อุมัรฺ อิบนุ อับดุล อะซีซ
บุรุษผู้เหวี่ยงอิสลามเข้าสู่สายลม
โดย อัล อัค
ในการศึกษาประวัติศาสตร์อิสลาม เรื่องหนึ่งที่ตะขิดตะขวงใจผมมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ทำไมเหล่านักคิดนักเขียนและอุละมาอ์มุสลิมจึงพากันยกย่องเคาะลีฟะฮฺคนที่ 8 แห่งราชวงศ์อุมะวียะฮฺ ที่ชื่อว่า อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ กันนักหนา ทุกคนยกย่องตรงกันอย่างเอกฉันท์ว่า เขาคือนักฟื้นฟู(มุญัดดิด)แห่งศตวรรษที่หนึ่งแห่งอิสลาม บางคนยกย่องให้เป็นนักฟื้นฟูในอุดมคติที่มิอาจหาใครเทียบได้อีกแล้ว บางคนยกย่องเขาให้เป็นคนยุคหลังเศาะฮาบะฮฺที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด
แน่นอนที่สุดครับ ท่านเป็นผู้ปกครองรัฐอย่างดีเยี่ยมตามแนวทางอิสลามอย่างที่ไม่มีเคาะลีฟะฮฺคนใดในราชวงศ์ทั้งหมดสามารถเปรียบเทียบกับท่านได้ ท่านถูกเรียกว่าเป็น เคาะลีฟะฮฺ เราะชีดีน คนที่ 5 (สี่คนแรกคือ อบู บักร อุมัร อุษมาน และอลี) อันนี้เถียงไม่ออกอย่างแน่นอน
แต่ความไม่ประสีประสาของผมในตอนนั้น ผมแย้งว่า แม้ท่านจะสร้างสังคมที่อุดมคติมาก ๆ จนมีบางคนเกือบจะเข้าใจไปแล้วว่า อยู่ในยุคของอัล-มะฮฺดี แต่ท่านอยู่ในตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ 2 ปี 5 เดือน (ปี ค.ศ. 717-720 / ฮ.ศ. 99-101) แล้วหลังจากสถานการณ์ของเคาะลีฟะฮฺต่าง ๆ ก็กลับไปสู่บรรยากาศที่เลวร้ายอีก แล้วมีประโยชน์อะไรเล่ากับการเป็นเคาะลีฟะฮฺเพียง 2 ปี 5 เดือน !!!
แต่หลังจากผมลงไปอ่านหนังสือที่วิเคราะห์ท่านบางเล่ม โดยเฉพาะงานของซัยยิด อบุล ฮะซัน อัน-นัดวียฺ และงานของซัยยิด อบุล อะอฺลา เมาดูดียฺ ผมยอมรับครับว่า ความคิดของผมผิดพลาดไปอย่างใหญ่โต
รู้จักภูมิหลังของของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ
อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ เกิดในปีค.ศ. 681 (ฮ.ศ 61) ที่ไคโร อิยิปต์ ขณะนั้นบิดาของท่านเป็นผู้ปกครองอิยิปต์ มารดาของท่านชื่อว่า อุมมุ อาศิม ลัยลา บุตรสาวของ อาศิม ซึ่งอาศิมท่านนี้เป็นบุตรชายคนหนึ่งของเคาะลีฟะฮฺอุมัร อิบนิ อัล-คอฏฏ็อบ ดังนั้น มารดาของท่านถือว่าเป็นหลานสาวแท้ ๆ ของเคาะลีฟะฮฺ อุมัร อิบนฺ อัล-ค็อฏฏอบ ด้วยเหตุนี้บางครั้งท่านอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ จึงถูกอ้างถึงท่านอุมัร อิบนฺ อัล-ค็อฏฏอบ มากกว่าจะเป็นคนในราชวงศ์อุมาวียะฮฺเสียอีก และคนมักจะเรียกว่าท่านว่า อุมัรที่ 2
บิดาของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ เป็นบุตรชายคนหนึ่งของเคาะลีฟะฮฺ มัรวาน อิบนฺ หะกัม แห่งราชวงศ์อุมาวียะฮฺ บิดาของท่านเคยอยู่ในฐานะรัชทายาทของเคาะลีฟะฮฺอับดุล มาลิก อิบนฺ มัรวาน(ปกครองในช่วง ค.ศ. 685-705 / ฮ.ศ. 65-86) ซึ่งเป็นพี่ชายของบิดาท่าน แต่บิดาของท่านได้เสียชีวิตเสียก่อนจะรับตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ ดังนั้น อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ จึงเติบโตในฐานะ “เจ้าชาย” ที่สำคัญคนหนึ่งของราชวงศ์นี้
อุมัร อิบนฺ อับดุล อะซีซ เติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาที่ยังมีเศาะหาบะฮฺบางคนยังมีชีวิตอยู่ และเป็นสมัยที่ศิษย์ของเศาะฮาบะฮฺมีจำนวนมาก(เรียกว่า ตาบิอีน) ท่านได้รับการศึกษาด้านอิสลามอย่างดีเยี่ยม ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มตั้งแต่ยังเยาว์ เป็นที่ปลื้มปิติแก่บิดาและมารดาของท่านมาก จนกระทั่งได้ส่งท่านไปศึกษาต่อที่นครมะดีนะฮฺ
อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ได้มุ่งมั่นการศึกษาหาความรู้ จนกระทั่งท่านมีความรู้ด้านหะดีษ ฟิกฮฺ(นิติศาสตร์อิสลาม)อย่างลึกซึ้ง จนเป็นที่รู้จักกันดีว่า ท่านคือปราชญ์แถวหน้าคนหนึ่งในสาขาวิชาดังกล่าว ดังนั้น จากความรู้นี้เองทำให้ง่ายสำหรับท่านที่จะรู้และเข้าถึงฐานรากของสังคมในสมัยที่ท่านนบีมุฮัมมัดยังมีชีวิตอยู่
ชีวิตส่วนตัวของอุมัร อิบนฺ อับดุล อะซีซ เป็นคนที่มีความยำเกรงต่อพระเจ้า รักความยุติธรรม ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีความสมถะ ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอย่างดีเยี่ยม ท่านเป็นคนช่างคิดช่างไตร่ตรองตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ครั้งหนึ่งท่านนั่งเงียบ ๆ มารดาท่านถามว่า กำลังคิดอะไรอยู่หรือ? ท่านบอกว่า “ลูกกำลังคิดถึงความตาย” คำตอบท่านทำให้มารดาท่านถึงกับน้ำตาไหล
เนื่องจากท่านอุมัร เป็น “เจ้าชาย” คนหนึ่งในราชวงศ์อุมะวียะฮฺ ทำให้ท่านมีประสบการณ์ในการทำงานเป็นข้าหลวงคนสำคัญมาก่อน ก็คือการเป็นผู้ปกครองเมืองมะดีนะฮฺในสมัยเคาะลีฟะวะลีด อิบนฺ อับดุล มาลิก
ในการเป็นเจ้าเมืองนั้น ท่านอุมัรปกครองอย่างยุติธรรม ท่านจะไม่ตัดสินคดีใดเว้นแต่ปรึกษากับทีมนักปราชญ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านสะอีด บิน มุสัยยิบ ผู้เป็นตาบีอีนที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง ท่านเป็นทั้งนักปราชญ์และนักปกครอง ท่านได้นำละหมาดผู้คนในทุกเวลา ท่านอิหม่ามมาลิกมีชีวิตท่านในสมัยนั้นได้เล่าว่า “ฉันไม่เคยรู้สึกว่าละหมาดตามหลังใคร จะเหมือนดั่งการละหมาดตามหลังเราะซูล มากไปกว่าการได้ละหมาดตามหลังอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ”
ความเป็นผู้ปกครองของท่านเริ่มส่งความเป็นอัจฉริยะเท่า ๆ กับความเป็นนักปราชญ์ของท่าน ว่ากันว่าหากท่านไม่เป็นผู้ปกครอง ท่านจะเป็นปราชญ์คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของอิสลาม นักวิชาการบางคนกล่าวว่า ท่านมีความรู้ที่เหนือกว่าหะซัน อัล-บัศรียฺ ในสมัยนั้นเสียอีก อย่างไรก็ตาม ท่านก็มีโอกาสถ่ายทอดความรู้บ้าง และมีลูกศิษย์อยู่จำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ต่อมาฐานะเป็นผู้ปกครองมะดีนะฮฺของท่านก็ถูกท้าทายจากฮัจญาจ บิน ยูซุฟ เจ้าเมืองอิรักซึ่งขึ้นชื่อในการเป็นผู้อธรรม เขาได้ฟ้องเคาะลีฟะฮฺว่า อุมัรได้คุ้มครองพวกขบถในอิรักที่หนีมาพักพิงในมะดีนะฮฺเสมอ จนนำไปสู่การปลดท่านออกจากตำแหน่งข้าหลวงนครมะดีนะฮฺ
ดูเหมือนว่า การดำรงอยู่ในอำนาจของท่านจะยุติลงแล้ว แต่ก็มีสิ่งที่อยู่เหนือการคาดคิดของผู้คนก็เกิดขึ้น หลังจากการจากไปของเคาะลีฟะฮฺ สุลัยมาน อิบนฺ อับดุล มาลิก(เคาะละฟะฮฺที่สืบต่อจากวะลีด อิบนฺ อับดุล มาลิก ) ได้มีการเปิดพินัยกรรมคำสั่งเสียของเคาะลีฟะฮฺ ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺให้กับอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ซึ่งท่านมีศักดิ์เป็นแค่ลูกพี่ลูกน้องกับเคาะลีฟะฮฺเท่านั้นเอง และนี่การก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดของโลกอิสลาม ...
ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของโลกอิสลาม
อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ อยู่ในตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺระหว่างปี ค.ศ. 717-720(ฮ.ศ. 99-101) ถือว่าเป็นเคาะลีฟะฮฺที่ได้มีคุณสมบัติที่ดีที่สุดของราชวงศ์อุมะวียะฮฺ และยังคงเป็นเคาะลีฟะฮฺที่ดีที่สุดหลังจากเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมทั้งสี่คน ตลอดประวัติศาสตร์จนถึงทุกวันนี้
อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ใช้ชีวิตในแบบของเคาะลีฟะฮฺ ผู้ได้รับทางนำในอดีต ท่านใช้เงินเพียงวันละ 2 ดิรฮัม และสวมเสื้อผ้าธรรมดา ๆ เหมือนคนยากจน กล่าวกันว่าในวังของท่านนั้น ไม่มีใครทายถูกว่าคนไหนคือเคาะลีฟะฮฺ ท่านมีภรรยาเพียงคนเดียว ท่านยกเลิกฮาเร็ม ลักษณะและการเป็นอยู่ของท่านทำให้ดูเหมือนจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺจากอุมัร อิบนฺ อัล-ค็อฏฏอบ แทนที่จะเป็นสุลัยมาน อิบนฺ อับดุล มาลิก
ภารกิจแรกเริ่มของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ก็คือการปฏิรูปเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนจากการกระทำของระบอบปกครองของราชวงศ์อุมะวียะฮฺ ท่านเริ่มตรวจสอบกิจการงานต่างๆของรัฐ มีการปลดผู้ปกครองบางคนออกจากตำแหน่ง ในเมื่อสงสัยว่ามีพฤติกรรมที่ทุจริต และได้มีการแต่งตั้งผู้ที่มีความยุติธรรมให้ดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างระบอบการปกครองที่ยุติธรรม
นอกจากนี้อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ได้ฟื้นฟูกฎหมายอิสลามพร้อมกับการนำไปใช้อย่างยุติธรรม ท่านกำชับให้ผู้ปกครองในการดูแลของท่านเอาใจใส่ต่อการปกครองด้วยความยุติธรรม และไม่อนุญาตให้ลงฑัณฑ์ขั้นอุกฉกรรจ์ เช่น การตัดมือ การประหารชีวิต จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากท่านเสียก่อน การเน้นความยุติธรรมและความเสมอภาคในการใช้กฎหมาย ทำให้ความนิยมในกฎหมายอิสลามจึงได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง
ในสมัยของท่านได้เน้นโครงการสวัสดิการอย่างมากมาย การสร้างที่พักคนเดินทาง การขุดบ่อน้ำและคลองในหลายพื้นที่ และมีการอุปถัมภ์คนยากจนและเด็กกำพร้า และอื่น ๆ อีกมากมาย
อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ยังเป็นผู้กำหนดนโยบายใหม่ต่อกลุ่มต่อต้านต่าง ๆ โดยใช้คำสอนอิสลามเข้ามาปรองดอง ดังเช่นการปฏิบัติกับกลุ่มชีอะฮฺ ท่านได้ปรับวิธีการปฏิบัติเสียใหม่ ดังเช่นเดิมนั้นคนในราชวงศ์อุมะวียะฮฺมักใช้เวทีปราศรัยสาปแช่งอะลียฺในการละหมาดวันศุกร์ ท่านเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการอิสลาม จึงออกคำสั่งให้หยุดการกระทำเช่นนั้นเสีย และให้อ่านโองการของอัลกุรอานที่มีความหมายนี้แทน นั่นคืออายะฮฺที่ว่า
“แท้จริงพระองค์อัลลออฮฺทรงกำชับให้มีความยุติธรรม และมีคุณธรรมบริจาคแก่ญาติใกล้ชิด และทรงห้ามปรามความชั่วช้าและการละเมิด พระองค์ทรงเตือนสูเจ้าทั้งหลาย มาตรว่า สูเจ้าทั้งหลายจะรำลึก”
(สูเราะฮฺ อัล-นะหฺลฺ อายะฮฺที่ 90)
ขณะเดียวกันอุมัร อิบนฺ อับดุล อะซีซ ก็ตักเตือนในการที่กลุ่มชีอะฮฺมักจะด่าทอเศาะหาบะฮฺอยู่เสมอท่านได้กล่าวว่า “ขณะที่อัลลอฮฺทำให้เลือดของพวกเขาสะอาด แต่พวกท่านกำลังทำให้ลิ้นของพวกท่านสกปรก”
