ฮะซัน บิน อะฮฺมัด บิน อับดุรเราะฮฺมาน อัลบันนา
ฮะซัน บิน อะฮฺมัด บิน อับดุรเราะฮฺมาน อัลบันนาน คือผู้ก่อตั้งขบวนการ อิควานุลมุสลิมีน ท่านได้ถือกำเนิดในปี ฮิจญฺเราะฮฺศักราชที่ 1324 ณ เมืองมะฮฺมูดียะฮฺ ใกล้ๆ กับเมืองอเล็กซานเดรีย (อเล็กซานเดรีย เป็นเมืองใหญ่อันดับสองในประเทศอียิปต์ รองจากกรุงไคโร มีประชากรประมาณ 3-5 ล้านคน และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ) ประเทศอียิปต์ บิดาของท่านชื่อ อะฮฺมัด บิน อับดุรเราะฮมาน เป็นหนึ่งในอุละมาอฺ (ผู้รู้) ที่มีความสำรวมตนสูง และเป็นหนึ่งสานุศิษย์ของ เชคอับดุฮฺ ท่านเป็นนักเขียนเกี่ยวกับ อุลูมฮะดีซ (ความรู้เกี่ยวกับฮะดีซ) ซึ่งหนึ่งในหนังสือสำคัญของท่านคือ อัลฟัตฮฺ อัรร็อบบานียฺ ลิตัรตีบ มุสนัด อัลอิมามอะฮฺมัด นอกจากนั้นบิดาของท่านยังมีอาชีพเสริมอย่างอื่นอีกคือ การเข้าเล่มปกหนังสือและซ่อมนาฬิกา ด้วยเหตุนี้ ฉายานามอีกประการหนึ่งของท่านคือ ซาอัตตีย์
“เจ้าจงอย่าได้คิดเป็นอันขาดว่า บรรดาผู้ที่ถูกฆ่าในหนทางของอัลลอฮ์นั้นตาย ทว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ ณ พระผู้อภิบาลของพวกเขาในสภาพที่ได้รับปัจจัยยังชีพ” (อัล-กุรอาน บทอาลิอิมรอน 169)
ทุกวันนี้มุสลิมที่มีความแตกต่างกันในเรื่องผิวพรรณ สายตระกูล เชื้อชาติ และนิกายที่นับถือมีความต้องการที่จะสร้างความเป็นเอกภาพเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งเป็นหน้าทีของทุกคนที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับ และการยืนหยัดต่อสู้กับแนวความคิดแบบเผด็จการ ตลอดจนแนวความคิดที่จะแยกศาสนาออกจากการเมือง พวกเขาจะต้องแสดงความอดกลั้นออกมา บนวิธีถีดังกล่าวบุคคลสำคัญทั้งฝ่ายซุนนียฺและชีอะฮฺได้สำแดงให้เห็นแล้ว และพวกเขาได้ก้าวเดินไปบนหนทางดังกล่าวอย่างองอาจยิ่งนัก แต่สังคมต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า บุคคลสำคัญเหล่านี้เป็นที่รู้จักน้อยมากในสังคมอิสลาม เนื่องจากพวกเขาไม่ค่อยได้รับการแนะนำเท่าที่ควร ประกอบความพยายามที่จะแนะนำพวกเขาต่อสังคมในยุคใหม่มีน้อยมาก ซึ่งแม้แต่นักเขียนไม่มีชื่อเสียงสักคนก็สามารถทำได้ ดังนั้น ในบทความสั้นๆ นี้จึงขอนำเสนอชีวประวัติในมุมมองหนึ่งเชิงวิเคราะห์ของนักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ เชคฮะซัน อัลบันนาน อย่างน้อยสุดเพื่อให้บทความนี้ได้มีโอกาสปลุกเร้ามวลมุสลิมทั้งหลายให้ตื่นจากความหลับใหล ซึ่งเชคฮะซัน อัลบันนาน เป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าสังคมมุสลิมให้ตื่นจากความหลงลืม แม้ว่าท่านจะมีช่วงชีวิตสั้นเพียงเล็กน้อย แต่ตลอดชีวิตของท่านกลับทุ่มเทและประกอบกิจกรรมเพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะ ท่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งขบวนการ อิควานุลมุสลิมีน ท่านได้พยายามทุ่มเทและทำให้กิจกรรมนั้นเสร็จสมบูรณ์ และในที่สุดบั้นปลายสุดท้ายแห่งชีวิตท่านก็ได้รับชะฮีดอย่างสมเกียรติ
กำเนิดและการศึกษา
ฮะซัน บิน อะฮฺมัด บิน อับดุรเราะฮฺมาน อัลบันนาน คือผู้ก่อตั้งขบวนการ อิควานุลมุสลิมีน ท่านได้ถือกำเนิดในปี ฮิจญฺเราะฮฺศักราชที่ 1324 ณ เมืองมะฮฺมูดียะฮฺ ใกล้ๆ กับเมืองอเล็กซานเดรีย (อเล็กซานเดรีย เป็นเมืองใหญ่อันดับสองในประเทศอียิปต์ รองจากกรุงไคโร มีประชากรประมาณ 3-5 ล้านคน และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ) ประเทศอียิปต์ บิดาของท่านชื่อ อะฮฺมัด บิน อับดุรเราะฮมาน เป็นหนึ่งในอุละมาอฺ (ผู้รู้) ที่มีความสำรวมตนสูง และเป็นหนึ่งสานุศิษย์ของ เชคอับดุฮฺ ท่านเป็นนักเขียนเกี่ยวกับ อุลูมฮะดีซ (ความรู้เกี่ยวกับฮะดีซ) ซึ่งหนึ่งในหนังสือสำคัญของท่านคือ อัลฟัตฮฺ อัรร็อบบานียฺ ลิตัรตีบ มุสนัด อัลอิมามอะฮฺมัด นอกจากนั้นบิดาของท่านยังมีอาชีพเสริมอย่างอื่นอีกคือ การเข้าเล่มปกหนังสือและซ่อมนาฬิกา ด้วยเหตุนี้ ฉายานามอีกประการหนึ่งของท่านคือ ซาอัตตีย์ (อัจญฺมูอะตุร ระซาอิล บีตอ หน้า 5)
ฮะซัน บันนาน ได้เติบโตมาท่ามกลางครอบครัวที่มีความเคร่งครัดในศาสนาและเป็นผู้รู้ ท่านได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากบิดาด้านการศึกษา ดังนั้น วิชาการศาสนาเบื้องต้นจึงได้ศึกษาจากโรงเรียนชั้นประถม เราะชาด ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1915 ซึ่งมีความคล้ายเหมือนกับโรงเรียนของรัฐในสมัยนั้น แต่ระบบการศึกษาที่นั้นเหมือนกับโรงเรียนราษฎร์ชั้นนำทั่วๆ ไปในสมัยนี้ นอกจากจะเป็นสถานศึกษาแล้วยังเป็นสถานผลิตนักค้นคว้าอีกต่างหาก
นักศีกษาในโรงเรียนแห่งนี้นอกจากจะศึกษาวิชาการตามระเบียบการของโรงเรียนแล้ว พวกเขายังได้ศึกษาฮะดีซของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ควบคู่ไปด้วย ทุกๆ บ่ายวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์โรงเรียนจะสอนฮะดีซใหม่แก่นักเรียนทุกคน และจะสอนย้ำจนนักเรียนเข้าใจดีกันทุกคน การสอนศีลปการเขียนเรียงความ กฎเกณฑ์การเขียนและแต่งหนังสือ ตลอดจนการสอนด้านวรรณกรรมและการแต่งกาพกลอนก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของโรงเรียนแห่งนี้
ระบบการเรียนของโรงแห่งนี้หาได้น้อยมากในอิยิปต์สมัยนั้น เชคฮะซัน อัลบันนาน ได้ศึกษาอยู่ ณ โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนถึงอายุ 12 ขวบ (บะนอ คอตะรอต 1358 หน้า 7) กล่าวกันว่าในปี ค.ศ. ที่ 1920 ฮะซัน อัลบันนาน ได้ย้ายไปเรียนต่อที่ ดารุลมุอัลลิมีน ซึ่งอายุได้ประมาณ 14 ปี ท่านได้ท่องจำอัล-กุรอานส่วนใหญ่ ณ ที่โรงเรียนแห่งนั้น หลังจากนั้นท่านได้เข้าเรียนเตรียมมหาวิทยาลัย ณ โรงเรียนมะฮฺมูดียะฮฺ ฮะซัน อัลบันนาน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการกำชับความดี และห้ามปรามความชั่วมาตั้งแต่เด็ก ท่านจะเชิญชวนประชาชนไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้ ท่านกับเพื่อนทีมีแนวความคิดเดียวกันจะพากันเข้ากลุ่ม ญัมอียัตอัคลากวัลอาดาบ หลังจากนั้นในเวลาต่อมาท่านได้กลายเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม และเป็นสมาชิกของ อันญุมันมันอ์นาระวา (มัจญฺมูอะตุรริซาละฮฺ หน้า 5) ฮะซัน อันบันนาน กล่าวว่า กิจกรรมของสถาบันแห่งนี้เน้นเรื่องการเตือนและกำชับความดี แต่ได้มีกลุ่มหนึ่งเข้ามาในสถาบันและต้องการขยายงานของสถาบันให้กว้างออกไป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางรากฐานของสถาบันแห่งนี้ ประกอบด้วย มุฮัมมัด อะลี บะดีร ผู้อำนวยการด้านวัฒนธรรม ละบีบ นะวาร นักธุรกิจ อับดุล มุตะอาล ซันกัลป์ และอับดุรเราะฮฺมาน ซาอัตตียฺ พนักงานการรถไฟ และอาจารย์วิศวกร สะอีด บะดีร ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่ของสถาบันแห่งนี้คือ การกำชับความดีงามและห้ามปรามความชั่วร้าย กิจกรรมและภารกิจต่างๆ ได้รับการแบ่งสรรภายในสมาชิกของกลุ่ม กิจกรรมที่สำคัญที่สุดของสถาบันคือ การเตือนและให้คำแนะนำ โดยเป็นจดหมายส่งไปยังผู้กระทำความผิด ภารกิจส่วนใหญ่ด้านนี้จะใช้ให้เยาวชนเป็นผู้กระทำและหนึ่งในเยาวชนเหล่านั้นคือ ฮะซัน อัลบันนาน ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุยังไม่ถึง 14 ปีด้วยซ้ำไป (บะนา คอตะรอต หน้า 14)
