มุหัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ (วะฮาบี) 1
เขียนโดย ซุฟอัม อุษมาน & อุษมาน อิดรีส
ความหมายของ วะฮาบีย์ ในเชิงนิรุกติศาสตร์
วะฮาบีย์ เป็นคำในภาษาอาหรับคือ وَهَّابِيٌّ (อ่านว่า wah haa biy) เป็นการประสมกันระหว่างคำว่า وَهَّاب กับอักษร ( يّ ) การประสมคำเช่นนี้เรียกในภาษาอาหรับว่า อัน-นัสบฺ หมายถึง การพาดพิงถึง โดยมีจุดประสงค์ เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์กับสิ่งที่ถูกนำมาประสม ส่วนใหญ่มักจะใช้ประสมเพื่อบ่งบอกถึงสัญชาติ เผ่าพันธุ์ หมู่พวก รูปแบบ ฯลฯ[1] โดยใช้ประสมกับคำนามที่เป็นชื่อของ ประเทศ เมือง สถานที่ ชื่อคน ลักษณะความเชื่อ วิชาความรู้ หรือคำนามที่เป็นวัตถุสิ่งของอื่นๆ ก็ได้ บางครั้งอาจจะเติมตัวอักษร ( ـة ) ต่อท้าย
ที่มาของ วะฮาบีย์
ความหมายของ วะฮาบีย์ ในเชิงนิรุกติศาสตร์
วะฮาบีย์ เป็นคำในภาษาอาหรับคือ وَهَّابِيٌّ (อ่านว่า wah haa biy) เป็นการประสมกันระหว่างคำว่า وَهَّاب กับอักษร ( يّ ) การประสมคำเช่นนี้เรียกในภาษาอาหรับว่า อัน-นัสบฺ หมายถึง การพาดพิงถึง โดยมีจุดประสงค์ เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์กับสิ่งที่ถูกนำมาประสม ส่วนใหญ่มักจะใช้ประสมเพื่อบ่งบอกถึงสัญชาติ เผ่าพันธุ์ หมู่พวก รูปแบบ ฯลฯ[1] โดยใช้ประสมกับคำนามที่เป็นชื่อของ ประเทศ เมือง สถานที่ ชื่อคน ลักษณะความเชื่อ วิชาความรู้ หรือคำนามที่เป็นวัตถุสิ่งของอื่นๆ ก็ได้ บางครั้งอาจจะเติมตัวอักษร ( ـة ) ต่อท้าย ดังตัวอย่างเช่น
ตัวอย่าง ลักษณะการประสม คำอ่าน ความหมาย
عَرَبِيٌّ عرب + يّ อะ เราะ บีย์ ชาวอาหรับ, แบบอาหรับ
سُنِّيٌّ سنة + يّ สุน นีย์ ชาวมุสลิมที่นับถืออิสลามตามแนวทางสุนนีย์
بُخَارِيٌّ بخارى + يّ บุ คอ รีย์ ผู้ที่เกิดในเมืองบุคอรอ
مُحَمَّدِيٌّ محمد + يّ มุหัมมะดีย์ แนวทางของมุหัมมัด
شَافِعِيَّةٌ شافع + يّ + ـة ชา ฟิ อี ยะฮฺ มุสลิมที่ปฏิบัติศาสนบัญญัติตามแนวทาง(มัซฮับ) ของอิมามชาฟิอีย์
مُحَمَّدِيَّةٌ محمد + يّ + ـة มุหัมมะดียะฮฺ ผู้ที่ดำเนินตามแนวทางของมุหัมมัด
คำว่า วะฮาบีย์ ซึ่งเขียนในภาษาอาหรับคือ وَهَّابِيٌّ เป็นการประสมกันระหว่างชื่อ عَبْدُ الوَهَّابِ (อ่านว่า อับดุลวะฮาบ Abdul wah haab) โดยตัดเอาเฉพาะตัวหลังคือ وَهَّاب นำมาประสมกับตัวอักษรพาดพิง ( يّ ) ซึ่งจะได้ความหมายคือ คำสอนหรือแนวทางของบุคคลที่ชื่ออับดุลวะฮาบ และอาจจะหมายถึง ผู้ที่เลื่อมใสในแนวทางดังกล่าว ด้วยก็ได้ และอาจจะเขียนได้อีกอย่างหนึ่งคือ وَهَّابِيَّة (อ่านว่า วะฮาบิยะฮฺ wah haa biyah) ซึ่งจะมีความหมายว่า ผู้ที่เลื่อมใสในคำสอนหรือแนวทางตามแบบฉบับของบุคคลที่ชื่อ อับดุลวะฮาบ
วะฮาบีย์ และ วะฮาบิยะฮฺ อาจจะเทียบได้กับคำในภาษาอังกฤษว่า Wahhabism ด้วยการประสมกันระหว่างคำว่า Wahhab และ suffix (ism) ซึ่งอาจจะมีความหมายว่า ลัทธิวะฮาบีย์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำว่า วะฮาบีย์ ในภาษาอาหรับเดิมไม่ได้เจาะจงว่าต้องมีความหมายเป็น ลัทธิ เท่านั้น แต่อาจจะมีความหมายว่า ตระกูล เผ่าพันธุ์ หรือมีความหมายเพียงแค่ แนวคิดหรือคำสอน และไม่ถึงกับเป็น ลัทธิหรือนิกาย แต่อย่างใด
วะฮาบีย์ ในความเข้าใจของสื่อและคนทั่วไป
dกระแสของคำว่า วะฮาบีย์ กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบแปด และได้แพร่ขยายอย่างกว้างขวางในสื่อแขนงต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ หลังเหตุโศกนาฏกรรม 11 กันยายน 2001 และเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางเหตุการณ์วุ่นวายและความรุนแรงที่ผุดขึ้นทั่วโลกตลอดสามปีที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
เหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของสหัสวรรษใหม่นี้ทำให้ผู้คนในโลกตกอยู่ในภาวะความหวาดระแวง และมุ่งหาสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่ามาจากที่ใด ท้ายที่สุดกลุ่มที่ถูกเรียกว่ามุสลิมหัวรุนแรงได้ถูกโยงให้กลายเป็นผู้ต้องหารายสำคัญที่สื่อทั้งหลายนำมาตีแผ่แพร่ขยายว่าเป็นต้นตอของเหตุการณ์รุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้น และ วะฮาบีย์ ก็เป็นคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้โลดแล่นบนหน้าของสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทีวี และอินเตอร์เน็ตในฐานะที่เป็น ลัทธิ หรือ แนวคิด ทางศาสนาที่สื่อต่างๆ รายงานและให้ข้อมูลว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและบ่มเพาะกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก
วะฮาบีย์ ในความเข้าใจของผู้คนส่วนใหญ่ คือ ลัทธิทางศาสนาอิสลามที่นิยมความรุนแรง ลัทธิหนึ่งซึ่งก่อตั้งโดย มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ที่ถือกำเนิดในคาบสมุทรอาระเบีย และมีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ.1703-1791[2]
น่าแปลกใจที่จู่ๆ คำว่า วะฮาบีย์ ก็มาเกี่ยวข้องกับ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ นักปราชญ์มุสลิมในศตวรรษที่สิบแปดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของนักปฏิรูปและนักฟื้นฟูสังคมมุสลิมแห่งยุคสมัย ทั้งๆ ที่เจ้าตัวเองไม่เคยเรียกตัวเองว่า วะฮาบีย์ และไม่เคยแอบอ้างหรือยอมรับว่าได้ก่อตั้งลัทธิใหม่ที่แปลกประหลาดแตกต่างไปจากคำสอนดั้งเดิมของอิสลามแต่ประการใด
