วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บุคลิกและคุณลักษณะของผู้นำที่ดี ศึกษาจากชีวประวัติอุมัร อิบนุ อัล-ค็อฏฏ็อบ

บุคลิกและคุณลักษณะของผู้นำที่ดี ศึกษาจากชีวประวัติอุมัร อิบนุ อัล-ค็อฏฏ็อบ
Posted มีนาคม 16th, 2010 by e-Daiyah
• ซุกรีย์ นูร
• ประวัติ ศาสตร์
• รัฐ ศาสตร์
• แนว คิดอิสลาม
นับวันบทบาทและความสำคัญของผู้นำยิ่งเป็นที่ จับตาของประชาชนมากขึ้น พวกเขาเริ่มสัมผัสความแตกต่างระหว่างชุมชนอันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างของ คุณสมบัติและบุคลิกของผู้นำ เริ่มมีการพูดถึงความเปลี่ยนแปลงและเปรียบเทียบความเด่นความด้อยระหว่าง ชุมชนหนึ่งกับชุมชนข้างเคียงที่ลงเอยด้วยการวิพากษ์ผู้นำที่พวกเขาเป็นคน เลือกมาด้วยมือของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนายก อบต. นายก อบจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ละเว้นแม้กระทั่งอิหม่ามมัสยิด ส่งผลให้คนเป็นผู้นำเริ่มหาทางฟิตตัวเองและคณะบริหารในรูปแบบต่างๆ เช่น การออกศึกษาดูงานนอกสถานที่หรือเชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายให้ข้อ เสนอแนะเพื่อให้ชุมชนของพวกเขามีมาตรฐานการพัฒนาในด้านต่างๆ นำหน้าหรือไม่ด้อยกว่าชุมชนอื่นๆ
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในด้านการบริหารปกครองเป็นอย่างสูง ท่านได้ผันตัวเองจากลูกสามัญชนจนๆ แห่งเมืองมักกะฮฺมาเป็นผู้บริหารรัฐอิสลามอันกว้างใหญ่ที่ครอบคลุมดินแดนของ สิบแปดประเทศในตะวันออกกลางปัจจุบัน คือ เยเมน ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน โอมาน กาตาร์ จอร์แดน ซีเรีย เลบานอน ปาเลสไตน์ อิสราเอล อียิปต์ ลิเบีย อิรัก อิหร่าน และบางส่วนของเอเชียกลาง คือ อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจัน ในระหว่างปี ฮ.ศ. 13-23 หรือ ปี ค.ศ. 634 – 644 ซึ่งในช่วงเวลาสิบปีที่เป็นผู้นำ ท่านได้สถาปนาความเป็นธรรมในหมู่ประชากรที่หลากหลายเชื้อชาติ ภาษา เผ่าพันธุ์และศาสนา มีทั้งเชื้อสายอาหรับ เปอร์เซีย เบอร์เบอร์ อียิปต์ ซีเรีย ยิว อาร์เมเนีย เคิรด์ และเตอร์ก มีทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนายูดาย และศาสนาโซโรแอสเตอร์ ประชาชนภายใต้การปกครองของท่านสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีสิทธิเสรีภาพทางศาสนาและวัฒนธรรม พวกเขาได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างทั่วถึง สภาพบ้านเมืองในด้านต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ในเวลาอันรวดเร็ว จนทำให้ชาวโลกต่างสนใจค้นคว้าแนวทางรัฐศาสตร์ของท่านตลอดมา ท่านเป็นผู้นำที่ดีและสมบูรณ์ เป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ มีความเมตตาปรานี เข้าถึงประชาชน มีความกล้าหาญ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รับฟังเหตุผล มีความมั่นคงในความคิด เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง ตลอดจนมีความเป็นอยู่อย่างประหยัดและพอเพียง มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม มีคณะผู้ร่วมบริหารและมีที่ปรึกษาที่ดี
ในฐานะที่ท่านคือผู้นำคนหนึ่งที่ท่านนบีมุหัม มัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สั่งให้ติดตามและยึดเป็นแบบอย่าง จึงสมควรที่ผู้นำระดับต่างๆ จะต้องศึกษาคุณสมบัติและบุคลิกภาพของท่านอย่างลึกซึ้งเพื่อใช้เป็นแนวทาง พัฒนาตัวเองก่อนที่จะพัฒนาผู้อื่น เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากผู้ที่คิดจะให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลง หากตัวผู้นำเองยังไม่คิดเปลี่ยนแปลงก็ยากที่จะให้ผู้อื่นเกิดการเปลี่ยนแปลง การพูดถึงการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเพียงการขายฝันที่อาจทำให้ความ เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนผู้สนับสนุนต้องเสื่อมคลอนและมลายหายไปในที่สุด

ต่อไปนี้ คือบางบุคลิกภาพและคุณสมบัติของเคาะลีฟะฮฺอุมัร อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ที่ผู้เป็นผู้นำสมควรใช้พิจารณาและทบทวนตัวเองเพื่อให้การบริหารงานของเขา บรรลุความสำเร็จมากที่สุด


1. มีความยุติธรรม

ความ เป็นธรรมนับเป็นความคาดหวังต้นๆ ที่ประชาชนใต้การปกครองคาดหวังอยากได้รับจากตัวผู้นำ หากพวกเขาไม่ไว้ใจในสิ่งนี้จากตัวผู้นำ พวกเขาก็คงไม่คัดเลือกลงคะแนนเสียงให้กับเขา ความเป็นธรรมจึงจะต้องมาก่อนสิ่งพัฒนาใดๆ ไม่ต้องคอยเวลาหรือโอกาส มันเป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่ทำยากหากขาดความจริงใจกับประชาชน
เคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีใจเป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง ท่านไม่เคยลำเอียงหรือมีอคติต่อผู้ใดในการปฏิบัติตามกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นคนในครอบครัวของท่านก็ตาม ท่านกล่าวเสมอว่าท่านคือสามัญชนคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
อัล-เฏาะบารียฺ กล่าวว่า
كان عمر إذا صعد المنبر فنهى الناس عن شيء جمع أهله، فقال: إني نهيت الناس عن كذا وكذا، وإنّ الناس ينظرون إليكم نظر الطير - يعني إلى اللحم - وأقسم بالله لا أجد أحداً منكم فعله إلا أضعفت عليه العقوبة.تاريخ الطبري
ท่านอุมัรฺนั้น ทุกครั้งที่ท่านขึ้นปราศรัยบนมิมบัรกล่าวห้ามประชาชนในสิ่งใด ท่านจะประชุมคนในครอบครัวแล้วกล่าวว่า ฉันได้ห้ามประชาชนไม่ให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งพวกเขาต่างพากันจ้องมองสังเกตดูพวกเจ้าเหมือนกับการจ้องมองของนกต่อก้อน เนื้อ และฉันขอสาบานกับอัลลอฮฺว่าหากมีใครในหมู่พวกเจ้าไปกระทำในสิ่งต้องห้าม ฉันจะลงโทษเขาหนักถึงสองเท่าอย่างแน่นอน" (al-Tabariy, 1988: 2/568)
ทั้งนี้ การที่ท่านเคยเฆี่ยนบุตรของท่านเองอย่างหนัก เพราะมีความผิดฐานลักลอบดื่มสุราก็ดี การที่ท่านเคยเรียกอัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ข้าหลวงอียิปต์พร้อมกับบุตรชายให้เข้ามายังมะดีนะฮฺเป็นการด่วนเพื่อรับการ ลงโทษบุตรชายเพราะไปมีเรื่องกับประชาชนอียิปต์โดยมิชอบก็ดี การที่ท่านเคยจับสะอฺดฺ อิบนฺ อบีวักก็อศ ข้าหลวงประจำแคว้นกูฟะฮฺผู้เป็นบุรุษหมายเลขหนึ่งของแคว้นไปตระเวนตามมัสยิด ต่างๆ ทั่วเมืองกูฟะฮฺเพื่อให้ประชาชนเป็นพยานยืนยันความบริสุทธิ์ตอนที่ส่งเจ้า หน้าที่ไปตรวจค้นบ้านเพื่อหาหลักฐานทุจริตตามข้อกล่าวหาบางอย่างก็ดี (Ibn Sa'ad, 1968: 5/62) การที่ท่านเคยใช้ไม้เรียวตีอบู สุฟยาน เพื่อนสนิทและคนกว้างขว้างแห่งนครมักกะฮฺเพราะมีความผิดฐานสับเปลี่ยนหลัก เขตที่ดินที่นครมักกะฮฺก็ดี (al-Muttaqiy al-Hindiy, ‘Aliy ibn Hishamuddiyn, 1989: 12/666: 36016) หรือการที่ท่านเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องข้าหลวงอย่างอิสระต่อหน้า ท่านเองในช่วงพิธีฮัจญ์ก็ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงถึงความมีใจเป็นธรรมของท่านอย่างชัดเจน

2.มีความรับผิดชอบ
การงานทุกสิ่งจะเกิดความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ปฏิบัติมีความรับผิดชอบในสิ่งนั้น ชาวสวนยางจะต้องรับผิดชอบสวนยางของเขา คนเลี้ยงสัตว์จะต้องรับผิดชอบสัตว์เลี้ยงของเขา เจ้าของร้านค้าจะต้องรับผิดชอบร้านของเขา หากบุคคลเหล่านี้หมดความรับผิดชอบหรือรับบ้างไม่รับบ้างเมื่อใด การงานของเขาก็จะหมดประสิทธิภาพ เกิดความเสียหายแล้วล้มละลายไปในที่สุด เช่นเดียวกับผู้ที่อาสาทำหน้าที่เป็นผู้นำคนอื่น เขาจะต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนของเขา มีความจริงใจอยากให้พวกเขาทุกคนได้ดีเหมือนบุตรหลานของตัวเองทั้งหมด
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบเป็นอย่างสูง เพราะท่านคิดเสมอว่าท่านจะต้องถูกอัลลอฮฺสอบสวนในวันกิยามัต ซึ่งด้วยความที่เป็นผู้มีใจเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบนี่เอง ทำให้ท่านต้องอดนอนในยามค่ำคืนเพื่อทำหน้าที่บริการรับใช้ประชาชน ต้องทำหน้าที่ด้วยตัวเองก่อนที่จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยทำ ต้องรินน้ำตาเสมอเมื่อไตร่ตรองถึงความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชน ตลอดจนแม้แต่ในการเดิน ท่านก็เดินอย่างรวดเร็ว เพราะเห็นว่าสามารถปฏิบัติงานได้เร็วกว่า
อัล-มัสอูดียฺ (al-Mas‘udiy) กล่าวถึงความรับผิดชอบของเคาะลีฟะฮุอุมัรฺว่า
เมื่อใดที่มีข้อกล่าวหาต่อตัวท่านหรือต่อคณะ ทีมงานผู้บริหารของท่าน ท่านจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการพิสูจน์ข้อกล่าวหาอย่างไม่รีรอ ดังกรณีเมื่อสะอีดอิบนฺ อามิร ข้าหลวงประจำแคว้นหิมซฺถูกประชาชนกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อหน้าที่ ในตอนรุ่งสางท่านยอมเสียสละความสุขในการหลับนอนด้วยการลุกขึ้นมาปลุกชาว เมืองในความมืดให้ลุกขึ้นมาละหมาดศุบฮฺจนกระทั่งนำไปสู่การฆาตกรรมต่อตัว ท่าน (al-Mas‘udiy, 1983: 2/314; 329)
อิบนุอะซีรฺ ได้บันทึกคำพูดของคนใช้ของอุษมาน อิบนฺ อัฟฟานคนหนึ่งว่า
بينا أنا مع عثمان في مال له بالعالية في يوم صائف، إذ رأى رجلاً يسوق بكرين، وعلى الأرض مثل الفراش من الحر، فقال: ما على هذا لو أقام بالمدينة حتى يبرد ثم يروح. ثم دنا الرجل فقال: انظر من هذا؟ فنظرت فقلت: أرى رجلاً معتماً بردائه، يسوق بكرين. ثم دنا الرجل فقال: انظر. فنظرت فإذا عمر بن الخطاب، فقلت: هذا أمير المؤمنين. فقام عثمان فأخرج رأسه من الباب فإذا نفح السموم، فأعاد رأسه حتى حاذاه، فقال: ما أخرجك هذه الساعة؟ فقال: بكران من إبل الصدقة تخلفا، وقد مضي بإبل الصدقة، فأردت أن ألحقهما بالحمى، وخشيت أن يضيعا، فيسألني الله عنهما. فقال عثمان: يا أمير المؤمنين، هلم إلى الماء والظل ونكفيك. فقال: عد إلى ظلك. فقلت: عندنا من يكفيك! فقال: عد إلى ظلك. فمضى، فقال عثمان: من أحب أن ينظر إلى القوي الأمين فلينظر إلى هذا! فعاد إلينا فألقى نفسه.(أسدالغابة)
ในขณะที่ฉันกำลังทำธุระกับอุษมานในเรื่อง ทรัพย์สินของท่านที่บริเวณอัล-อาลียะฮฺในวันหนึ่งที่ร้อนจัดและดินแตกระแหง จู่ๆ ท่านอุษมานก็เห็นชายคนหนึ่งกำลังจูงลูกอูฐสองตัว แล้วเขาคนนั้นก็เข้ามาใกล้ ท่านกล่าวว่า "ดูซิเขาเป็นใครกัน?" ฉันจึงเพ่งดู และบอกว่า "ฉันเห็นชายคนหนึ่งคลุมศีรษะด้วยเสื้อนอกและจูงลูกอูฐสองตัว" แล้วเขาคนนั้นก็ยิ่งเข้ามาใกล้ ท่านบอกว่า "จงดูซิ" ฉันก็เลยเพ่งดู ปรากฏว่าเขาคืออุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ ฉันเลยกล่าวว่า "นี่คืออะมีรุลมุมินีน" อุษมานจึงลุกขึ้นและชะโงกศีรษะออกนอกประตู ปรากฏว่าลมร้อนได้พัดผ่าน ท่านจึงหลบศีรษะจนเสมอกับประตู และกล่าวว่า "อะไรเป็นเหตุให้ท่านต้องออกมาในเวลานี้ ? ท่านตอบว่า "ลูกอูฐจากกองคลังสองตัวนี้มันแตกฝูง อูฐตัวอื่นๆ มันไปกันหมดแล้ว ฉันจึงต้องนำมันทั้งสองไปยังโรงเลี้ยงสัตว์เพราะเดี๋ยวมันจะหลงแล้วอัลลอฮฺ ก็จะสอบสวนฉัน" อุษมานเลยพูดว่า " โอ้ ท่านอะมีรุลมุมินีน เข้ามาดื่มน้ำในที่ร่มก่อนซิ เดี๋ยวเราจะจัดการให้เอง" ท่านตอบว่า "ไม่ต้องหรอก ท่านกลับเข้าในร่มของท่านเถอะ" ฉันเลยกล่าวขึ้นว่า "เรามีคนทำแทนท่านน่ะ" ท่านตอบว่า "ไม่ต้องหรอก ท่านกลับเข้าในร่มของท่านเถอะ" แล้วท่านก็เดินผ่านไป อุษมานจึงกล่าวว่า "ผู้ใดอยากจะเห็นตัวอย่างของคนเข้มแข็งและมีความรับผิดชอบสูง ก็จงดูคนนี้แหล่ะ" แล้วอุษมานก็กลับมานั่งกับเราตามเดิม" (Ibn Athir, n.d.: 2/327)
นี่คือบางตัวอย่างที่สะท้อนถึงความรับผิดชอบ ของท่านในตำแหน่งหน้าที่เคาะลีฟะฮฺของรัฐอิสลาม และหากเรื่องเล็กๆ เช่นนี้ ท่านไม่เคยมองข้ามแล้ว สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญและใหญ่กว่า ท่านก็ย่อมต้องให้ความสำคัญมากกว่า เช่นกัน
ท่านอุมัรฺกล่าวว่า
أفضل الأعمال أداء ما افترض الله تعالى والورع عما حرم الله تعالى (إحياء علوم الدين)
งานที่ประเสริฐที่สุดคือการได้ปฏิบัติสิ่งที่ อัลลอฮฺใช้และการหันหลังให้กับสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม (al-Ghazaliy, n.d.: 4/364)
ท่านเคยยกสองมือกล่าวรำพันต่ออัลลอฮฺพระผู้ เป็นเจ้าว่า
اللهم كبرت سني، وضعفت قوتي، وانتشرت رعيتي، فاقبضني إليك غير مضيع ولا مفرط./ تاريخ الإسلام للذهبي
โอ้ ข้าแต่อัลลอฮฺ บัดนี้ อายุฉันได้ร่วงโรยแล้ว พลังฉันได้อ่อนแอแล้ว ประชาชนฉันก็มีมากกระจัดกระจายแล้ว ฉันจึงขอให้พระองค์ทรงทำให้ฉันตายในสภาพที่ไม่ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติ หน้าที่จนเกินขอบเขตด้วยเถิด (al-Dhahabiy,n.d.: 1/413)