การเข้ารับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
ฮะซัน อัลบันนาน ขณะนั้นมีอายุยังไม่ครบ 14 ปีบริบูรณ์ แต่ต้องเลือกวิถีชีวิตหนึ่งในสองทางนี้คือ เข้าศึกษาศาสนาในวิทยาลัยศาสนา ณ เมืองอเล็กซานเดรีย เพื่อจะได้เป็นบันไดก้าวไปสู่การศึกษาในมหาวิทยาลัย อัลอัซฮัร ต่อไป หรือเข้าศึกษาเข้าศึกษาในวิทยาครู ณ เมืองเดะมันฮูร เพื่อว่าหลังจากศึกษาผ่านไป 3 ปี จะได้เป็นครูสอนในโรงต่างๆ และแล้วฮะซัน อัลบันนานได้เลือกทางเลือกที่สอง ท่านได้ลงสมัครสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับการศึกษา แต่ในช่วงนั้นท่านต้องเผชิญกับปัญหา 2 ประการ คือ ประการแรกอายุน้อยไม่ถึงเกณฑ์ ประการที่สอง ยังท่องจำอัล-กุรอานไม่จบทั้งเล่ม แต่เนื่องจากว่าผู้อำนวยเป็นคนใจดี และมีมารยาทอันดีงามท่านไม่ใส่ใจต่ออายุที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ แต่มีเงื่อนไขในการรับว่า เชคฮะซัน ต้องท่องจำอัล-กุรอานทั้งเล่ม ด้วยเหตุนี้ ในเวลาต่อมาเชคฮะซัน อัลบันนาน ได้กลายเป็นนักศึกษาของวิทยาครูแห่งนั้นไปโดยปริยาย (อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 16)
ท่านเชคฮะซันได้พำนักอยู่ในเมือง เดะมันฮูร นานถึง 3 ปี นอกจากจะประสบความสำเร็จด้านการศึกษาแล้ว ท่านยังสนใจศึกษาด้านเอรฟานและอิบาดะฮฺอีกต่างหาก ท่านได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า
“หนึ่งในช่วงชีวิตที่สำคัญของฉันคือ ช่วง 3 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงในอียิปต์ กล่าวคือตั้งแต่ปี ค.ศ.ที่ 1920 – 1923 ซึ่งในช่วงนี้ฉันมกหมุ่นอยู่กับเอรฟานและการอิบาดะฮฺ ฉันได้ถอดถอนจิตใจโดยตั้งมั่นอยู่กับวิชาเอรฟานและการตะเซาวุฟในเมืองนี้ ฉันได้รู้จักหลุมฝังศพของท่านเชคฮะซะนัยนฺ ฮัซซอฟฟียฺ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของสำนักคิดฮัซซอฟฟียะฮฺ และฉันยังได้รู้จักกลุ่มชนที่มีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ผู้ที่ปฏิบัติตามแนวคิดของเขา ฉันได้ผสมผสานตัวเองเข้ากับพวกเขา และท่องไปตามแนวทางที่พวกเขาได้ก้าวเดินไป (อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 32)
การมุ่งมั่นอยู่กับการอิบาดะฮฺ และการขัดเกลาตนเองบนวิถีทางดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนเราะมะฎอนอันจำเริญ เชคฮะซันยิ่งเพิ่มความมุ่งมานะของตนเป็นหลายเท่า ขณะเดียวกันท่านไม่เคยละทิ้งกิจกรรมด้านการเผยแผ่เลย ทุกวันเมื่อได้เวลาซุฮฺริ ท่านจะเป็นผู้อะซานบอกเวลานมาซเสมอ และในบทเรียนใดถ้าตรงกับเวลานมาซท่านจะขออนุญาตอาจารย์ออกไปนมาซก่อนเสมอ เพื่อว่าความประเสริฐของการนมาซตรงเวลาจะได้ไม่หลุดลอยมือไป
การเข้าศึกษาในระดับสูง
ฮะซัน อัลบันนาน เมื่อศึกษาจบในระดับเบื้องต้นแล้ว ท่านได้เดินทางเข้ากอเฮะเราะฮฺ เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. ที่ 1923 เพื่อลงสมัครเข้าศึกษาในระดับสูงต่อไป ณ เมืองนี้ แต่ท่านก็สามารถผ่านพ้นอุปสรรคนานัปการไปได้ และได้เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษา ณ สถานศึกษาแห่งนั้นและจบการศึกษาออกมาอย่างภาคภูมิใจ ซึ่งขณะนั้นอายุของท่านไม่ครบ 17 ปี บริบูรณ์ด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุนี้ บรรดาคณาจารย์และนักศึกษาหลายท่านที่ได้พบเห็นเชคฮะซัน อัลบันนาน ต่างแสดงความประหลาดใจในความสามารถของเชค ในค่ำคืนก่อนเข้าสอบนั้นเชคฮะซัน ได้นอนหลับฝันเห็นความสำเร็จของตนเองในการสอบครั้งนี้ ซึ่งนับว่าความฝันนั้นได้เป็นกำลังใจสำคัญในความสำเร็จของเชค และท่านคิดเสมอว่านั่นคือ ความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ
ฮะซัน อัลบันนาน ได้ศึกษาอยู่ในวิทยาลัยแห่งนั้นนานถึง 4 ปีด้วยกัน และสำเร็จการศึกษาเมื่อเดือน มิถุนายน ปี ค.ศ. 1927 โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 69)
เมืองอิสมาอีลคือ ฐานอันมั่นคงในการก่อตั้งขบวนการอิควานุลมุสลิม
ปกติแล้วอียิปต์มักจะส่งนักศึกษาเกียรตินิยมไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ แต่เผอิญว่าในปีนั้นโครงการดังกล่าวได้ปิดลงชั่วคราว ด้วยเหตุนี้เอง เชคฮะซัน อัลบันนาน หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. ที่ 1927 โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ท่านได้ถูกส่งตัวไปสอนหนังสือยังเมือง อิสมาอีล ในฐานะของครูประชาบาล วันที่เชคฮะซันเตรียมตัวเดินทางไปสอนหนังสือนั้น ท่านไม่เคยลืมเลือนกิจกรรมด้านการเผยแพร่เลยแม้แต่น้อย นอกจากนั้นท่านยังมีเพื่อนฝูงจำนวนมากมายที่มีแนวความคิดเดียวกัน และอาศัยอยู่ตามเมืองต่างๆ เช่น อะฮฺมัด ซุกรอ อยู่ในเมือง มะฮมูดียะฮฺ อะฮฺมัด อัซกะรียะฮฺ และอะฮฺมัด อับดุลมะญีด บุคคลเหล่านี้คือเพื่อนตายของเชคฮะซัน เหมือนกับเป็นความประสงค์ของพระเจ้าที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นแยกย้ายกันออกไปตามเมืองต่างๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการเผยแพร่
ประมาณเกือบปีหลังจากนั้น องค์กรอิควานุลมุสลีมีน (มุสลิมภราดรภาพ) และสาขาที่อยู่ในเมืองอิสมาอีลียะฮฺก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้น ในเวลานั้นเองที่เชคฮะซันได้ค่อยนำเสนอความคิดของตน เพื่อฟื้นศาสนาและอำนาจทางการเมืองและสังคม ในปี ค.ศ.ที่ 1928 ท่านก็สามารถจัดตั้งสมาชิกกลุ่มอิคลานุลมุสลิมีนได้สำเร็จ ท่านได้ใช้โอกาสในช่วงนั้นสอน กล่าวสุนทรพจน์และเขียนบทความ พร้อมกับอธิบายถึงแก่นและรากฐานของกลุ่มภราดรภาพที่จัดตั้งขึ้น และสำหรับงานนั้นท่านได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ ขณะที่เดินทางท่านได้นำเอาบทบัญญัติของศาสนาติดตัวไปเผยแพร่ด้วย ในช่วงนั้นเองท่านเชคได้เริ่มต่อสู้กับความเสื่อมทรามและความชั่วร้ายต่างๆ ของการไม่มีศาสนา (มูซาวี บะญุนูดียฺ 1383 เล่ม 12 หน้า 561)
ในปี ค.ศ.ที่ 1932 ท่านได้ถูกย้ายไปเป็นครูสอนในเมืองกอเฮเราะฮฺ และกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นภายในเมืองนี้ด้วยเช่นกัน แนวความคิด คำปราศรัย และบทความของฮะซัน อัลบันนานได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อิควานุลมุสลิมีน และในที่สุดได้ถูกรวบรวมเป็นหนังสือภายใต้ชื่อว่า มัจญฺมูอะตุรเราะซาอิล ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากนักการเมืองและนักการศาสนา นอกจากนั้นประชาชนยังให้การต้อนรับกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนอย่างดี การกระทำเช่นนั้นเองได้กลายเป็นสาเหตุทำให้ฮะซัน อัลบันนานต้องอุทิศชีวิตของตนเพื่อกิจกรรมดังกล่าว ชนิดที่กล่าวได้ว่าถ้าหากต้องการศึกษาชีวประวัติของเขา สามารถศึกษาได้จากประวัติของขบวนการอิควานุลมุสลิมีน
ประวัติขบวนการอิควานุลมุสลิมีน