คำว่า วะฮาบีย์ ถ้าพูดกันตามหลักการประสมคำดังที่ได้กล่าวมาแล้วไม่น่าจะถูกต้องถ้าจะเอาไปใช้กับชื่อ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เพราะถ้าต้องการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในเชิงชาติตระกูลหรือความสัมพันธ์ในเชิงของการเลื่อมใสในแนวทางหรือคำสอนของบุคคลนั้น โดยปกติแล้วเราจะใช้ชื่อของบุคคลนั้นมาประสมกันดังที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น
ข้อสังเกตที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับ วะฮาบีย์ เพราะคำว่า วะฮาบีย์ เป็นการประสมคำของคนที่ชื่อ อับดุลวะฮาบ ซึ่งอาจจะหมายถึง บิดาของมุหัมมัดเองหรือคนอื่นก็ได้ ไม่ใช่ชื่อของ มุหัมมัด เอง ในขณะที่บิดาของท่านมิได้มีส่วนร่วมเลยแม้แต่น้อยในการดำเนินการเผยแผ่อิสลามของมุหัมมัด เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคำว่า วะฮาบีย์ ย่อมจะมีความหมายรวมถึงพี่น้องของมุหัมมัดท่านอื่นๆด้วย และถ้าหากต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับแนวทางและคำสอนของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ จริงๆ คำประสมที่ถูกที่สุดควรต้องเป็น มุหัมมะดีย์ ไม่ใช่ วะฮาบีย์ [3] เว้นแต่ว่าการใช้คำว่า วะฮาบีย์ กับ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เป็นการ “ยืมใช้” จากชื่อของผู้อื่นที่ชื่อ อับดุลวะฮาบ ด้วยจุดประสงค์และผลประโยชน์บางอย่างที่แฝงอยู่เบื้องหลัง
เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ การศึกษาถึงที่มาและต้นตอของ “วะฮาบีย์ ตัวจริง” จึงมีความสำคัญในการอธิบายข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ชัดเจน
ความเป็นมาของ วะฮาบีย์ ตัวจริง
กลุ่มต่างๆ ในอิสลามได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปลายๆ สมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ(ผู้นำหลังจากการเสียชีวิตของท่านศาสนทูต)ทั้งสี่ท่าน และได้แตกแขนงแพร่กระจายแนวความคิดต่างๆ จนเข้มแข็งมาถึงยุคสมัยต่อมา[1] กลุ่มแรกที่แตกตัวออกจากแนวทางอิสลามดั้งเดิมคือพวกเคาะวาริจญ์ และพวกชีอะฮฺ นั่นคือในปีฮิจญ์เราะฮฺศักราชที่ 37 [2]
พวกเคาะวาริจญ์ เป็นกลุ่มที่มีแนวความคิดสุดโต่งกลุ่มหนึ่งโดยถือว่าผู้ทำบาปใหญ่นั้นมีโทษเท่ากับการตกศาสนา และถือว่าอนุญาตให้ฝืนและขัดขืนคำสั่งของผู้ปกครองรัฐ ในภายหลังพวกเคาะวาริจญ์ได้แตกกลุ่มย่อยๆ ออกไปอีกมากมายเช่น พวกอะซาริเกาะฮฺ พวกเศาะฟะริยะฮฺ พวกนัจญ์ดาต และพวกอะบาฎิยะฮฺ [3]
ในช่วงศตวรรษที่สองแห่งฮิจญ์เราะฮฺศักราช มีกลุ่มที่แตกออกจากพวกเคาะวาริจญ์สายอะบาฎิยะฮฺ อีกกลุ่มหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นในแถบอาฟริกาเหนือ ภายใต้การนำของ อับดุลวะฮาบ อิบนุ อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ รุสตุม และเรียกลุ่มของตัวเองว่า “วะฮาบิยะฮฺ” ซึ่งพาดพิงถึงคนผู้นี้ และได้ปกครองดินแดนบางส่วนของอาฟริกาเหนือซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ “อาณาจักรรุสตุม” (ก่อตั้งเมื่อปี ฮ.ศ. 160 และล่มสลายเมื่อปี ฮ.ศ. 296) บรรดาผู้รู้อิสลามสายสุนนีย์ในแถบนั้นได้มีบทวินิจฉัยเกี่ยวกับกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นกลุ่มที่นอกรีตและไม่ได้อยู่ในแนวทางของอิสลามดั้งเดิม[4]
มีหลักฐานยืนยันถึงการมีจริงของกลุ่ม วะฮาบีย์ ที่ถูกกล่าวถึงนี้ โดยมีระบุอยู่ในงานเขียนหลายเล่มอาทิเช่น
ดร.อัส-สัยยิด อับดุลอะซีซ สาลิม ระบุในงานเขียนของท่านชื่อ อัล-มัฆริบฺ อัล-กะบีรฺ ว่า ก่อนที่ อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ รุสตุม (ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรรุสตุม เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.171) เขาได้สั่งเสียอำนาจการปกครองให้แกนนำผู้ปกครองซึ่งมีทั้งหมดเจ็ดคน ในจำนวนนั้น มี อับดุลวะฮาบ บุตรของเขารวมอยู่ด้วย ต่อมา อับดุลวะฮาบ ได้รับการสถาปนาให้เป็นผู้ปกครองอาณาจักรแทนบิดา เหตุนี้ได้เป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างเขากับ ยะซีด อิบนุ ฟันดีก หนึ่งในแกนนำทั้งเจ็ดผู้หนึ่ง ในที่สุดกลุ่มอะบาฎิยะฮฺแห่งอาณาจักรรุสตุมนี้ก็ได้แบ่งเป็นสองพวกคือ กลุ่มวะฮาบิยะฮฺ นั่นคือผู้ติดตาม อับดุลวะฮาบ อิบนุ อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ รุสตุม (เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.191) และพวกนักการิยะฮฺ นั่นคือผู้ติดตาม ยะซีด อิบนุ ฟันดีก[5]
ชาร์ลี อังเดร นักเขียนชาวฝรั่งเศส ในหนังสือของท่าน ตารีฆ อัฟริกียา อัช-ชะมาลิยะฮฺ (ประวัติศาสตร์อัฟริกาเหนือ) ได้สาธยายอย่างยืดยาวเกี่ยวกับอาณาจักรรุสตุมของพวกเคาะวาริจญ์ ท่านได้เรียกคนพวกนี้ว่า วะฮาบิยะฮฺ (ซึ่งพาดพิงถึง อับดุลวะฮาบ อิบนุ อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ รุสตุม) ซึ่งมีแนวความคิดค้านกับแนวความคิดของมุสลิมส่วนใหญ่ที่ยึดในแนวทางของสุนนีย์ [6]
เฟรดบาล ในหนังสือของท่าน อัลฟิร็อก อัลอิสลามิยะฮฺ ฟี อัลชะมาล อัลอิฟรีกีย์ (มุสลิมกลุ่มต่างในอัฟริกาเหนือ) ได้พูดถึงกลุ่ม วะฮาบีย์ว่า “เป็นกลุ่มเคาะวาริจญ์สายอะบาฎีย์ที่ก่อตั้งโดย อับดุลวะฮาบ อิบนุ อับดุลเราะหฺมาน อิบนุ รุสตุม ซึ่งได้ยกเลิกบัญญัติอิสลามมากมาย และห้ามมิให้มุสลิมทำหัจญ์ เป็นกลุ่มที่ชอบสู้รบกับบรรดาผู้ต่อต้านแนวทางของพวกเขา และเรียกกลุ่มผู้ติดตามแนวทางของอับดุลวะฮาบคนนี้ว่า “วะฮาบียะฮฺ” ที่เรียกเช่นนั้นเพราะอับดุลวะฮาบได้อุตริแนวคิดใหม่ๆที่เบี่ยงเบนจากหลักคำสอนดั้งเดิมของอิสลาม พวกเขาจะเกลียดชังกลุ่มชีอะฮฺมากพอๆกับที่พวกเขาเกลียดชังกลุ่มมุสลิมสายสุนนีย์[7].