3.มีความเมตตาปรานี
ผู้นำจะต้องมีความเมตตาต่อประชาชน มองพวกเขาเฉกเช่นบุตรหลาน ไม่เคยคิดอคติหรือปองร้ายต่อพวกเขาแม้ว่าจะเป็นผู้ไม่เห็นด้วยกับเขา เพราะประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนหรือผู้คัดค้านต่างก็เป็นประชาชน ของเขา หากผู้นำขาดความเมตตา ประชาชนจะไม่มีความสุข ชุมชนจะมีปัญหา เพราะความเดือนร้อนของพวกเขาไม่เคยเป็นที่รู้สึกและเหลียวแลของผู้นำ
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ท่านเป็นผู้นำที่มีใจเมตตาต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ท่านไม่ยอมที่จะให้ประชาชนเดือดเนื้อร้อนใจตราบใดที่ไม่อยู่ในภาวะคับขัน ท่านมักจะร้องไห้เสมอเมื่อพบเจอประชาชนกำลังเดือดร้อนพร้อมกับพยายามช่วย เหลือโดยเร็วที่สุด
เมื่อครั้งที่มุอาวิยะฮฺ อิบนฺ อบีสุฟยานพยายามโน้มน้าวขอให้ท่านอุมัรฺอนุญาตให้นักรบมุสลิมเดินทัพไปพิชิต เกาะไซปรัสซึ่งจะต้องลงเรือไปทางทะเลเท่านั้น ด้วยความที่ชาวอาหรับไม่มีความเคยชินกับการเดินทางทางทะเล และด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตาต่อประชาชน ท่านจึงได้มีจดหมายไปยังอัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศเพื่อให้เขาบรรยายสภาพของการเดินทะเล ซึ่งอัมรฺก็ได้ตอบว่า ผู้คนที่นั่งเรือนั้นเหมือนกับหนอนที่เกาะบนก้อนไม้ จิตใจจะหวาดเสียวอยู่ตลอดเวลา พลาดนิดเดียวก็ตกลงไปในทะเลทันที ท่านจึงมีหนังสือส่งไปยังมุอาวิยะฮฺว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ ฉันจะไม่นำเอามุสลิมคนใดไปลงทะเลตลอดไป” (al-Dhahabiy,n.d.: 1/423)
อิบนุ กะษีร ได้บันทึกใน al-Bidayah wa al-Nihayah ถึงเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความเมตตาของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺต่อประชาชนเป็นอย่าง ดี นั่นคือ เหตุการณ์ที่ท่านไปพบกับผู้หญิงที่กำลังเจ็บท้องคลอด แล้วท่านก็รีบกลับมาชวนอุมมุ กัลษูม ผู้เป็นภรรยาให้ไปช่วยทำคลอดพร้อมกับแบกแป้งและเนยไปให้ กระทั่งหญิงคนนั้นสามารถคลอดลูกได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ อิบนุกะษีรได้รายงานจากด้าคำบอกเล่าของอัสลัมซึ่งเป็นผู้ติดตามเคาะลีฟะฮฺใน เหตุการณ์นี้ว่า
خرجت ليلة مع عمر إلى ظاهر المدينة فلاح لنا بيت شعر فقصدناه فإذا فيه امرأة تمخض وتبكي، فسألها عمر عن حالها فقالت: أنا امرأة عربية وليس عندي شئ.فبكى عمر وعاد يهرول إلى بيته فقال لامرأته أم كلثوم بنت علي بن أبي طالب: هل لك في أجر ساقه الله إليك ؟ وأخبرها الخبر، فقالت: نعم، فحمل على ظهره دقيقا وشحما، وحملت أم كلثوم ما يصلح للولادة وجاءا، فدخلت أم كلثوم على المرأة، وجلس عمر مع زوجها - وهو لا يعرفه - يتحدث، فوضعت المرأة غلاما فقالت أم كلثوم: يا أمير المؤمنين بشر صاحبك بغلام.فلما سمع الرجل قولها استعظم ذلك وأخذ يعتذر إلى عمر.فقال عمر: لا بأس عليك، ثم أوصلهم بنفقة وما يصلحهم وانصرف.
ในคืนหนึ่ง ฉันได้ออกลาดตระเวนไปยังนอกเมืองมะดีนะฮฺพร้อมกับท่านอุมัรฺ เราได้พบกระโจมแห่งหนึ่ง เราจึงมุ่งตรงเข้าไป ซึ่งปรากฏมีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเจ็บท้องคลอดและร้องไห้ ท่านอุมัรฺจึงถามความเป็นอยู่ของนาง ซึ่งนางตอบว่า "ฉันเป็นหญิงชาวอาหรับและไม่มีทรัพย์สินใด ๆ" ท่านอุมัรฺจึงร้องไห้แล้วรีบหวนกลับมาที่บ้านทันทีโดยท่านกล่าวกับอุมมุ กัลษูม บินติ อะลียฺ อิบนฺ อบี ฏอลิบ ผู้เป็นภรรยาว่า "เธออยากจะได้ผลบุญที่อัลลอฮฺส่งมาให้เธอจนถึงที่หรือเปล่า?" แล้วท่านก็เล่าเรื่องราวนั้น นางกล่าวว่า "อยากได้ซิ" แล้วท่านก็เอาแป้งและเนยขึ้นแบกไว้บนหลัง ส่วนอุมมุกัลษูมนั้นหิ้วอุปกรณ์ทำคลอด แล้วก็มายังสถานที่เกิดเหตุ อุมมุกัลษูมตรงเข้าหาผู้หญิงคนนั้น ส่วนท่านอุมัรฺนั่งอยู่กับผู้เป็นสามีโดยที่เขาไม่รู้จักท่าน และแล้วหญิงคนนั้นก็คลอดลูกเป็นเด็กชาย อุมมุกัลษูมจึงกล่าวว่า "โอ้ ท่านอะมีรุลมุมินีน จงแจ้งข่าวดีแก่สหายท่านว่าเขาได้บุตรชาย" เมื่อชายคนนั้นได้ยินก็ตกใจมากและขอโทษท่าน ท่านอุมัรฺกล่าวว่า "ท่านปลอดภัยแล้ว” จากนั้นท่านก็นำค่าใช้จ่ายและสิ่งของที่จำเป็นมาให้แก่เขา แล้วท่านก็ออกไป (Ibn Khathir, 1988: 7/140)
เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์การเข้าไปช่วยปรุง อาหารให้กับประชาชนที่กำลังขาดแคลนอาหารและอยู่ในความหนาวเหน็บของเวลากลาง คืน ซึ่งอิบนุกะษีรได้บันทึกจากคำบอกเล่าของอัสลัมผู้ติดตามท่านเช่นกันว่า
خرجت ليلة مع عمر إلى حرة واقم، حتى إذا كنا بصرار إذا بنار فقال: يا أسلم ههنا ركب قد قصر بهم الليل، انطلق بنا إليهم، فأتيناهم فإذا امرأة معها صبيان لها وقدر منصوبة على النار وصبيانها يتضاغون، فقال عمر: السلام عليكم يا أصحاب الضوء، قالت: وعليك السلام. قال: أدنو. قالت: ادن أو دع.فدنا فقال: ما بالكم ؟ قالت: قصر بنا الليل والبرد.قال: فما بال هؤلاء الصبية يتضاغون ؟ قالت: من الجوع.فقال: وأي شئ على النار ؟ قالت: ماء أعللهم به حتى يناموا، الله بيننا وبين عمر.فبكى عمر ورجع يهرول إلى دار الدقيق فأخرج عدلا من دقيق وجراب شحم، وقال: يا أسلم احمله على ظهري، فقلت: أنا أحمله عنك.فقال: أنت تحمل وزري يوم القيامة ؟.فحمله على ظهره وانطلقنا إلى المرأة فألقى عن ظهره وأخرج من الدقيق في القدر، وألقى عليه من الشحم، وجعل ينفخ تحت القدر والدخان يتخلل لحيته ساعة، ثم أنزلها عن النار وقال: إيتيني بصحفة.فأتى بها فغرفها ثم تركها بين يدي الصبيان وقال: كلوا، فأكلوا حتى شبعوا - والمرأة تدعو له وهي لا تعرفه - فلم يزل عندهم حتى نام الصغار، ثم أوصلهم بنفقة وانصرف، ثم أقبل علي فقال: يا أسلم الجوع الذي أسهرهم وأبكاهم.ابن كثير (البداية والنهاية)
ในคืนหนึ่ง ฉันได้ออกลาดตระเวนกับท่านอุมัรฺไปยังแถบเขตวากิมกระทั่งเรามาถึงที่บริเวณ ศิร็อรฺ ก็ได้เห็นคบไฟดวงหนึ่ง ท่านกล่าวว่า "นี่อัสลัม ตรงโน้นคงมีเจ้าของอูฐที่อยู่ระหว่างการเดินทางซึ่งความมืดมิดของค่ำคืนได้ กักขังพวกเขาไว้ มาซิ เราไปหาพวกเขา" แล้วเราก็เข้าไปหา ซึ่งปรากฏว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังอยู่กับลูกเล็กๆ และมีหม้อตั้งอยู่บนไฟโดยที่ลูกๆ ของเธอต่างร้องไห้โอดครวญ ท่านอุมัรฺจึงกล่าวว่า "อัสสะลามุ อะลัยกุม โอ้ ชาวแสงไฟ" นางตอบว่า " วะอะลัยกัสสะลาม" ท่านกล่าวว่า "ฉันขอเข้าใกล้ได้ไหม" นางตอบว่า "เชิญเข้ามาใกล้ หรือไม่ก็ออกไป" แล้วท่านก็เข้าไปใกล้ แล้วถามว่า "ทำไมพวกท่านเป็นเช่นนี้" นางตอบว่า " ความมืดมิดและความหนาวเย็นได้กักขังพวกเราไว้" ท่านถามว่า "แล้วทำไมพวกเด็ก ๆ นี้จึงร้องห่มร้องไห้เล่า?" นางตอบว่า "เพราะความหิว" ท่านถามว่า "แล้วมีอะไรต้มอยู่บนไฟ" นางตอบว่า "ก้อนหิน ฉันหลอกพวกเขาเพื่อให้พวกเขาจะได้เคลิ้มหลับไป อัลลอฮฺเท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสินระหว่างเรากับอุมัรฺ"
ท่านอุมัรฺเลยร้องไห้แล้วรีบกลับและมุ่งตรงไป ยังคลังแป้ง แล้วเอาแป้งหนึ่งถุงใหญ่และเนยหนึ่งถุงออกมา แล้วกล่าวว่า "นี่อัสลัม จงยกมันขึ้นบนหลังของฉันซิ" ฉันกล่าวว่า "ให้ฉันแบกแทนท่านเถอะ" ท่านกล่าวว่า "เจ้าจะแบกบาปแทนข้าในวันกิยามะฮฺกระนั้นหรือ?" แล้วท่านก็แบกมันขึ้นบนหลังท่านเองแล้วมุ่งตรงไปยังผู้หญิงดังกล่าว และเมื่อมาถึง ท่านก็ยกมันลง แล้วจัดการเอาแป้งเทลงไปในหม้อแล้วเอาเนยใส่ตามไป จากนั้นท่านก็เป่าไฟจนเกิดควันฟุ้งกระจายลอยแทรกตามเคราของท่านอยู่สักครู่ หนึ่ง แล้วท่านก็ยกมันออกจากไฟ พร้อมกับกล่าวว่า "เอาจานมาให้ฉันหนึ่งใบซิ" แล้วนางก็เอามาให้ ท่านจึงตักแล้วก็ยกมาตั้งข้างหน้าพวกเด็กเหล่านั้น พร้อมกับกล่าวว่า "กินซิ" พวกเขาเลยกินจนอิ่ม ส่วนผู้หญิงคนนั้นก็พร่ำแต่ขอดุอาอ์ให้ท่านโดยที่นางไม่รู้จักท่าน ท่านอยู่ที่นั่นจนกระทั่งพวกเด็ก ๆ ต่างหลับไป จากนั้นท่านก็นำค่าใช้จ่ายและสิ่งของที่จำเป็นมาให้แก่พวกเขา ท่านได้หันมาพูดกับฉันว่า "โอ้ อัสลัม ความหิวเป็นเหตุให้พวกเขาต้องนอนไม่หลับและร้องห่มร้องไห้” (Ibn Khathir, 1988: 7/141)

4.เข้าถึงประชาชน
ผู้นำจะต้องเข้าถึงประชาชน ยิ่งเข้าถึงพวกเขาได้มากเท่าใด เขาก็ยิ่งจะเข้าใจประชาชนมากเท่านั้น ทำให้ได้รับรู้ปัญหาและนำมาวิเคราะห์แก้ไขอย่างถูกจุด ไม่ต้องเสียเวลากับการหลงนโยบายหรือกลยุทธ์การปฏิบัติงานที่ทำให้ขาดทุนทั้ง เวลา งบประมาณ และโอกาสของประชาชน
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่เข้าถึงและมีความสัมพันธ์อย่างเป็นกันเองกับประชาชน ท่านถือว่า การปฏิบัติหน้าที่จะประสบผลสำเร็จได้ก็เพราะการได้รับความร่วมมือจากประชาชน ท่านใช้วิธีทั้งการลงไปหาประชาชนและการเปิดโอกาสให้ประชาชนมาหาท่านเพื่อให้ สามารถเข้าถึงประชาชน ดังสังเกตเห็นว่าในเวลาค่ำคืนท่านมักจะออกไปสอดส่องดูแลทุกข์สุขของประชาชน ตามตรอกซอยต่างๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้เวลาเกิดปัญหาใหญ่ ๆ ท่านมักจะลงไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ดังกรณีเมื่อเกิดวิกฤติภัยแล้งเมื่อปีที่ 18 ฮ.ศ. เป็นต้น
อัล-เฆาะซาลียฺ (al-Ghazaliy)ได้กล่าวถึงสภาพการคลุกคลีกับประชาชนของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺเมื่อ ครั้งเริ่มดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮฺใหม่ ๆ ว่า
ولما ولي الخلافة عمر بن الخطاب رضي الله تعالى عنه قال: أيها الناس من كان منكم من العراق فليقم، قال: فقاموا. فقال: اجلسوا إلا من كان من أهل الكوفة، فجلسوا، فقال: اجلسوا إلا من كان من مراد، فجلسوا فقال: اجلسوا إلا من كان من قرن، فجلسوا كلهم إلا رجلاً واحداً فقال له عمر: أقرني أنت؟ فقال: نعم فقال: أتعرف أويس بن عامر القرني؟ فوصفه له، فقال: ونعم وما ذاك تسأله عنه يا أمير المؤمنين! والله ما فينا أحمق منه ولا أجن منه ولا أوحش منه ولا أدنى منه، فبكى عمر رضي الله تعالى عنه (إحياءعلوم الدين)
เมื่อท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮฺ ท่านได้ปราศรัยว่า
โอ้ ประชาชนทั้งหลาย ผู้ใดในหมู่พวกท่านที่มาจากอิรักขอให้ยืนขึ้น" แล้วพวกเขาก็ยืนขึ้น ท่านกล่าวต่อว่า "ขอเชิญพวกท่านจงนั่งลง ยกเว้นชาวกูฟะฮฺเท่านั้น" แล้วพวกเขาก็นั่งลง ท่านกล่าวต่อไปว่า "เชิญทั้งหมดนั่งลงยกเว้นผู้ที่มาจากเผ่ามุรอด" แล้วพวกเขาก็นั่งลง ท่านกล่าวต่อไปว่า "ขอเชิญทั้งหมดนั่งลงยกเว้นผู้มาจากเผ่าก๊อรนฺ" แล้วทั้งหมดก็นั่งลงยกเว้นเพียงคนเดียว ท่านอุมัรฺจึงถามเขาว่า "ท่านเป็นชาวก๊อรนียฺใช่ไหม?” เขาตอบว่า "ใช่" ท่านถามว่า "ท่านรู้จักอะวัยสฺ อิบนฺ อามิร อัล-ก๊อรนียฺหรือเปล่า?" แล้วท่านก็บอกลักษณะของเขาแก่เขาผู้นั้น เขาตอบว่า "ใช่ รู้จัก แล้วทำไมต้องไปถามถึงเขาด้วยล่ะท่านอะมีรุลมุมินีน ฉันขอสาบานกับอัลลอฮฺว่าในหมู่พวกเรานั้นไม่มีใครที่โง่ สติไม่สมประกอบ กระด้าง และต่ำต้อยมากไปกว่าเขา" แล้วอุมัรฺก็ร้องไห้ (al-Ghazayliy, n.d.: 3/222)
การคลุกคลีกับประชาชนของท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ไม่เพียงแต่มีกับประชาชนในเมืองหลวงเท่านั้น แต่ท่านยังลงไปคลุกคลีและเข้าถึงประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ด้วยตัวเองอีกด้วย จะเห็นได้ว่าเมื่อถึงเวลาจ่ายเงินอุดหนุนประจำปีแก่ประชาชน ท่านจะนำเงินอุดหนุนนั้นไปให้พวกเขาถึงถิ่นฐานของพวกเขาเลยทีเดียว
อัล-เฏาะบะรียฺ (al-Tabariy) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
ท่านอุมัรฺเองได้แบกบัญชีของเผ่าคุซาอะฮฺด้วย ตัวท่านเองจนกระทั่งถึงที่กุดัยย์ (Quday) แล้วคนในเผ่าทุกคนต่างก็มารวมกัน โดยสตรีทุกคนทั้งหม้ายและโสดต่างมารับเงินด้วยตัวเองจากท่าน จากนั้น ท่านออกเดินทางต่อและมาหยุดที่อัศฟาน (Usfan) แล้วปฏิบัติเช่นเดียวกับที่กุดัยย์ (Quday) ท่านปฏิบัติอย่างนี้จนกระทั่งเสียชีวิต (al-Tabariy, 1988: 2/570)
นอกจากนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับประชาชน ท่านจะพยายามศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่เสมอ ดังสังเกตว่าเมื่อกำลังอยู่ในภาวะสงคราม หรือหลังจากพิชิตเมืองได้ใหม่ๆ ท่านมักจะขอข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับ เมืองดังกล่าว เช่น การที่ท่านส่งหนังสือไปยังอิรักเพื่อให้ผู้นำที่นั่นส่งผู้แทนสองคนมายังมะ ดีนะฮฺเพื่อบรรยายเกี่ยวกับข่าวคราวของอิรัก และทางผู้นำอิรักก็ได้ส่งละบีด อิบนฺ เราะบีอะฮฺ อัล-อามิรียฺ และอะดียฺ อิบนฺ หาติม อัล-ฏออียฺ (al-Suyuytiy,n.d.: 1/56) มาพบท่าน หรือการที่อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ส่งมุอาวิยะฮฺ อิบนฺ ญุดัยอฺ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองอเล็กซานเดรีย อียิปต์ (al-Miqriziy,n.d.: 1/207) เป็นต้น
อัล-เฏาะบะรียฺได้กล่าวถึงหนังสือบางฉบับที่ ท่านได้ส่งไปยังสะอัด อิบนฺ อบี
วักก็อศ ในขณะที่กำลังทำสงครามอัล-กอดิสียะฮฺ ซึ่งทำให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลปัจจุบันของประชาชนอย่างต่อเนื่องว่า
فصف لنا منازل المسلمين والبلد الذي بينكم وبين المدائن صفة كأني أنظر إليها واجعلني من أمركم على الجلية (تاريخ الطبري)
ดังนั้น ท่านจงอธิบายให้เราเข้าใจถึงลักษณะของบ้านเรือนและเมืองของชาวมุสลิมที่อยู่ ระหว่างพวกท่านกับเมืองมะดาอิน จงอธิบายเหมือนกับฉันได้เห็นด้วยตัวเอง และจงให้ฉันรู้เรื่องพวกท่านอย่างชัดเจน (al-Tabariy, 1988: 2/387)
เช่นเดียวกันกับอับดุลลอฮฺ อัล-กอรี (2453 :37) ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่กองทัพอิสลามได้รับชัยชนะในการพิชิตเปอร์เซียและ โรมันว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงประชาชนของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ ท่านกล่าวว่า
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างอุมัรฺกับทหารมุสลิม นั้นนับว่ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมาก ต่างกับความสัมพันธ์ของจักรพรรดิเปอร์เซียกับประชาชนของพระองค์ ต่างกับจักรพรรดิไบเซนไทน์กับประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง ซึ่งทั้งสองอาณาจักรดังกล่าวมีลักษณะของความเป็นเจ้าผู้เข้าครอบครอง อีกทั้งยังรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นชนชั้นศักดินาอีกด้วยและยัง มีความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใต้การปกครอง ต่างกับเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺซึ่งเป็นที่เกรงกลัวแก่บุคคลทั่วไปแต่ทุกคนก็ยกย่อง สรรเสริญและให้ความเคารพรักใคร่ในตัวท่าน

