayyad) ศัตรูเก่าซึ่งเคยคัดค้านการแต่งตั้งท่านเสีย ทรัพย์สินของเขาและของคนอื่น ๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับท่านก็ถูกยึดหมดสิ้น นายทหารเตอรกีที่เคยสนับสนุนให้ท่านได้รับตำแหน่งเคาะลีฟฮ์ ก็ถูกสังหารเหมือนกัน ผู้มีเหตุไล่ออกจากตำแหน่งงาน และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ก็ต้องระกำลำบากเพราะไร้งาน อัล-มุตะวักกิลมีความเกลียดชังพวกชีอะฮ์ (Shi’itis) จึงทรงสั่งให้ล้อมอนุสรณ์ที่สร้างไว้เหนือที่ฝังศพท่านหุสัยน์ที่เมืองกัรบาลา (Karbala) พร้อมด้วยอาคารอื่น ๆ รอบ ๆ นั้นเสียและสั่งห้ามให้ผู้ใดไปเยี่ยมเยียนสถานที่นั้น
ในปีคศ. 237 หรือ ค.ศ. 851 ได้มีการกบฏเกิดขึ้นที่อาร์มีเนีย ในปีต่อมานายทัพชาวเตอรกีชื่อโบกา (Bogha) ก็ปราบปรามกบฏได้สำเร็จ ในปีเดียวกันนั้นชาวไบแซนไตน์ได้เข้ามารุกรานฝั่งทะเลอียิปต์ทำลายป้อมปราการทั้งหลาย ที่ปากแม่น้ำไนล์ใกล้เมืองตูนิสและนำตัวเชลยศึกและทรัพย์สินกลับไป
ส่วนมุสลิมกับกรีกผลัดกันรุกผลัดกันถอยอยู่ระยะหนึ่ง กรีกรุกเข้ามาได้ถึงเมือง อนิด (Anid) และนำตัวเชลยศึกไปถึงหมื่นคน แต่ในปี ค.ศ . 245 หรือ ค.ศ. 859 มุสลิมก็ได้โจมตีกองทัพกรีกแหลกลานและกองทัพเรือของมุสลิมเข้ายึด แอตาเลีย(Antalia) ได้
ในปี คศ. 241 หรือ ค.ศ.855 ได้มีการกบฏเกิดขึ้นที่เมืองอิมส์ (Hims) แต่ก็ถูกปราบปรามลงได้
ในปี ฮศ. 244 หรือ คศ.858 หลังจากทำการปกครองจากเมืองหลวง สะมัรรอ มาเป็นเวลา 12 ปีแล้วเคาะลีฟะฮ์ก็ได้ย้ายเมืองหลวงกลับมาที่กรุงบัฆดาด แต่ไม่ทรงเป็นสุข ณ ที่นั้นจึงทรงกลับไปที่สะมัรรออีกและทรงสร้างพระราชวังใหญ่ห่างจากตัวเมืองออกไป 3 ไมล์โดยให้ชื่อตามพระนามของท่านว่า กาฟาริยะฮ์ (gafariya)
ความประพฤติในตอนหลัง ๆ ของท่าน เป็นเหตุให้มีผู้คิดล้างชีวิตท่าน กล่าวกันว่าในขณะที่ท่านบรรทมอยู่ในพระราชวัง ทหารองค์รักษ์ชาวเตอรกีที่ท่านโปรดปรานพร้อมทั้งอัล – มุนตะซิร (Al-Muntasir) โอรสของท่านผู้ซึ่งไม่พอใจในความประพฤติของราชบิดาก็ได้ลอบเข้าไปสังหารท่าน รัชสมัยอันมีระยะยาว 15 ปี ของท่านเต็มไปด้วยการแบ่งแยกของราชอาณาจักร ความโหดร้ายทารุณ และไม่สนพระทัยของท่านทำให้ท่านนำราชอาณาจักรไปสู่ความพินาศในที่สุด
หลังจากอัล – มุตะวักกิลสิ้นชีพแล้ว อาณาจักรมุสลิมตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว เคาะลีฟะฮ์ท่านต่อ ๆ มาของราชวงศ์นี้ล้วนแต่ไม่มีความสามารถ ยิ่งกว่านั้นการที่พวกเตอรกี เข้ามามีอิทธิพลอยู่ยิ่งทำให้ราชอาณาจักรโค่นล้มลงอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ได้มีรัฐอิสระตั้งตัวเองขึ้นมากมายในระหว่างปีต่อ ๆ มา

ผู้สืบต่ออัล – มุตะวักกิล