อัซ-ซิริกลีย์ ในหนังสือของท่าน อัล-อะอฺลาม ได้พูดถึงประวัติของอะบาฎิยะฮฺและอาณาจักรรุสตุมว่า อับดุลวะฮาบคนนี้เป็นผู้นำคนที่สองของอาณาจักรรุสตุมของพวกอะบาฎิยะฮฺ ดั้งเดิมแล้วมีตระกูลมาจากเปอร์เซีย เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำหลังจากที่บิดาของเขาเสียชีวิต เป็นผู้นำที่กล้าหาญและออกรบด้วยตัวเอง เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 190 [8]
ในหนังสือฟิกฮฺ(นิติศาสตร์อิสลาม)ของนักวิชาการที่ยึดตามทัศนะมาลิกีย์ที่ชื่อว่า อัล-มิอฺยารฺ อัล-มะอฺริบ ฟี ฟะตาวี อะฮฺลิ อัล-มัฆริบ[9] แต่งโดย อะหฺมัด อิบนุ มุหัมมัด อัล-วันชะรีสีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 914[10]) ปรากฏมีคนถามเชคอะลี อิบนุ มุหัมมัด อัลละเคาะมีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 487[11]) เกี่ยวกับ วะฮาบีย์ ว่า “มีบัญญัติเช่นไรเกี่ยวกับการละหมาดในมัสญิดที่สร้างโดยพวกวะฮาบีย์?” [12]
อัลญีฏอลีย์ (หนึ่งในผู้ดำเนินตามแนวคิดของวะฮาบีย์) ได้เล่าจากอับดุลวะฮาบ กล่าวว่า “มีเจ็ดสิบเหตุผลที่อนุญาตให้หลั่งเลือดของแต่ละคน” และอีกรายงานหนึ่งเขากล่าวว่า “ยี่สิบสี่เหตุผลที่อนุญาตให้หลั่งเลือดชาวกิบลัตเดียวกัน(มุสลิม)”[13]
อัล-มารฺฆีนีย์ (อีกหนึ่งในผู้ดำเนินตามแนวคิดของวะฮาบีย์) เล่าว่า “บรรดาผู้รู้ของเรา(วะฮาบีย์) กล่าวว่า แท้จริงศาสนาที่กลุ่มวะฮาบีย์จากสายอะบาฎีย์ได้ยึดปฏิบัติ เป็นศาสนาของนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นศาสนาที่เที่ยงแท้จากอัลลอฮฺ นั่นคือศาสนาอิสลาม ผู้ใดเสียชีวิตในสภาพดังกล่าว เขาคือผู้ศรัทธา ณ อัลลอฮฺ...”[14]
อัล-อีซาบีย์ (อีกหนึ่งในผู้ดำเนินตามแนวคิดของวะฮาบีย์) กล่าวว่า “มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้ทรงบันดาลให้สัจธรรมอยู่คู่กับศาสนาหนึ่งเดียวเท่านั้น ดังนั้นเราขอกล่าวว่า โอ้บรรดากลุ่มวะฮาบีย์สายอะบาฎีย์ ทั้งหลาย สัจธรรมนั้นคือสิ่ง(แนวทาง)ที่เรากำลังดำเนินอยู่ ส่วนความจอมปลอมนั้นคือสิ่ง(แนวทาง)ที่บรรดาคู่อริของเรากำลังดำเนินอยู่ เพราะแท้จริงสัจธรรม ณ อัลลอฮฺ นั้นมีเพียงหนึ่งเดียว และมัซฮับ (สำนักวะฮาบีย์) ของเรา ในด้านศาสนบัญญัติ (ฟุรูอฺ) ถูกต้องและอาจจะมีความผิดพลาดบ้าง ส่วนมัซฮับของคู่อริของเรานั้นผิดพลาดและอาจจะถูกต้องก็ได้”[15]
จากตัวอย่างที่ยกมาเป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า วะฮาบีย์ ตัวจริงนั้น คือกลุ่มของพวกเคาะวาริจญ์ สายอะบาฎิยะฮฺ[16] กลุ่มหนึ่งที่ปรากฏในประวัติศาสตร์อิสลามช่วงสมัยศตวรรษที่สองแห่ง ฮิจญ์เราะฮฺศักราชในดินแดนแถบอัฟริกาเหนือ ภายใต้การนำของ อับดุลวะฮาบ อิบนุ อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ รุสตุม เป็นกลุ่มที่ถือกำเนิดขึ้นก่อนสมัยของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ผู้ถูกกล่าวอ้างว่าเป็น วะฮาบีย์ ถึงสิบศตวรรษทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับประวัติมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบและสังคมอาหรับในสมัยของท่าน รวมทั้งสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในสมัยนั้น สามารถให้ความกระจ่างได้ว่า เหตุใด มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ จึงถูกเรียกว่า วะฮาบีย์ ได้ชัดเจนขึ้น
วะฮาบีย์ กับ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ และราชวงศ์ซาอุดี
ตัวตนของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ
มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ฮ.ศ.1115-1206 (ค.ศ.1703-1792) เกิดที่เมือง อัล-อุยัยนะฮฺ ไม่ไกลจากนครริยาด เมืองหลวงของประเทศซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน ครอบครัวของท่านเรียกได้ว่าเป็นครอบครัวผู้รู้ศาสนา ปู่ของท่าน สุลัยมาน อิบนุ อะลี อิบนุ มัชฺร็อฟ เป็นหนึ่งในจำนวนปราชญ์มุสลิมที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยนั้นและเป็นผู้ที่เหล่านักแสวงหาความรู้มากมายเลื่อมใสและเป็นสานุศิษย์ บิดาของท่าน อับดุลวะฮาบ อิบนุ สุลัยมาน และน้าชายของท่าน อิบรอฮีม อิบนุ สุลัยมาน รวมทั้งลูกผู้พี่ อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ อิบรอฮีม และพี่ชายของท่านเอง สุลัยมาน อิบนุ อับดุลวะฮาบ ล้วนถือได้ว่าเป็น อุละมาอฺ (นักปราชญ์มุสลิม)ซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนในสมัยนั้น
ตั้งแต่ยังเยาว์วัย มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดและมีความจำที่ดีเยี่ยม ท่านสามารถท่องจำอัลกุรอานได้หมดตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ท่านเริ่มเรียนกับบิดาของท่านโดยได้ศึกษาหนังสืออิสลามต่างๆ มากมายตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่ออายุได้ยี่สิบปีท่านได้ออกเดินทางไปศึกษากับผู้รู้ท่านอื่นๆ อีกหลายท่าน โดยเริ่มต้นด้วยการเดินทางไปทำ ฮัจญ์ ที่นคร มักกะฮฺ แล้วเดินทางไปยังนคร มะดีนะฮฺ และตั้งหลักมุ่งมั่นหาความรู้ที่นั่นเป็นเวลานานหลายปี