ประมาณเดือน ซิลกออิดะฮฺ ปี 1347 ตรงกับเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1928 เพื่อนสนิทของเชคฮะซัน อัลบันนานจำนวน 6 คน ตกอยู่ภายใต้อิทธิบทเรียนและการสัมมนาของฮะซัน อัลบันนาน พวกเขาได้เดินทางมาพบเชคฮะซัน ซึ่งพวกเขาได้แก่ ฮาฟิซ อับดุลฮะมี อะฮฺมัด เฮฏรียฺ ฟุอาด อิบรอฮีม อับดุรเราะฮฺมาน ฮะบีบุลลอฮฺ อิสมาอีล อิซซะฮฺ และซะกี มัฆริบบียฺ ทั้งหมดคือผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการอิควานุลมุสลิมีนรุ่นแรก พวกเขาต่างได้กล่าวกับฮะซัน อัลบันนานด้วยใจรักว่า
“พวกเราได้ฟังบทเรียนของท่าน คำพูดของท่านมีอิทธิพลต่อพวกเราเป็นอย่างยิ่ง แต่เพื่อความเข้มแข็งของอิสลามและชัยชนะของมุสลิม พวกเราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร พวกเราได้หนีชีวิตที่ต่ำทรามและคับแคบมายังท่าน ซึ่งท่านประจักษ์ชัดแก่สายตาแล้วว่ามุสลิมอาหรับในประเทศนี้ไม่มีฐานันดร และเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาไม่มีค่าและไม่มีศักดิ์ศรี และพวกเราก็ไม่มีค่าอันใดนอกจากเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือดเท่านั้นเอง แต่ทว่าท่านนั้นเข้าใจวิธีการต่อสู้ดี ส่วนพวกเขาไม่เข้าใจวิธีการเหล่านั้น จุดประสงค์ของพวกเราที่มาที่นี่ เพื่อต้องการประกาศว่าพวกเราพร้อมที่จะต่อสู้และรับใช้อิสลาม เพื่อพวกเราจะได้สามารถปลดเปลื้องหน้าที่อันจำเป็น ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) ให้หมดไปจากไหล่ทั้งสองของเรา เนื่องจากประชาชาติใดก็ตามถ้าเขาได้ให้สัญญากับพระเจ้าด้วยใจบริสุทธิ์ พวกเขาต้องได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน แม้ว่าพวกเขาจะมีจำนวนน้อยนิดก็ตาม อาวุธนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญแต่ประการใด” (บะนอ คอเตะรอต หน้า 88)
คำพูดที่ร้อนรุ่มและเต็มไปด้วยความจริงใจช่างกินใจฮะซัน บันนานเสียเหลือเกิน เขาได้กล่าวอย่างลุ่มลึกว่า “ขออัลลอฮฺ ทรงพึงพอพระทัยพวกท่าน พวกท่านได้ยอมจำนวนด้วยหัวใจบริสุทธ์ ขอพระองค์โปรดประทานความสำเร็จให้พวกเราเป็นผู้รับใช้ประชาชน และรับใช้สิ่งที่พระองค์ทรงพอพระทัยด้วยเถิด พวกเราต้องให้สัตยาบันกับพระองค์ และอุทิศตนเพื่อรับใช้ขบวนการอิสลาม (อ้างแล้วเล่มเดิมหน้า 69)
หลังจากเหตุการณ์เหล่านั้นพวกเขาต่างให้สัตยาบัน และสาบานในนามพระเจ้าว่าตราบที่ยังมีชีวิตอยู่พวกเขาจะเป็นพี่น้องกัน และจะไม่ยอมถอดถอนชีวิตเพื่อการรับใช้อิสลามอย่างเด็ดขาด สมาชิกของขบวนการคนหนึ่งกล่าวกับฮะซัน อัลบันนานว่า พวกเขาจะตั้งชื่อกลุ่มของเราว่าอะไร ฮะซัน อัลบันนาน กล่าวตอบว่า เราต้องหลีกเลี่ยงการทำงานแบบผักชีโรยหน้า กิจกรรมที่เราจะทำต่อไปในวันข้างหน้ามันหนักหนายิ่งนัก เราเปรียบเสมือนเป็นหินก้อนแรกที่เป็นรากฐานของสังคม ศีลธรรม และแนวความคิดของคนรุ่นต่อไป เราเป็นกลุ่มมุสลิมที่เป็นน้องกันได้มีเป้าหมายในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อรับใช้มุสลิมและอิสลาม ด้วยเหตุนี้ พวกเราคือ อิควานุลมุสลิมีน
กิจกรรมของอิควานุลมุสลิมีนในสมัยของฮะซัน อัลบันนาน
กลุ่มอิควานุลมุสลิมีน คือกลุ่มองค์กรมุสลิมที่ดำเนินกิจกรรมด้านการเมืองและการเผยแผ่ อันดับแรกพวกเขาได้จัดตั้งขึ้นที่เมือง อิสมาอีลียะฮฺ ประเทศอียิปต์ หลังจากนั้นได้จัดตั้งที่เมืองกอเฮเราะฮฺ หลังจากนั้นได้ขยายไปจัดตั้งในประเทศอาหรับอื่นๆ อีกเป้าหมายของกลุ่มคือ การทำกิจกรรมเพื่อสังคมมุสลิม ในปี ค.ศ. ที่ 1931 กลุ่มได้จัดพิมพ์วารสารฉบับหนึ่งเพื่อแจ้งเป้าหมายของขบวนการ ซึ่งผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทำคือ ฮะซัน อัลบันนาน ซึ่งเขาได้รับฉายาในตอนนั้นว่า มุรชิดอาม ในปี ค.ศ. ที่ 1932 กลุ่มอิควานุลมุสลิมีนต้องย้ายไปรวมตัวกันที่เมือง กอเฮเราะฮฺ หลังจากนั้นงานประชุมและงานสัมมนาได้ถูกจัดขึ้นหลายครั้งในนามของ ขบวนการอิควานุลมุสลิมีน
หลังจากการจัดประชุมครั้งที่ 3 แล้ว ในปี ค.ศ. ที่ 1935 กลุ่มการเมืองภายใต้ชื่อ อัลญะวาละฮฺ ก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับการจัดตั้งโดยบุคคลทีมีชื่อเสียงระดับผู้กำกับถึง 7 คนด้วยกัน ในปี ค.ศ.ที่ 1936 เนื่องในวาระแห่งการเฉลิมฉลองการปกครองของ มาลิกฟารูก กลุ่มอิควานุลมุสลิมีนได้จัดสัมมนาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และองค์กรดังกล่าวได้ให้การสนับสนุนกษัตริย์องค์ใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ขบวนการอิควานุลมุสลิมีน ได้จัดงามสัมมนาขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในปี ค.ศ.ที่ 1938 เพื่อเฉลิมฉลองปีที่สิบของการจัดตั้งกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน งามสัมมนาต่างๆ ที่ถูกจัดขึ้นนั้นเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีงามของสมาชิกกลุ่ม เนื่องจากโครงสร้างและเป้าหมายของขบวนการ ได้ถูกประกาศออกไปอย่างชัดเจนโดย ฮะซัน อัลบันนาน และได้มีการตัดสินร่วมกัน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเท่ากับได้นำผู้คนเข้าสู่ยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ไม่สามารถละเลยสถานการณ์การเมืองไปได้เลย บางทีอาจกล่าวได้ว่าเป้าหมายของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ภายหลังจากงานสัมมนาครั้งที่ 5 คือ การชี้แจงให้เห็นถึงการกดขี่และการกลั่นแกล้งประเทศมุสลิม โดยผู้ปกครองต่างชาติ ซึ่งกลุ่มสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลอิสลามอิสระขึ้นมา ในช่วงนั้นอาจเป็นไปได้ว่ามีปัจจัยที่เป็นตัวการสำคัญอยู่ 3 ประการ ที่เป็นอุปสรรคด้านการเมืองของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ซึ่งได้แก่ (1) ปัญหาปาเลสไตน์ได้รุ่มร้อนขึ้นมาฉับพลัน (2) สนธิสัญญาที่ถูกจัดทำขึ้นระหว่างรัฐบาลอียิปต์กับรัฐบาลอังกฤษ ในปี ค.ศ.ที่ 1936 ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวต่อต้านกลุมอิควานุลมุสลิมีน (3) การเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสาเหตุทำให้การเมือง การปกครอง และสังคมในอียิปต์ต้องหยุดชะงักลงทันที่” (มูซาวี เบะญุนูรดียฺ ปี 1377 หน้า 271
ด้วยเหตุนี้ ในปี ค.ศ.1928 จนถึงปี ค.ศ. 1938 คือช่วงของการก่อตั้งกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน และความมั่นคงของพวกเขา แต่ในปี ค.ศ. ที่1938 จนถึงปี 1948 กลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ได้เติบโตและขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นพรรคทีมีอำนาจทางการเมือง ซึ่งได้อวดแสนยานุภาพให้ประชาชนชาวอียิปต์ได้ประจักชัดแก่สายตา อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงสังคม ในปี ค.ศ.