ภารกิจสำคัญอย่างมากของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ก็คือ การปฏิรูปบัยตุล มาล(คลังสาธารณะ) เนื่องจากเคาะลีฟะฮฺคนก่อน ๆ ได้ยึดมาเป็นของตนเอง และนำไปใช้จ่ายตามอำเภอใจ อีกทั้งคนในราชวงศ์อุมะวียะฮฺและผู้มีอิทธิพลได้ยึดเอาทรัพย์สินสาธารณะมาเป็นของตนเองอย่างมากมาย ท่านจึงออกคำสั่งให้มีการนำทรัพย์สินเหล่านั้นมาคืนแก่คลังสาธารณะ มาตรการนี้ถูกคัดค้านจากพวกคนชั้นสูงอย่างหนัก แต่ก็ไม่เป็นผล ท่านสามารถผลักดันมาตรการดังกล่าวอย่างเป็นขั้นตอนจนสำเร็จ ท่ามกลางความพึงพอใจของประชาชน
อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ตระหนักดีถึงความมั่งคั่งและทรัพย์สินได้เปลี่ยนแปลงนิสัยของเคาะลีฟะฮฺและชนชั้นปกครองไปอย่างไร และได้สร้างความเสียหายเพียงไรให้อาณาจักร ท่านได้วางมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบคลังสาธารณะ แม้แต่อัญมณีส่วนตัวของภรรยาของท่านก็ถูกนำมาเก็บไว้ที่คลังสาธารณะ ตัวท่านเองไม่เคยเบิกสิ่งใดจากคลังสาธารณะเลย หลังจากเสร็จราชการในยามค่ำคืน ท่านจะดับตะเกียงที่เป็นของคลังสาธารณะก่อน หากจะทำงานส่วนตัว
อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ยังได้หันมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องการจัดเก็บภาษี ท่านเห็นว่ามีทรัพย์สินจำนวนมากที่ได้ถูกเรียกเก็บจากบรรดามุสลิมอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น ท่านจึงได้สั่งให้บรรดาผู้ปกครองตามเมืองต่าง ๆ ยุติการเก็บทรัพย์สินดังกล่าว พร้อมกับได้ลดอัตราการจับเก็บภาษีด้วย บรรดาเคาะลีฟะฮฺก่อนหน้าท่านได้ยึดครองที่ดินของประชาชนโดยไม่ชอบธรรม ท่านจึงสั่งให้คืนที่ดินให้แก่เจ้าของเดิมของเขา ถ้าหากว่าเจ้าของเดิมไม่มีที่อยู่ก็ให้มอบที่ดินดังกล่าวให้กับกองคลังกลาง
อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ พยายามขัดขจัดความเดือดร้อนของประชาชนโดยการยกเลิกภาษีต่าง ๆ ทั้งหมดที่กำหนดขึ้นโดยขัดกับกฎหมายอิสลาม คงเหลือแต่ภาษีที่สอดคล้องกับกฎหมายอิสลามเท่านั้น ท่านได้กล่าวถ้อยคำที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์อิสลามว่า “มุฮัมมัดถูกส่งมาเป็นผู้เชิญชวน(สู่สัจธรรม) ไม่ได้ถูกส่งมาเป็นคนเก็บภาษี”
การปฏิรูปทางเศรษฐกิจของเขากระจายความมั่งคั่งไปสู่ชนชั้นล่าง ทำให้ประชาชนไม่ต้องแบกรับภาษีที่หนักเกินไป และสามารถยืนบนขาของตัวเองได้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือพวกเขาสามารถยกระดับมาตรฐานชีวิตจากสภาพที่ยากจนได้สำเร็จ และเป็นครั้งแรกที่อาณาจักรอิสลามไม่มีคนยากจนมารับซะกาต ดังการรายงานของยะหฺยะ อิบนฺ สะอีด ซึ่งเป็นคนที่อุมัร อิบนฺ อับดุล อะซีซ ส่งไปเก็บซะกาตในแอฟริกา เมื่อเขาเก็บซะกาตได้ก็เริ่มหาคนรับซะกาต แต่เข้าได้แจ้งกลับมาว่า ไม่พบคนยากจนที่จะมารับซะกาตแม้แต่คนเดียว
การปฏิรูปทั้ง “ระบอบการบริหาร” และ “ระบอบการคลัง” ที่มีประสิทธิภาพตามหลักการอิสลาม ทำให้ประชาชนในอาณาจักรอิสลามได้สัมผัสกับระบอบการปกครองที่ยุติธรรมอย่างแท้จริง
ภารกิจที่ยิ่งใหญ่
ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ได้เกิดขึ้นหลังจากการปฏิรูปสังคมให้ยุติธรรม ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
1. ปรากฏการณ์คลื่นผู้คนไหลบ่าสู่อิสลาม
ผลของความยุติธรรมในนโนบายของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ได้สร้างความยุติธรรมไม่เพียงแค่มุสลิมเท่านั้น คนไม่ใช่มุสลิมก็สัมผัสได้เช่นกัน ทำให้ในสมัยของท่านเป็นสมัยที่ได้สร้างแรงดึงดูดใจในการเข้ารับอิสลามอย่างมากที่สุดจนยากจะหาสมัยใดในประวัติศาสตร์เปรียบได้
ความจริงเคาะลีฟะฮฺคนก่อน ๆ ไม่ค่อยสนใจการเผยแผ่อิสลามเท่าที่ควร อีกทั้งพฤติกรรมส่วนตัวยังเป็นอุปสรรคในการเข้ารับอิสลามของผู้คนเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ในดินแดนที่ถูกพิชิตจึงยังคงนับถือศาสนาเดิม ๆ ของพวกเขาอยู่
แต่ในสมัยของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ได้สะท้อนคำสอนอิสลามจากทฤษฎีไปสู่ปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัดเจน ทำให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญให้กับดินแดนต่าง ๆ ที่มุสลิมได้ขยายตัวเข้าไปครอบครอง นั่นคือการก่อให้เกิดคลื่นของผู้คนที่หันมารับอิสลามอย่างกว้างขวางที่สุด
ความพยายามของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ในการเผยแผ่อิสลามไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่สร้างสังคมที่ยุติธรรมเพื่อดึงดูดใจคนมิใช่มุสลิมเท่านั้น ท่านยังได้ส่งสาส์นเผยแผ่อิสลามไปยังดินแดนต่าง ๆ นอกอาณาจักรอิสลามอีกด้วย ท่านอุมัรได้จัดส่งสาส์นไปยังราชาต่าง ๆ ในอินเดีย 7 คน เพื่อเชิญชวนพวกเขาเข้ารับอิสลาม ซึ่งบรรดาราชาจำนวนมากได้ตอบสนองคำเชิญชวนนี้ และได้เปลี่ยนชื่อของมาเป็นภาษาอาหรับ
ท่านยังได้ส่งสาส์นและนักเชิญชวนไปสู่เผ่าเบอร์เบอร์ต่าง ๆ ในแอฟริกาเหนือมาสู่อิสลาม ผู้คนจำนวนมากได้ตอบรับคำเชิญชวนนี้และเป็นผลให้มุสลิมกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ในแอฟริกาเหนือมาจนถึงวันนี้ ท่านยังส่งสาส์นและนักเชิญชวนไปยังดินแดนในเอเชียกลาง และส่งผลให้พวกเขาจำนวนมหาศาลเข้ามาสู่อิสลาม
เนื่องจากการดำเนินนโยบายให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา การนำเสนออิสลามทั้งทฤษฎีและปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้คนที่มิใช่มุสลิมเข้ารับอิสลามเป็นกลุ่ม ๆ ได้อย่างง่ายดาย ในสมัยนี้จึงเป็นยุคที่คนไม่ใช่อาหรับได้กลายมาเป็นมุสลิมอย่างมากมาย และเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในการร่วมสร้างอารยธรรมอิสลามในสมัยต่อมา
การเข้ารับอิสลามของผู้คนในดินแดนต่าง ๆ ทำให้คลังสาธารณะขาดภาษีญิซยะฮฺ ซึ่งเป็นภาษีรายหัวของประชาชนที่มิใช่มุสลิม ทำให้ไม่เป็นที่พอใจแก่พวกชนชั้นปกครองที่เกรงว่าเงินคลังสาธารณะจะหมดไปในที่สุด แต่อุมัร อิบนฺ อับดุล อาซีซได้ตอบกลับไปว่า “ฉันจะยินดีมากหากคนที่ไม่ใช่มุสลิมทั้งหมดเข้ารับอิสลาม(จนคลังสาธารณะไม่มีเงิน) แล้วท่านกับฉันต้องไปไถพรวนดินกันเพื่อยังชีพ”
2. กระบวนการพิทักษ์และส่งผ่านสัจธรรม
จุดเด่นของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ก็คือ ท่านเป็นผู้มีความเข้าใจลึกซึ้งในคำสอนอิสลาม มีความรู้ในระดับปราชญ์คนหนึ่งที่ได้รับการศึกษาอิสลามมาอย่างดี กระทั่งมีผู้กล่าวว่า บรรดานักปราชญ์ทั้งหลายในสมัยนั้นต่างเป็นนักศึกษาร่วมรุ่นกับท่านทั้งนั้น
การเป็นผู้รู้อย่างลึกซึ้งในอิสลามนี่เอง อุมัรจึงได้เริ่มงานที่สำคัญที่สุดชิ้นต่อมา นั่นคือ การสนับสนุนปราชญ์อิสลามให้เคลื่อนไหวทางความวิชาการ จัดเก็บรวบรวมและพิทักษ์รักษาคำสอนอิสลามเอาไว้ ท่านจึงได้ติดต่ออย่างใกล้ชิดกับปราชญ์จำนวนมาก เพื่อทำให้ภารกิจดังกล่าวประสบผลสำเร็จ