ในบรรดาผู้เป็นครูของท่านที่มะดีนะฮฺ อาทิ อับดุลลอฮฺ อิบนุ อิบรอฮีม อิบนุ ซัยฟฺ ผู้เป็นครูที่ใกล้ชิดท่านมากที่สุด ท่านยังได้เป็นศิษย์ของ มุหัมมัด หะยาต อัส-สินดีย์ นักปราชญ์ด้าน หะดีษ (ความรู้ว่าด้วยวจนะแห่งท่านศาสนทูต) ที่มีชื่อเสียงในมะดีนะฮฺ
จากมะดีนะฮฺ ท่านได้เดินทางต่อไปยังเมือง อัล-บัศเราะฮฺ (เมืองบัศรา ในประเทศอิรักปัจจุบัน) และได้เรียนเป็นศิษย์ของ มุหัมมัด อัล-มัจญ์มูอีย์ ผู้ซึ่งประสาทความรู้ด้านหะดีษและภาษาให้กับท่าน[17]
สภาพสังคมอาหรับในสมัย มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ
ในตอนต้นของศตวรรษที่ 12 ฮ.ศ. หรือปลายศตวรรษที่ 17 ค.ศ. เป็นยุคที่กงล้อประวัติศาสตร์ของโลกมุสลิมหมุนย้อนกลับสู่ความอนารยธรรม หลังจากที่เฟื่องฟูอยู่นานภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมานที่มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ตุรกี ถึงแม้ว่าสมัยนั้นยังไม่หมดยุคของออตโตมาน กระนั้นอำนาจของผู้ปกครองชาวเติร์กก็แทบจะไม่เหลือพอที่จะเชิดคอแสดงศักยภาพเหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไป
ในช่วงที่ผู้ปกครองอ่อนแอเช่นนี้ ความตกต่ำในแทบทุกด้านทุกระดับชั้นในสังคมอาหรับและมุสลิมได้กลายเป็นสิ่งที่สลัดทิ้งไม่พ้น เริ่มตั้งแต่เรื่องอำนาจการบริหารปกครอง ความสามัคคีปรองดองของหมู่มุสลิม ศีลธรรมและมนุษยธรรมในสังคม และสิ่งที่ดูจะย่ำแย่ที่สุดคือการดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของศาสนาซึ่งตกต่ำถึงระดับขีดสุด โดยเฉพาะแคว้น อัน-นัจญ์ดฺ ซึ่งเป็นดินแดนบ้านเกิดของมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ และเป็นหัวใจของคาบสมุทร อาระเบีย อย่างน้อยที่สุดที่พอจะอธิบายได้ก็คือ ชาวนัจญ์ดฺได้ตกต่ำทางศีลธรรมจนเลยเถิด ไม่มีเกณฑ์ความดีความชั่วในสำนึกของพวกเขา จะมีก็แต่ความเชื่องมงายเรื่องการบูชาสิ่งศักดิสิทธิ์จอมปลอมซึ่งขัดกับคำสอนในศาสนาอย่างชัดเจน แต่กลับถูกปลูกฝังอยู่ในใจมายาวนานเป็นศตวรรษ จนกระทั่งผู้คนส่วนใหญ่ได้คิดว่าพิธีกรรมเหล่านั้นคือวิถีทางแห่งศาสนาที่ถูกต้อง และไม่เคยเตรียมตัวเตรียมใจที่จะเลิกปฏิบัติสิ่งที่พวกเขารับมาจากปู่ย่าตายายโดยไม่ได้คำนึงว่าจะถูกผิดหรือไม่เช่นใด
ผู้คนต่างก็รู้จักการกราบไหว้ขอพรจากสุสาน มีสถูปมากมายผุดขึ้นให้ผู้คนได้ไปเคารพ ความงมงายในเรื่องการบูชาเช่นนี้เป็นสิ่งปกติที่เห็นได้ทั่วไปในสมัยนั้น แม้กระทั่งการบูชาและบนบานต้นไม้เก่าแก่เพื่อขอให้กำเนิดบุตร และยังมีถ้ำบนสุสานอีกแห่งหนึ่งที่เมือง อัด-ดิรฺอิยยะฮฺ ซึ่งกลายเป็นสถานที่ของการปฏิบัติพิธีกรรม(ด้วยการผิดประเวณี)อันน่าอดสูที่สุด ทั้งหมดนี้ได้ใช้ชื่อของศาสนาเป็นป้าย น่าเสียใจที่เหล่าผู้รู้ทั้งหลายถึงแม้จะมีความรู้ในเรื่อง ศาสนบัญญัติดีเพียงใด แต่จำนวนของพวกเขาเพียงไม่กี่คนไม่มีพลังพอที่จะทำหน้าที่เรียกร้องให้ผู้คนกลับเข้าหาความดีงามของศาสนาและห้ามปรามพวกเขาจากการประพฤติสิ่งผิดบาปเหล่านั้นได้
นอกจากเรื่องศีลธรรมและศาสนาแล้ว ผู้คนในสังคมยังแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่ละพวกแต่ละเผ่าต่างปกครองกันเอง และคงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใดถ้าหากจะมีการต่อสู้ระหว่างเผ่าเกิดขึ้นให้เห็น [1]
สู่การฟื้นฟูอิสลามแห่งยุค
ท่ามกลางสังคมของผู้คนและวิถีทางศาสนาที่ตกต่ำ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ถือกำเนิดและได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่เปี่ยมด้วยบรรยากาศแห่งศาสนาและความรู้ที่บริสุทธิ์ จิตสำนึกอันดีงามที่เกิดขึ้นจากการอบรมสั่งสอนที่ถูกต้อง ได้ผลักดันให้ท่านสังเกตและเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่ร่ำเรียนมากับสภาพความเป็นจริงของสังคมที่ท่านเห็น ระหว่างคำสอนแห่งการให้เอกภาพแก่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกา กับสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายมอบหมายถวายการบูชาให้ และความงมงายอื่นๆ ที่มีอยู่ดาษดื่นในวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม ผลจากข้อเปรียบเทียบได้ปลุกสำนึกให้เกิดความกล้าที่จะห้ามผู้คนจากการปฏิบัติสิ่งที่ผิด และเกิดความรู้สึกตำหนิเหล่าผู้รู้ที่เห็นความเบี่ยงเบนของสังคมแต่กลับไม่ทำอะไรเพื่อแก้ไขให้ดีขึ้น[2]
มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เริ่มต้นทำงานเพื่อเรียกร้องให้ผู้คนเลิกปฏิบัติสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนาและความงมงายต่างๆ ดังที่กล่าวมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง เมื่อกลับไปปักหลักที่ หุร็อยมิลาอฺ เป็นเมืองที่บิดาของท่านย้ายครอบครัวไปอยู่ที่นั่นซึ่งไม่ไกลจากบ้านเกิดเดิมมากนัก
ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะต้องเผชิญหน้ากับการเยียวยารักษาศีลธรรมของสังคมที่เน่าเฟะมานานหลายสิบทศวรรษ ในความคิดของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ท่านต้องการที่จะสร้างคุณลักษณะที่ดีงามและความเมตตาในหมู่คนเบดูอิน แทนที่นิสัยก้าวร้าว เหลี่ยมเล่ห์ ลักขโมย ปล้นทรัพย์ ฯลฯ เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดคือการแก้ไขความเชื่อที่งมงายและนำผู้คนทั้งหลายกลับไปสู่การเคารพพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง ไม่ใช่จมปลักอยู่กับพระเจ้าจอมปลอม สุสานคนตาย และสถูปเจดีย์ ท่านได้เชิญชวนผู้คนสู่การให้เอกภาพแก่พระผู้เป็นเจ้า ท่านได้พยายามด้วยวิธีต่างๆ เพื่อห้ามปรามผู้คนให้เลิกเคารพบูชาสิ่งอื่นซึ่งเป็นการตั้งภาคีกับพระผู้เป็นเจ้า
ความพยายามดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดการปฏิเสธและต่อต้านอย่างหนักจากผู้คนทั่วไป แม้กระทั่งบิดาของท่านเองก็ได้เตือนท่านเช่นกัน ด้วยเห็นว่าเป็นงานหนักที่จะต่อสู้กับความเชื่อผิดๆ ที่ฝังลึกอยู่ในชีวิตของผู้คนมากมายเหล่านั้น กระนั้นก็ตามการทำงานของท่านเพื่อเรียกร้องให้ผู้คนกลับสู่วิถีทางแห่งอิสลามอันดั้งเดิมยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ ท่ามกลางอุปสรรค การขัดขวางและการต่อต้านที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ จนในที่สุดผู้คนบางส่วนใน หุร็อยมิลาอฺได้เลื่อมใสและกลายมาเป็นแนวร่วม โดยได้ศึกษาเป็นศิษย์ของท่านและช่วยเหลือในการทำงานเพื่อเรียกร้องผู้คนให้คืนกลับสู่อิสลามอันแท้จริงอีกครั้ง[3]
ค้นหาผู้อุปถัมภ์และผู้คุ้มครอง
ในเบื้องต้น การทำงานเพื่อเชิญชวนผู้คนให้หันมาประพฤติตนอยู่ในครรลองของอิสลามอันดั้งเดิมและละทิ้งสิ่งงมงายที่เคยปฏิบัติจนคุ้นชินเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในความคิดของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ การทำงานเพื่อเผยแพร่เช่นนี้จะไม่ประสบความสำเร็จท่ามกลางสังคมที่วุ่นวายแตกแยก เพราะแม้กระทั่งใน หุร็อยมิลาอฺเองก็มีสองพวกสองเผ่าที่ต่อสู้กันเพื่อให้ได้มีอำนาจปกครอง ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทำงานได้ผลคือการรวมเผ่าต่างๆ ในแคว้น อัน-นัจญ์ดฺ ให้เป็นหนึ่ง และไม่มีทางที่งานเผยแพร่จะบรรลุผลถ้าปราศจากการคุ้มครองของผู้ปกครองที่มีอำนาจและคอยอุปถัมภ์อุ้มชู
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้มีหนังสือไปยัง อุษมาน อิบนุ มุอัมมัรฺ เจ้าเมือง อัล-อุยัยนะฮฺ โดยได้ชี้แจงถึงหลักการ เตาฮีด (การให้เอกภาพแก่พระผู้เป็นเจ้า)และได้ขอให้ท่านเจ้าเมืองช่วยเหลือในภารกิจของท่าน จนในที่สุดท่านได้ย้ายไปอยู่ที่นั่นโดยได้การต้อนรับอย่างดีจากเจ้าเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นหลังจากที่ท่านย้ายมาอยู่ที่ อัล-อุยัยนะฮฺ ชาวเมืองเริ่มตอบรับการเชิญชวนของท่านทีละน้อย สถานที่อันเป็นที่เคารพบูชาของผู้คนอย่างงมงายหลายแห่งถูกทำลายไป มีการออกคำสั่งให้ไปละหมาดที่มัสญิด มีการยกเลิกการเก็บเงินเรี่ยไรต่างๆ โดยให้เก็บเฉพาะเงิน ซะกาต เท่านั้น และได้ลงโทษผู้หญิงคนหนึ่งที่ยอมรับว่าตัวเองผิดประเวณี ความสำเร็จทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของ อุษมาน อิบนุ มุอัมมัรฺ
อย่างไรก็ตามในภายหลังได้มีปัญหาเกิดขึ้นนั่นคือ พวกที่ต่อต้านท่านได้นำข่าวที่มีการลงโทษผู้หญิงที่ผิดประเวณีด้วยการขว้างหินไปแพร่กระจายจนถึงหูของ สุลัยมาน อิบนุ อุร็อยอิรฺ เจ้าเมือง อัล-อะหฺสาอฺ ทางตะวันออกของแคว้น อัน-นัจญ์ดฺ และได้ ยุแหย่ให้สุลัยมานขัดขวางมุหัมมัด ด้วยการกล่าวหาว่า มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ กำลังจะทำลายอิสรภาพของท่านเจ้าเมือง การ ยุแหย่นี้ได้ผลเพราะสุลัยมานได้ส่งสารไปยัง อุษมาน อิบนุ มุอัมมัรฺ ว่า
“แท้จริงโต๊ะครูที่อยู่กับท่านคนนั้น ได้ทำโน่นทำนี่ ... จงฆ่าเขาเสีย ถ้าท่านไม่ทำ เราจะไม่ส่งภาษีบรรณาการของเราจาก อัล-อะหฺสาอฺ ไปให้ท่านอีกต่อไป”
เพราะชาวเมือง อัล-อะหฺสาอฺ จะส่งบรรณาการจำนวนหนึ่งพันสองร้อยดีนารฺ ไปให้อุษมาน อิบนุ มุอัมมัรฺ เป็นประจำทุกปี พร้อมกับข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ได้พยายามหลายครั้งเพื่อทำให้ อุษมาน อิบนุ มุอัมมัรฺ มั่นใจในความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้าและอดทนกับคำขู่ของ สุลัยมาน แต่ดูเหมือนคำพูดต่างๆ ของท่านไม่เป็นผล เพราะในที่สุดเจ้าเมือง อัล-อุยัยนะฮฺ ได้กล่าวกับท่านว่า
“แท้จริง สุลัยมาน ได้สั่งให้เราฆ่าท่าน เราไม่สามารถต้านทานความโกรธและฝืนคำสั่งของเขาได้ เพราะเราไม่มีกำลังพอที่จะทำสงครามกับเขา กระนั้นมันไม่เป็นสิ่งที่ดีและไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่เราจะฆ่าท่านในเมืองของเราเช่นนี้ ดังนั้นตัวท่านจงไปเถิดและจงทิ้งเมืองของเราเสีย” [4]
ความช่วยเหลือของ มุหัมมัด อิบนุ สุอูด
หลังจากออกจาก อัล-อุยัยนะฮฺ ท่านได้เดินทางไปยัง อัด-ดิรอิยะฮฺ โดยได้พำนักอยู่ที่บ้านของศิษย์ท่าน อะหฺมัด อิบนุ สุวัยลิม แต่ครั้งเมื่อ มุหัมมัด อิบนุ สุอูด เจ้าเมือง อัด-ดิรอิยะฮฺ ทราบข่าวว่าท่านมาถึงที่นี่จึงได้ไปหาท่านเองถึงที่พัก พร้อมกับน้องของท่านสองคนคือ มะชารีย์ และ ซุนัยยาน ด้วยอุปนิสัยที่รักในความรู้และชมชอบอุละมาอฺ มุหัมมัด อิบนุ สุอูด จึงได้ต้อนรับมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ยกย่องให้เกียรติท่านเป็นอย่างดี
มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ได้เสนอและกล่าวเทศนาถึงหลักศาสนาต่างๆ ที่ท่านเผยแพร่นั่นคือ ความหมายของคำปฏิญาณตนของผู้เป็นมุสลิม ภาระหน้าที่ในการสนับสนุนความดีและยับยั้งความชั่ว รวมถึงการ ญิฮาด[5] ในหนทางของอัลลอฮฺ เป็นผลให้ มุหัมมัด อิบนุ สุอูด ยอมรับและได้กล่าวแก่ท่านว่า
“ท่านผู้อาวุโส แท้จริงแล้วนี่คือศาสนาของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ โดยไม่ต้องสงสัยอีกเลย และจงเชื่อมั่นเถิดว่าเราจะช่วยท่านในสิ่งที่ท่านสั่งและการญิฮาดกับผู้คนที่ฝ่าฝืนการให้เอกภาพแก่พระผู้เป็นเจ้า แต่ว่าเราต้องการเงื่อนไขสองประการนั่นคือ หนึ่ง เมื่อเราได้ลุกขึ้นมาช่วยท่านด้วยการญิฮาดในหนทางแห่งอัลลอฮฺ แล้วพระองค์ก็เปิดดินแดนต่างๆ ให้ เรากลัวว่าท่านจะจากเราและไปหาผู้อื่น สอง ในเมืองนี้เรามีกฎอยู่ข้อหนึ่งที่เราใช้เก็บภาษีเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว เรากลัวว่าท่านจะกล่าวกับเราว่าอย่าได้เอาอะไรไปจากพวกเขา”
ท่าน มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ จึงได้กล่าวตอบว่า
“ประการแรกที่ท่านกล่าวนั้น จงเอามือของท่านมา เพราะเราสัญญาว่าจะอยู่กับท่าน และร่วมเป็นร่วมตายกับท่าน ส่วนประการที่สองนั้น เราหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงเปิดดินแดนต่างๆ ให้และพระองค์จะทรงทดแทนท่านด้วยทรัพย์สินจากการญิฮาดซึ่งดีกว่าที่ท่านร้องขอ”
เมื่อนั้น มุหัมมัด อิบนุ สุอูด จึงได้จับมือให้สัญญากับท่านว่าจะให้ความช่วยเหลือในภารกิจการเผยแพร่เชิญชวน และได้แสดงความพร้อมที่จะปฏิบัติตามแนวทางของอัลกุรอานและวิถีทางของท่านศาสนทูต อันเป็นหลักคำสอนของอิสลามอันดั้งเดิม นับแต่นั้นมาผู้คนในเมือง อัด-ดิรอิยะฮฺ จึงได้หลั่งไหลมาศึกษาอิสลามกับ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ไม่เว้นแม้แต่บรรดาศิษย์และญาติมิตรของท่านจากเมือง อัล-อุยัยนะฮฺ ของอุษมาน อิบนุ มุอัมมัรฺ [6]
การแพร่ขยายและการต่อต้าน
ด้วยฐานความช่วยเหลือที่มั่นคงใน อัด-ดิรอิยะฮฺ ทำให้การเผยแพร่ของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้คนจากทั่วเมืองในแคว้น อัน-นัจญ์ดฺ ต่างเดินทางมาเพื่อศึกษากับท่าน และได้ร่วมนำคำสอนที่ศึกษามาไปเผยแพร่จนเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวาง การขยายตัวของการเผยแพร่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทั้งตอบรับและต่อต้านจากผู้คนในหลายเมือง มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เองได้ส่งหนังสือไปยังเจ้าเมืองต่างๆ รวมทั้งบรรดาอุละมาอฺทั้งหลายเพื่อชี้แจงให้เห็นถึงสิ่งที่ท่านได้เชิญชวนและเรียกร้องให้ตอบรับการเชิญชวนของท่าน ผลที่ได้รับกลับมาส่วนใหญ่เป็นเสียงเหยียดหยันและกล่าวหาว่าร้ายต่างๆ นานา การต่อต้านมิได้จำกัดเฉพาะที่ตัวของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบเองเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งบรรดาศิษย์ของท่าน และชาวเมือง อัด-ดิรอิยะฮฺ อีกด้วย
ดะฮฺฮาม อิบนุ เดาวาส ซึ่งปกครองเมืองริยาด ได้ทำร้ายและย่ำยีบรรดาลูกศิษย์ของท่านโดยไม่มีความผิด นอกเสียจากเพราะพวกเขาเป็นผู้เลื่อมใสและยอมรับการเชิญชวนของท่านเท่านั้น เหตุการณ์นี้เป็นชนวนให้เกิดการลุกขึ้นมาต่อสู้กับริยาด โดยสงครามได้ดำเนินอยู่นานหลายปีจนกระทั่ง ดะฮฺฮาม ได้หลบหนีออกจากริยาด จนในที่สุดริยาดจึงได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของครอบครัวมุหัมมัม อิบนุ สุอูด ผู้ซึ่งเป็นต้นตระกูลของราชวงศ์ซาอุดีนั่นเอง
วะฮาบีย์ วาทกรรมแห่งการสร้างความหวาดกลัว
ดังที่ได้อธิบายมาแล้วในตอนต้นว่า ดั้งเดิมของคำว่า วะฮาบีย์ นั้นเป็นสมญานามของ อับดุลวะฮาบ อิบนุ อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ รุสตุม ผู้นำแห่งอาณาจักรรุสตุม ผู้มีแนวความคิดเป็นเคาะวาริจญ์ สายอะบาฎิยะฮฺ เป็นกลุ่มที่นักวิชาการมุสลิมต่างเห็นพ้องว่ามีแนวความคิดบิดเบือนและนอกรีตจากคำสอนของอิสลามอันดั้งเดิม
ส่วนคำว่า วะฮาบีย์ ที่ผุดขึ้นมาพร้อมๆ กับการขยายตัวของการเชิญชวนของมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ และการขยายอาณาเขตของราชวงศ์ซาอุดีนั้นเป็นคำที่ถูก “ยืมใช้” โดยฝ่ายต่อต้านการเชิญชวนของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ โดยได้นำมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือกล่าวหาใส่ร้ายและสร้างความหวาดระแวงให้กับผู้คนทั่วไป และเป็นคำที่ถูกใช้ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์การเผยแพร่ของสานุศิษย์มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ และการรวมดินแดนให้เป็นหนึ่งของราชวงศ์ซาอุดี