ที่ 1941 งานสัมมนาครั้งที่ 6 ก็ได้ถูกจัดขึ้นที่เมืองกอเฮเราะฮฺ ในครั้งนี้กลุ่มอิควานุลมุสลิมีนได้ตัดสินใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัญหาความรุนแรงในประเทศปาเลสไตน์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิวไซออนิสต์ได้ก่อกรรมทำเข็ญบนพื้นแผ่นดินอาหรับอย่างมากาย กลุ่มอิควานุลมุสลิมีน จึงตัดสินใจช่วยเหลือปาเลสไตน์ทั้งกำลังเงินและกำลังทรัพย์ ทำให้มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยเข้าร่วมต่อสู้พร้อมกับชาวปาเลสไตน์ การเข้าร่วมของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ทำให้พวกเขาได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน และทำให้โลกอิสลามต่างรู้จักเขาและให้ความรักนับถือพวกเขามากขึ้น อีกด้านหนึ่งรัฐบาลอียิปต์และอังกฤษ เกิดความกังวลไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดอาวุธของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน และความพร้อมของพวกเขายิ่งทำให้ฝ่ายรัฐบาลเกิดความเกรงขามมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง มาลิกฟารูก จึงได้ออกคำสั่งให้รัฐบาลจัดการสลายขบวนการ อิควานุลมุสลิมีน เสียโดยเร็วราวเดือน กันยายน ปี ค.ศ. ที่ 1948 ทำให้สมาชิกจำนวนมากของกลุ่มถูกจับกุม ทรัพย์สินและสิ่งมีค่าอื่นๆ ถูกยึดครอบครอง หลังจากนั้นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านขบวนการอิควานุลมุสลิมีน จากทุกด้านก็ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากขบวนการได้สิ้นสุดลงประมาณ วันที่ 28 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1948 นะฟะรอชียฺ นายกรัฐมนตรีก็ได้ถูกกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนลอบสังหาร และในเวลาต่อมา เชคฮะซัน อัลบันนาน ก็ได้รับชะฮาดะฮฺ (อ้างแล้วเล่มเดิมหน้า 272)
ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการจัดตั้งกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนและบทบาทของอัลบันนาน
ปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จคือ การต่อสู้อย่างต่อเนื่องของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน และความเข้มแข็งบนแนวทางการต่อสู้ของพวกเขา ซึ่งฮะซัน อัลบันนาน นั้นมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำการต่อสู้ อันประกอบไปด้วย
1) การจัดตั้งกลุ่มกองกำลังอย่างเข้มแข็งของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน อันเป็นผลสำเร็จที่เกิดจากแนวคิดหลากหลายของพวกเขาในการต่อสู้ แน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการจัดตั้งกลุ่มอย่างชาญฉลาด และแนวคิดในการจัดตั้งของฮะซัน อัลบันนาน ประกอบกับอิทธิของเขาที่มีอยู่ในหมู่ผู้ปฏิบัติตาม ซึ่งบางส่วนอันเป็นรากฐานสำคัญของการจัดตั้งกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน มีบันทึกอยู่ในหนังสือ ริซาละตุลตะอฺลีม (บะนอ มัจญฺมูอะตุรระซาอิล ริซาละตุลตะอฺลีม หน้า 356)
บนพื้นฐานของการจัดการดังกล่าวจึงทำให้กลุ่มอิควานุลมุสลิมีนมีความเข้มแข็ง ดังที่กล่าวไปแล้วว่าในปี ค.ศ. 1948 กลุ่มอิควานุลมุสลิมีนมีสมาชิกเป็นชีอะฮฺประมาณ 2500 คน และมีสมาชิกเป็นซุนนียฺในอียิปต์ประมาณ 500,000 คน (รัฟอัต 1977 หน้า 81) บางทีอาจกล่าวได้ว่าส่วนที่สำคัญที่สุดในการจัดตั้งกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนคือ การจัดการอย่างลับๆ ดังจะเห็นว่า วันที่เริ่มก่อตั้งกลุ่มนั้นไม่ตรงกันกล่าวว่าได้เริ่มจัดตั้งกลุ่มจนถึงปี ค.ศ. 1942 และสมาชิกของกลุ่มก็ไม่เปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่สมาชิกพิเศษของกลุ่มที่มีความพร้อมที่จะเสียสละชีพ จะได้รับการเลือกสรรพิเศษไม่มีใครรู้ พวกเขาจะเชื่อฟังปฏิบัติหัวหน้าผู้ช้ำทั่วไปเพียงคนเดียว และมีการสาบานตนเพื่อการญิฮาดในหนทางของพระเจ้า นอกจากนั้นพวกเขาทุกคนยังมีความพร้อมในการใช้อาวุธ ซึ่งผู้นำในเวลานั้นมีเพียงฮะซัน อัลบันนาน รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว และจะรับรู้หน้าที่ความเคลื่อนไหวของพวกเขาตลอดเวลา (มูซาวี บะญุนูดียฺ หน้า 275)
2) การเผยแผ่อย่างกว้างขวางออกไปทั่วโลก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างสูง นับตั้งแต่ได้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา พวกเขาได้วางนโยบายโฆษณาและเผยแพร่แนวความคิดของอิควานุลมุสลิมีน ไปอย่างกว้างขวางทั่วโลกทั้งในอียิปต์และนอกประเทศ ฮะซัน ได้พยายามสร้างความสัมพันธ์ติดต่อทางความคิด และจัดตั้งกลุ่มความเป็นพี่น้องกันระหว่างกลุ่มอิควานกับพี่น้องมุสลิมทั่วโลก ดังนั้น เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายพวกเขาได้ดำเนินการ 3 อย่างดังต่อไปนี้ (1) ทำการเผยแผ่ภายในประเทศอียิปต์ (2) ส่งข่าวสารไปยังผู้นำประเทศมุสลิมโดยทั่วถึง (3) จัดตั้งกลุ่มสาขาของอิควานในโลกอิสลาม
การเผยแพร่ภายในประเทศอียิปต์ ถือว่าเป็นก้าวแรกทีมีความสำคัญอย่างยิ่งของพวกเขา การจัดทพวารสาร อัลอิควานุลมุสลิมีน ในปี ค.ศ. 1933 ซึ่งถือเป็นสิ่งพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการของกลุ่ม และได้มีการจัดพิมพ์ติดต่อกันนานถึง 14 ปี หลังจากนั้นยังได้พิมพ์วารสารรายสัปดาห์ รายเดือน รายปลัก และฉบับพิเศษในระดับต่างๆ เพื่อมวลชนที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยังไม่พิมพ์หนังสือมากเกินกว่า 100 เรื่อง เพื่อเผยแผ่แนวคิดของกลุ่มอิควาน วารสารรายสัปดาห์ อันนะซีร อัดดะวะฮฺ อัลมุสลิมูน จัดได้ว่าเป็นวารสารที่มีชื่อเสียงที่สุดของกลุ่ม (อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 276)
หลังจากกลุ่มได้เผยแพร่ในอิยิปต์ออกไปอย่างกว้างขวางแล้ว ฮะซัน อัลบันนาน ได้พยายามที่จะเผยแผ่กลุ่มให้กว้างออกไปในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประเทศมุสลิมด้วยกัน ในปี ค.ศ. ที่ 1935 และหลังจากนั้น ฮะซัน ได้ส่งจดหมายไปยังกษัตริย์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในกลุ่มประเทศอาหรับ และประชาชมมุสลิมอย่างมากมาย ซึ่งเป้าหมายสำคัญในความต้องการของเขาคือ การนำเอากฎหมายอิสลามออกมาปฏิบัติใช้ในสังคม และการปรับปรุงแก้ไขสังคมอิสลามบนพื้นฐานของศาสนา อีกทั้งได้เชิญชวนให้หลีกเลี่ยงแนวคิดของตะวันตก จดหมายดังกล่าวถ้าพิจารณาในแง่ของคำพูดถือว่าเข้มแข็งมาก แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของสาระคือคำตักเตือนอันดีงาม แต่แฝงไว้ด้วยพลังอำนาจ หลังจากได้แต่งตั้งตัวแทนของเขาแล้วนามว่า (ฮุฏ็อยบีย์) เขาก็ยังดำเนินตามนโยบายเดิมต่อไป (อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 277)
3) ความร่วมมือสโลแกนและนโยบายของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนคือ ความบริสุทธิ์ใจเพื่ออิสลาม การปฏิบัติตัวอย่างลับของพวกเขา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นำกลุ่มอิควานไปสู่ความสำเร็จ ดังจะเห็นว่าจดหมายต่างๆ ที่เขาได้ส่งออกไปนั้นจะสอดคล้องและตรงกับคำสอนของอัล-กุรอานและอิสลามทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ จดหมายของเขาจึงกินใจของมุสลิมทุกคนที่ มีความเชื่อในศาสนาและมีความต้องการอิสลามอยู่ทุกลมหายใจ พวกเขาต่างตอบรับสโลแกนต่างๆ และให้ความร่วมมือกับกลุ่มอิควานเป็นอย่างดี สโลแกนที่กลุ่มอิควานได้ใช้ เข่น ความเป็นพี่น้อง เกียรติยศ สุภาพบุรุษ เอกภาพ อำนาจ รัฐบาล การดำรงชีพ การภักดีต่อพระเจ้า ในร่มเงาของอัล-กุรอานและซุนนะฮฺ การอยู่ร่วมกับมวลชน ความสมถะ และสโลแกนอีกมากมายที่พวกเขาได้ใช้ ซึ่งยิ่งนานวันเข้ากลุ่มอิควานุลมุสลิมีนกลายเป็นที่รักของมวลมุสลิมโดยทั่วไป