ในคืนที่บิดาสิ้นชีพนั้นเอง อัล – มุตะซิร ก็ได้ขึ้นครองตำแหน่งเคาะลีฟะห์ ท่านทรงเป็นคนที่มีนิสัยดี แต่ต้องกลายเป็นหุ่นเชิดอยู่ในกำมือของเอกอัครเสนาบดีชื่อ อะห์มัด บิน ฆอชิบ ( Ahnad bin Ghazib ) หลังจากครองราชย์ได้เพียง 6 เดือนก็สิ้นชีพลง มุสตะอิน ( Mustain ) หลานปู่อีกคนหนึ่งของอัล – มุตะซิม ขึ้นเป็นเคาะลีฟะห์ แต่เคาะลีฟะห์ท่านใหม่นี้ไม่มีทรงมีอำนาจแต่อย่างใด ในรัชสมัยของท่านพวกกรีกได้มาโจมตีเอาดินแดนมุสลิมในเขตเอเซียไมเนอร์ไปมากมาย
เคาะลีฟะห์ทรงเห็นว่าชีวิตของท่านไม่ปลอดภัยในกำมือของพวกเตอรกี จึงทรงหนีไปยังกรุงบัฆดาด พวกเตอร์กีจึงประกาศให้โอรสท่านที่สองของอัลมะตะวักกิลเป็นเคาะลีฟะห์ในนามว่า อัล – มุสตาซ ( Al - Mustaz ) แต่ต่อมาไม่นาน อัลมสุตาซก็ถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ อัล – มุฮ์ตะดี ( Al – Muhtadi ) ถูกยกให้เป็นเคาะลีฟะห์ ท่านทรงเป็นคนที่ฉลาดและยุติธรรมและเป็นนักปกครองที่สามารถ ทรงขัดแย้งกับพวกเตอรกี จนในที่สุดต้องทรงสละราชบัลลังก์
โอรสซึ่งโตสุดของอัล – มุตะวักกิล จึงได้รับตำแหน่งเคาะลีฟะห์ ในนามว่า อัล – มุตะซิด ( Al – Mutahid ) ท่านเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ โปรดปรานแต่ความสนุนสนาน ในระหว่างรัชสมัยของท่าน อำนาจมากมายของพวกเตอรกีได้สิ้นสุดอำนาจของยะอ์กูบ
( Yakub ) อันเป็นพวกศ็อฟฟันต์ ( Saffarid ) ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนกระทั่งยกทัพมารุกรานที่อิรักแต่พ่ายแพ้กลับไป จึงยกดินแดนให้ อัมร์ ( Amr ) น้องชายของเขาครอบครอง เจ้าชายอัมร์มีอำนาจอยู่จนกระทั่งปี ฮศ. 287 หรือ คศ. 900 จึงถูกอิสมาอีล บินอะห์มัด ( lsmail bin Ahnad ) จับเป็นนักโทษ พวกตระกูลซามานียะห์ ( Samanid ) ได้เป็นผู้ปกครองแคว้นทรานโซเซียนามาตั้งแต่รัชสมัยของอัล – มะมูน และเมื่อพวกตอฮีรสิ้นอำนาจลงก็ได้ครองตำแหน่งนี้มาตลอดหลังจาก ฮศ. 900 พวกเขาก็กลายเป็นเจ้าชายที่เป็นอิสระไม่ขึ้นแก่ใคร ดินแดนของพวกเขาก็ประสบความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก
ทางด้านตะวันตก อะห์มัด บิน ตูลูน ( Ahmad bin Tulun) ก็กลายเป็นเจ้าชายที่มีอำนาจขยายดินแดนไปเหนือซีเรีย และส่วนหนึ่งของเมโสโปเตเมีย เมื่อสิ้นชีพลง โอรสซึ่งมีชื่อว่า คุมัรวัยห์ (Khumarwiah) ก็ขึ้นแทนในปี ฮศ. 271 หรือ คศ. 884
เมื่ออัล – มุตะฮิดสิ้นพระชนม์ลง มุตะซิด ( Mutazid) ซึ่งเป็นบุตรของอนุชาของท่านคือ มุวัฟฟิก (Muwaffiq) ก็ได้รับตำแหน่งแทน ท่านทรงเป็นนักปกครองที่ดี มีความสามารถ ได้รับขนานนามว่า อัล – สัฟฟาห์ ที่สองเพราะเป็นผู้บูรณะอำนาจอันทรุดโทรมลงไปของพวกอับบาซียะห์ ขึ้นมาใหม่ทรงสนใจพระทัยเป็นอย่างมากในเรื่องการเงิน ทรงปฏิรูปการบริหารประเทศ เป็นแม่ทัพที่แข้มแข็ง และรักษาระเบียบวินัย ในประเทศเป็นอย่างดี ท่านทรงตีเอาอียิปต์กลับคืนมาเป็นอาณาจักรของมุสลิม และทรงแก้ไขกฎหมาย มรดกเสียใหม่