ดังนั้น คำว่า วะฮาบีย์ และ วะฮาบิยะฮฺ จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ชัดเจนที่สุดที่ผู้ต่อต้านซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามพยายามป้ายสีให้แก่มุหัมมัด อิบนุอับดุลวะฮาบ เพื่อที่จะให้เห็นว่า เป็นลัทธินอกรีตนิยมความรุนแรง และไม่ได้อยู่ในคำสอนของศาสนาอิสลาม ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้งอังกฤษ อียิปต์ และตุรกี ต่างได้ตั้งให้คำว่า วะฮาบีย์ เป็น “เงาที่น่ากลัว” เพื่อสร้างภาพที่เลวร้ายให้กับราชวงศ์ซาอุดี
สำหรับพวกยุโรปตะวันตกแล้ว เพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ของตนต้องเสี่ยงอันตราย ทุกครั้งที่มีขบวนการฟื้นฟูอิสลามเกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง พวกเขาก็มักจะโยงไปที่ วะฮาบีย์ ถึงแม้จะว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยก็ตาม ขบวนการ สานุสซี่ ในโมร็อคโคซึ่งมีแนวทางที่แตกต่างกับแนวทางของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ก็ถูกเรียกว่าเป็นผลพวงของวะฮาบีย์[1]
การตั้งชื่อเรียกแนวทางการเชิญชวนของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ว่า วะฮาบีย์ เป็นการเรียกที่ผิดและจงใจมีเจตนาเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คน การเรียกเช่นนี้เป็นสิ่งที่แปลกมากเพราะ คำว่า วะฮาบีย์ นั้นเป็นคำที่ได้จากการประสมกันของชื่อ อับดุลวะฮาบ ซึ่งเป็นบิดาของท่าน ทางที่ถูกต้องชื่อที่จะใช้เรียก มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ น่าจะต้องเป็น มุหัมมะดีย์ แต่ที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นด้วยมีเงื่อนงำทางการเมืองที่ต้องการสร้างภาพที่สกปรกเลวร้ายให้กับมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เพราะถ้าใช้ชื่อ มุหัมมะดีย์ แล้ว ภาพที่ออกมาจะเป็นสิ่งที่ดีงามและสะอาด เพราะไปพ้องกับชื่อของท่าน ศาสนทูตมุหัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)นั่นเอง[2]
เป็นที่น่าสังเกตว่าบรรดาสานุศิษย์ของท่านมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ตลอดจนผู้เลื่อมใสในคำสอนของท่านรุ่นหลังๆ ไม่มีผู้ใดที่เรียกตัวเองว่า วะฮาบีย์ เนื่องจากเป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นโดยฝ่ายต่อต้าน และมักจะนำมาใช้ในเชิงลบเป็นส่วนใหญ่ แต่จะเรียกกลุ่มของตนว่ากลุ่ม สะลาฟียะฮฺ (Salafiah) หรือ สะละฟียูน (Salafiyoon) แปลว่า กลุ่มที่ยึดมั่นในแนวคิดดั้งเดิมของอิสลาม หรือบางทีเรียกกลุ่มของตนว่า มุวะหิดูน (Muwahidoon) แปลว่า กลุ่มผู้ยึดมั่นในเอกภาพของอัลลอฮ[3]
นอกจากนี้เรายังพบว่า นักเขียนชาวยุโรปบางท่านที่มีชีวิตร่วมสมัยกับ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เองก็ไม่ได้เรียกท่านว่า วะฮาบีย์ แต่กลับเรียกว่าแนวทางของท่านในตอนท้ายว่า มุหัมมะดิยะฮฺ (Muhammaden) [4] มีความเห็นจากนักวิชาการบางท่านว่านักเขียนยุโรปคนแรกที่เรียกกลุ่มของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ว่า วะฮาบีย์ คือเจ้าของหนังสือ (Histoire Des Wahbis) เมื่อปี ค.ศ. 1810 ซึ่งตรงกับ ฮ.ศ. 1225 [5] คือหลังจากที่มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 19 ปี ในขณะเดียวกันยังมีความเห็นอื่นอีกว่า ผู้ที่เริ่มใช้คำว่า วะฮาบีย์ คือผู้ปกครองแห่งอาณาจักรออตโตมาน นั่นคือหลังจากที่เห็นกระแสการฟื้นฟูได้แพร่สะพัดไปทั่วคาบสมุทรอาหรับ ทำให้อำนาจการปกครองของอาณาจักรออตโตมานเสื่อมถอย จึงได้หาวิธีการขจัดขบวนการฟื้นฟูดังกล่าวโดยการกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มลัทธินอกรีตด้วยการตั้งชื่อให้เป็น วะฮาบีย์ [6]
ผู้ที่ได้ประโยชน์และมักใช้คำว่า วะฮาบีย์ เป็นเครื่องมือในการกล่าวหาใส่ร้ายอาจจะแบ่งได้สองพวกคือ
-พวกที่หนึ่ง พวกที่ไม่เห็นด้วยและต่อต้านแนวทางการเผยแพร่ของมุมัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ซึ่งมีหลายกลุ่มทั้งพวกซูฟีย์ พวกมุตะกัลลิมีน[7] พวกที่เคารพสุสานคนตาย สถูปศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ พวกที่เคยได้รับผลประโยชน์จากการมอมเมาผู้คนด้วยพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ซึ่งรวมถึงกลุ่มชีอะห์บางพวกซึ่งให้ความสำคัญกับการเคารพสุสานบรรดาวะลีของพวกเขา[8]
-พวกที่สอง บรรดาคู่ปรับทางการเมืองของราชวงศ์ซาอุดี ซึ่งมีทั้งพวกเติร์ก พวกอียิปต์ รวมถึงเหล่าประเทศนักล่าอาณานิคมของยุโรปตะวันตกที่ต้องการเข้ายึดครองทรัพยากรน้ำมันอันมหาศาลในคาบสมุทร อาระเบีย ซึ่งอาศัยคำว่า วะฮาบีย์ เป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยกระหว่างพวกอาหรับด้วยกัน ตามวิธีการที่เรียกกันว่า “แยกแล้วปกครอง” คำว่า วะฮาบีย์ จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า “ศัพท์ทางการเมือง” ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังการกล่าวหาใส่ความ