บทบาทของฮะซัน อัลบันนานกับกลุ่มมุสลิมต่างๆ ร่วมสมัย
การศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและการดำรงชีพของ ฮะซัน อัลบันนาน จะเห็นได้ว่าเขามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่ม และการเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมต่างๆ ทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่านับตั้งแต่วันที่เขาได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้ ในเมืองมะฮมูดียะฮฺ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ การเริ่มต่อต้านกำลังต่างชาติก็ได้เริ่มต้นจากเมืองนี้ การจัดตั้งกลุ่ม การเดินขบวนต่อต้าน และการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมเติบโตและแพร่ขยายออกไปยังเมืองต่างๆ ประกอบกับจิตวิญญาณในการต่อสู้ของเขามีอย่างมากมาย ในทางตรงกันข้ามกลุ่มเผยแพร่ คริสเตียนก็ได้พยายามดำเนินกิจกรรมของตนอย่างเข้มแข็ง ขบวนการแนวคิดใหม่ภายใต้การชี้นำของนักเขียนบางคน และนักวิชาการบางท่าน เช่น สะลามัด มูซา ต่างเรียกร้องเชิญชวนประชาชนไปสู่แนวคิดของการแยกการเมืองออกจากศาสนา หรือเรียกอีกอย่างว่ากลุ่มพัฒนา พวกเขาหลงใหลและนิยมแนวคิดของตะวันตก ดังนั้น การเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่เรียกตนว่าเป็นกลุ่มพัฒนา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนมีชื่อเสียงมากมาย นอกจากนั้นพวกเขายังมีอิทธิด้านเศรษฐกิจของอียิปต์อีกด้วย สิ่งเหล่านี้คือความเฉพาะตัวของสังคมอียิปต์ในสมัยนั้น บางครั้งนักนักวิชาการมุสลิมบางคน เช่น ลุฏฟียฺ ซัยยิด ฏอฮาฮุซัยนฺ อะลีอับดุรเราะซาก ต่างแสดงความเห็นและกล่าวปราศรัยถึงเรื่อง การแยกศาสนาออกจากการเมือง สำคัญไปกว่านั้นเมืออุซมาน ได้ขึ้นมาปกครอง ในปี ค.ศ. 1924 เขาได้แบ่งประเทศในสมัยนั้นเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย ซึ่งถือว่าสร้างความตกต่ำทางการเมืองของอิยิปต์และประเทศอาหรับใกล้เคียงอย่างยิ่ง แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร จะพยายามแก้ไขโดยการฟื้นฟูเรื่อ กาลิบ ก็ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด แต่ยังมีตัวการอื่นอีกมาก เช่น การแข่งขันของบางคนในตำแหน่งกาลิบ แต่ความพยายามของพวกเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเคย (บียูมี ค.ศ. 1979 หน้า 50-60 มูซาวี บะญะนูดีย หน้า 279)
ในสถานการณ์เช่นนั้นองค์กรอิสลามใหม่ได้เกิดขึ้น สถิติขององค์ใหม่ในปีก่อนสงครามโลกครั้งแรก ได้เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์น่าทึ่งใจ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่ออิสลามและมีเจตนาเพื่อการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอิสลาม ในช่วงนั้นได้มีกลุ่มเกิดขึ้นถึง 135 กลุ่มด้วยกัน บางทีอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดในช่วงนั้นน่าจะเป็น ญัมอียะตุ อัชชะบาต อัลมุสลิมีน (กลุ่มเยาวชนมุสลิมิน) ได้ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1927 เป็นกลุ่มดำเนินกิจกรรมด้านการเมือง ขณะนั้นฮะซัน อัลบันนานได้ถือกำเนิดขึ้นมาพอดี เป็นช่วงที่กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ ด้านหนึ่งเขาได้เห็นความตกต่ำในระบบการปกครองของประเทศมุสลิม และเห็นความแตกแยกของของมุสลิม อีกด้านหนึ่งเขาได้เห็นขบวนการสะละฟียและกลุ่มชนของเขา ซึ่งให้การยอมรับการปกครองของชนสมัยก่อนในอียิปต์
แม้ว่าบิดาของฮะซัน อัลบันนานจะเป็นหนึ่งในสานุศิษย์ของเชคมุฮัมมัด อับดุฮฺ ก็ตาม และฮะซัน อัลบันนานก็ได้รับอิทธิพลจากเขาไม่น้อย แต่จำเป็นต้องกล่าวว่า อิทธิพลส่วนใหญ่เขาได้รับจากซัยยิดญะมาลุดดีน อะซัดออบอดี และหลังจากนั้นเขาได้รับอิทธิพลจากเราะชีด ริฎอ ซัยยิดญะมาลุดดีน นั้นอยู่ในฐานะของบิดาแห่งจิตวิญญาณอิควานุล ขณะที่กลุ่มอิควานนั้นยอมรับว่า ฮะซัน อัลบันนาน นั้นเป็นซัยยิดญะมาลุดดีนแห่งยุคสมัยของตน ซึ่งเท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นมาตรฐานการยอมรับซัยยิดญะมาลุดดีนของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน แต่ฮะซัน อัลบันนาน นั้นได้เห็นเราะชีด ริฎอ และได้ปฏิบัติตามเขาโดยตรง ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่าแนวคิดสะละฟีย์ และความนิยมในซุนนะฮฺของริฏอนั้น มีอิทธิพลกับเขาอย่างรุนแรง (บะญุนูดดียฺ)
ฉะนั้น สามารถกล่าวได้ว่าการกำเนิดของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน โดยการนำของฮะซัน อัลบันนานนั้น เป็นคำตอบที่สมบูรณ์สำหรับสถานการณ์โดยทั่วไปของมุสลิมในยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ของอียิปต์ และความไร้สามารถของบรรดานักปกครองประเทศอิสลาม และอาหรับในสมัยนั้น แต่แนวความคิดของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน และแนวทางปฏิบัติของพวกเขา ตลอดจนเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ที่สัมพันธ์ไปยังพวกเขาจะสามารถช่วยเหลือภาวะตกต่ำของโลกอิสลาม และประเทศอาหรับได้มากน้อยเพียงใดคือปัญหาที่ต้องร่วมกันวิเคราะห์ต่อไป ตามความเป็นจริงแล้ว กลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ถือว่าเป็นขบวนการใหม่ทางความคิดและการเมืองในรูปแบบอิสลาม ซึ่งผลงานของพวกเขาเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในสังคมโลกมุสลิม หลังจากได้จัดตั้งกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนในอียิปต์แล้ว สาขาของกลุ่มก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในประเทศซีเรีย ซูดาน จอร์แดน เลบานอน ปาเลสไตน์ อินโดนีเซีย ปากิสถาน ตูนีเซีย แอลจีเรีย มาร็อกโก ลิเบีย ซาอุดิอาระเบีย อีรัก และประเทศอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซีย นอกจากนั้นกลุ่มอิสลามในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอิสลาม หรือแม้แต่มุสลิมในประเทศแถบตะวันตก ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้อิทธิทางความคิดของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนทั้งสิ้น หรือการจัดตั้งกลุ่มของพวกเขาล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม
แม้ว่าประเทศอิหร่านและชีอะฮฺในประเทศอิสลามต่างๆ หรืออาหรับจะไม่ได้ยอมรับกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการปฏิบัติของชีอะฮฺในประเทศอิรักและอิหร่านจะไม่ได้รับอิทธิพลทางความคิดและการยืนหยัดต่อสู้ของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ดังคำกล่าวของผู้นำบางคนที่ก่อตั้งกลุ่ม ญะมาอะตุลอุละมาอฺในประเทศอีรัก โดยการนำของท่านอายะตุลลอฮฺ ซัยยิด มุฮฺซินฮะกีม ในปี ฮ.ศ. 1377 การจัดตั้งกลุ่มอัดดะวะตุลอิสลาม โดยการนำของซัยยิด มุฮัมมัด บากิร ซ็อดรฺ ในปี ฮ.ศ. 1376 ซึ่งทั้งหมดได้ลอกเรียนแบการต่อสู้ของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนทั้งสิ้น (วัยลี ปี 1373 หน้า 84-56 คัดลอกมาจากดาอิเราะตุลมะอาริฟ โบโซกร์ อิสลามี เล่ม 7 หน้า 279)