5.กล้าหาญและอดทน
ผู้นำจะต้องมีใจกล้าหาญและอดทนกับปัญหาและ สิ่งยั่วยวนต่างๆ ทั้งจากภายในตัวเองและจากประชาชนรอบข้าง จะต้องตระหนักเสมอว่าในชุมชนของตนมีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนดีย่อมมีคนชั่วทดสอบและท้าทาย การพัฒนาสร้างความดีในสังคมย่อมทำให้คนคิดชั่วเสียผลประโยชน์ ผู้นำจึงต้องพร้อมที่จะเผชิญการท้าทายจากความชั่วทุกรูปแบบ หากไม่เช่นนั้นแล้วสิ่งดีๆ ที่เขาจะสร้างสรรค์ให้กับสังคมก็คงเป็นเพียงความฝันหรือน้ำผึ้งหยดเดียวที่ ประชาชนยังไม่ทันได้ลิ้มลองก็หมดสิ้นเสียแล้ว
ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีความกล้าหาญและอดทนเป็นอย่างสูง ซึ่งหากดูประวัติของท่านแล้ว เราจะพบว่าท่านคือมุสลิมคนแรกลุกขึ้นต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลแห่งเมืองมักกะ ฮฺจนกระทั่งสามารถปลดปล่อยชาวมุสลิมให้มีอิสระในด้านศาสนา ดังที่อับดุลลอฮฺ อิบนฺ มัสอูด ได้กล่าวว่า
كان إسلام عمر فتحا وهجرته نصرا وكانت إمارته رحمة الله ما استطعنا أن نصلي بالبيت ظاهرين حتى أسلم عمر فلما أسلم عمر قاتلهم حتى صلينا (الرياض النضرة مناقب العشرة)
การเข้ารับอิสลามของอุมัรฺเป็นการพิชิตที่ ยิ่งใหญ่ การอพยพของท่านเป็นชัยชนะ และการปกครองของท่านเป็นความเมตตาปรานีจากอัลลอฮฺ เมื่อก่อนเราไม่สามารถละหมาด ณ บัยตุลลอฮฺอย่างโจ่งแจ้งได้ กระทั่งเมื่อท่านอุมัรฺเข้ารับอิสลาม ท่านได้ต่อสู้กับพวกเหล่านั้นจนพวกเราสามารถละหมาดที่นั่นได้ (Muhibb al-Din al-Tabariy, 1998: 1/244)
เช่นเดียวกันกับตอนที่ท่านจะอพยพไปยังเมืองมะ ดีนะฮฺ ในขณะที่มุสลิมทั่วไปต่างอพยพเป็นระลอกๆ อย่างเงียบๆ และต้องเก็บเป็นความลับ เพราะกลัวจะถูกพวกกุร็อยชฺสกัดกั้นและทำร้าย แต่ท่านกลับไปประกาศอย่างชัดเจนที่หน้าบัยตุลลอฮฺว่าท่านกำลังจะออกเดินทาง เพื่ออพยพไปอยู่ที่มะดีนะฮฺในวันและเวลาที่ชัดเจน ซึ่งท่านอะลียฺ อิบนฺ อบีฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ได้เล่าถึงภาพของความกล้าหาญของท่านอุมัรฺในเหตุการณ์นี้ว่า
ما علمت أحدًا هاجر إلا مختفيًا إلا عمر بن الخطاب، فإنه لما همَّ بالهجرة تقلَّد سيفه، وتنكب فرسه، وانتضى فى يده أسهمًا، وأتى الكعبة وأشراف قريش بفنائها، فطاف سبعًا، ثم صلى ركعتين عند المقام، ثم أتى حلقهم واحدة واحدة، فقال: شاهت الوجوه، مَن أراد أن تثكله أمه، ويؤتم ولده، وترمل زوجته فليلقنى وراء هذا الوادى، فما تبعه منهم أحد تهذيب الأسماء
ทุกคนที่อพยพไปยังมะดีนะฮฺ เท่าที่ฉันทราบแล้ว ล้วนอพยพอย่างเงียบๆ กันทุกคน ยกเว้นแต่เพียงอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบคนเดียวเท่านั้น ซึ่งเมื่อท่านต้องการจะอพยพ ท่านถือดาบ ควบม้า และกุมลูกธนูจำนวนหนึ่งไว้ในอุ้งมือ แล้วตรงมายังกะอฺบะฮฺซึ่งมีหัวหน้าพวกกุร็อยชฺอยู่บริเวณลานรอบๆ แล้วท่านก็เฏาะวาฟเจ็ดรอบ เสร็จแล้วมาละหมาดหลังมะกอมสองเราะกะอัต จากนั้นท่านก็ได้มาที่วงล้อมของพวกเขา ทีละกลุ่มทีละกลุ่ม ท่านกล่าวว่า "เสียหน้ากันแล้วล่ะทีนี้ ผู้ใดต้องการพลัดพรากจากแม่ ต้องการจะให้ลูกเป็นเด็กกำพร้า และให้ภรรยาเป็นหญิงหม้ายก็ขอเชิญเจอกับฉันที่หลังที่ลุ่มนี้ได้เลย" ซึ่งปรากฏว่าไม่มีใครตามท่านไปเลย (al-Nawawiy,n.d.: 1/492)
จากอุปนิสัยที่กล้าหาญอดทนนี่เอง ทำให้ในปี ฮ.ศ. 14 หลังจากได้ทราบข่าวการสิ้นชีวิตของแม่ทัพอบู อุบัยดฺ อัล-ษะเกาะฟียฺ ในสงครามกอดิสียะฮฺ ท่านต้องการนำกองทัพออกไปต่อสู้กับข้าศึกด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากคณะที่ปรึกษาระดับสูงต่างไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าหากท่านเสีย ชีวิตในสนามรบจะเกิดความยุ่งเหยิงเต็มเมือง ท่านจึงไม่ออกไป(al-Tabariy, 1988: 2/382)

6.เสียสละเพื่อส่วนรวม
ผู้นำจะต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม เพราะเขาคือผู้ได้รับความไว้ใจให้ทำภารกิจแทนพวกเขาเหล่านั้น พวกเขามอบหมายผู้นำรับผิดชอบทั้งตัวพวกเขา ลูกเมีย บ้านเรือน จนถึงสัตว์เลี้ยงวัวควาย พวกเขามอบให้ผู้นำจัดการการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ให้ผู้นำดูแลพวกเขาทั้งยามไข้ยามป่วยและยามสุขสบาย ฯลฯ ผู้นำจึงมีภารกิจท่วมตัว มีเวลาติดลบ ไม่มีกลางวันไม่มีกลางคืนให้อยู่อย่างสุขเหมือนคนอื่น เพราะลำพังงานส่วนตัวของตัวเองก็แทบทำไม่หมดแล้ว ไหนจะต้องทำงานของคนอื่นเป็นหมื่นแสน ผู้นำจึงต้องพร้อมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างและหวังเพียงในความโปรดปรานและ เมตตาจากอัลลอฮฺ
ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีความเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นอย่างสูง ท่านถือว่า การทำงานเพื่อประชาชนนั้นผู้นำจะต้องปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บทบาทในชีวิตของท่านเป็นบทบาทในฐานะบิดาของประชาชนมากกว่าบิดาของ ลูกๆ หรือเป็นปู่ตาของหลานๆ เพียงไม่กี่คน ท่านยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อความสุขของส่วนรวม ยอมใช้ชีวิตด้วยความลำบากเมื่อประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะลำบาก ดังเมื่อเกิดวิกฤติภัยแล้งที่แคว้นหิญาซ เมื่อปี ฮ.ศ 8 ที่ท่านถึงกับสาบานว่าจะไม่รับประทานอาหารดี ๆ ตราบใดที่ประชาชนยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยท่านประทังชีวิตเพียงด้วยขนมปังหยาบกับน้ำส้มเท่านั้น ซึ่งการรับประทานอย่างนี้ในเวลานานติดต่อกันเป็นแรมปีทำให้ใบหน้าท่านหมอง คล้ำไปตลอดชีวิต ในยามค่ำคืนขณะที่ประชาชนกำลังนอนพักผ่อนอย่างมีความสุขกับครอบครัว ท่านกลับสละความสุขส่วนตนออกไปตรวจตราความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเมื่อมีกองคาราวานจากต่างเมืองเข้ามาในมะดีนะฮฺ ท่านก็จะออกไปเป็นยามช่วยเฝ้าดูแลพวกเขาท่ามกลางความมืดด้วยตัวเอง (al-Tabariy, 1988: 2/567) นอกจากนี้ เวลาเดินทางพร้อมกับประชาชนไปที่ไหน ๆ ท่านมักจะทำหน้าที่ให้บริการประชาชนด้วยตัวเองเสมอ
อิบนุ มันซูร (Ibn Manzur) ได้กล่าวถึงความเสียสละความสุขในการรับประทานอาหารด้วยการงดรับประทานอาหาร ดีๆ ในยามที่ประชาชนกำลังประสบความขัดสนว่า
وعن يحيى بن سعيد، قال: اشترت امرأة عمر بن الخطاب لعمر فرق سمن بستّين درهماً، فقال عمر: ما هذا؟ فقالت امرأته: هو من مالي، ليس من نفقتك. فقال عمر: ماأنا بذائقه حتى يحيا النّاس.(مختصر تاريخ دمشق)
ยะหฺยา อิบนฺ สะอีดได้เล่าว่า ภรรยาของท่านอุมัรฺได้ซื้อเนยให้แก่ท่านหนึ่งฟะร็อก (ประมาณสิบหกลิตร) ด้วยราคาหกสิบดิรฮัม ท่านอุมัรฺจึงถามว่า "นี่มันอะไร?" นางตอบว่า "ฉันซื้อมันด้วยเงินของฉันเองไม่ใช่เงินของท่านหรอก เชิญรับประทานเถอะ ท่านอุมัรฺตอบว่า "ฉันจะไม่ชิมมันจนกว่าประชาชนได้ฟื้นดีขึ้น" (Ibn Manzur, n.d.:6/40)
เช่นเดียวกันกับอัล-อิศอมียฺ (al-'Isamiy) ที่ได้กล่าวถึงภาพของการให้บริการประชาชนและความเสียสละท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ในขณะออกเดินทางไปกับพวกเขาว่า
وكان - رضي الله تعالى عنه - إذا كان في سفر نادى الناس في المنزل عند الرحيل: ارحلوا أيها الناس، فيقول القائل: يا أيها الناس، هذا أمير المؤمنين قد ناداكم، تقدموا فاستقوا وارحلوا، ثم ينادي الثانية: الرحيل، فيقول الناس: اركبوا؛ فقد نادى أمير المؤمنين الثانية؛ فاذا استقلوا قام فرحل بعيره وعليه غرارتان، إحداهما: فيها سويق، والأخرى: فيها تمر وبين يديه قربة وخلفه جفنهَ، فكلما نزل جعل في الجفنة من السويق، وصب عليه من الماء وسط شنارة - قال: والشنارة مثل النطع الصغير - من جاءه لحاجة أو يستقضى قال له: كل من هذا السويق والتمر. ثم يرحل فيأتي المكان الذي رحل الناس منه، فإن وجد متاعاً ساقطاً أخذه؛ وإن وجد أحداً فيه عرج أو عرض لدابته أو بعيره - يكارى له، ويسوق به، فيتبع آثار الناس؛ فإذا أصبح الناس من الغد لم يفقد أحد متاعاً له سقط منه إلا قال: حتى يأتي أمير المؤمنين، فيطلع عمر وإن جمله مثل المشجب مما عليه من المتاع للناس، فيأتي الرجل، ويقول: يا أمير المؤمنين، إداوتي، فيقول: هل يغفل الرجل الحليم عن إداوته التي يشرب فيها، ويتوضأ للصلاة منها؟! أو كل ساعة أبصر، أو كل الليل أكلأ عيني من النوم، ثم يدفع إليه إداوته؛ ويقول الآخر: يا أمير المؤمنين، قوسي؛ ويقول آخر: رشائي؛ أو ما وقع منهم فيصفونه فيدفعه إليهم.(سمط النجوم العوالى)
ท่านอุมัรฺนั้น -ขออัลลอฮฺทรงโปรดปรานท่าน¬¬- ยามเมื่อท่านจะออกเดินทางไกล ท่านจะกล่าวประกาศแก่ประชาชนตามบ้านเรือนว่า "โอ้ ประชาชนทั้งหลาย พวกท่านเตรียมเดินทางกันได้แล้ว" แล้วก็จะมีคนกล่าวว่า "โอ้ ประชาชนทั้งหลาย บัดนี้อะมีรุลมุมินีนได้ประกาศแก่พวกท่านแล้ว เชิญทุกคนทำการเตรียมพร้อมเพื่อเดินทางได้แล้ว" จากนั้นท่านจะกล่าวประกาศครั้งที่สองว่า "ออกเดินทางเดี๋ยวนี้" แล้วทั้งหมดก็จะกล่าวว่า "ทุกคนเชิญขึ้นพาหนะได้แล้ว บัดนี้ท่านอะมีรุลมุมินีนได้เชิญชวนเป็นครั้งที่สองแล้ว" และเมื่อพวกเขาเริ่มออกไป ท่านก็ขี่อูฐของท่านโดยที่ตัวของท่านมีถุงอาหารสองถุง ถุงหนึ่งมีขนมปังและอีกถุงหนึ่งมีอินทผลัมอยู่ ด้านหน้ามีถุงน้ำ ด้านหลังมีถัง ซึ่งทุกครั้งที่ท่านพักแวะท่านจะเอาขนมปังมาใส่ในถัง แล้วก็ชงน้ำกลางกระโจมให้กับผู้มาติดต่อหรือมาขอคำตัดสินได้ดื่ม ท่านจะกล่าวกับเขาว่า "เชิญท่านรับประทานขนมปังกับอินทผลัมซิ" แล้วท่านก็ออกเดินทางต่อ โดยท่านจะหวนกลับมายังสถานที่ ๆ ผู้คนเพิ่งออกไปเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย ซึ่งหากพบสิ่งใด ๆ ตกอยู่ท่านก็จะเก็บไป หรือหากพบคนที่พาหนะขัดข้อง ท่านก็จะจัดการเช่าพาหนะให้เขาและนำทางเขาไปตามร่องรอยของผู้คนก่อนหน้า และเมื่อตะวันขึ้นในวันรุ่งขึ้น ผู้คนจะไม่รีบตรวจดูสิ่งของของตัวเอง เขาจะกล่าวว่า "เดี่ยว รอให้ท่านอะมีรุลมุมินีนมาถึงก่อน" แล้วท่านอุมัรฺ ก็มาถึงในสภาพที่อูฐของท่านเหมือนกับไม้แขวนเสื้อที่เต็มไปด้วยสิ่งของตก ค้างของผู้คน แล้วต่างคนก็เริ่มเข้ามาหาและบอกว่า "โอ้ อะมีรุลมุมินีน ถุงน้ำของฉัน" ท่านย้อนว่า "เป็นไปได้อย่างไร คนใจเย็นๆ ถึงกับลืมถุงน้ำที่เขาดื่มและเอาน้ำละหมาดในนั้น? จะให้ฉันนี่คอยเฝ้าดูตลอดเวลา จะให้ฉันเบิกตาค้างตลอดคืนหรือไง?" แล้วท่านก็มอบถุงน้ำนั้นให้ แล้วก็มีคนอื่นมาบอกอีกว่า "โอ้ ท่านอะมีรุลมินีน ธนูของฉัน" และอีกคนหนึ่งจะมาบอกว่า "เชือกของฉัน" หรือสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาลืมหรือทำหล่น โดยพวกเขาจะบอกรูปพรรณของมันแล้วท่านก็ยื่นส่งกลับไปให้เขา (al-'Isamiy, 1998: 2/476-477)
สำหรับในด้านการเสียสละทรัพย์สินนั้น ท่านคือ บุคคลต้นแบบที่ทำการบริจาคแบบ "บริจาคผล ถือกรรมสิทธิ์ต้น" (al-'Askariy, 1997: 127) เนื่องจากท่านได้มอบรายได้จากสวนอินทผลัมที่ค็อยบัรฺซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ ท่านหวงแหนและมีค่ามากที่สุดให้กับผู้ยากไร้และเพื่อการสงเคราะห์ในด้าน ต่างๆ ในสมัยนบีมุหัมมัดศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ดังที่ อิบนุหิบบาน (Ibn Hibban) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
ثم استشار عمر بن الخطاب رسول الله صلى الله عليه و سلم أن لي أرضا بخيبر لم أصب مالا قط هو أنفس عندي منه فما تأمرني ؟ قال : [ إن شئت حبست أصلها و تصدقت بها ] فحبس عمر أصلها و تصدق بها ـ و لا تباع و لا توهب و لا تورث ـ في الفقراء و الغرباء و ما بقي أنفق في سبيل الله و ابن السبيل لا جناح على وليها أن يأكل منها بالمعروف (السيرة لابن حبان)
ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบได้ปรึกษากับท่านเราะสูลุลลอฮฺว่า "ฉันมีที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ที่ค็อยบัรซึ่งฉันไม่เคยมีทรัพย์สมบัติใดๆ ที่มีค่ามากกว่านี้ ท่านเห็นสมควรให้ฉันทำอย่างไรล่ะ?" ท่านเราะสูลุลลอฮฺตอบว่า "หากท่านประสงค์ ท่านก็สามารถครอบครองกรรมสิทธิ์แต่บริจาคผลประโยชน์ของมัน" แล้วท่านอุมัรฺก็ถือครองกรรมสิทธิ์และบริจาคผลประโยชน์ของมัน โดยห้ามขาย ห้ามมอบ ห้ามถือเป็นมรดก แต่ผลประโยชน์ทั้งหมดจะใช้บริจาคแก่คนยากไร้ คนขัดสนในยามเดินทาง ส่วนที่เหลือให้มอบแก่โครงการเพื่อหนทางของอัลลอฮฺและผู้ไร้ถิ่นฐาน ทั้งนี้ผู้ดูแลสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามสมควร
และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเสียสละเพื่อ ส่วนรวมอย่างใหญ่หลวงของท่านอุมัรฺเราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ก็คือการเสียสละอำนาจให้กับประชาชนโดยไม่คิดที่จะมอบให้แก่ลูกหลานหรือคน ใกล้ชิดได้สืบทอด ทั้งๆ ที่มีอำนาจอย่างเต็มที่ที่จะทำอย่างนั้นได้ ซึ่งการเสียสละนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจในการเสียสละสิ่ง อื่นๆ ว่ามิใช่เป็นการเสียสละอย่างเสแสร้ง หรือเป็นการ "เสียสละปลาเล็กเพื่อหวังจะให้ได้ปลาใหญ่" อย่างที่หลายคนมักถือปฏิบัติ ทั้งนี้ท่านได้ให้คำตอบแก่ผู้ที่เสนอให้แต่งตั้งอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อุมัรฺ ผู้เป็นบุตรชายให้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺสืบต่อจากท่านว่า
لا أرب لنا في أموركم، فما حمدتها فأرغب فيها لأحد من أهل بيتي، إن كان خيراً فقد أصبنا منه، وإن كان شراً فقد صرف عنا، بحسب آل عمر أن يحاسب منهم رجل واحد ويسأل عن أمر أمة محمد، أما لقد جهدت نفسي وحرمت أهلي، وإن نجوت كفافاً لا وزر ولا أجر إني لسعيد، وأنظر فإن أستخلف فقد استخلف من هو خير مني، وإن أترك فقد ترك من هو خير مني، ولن يضيع الله دينه (تاريخ الطبري)
ฉันไม่พึงให้พวกฉันได้เป็นผู้นำของพวกท่านอีก แล้ว ฉันไม่ต้องการจะสืบอำนาจให้ผู้ใดในบ้านของฉันต่อไป หากสิ่งที่ฉันกระทำมาเป็นความดี พวกเราก็ได้รับกันแล้ว และหากว่าเป็นความชั่วพวกเราก็จะได้ปลอดพ้นไปจากมัน ในบรรดาคนในบ้านอุมัรฺขอให้อุมัรฺคนเดียวก็พอที่ต้องถูกตรวจสอบและไต่สวน เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อการงานของประชาชาตินบีมุหัมมัด ฉันได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่แล้วและห้ามมิให้ใครในบ้านมาสืบอำนาจ ซึ่งหากฉันรอดพ้นอย่างมือเปล่าไม่มีบาปหรือไม่ได้บุญก็สบายใจแล้ว ดังนั้น จงคิดให้ดีซิ หากฉันแต่งตั้งคนสืบทอด คนที่ดีกว่าฉันก็เคยแต่งตั้งมาแล้ว (คืออบูบักรฺ) และหากฉันปล่อยเรื่องนี้โดยไม่แต่งตั้งใคร คนที่ดีกว่าฉันก็เคยปล่อยไม่แต่งตั้งใครมาแล้ว (คือท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-) (al-Tabariy, 1988: 2/580)