การจัดรวบรวมและจัดระเบียบคำสอนอิสลาม ทำให้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เร่งด่วน 2 เรื่องสำคัญ นั่นคือ การรวบรวมและการพิทักษ์รักษาหะดีษ กับการจัดวางคำสอนอิสลามให้คนทั่วไปสามารถปฏิบัติได้อย่างง่ายดายในรูปแบบของฟิกฮฺหรือนิติศาสตร์อิสลาม
ดังนั้น ศาสตร์สำคัญที่สุดที่ได้รับการเรียกร้องให้มีการพิทักษ์ชำระให้บริสุทธิ์ก็คือ หะดีษ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของคำสอนอิสลามรองจากอัล-กุรอาน ดังนั้น นับแต่สมัยของอุมัร อิบนฺ อับดุล อะซีซ เป็นต้นมา ก็ได้เกิดการบันทึกหะดีษ การตรวจสอบหะดีษอย่างแพร่หลาย และส่งผลตามมาต่อการจัดระบอบนิติศาสตร์โดยนักวิชาการจำนวนมาก
การเรียกร้องที่เอาจริงเอาจังของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ในเรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของประวัติศาสตร์อิสลาม นักวิชาการอิสลามสาขาต่าง ๆ ได้รับกำลังใจและเริ่มงานกันอย่างจริงจัง
ภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ถูกจุดขึ้นในสมัยของอุมัร อิบนฺ อับดุล อะซีซ และดำเนินมาอย่างยาวนาวในประวัติศาสตร์อิสลาม
ก่อเกิดขบวนการสายลมแห่งศรัทธา
อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺถอดแบบมาจากเคาะลีฟะฮฺอุมัร อิบนฺ อัล-ค็อฏฏอบอย่างแท้จริง ท่านสอดส่องประชาชนที่ทุกข์ยาก ช่วยเหลือพวกเขา วิถีปฏิบัติของเขาได้รับความชื่นชอบจากประชาคนทั่วทั้งอาณาจักร ทั้งคนมุสลิมและมิใช่มุสลิม จนเขาถูกขนานนามว่าเป็น อัล-เคาะลีฟะฮ อัล-รอชิดูน คนที่ 5
สิ่งที่นักปราชญ์ตลอดประวัติศาสตร์อิสลามพากันยกย่องท่านนั้นอยู่ในสิ่งที่มากกว่าความดีเลิศในการดำรงตำแหน่งที่สูงที่สุดในโลกอิสลามอย่างเคาะลีฟะฮฺ แต่มันอยู่ในสิ่งที่สิ่งที่เขาได้ปล่อยมันไปสู่ประวัติศาสตร์ ข้ามห้วงเวลาต่าง ๆ มานับหลายศตวรรษและไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ท่านซัยยิด อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดียฺ ได้วิเคราะห์ว่า
“...ภายใต้อิทธิพลของการตื่นตัวอิสลามและขบวนการทางปัญญา(ของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ)นี้เองได้ปรากฏงานที่ทรงคุณค่าจำนวนมาก ศาสตร์ต่างๆที่ว่าด้วยอัล-กุรอานและอัล-หะดีษก็ได้ถูกจัดทำขึ้นมา
มีการดำเนินการทางด้านอิจญติฮาด(คือการวินิจฉัยตามกระบวนการความรู้อิสลามเพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ)และงานเก็บรวบรวมวิชาการต่างๆ มีการใช้รากฐานของอิสลาม(คือแหล่งคำสอนอิสลาม ได้แก่อัล-กุรอานและอัล-สุนนะฮฺ)ในการให้รายละเอียดต่างๆของกฎหมายอิสลาม รวมไปถึงกฎเกณฑ์ทั้งหมดที่จำเป็นต่อการสร้างระบอบสังคมที่กว้างขวางก็ถูกกำหนดออกมาจากระบอบอิสลามดังกล่าวอย่างพรั่งพร้อม
งานเหล่านี้เริ่มต้นในฮิจญเราะฮฺศตวรรษที่ 2 และดำเนินต่อไปอย่างกระตือรือร้นจนถึงฮิจญเราะฮฺศตวรรษที่ 4 (ประมาณช่วงปีฮ.ศ 100- ฮ.ศ 300)…”
การเกิดมวลชนในการพิทักษ์และตรวจสอบหะดีษ การกำเนิดสำนักนิติศาสตร์ที่มาตรฐานหลายสำนัก ล้วนแล้วแต่เป็นงานที่ปรากฏอย่างชัดเจนจากการกระตุ้นของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ
กล่าวกันว่า หากการรวบรวมอัล-กุรอานเป็นเล่มของท่านอบู บักร ได้ก่อให้เกิดการแพร่หลายรูปเล่มคัมภีร์ไปสู่ปัจเจกชนมุสลิมทุกคนแล้ว ขบวนการทางปัญญาที่ถูกเร่งเร้าโดยอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ก็ได้ก่อให้เกิดการบูรณาการทางความรู้ไปสู่ศาสตร์แขนงต่าง ๆ ตามมาอย่างแพร่หลาย รูปแบบที่ถูกเรียกว่า “การเหวี่ยงอิสลามเข้าสู่สายลม” ของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซไม่เพียงจำกัดอยู่เพียงในสนามความรู้ของนักวิชาการเท่านั้น แต่ท่านยังได้ทำให้สายลมนี้เคลื่อนไปสู่ “คนมิใช่มุสลิม” อย่างกว้างไกลที่สุด หลังจากการจากไปของท่านนบีมุฮัมมัดไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ อำนาจของรัฐอิสลามได้ครอบคลุมพื้นที่ที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก มิอาจมีอาณาจักรใดเทียบเคียงได้ ทำให้ชนชาติต่าง ๆ ที่มิใช่มุสลิมเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่นี้ และคนมิใช่มุสลิมเหล่านี้ส่วนใหญ่มิใช่ชาวอาหรับ อาทิเช่น ชาวเบอร์เบอร์ ซึ่งเป็นชนชาติใหญ่ที่อาศัยในพื้นที่กว้างขวางในแอฟริกาเหนือ และชนชาติในสาขาต่าง ๆ ของเผ่าเตอร์กในดินแดนใหญ่โตของเอเชียกลาง ตลอดจนถึงบางส่วนของอินเดียและอาณาจักรเปอร์เซียเดิม
คนไม่ใช่มุสลิมเหล่านี้ยังไม่ได้รับอิสลามในช่วงแรก ๆ เหตุหลักก็คือการที่คำสอนอิสลามที่แสดงถึงความเป็นสัจธรรมไม่ได้เข้าถึงพวกเขา แน่นอนว่าอิสลามปฏิเสธการใช้ดาบฝืนใจคนนอกความเชื่อให้มารับอิสลาม ทำให้พวกเขายังคงรักษาศาสนาเดิมไว้ ยิ่งกว่านั้นระบอบการปกครองที่อยุติธรรมของผู้นำมุสลิมบางสมัยได้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการดึงดูดใจผู้คนมาสู่อิสลาม อย่าว่าแต่คนไม่ใช่มุสลิมเลย แม้แต่มุสลิมโดยทั่วไปก็ลำบากใจในการดำรงอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้
การปกครองที่ยุติธรรมของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ได้สร้างปรากฏการณ์การเข้ารับอิสลามด้วยการไหลบ่าสู่อิสลามของชนชาติต่าง ๆ เหล่านี้ จนถึงทุกวันนี้ดินแดนเหล่านี้ทั้งหมดยังคงเป็นศูนย์กลางการรวมตัวของมุสลิมที่สำคัญที่สุดอยู่
รูปแบบการทำให้คนมหาศาลเข้าสู่อิสลามของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ นั้นไม่มีการบังคับฝืนใจ แต่ทำให้หัวใจของคนเหล่านั้นโน้มมาสู่อิสลามเอง รูปแบบที่อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ใช้เป็นสิ่งที่เรียกในภาษาสมัยใหม่ว่า “Islamization” หรือการทำให้เป็นอิสลาม นั่นคือการทำให้อิสลามไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎีและสามารถแปรมาสู่การปฏิบัติได้ ความยุติธรรมอิสลามเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ ความเมตตาของอิสลามเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ และยิ่งกว่านั้น “ความเป็นสัจธรรม” ของอิสลามก็เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ จนทำให้ผู้คนที่มิใช่มุสลิมมองเห็นอิสลามในฐานะสัจธรรมอย่างประจักษ์แจ้ง
เหตุการณ์ในสมัยอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ยุคสมัยแห่งการขยายดินแดนอิสลามนั้น ผู้คนไม่ได้เข้ารับอิสลาม เนื่องจากใช้คมดาบ แต่ผ่านนโยบายและแผนงานที่ยุติธรรมของท่านต่างหาก ยิ่งในสมัยหลังจากนี้ อิสลามมีการขยายดินแดนน้อยมาก การส่งผ่านอิสลามไปยังชนชาติอื่น ๆ ที่ห่างไกลออกไป เช่น ผู้คนในหมู่เกาะมาเลย์ นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับกองทัพมุสลิมเลย แต่กระทำผ่านแบบอย่างที่ดีงามและยุติธรรมของเหล่าพ่อค้ามุสลิมเป็นประการสำคัญ
อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ได้รับการมองจากนักประวัติศาสตร์ว่าเป็น เคาะลีฟะฮฺ นักดะอฺวะฮฺที่ชาญฉลาด ไม่เพียงทำให้งานดะอฺวะฮฺประสบผลในสมัยของท่านเท่านั้น แต่ยังได้แสดงให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปประจักษ์ชัดอีกว่า การก้าวไปของอิสลามสู่คนมิใช่มุสลิมนั้น มีปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้อิสลามมีชีวิต จนกระทั่งพวกเขาประจักษ์ถึงความยุติธรรม ความเมตตาธรรม และความเป็นสัจจะได้ในที่สุด
การจากไปของอุมัรที่ 2
เคาะลีฟะฮฺอุมัร อิบนฺ อับดุล อะซีซ เสียชีวิตโดยเขาถูกวางยาพิษโดยพวกเจ้าของที่ดินและเสนาบดีที่มั่งคั่งบางคนที่ไม่พอใจการปกครองของท่าน ก่อนจะเสียชีวิตท่านไม่ได้แสดงความต้องการที่จะแก้แค้นคนที่คิดร้ายแต่ประการใด เขาได้ให้อภัยและปล่อยให้คนทำผิดเป็นอิสระ(รายงานเรื่องนี้มีข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป)
ยุคการปกครองของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ นั้นสั้น เพียง 2 ปี 5 เดือน แต่กระนั้นช่วงเวลาที่สั้นหรือยาวของการดำรงอยู่ในตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่นั้นไม่ใช่ตัวกำหนดอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ และมิได้อยู่ที่การมีชีวิตอยู่อย่างยาวนานบนโลกนี้ ว่าไปแล้วบุรุษผู้นี้อายุสั้นมาก ขณะที่เสียชีวิตมีอายุแค่ 39 ปี หากนับตามปีสุริยคติก็ประมาณ 37 ปีเท่านั้นเอง
แต่ความตายไม่ใช่สิ่งที่สามารถหยุดภารกิจของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ อิทธิพลของท่านยังไม่เคยสิ้นสุด ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ความสำเร็จที่ส่งผลกระทบยาวนานของอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ นั้นประกอบขึ้นจากความเข้าใจที่ลึกซึ้งในคำสอนอิสลามของท่าน และการที่ท่านได้รับการฝึกอบรมให้เป็นคนที่เปี่ยมด้วยจิตใจที่งดงาม เอื้ออาทรต่อผู้คน มีมารยาทที่ยอดเยี่ยม ประกอบทั้งความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารงาน และการเป็นนักยุทธศาสตร์ที่มองเห็นอนาคตของผลประโยชน์อิสลาม ท่านซัยยิด อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดียฺ กล่าวว่า
“แม้ว่าหลังจากการเสียชีวิตของท่านเคาะลีฟะฮฺ อุมัรที่ 2 อำนาจของรัฐบาลก็กลับไปอยู่ในมือของผู้ที่ขาดความยำเกรงพระเจ้าอีกครั้ง แต่ในแง่การเมืองแล้ว ภารกิจที่ดีงามทั้งหลายที่ริเริ่มโดยท่านนั้นได้ถูกเหวี่ยงเข้าไปสู่กระแสลมไปแล้ว ดังนั้น จึงหามีใครสามารถหยุดการตื่นตัวอิสลามและขบวนการทางปัญญาได้ไม่
การเคลื่อนไหวที่ถูกกระตุ้นจากตัวท่านจึงได้ก่อดอกออกผลขึ้นมา ทั้งราชวงศ์อุมะวียะฮฺและราชวงศ์อับบาสียะฮฺได้ใช้อำนาจและความมั่งคั่งเข้าไปมีส่วน(แทรกแซง)เส้นทางของขบวนการนี้ แต่ก็ไม่อาจสกัดกั้นความก้าวหน้าของมันได้ ...”
หากว่าท่านอบู บักร คือผู้เหวี่ยงอิสลามลงสู่หน้าประวัติศาสตร์ ดังนั้น ท่านอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ ก็คือผู้ตามมาโปรยความเป็นสัจธรรมและความงามของอิสลามเข้าสู่สายลม นี่คือสายโซ่แห่งการขับเคลื่อนอิสลาม จากข้อต่อหนึ่งไปยังข้อต่อหนึ่ง ...
เมื่อภารกิจการเหวี่ยงอิสลามเข้าสู่สายลมได้เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อสายลมไปถึงที่ไหน อิสลามก็ถูกโปรยลงสู่ผู้คนที่นั้น ..
ขอบคุณค่ะ
ตอบลบได้รับความรุ้มาก
ตอบลบขอบคุณคะ สำหรับความรู้ดีๆ
ตอบลบเยี่ยมมากครับ
ตอบลบ