เกือบจะในเวลาเดียวกับที่พวกทาสนิโกร แข็งข้อขึ้นที่เมืองบัศเราะห์ ในแคว้นคูฟะห์ก็ได้เกิดนิกายของพวกกอรอมิเฏาะฮ์ ( Camathina) ขึ้น ซึ่งเรียกว่าพวก ฟาฏิมียะห์
( Fatimid ) นิกายมีพลังนี้แสดงตนเงียบอยู่ในระหว่างรัชสมัยของมุตะฮิด แต่ในสมัยของมุตะซิดรัฐบาลเริ่มรู้ถึงอำนาจของพวกนี้ อบูสะอัด อัล – ญันนาบี(Abu Sad al – Jannabi) ซึ่งเป็นผู้ตั้งรัฐกอรกมิเฏาะฮ์ขึ้นได้ตีทัพหลวงที่เคาะลีฟะห์ส่งมาปราบพ่ายไป ในปี ฮศ. 288 หรือ คศ. 900 ในปีเดียวกันนั้น หัวหน้าตัวจริงของนิกายนี้ได้หนีไปจากสะลามียะห์ ในซีเรีย ไปยังแอฟริกา และซ่อนตัวอยู่ในเมืองซิจิลมาลา ( Sijilmasa) ในภาคตะวันออก ต่อมาอีก 10 ปี เขาก็ได้ปรากฎขึ้นที่เมืองก็อยราวานในนาม มะฮ์ดี (Mahdi) เคาะลีฟะห์ของพวกฟาฎิมียะห์มุตะซิดสิ้นชีพในปี คศ. 902 และโอรสของท่านคือ อัล – มุกตะฟิ ( Al – Muktafi) ได้ขึ้นครองตำแหน่งแทน ท่านทรงเป็นกษัตริย์ที่โอบอ้อมอารีและยุติธรรม แต่รัชสมัยของท่านซึ่งสั้นเพียง 6 ปี นั้นเต็มไปด้วยการต่อสู้พวกกอรอมิเฏาะฮ์ ในซีเรียอยู่ตลอดมา ท่านได้ทรงขับไล่พวกไบแซนไตน์จากอียิปต์ และนำเอาอียิปต์มาอยู่ในราชอาณาจักรของท่านได้สำเร็จ เมื่อเคาะลีฟะห์ท่านนี้สิ้นพระชนม์ลงอนุชาของท่านซึ่งมีนามชื่อว่า อัล – มุคตะดีร ซึ่งยังเยาวัยอยู่ได้รับตำแหน่งแทน การบริหารประเทศทั้งหมดตกอยู่ในมือของมารดา พวกคนสำคัญ ๆ ในกรุง บัฆดาดหลายคนได้ฉวยโอกาสนี้ แข็งข้อขึ้น รัชสมัยของท่านซี่งยาวนานถึง 24 ปี ได้ทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในรัชสมัยนี้ก็คือการจัดตั้งราชวงศ์ฟาฏิมียะห์ ซึ่งตอนแรกก็ปกครองดินแดนทางภาคตะวันตกและต่อมาก็มีอำนาจเหนืออียิปต์มาเกือบสามร้อยปี หลังจาก อัล – มุคตะดิร อัล – กอฮิร ( Al – Qahir) ซึ่งเป็นโอรสของมุตะซิดก็ขึ้นครองราชย์แต่แล้วอัร – ริซี ( Al – Rizi ) ซึ่งเป็นโอรสของ มุคตะดีร ก็สามารถดำรงตำแหน่งแทน มีการตั้งตำแหน่งอมีรุลอุมะรอฮ์ ( Amur al – Umara ) หรือมกุฎราชกุมาร ขึ้น
หลังจาก อัร – ริซี สิ้นชีพลงโอรสอีกท่านหนึ่งของมุคตะดิรก็ขึ้นเป็นเคาะลีฟะห์ในนามว่า อัล – มุตตะกี ( Al – Muttaqi ) ท่านทรงเป็นเพียงหุ่นเชิดในกำมือบัจญ์ ( Bajkam ) ผู้เป็นอมีร อัล – อุมะรอฮ์แต่หลังจากบัจญ์คอมสิ้นชีวิตลงได้ไม่นานบุคคลผู้หนึ่งซึ่งนามว่า บะริดี ( Bauidi ) ได้มาล้อมเมืองบัฆดาด มุตตะกีได้หนีไปที่เมืองนัศรุดเดาละฮ์ ( Nasruddindawlah ) มุตตะกีจึงตกอยู่ในกำมือของกบฏ อีกคนหนึ่งคือฎูซาน ( Tuzan ) ผู้เป็นนายทัพเตอร์กี ฎูซานได้บังคับให้มุตตะกีออกจากตำแหน่งเคาะลีฟะห์ และแต่งตั้งอัล – มุสตักฟี ( Al – Mustakfi ) ให้เป็นแทน ส่วนฎูซานนั้นต่อมาไม่นาน ก็สิ้นชีพลงและเลขานุการของเขาคือ ฆอฟัร บินซิรซาด ( gafar bin shirzad ) ได้ดำรงตำแหน่งแทน