7.มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
ผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์เป็นของตัวเอง ประเมินสังคมถูกต้องตามเป็นจริง สามารถคาดคะเนทิศทางของสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวพร้อมกับวางแผนเพื่อ แก้ปัญหาและผลักดันให้สังคมดำเนินไปสู่อนาคตที่สดใสดังเขาคาดหมายได้
ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก สังเกตได้จากการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาหรือริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครปฏิบัติมาก่อน เช่นเมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งที่แคว้นหิญาซทำให้สินค้าขาดแคลนและมีราคาแพง ท่านตัดสินใจสั่งให้อัมรฺ อิบนฺ อาศข้าหลวงประจำแคว้นอียิปต์ทำการขุดคลองเพื่อเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำไนล์ กับทะเลแดง เพื่อแก้ปัญหาสินค้าขาดแคลนและมีราคาแพงอย่างถาวรเนื่องจากอียิปต์ถือเป็น อู่ข้าวอู่น้ำของตะวันออกกลางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยคลองใหม่นี้ถูกขุดขึ้นเริ่มจากริมฝั่งแม่น้ำไนล์ในกรุงไคโรจนถึงอ่าวสุเอ ซ มีระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตรซึ่งหลังจากใช้เวลาขุดประมาณแปดเดือน คลองใหม่ที่มีชื่อว่า "คลองอะมีรุลมุมินีน" ก็ใช้งานได้ และทันทีที่เรือสามารถแล่นจากอียิปต์มายังทะเลแดง ปรากฏว่าราคาสินค้าในตลาดมะดีนะฮฺก็ลดลงเท่ากับราคาสินค้าที่ตลาดอียิปต์ ทันที ทำให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจแก่ทั้งสองเมือง เพราะอียิปต์สามารถระบายสินค้าได้อย่างรวดเร็วในขณะที่ชาวหิญาซสามารถบริโภค ในราคาถูก (Ibn 'Athir, n.d.: 1/448)
เช่นเดียวกับการเป็นผู้ริเริ่มวางปฏิทินอิส ลาม การกำหนดให้จัดการประชุมสัมมนาเพื่อตรวจสอบและศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขเป็น แคว้น ๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับการประชุมสัญจรในปัจจุบัน การกำหนดให้มีการประชุมสามัญประจำปี ณ เมืองมักกะฮฺในช่วงเทศกาลหัจญ์ อันเป็นการประชุมร่วมระหว่างเคาะลีฟะฮฺกับข้าหลวงทั้งหมด การเริ่มมีการประกาศของรัฐเป็นลายลักษณ์อักษรและแจกจ่ายทั่วทุกแคว้น การจัดตั้งค่ายทหารถาวรพร้อมกับกำหนดให้มีการเกณฑ์ทหารภาคบังคับ การก่อตั้งโรงผลิตเหรียญดิรฮัมเพื่อให้มีเงินสกุลอิสลามเป็นเอกเทศ การเน้นให้ประชาชนฝึกวิชาชีพ การเน้นให้ประชาชนเรียนวิชาดาราศาสตร์ การบันทึกทรัพย์สินของข้าหลวงก่อนดำรงตำแหน่งและให้คืนทรัพย์สินครึ่งหนึ่ง ของจำนวนที่เหลือเมื่อพ้นตำแหน่งหากเห็นว่าร่ำรวยผิดปกติ ตลอดจนการกำหนดเวลาทดลองปฏิบัติงานแก่ข้าหลวง 1 ปี ซึ่งหากทำดี ก็จะต่ออายุถึง 4 ปี ทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลของท่านทั้งสิ้น
ท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ได้ให้วิสัยทัศน์ในการมองคนของท่านว่า
لا تنظروا إلى صيام أحد ولا صلاته، ولكن انظروا إلى صدق حديثه إذا حدث، وأمانته إذا ائتمن، وورعه إذا أشفى. (حلية الألياء)
พวกท่านจงอย่ามองคนตรงการถือศีลอดและการ ละหมาดของเขา แต่จงมองตรงการมีสัจจะเวลาเขาพูดจา การมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย และการไม่ทำความชั่วเมื่อมีโอกาส (Abi Na’im al-Asbahaniy, 1405 A.H.: 3/27)

8.มั่นคงในความคิด
การมีความคิดที่มั่นคงหรือการยืนหยัดในหลัก การถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี เพราะเป็นธรรมดาที่ผู้นำย่อมมีความคิดและมุมมองที่ยาวไกลกว่าผู้อื่น แต่บางทีหรือบ่อยครั้งที่ความคิดอันรอบคอบและยาวไกลของเขาจะถูกคัดค้านโดย คณะที่ปรึกษาและผู้ใกล้ชิด เพราะพวกเขามองไม่ถึงอย่างที่ผู้นำมอง ผู้นำจึงจะต้องยืนหยัดในความคิดของตัวเอง ไม่ผันแปรและอ่อนไหวทันทีที่ได้รับการคัดค้านและต่อต้าน เขาจะต้องพยายามชี้แจงโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นดีด้วยกับความคิดของเขาหากเขา มั่นใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีและมีเหตุผล
ท่านอุมัรฺเราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ก็เช่นกัน ในฐานะเป็นผู้นำที่มีความคิดยาวไกลและเป็นผู้ค้นคิดงานใหม่ ๆ หลายประการนับตั้งแต่สมัยท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ จนถึงสมัยของท่านเอง หลายครั้งทีเดียวที่ท่านต้องประสบกับเสียงคัดค้านของคณะที่ปรึกษาหรือ ประชาชน แต่ท่านก็พยายามผลักดันสิ่งที่ท่านมุ่งมั่นเพื่อให้ที่ประชุมยอมรับเสมอ
สิ่งที่สะท้อนถึงการมีความคิดเห็นที่มั่นคง และการยืนหยัดในความเห็นของตัวเองของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺที่เด่นชัดและมีผลต่อ คนรุ่นหลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์การปกครองของท่านดูเหมือนจะเป็นกรณีการ ยกเลิกการแบ่งปันดินแดนเมืองใหม่ให้แก่บรรดาเหล่าทหารผู้พิชิตดินแดน ไม่ว่าจะเป็นดินแดนอิรัก ชาม หรืออียิปต์ จากธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติตกทอดมาตั้งแต่สมัยนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-และเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ที่กำหนดให้แบ่งปันสี่ส่วนห้าของที่ดินและทรัพย์สินในเมืองที่แพ้สงคราม (ไม่ใช่ยอมแพ้โดยสงบ) ให้แก่เหล่าทหารผู้สู้รบ และอีกหนึ่งส่วนหนึ่งที่เหลือจะมอบให้รัฐ (ดูคำอธิบายเรื่องนี้ ในการอธิบายอัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-อันฟาล อายัตที่ 41) ซึ่งตามความคิดของท่านอุมัรฺนั้น ดินแดนใหม่เหล่านี้สมควรต้องเป็นทรัพย์สินของประชาชนทั้งหมดทั้งที่ผู้ที่ เกิดมาแล้วหรือผู้ที่ยังไม่เกิดมา มันไม่สมควรจะตกเป็นสมบัติของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ เพราะหากพื้นที่ขนาดมหึมาและทรัพย์สินจำนวนมากมายมหาศาลอย่างนี้ต้องถูกแบ่ง ปันในหมู่ทหารเพียงไม่กี่แสนนาย ความร่ำรวยมั่งคั่งของรัฐก็จะไม่กระจายแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และประเทศทั้งประเทศก็จะตกเป็นสมบัติของประชาชนเพียงไม่กี่ตระกูล ซึ่งสิ่งนี้เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของอิสลาม อีกทั้งยังมีสิ่งที่น่าสังเกตก็คือในสมัยนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-และเคาะลีฟะฮฺ อบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นั้น เมืองที่แพ้สงครามเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีทรัพย์และประชากรไม่มาก อย่างค็อยบัร และบรรดานักรบส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพที่ยากจน อย่างบิลาล หรืออัมมารฺ อิบนฺ ยาสิรแต่ในสมัยท่านอุมัรฺนั้น เมืองที่แพ้สงครามนั้นมีขนาดใหญ่และมีทรัพย์สินและผู้คนมากมาย เช่นอิรัก อิหร่าน ซีเรีย อียิปต์ เป็นต้น และบรรดาทหารส่วนใหญ่ก็เริ่มมีทรัพย์สินพอประมาณแล้ว ท่านจึงย้ำจุดยืนของท่านในอันที่จะไม่แบ่งปันทรัพย์สินของชาติให้แก่เหล่า ทหารอีกต่อไป ท่านย้ำว่าที่กระทำเช่นนี้เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ของบุตรหลานคนรุ่นใหม่เป็น สำคัญ ท่านกล่าวว่า
أَمَا وَالَّذِى نَفْسِى بِيَدِهِ ، لَوْلاَ أَنْ أَتْرُكَ آخِرَ النَّاسِ بَبَّانًا لَيْسَ لَهُمْ شَىْءٌ ، مَا فُتِحَتْ عَلَىَّ قَرْيَةٌ إِلاَّ قَسَمْتُهَا كَمَا قَسَمَ النَّبِىُّ - صلى الله عليه وسلم - خَيْبَرَ ، وَلَكِنِّى أَتْرُكُهَا خِزَانَةً لَهُمْ يَقْتَسِمُونَهَا .
ขอสาบานกับผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ ของพระองค์ว่า หากไม่ใช่เพราะไม่อยากให้ประชาชนคนสุดท้ายต้องเกิดมาอย่างล่อนจ่อนไม่มี สมบัติใดๆ แล้ว แน่นอน ทุกหมู่บ้านที่ถูกพิชิตได้ ฉันจะต้องแบ่งและจัดสรรอย่างที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺเคยแบ่งและจัดสรรเมือง ค็อยบัรฺมา แต่นี่ฉันกลับปล่อยให้เป็นแหล่งทำกินของประชาชนทั่วไปได้แบ่งปันกัน (al-Bukhariy, 1987: 4/1548: 4994)
สิ่งนี้หากไม่ใช่เพราะการมีความคิดที่มั่นคง ของท่านแล้ว โอกาสที่จะต้องล้มเลิกความคิดและโอนอ่อนตามกระแสที่เคยปฏิบัติมาก็ย่อมเป็น ไปได้สูง เพราะไม่เพียงแต่ท่านคนเดียวที่ถูกรบเร้าและโดนกล่าวหาจากผู้คัดค้านว่าใช้ อำนาจปฏิบัติการในสิ่งที่สวนทางกับการปฏิบัติของนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-และท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ แต่ข้าหลวงผู้ปกครองพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งสะอฺดฺ อิบนฺ อบีวักก็อศ ที่อิรัก, อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ที่อียิปต์, หรืออบูอุบัยดะฮฺที่ชาม ต่างก็ถูกเหล่าทหารเรียกร้องให้จัดสรรพื้นที่ให้กับพวกเขา ท่านจึงต้องใช้ทั้งหลักการ และเวลา ตลอดจนต้องลงพื้นที่เพื่อจัดการประชุมกับเหล่าทหารด้วยตัวเองเพื่อชี้แจงให้ ทุกคนได้เข้าใจ
อิหม่าม อัส-สูยูฏียฺได้บันทึกบรรยากาศของเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคทั้ง กับตัวท่านเคาะลีฟะฮฺเอง และกับข้าหลวงที่อิรัก ชาม และอียิปต์ว่า
عن إبراهيم التيمى قال : لما افتتح المسلمون السواد قالوا لعمر : اقسمها بيننا فإنا فتحناه فأبى عمر وقال : فما لمن جاء بعدكم من المسلمين وأخاف إن تقاسموا أن تفاسدوا بينكم فى المياه فأقر أهل السواد فى أرضهم وضرب على رؤسهم الجزية ، وعلى أرضهم الطسق يعنى الخراج ( جامع الأحاديث)
อิบรอฮีม อัต-ตัยมียฺ ได้เล่าว่า หลังจากชาวมุสลิมได้พิชิตเมืองใหม่ พวกเขากล่าวกับท่านอุมัรฺว่า "ขอให้ท่านจงแบ่งและจัดสรรมันให้เราเถอะ พวกเราพิชิตมันได้ด้วยกำลัง" (ไม่ใช่ด้วยสนธิสัญญา) ท่านปฏิเสธ และตอบว่า "แล้วจะเหลืออะไรให้กับชาวมุสลิมที่เกิดมาหลังจากพวกท่านล่ะ? ฉันกลัวว่าพวกท่านจะแย่งกันทำลายแหล่งน้ำ" ท่านจึงรับรองสิทธิในที่ดินของประชากรใหม่ โดยให้พวกเขาชำระภาษีประจำตัว (ญิซยะ ฮฺ) และภาษีที่ดิน (เคาะรอจ) (al-Suyutiy, n.d.: 28/367: 31287)
ส่วนที่อิรักก็เกิดเรื่องในทำนองเดียวกัน ซึ่งท่านอุมัรฺได้ส่งหนังสือไปยังสะอฺดฺ ตอนที่พิชิตอิรักได้ว่า
"... أَمَّا بَعْدُ فَقَدْ بَلَغَنِى كِتَابُكَ تَذْكُرُ أَنَّ النَّاسَ سَأَلُوكَ أَنْ تَقْسِمَ بَيْنَهُمْ مَغَانِمَهُمْ وَمَا أَفَاءَ اللَّهُ عَلَيْهِمْ فَإِذَا جَاءَكَ كِتَابِى هَذَا فَانْظُرْ مَا أَجْلَبَ النَّاسُ عَلَيْكَ إِلَى الْعَسْكَرِ مِنْ كَرَاعٍ أَوْ مَالٍ فَاقْسِمْهُ بَيْنَ مَنْ حَضَرَ مِنَ الْمُسْلِمِينَ وَاتْرُكِ الأَرَضِينَ وَالأَنْهَارَ لِعُمَّالِهَا فَيَكُونُ ذَلِكَ فِى أُعْطَيَاتِ الْمُسْلِمِينَ فَإِنَّكَ إِنْ قَسَمْتَهَا بَيْنَ مَنْ حَضَرَ لَمْ يَكُنْ لِمَنْ بَعْدَهُمْ شَىْءٌ..."
ฉันได้รับหนังสือของท่านที่ระบุว่ามีคนขอให้ ท่านแบ่งสรรทรัพย์สินเฆาะนิมะฮฺและสิ่งที่อัลลอฮฺประทานให้กับพวกเขา ซึ่งเมื่อท่านได้รับหนังสือของฉันฉบับนี้ ขอให้ท่านตรวจดูสิ่งที่พวกเขานำมาให้ท่านที่ค่ายทหารไม่ว่าจะเป็นม้าหรือ สมบัติอื่นๆ แล้วจงจัดสรรมันให้กับมุสลิมผู้เข้าร่วมสงคราม และจงปล่อยที่ดินและแม่น้ำให้แก่เจ้าของผู้ทำประโยชน์ตามเดิม เพื่อมันจะได้เป็นสมบัติของประชาชนมุสลิมทั้งมวล เพราะหากท่านจัดสรรมันแก่ผู้ร่วมสงครามแล้ว จะไม่มีอะไรเหลือให้ผู้มาภายหลังอีกเลย (al-Bayhaqiy, 1344 A.H.:2/41: 18832)
และประชาชนจากแถบซีเรีย จอร์แดน เลบานอน และปาเลสไตน์ก็เช่นเดียวกัน ท่านกล่าวถึงหนังสือที่บิลาลและพวกได้ส่งมายังมะดีนะฮฺเพื่อขอให้ท่านเคาะลี ฟะฮฺจัดสรรที่ดินว่า
"...إِنَّ هَذَا الْفَىْءَ الَّذِى أَصَبْنَا لَكَ خُمُسُهُ وَلَنَا مَا بَقِىَ لَيْسَ لأَحَدٍ مِنْهُ شَىْءٌ كَمَا صَنَعَ النَّبِىُّ -صلى الله عليه وسلم- بِخَيْبَرَ فَكَتَبَ عُمَرُ رَضِىَ اللَّهُ عَنْهُ إِنَّهُ لَيْسَ عَلَى مَا قُلْتُمْ وَلَكِنِّى أَقِفُهَا لِلْمُسْلِمِينَ.
“แท้จริง ทรัพย์สินแพ้สงครามที่เราได้รับนี้ หนึ่งส่วนห้าเป็นของท่าน ส่วนที่เหลือเป็นของเรา ไม่มีอะไรเหลือให้กับผู้อื่นดังที่ท่านนบีเคยจัดสรรที่เมืองค็อยบัรฺ" ท่านอุมัรฺจึงตอบไปยัง "ฉันจะไม่ทำอย่างที่พวกท่านพูดหรอก แต่ฉันจะให้มันเป็นของสาธารณะเพื่อชาวมุสลิมทั้งมวล” (al-Bayhaqiy, 1344 A.H.:2/67: 18856)
ส่วนที่อียิปต์ ข้าหลวงอัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ก็ต้องถูกอัล-ซุเบรฺ อิบนฺ อัล-เอาวาม กดดันด้วยเช่นกัน ดังที่อัล-บัยหะกียฺได้กล่าวว่า
"...سَمِعْتُ سُفْيَانَ بْنَ وَهْبٍ الْخَوْلاَنِىَّ يَقُولُ : إِنَّا لَمَّا فَتَحْنَا مِصْرَ بِغَيْرِ عَهْدٍ قَامَ الزُّبَيْرُ بْنُ الْعَوَّامِ فَقَالَ : اقْسِمْهَا يَا عَمْرَو بْنَ الْعَاصِ فَقَالَ عَمْرٌو : لاَ أَقْسِمُهَا فَقَالَ الزُّبَيْرُ : وَاللَّهِ لَتَقْسِمَنَّهَا كَمَا قَسَمَ رَسُولُ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم- خَيْبَرَ فَقَالَ عَمْرٌو : وَاللَّهِ لاَ أَقْسِمُهَا حَتَّى أَكْتُبَ إِلَى أَمِيرِ الْمُؤْمِنِينَ فَكَتَبَ إِلَيْهِ عُمَرُ بْنُ الْخَطَّابِ رَضِىَ اللَّهُ عَنْهُ أن أَقِرَّهَا حَتَّى يَغْزُوَ مِنْهَا حَبَلَ الْحَبَلَةِ.
ฉันได้ยินสุฟยาน อิบนฺ วัฮบฺ อัล-เคาลานียฺ เล่าว่า "หลังจากที่พวกเราสามารถพิชิตอียิปต์โดยไม่มีสนธิสัญญา อัล-ซุเบรฺ อิบนฺ อัล-เอาวามก็ได้ลุกขึ้นพูดว่า "โอ้ อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ขอให้ท่านจงจัดสรรมัน" อัมรฺตอบว่า "ไม่ ฉันจะไม่แบ่งมัน" อัล-ซุเบรฺกล่าวว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ ท่านจะต้องจัดสรรมันอย่างแน่นอนดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺเคยจัดสรรที่ ค็อยบัร" อัมรฺ ตอบว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ ฉันจะไม่จัดสรรมันจนกว่าฉันจะมีหนังสือแจ้งไปยังท่านอะมีรุลมุมีนีน” แล้วอุมัรฺก็มีหนังสือตอบมาว่า"ฉันตั้งมันไว้เพื่อให้ลูกหลานที่นี่จะได้ทำ หน้าที่รบรากับศัตรูกันต่อไป” (al-Bayhaqiy, 1344 A.H.:2/406: 13208)
นี่คือบรรยากาศทั่วไปที่เกิดขึ้นหลังจากท่าน ได้มีคำสั่งยกเลิกการแบ่งสรรที่ดินให้กับทหารผู้เข้าร่วมสงคราม แต่เนื่องจากทหารของท่าน ส่วนใหญ่เป็นทหารที่มีคุณธรรมและยึดมั่นในหลักการอิสลามอย่างเคร่งครัด ท่านจึงสามารถใช้หลักการอิสลามมาชี้แจงจนพวกเขาพอใจโดยได้ยกบทบัญญัติในอัล กุรอานต่อไปนี้มาอ่านและอธิบายแก่บรรดาเหล่าทหารผู้ร่วมประชุมว่า