ผลในการยอมรับนั้น สามารถดูได้จากความใกล้เคียงกันทางความคิด สโลแกนและเป้าหมายที่ต้องการ ดูเหมือนว่าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผลทางสังคมและการเมืองที่ชีอะฮฺได้ก่อตั้งขึ้นมา ตลอดจากความสัมพันธ์อย่างเปิดเผยระหว่าง 2 กลุ่ม ดังการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม ฟะดาอียานอิสลามในอิหร่าน กับกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ซึ่งจะเห็นมีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกันในระดับหนึ่ง การเดินทางไปอียิปต์ของซัยยิด นะวาบ เซาะฟะวียฺ ในปี ค.ศ. 1954 และคำปราศรัยของเขาในการเดินขบวนของกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ตลอดจนการปรึกษาหารือกันระหว่างเขากับ อิควานและญะมาล อับดุลนาซิร และในที่สุดแล้วเขาได้ตกลงกันว่าจะสร้างความสัมพันธ์กัน ในการจัดตั้งกลุ่มในประเทศอิหร่านและกลุ่มอิควานในอียิปต์ (อิยายัต 1362 หน้า 170-171 บะญุนูดดียฺ หน้า 280) เหล่านี้คือเหตุผลดังคำกล่าวอ้างข้างต้น หรือบางทีอาจเป็นเพราะเหตุผลนี้เองที่นักเขียนอาหรับบางคนในยุคสมัยนั้น ประมาณปี ค.ศ. 1955-1956 เขาได้กล่าวถึงชีอะฮฺทั้งหลายและอิควานุลมุสลิมีนในอิหร่าน (ฮะซะนัยน์ ปี ค.ศ. 1955 หน้า 154) หรือบางทีอาจเป็นเพราะเหตุผล ช่วงเวลาที่ก่อตั้งกลุ่มและการดำเนินกิจกรรมของ องค์กรฟะดาอียานอิสลามในอิหร่าน ตอนนั้นพวกเขาได้แปลหนังสือที่สำคัญต่างๆ ตลอดจนบทเรียนของอิควานุลมุสลิมีนเป็นภาษาฟารซียเป็นจำนวนมาก จึงทำให้คิดว่าพวกเขามีความเป็นหนึ่งเดียวกัน
รากเหง้าทางความคิดในการปรับปรุงของฮะซัน อัลบันนาน
ฮะซัน อัลบันนาน นับตั้งแต่ได้เป็นลูกศิษย์และเป็นหัวหน้าของเชค อับดุลวะฮับ ฮะซะฟียฺ ซึ่งถือเป็นซูฟียฺใหญ่คนหนึ่ง เขาได้ยอมรับแนวคิดและการสอนสั่งของ ฮะซะฟียะฮฺ ไปโดยปริยาย เขาได้ดำเนินกิจกรรมการเผยแผ่อิสลาม และยืนหยัดต่อสู้กับบรรดาผู้ปฏิเสธ พร้อมกับการเผชิญหน้ากับนักเผยแผ่คริสต์ศาสนาร่วมกับกลุ่มค็อยรียะฮฺ ฮะซะฟียะฮฺ อีกทั้งยังให้การร่วมมือด้านต่างๆ อีกด้วย หลังจากได้ย้ายมาสู่เมืองกอเฮเราะฮฺแล้ว เขาก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่ม ญัมอียัต มะการิม อัลอัคลาก อิสลามี ในที่นั้นนอกจากจะได้รู้จักและคุ้นเคยกับการจัดประชุมทางศาสนา กลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนา เขายังได้รู้จักกับนักการศาสนาและนักวิชาการแห่งยุคสมัยนั้นอีกหลายท่านด้วยกัน เช่น มุฮิบบุดดีน เคาะฏีบ มุฮัมมัด เคฎร์ ฮุซัยนฺ มุฮัมมัด ฆอมรอวียฺ และอะฮฺมัด ตัยมูร อีกทั้งเขาได้เข้าชั้นเรียนของ เราะชีด ริฎอ และยังได้รู้จักใกล้ชิดและร่วมงานกับกลุ่ม นะฮฺฎะตุลอิสลาม (เชคยูซุฟ ดัจญฺวีเป็นผู้จัดตั้งขึ้นมา) อีกด้วย กิจกรรมของฮะซัน อัลบันนาน ได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากการปกครองของ กาลิบอุสมานสิ้นสุดลง ซึ่งในช่วงนั้นนักวิชาส่วนใหญ่ของซุนนียฺ ต่างถือว่าเป็นยุคการเมืองและศาสนาของประชาชาติอิสลาม ด้วยเหตุนี้เองสำหรับฮะซัน อัลบันนานแล้วได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง กับการสร้างความเป็นเอกภาพในหมู่มุสลิม ก่อนการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขเรื่องมัรญิอฺและผู้นำอิสลาม ดังนั้น ด้านหนึ่งฮะซัน อัลบันนานจึงได้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างของรัฐอิสลาม ในฐานะที่เป็นตัวแทนของกาลิบ ส่วนอีกด้านหนึ่งต้องปกป้องและให้หลักประกันกับความเป็นเอกภาพของมุสลิม ในขณะนั้นกลุ่มประเทศที่เป็นนักล่าเมืองข้นจากยุโรป ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากและความตกต่ำอย่างรุนแรง กับแนวทางการปรับปรุงแก้ไขเชิงพัฒนาการในรูปแบบอิสลาม ตามแนวคิดของซัยยิดญะมาลุดดีน อะซัดออบอดีย์ และมุฮัมมัด อับดุฮฺในอียิปต์ พวกเขาจึงเร่งสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างเหล่าทหารอิสลาม กับวัฒนธรรมใหม่ที่นำมาจากตะวันตก ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วบรรดานักล่าเมืองขึ้นแห่งตะวันตก ไม่เคยมีความหวังดีหรือมีเจตนาที่ดีกับแนวคิดปรับปรุงเชิงพัฒนาการในหมู่นักคิดอิสลาม เฉกเช่น มุฮัมมัด เราะชีด ริฎอ ซึ่งยึดถือตามแนวของสะละฟีย์ ฮะซัน อัลบันนาน ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ของเราะชีด ริฎอ และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดของเราะซีดมาอย่างมาก ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเขาได้เป็นผู้เริ่มแนวความคิดที่นิยมในซุนนะฮฺ โดยมีความเชื่อบริสุทธิ์ของสะละฟียฺอยู่ในตัว (กัรฎอวียฺ 1367 หน้า 76)
ตามภาวการณ์การเมืองและสังคมของอียิปต์ในยุคสมัยนั้น ได้เป็นปัจจัยช่วยเหลือให้ฮะซัน อัลบันนานจัดตั้งกลุ่มอิควานุลมุสลีมีนโดยเร็ว ประกอบกับเงื่อนไขในตอนนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่อียิปต์ถูกยึดครองโดยอังกฤษ การเกิดพรรคต่างๆ มากมายโดนมีการแข่งข้นและทะเลาะกันสูงมาก ในสภาพเช่นนั้นอิควานุลมุสลิมีน จึงไม่เรียกตัวเองว่าเป็นพรรค ฮะซัน อัลบันนาน มีความรู้สึกไม่ดีกับพรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอียิปต์ตอนนั้น เขากล่าวว่า “ถ้าหากว่ามวลชนที่รักชาติต้องการแบ่งประเทศและประชาชนออกเป็นกลุ่มที่แตกต่างกัน สิ่งนี้เท่ากับเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับศัตรู และเท่ากับเราได้เติมเชื้อเพลิงชนิดดีให้แก่ศัตรู มันจะลุกไหม้อย่างโชติช่วงท่ามกลางมวลประชาชน ส่วนประชาชนที่รักความจริงก็จะแตกออกเป็นเสี่ยง และหันไปชุมนุมบนความผิดพลาด ความเป็นมิตร และความสัมพันธ์ทางเครือญาติได้ขาดสะบั้นลง ประชาชนทั้งหลายต่างได้รับการสอนสั่งชนิดที่ว่าไม่มีใครคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนอีกต่อไป” (อ้างแล้วเล่มเดิมหน้า 81)
ฮะซัน อัลบันนาน เชื่อว่าต้องยุบพรรคทั้งหมดที่มีในอียิปต์ลงและให้ทั้งหมดนั้นรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อเป็นกำลังของชาติและเวลานั้นจะได้สามารถกอบกู้เอกราชและความอิสรเสรีของประชาชน ช่วงนั้นเองที่องค์กรแก้ไขและปรับปรุงศาสนาก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา ฮะซัน อัลบันนาน ได้ทุ่มเทและลำบากอย่างยิ่งในการปรับปรุงสังคมและประชาชาติเพื่อพัฒนาพวกเขาไปสู่ความสมบูรณ์ ซึ่งการก้าวเดินให้ไปถึงยังเป้าหมายที่ตั้งไว้จะต้องไม่มีวัฒนธรรมตะวันตก ทว่ายึดมั่นอยู่กับคำสอนของอิสลามเพียงอย่างเดียว ความเชื่อของฮะซัน อัลบันนาน ไม่ได้หมายความว่าการสร้างสรรค์สังคมอิสลาม ต้องขัดแย้งกับแนวทางของตะวันตกทั้งหมด ทว่าขึ้นอยู่กับการคิดอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด ซึ่งยึดมั่นอยู่กับซุนนะฮฺ และการปรับปรุงสังคมให้อยู่บนพื้นฐานของศาสนา