ราชวงศ์ บุวัยห์ ( Buwaihid )
เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว อัล – มุสตักฟีก็ถูกบีบคั้นอย่างหนักโดยพวกเตอร์กซึ่งหลั่งไหลเข้ามาในประเทศตั้งแต่สมัยของมุตะวักกิล เพื่อให้หลุดพ้นจากอิสระจากพวกเตอร์กท่านได้ขอความช่วยเหลือจากพวกบุวัยห์ ซึ่งในตอนนั้นกำลังเริ่ม บุกอิรัก เคาะลีฟะห์ มุสตักฟีได้แต่งตั้งให้อะห์มัด บินอุวัยห์ ( Ahmad bin Buwaih ) เป็นอบีรุลอุมะรอฮ์ ของท่านและต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งให้เป็นมูอิซ อัดเดาละฮ์ ( Muijud – Dawlah ) หรือผู้มีอำนาจในรัฐ อบูขูซา เดาละฮ์ บิดาของอะห์มัดสืบเชื้อสายมาจากครอบครัวเปอร์เซียสมัยก่อน เขาเป็นหัวหน้ากลุ่มชน และเคยทำงานอยู่กับพวกซามานียะห์อยู่ระยะหนึ่ง บุตรชายสามคนของเขาตีได้หัวเมืองทางภาคใต้ไปทีละน้อย จนเข้าครองอิสฟาฮาน ( lsfahan ) แล้วก็ชีราช ( Shiraz ) ต่อมาก็ตีได้แคว้นอาฮ์วาซ ( Ahwaz ) และคิรมาน ( Cirman ) ชีราชได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ใหม่นี้ เมื่ออะห์มัดยกทัพเข้าบัฆดาดพวกทหารเตอรกีก็หนีไป แต่ชีวิตของอัลมุสตักฟีก็มิได้ขึ้นภายใต้ความคุ้มครองนายใหม่ชาวเปอร์เซียชีอะห์นี้เลย ภายในเวลาไม่นานอะห์มัดก็มีอำนาจขึ้นมาเป็นอย่างมาก จนได้รับตำแหน่งสุลฎอน ชื่อของเขาได้รับการสลักลงในเหรียญตรา
ในไม่ช้ามุสตักฟีก็เบื่อหน้านายใหม่ซึ่งเป็นผู้ปกครองราชอาณาจักรตัวจริงนี้ ท่านจึงวางแผนฆ่าเขาเสีย แต่เมื่อข่าวนี้รู้ถึงหูอะห์มัดเข้า เขาก็เอาเคาะลีฟะห์ออกจากตำแหน่งและทำร้ายจนตาบอด และได้แต่งตั้ง อัล – มุฏีอ์ ( Al – Muti ) ขึ้นเป็นเคาะลีฟะห์แทนในปี ฮศ. 335 หรือ คศ. 946 เนื่องจากอะห์มัดเป็นชีอะห์ เขาจึงได้กำหนดเอาวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม ( Muharram ) ขึ้นเป็นวันที่แสดงความโศกเศร้ารำลึกถึงการสังหารหมู่ที่กัรบาลา เมื่อเขาสิ้นชีวิตลงบัคติยาร ( Bakhtyar ) บุตรชายของเขา ได้รับตำแหน่งอิซซุดเดาละห์ ( lzz – ud – Dawlah ) สืบต่อจากเขา แต่ในไม่ช้าก็ถูกปลดจากตำแหน่งและอะซาดุดเดาละห์ ( Azad – ud – Dawlah ) ได้รับตำแหน่งแทน
อะซาดุดละห์ ( คศ. 949 – 983 )
อะซาดุดเดาละห์เกิดที่เมืองอิสฟาฮานเมื่อครั้งที่บิดาของเขายังมีชีวิตอยู่ เขาได้ยกทัพไปช่วย บัคติยาร ลูกพี่ลูกน้องของเขาที่อิรักกำลังตกอยู่ในที่ลำบากเนื่องจากความไม่เชื่อฟังของทหารรับจ้างชาวเตอร์กเขาช่วยบัคติยารออกจากอันตรายได้ แต่ก็กลับเอาบัคติยารไปจำขังไว้และยึดเอาดินแดนของเขาไปครอง บิดาของเขาได้รบเร้าให้ปล่อยตัว บัคติยารเสียและคืนดินแดนให้บัคติยาร การถกเถียงถึงเรื่องนี้ยังดำเนินอยู่ จนกระทั่งบัคติยารถูกถอดออกจากตำแหน่ง และถูกฆ่าตาย ดังนั้นเขาจึงกลายเป็นเจ้าของอิรัก และเป็นเหนือเคาะลีฟะห์ผู้อ่อนแอในกรุงบัฆดาด