(مَّا أَفَاء اللَّهُ عَلَى رَسُولِهِ مِنْ أَهْلِ الْقُرَى فَلِلَّهِ وَلِلرَّسُولِ وَلِذِي الْقُرْبَى وَالْيَتَامَى وَالْمَسَاكِينِ وَابْنِ السَّبِيلِ كَيْ لَا يَكُونَ دُولَةً بَيْنَ الْأَغْنِيَاء مِنكُمْ وَمَا آتَاكُمُ الرَّسُولُ فَخُذُوهُ وَمَا نَهَاكُمْ عَنْهُ فَانتَهُوا وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ شَدِيدُ الْعِقَابِ، لِلْفُقَرَاء الْمُهَاجِرِينَ الَّذِينَ أُخْرِجُوا مِن دِيارِهِمْ وَأَمْوَالِهِمْ يَبْتَغُونَ فَضْلاً مِّنَ اللَّهِ وَرِضْوَاناً وَيَنصُرُونَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ أُوْلَئِكَ هُمُ الصَّادِقُونَ) (الحشر : 7 - 8 )
ความว่า: และสิ่งใด ๆ ที่อัลลอฮฺทรงมอบให้เราะสูลของพระองค์ที่ยึดมาได้จากชาวเมือง (ที่แพ้สงคราม) สิ่งนั้นย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ และเป็นกรรมสิทธิ์ของญาติสนิท เด็กกำพร้า ผู้ยากไร้ และผู้เดินทางที่ไร้ที่อาศัย เพื่อมันจะได้ไม่หมุนเวียนเพียงเฉพาะในวงผู้มั่งมีในหมู่พวกเจ้า และอันใดที่เราะสูลได้นำมายังพวกเจ้า ก็จงยึดเอาไว้ และอันใดที่ท่านห้ามพวกเจ้าก็จงละเว้นเสีย และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเข้มงวดในการลงโทษ (สิ่งที่ยึดมาได้นั้น) เป็นสมบัติของบรรดาผู้อพยพที่ขัดสนซึ่งถูกขับออกจากบ้านเกิดเมืองนอนและต้อง ทอดทิ้งทรัพย์สินเพื่อแสวงหาความโปรดปรานและความยินดีจากอัลลอฮฺ อีกทั้งยังช่วยเหลืออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ คนเหล่านั้นแหล่ะคือผู้สัตย์จริง (อัล-หัชรฺ :7-8)

ท่านอุมัรฺอธิบายชี้แจงว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ มันไม่ใช่เป็นสมบัติเฉพาะของพวกเขาเพียงพวกเดียวเท่านั้น" แล้วท่านก็อ่านต่อไปว่า

(وَالَّذِينَ تَبَوَّؤُوا الدَّارَ وَالْإِيمَانَ مِن قَبْلِهِمْ يُحِبُّونَ مَنْ هَاجَرَ إِلَيْهِمْ وَلَا يَجِدُونَ فِي صُدُورِهِمْ حَاجَةً مِّمَّا أُوتُوا وَيُؤْثِرُونَ عَلَى أَنفُسِهِمْ وَلَوْ كَانَ بِهِمْ خَصَاصَةٌ وَمَن يُوقَ شُحَّ نَفْسِهِ فَأُوْلَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ، وَالَّذِينَ جَاؤُوا مِن بَعْدِهِمْ يَقُولُونَ رَبَّنَا اغْفِرْ لَنَا وَلِإِخْوَانِنَا الَّذِينَ سَبَقُونَا بِالْإِيمَانِ وَلَا تَجْعَلْ فِي قُلُوبِنَا غِلّاً لِّلَّذِينَ آمَنُوا رَبَّنَا إِنَّكَ رَؤُوفٌ رَّحِيمٌ) (الحشر : 9 - 10 )
ความว่า: และบรรดาผู้ที่ได้ปลูกบ้านเรือนและความศรัทธาเตรียมไว้ก่อนพวกเขาจะอพยพมา ถึงซึ่งต่างรักใคร่ผู้ที่อพยพมายังพวกเขาโดยในหัวใจพวกเขาไม่มีความต้องการ หรือความอิจฉาในสิ่งที่คนเหล่านั้นได้รับมอบ และพวกเขายังให้สิทธิแก่ผู้อื่นก่อนตัวเองถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการ อยู่มากก็ตาม และผู้ใดปกป้องความตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขา คนเหล่านั้นคือผู้ประสบความสำเร็จ และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขาโดยพวกเขากล่าวว่าข้าแต่พระเจ้าของเรา ขอทรงโปรดอภัยให้แก่เราและแก่พี่น้องผู้ซึ่งได้มีความศรัทธาก่อนหน้าเรา และขอพระองค์อย่าสร้างความเคียดแค้นต่อบรรดาผู้ศรัทธาให้เกิดขึ้นในหัวใจของ เรา ข้าแต่พระเจ้าของเรา แท้จริงพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ (อัล-หัชรฺ :9-10)
ท่านกล่าวเสริมท้ายว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ มุสลิมทุกคนย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินนี้ ไม่ว่าเขาจะได้รับแล้วหรือยังไม่ได้รับ จนแม้กระทั่งคนเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ที่เอเดนก็ตาม" (al-Bayhaqiy, 1994:6/351: 12781)
นี่คือบางตัวอย่างที่แสดงถึงการมีความคิดที่ มั่นคงของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ
อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ซึ่งผลการตัดสินใจยืนหยัดในความคิดนี่เองที่ทำให้เกิดกรมที่ดินเพื่อทำการ สำรวจและขึ้นทะเบียนที่ดิน ทำให้รายได้ของกองคลังขยับตัวขึ้นสูงในทันทีที่มตินี้ถูกนำไปปฏิบัติ และด้วยรายได้อันมหาศาลนี่เองที่ทำให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ และนำรัฐอิสลามไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