การที่ฮะซัน อัลบันนาน ไม่ขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญของอียิปต์ก็มาจากความเชื่อดังกล่าวนั้นเอง เช่นเดียวกันการให้ความสำคัญซึงฮะซัน ได้ยึดถือทัศนะแนวคิดของสะละฟียฺ ในการปรับปรุงสังคมและการทำให้การปกครองเป็นอิสลาม เขาจึงไม่เรียกชื่อกลุ่มของเขาว่าเป็น พรรค ขณะเดียวกันในเรื่องการเมืองเขาก็ไม่ได้หลีกเลี่ยงการแข่งขันกับพรรคอื่น ด้วยเหตุนี้เอง ฮะซัน อัลบันนาน จึงได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นตัวแทนประชาชนในรัฐสภา และบางครั้งในบางเรื่องเขาได้ร่วมมือกับพระมหากษัตริย์ด้วยซ้ำไป ถึงขั้นที่ว่าการแต่งตั้งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี เขายังให้คำปรึกษาหารือด้วย ดังนั้น การเลือกอิสมาอีล ซิดดีกกี ให้เป็นนายกรัฐมนตรีเขาก็ให้คำปรึกษาและให้ความร่วมมืออย่างดี สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการดำเนินกิจกรรม และการขยายแนวคิดของ ฮะซัน อัลบันนาน คือส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ อิควานุลมุสลิมีน (บะญุนูดดีย เล่ม 12 หน้า 562)
บรรดาคณาจารย์และผู้ให้คำแนะนำที่มีบทบาทต่อฮะซัน อัลบันนาน
ฮะซัน อัลบันนาน ได้ทุ่มเทชีวิตทั้งหมดเพื่อกิจกรรมของศาสนา ประกอบกับเขาเป็นคนมีอายุสั้น ดังนั้น เขาจึงไม่มีเวลาพอที่จะร่ำเรียนกับบรรดาคณาจารย์ เพื่อเก็บเกี่ยววิชาการและความรู้ บางทีอาจมีเหตุผลอื่นเป็นองค์ประกอบอีกด้วยกล่าวคือ ส่วนตัวของฮะซันเป็นคนชอบวิชาซูฟียฺ เป็นที่สุด เขาได้ศึกษาซูฟียฺมาตั้งแต่เด็ก และดูเหมือนว่าซูฟียฺได้ฝังอยู่ในเส้นเลือดของเขาด้วยซ้ำไป ซึ่งหนึ่งในผู้แนะนำวิชาการด้านนี้คือ เชคซะฮฺรอน ซึ่งฮะซัน อัลบันนานได้รู้จักกับเขา ขณะที่ศึกษาระดับมัธยมปลาย ณ เมืองเดะฮฺมันฮูร เชคซะฮฺรอน เป็นผู้เคร่งครัดด้านการดำรงตน มุ่งมั่นอยู่แต่การอิบาดะฮฺเป็นส่วนใหญ่ เขาเป็นทำการขัดเกลาจิตใจเสมอและเป็นผู้ปฏิบัติตาม อัลดุลวะฮาบ ฮะซอฟียฺ ซึ่งฮะซัน อัลบันนาน จะเข้าเรียนกับเขาทุกวันในช่วงระหว่างนมาซมัฆริบกับอิชาอ์ และเข้าร่วมซิกร์กับเข้าด้วย (ซึ่งถือเป็นกิจกรรมประจำของชาวซูฟีย)
ตามความเป็นจริงแล้วนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมานามของ เชคฮะซอฟียฺ ก็ดังกึงก้องอยู่ในหูของฮะซันมาโดยตลอด มิหนำซ้ำยังสร้างความรู้สึกดีๆ ที่ล้ำลึกให้ฮะซัน อัลบันนาน อีกต่างหาก ในบทเรียนของเชคซะฮฺรอนมีหนังสือเล่มหนึ่ง นามว่า อัลมินฮัล อัซซอฟียฺ เป็นหนังสือที่กล่าวถึงความประเสริฐของเชค ฮะซะนัยน์ ฮะซอฟียฺ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลแรกที่ปฏิบัติตามสำนักคิด ฮะซอฟียฺ และยังเป็นบิดาของเชคอับดุลวะฮาบ ฮะซอฟียฺอีกด้วย การได้ร่ำเรียนกับและการยึดถือปฏิบัติตามแนวทางของเชคฮะซะนัยนฺ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ฮะซัน อัลบันนานอย่างยิ่ง ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าฮะซัน อัลบันนาน นั้นได้รับอิทธิพลจากเชคทั้งหมด ขณะที่ฮะซันกำลังศึกษาอยู่ที่โรงมัธยมตอนปลาย เขาได้ศึกษาหนังสือ มินฮัล อัซซอฟียฺ ควบคู่ไปด้วย ดังนั้น ในช่วงนั้นเขาจึงมักนอนหลับฝันและได้พบเห็นสิ่งดีๆ เสมอสิ่งนี้ก็ได้กลายเป็นพลังใจให้เขายิ่งมีความผูกพันอยู่กับเชคมากยิ่งขึ้น ในฝันเขาได้เห็นว่ามีสิ่งหนึ่งที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของชัยฏอนมุ่งตรงมาหาเขา และสิ่งนั้นกำลังเชิญชวนประชาชนไปสู่การทำบาป ขณะที่เขากำลังต่อสู้อยู่กับอำนาจนั้น เชคฮะซอฟียฺ ได้เป็นผู้เข้ามาช่วยเหลือเขาให้ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมีชัยชนะเหนือชัยฏอน
ฮะซัน อัลบันนาน ยังได้ศึกษากับอาจารย์อีกท่านหนึ่งนามว่า อะฮฺมัด ซุกรอ ซึ่งต่อมาเขาได้รับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ขบวนการอิควานุลมุสลิมีน และยังได้เป็นนายกสมาคมค็อยรียะฮฺ ฮะซอฟียฺ) ซึ่งอาจารย์ท่านนี้ก็มีบทบาทต่อชีวิตของฮะซัน อัลบันนานไม่น้อยเหมือนกัน นอกจากสองท่านนี้แล้วยังมีอีกท่านหนึ่งนามว่า เชคมุฮัมมัด อบูชูชะฮฺ ซึ่งนับว่าเป็นอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทด้านการอบรมสั่งสอนแก่ฮะซัน (บะนอ ตอเตะรอต หน้า 16-32)
ฮะซัน อัลบันนาน เป็นบุคคลหนึ่งที่หลงใหลในวิชาเอรฟานและซูฟียฺเป็นอย่างยิ่ง เขาเคยคัดค้านอาจารย์ท่านหนึ่งขณะกำลังศึกษาในระดับมัธยมปลาย เนื่องจากอาจารย์ท่านนั้นกำลังใช้วิธีการของซูฟียฺสอน แต่ว่ามีความผิดพลาด ฮะซัน จึงได้ต่อต้านวิธีการของเขา ซึ่งตัวของฮะซันแม้ว่าจะหลงใหลในวิชาการของซูฟียฺ แต่วิธีการผิดๆ ไม่เคยมีอิทธิพลกับเขาเลยแม้แต่น้อย เขายังคงดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคม และยังดำเนินกิจกรรมด้านการเมือง รับรู้ปัญหาการบ้านการเมืองและปัญหาระดับโลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหลักฐานสำคัญสำหรับคำกล่าวอ้างนี้คือ การต่อสู้ที่ยาวนานและต่อเนื่องของเขานั่นเอง และเนื่องจากความรักในแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนนั้นเอง กลายเป็นสาเหตุทำให้ฮะซัน อัลบันนาน ต้องถูกจับกุมบ่อยครั้ง บางช่วงชีวิตของฮะซัน อัลบันนาน ได้บันทึกไว้ว่า “เนื่องจากฉันเป็นนักศึกษาที่มีอายุน้อย อาจารย์บางท่านจึงพาฉันไปเยี่ยมหลุมฝังศพของบรรดาผู้นำ ฮะซอฟียะฮฺ ในที่นั้นฉันได้ร่วมสนทนากับนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพวกเขาต่างแนะนำให้ฉันศึกษาเอรฟาน และซูฟียฺ แต่ฉันไม่ได้รับปากพวกเขา และไม่ยอมหลงกล บางครั้งได้วิถภาษกับอาจารย์ในเรื่องหลักชะรีอะฮฺ ตัฟซีร และฮะดีซ และบางครั้งก็โต้เถียงกับอาจารย์ที่นำหลักการซูฟียฺมาสอนในชั้นเรียน (อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 33)
ฮะซัน อัลบันนาน เมื่อได้เดินทางไปยังเมืองกอเฮะเราะฮฺ มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้ปลูกฝังโครงร่างหลักความศรัทธาให้แก่ฮะซัน ซึ่งมีนามว่า มุฮัมมัด เราะชีด ริฎอ เขาเป็นสายสะละฟียฺและนิยมในซุนนะฮฺ ด้วยเหตุนี้เองจะเห็นว่าส่วนสำคัญจากคำปราศรัยต่างๆ และบทความของเขา จึงมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการอบรมสั่งสอนในอิสลาม และซุนนะฮฺของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) เกี่ยวกับประเด็นนี้โปรดศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือ ริซาละตุลตะอฺลีม และหนังสือ ตัรบียะตุ อิสลามีวะมัดเราะซะฮฺ อัลฮะซัน อัลบันนาน
ผลงานและการเขียน
ฮะซัน อัลบันนาน ตลอดอายุขัยของตน โดยทั่วไปได้ทุ่มเทให้กับการเปลี่ยนแปลงประเทศอียิปต์ แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะแล้วจะเห็นว่าเขาได้ทุ่มเทชีวิตให้กลุ่มอิควานุลมุสลิมีนมากกว่า เขาได้กล่าวปราศรัยอย่างต่อเนืองหลายต่อหลายครั้ง นอกจากนั้นยังได้เขียนบทความและจดหมายจำนวนมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการตีพิมพ์ในยุคสมัยของตน และหลังจากเขาอสัญกรรมไปแล้วก็ได้มีการนำมาพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้ง มัจญฺมูอะตุรระซาอิล คือหนังสือที่รวบรวมจดหมายของฮะซัน อัลบันนานเอาไว้ ซึ่งแต่ละฉบับนั้นมีขนาดพอๆ กับหนังฉบับกระเป๋า ซึ่งในที่นี้จะนำเสนอจดหมาย และบทความบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับฮะซัน อัลบันนาน
1) อะฮาดีซ อัลญุมะอะฮฺ
2) อัลอิควานุลมุสลิมูน ตะฮฺตะเราะอ์ยะตุลกุรอาน
3) อิลาอัยยิชัย นัดอุนนาซ
4) บัยนัลอัมซ์ วัลเยาม์
5) ดะอฺวะตุนา