อะซาดุดเดาละห์เป็นนักปกครองที่เด่นอยู่ในสมัยของเขา ในปี คศ. 977 เขาได้รวมเอาราชอาณาจักรเล็ก ๆ หลายอาณาจักรซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การปกครองของราชวงศนี้ บุวัยห์ในอิรักและเปอร์เซีย เข้าด้วยกันและกลายเป็นราชอาณาจักรใหญ่เกือบเท่ากษัตริย์ฮารูน อัร – รอซีด

อะซาดุดเดาละห์มีอำนาจมากขึ้นจนกระทั่งเคาะลีฟะห์ต้องแต่งตั้งให้เขาเป็นสุลฏอนเนื่องจากกลัวเกรงเขา ในรัชสมัยของอะซาดุดเดาละห์ อำนาจของราชวงศ์บุวัยห์ ได้ขึ้นถึงระดับสูงสุด
ก่อนที่จะสิ้นชีวิตลงในปี คศ. 983 นั้น เขาได้ครอบครองดินแดนทั้งทะเลสาบแคสเปียนมาจนถึงอ่าวเปอร์เซียและจากเมืองอิสฟาฮานไปจนถึงชายแดนซีเรีย เป็นผู้รักความจริงและความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เขาเป็นนักวิชาการและนักคณิตสาสตร์ และเป็นผู้อุปถัมภ์กวีและนักปราชญ์ทั้งหลายด้วย เขาเชื้อเชิญนักปราชญ์จากส่วนต่าง ๆ ของโลกมายังวังของเขาและเข้าร่วมในการถกเถียงด้านวิชาการด้วย ในขณะที่ราชสำนักอยู่ที่เมืองชีราช ท่านยังทรงทนุบำรุงเมืองบัฆดาดให้งดงาม ซ่อมแซมคลองและสร้างมัสยิดขึ้นหลายแห่งรวมทั้งโรงพยาบาลและสถานสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ ในกรุงบัฆดาด ท่านได้สร้างโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงที่สุด มีชื่อว่า อัล – บิมาริสตาน อัล – อาซาดี ( Al – Bimaristan al Azadi ) ขึ้นมีแพทย์ประจำอยู่ 24 คน
เมื่อท่านสิ้นชีพลง โอรสของท่านคือ ซัมซัม อัดเดาละห์ได้สืบตำแหน่งต่อมาแต่ในไม่ช้าก็ถูกสิริญุด – เดาละห์ ( Sharaf ad – Dawlah ) ผู้เป็นอนุชาถอดตำแหน่งซาราฟัด อัดเดา ละห์ เป็นผู้อุปถัมภ์การศึกษา ได้ทรงสร้างหอดูดาวตามแบบอัลมะมูน ผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่านก็คือ บาฮาดุลเดาละห์อนุชาของท่าน

การสิ้นสุดของราชวงศ์บุวัยห์
ราชวงศ์นี้มีอำนาจเหนือเคาะลีฟะห์อยู่กว่าร้อยปี ( คศ. 945 – 1055 ) แต่สงครามระหว่างพี่น้องทำให้ราชอาณาจักรอ่อนแอลง ในที่สุดก็ถูกโค่นล้มโดย ตุฆริล เบฆ ( Tughril Beg ) ผู้รุกเข้ามาในกรุงบัฆดาด ขับไล่พวกบุวัยห์ออกไป จึงทำให้ราชวงศ์บุวัยห์สิ้นลง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบางคนในราชวงศ์นี้เป็นคนโหดร้ายทารุณแต่โดยส่วนใหญ่และเป็นผู้เอาใจใส่ในความเจริญรุ่งเรืองของประชาชน และเป็นผู้ทำนุบำรุงวรรณกรรมและวิทยาการเป็นอย่างดี สุลฏอนหลายคนในราชวงศ์นี้เป็นผู้อุปถัมภ์ นักวิทยาศาสตร์ และนักอักษรศาสตร์ ในบรรดานักดาราศาสตร์ซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมัยของราชวงศ์บุวัยห์นี้ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังกว่าใคร ๆ ก็คือ อัล – กาฮี ( Al – kahi ) และอบุลวะฟา อัล – กาฮีเป็นผู้เขียนตำราเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของดาว พระเคราะห์ การค้นพบของเขาเกี่ยวข้องถึงวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ที่สุดของเส้นศูนย์สูตรของโลกในฤดูร้อนและในวันฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งมีเวลากลางวัน และกลางคืนเท่านั้น เป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่มนุษย์เป็นอย่างมาก ส่วนอะบุลวะฟาอ์นั้นได้นำเอาการใช้เส้นตรงที่ติดวงกลมมาใช้ในวิชาตรีโกณมิติ และในการสังเกตทางดาราศาสตร์ งานชิ้นสำคัญของเขาชื่อ อซีรอุช – ชะมิลเป็นอนุสรณ์ แห่งการสังเกตการณ์ที่เอาจริงเอาจังและถูกต้อง
ราชวงศ์ชิงญูก ( Seljug )
อำนาจของราชวงศ์ซิลญูกรุ่งเรืองขึ้นบนความเสื่อมโทรมของราชวงศ์ ก็อซนะวี( Ghazhauid ) ชาวเตอร์กมาจากทุ่งหญ้ากิรฆิช ( Kirghiz ) ของเตอรกีสถาน (Turkistan) มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในเขตบุคอรอ ( Bukhara ) และนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ( Sunnite ) และเริ่มหาทางไปสู่อินเดีย ที่ละน้อยหลังจากโค่นล้มมัสอูด ( Masud ) โอรสของสุลฏอนมะห์มูด ( Mahmud ) แล้วตุฆริล เบฆก็ได้สร้างราชวงศ์ซิลญูกขึ้น
ตุฆริล เบฆ ( คศ. 1037 – 63 )
ตุฆริล เบฆได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปกครองที่ฉลาดสุขุม เป็นคนง่าย ๆ โอบอ้อมอารีและอุทิศเวลาให้แก่การแสวงหาความรู้ นำเอาอิรักของเปอร์เซีย คอวาริสม์ ( Khawarim ) และแว่นแคว้นสำคัญ ๆ อื่น ๆ ในภาคตะวันตกมาอยู่ภายใต้การปกครองและขับไล่กษัตริย์ สุดท้ายแห่ง ราชวงศ์บุวัยห์ ออกไปจากบัฆดาด เมื่อ คศ. 1055 กออิม ( Qaim ) เคาะลีฟะห์ราชวงศ์อับบาซียะห์ได้ขอความช่วยเหลือจากตุฆริล เมื่อราชบัลลังก์ของท่านตกอยู่ในอันตราย ตุฆริลก็ทำตามคำขอร้องทันที เคาะลีฟะห์จึงทรงประทานตำแหน่งสุลฏอนให้เขาด้วยความรัก และขอบคุณ
อัลป์อัสสะลาน ( Assalan ) ( ฮศ. 1063 – 72 )
ภายใต้การปกครองของตุฆริลเบฆ พวกซิลญูกได้กลายเป็นชาติที่เด่นขึ้นมาในทวีปเอเชีย อัลป์อัสสะลานผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขาในปีต่อมา อัลป์อัสสะลานก็ยึดเมืองหลวงของอาร์เมเนียได้ ในเวลาเดียวกันเขาได้ข่าวว่าพวกโรมัน ยกกองทัพใหญ่บุกเข้ามาในเอเซียไมเนอร์ กองทัพมุสลิมได้ชัยชนะแก่กองทัพโรมันในการต่อสู้ที่ มาลัซการ์ด ( Malaz Gard ) ได้มีการทำสนธิสัญติภาพ ระหว่างอัลป์อัสสะลานกับโรมานุส ( Romanus ) โดยที่โรมานุสตกลงจะยอมให้ธิดาของตนวิวาห์กับโอรสของอัลป์อัสสะลานแต่โรมานถูกฆ่าตายในระหว่างทางกลับไปยังเมืองคอนสแตนติโนเปิล แคว้นที่เพิ่งตีได้ไหม่จึงถูกมอบให้อยู่ในความปกครองของสุลัยมาน ( Sulayman ) ซึ่งปกครองในนามของสุลฏอน อัลป์อัสสะลานได้ชื่อว่าเป็นนักปกครองที่ดีมีใจเมตตาเป็นผู้ฉลาดสุขุม และยุติธรรม เขาสิ้นชีวิตในปี ฮศ. 466 หรือ คศ. 1073