9.รับฟังเหตุผล
การยอมรับและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นนับ เป็นอีกหนึ่งลักษณะของการเป็นผู้นำที่ดี เพราะเมื่อผู้นำรับฟังความคิดของคนอื่น เขาก็จะสามารถคัดกรองเอาความคิดเห็นที่ดีที่สุดมาปฏิบัติซึ่งจะเป็นประโยชน์ อย่างมากทั้งกับตัวเองและประชาชน ในขณะเดียวกัน หากผู้นำหลงตัวเอง มองว่าความคิดตัวเองสมบูรณ์แบบเบ็ดเสร็จ เขาและสังคมก็ต้องพลอยหมดโอกาสจะได้รับพลอยเม็ดงามซึ่งบางทีอาจได้รับจาก ประชาชนชั้นต่ำสุดในสังคมก็เป็นได้
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นั้นแม้ว่ามีความโดดเด่นในฐานะผู้บุกเบิกความคิดใหม่ ๆ ตลอดจนเป็นผู้ยืนหยัดและมั่นคงในความคิดที่ตนเห็นชอบ แต่บ่อยครั้งที่ความคิดเหล่านี้เป็นความคิดที่เกิดจากการเสนอแนะของคนอื่น และบ่อยครั้งที่ท่านยอมรับว่าตัวเองคิดผิดหลังจากที่ได้รับฟังเหตุผลของผู้ อื่น เช่นกรณีการล้มเลิกความคิดที่จะออกไปทำสงครามนิฮาวันดฺด้วยตัวเองหลังจากได้ รับฟังเหตุผลต่างๆซึ่งอิบนุลอะษีรได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
فجمع عمر الناس واستشارهم، وقال لهم: هذا يوم له ما بعده، وقد هممت أن أسير فيمن قبلي ومن قدرت عليه فأنزل منزلاً وسطاً بين هذين المصرين ثم أستنفرهم وأكون لهم ردءاً حتى يفتح الله عليهم ويقضي ما أحب، فإن فتح الله عليهم صبيتهم في بلدانهم.(الكامل في التاريخ)
ท่านอุมัรฺได้ประชุมร่วมกับประชาชนและกล่าว แก่พวกเขาว่า "วันนี้เป็นวันกำหนดอนาคตข้างหน้า ซึ่งฉันเห็นว่าฉันสมควรจะออกเดินทางไปพร้อมกับทหารของฉันและคนที่ฉันสามารถ จะเกณฑ์พวกเขาได้ แล้วฉันก็ไปปักหลักอยู่ใจกลางระหว่างสองเมืองนี้แล้วก็เชิญชวนพวกเขาให้ออก ไปทำสงครามด้วยกัน โดยฉันจะเป็นกองหลังให้กับพวกเขาจนกว่าอัลลอฮฺจะทำให้พวกเขาพ่ายแพ้และ ประทานสิ่งที่ฉันต้องการ ซึ่งหากอัลลอฮฺให้พวกเขาพ่ายแพ้ ฉันก็จะได้กวาดต้อนพวกเขาถึงในบ้านเมืองของพวกเขาเองเลยทีเดียว (Ibn Athir, n.d.: 1/454)
อิบนุลเญาซียฺ (Ibn al-Jawziy) ที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ต่อไปว่า
فقام طلحة فقال: أنت ولي هذا الأمر، وقد أحكمت التجارب، فادعنا نجب ومرنا نطع، فأنت مبارك الأمر ميمون النقيبة، ثم جلس. فقال عمر: تكلموا، فقام عثمان فقال: أرى أن تكتب إلى أهل الشام فيسيرون من شأمهم، وتكتب إلى أهل اليمن فيسيرون من يمنهم، وتسير أنت بنفسك من هذين الحرمين إلى هذين المصرين، من أهل الكوفة والبصرة، فتلقى جموع المشركين في جموع المسلمين. ثم قام علي بن أبي طالب رضي اللّه عنه فقال: إنك إن أشخصت أهل الشام سارت الروم إلى ذراريهم، وإنك إن أشخصت أهل اليمن سارت الحبشة إلى ذراريهم، وإنك متى شخصت من هذين الحرمين انتقضت عليك الأرض من أقطارها حتى تكون ما تخلف خلفك من العورات أهم إليك مما بين يديك، ولكن أرى أن تكتب إلى أهل البصرة فيفترقون ففرقة تقيم في أهاليها، وفرقة يسيرون إلى إخوانهم بالكوفة، واما ما ذكرت من كثرة القوم فإنا لم نكن نقاتلهم فيما خلا بالكثرة ولكنا نقاتلهم بالنصر. فقال عمر رضي اللّه عنه: صدقت يا أبا الحسن، هذا رأي (المنتظم)
ฏ็อลหะฮฺจึงลุกขึ้นกล่าวว่า "ท่านคือผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ และท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วยประสบการณ์ ดังนั้น จงเรียกเถอะเราจะมา จงสั่งเถอะเราจะทำ เพราะท่านเป็นผู้นำที่จำเริญก้าวหน้า" แล้วเขาก็นั่งลง ท่านอุมัรฺจึงกล่าวต่อว่า "ไหนคนอื่น จงพูดซิ" แล้วอุษมานก็ลุกขึ้นพูดว่า "ฉันเห็นว่า ท่านควรมีหนังสือไปยังชาวเมืองชามแล้วก็ให้พวกเขายาตราออกไปจากเมืองชามของ เขา มีหนังสือไปยังชาวเยเมนแล้วให้พวกเขายาตราออกไปจากเมืองเยเมนของเขา และท่านเองก็ออกจากสองเมืองทรงเกียรติแห่งนี้ไปยังสองเมืองนั้น คือกูฟะฮฺและบัศเราะฮฺ แล้วกองทัพผู้ปฏิเสธก็ประจันหน้ากับกองทัพชาวมุสลิม"
แล้วอะลียฺ อิบนฺ อบีฏอลิบก็ลุกขึ้นกล่าวว่า "ท่านนี่นะ หากว่าท่านเกณฑ์ชาวเมืองชาม พวกโรมันก็จะยกทัพไปจับลูกเมียพวกเขา หากท่านเกณฑ์ชาวเยเมน พวกเอธิโอเปียก็จะยกทัพไปจับลูกเมียพวกเขา และหากท่านเอง เมื่อใดที่ท่านออกไปจากสองเมืองที่ทรงเกียรติแห่งนี้ด้วยตัวเองแล้วละก็แผ่น ดินทั้งแผ่นดินก็จะทุกข์ระทม กระทั่งสิ่งที่ทิ้งไว้ข้างหลังจะกลายเป็นสิ่งที่ท่านต้องตระหนักมากกว่าสิ่ง ที่อยู่ข้างหน้า ฉันจึงเห็นว่า ท่านควรจะมีหนังสือไปยังชาวบัศเราะฮฺให้พวกเขาแยกออกเป็นพวกๆ โดยพวกหนึ่งเฝ้าระวังพรรคพวกของเขา ส่วนอีกพวกหนึ่งเดินทางไปสบทบกับพี่น้องของพวกเขาที่เมืองกูฟะฮฺ สำหรับเรื่องที่ท่านพูดถึงการมีจำนวนมากมายของพวกนั้น ในอดีตที่ผ่านมา เราเองก็ไม่เคยรบกับพวกเขาด้วยจำนวนกองกำลัง แต่เรารบกับพวกเขาด้วยการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ" ท่านอุมัรฺ จึงพูดว่า "จริงของท่าน อะบุลหะสัน นี่แหล่ะความเห็นที่ถูกต้อง” (Ibn al-Jawziy, n.d.:2/23)
นี่คือตัวอย่างของการรับฟังเหตุผลของเคาะลีฟะ ฮฺอุมัรฺในเรื่องใหญ่ที่มีผลในทางปฏิบัติต่อผู้คนและทรัพย์สินมากมาย แต่ในเรื่องเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ท่านก็ไม่เคยใช้อำนาจบาตรใหญ่ของตัวเองในการตัดสินใดๆ ต่อประชาชนโดยพลการอย่างไม่ฟังเหตุผล
อัล-เฏาะหาวียฺ (al-Tahawiy, n.d.: 7/167: 2665)ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่แสดงถึงการรับฟังเหตุผลของท่านว่า
أَنْ عُمَرَ بْنِ الْخَطَّابِ رَأَى رَجُلًا يَقْطَعُ مِنْ شَجَرِ الْحَرَمِ وَيَعْلِفُهُ بَعِيرًا لَهُ قَالَ : فَقَالَ : عَلَيَّ بِالرَّجُلِ فَأُتِيَ بِهِ فَقَالَ يَا عَبْدَ اللَّهِ أَمَا عَلِمْت أَنَّ مَكَّةَ حَرَامٌ لَا يُعْضَدُ عِضَاهُهَا وَلَا يُنَفَّرُ صَيْدُهَا وَلَا تَحِلُّ لُقَطَتُهَا إلَّا لِمُعَرِّفٍ ؟ فَقَالَ يَا أَمِيرَ الْمُؤْمِنِينَ وَاَللَّهِ مَا حَمَلَنِي عَلَى ذَلِكَ إلَّا أَنَّ مَعِي نِضْوًا لِي فَخَشِيتُ أَنْ لَا يُبَلِّغَنِي أَهْلِي وَمَا مَعِي زَادٌ وَلَا نَفَقَةٌ فَرَقَّ عَلَيْهِ بَعْدَمَا هَمَّ بِهِ وَأَمَرَ لَهُ بِبَعِيرٍ مِنْ إبِلِ الصَّدَقَةِ مُوَقِّرًا صَحِيحًا فَأَعْطَاهُ إيَّاهُ وَقَالَ لَا تَعُودَنَّ أَنْ تَقْطَعَ مِنْ شَجَرِ الْحَرَمِ شَيْئًا ( مشكل الآثار)
ท่านอุมัรฺได้เห็นชายคนหนึ่งกำลังตัดกิ่งไม้ ในเขตอนุรักษ์อัล-หะร็อมและนำไปให้อูฐของเขากิน ท่านจึงกล่าวว่า "จงพาเขามาหาฉันซิ" แล้วเขาก็ถูกนำตัวมาหาท่าน ท่านถามว่า "โอ้ อับดุลลอฮฺ ท่านไม่รู้หรือว่าเมืองมักกะฮฺนั้นเป็นเขตอนุรักษ์หวงห้าม ห้ามตัดกิ่งไม้ของมัน ห้ามขับไล่ตะเพิดสัตว์ของมัน และห้ามเก็บสิ่งของที่ตกหล่นใดๆ นอกจากผู้ที่ต้องการนำคืนให้กับเจ้าของ? " เขาตอบว่า "โอ้ อะมีรุลมุมินีน ขอสาบานกับอัลลอฮฺ ที่ฉันทำไปก็เพราะฉันมีอูฐที่อ่อนแอตัวหนึ่งซึ่งฉันเกรงว่ามันจะไม่สามารถจะ พาฉันไปพบลูกเมียของฉันได้ และฉันเองก็หมดเสบียงและเงินเพื่อใช้จ่ายแล้ว" ท่านจึงใจอ่อนหลังจากเดิมที่ต้องการลงโทษเขา แล้วท่านจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่นำอูฐจากคลังหลวงตัวหนึ่งซึ่งมีความแข็งแรง และสามารถบรรทุกสิ่งของมาให้เขา ท่านกล่าวว่า "ท่านจงอย่าหวนมาตัดกิ่งไม้ใด ๆในเขตอนุรักษ์อัล-หะร็อมนี้อีกเป็นอันขาด" (al-Tahawiy, n.d.: 7/167: 2665)
อิหม่าม อัล-บุคอรียฺ ได้บันทึกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงถึงการรับฟังเหตุผลของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ กล่าวคือมีประชาชนจากต่างถิ่นมาส่งเสียงดังในบริเวณมัสยิดนบีที่มะดีนะฮฺ ซึ่งสำหรับคนเมืองมะดีนะฮฺถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งผิดธรรมเนียม ปฏิบัติและต้องโดนลงโทษ แต่เมื่อเป็นคนจากต่างถิ่นท่านก็ให้อภัย อัล-บุคอรียฺรายงานว่า
عَنِ السَّائِبِ بْنِ يَزِيدَ قَالَ كُنْتُ قَائِمًا فِى الْمَسْجِدِ فَحَصَبَنِى رَجُلٌ ، فَنَظَرْتُ فَإِذَا عُمَرُ بْنُ الْخَطَّابِ فَقَالَ اذْهَبْ فَأْتِنِى بِهَذَيْنِ . فَجِئْتُهُ بِهِمَا . قَالَ مَنْ أَنْتُمَا - أَوْ مِنْ أَيْنَ أَنْتُمَا قَالاَ مِنْ أَهْلِ الطَّائِفِ . قَالَ لَوْ كُنْتُمَا مِنْ أَهْلِ الْبَلَدِ لأَوْجَعْتُكُمَا ، تَرْفَعَانِ أَصْوَاتَكُمَا فِى مَسْجِدِ رَسُولِ اللَّهِ - صلى الله عليه وسلم –رواه البخاري
อัส-สาอิบ อิบนฺ ยะซีด เล่าว่า "ขณะที่ฉันกำลัง ยืนอยู่ในมัสยิดนบี มีชายคนหนึ่งปาลูกหินมาสะกิดฉัน ฉันจึงหันไปมองปรากฏว่าเป็นอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ ท่านกล่าวว่า "ไปซิ ไปนำสองคนนั้นมาหาฉันหน่อย" แล้วฉันก็นำเขาทั้งสองมาหาท่าน ท่านถามว่า "พวกท่านทั้งสองเป็นใคร พวกท่านทั้งสองมาจากไหน?" ทั้งสองตอบว่า "เป็นชาวเมืองฏออิฟ" ท่านกล่าวว่า "หากท่านทั้งสองเป็นชาวเมืองนี้ แน่นอนฉันจะตีพวกท่านให้เจ็บแสบ พวกท่านส่งเสียงดังในมัสยิดเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้อย่างไรกัน? (al-Bukhayriy, 1987: 1/179: 458)

10.เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง
การเข้าใจและให้ความเคารพต่อความคิดเห็นของ ผู้อื่น ซึ่งมีความแตกต่างจากความคิดเห็นของตัวเองนับเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ผู้นำพึง มี เพราะหากขาดคุณสมบัตินี้แล้ว ผู้นำคนนั้นก็จะเป็นผู้นำที่ไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ไม่เหมือนเขา จะเป็นผู้นำที่สร้างปัญหาให้กับรัฐและประชาชนตลอดไป เพราะในรัฐที่กว้างใหญ่และมีประชาชนมาจากครอบครัวอันหลากหลาย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีความคิดเห็นเหมือนกันหมด
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นั้นเป็นผู้นำที่มีความประนีประนอมทางความคิดและให้ความเคารพในความคิดของ ผู้อื่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ดังสังเกตว่า แม้โดยส่วนตัวท่านจะเป็นคนที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก แต่ท่านก็ยังมีทาสเป็นชาวคริสเตียนคนหนึ่งชื่อว่า “อะชัก” ซึ่งท่านเคยชักชวนเขาให้เข้ารับอิสลาม เพื่อจะได้มอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามให้เขาทำ แต่เขาปฏิเสธ ซึ่งท่านเคาะลีฟะฮฺก็ไม่บังคับแต่อย่างใด โดยท่านยกอายะฮฺอัลกุรอานว่า : لاَ إِكراهَ في الدينِ (แปลว่าไม่มีการ บังคับในศาสนา) และเมื่อท่านใกล้จะสิ้นชีวิต ท่านยังปล่อยเขาให้เป็นไท (al-Suyutiy,n.d.: 28/281: 31087) นอกจากนี้ เมื่อชาวมุสลิมสามารถพิชิตเมือง
อเล็กซานเดรีย เมืองสำคัญของอียิปต์ ท่านยังได้สั่งให้อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ แบ่งพื้นที่บนเนินเขาอัล-มักฏ็อมให้เป็นสุสานแก่ชาวคริสเตียนตามความเชื่อ ของพวกเขาว่าแผ่นดินแห่งนั้นถือเป็นเสมือนดินแดนสวรรค์แม้โดยส่วนตัวท่านจะ ไม่เห็นด้วยก็ตาม (al-Humayriy, 1980: 557)
อัล-ศ็อลลาบียฺ (al-Sallabiy) ได้กล่าวว่า
ชาวอะฮฺลุลกิตาบ (ชาวคริสเตียนและยิว) สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาและจารีตประเพณีตามความเชื่อของตน ทั้งในศาสนสถานและในเคหะสถาน และไม่มีผู้ใดขัดขวางพวกเขาจากการกระทำดังกล่าวเพราะกฎหมายอิสลามได้คุ้ม ครองสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่พวกเขา (al-Sallabiy, n.d.: 145)
เช่นเดียวกันการยอมรับในประเพณีของประชาชนที่ หลากหลายเชื้อชาติและศาสนา ดังที่อัล-มิกริซียฺ (al-Miqriziy) ได้กล่าวถึงการเฉลิมฉลองต้อนรับการมาเยือนของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ ณ เมืองชามของประชาชนชาวคริสเตียน โดยพวกเขาให้การต้อนรับท่านด้วยการร้องรำตีกลองซึ่งเป็นการขัดกับความรู้สึก ส่วนตัวของท่าน แต่เมื่อได้ฟังคำชี้แจงของอบู อุบัยดะฮฺ ข้าหลวงประจำแคว้น ท่านก็ปล่อยให้พวกเขาแสดงตามวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขา อัล-มิกริซียฺ กล่าวว่า
ذكر هشام بن الكلبيّ: أن عمر بن الخطاب رضي الله عنه لما قدم الشام، تلقاه المقلسون من أهل الأديان بالسيوف والريحان، فكره عمر رضي الله عنه النظر إليهم وقال: ردّوهم. فقال له أبو عبيدة بن الجراح رضي الله عنه، إنها سنة الأعاجم، فإن منعتهم ظنوا أنه نقض لعهدهم. فقال عمر رضي الله عنه: دعوهم والتقليس: الضرب بالطبل أو الدف (المواعظ والإعتبار).
ฮิชาม อิบนฺ อัล-กัลบียฺได้เล่าว่าในตอนที่ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบมาถึงเมืองชามนั้น บรรดานักระบำร่ายดาบและควันน้ำหอมได้มาแสดงเพื่อต้อนรับท่าน ท่านอุมัรฺรู้สึกอึดอัดใจที่จะชมการแสดงของพวกเขา และกล่าวว่า "นำพวกเขากลับไปได้แล้ว" อบู อุบัยดะฮฺ อิบนฺ อัล-ญัรร็อหฺจึงตอบว่า "มันเป็นประเพณีของคนต่างชาติ หากฉันห้ามพวกเขา พวกเขาก็จะคิดว่ามันเป็นการละเมิดสนธิสัญญาที่ได้ให้ต่อพวกเขา" ท่านอุมัรฺจึงตอบว่า "ถ้าอย่างนั้น ก็จงปล่อยให้เขาแสดงต่อไป" (al-Miqriziy, n.d.: 2/410)