6) ดะอฺวะตุนาฟีเตาริ ญะดีด
7) ริซาละตุลตะอฺลีม
8) ริซาละตุล ญิฮาด
9) ริซาละฮฺ อัลมุอ์ตะมัร อัลคอมิซ
10) ริซาละฮฺ อัลมุอ์ตะมัร อัซซาอิซ
11) อัลอิสลาม ฟิล อิสลาม
12) อัลอะกออิด
13) ฟีมุอฺตะมัร รุอะซอ อันมะนาฏิก วัชชุอ์บิ
14) มุชกิลลาตุนา ฟี เฎาอิล นิซอม อัลอิสลามี
15) นะฮฺวุนนูร
16) นิซอมุลอะซัร
17) อันนิซอม อัลอิคติซอดียฺ
18) นิซอมุลฮุกม์
19) ฮัล นะฮฺนุ เกามุน อะมะลียูน
นอกจากนั้นแล้ว ฮะซัน อัลบันนาน ยังได้กล่าวเสมอว่าเขาไม่ชอบที่จะบันทึกเหตุการณ์และความทรงจำของตนเอง ซึ่งหนังสือ มุซกิรอต อัดดะวะตุ วัดดาอียะฮฺ ลิฮะซัน อับบันนาน ที่เขียนไว้ได้รับการตีพิมพ์หลายต่อหลายครั้ง นอกจากนั้นยังได้รับการแปลเป็นภาษาฟารซียฺ โดย ญะลาลุดดีน ฟารซียฺ ซึ่งบทความดังกล่าวนี้ได้ใช้ประโยชน์จากหนังสือดังกล่าวมากมาย
ช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตของฮะซัน อัลบันนาน
ปัญหาเรื่องปาเลสไตน์ กลุ่มอิควานุลมุสลิมีนได้ต่อสู้กับยิวไซออนิสต์ ผู้ยึดครองปาเลสไตน์ ซึ่งพวกเขาได้เริ่มต่อสู้กับยิวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 กลุ่มอิควานเป็นผู้ถือธงรบประจำหมู่อาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ.ที่ 1948 เมื่อเหล่าทหารอาหรับเคลื่อนเข้าสู่ประเทศปาเลสไตน์ กลุ่มอิควานุลมุสลีนก็เข้าร่วมด้วย ซึ่งการเข้ารบของพวกเขามีผลอย่างยิ่งต่อการสู้รบ เช่นเดี่ยวกันกับทหารที่มาจากอียิปต์ หรือมาจากตะวันออกอย่างซีเรียและจอร์แดน พวกเขาได้สร้างความเสียหายแก่ยิวจำนวนไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ กลุ่มอิควานุลมุสลีมีนจึงถือได้ว่าเป็นบททดสอบที่สำคัญยิ่งสำหรับชาวอียิปต์และปาเลสไตน์ ซึ่งพวกเขาได้ออกจากสนามรับด้วยความภาคภูมิใจ ความรักของประชาชานที่มีต่อพวกเขานับวันจะทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ไปตามลำดับ
ฮะซัน อัลบันนาน คือผู้นำขบวนการอิควานุลมุสลิมีน แน่นอนว่าเขาย่อมได้รับการเคารพจากมวลชนมากกว่าผู้ใด ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ยึดครองประเทศอียิปต์อยู่ จึงได้มีคำสั่งให้รัฐบาลอียิปต์ทำลายกลุ่มอิควานุลมุสลิมีน ขณะที่รัฐบาลกำลังดำเนินการตามคำสั่งอยู่นั้น กลุ่มอิควานุลมุสลิมีนได้ลอบสังหารนายกรัฐมนตรีของอียิปต์นามว่า นักรอชียฺ เสียชีวิตลง สร้างความโกรธเคืองแก่รัฐบาลอียิปต์และอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลจึงได้แก้แค้นกลุ่มอิควานุลมุสลิมีนด้วยการจับกุมสมาชิกกลุ่มทุกคน ที่เพิ่งเดินทางกลับจากการทำสงครามกับยิวมาใหม่ๆ ไปขังไว้ในเรือนจำ ซึ่งเชคฮะซัน อัลบันนาน เพียงคนเดียวที่เหลือรอดไม่โดนจับกุม จึงมีคำสั่งให้ลอบสังหารฮะซัน อัลบันนาน ทันที
ฮะซัน อัลบันนาน ด้วยบุคลิกภาพส่วนตัวเป็นคนกล้าหาญมาก จิตใจของเขาไม่เคยหวาดกลัวศัตรูเลยแม้แต่น้อย เขาเปิดเผยตัวด้วยความกล้าหาญต่อหน้าสาธารณชน และเพราะสาเหตุนั้นเอง ในวันที่ 14 เดือนเราะบีอุลเอาวัล ปี ฮ.ศ. 1368 ตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1949 เขาได้ถูกทหารอังกฤษลอบสังหารบนถนนสายหนึ่ง ในเมืองกอเฮเราะฮฺ และได้รับชะฮีดในที่สุด
ฮะซัน อัลบันนานได้กล่าวถึงความตายและความประเสริฐของชะฮาดัตไว้ด้วยความอาลัยรักว่า “แน่นอน พึงรู้ไว้เถิดว่าความตายเป็นสิ่งแน่นอนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเราก็ไม่อาจตายได้เกินหนึ่งครั้ง ฉะนั้น ถ้าเราตายในหนทางของอัลลอฮฺ เราจะได้รับผลบุญทั้งโลกนี้และโลกหน้า เพราะอะไร ก็เพราะอัลลอฮฺไม่เคยหลอกลวงมนุษย์ พระองค์ตรัสว่า
ثُمَّ أَنزَلَ عَلَيْكُم مِّن بَعْدِ الْغَمِّ أَمَنَةً نُّعَاسًا يَغْشَى طَآئِفَةً مِّنكُمْ وَطَآئِفَةٌ قَدْ أَهَمَّتْهُمْ أَنفُسُهُمْ يَظُنُّونَ بِاللّهِ غَيْرَ الْحَقِّ ظَنَّ الْجَاهِلِيَّةِ يَقُولُونَ هَل لَّنَا مِنَ الأَمْرِ مِن شَيْءٍ قُلْ إِنَّ الأَمْرَ كُلَّهُ لِلَّهِ يُخْفُونَ فِي أَنفُسِهِم مَّا لاَ يُبْدُونَ لَكَ يَقُولُونَ لَوْ كَانَ لَنَا مِنَ الأَمْرِ شَيْءٌ مَّا قُتِلْنَا هَاهُنَا قُل لَّوْ كُنتُمْ فِي بُيُوتِكُمْ لَبَرَزَ الَّذِينَ كُتِبَ عَلَيْهِمُ الْقَتْلُ إِلَى مَضَاجِعِهِمْ وَلِيَبْتَلِيَ اللّهُ مَا فِي صُدُورِكُمْ وَلِيُمَحَّصَ مَا فِي قُلُوبِكُمْ وَاللّهُ عَلِيمٌ بِذَاتِ الصُّدُورِ
“แล้วพระองค์ก็ทรงประทานแก่พวกเจ้า ซึ่งความปลอดภัย หลังจากความเศร้าโศกนั้น ทรงให้มีการงีบหลับครอบคลุมกลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเจ้า และอีกกลุ่มหนึ่งตัวของพวกเขาเองทำให้พวกเขากกระวนกระวายใจ พวกเขากล่าวหาอัลลอฮฺ โดยปราศจากความเป็นธรรมอย่างพวกสมัยงมงาย (อัลญาฮิลียะฮ์) พวกเขากล่าวว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากกิจการนั้นเป็นสิทธิของเราบ้างไหม จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า แท้จริง กิจการนั้นทั้งหมดเป็นสิทธิของอัลลอฮฺเท่านั้น พวกเขาปกปิดไว้ในใจของพวกเขา สิ่งซึ่งพวกเขาจะไม่เปิดเผยแก่เจ้า พวกเขากล่าวว่าหากปรากฏว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากกิจการนั้นเป็นสิทธิของ เราแล้วไซร้ พวกเราก็ไม่ถูกฆ่าตายที่นี่ จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า แม้ปรากฏว่า พวกท่านอยู่ในบ้านของพวกท่านก็ตาม แน่นอนบรรดาผู้ที่การฆ่าได้ถูกกำหนดแก่พวกเขา ก็จะออกไปสู่ที่นอนตายของพวกเขา และเพื่อที่อัลลอฮฺจะทรงทดสอบสิ่งที่อยู่ในหัวอกของพวกเจ้า และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้สิ่งที่อยู่หัวอกทั้งหลาย (อัล-กุรอาน บทอาลิอิมรอน 154)
ด้วยเหตุนี้ เมื่อความตายคือความหวานชื่นสำหรับเขา เขาจึงก้าวเดินไปสู่สิ่งนั้นด้วยความกล้าหาญ และพบกับความเจริญผาสุกทั้งโลกนี้และโลกหน้า (บะนอ มัจญฺมูอะตุร เราะซาอิล หน้า 437)
แหล่งอ้างอิง
1) ฮะซัน อัลบันนาน คอเตะรอต โคดเนะวิช ฮะซัน อัลบันนาน ผู้ก่อตั้งขบวนการอิควานุลมุสลิมีน แปลโดย ญะลาลุดดีน ฟาร์ซียฺ สำนักพิมพ์ โบรฮาน เตหะราน 1358
2) มัจญฺมูอะตุล ระซาอิล อัลอิมาม อัชชะฮีด ฮะซัน อัลบันนาน ดารุล ฮิฏอเราะ อัลอิสลามียะฮฺ กอเฮเราะฮฺ บีตอ
3) บียูมี ซักกะรียา สุลัยมาน อัลอิควานุลมุสลิมูน วัลญะมาอาต อัลอิสลามียะฮฺ บีตอ กอเฮเราะฮฺ ปี ค.ศ. 1979
4) ฮุซัยนฺ อิสฮากมูซา อัลอิควานุลมุสลิมูน กุบรอ อัลฮะเราะกาต อัลอิสลามียะฮฺ อัลฮะดีซะฮฺ บีนอ เบรูต ปี ค.ศ. 1955
5) เราะฟะอัต สะอีด กอดิเราะฮฺ อัลอะมัน อัลซิยาซี ฟี มิซรฺ บีนอ กอเฮะเราะฮฺ 1977
6) ซัรกุลลี ค็อยรุดดีน อัลอิอฺลาม กอมูซ ตะรอญิม ดารุลอิลม์ ลิลมะลายีน เบรูต พิมพ์ครั้งที่ 5 ฮ.ศ. 1410 เล่ม 2
7) อินายัต ฮะมีด อันดีเชะฮฺ ซิยาซี ดัร อิสลาม มะอาซิร แปลโดย บะฮาอุดดีน โครัมชาฮี เตหะราน 1362
8) ฟัรฏอวียฺ ยูซุฟ ตัรบียัต อิสลามี วะมัดเราะซะฮฺ ฮะซัน อัลบันนาน แปลโดย มุซเฏาะฟา อัรบาบี มัชฮัด บีนอ 1367
9) มูซาวี บะญุนูดี กาซิม ดาอิเราะตุลมะอาริฟ โบโซกรฺ อิสลามี มัรกัซดารอิเราะตุลมะอาริฟ โบโซกร์ อิสลามี เตหะราน 1383 เล่ม 7 และ 12
10) เนะฮฺซัต อิสลามี ชีอะยาน อีรัก แปลโดย มะฮูช ฆุล่ามมี เตหะราน 1373
เยี่ยม
ตอบลบ