มาลิกชาอ์ ( Malik Shah) (ฮศ. 466 – 485 หรือ คศ. 1072 – 1092 )
มาลิกชาอ์โอรสของอัลป์ อัสสะลานได้รับตำแหน่งสืบต่อมา ในระหว่างนั้นเคาะลีฟะห์กออิมสิ้นชีพลงและหลานปู่ของท่านคือ อัล – มุกตะดี ( Al – Muktadi) ได้รับตำแหน่งแทน รัชสมัยของมาลิก ชาฮ์เป็นการเปิดศักราชใหม่ในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ซิลญูก ระยะต้น ๆ ของรัชสมัยได้มีการแข็งข้อขึ้นในบางเมืองตลอดรัชสมัยของมาลิกชาฮ์ ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการปกครองรัฐก็คือ นิซอมุล – มุลก์ ( Nigam al – Mulk)ในขณะที่สุลฏอนเองไม่ได้ทำอะไรเลย แผ่นดินมีแต่ความสุข ตลอดรัชสมัยของสุลฏอนท่านนี้ ดินแดนของมาลิกชาฮ์ขยายจากชายแดนจีนไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางภาคตะวันตกและจากเมืองจอร์เจีย ทางเหนือไปยังทางทิศใต้ นิซอมุลลุลก์ชอบท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ เพื่อดูและทุกข์สุขของประชาราษฎร์ เขาได้สร้างสถานที่พักขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่พ่อค้าพาณิชย์ และผู้เดินทาง สร้างถนนหนทางมัสยิดและโรงพยาบาลเพื่อราษฎร นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า เป็นสมัยที่ดีที่สุดของโรมันหรืออาหรับทีเดียวได้มีการทำนุบำรุงการค้าและอุตสาหกรรม อุปถัมภ์ ศิลป และวรรณกรรม นิซอมุลมุลก์เองเป็นนักวิชาการเขาได้เขียนตำราอันมีชื่อเสียงเกี่ยวกับ ศิลปะ การปกครองขึ้นชื่อว่าสิยาซัด นามะฮ์ ( Suyusat Namah ) โรงเรียนนิซอมียะฮ์ ( Nizamiyah ) ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีในเรื่องการอุปถัมภ์ค้ำชูการศึกษาและนักปราชญ์ของเขา
อัล – ฆอซาลีนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงก็เป็นครูอยู่ในโรงเรียนราชสำนักของมาลิกซาฮ์เต็มไปด้วยนักปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลายซึ่งมีอุมัรค็อยยาม ( Omar Khayyam ) เป็นผู้หนึ่งอยู่ในจำนวนนั้น มาลิกซาฮ์ ทรงเปิดการประชุมนักดาราศาสตร์ขึ้นในปี ฮศ. 468 หรือ คศ. 1075 เพื่อทำการปฏิรูปปฏิทินเปอร์เซียตามความดำริของนิซอมุล – มุลก์ ขึ้นที่หอดูดาวของเขาซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ผลจากการประชุม ครั้งนี้คือ ได้ปฏิทินแบบ “ ญะลาลี ”
( Jalali ) ขึ้นมาซึ่งได้ชื่อตามพระนามของสุลฏอน
ในตอนปลายรัชสมัยของมาลิกซาฮ์ ได้เกิดนิกาย อแสซัสซิน ( Assasin ) หรือฆาตกรขึ้นที่เมืองมาซันเดอราน ( Masandran ) ผู้จัดตั้งนิกายนี้ขึ้นมาก็คือ ฮะซันอิบนุสะบา( Hasan bin Sabbah ) ซึ่งนักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ผู้เฒ่าแห่งภูเขา ” หรือประมุขของพวกแอสซัสซิน