11.ถ่อมตน
ผู้นำจะต้องถ่อมตัว ให้เกียรติแก่ประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน ต้องเข้าใจว่ามนุษย์ทั้งหมดต่างรักในเกียรติยศและศักดิ์ศรี ไม่มีใครชอบให้ผู้อื่นมาลบหลู่แม้ว่าเขาจะเป็นคนด้อยโอกาสเพียงใดก็ตาม หากพยายามยกตัวเองข่มผู้อืนเมื่อใดก็เสมือนพยายามจะดิสเครดิตตัวเองเมื่อ นั้น ความเคารพที่ประชาชนให้กับเขาก็จะเป็นเพียงภาพการประจบสอพลอที่รอโอกาสจะสาป แช่งหมดสิ้นซึ่งความศรัทธาและเลื่อมใสจากจิตใจของประชาชน
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่ถ่อมตัวเป็นอย่างมาก ท่านถ่อมตัวอย่างบริสุทธิ์ใจทั้งด้วยวาจาและการแสดงออก ท่านกล่าวแก่ประชาชนว่า
يا أيها الناس تواضعوا فإني سمعت رسول الله صلى الله عليه وسلم يقول: " من تواضع لله رفعه الله، وقال: انتعش رفعك الله، فهم في نفسه صغير، وفى أعين الناس عظيم، ومن تكبر خفضه الله، وقال: اخسأ خفضك الله، فهو في نفسه كبير، وفي أعين الناس صغير حتى يكون أهون من كلب " .(حلية الألياء)
โอ้ ประชาชนทั้งหลาย พวกท่านจงถ่อมตัวเถิด เพราะฉันเคยได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-กล่าวว่า "ผู้ใดถ่อมตนอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺจะทรงยกฐานะของเขา และกล่าวว่า เจ้าจงเงยหน้าขึ้นซิ อัลลอฮฺได้ทรงยกฐานะของเจ้าแล้ว ซึ่งพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า แต่ในสายตาของผู้อื่นเขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และผู้ใดที่ลำพองตน อัลลอฮฺจะทรงให้เขาต่ำต้อย และกล่าวว่า จงก้มหน้าลงซิ อัลลอฮฺให้เจ้าต่ำต้อยแล้ว ซึ่งเขารู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ แต่ในสายตาของผู้อื่นเป็นผู้ต่ำต้อยจนไร้ค่ายิ่งกว่าสุนัขเสียอีก" (Abu Nua’im al-Asbahaniy,n.d.: 7/129)
การเดินทางของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺไปเยือนเมือง ชามครั้งประวัติศาสตร์เพื่อรับมอบเมืองปาเลสไตน์ที่ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ ดินแดนรัฐอิสลามเมื่อปี ฮ.ศ. 16 ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความถ่อมตัวอย่างเสมอต้นเสมอปลายของท่านอุ มัรฺเป็นอย่างดี ซึ่งในตอนที่มาเมืองชามนั้น ท่านได้มาพร้อมกับอัล-อับบาสและคนรับใช้ ครั้นเมื่อใกล้ถึงเมืองชาม ท่านอุมัรฺก็ได้เปลี่ยนไปขี่อูฐของคนรับใช้ซึ่งมีอานที่ไม่ดี โดยให้ท่านอัล-อับบาสเป็นคนขี่ม้านำหน้า ซึ่งเป็นม้าที่สวยและท่านเองเป็นคนรูปหล่อ ดังนั้น พอมาถึงเมืองชามเหล่าผู้นำศาสนาคริสต์ที่ยังไม่รู้จักกับท่านเคาะลีฟะฮฺต่าง ก็เข้าไปจับมือท่านอัล-อับบาส ท่านจึงบอกว่า ไม่ใช่ฉันหรอก แต่เขา (เคาะลีฟะฮฺ) คือคนนั้นต่างหาก (Ibn Manzur,n.d.:4/102)
อิบนุ กะษีรฺ (Ibn Kathir) ได้กล่าวถึงสภาพความถ่อมตนของเคาะลีฟะฮุมัรในตอนที่ท่านเดินทางไปที่แคว้น ชามว่า
عن أبي الغالية الشامي قال: قدم عمر بن الخطاب الجابية على طريق إيلياء على جمل أورق، تلوح صلعته للشمس، ليس عليه قلنسوة ولا عمامة، تصطفق رجلاه بين شعبتي الرحل بلا ركاب، وطاؤه كساء انبجاني ذو صوف هو وطاؤه إذا ركب، وفراشه إذا نزل، حقيبته نمرة أو شملة محشوة ليفا، هي حقيبته إذا ركب ووسادته إذا نزل وعليه قميص من كرابيس قد رست وتخرق جنبه.فقال: ادعوا لي رأس القوم، فدعوا له الجلومس، فقال: اغسلوا قميصي وخيطوه وأعيروني ثوبا أو قميصا. فأتي بقميص كتان فقال: ما هذا ؟ قالوا: كتان.قال: وما الكتان ؟ فأخبروه فنزع قميصه فغسل ورقع وأتي به فنزع قميصهم ولبس قميصه. فقال له الجلومس: أنت ملك العرب وهذه بلاد لا تصلح بها الابل، فلو لبست شيئا غير هذا وركبت برذونا لكان ذلك أعظم في أعين الروم. فقال: نحن قوم أعزنا الله بالاسلام فلا نطلب بغير الله بديلا.فأتي ببرذون فطرح عليه قطيفة بلا سرج ولا رحل فركبه بها فقال: احبسوا احبسوا، ما كنت أرى الناس يركبون الشيطان قبل هذا فأتي بجمله فركبه.
อบู อัล-ฆอลิยะฮฺ แห่งชามได้เล่าว่า "ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบได้มาถึงเมืองญาบิยะฮฺเพื่อผ่านไปยังเมืองอีลิยาอ์ (ปาเลสไตน์) ด้วยอูฐดำตัวหนึ่ง ความโล้นของศีรษะท่านได้สะท้อนประกายแวววับเมื่อดวงอาทิตย์ส่องมาเพราะบน ศีรษะท่าน ไม่มีหมวกหรือผ้าโพกศีรษะใดๆ เลย เท้าสองข้างของท่านไขว้กระทบกันระหว่างสองขั้วอานโดยไม่มีที่ตั้งเท้า ผ้าปูของท่านคือผ้าขนอัมบะญานียฺ ซึ่งมันถูกใช้เป็นอานเมื่อท่านขี่สัตว์และเป็นผ้าปูนั่งเมื่อท่านแวะพัก กระเป๋าของท่านเป็นผ้าลายขาวดำหรือถุงผ้าที่เย็บข้างด้วยเชือกอินทผลัม ซึ่งมันเป็นกระเป๋าในยามเดินทางและเป็นหมอนเมื่อยามแวะพัก ท่านสวมเสื้อยาวที่ทอจากผ้าฝ้ายหยาบๆ ที่ทะลุและฉีกขาดตามชายขอบ
ท่านกล่าวว่า "จงเรียกหัวหน้าเผ่ามาพบฉันหน่อยซิ" แล้วพวกเขาก็เรียกหัวหน้าเผ่ามาเข้าพบ ท่านกล่าวว่า "นี่พวกท่านช่วยซักและเย็บปะเสื้อผ้าของฉันหน่อยซิ แล้วเอาผ้าหรือเสื้ออื่นมาให้ฉันยืมก่อน" แล้วเสื้อค็อตต็อนอย่างดีก็ได้ถูกนำมามอบให้ท่าน ท่านถามว่า "นี่มันทอจากอะไรกัน?" เขาตอบว่า "เป็นเสื้อค็อตต็อน" ท่านถามว่า "ค็อตต็อนคืออะไร?" พวกเขาจึงอธิบายให้ท่านฟัง ท่านจึงถอดเสื้อออก แล้วมันก็ถูกนำไปซัก เย็บปะ และนำมามอบกลับให้กับท่าน ท่านจึงถอดเสื้อของพวกเขาออก และสวมเสื้อของท่านตามเดิม หัวหน้าเผ่าเลยกล่าวว่า "ท่านนี้เป็นราชาแห่งอาหรับ และเมืองนี้เขาไม่ขี่อูฐกันหรอก ท่านเห็นอย่างไรหากท่านสวมเสื้ออีกตัวหนึ่งที่ไม่ใช่เสื้อตัวนี้และขี่ม้า เร็วตัวหนึ่ง สิ่งนี้ย่อมเป็นที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของพวกโรมัน" ท่านตอบว่า "เราเป็นชนที่อัลลอฮฺให้เกียรติเพราะอิสลาม ดังนั้นเราจะไม่ยอมเอาอะไรมาแลกกับอัลลอฮฺ" แล้วเมื่อม้าเร็วถูกนำมาให้แก่ท่าน ท่านก็ขึ้นควบมันสักพักหนึ่งโดยไม่ใช้ที่วางเท้าและอานนั่ง แล้วท่านก็กล่าวว่า "ล่ามมัน ล่ามมันไว้ ฉันไม่เคยเห็นผู้คนขี่ชัยฏอนก่อนหน้านี้เลย" แล้วอูฐของท่านก็ได้ถูกนำมาให้ท่านขี่ต่อ” (Ibn Khathiyr, 1988: 7/61)
อิบนุมันซูร (Ibn Manzur) ได้เล่าเหตุการณ์ครั้งนี้หลังจากที่ท่านออกจากเมืองญาบิยะฮฺว่า
وركب عمر من الجابية يريد الأردن، وقد توافى إليه الناس، ووقف له المسلمون وأهل الذمة، فخرج عليهم على حمار، وأمامه العباس على فرس. فلما رآه أهل الكتاب سجدوا له، فقال: لا تسجدوا للبشر واسجدوا لله، ومضى في مسيره، وقال القسيسون والرهبان: ما رأينا أحداً قط أشبه بما يوصف من الحواريين من هذا الرجل. (مختصر تاريخ دمشق.)
แล้วท่านอุมัรฺก็เดินทางออกจากอัล-ญาบิญะ ฮฺมุ่งหน้าไปยังจอร์แดนซึ่งมีประชาชนจำนวนมากคอยต้อนรับท่าน โดยประชาชนมุสลิมและต่างศาสนาต่างยืนคอยท่าน แล้วท่านก็เดินทางมาพบพวกเขาบนลาตัวหนึ่งโดยที่มีอัล-อับบาสขี่ม้านำหน้า เมื่อชาวยิวและคริสเตียนเห็นท่าน พวกเขาก็ก้มลงกราบ ท่านกล่าวว่า "พวกท่านจงอย่ากราบไหว้มนุษย์ แต่จงกราบไหว้อัลลอฮฺ" แล้วท่านก็เดินทางต่อไป บรรดานักบวชยิวและคริสเตียนต่างพากันกล่าวว่า "เราไม่เคยเห็นผู้ใดที่มีลักษณะคล้ายกับอัล-หะวารียีน (ผู้ศรัทธาต่อเยซู) มากไปกว่าชายคนนี่เลย" (Ibn Manzur,n.d.:4/102)
และด้วยการถ่อมตัวตลอดเวลานี่เอง ทำให้ท่านไม่ยอมรับการยกยอใดๆ ที่แสดงถึงความดีเลิศของตัวเอง ดังที่อัล-ซัรคียฺ (al-Zarkhiy) กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งหนึ่งว่า
جَاءَ رَجُلٌ إلَى عُمَرَ بْنِ الْخَطَّابِ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ يَخْطُبُ
فَقَالَ : يَا خَيْرَ النَّاسِ فَلَمْ يَفْهَمْ عُمَرُ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ ذَلِكَ .
فَقَالَ : مَا تَقُولُ ؟ فَقَالُوا لَهُ : يَقُولُ : يَا خَيْرَ النَّاسِ .
فَقَالَ لَهُ عُمَرُ : أَدْنُ إلَيَّ ، لَسْتُ بِخَيْرِ النَّاسِ .
أَلَا أُنَبِّئُك بِخَيْرِ النَّاسِ ؟ قَالَ : مَنْ هُوَ يَا أَمِيرَ الْمُؤْمِنِينَ ؟ قَالَ عُمَرُ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ : هُوَ رَجُلٌ مِنْ أَهْلِ الْبَادِيَةِ صَاحِبُ صِرْمَةِ إبِلٍ أَوْ غَنَمٍ ، قَدِمَ بِإِبِلِهِ أَوْ غَنَمِهِ إلَى مِصْرٍ مِنْ الْأَمْصَارِ فَبَاعَهَا ثُمَّ أَنْفَقَهَا فِي سَبِيلِ اللَّهِ ، فَكَانَ مَسْلَحَةً بَيْنَ الْمُسْلِمِينَ وَبَيْنَ عَدُوِّهِمْ .فَذَاكَ خَيْرُ النَّاسِ (شرح كتاب السير الكبيرللسرخي)
มีชายคนหนึ่งพูดกับท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบว่า "โอ้ สุดยอดคนดี" ท่านอุมัรฺไม่เข้าใจคำพูดดังกล่าว ท่านจึงถามว่า "เอ๊ะ ท่านพูดว่าอะไรนะ?” แล้วพวกเขาก็ตอบว่า "เขาคนนั้นพูดว่า "โอ้ สุดยอดคนดี" แล้วท่านอุมัรฺก็กล่าวแก่เขาว่า "มาใกล้ฉันหน่อยซิ ฉันไม่ใช่สุดยอดคนดีหรอก จะบอกให้เอาไหมว่าใครคือสุดยอดคนดี?" เขาตอบว่า "ใครกัน โอ้ ท่านอะมีรุลมุมินีน?" ท่านอุมัรฺตอบว่า "คือชายชาวชนบทเจ้าของอูฐหรือแกะฝูงหนึ่ง ที่เข้ามาในเมืองหนึ่งด้วยอูฐหรือแกะของเขา แล้วก็ขายมันไป จากนั้นได้เอาเงินไปบริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ เพื่อเป็นเสบียงในการต่อสู้ของชาวมุสลิมกับข้าศึก นั้นแหล่ะคือสุดยอดคนดี" (al-Zarkhiy, n.d.: 1/13)

12.ประหยัดอยู่อย่างพอเพียง
การมีความประหยัดและอยู่อย่างพอเพียงนับเป็น คุณลักษณะสำคัญของผู้นำ เพราะผู้นำคือผู้ที่ประชาชนให้การศรัทธาและลอกเลียนแบบ หากเขาประหยัด ประชาชนก็จะประหยัดตาม ปัญหาทางเศรษฐกิจของชาติก็จะลดลง รายได้ของประเทศก็จะดีขึ้น แต่หากผู้นำอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ประชาชนก็จะฟุ่มเฟือยตาม มีเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ กระทั่งเกิดภาวะวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ยากจะเหยียวยาและแก้ไข
เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺอิบนฺอัล-ค็อฏฏ็อบเราะฎิยัล ลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีความเป็นอยู่อย่างประหยัดและพอเพียงเป็นผู้นำที่ภูมิใจในความ สำเร็จของหน้าที่มากกว่าภูมิใจในภาพลักษณ์ที่หรูหราของตัวเองเป็นผู้นำที่ มุ่งมั่นจัดหารายได้เข้ากองคลังหลวงมากกว่าจะหารายได้ให้ตัวเองและครอบครัว ท่านกำหนดเงินเดือนและสวัสดิการประจำตำแหน่งของตัวเองให้เป็นเพียงแค่การมี อาหารสำหรับตัวเองและครอบครัวในระดับปานกลางของบุคคลทั่วไปมีเสื้อผ้าปีละ สองชุดคือชุดฤดูหนาวกับชุดฤดูร้อนและมีค่าใช้จ่ายเพื่อไปทำหัจญ์และอุมเราะ ฮฺที่นครมักกะฮฺปีละหนึ่งครั้งซึ่งal-Suyutiy ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
عن الأحنف ابن قيس قال : كنا جلوسا بباب عمر فمرت جارية فقالوا : سرية أمير المؤمنين فقال : ما هي لأمير المؤمنين بسرية و لا تحل له إنها من مال الله فقلنا : فماذا يحل له من مال الله تعالى ؟ قال : إنه لا يحل لعمر من مال الله إلا حلتين : حلة للشتاء و حلة للصيف و ما أحج به و أعتمر و قوتي و قوت أهلي كرجل من قريش ليس بأغناهم و لا بأفقرهم ثم أنا بعد رجل من المسلمين (تاريخ الخلفاء)
อัล-อะหฺนัฟอิบนฺ ก็อยสฺ เล่าว่า"ในขณะที่พวกเรากำลังนั่งอยู่หน้าประตูบ้านของท่านอุมัรฺ ก็มีหญิงคนหนึ่งเดินผ่านมา พวกเขากล่าวว่า เธอคือทาสหญิงของอะมีรุลมุมินีน ท่านจึงกล่าวว่า "นางไม่ใช่ทาสหญิงของอะมีรุลมุมินีนหรอก และก็ไม่สมควรที่จะเขาจะครอบครองด้วยซ้ำไป แต่นางคือสมบัติของคลังหลวง" เราจึงถามว่า "แล้วสมบัติจากคลังหลวงมีอะไรบ้างที่ท่านสามารถครอบครองได้?" ท่านตอบว่า "แท้จริง สมบัติจากคลังหลวงที่อุมัรฺสามารถครอบครองได้มีเพียงเสื้อผ้าสองชุด ชุดหนึ่งเพื่อใช้ในฤดูหนาวและอีกชุดหนึ่งเพื่อใช้ในฤดูร้อน และสิ่งจำเป็นที่ฉันต้องใช้จ่ายเพื่อทำหัจญ์และอุมเราะฮฺ ตลอดจนอาหารของฉัน และครอบครัวที่เป็นอาหารของชาวกุร็อยชฺคนหนึ่งที่มีฐานะไม่ใช่คนร่ำรวยที่ สุดหรือคนที่ยากจนที่สุด ซึ่งนอกเหนือจากสิ่งนี้ ฉันก็คือประชาชนมุสลิมธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง" (al-Suyutiy,1952: 1/116)
จากรายได้ประจำตำแหน่งในจำนวนดังกล่าวที่ท่าน เองเป็นผู้กำหนดทำให้สภาพความเป็นอยู่ของท่านสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับราย ได้ที่ท่านได้รับมา
อัล-สุยูฏียฺ(al-Suyuyt}iy) ได้กล่าวถึงสภาพชีวิตประจำวันของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ว่า
كان عمر يلبس وهو خليفة جبة من صوف مرقوعة بعضها بأدم ويطوف في الأسواق على عاتقه الدرة يؤدب بها الناس ويمر بالنكث والنوى فيلتقطه ويلقيه في منازل الناس ينتفعون به.(تاريخ الخلفاء)
ท่านอุมัรฺในขณะที่เป็นเคาะลีฟะฮฺนั้นท่านได้ สวมเสื้อยาวจากผ้าหยาบที่มีรอยปะเย็บด้วยด้ายจากเส้นเชือกของต้นอินทผลัม ท่านวนเวียนตรวจตรารอบๆ ตลาดโดยมีไม้เรียวอยู่บนคอเพื่อใช้สั่งสอนประชาชน เมื่อท่านเดินพบเมล็ดพืชหรือสิ่งตกหล่น ท่านก็จะเก็บและโยนเข้าไปยังบ้านเรือนของประชาชนเพื่อพวกเขาจะได้ใช้ ประโยชน์ (al-Suyutiy,1952: 1/116)
เช่นเดียวกันกับอิบนุ อัล-เญาซียฺ (Ibn al-Jawziy) ที่ได้กล่าวถึงความเรียบง่ายของท่านในยามเดินทางว่า
عن عبد الله بن عامر بن ربيعة، قال: صحبت عمر بن الخطاب من المدينة إلى مكة في الحج ثم رجعنا فما ضرب فسطاطاً، ولا كان له بناء يستظل به ، إنما كان يلقي نطعاً أو كساء على شحرة فيستظل تحته. (المنتظم)
อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อามิร อิบนฺ เราะบีอะฮฺเล่าว่า "ฉันเคยเดินทางกับท่านอุมัรฺจากมะดีนะฮฺไปยังมักกะฮฺเพื่อทำหัจญ์และกลับมา ด้วยกัน ปรากฏว่าท่านไม่เคยกางกระโจมหรือมีที่สำหรับให้ท่านได้เข้าอยู่ในที่ร่มเลย ท่านเพียงแต่ขึงเสื่อหรือผ้ากับต้นไม้ แล้วก็เข้าไปอยู่ใต้ร่มเงาของมัน (Ibn al-Jawziy, n.d.: 463)
ทั้งนี้ การเดินทางไปทำหัจญ์ของท่านมีค่าใช้จ่ายเพียงสิบหกดีนาร์เท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิดจำนวนนี้ได้กลายเป็นอุทาหรณ์แก่คนรุ่นหลังเพื่อ ให้พวกเขาได้พิจารณาตัวเองว่าเป็นคนประหยัดหรือฟุ่มเฟือย ดังที่สุฟยาน อัล-เษารียฺได้กล่าวตักเตือนแก่เคาะลีฟะฮฺอัล-มะฮฺดียฺว่า
حج عمر بن الخطاب رضي الله عنه فأنفق في حجته ستة عشر ديناراً، وأنت حججت، فأنفقت في حجتك بيوت الأموال قال: فأي شيء تريد، أكون مثلك؟قال: فوق ما أنا فيه ودون ما أنت فيه (تاريخ البغداد)
"ท่านอุมัรฺไปทำหัจญ์และใช้จ่ายในกิจการหัจญ์ ของท่านเพียงสิบหกดีนาร์เท่านั้นเอง แล้วท่านทำหัจญ์ล่ะ ท่านใช้จ่ายในหัจญ์ของท่านเป็นคลังๆ เลย" อัล-มะฮฺดียฺกล่าวว่า "แล้วจะให้ฉันทำอย่างไรล่ะ จะให้ฉันใช้จ่ายเหมือนท่านหรือ?" ท่านตอบว่า "ให้เกินกว่าที่ฉันใช้จ่ายขึ้นสักหน่อยและต่ำกว่าที่ท่านใช้จ่ายลงสักนิด" (al-Khatib al-Baghdadiy, n.d.: 4/161)
และไม่เพียงแต่ท่านคนเดียวเท่านั้นที่อยู่ อย่างพอเพียง แต่ท่านยังจะหมั่นตรวจสอบบุคคลในครอบครัวให้ดำรงชีวิตอย่างประหยัดและพอ เพียงด้วย ซึ่งแม้กระทั่งการซื้ออาหารตามใจชอบโดยไม่มีการระงับตัวเองก็ถือว่าเป็นการ ฟุ่มเฟือยแล้วในทัศนะของท่าน
อัล-สุยูฏียฺ(al-Suyutiy) กล่าวว่า
عن الحسن قال : دخل عمر على ابنه عبد الله وإن عنده لحما فقال : ما هذا اللحم قال : اشتهيته ، قال : وكلما اشتهيت شيئا أكلته كفى بالمرء سرفا أن يأكل كل ما اشتهاه
อัล-หะสัน เล่าว่า "ท่านอุมัรฺได้มาหาอับดุลลอฮฺบุตรชายของท่านในขณะที่เขากำลังกินเนื้ออยู่ ท่านถามว่า "นี่มันเนื้ออะไรกัน?" เขาตอบว่า "เรารู้สึกอยากกิน" ท่านกล่าวว่า "ทุกครั้งที่เจ้าเกิดอยากกินอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วเจ้าก็กินมันทันทีหรือ? ถือเป็นการฟุ่มเฟือยแล้วสำหรับคนที่กินทุกสิ่งที่ตนอยากกิน" (al-Suyutiy,n.d.: 27/222: 29946)
จากคุณสมบัติการมีความประหยัดอย่างนี้เอง ทำให้ท่านได้กำหนดเป็นนโยบายให้ข้าหลวงทุกคนนำไปปฏิบัติ โดยทุกครั้งที่ท่านจะแต่งตั้งข้าหลวง ท่านจะมอบเงื่อนไขสี่ประการให้เขานำไปปฏิบัติ หากปฏิบัติไม่ได้ถือว่าข้าหลวงคนนั้นมีความผิดและต้องถูกลงโทษ เงื่อนไขสี่ประการดังกล่าวคือ ต้องไม่ขี่ม้าชั้นดี ต้องไม่รับประทานอาหารชั้นดี ต้องไม่สวมเสื้อผ้าชั้นดี และต้องไม่ปิดประตูกีดกั้นการเข้าพบของประชาชน (al-Suyutiy,1952: 1/116)