ปัจจุบัน คำว่า วะฮาบีย์ กลับมาโดดเด่นอีกครั้งในสื่อต่างๆ ทั่วโลก หลังจากที่เกิดความรุนแรงต่อเนื่องหลายเหตุการณ์นับตั้งแต่วินาศกรรมตึกคู่เวิรล์เทรดเมื่อสามปีที่แล้ว จนถึงบัดนี้ฉายา วะฮาบีย์ นับว่าเป็นเครื่องมือที่ยังคงใช้ได้ผลสำหรับวาทกรรมในการสร้างความหวาดระแวงของอเมริกาและสื่อตะวันตกที่ต้องการสร้างภาพพจน์อันเลวร้ายให้แก่มุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการทำ “สงครามกับการก่อการร้าย” ในยุคสมัยนี้
การใช้วิธีเช่นนี้คงไม่ใช่สิ่งผิดปกติแต่อย่างใด ณ เวลาปัจจุบัน เพราะเป็นเวลานานมาแล้วที่คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจการสร้างวาทกรรมว่า ศาสนาอิสลาม ชาวอาหรับ หรือมุสลิมเป็นศาสนาหรือชาติพันธุ์ที่มีความรุนแรงและคลั่งศาสนา ภาพพจน์เหล่านี้ถูกสร้างโดยเครื่องทางวัฒนธรรม/วิชาการทุกอย่างของตะวันตกอย่างเป็นเครือข่ายยาวนานจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง[9] วะฮาบีย์ ก็เป็นเพียงอีกคำหนึ่งในกระบวนการของวาทกรรมนี้เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม การศึกษาถึงแนวคำสอนของมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ที่บรรดาสานุศิษย์และผู้เลื่อมใสยึดปฏิบัติกันมาจะเป็นบทพิสูจน์เนื้อแท้ของแนวทางที่ถูกกล่าวหานี้ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร
แนวคำสอนของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ
ไม่เป็นการยุติธรรมที่จะพูดถึง มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ และบรรดาผู้ที่เลื่อมใสในตัวท่าน หรือที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นพวก วะฮาบีย์ ในเชิงกล่าวหาว่าเป็นลัทธิสุดโต่งหรือมีแนวความคิดรุนแรงเช่นที่สื่อได้ตีความและพยายามทำให้คนทั่วไปเข้าใจเช่นนั้น โดยไม่ได้ศึกษาถึงแนวคำสอนของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ และบรรดาสานุศิษย์ รวมถึงผู้เลื่อมใสในคำสอนของท่าน จากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิซึ่งมีปรากฏให้เห็นอย่างมากมาย ตั้งแต่งานเขียนและฟัตวา(บทวินิจฉัยศาสนบัญญัติ)ของมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เอง รวมไปถึงงานเขียนและฟัตวาของผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคำสอนของท่านในบรรดานักปราชญ์มุสลิมสมัยปัจจุบัน
การศึกษาแนวคำสอนต่างๆ ของมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ และบรรดาสานุศิษย์ผู้เลื่อมใสโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับแนวความคิดการใช้ความรุนแรง มีความสำคัญที่จะอธิบายถึงข้อเท็จจริงและเป็นการพิสูจน์ว่าเป็นไปตามข้อกล่าวหาที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจหรือไม่เช่นไร
แนวคำสอนโดยรวมของ มุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ
สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่ผู้ต่อต้านนำมาใช้กับ วะฮาบีย์ (ที่พาดพิงถึงมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ)ก็คือการกล่าวหาว่าเป็นลัทธินอกรีต เป็นคำสอนใหม่ที่อยู่นอกกรอบของศาสนาอิสลาม[10] การใส่ร้ายเช่นนี้เป็นการกล่าวหาเพียงลมปาก เพราะปราศจากข้อยืนยันที่หนักแน่น ในทางกลับกันการศึกษาแนวคำสอนของ วะฮาบีย์ ผู้ถูกกล่าวอ้างจะได้ผลลัพธ์ออกมาในทางตรงกันข้ามกับข้อกล่าวหาอย่างสิ้นเชิง เพราะถ้าผู้ใดได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนและเป็นกลางเกี่ยวกับงานเขียนของมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ จะพบว่าแนวทางและหลักการเชิญชวนของท่านไม่ได้เบี่ยงเบนออกจากแนวทางของบรรดาอุละมาอฺอิสลามท่านอื่นๆแต่อย่างใด สาระที่เด่นชัดในเนื้อหาของการเผยแพร่ของท่านคือ
- เน้นในการเรียกร้องสู่เตาฮีด(การให้เอกภาพต่อพระผู้เป็นเจ้า)
- ต่อต้านการอธิบายศาสนาด้วยเหตุผลทางตรรกวิทยา (อิลมุ อัลกะลาม) และเรียกร้องให้มุสลิมยึดปฏิบัติตามคัมภีร์อัลกุรอานและสุนนะฮฺเท่านั้น
- ยึดแนวทางในการอธิบายอัลกุรอานและวจนะของท่านศาสนทูตตามวิธีการของบรรดาผู้รู้ ชาวสะลัฟศอลิหฺเป็นหลักในการเผยแพร่
- ยึดหลักแนวความคิดด้านนิติศาสตร์(ฟิกฮฺ)ตามมัซฮับหันบะลีย์โดยอาศัยหลักฐานเป็นสำคัญ
- ต่อต้านและปฏิเสธอุตริกรรมและความเชื่องมงายต่างๆ ในศาสนา และเรียกร้องให้มวลมุสลิมกลับคืนสู่ความเข้าใจดั้งเดิมของอิสลามตามแบบฉบับของบรรพชนมุสลิมรุ่นแรก[11]
ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาของนักวิชาการบางท่านที่กล่าวถึง แนวทางการเชิญชวน ของมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ อับดุลเราะหฺมาน อัล-รุวัยชิด
“แนวทางของวะฮาบีย์ที่เป็นสะละฟีย์ (หมายถึงแนวทางของมุหัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ) มิใช่เป็นศาสนาใหม่ หรือมัซฮับใหม่ที่อุตริและเบี่ยงเบน ดังที่บรรดาศัตรูของท่านได้ตีแผ่ แต่ทว่ามันเป็นผลพวงจากความพยายามที่บริสุทธิ์ใจเพื่อเรียกร้องให้กลับคืนสู่แบบอย่างแห่งความเรียบง่ายของอิสลามและกลับคืนสู่ต้นกำเนิดแห่งบัญญัติอิสลามที่แท้จริง”[12]
http://www.iqraonline.org/thai/index.php?option=com_content&task=view&id=38&Itemid=146 /Sunday, 02 April 2006
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น