เขาอ้างตนว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรดากษัตริย์ฮิมยะรีย์แห่งอารเบียใต้ เขาเริ่มชีวิตด้วยการเป็นผู้ถือคทาให้สุลฏอน อัลป์อัสสะลาน กษัตริย์ของชาวซิลญูก แต่เนื่องจากได้มีการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น เขาจึงกลับไปยังเมืองอัร – เรย์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาแล้วก็ผ่านเข้าไปในซีเรีย ซึ่งที่นั่นเขาได้เข้าทำงานให้แก่ประมุขของพวกอิสมาอีลียะฮ์
( lsmailte ) ในที่สุดก็ได้รับเอาหลักการของอิสมาอีลียะฮ์มาใช้และได้กลายเป็นผู้เผยแพร่นิกายอิสมาอีลียะฮ์ในภาคตะวันออกไป
ในปี คศ.1090 เขาตีได้ปราสาททอลามูต ( Alamut ) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองกาซวิน ( Qazwin ) และแล้วเขาก็ได้สถาปนาปราสาทนี้เป็นเมืองหลวงของตน จากอลามูตฮะซันและพรรคพวกได้ทำการปล้นสดมภ์ในที่ต่าง ๆ โดนใช้กริชเป็นอาวุธ ฮะซันได้สร้างการปกครองเจ็ดระดับ ซึ่งแพร่ไปทั่วเอเซีย ทำงานเผยแพร่ลัทธิศาสนา หนึ่งในเจ็ดระดับก็คือระดับผู้อุทิศตนซึ่งเรียกว่า “ผู้ลอบฆ่า ” พวกนี้เป็นคนหนุ่มซึ่งได้รับคัดเลือกมาเพราะมีร่างกายแข็งแรงและกล้าหาญ การฝึกฝน ทั้งหมดมีเพื่อทำให้คนเหล่านี้มีจิตใจเสียสละอุทิศตนแก่นายใหญ่ซึ่งก็คือฮะซัน อิบนุสะบานั่น เอง เมื่อใดที่ได้กลิ่นศัตรู เขาได้กริซแทงทะลุหัวใจศัตรูอย่างชำนิชำนาญ ต่อมาภายหลังฮะซันได้กลับเป็นมุสลิมผู้เคร่งครัดไป
เมื่อฮะซันอิบนุสะบาสิ้นชีวิตลง บุตรชายของเขาคือ บุซูกอุมัยด์ ( Buzug Umaid ) ก็รับตำแหน่งแทนและปกครองอยู่ถึง 24 ปี เมื่อเขาสิ้นชีพลง กอยา มุฮัมมัด ( Gaya Muhammad ) บุตรของเขาก็รับตำแหน่งแทนและอยู่ในตำแหน่งถึง 25 ปี ผู้นำคนสุดท้ายของพวกนี้ก็คือ รุกนุดดีน ( Ruknuddin ) ซึ่งรู้จักกันในนามของกอฮีชาฮ์ ( Qahi Shah ) ผู้ถูกฮูลากูกษัตริย์ ชาว ตาร์ตาร์ ( Hulagu the Tartar ) จับตัวเป็นเชลยเคาะลีฟะห์ได้พยายามอย่างหนักที่จะบดขนี้อำนาจของพวกแอสซัสซินเสียก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งฮูลากูเข้ามารุกรานทำลายเคาะลีฟะห์ ยึดเอาป้อมปราการได้ในปี คศ. 1256 รวมทั้งปราสาทต่างๆในเปอร์เซียด้วย ดังนั้นนิกายแอสซัสซินจึงได้หายไปจากประวัติศาสตร์
เมื่อมาลิกสิ้นชีพลงอำนาจของพวกซิลญูก ก็เริ่มเสื่อมลงผู้สืบต่อมาลิกชาฮ์มีอำนาจขึ้นก็จริงแต่มัวยุ่งอยู่กับสงครามกลางเมืองเสียซึ่งในที่สุดก็เป็นเครื่องทำลายพวกเขาลง
ในระยะนี้เองที่สงครามครูเสดได้แผ่ขยายไปทั่วเอเชียตะวันตกอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งพวกซิลญูกและราชวงศ์อับบาซียะฮ์มิได้เอาใจใส่ ต่อการสงครามนี้เลย


http://www.muslimchonburi.com/index.php?page=show&id=725