13.อยู่เหนือกิเลสและอารมณ์ใฝ่ต่ำ
การอยู่เหนือกิเลสและอารมณ์ใฝ่ต่ำนับเป็น คุณสมบัติของผู้นำอีกประการหนึ่ง เพราะการมีคุณสมบัตินี้ทำให้เขาสามารถแยกแยะระหว่างความรู้สึกส่วนตัวกับ ความถูกต้อง สามารถเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมและยับยั้งตัวเอง เมื่อเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้อื่นได้ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเขาดำเนินไปอย่างเสมอต้นเสมอปลายและได้รับความ ศรัทธาจากผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชนซึ่งมีผลทำให้การงานรุดหน้าและประสบ ความสำเร็จ
เคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นั้น เป็นผู้นำที่มีคุณสมบัติเช่นนี้อย่างสมบูรณ์ เพราะท่านเป็นคนที่เคร่งครัดในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามที่มุ่ง มั่นให้ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเอาชนะกิเลสและความใฝ่ต่ำได้ จะเห็นได้ว่าในยามค่ำคืน ท่านจะใช้เวลาส่วนใหญ่ด้วยการลุกขึ้นมาละหมาดทำความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า หรือออกไปตรวจตราลาดตระเวนตามตรอกซอยต่างๆ ในขณะที่ประชาชนกำลังนอนหลับอย่างมีความสุข นอกจากนี้ การที่ท่านยอมระงับตัวเองด้วยการไม่กินอาหารดีๆ ไม่แต่งตัวดีๆ ไม่ขี่ยานพาหนะดีๆ หรือการที่ท่านนอนบนดินกินบนทรายและไม่ยอมร่วมหลับนอนกับภรรยาในปีวิกฤติภัย แล้ง ตลอดจนการที่ท่านมักร้องไห้เสมอเมื่อตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อ ประชาชน สิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนถึงการอยู่เหนือกิเลสและอารมณ์ใฝ่ต่ำของท่านเป็น อย่างดี

14.มีคณะผู้ร่วมบริหารและคณะที่ ปรึกษาที่ดี
การที่จะนำพาประชาชนนับล้านคนไปสู่การพัฒนา เพื่อให้มีสภาพ "อยู่ดี กินดี" ได้สำเร็จนั้น หากผู้ผลักดันและนำพามีเพียงผู้นำคนเดียว คงยากที่จะประสบความสำเร็จได้ เพราะแม้ว่าเขาจะมีคุณสมบัติแห่งการเป็นผู้นำที่สมบูรณ์ทุกประการรวมอยู่ใน ตัวเขา แต่มนุษย์ก็ย่อมมีขีดจำกัดในด้านเวลาและสังขารของร่างกาย ผู้นำจึงจำเป็นจะต้องมีผู้ช่วย ผู้รับสนองงานและนโยบายต่างๆ เพื่อให้โครงการต่างๆ ที่วางไว้มากมายได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
การมีคณะผู้ร่วมบริหารและคณะที่ปรึกษาที่ดี จึงถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี เพราะคนเหล่านี้คือผู้ช่วยงานของผู้นำ หากข้าหลวง ผู้พิพากษา อธิบดีกรมต่างๆ ตลอดจนคณะที่ปรึกษาเป็นคนดีและมีความรับผิดชอบเหมือนตัวผู้นำเอง การงานของท่านก็จะดำเนินไปในทางที่ดี สร้างสรรค์ และมีความก้าวหน้า แต่ถ้าหากบุคคลเหล่านี้ ทำงานเพียงเพื่อเอาความดีความชอบในลักษณะ "ผักชีโรยหน้า" หรือทำงานแบบประจบสอพลอ มิได้ทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง แน่นอนภารกิจของผู้นำจะต้องยุ่งเหยิง สับสน ไม่ราบรื่นและก้าวหน้า ทำให้พัฒนาการในด้านต่างๆ จะต้องหยุดชะงักและถดถอยจนสังคมต้องพลอยเดือดร้อนและบ้านเมืองไม่มีความสงบ สุข
เคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นับเป็นผู้นำที่มีคณะผู้ร่วมบริหารและคณะที่ปรึกษาที่ดียิ่ง ท่านมีข้าหลวงที่ทรงคุณธรรมในทุกแคว้นทั่วภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นอบู อุบัยดะฮฺ อิบนฺ อัล-ญัรร็อหฺที่แคว้นชาม อบู มูซา อัล-อัชอะรียฺ ที่แคว้นอิรัก อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศที่อียิปต์ สะอีด อิบนฺ อุมัยรฺที่แคว้นหิมศฺ และข้าหลวงคนอื่นๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบุคคลที่ประชาชนเชื่อถือและศรัทธา นอกจากนี้ ท่านยังมีคณะที่ปรึกษาที่สุขุมรอบคอบ อย่างอะลียฺ อิบนฺ อบีฏอลิบ ที่ปรึกษาในด้านกฎหมายและการวางแผน อุษมาน อิบนฺ อัฟฟาน และอับดุลร็อหมาน อิบนฺ เอาฟฺ ที่ปรึกษาด้านการเงินการคลัง หรืออะดียฺ อิบนฺ อัล-หาติม, สัลมาน อัล-ฟาริสียฺ และ กะอับ อัล-อะห์บารฺ ที่ปรึกษาด้านศาสนายิว คริสเตียน โซโรแอสเตอร์ และด้านประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น
อัล-เราะฟิก อัล-ก็อยเราะวานียฺ (al-Rafiq al-Qayrawaniy) ได้กล่าวถึงการให้คำปรึกษาของอะลียฺในด้านกฎหมายเพื่อลงโทษผู้เสพสุราแก่ ท่านอุมัรฺเมื่อตอนที่อบู อุบัยดะฮฺส่งตัวแทนมาจากแคว้นชามเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
إني لا أرى حداً أشبه بحد الفرية منه، إن الرجل إذا سكر وإذا هذى افترى، فقال عمر للرسول: قد سمعت ما قال فمر أبا عبيدة أن يضربها، فضرب أبو عبيدة بالشام ثمانين، وضربها عمر بالمدينة.(قطب السرور)
ฉันเห็นว่าบทลงโทษต่อผู้เสพสุรานั้นใกล้เคียง กับโทษของการกล่าวหาผู้อื่นมากที่สุด เพราะคนเมานั้นเมื่อเขาเมา เขาจะโลเล เมื่อโลเลก็เขาจะกล่าวหาผู้อื่น (ดังนั้นโทษของผู้ดื่มสุราจึงควรจะ เหมือนกับโทษของผู้กล่าวเท็จต่อผู้อื่นนั่นคือต้องโดนเฆี่ยนแปดสิบครั้ง) แล้วท่านอุมัรฺก็กล่าวกับตัวแทนของอบู อุบัยดะฮฺว่า บัดนี้ ท่านก็ได้ยินสิ่งที่เขาบอกแล้ว ดังนั้นจงบอกให้อบู อุบัยดะฮฺเฆี่ยนตามนี้ แล้วอบู อุบัยดะฮฺก็เฆี่ยนผู้เสพสุราที่เมืองชามแปดสิบครั้ง ในขณะที่ท่านอุมัรฺก็เฆี่ยนจำนวนนี้ด้วยเช่นกันที่มะดีนะฮฺ (al-Rafiq al-Qayrawayniy, n.d.: 1/48)
เช่นเดียวกับสัลมาน อัล-ฟาริสียฺ ที่ให้คำปรึกษาอย่างตรงไปตรงมา เมื่อท่านอุมัรฺขอให้เขาช่วยประเมินตัวท่านว่าเป็นเคาะลีฟะฮฺหรือเป็นราชา โดยท่านอุมัรฺถามเขาว่า
أملك أنا أم خليفة؟ قال له سلمان: إن أنت جبيت من أرض المسلمين درهماً أو أقل أو أكثر ووضعته في غير حقه فأنت ملك غير خليفة. فبكى عمر الكامل في التاريخ
"ฉันนี่เป็นราชาหรือเป็นเคาะลีฟะฮฺกันแน่?" สัลมานตอบท่านว่า "หากท่านเก็บภาษีจากแผ่นดินชาวมุสลิมเพียงหนึ่งดิรฮัมหรือน้อยกว่าหรือ มากกว่า แล้วท่านใช้จ่ายในทางที่ไม่ชอบ ท่านก็คือราชาไม่ใช่เคาะลีฟะฮฺ" แล้วท่านอุมัรฺ ก็ร้องไห้ (Ibn Athir, n.d.: 1/473)
ท่านกล่าวแก่กะอับ อัล-อะห์บารฺ ที่ปรึกษาด้านศาสนายูดายว่า
يا كعب كيف تجد نعتي في التوراة؟ قال: خليفة قرن من حديد لا يخاف في الله لومة لائم، ثم خليفة تقتله أمته ظالمين له، ثم يقع البلاء بعده.(حلية الأولياء)
"นี่ กะอับ ท่านพบฉันในคัมภีร์โตราห์ว่าเป็นคนเช่นไร? เขาตอบว่า "เป็นเคาะลีฟะฮฺเหล็กที่ไม่เกรงกลัวการถูกประณามในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริตต่ออัลลอฮฺ และจะต้องกลายเป็นเคาะลีฟะฮฺที่ถูกประชาชนฆ่าอย่างทารุน และหลังจากนั้นก็จะเกิดภัยพิบัติตามมา" (Abi Na’im al-Asbahayniy, 1405 A.H.: 6/25)
ทั้งนี้ การให้คำปรึกษาแก่ท่าน ไม่เพียงแต่ทำกันต่อหน้าเท่านั้น แต่ในยามห่างไกล เหล่าคณะที่ปรึกษาก็ยังคงให้คำแนะนำปรึกษาผ่านหนังสือหรือจดหมายที่ต้องใช้ เวลาในการส่งมาเป็นแรมเดือน ดังที่ อัล-เฏาะบาเราะนียฺได้กล่าวถึงจดหมายร่วมกันของอบู อุบัยดะฮฺและมุอาซ อิบนฺ ญะบัลที่ส่งมาจากแคว้นชามให้คำแนะนำตักเตือนสติท่านเคาะลีฟะฮฺที่มะดีนะ ฮฺว่า
"...مِنْ أَبِي عُبَيْدَةَ بن الْجَرَّاحِ، وَمُعَاذِ بن جَبَلٍ إِلَى عُمَرَ بن الْخَطَّابِ: سَلامٌ عَلَيْكَ، أَمَّا بَعْدُ، فَإِنَّا عَهِدْنَاكَ وَأَمْرُ نَفْسِكَ لَكَ مُهِمٌّ، فَأَصْبَحَتَ قَدْ وَلَّيْتَ أَمْرَ هَذِهِ الأُمَّةِ أَحْمَرِهَا وَأَسْوَدِهَا، يَجْلِسُ بَيْنَ يَدَيْكَ الْوَضِيعُ وَالشَّرِيفُ، وَالْعَدُوُّ وَالصَّدِيقُ، وَلِكُلٍّ حِصَّتُهُ مِنَ الْعَدْلِ، فَانْظُرْ كَيْفَ أَنْتَ عِنْدَ ذَلِكَ يَا عُمَرُ؟ فَإِنَّا نُحَذِّرُكَ يَوْمًا تَعْنِي فِيهِ الْوُجُوهُ، وَتَجِفُّ فِيهِ الْقُلُوبُ، وَتَنْقَطِعُ فِيهِ الْحُجَجُ لِحَجَّةِ مَلِكٍ قَدْ قَهَرَهُمْ بِجَبَرُوتِهِ، وَالْخَلْقُ دَاخِرُونَ لَهُ يَرْجُونَ رَحْمَتَهُ وَيَخَافُونَ عَذَابَهُ، وَإِنَّا كُنَّا نَتَحَدَّثُأَنَّ أَمْرَ هَذِهِ الأُمَّةِ فِي آخِرِ زَمَانِهَا سَيَرْجِعُ إِلَى أنيَكُونُوا إِخْوَانَ الْعَلانِيَةِ أَعْدَاءَ السَّرِيرَةِ، وَإِنَّا نَعُوذُ بِاللَّهِ أنيَنْزِلَ كِتَابُنَا سِوَى الْمَنْزِلِ الَّذِي نَزَلَ مِنْ قُلُوبِنَا، فَإِنَّا إِنَّمَا كَتَبْنَا بِهِ نَصِيحَةً لَكَ، وَالسَّلامُ عَلَيْكَ (المعجم الكبير للطبراني)
จาก อบูอุบัยดะฮฺ อิบนฺ อัล-จัรร็อฮฺ และมุอาซ อิบนฺญะบัล
ถึง ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ
ความสันติจงมีแด่ท่าน
เราขอยืนยันต่อท่านว่า บัดนี้ การควบคุมตัวท่านเองนั้นสำคัญมาก เพราะท่านได้ปกครองประชาชาตินี้ทั้งชนผิวแดงและผิวดำ ผู้ที่นั่งตรงหน้าท่านนั้นมีทั้งคนสูงส่งและคนต่ำต้อย มีทั้งมิตรและศัตรู ทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรม ฉะนั้น ท่านจงไตร่ตรองเถิด โอ้ ท่านอุมัรฺ เรานี้ขอให้ท่านรำลึกถึงวันที่ดวงตาจะเบิกโพล่ง หัวใจจะแห้งเหี่ยว และไม่มีข้ออ้างใดๆ สำหรับคำตัดสินขององค์ราชันย์ที่ทรงควบคุมมนุษย์ด้วยความยิ่งใหญ่เกรียงไกร ของพระองค์ วันที่สรรพสิ่งทั้งหมดต่างสยบนอบน้อมต่อพระองค์และหวังในความเมตตาและเกรง กลัวโทษทัณฑ์ของพระองค์ ซึ่งเราคาดว่าสุดท้ายแล้วประชาชาตินี้จะหวนสู่การเป็นเพื่อนแบบหน้าไหว้หลัง หลอก
เราขอท่านจงอย่าได้แปรเจตนาของเราเป็นอย่าง อื่น เพราะที่ส่งจดหมายมานี้ก็เพียงเพื่อเป็นคำตักเตือนแนะนำแก่ท่านเท่านั้น
วัสสลาม สุขสันติจงมีแด่ท่าน (al-Tabaraniy, 1983: 20/32)
นี่คือตัวอย่างของสัมพันธภาพระหว่างตัวเคาะลี ฟะฮฺกับคณะผู้ร่วมบริหารและที่ปรึกษา ซึ่งต่างปฏิบัติหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ใจเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีการประจบสอพลอเพื่อเอาหน้า หรือยั่วยุผู้นำเพื่อดึงให้เป็นพวกฟ้องของตนเอง
และทั้งหมดนี้ คือ บางตัวอย่างของการมีลักษณะของการเป็นผู้นำที่ดีของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของเศาะเศาะอะฮฺเมื่อครั้งที่มุอาวิยะฮฺ อิบนฺ อบี สุฟยาน ขอให้เขาบอกคุณลักษณะของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ ซึ่งเขาบอกว่า
كان عالماً برعيّته، عادلاً في نفسه، قليل الكبر، قبولاً للعذر، سهل الحجاب، مفتوح الباب، يتحرّى الصّواب، بعيد من الإساءة، رفيق بالضعيف، غير صخّاب، كثير الصّمت، بعيد من العيب (مختصر تاريخ دمشق)
ท่านเป็นคนรอบรู้เรื่องประชาชน มีความยุติธรรมในตัวเอง ไม่หยิ่งผยอง รับฟังเหตุผล เข้าหาได้ง่าย ประตูบ้านเปิดตลอดเวลา เป็นคนเชิดชูความถูกต้อง ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เป็นมิตรกับผู้อ่อนแอ ไม่ตวาดเสียงดัง เป็นคนเงียบขรึม และไร้สิ่งบกพร่อง (Ibn Manz}uyr,n.d.: 6/46)
อับดุลลอฮฺ อัล-กอรี (2543 : 26) กล่าวว่า
ท่านอุมัรฺเป็นบุรุษที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ด้วยความเป็นผู้นำ มีความห้าวหาญเด็ดขาด มีความปรีชาสามารถฉลาดเฉลียว มีความรู้และประสบการณ์มาก แต่ท่านเป็นผู้สมถะเรียบง่ายไม่ฟุ่มเฟือย

นี่คือเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺอัล-ค็อฏฏ็ อบเราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ อีกหนึ่งปูชนียบุคคลที่ชาวมุสลิมให้ ความเคารพ แต่น้อยคนที่รู้จักท่าน ท่านบริหารบ้านเมืองสำเร็จมาแล้ว ท่านคือผู้นำสันติสุขที่ยั่งยืนให้กับชาวตะวันออกกลางระหว่างปี ค.ศ. 634-644 จึงสมควรที่ผู้เป็นผู้นำทุกคนต้องศึกษาเอาเป็นแบบอย่าง เพราะท่านได้รับการรับรองทั้งจากอัลลอฮฺตะอาลา จากนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัล ลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- และจากผู้มีใจเป็นธรรมทุกคนทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

ตอนต่อไป อินชาอัลลอฮฺ เชิญติดตาม ...ย้อนรอยชีวิตเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺอิบนฺอัล-ค็อฏฏ็ อบเราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ

ขอให้ผู้นำทุกท่านได้รับชัยชนะสามารถได้ อยู่ใต้ร่มเงาบรรลังค์ของอัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺที่ร้อนระอุยิ่งกว่า ประลัยกัลป์ และขอความโปรดปรานจากพระองค์จงมีแด่ผู้นำทุกท่าน

________________________________________
เขียนโดย ชุกรีย์ นูร
sukreen(at)gmail.com
http://www.e-daiyah.com/node/163

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น