วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การปรึกษาหารือในอิสลาม (ซูรอ)

การปรึกษาหารือในอิสลาม(ซูรอ)
คำว่า ชูรอ เป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำเต็มว่า อัช-ชูรอ (al-Shura) ในหลักภาษาอาหรับ เป็นคำมัสดัรซึ่งแปลว่า การปรึกษาหารือ ดังที่อัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอฺาลา) ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน

وأمرهمشورىبينهم
ความว่า และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือกันระหว่างพวกเขา (อัชชูรอ:๓๘ )
สำหรับความหมายทางด้านศาสนบัญญัติ หมายถึง การประชุมหรือปรึกษาหารือตามรูปแบบอิสลามจนได้ข้อสรุปหรือมติเพื่อนำไปปฏิบัติ

1. หุกมฺของการปรึกษาหารือ

อัลลอฮฺได้บัญญัติการปรึกษาหารือไว้ในหลายโองการด้วยกันซึ่งโองการด้วยกันซึ่ง โองการต่าง ๆ เหล่านั้นบรรดานักปราชญ์ล้วนมีทัศนะความเห็นที่แตกต่างกันบางกลุ่มมีความเห็นว่า การปรึกษาหารือเป็นวายิบและบางกลุ่มมีความเห็นว่า การปรึกษาหารือเป็นซุนนะฮฺ ซึ่งพิจารณาได้ดังนี้
รากฐานของการชูรอ พระองค์ทรงตรัสว่า

وشاورهم في الأمر

ความว่า “จงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย”

จากอายะฮฺข้างต้นเป็นประโยคที่อยู่ในรูปของกริยาคำสั่ง “فعل الأمر” ฉะนั้นบรรดาผู้รู้ที่เห็นว่าการชูรอเป็นซุนนะฮฺ คือ ซาฟีอี กอตาดะฮฺ เราะบีอะฮฺอิบนุอิสหาก อิบนูก็อยยิมบัยหากี และฮาฟิซอิบนูฮายัร กล่าวว่า “เป็นทัศนะที่เชื่อถือได้มากที่สุด” และนักปราชญ์อีกกลุ่มเห็นว่าวายิบ คือยัสศอสอิบนูญูวัยซี มินดาร (มาลีกียะฮฺ) ฮาดาวียะฮฺ และเซากานีอิบนุ มูฮัมหมัด มูฮัมหมัดรอซีด รีฏออบูอะลาเมาดูดี และอัลดุลกอดิร เอาดะฮฺ กล่าวว่า “ชูรอ”เป็นกฎข้อบังคับหนึ่งจากกฎข้อบังคับทั้งหลายของศาสนาอิสลาม

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ สำหรับนักปราชญ์ที่กล่าวว่า คำสั่งใช้ในการประชุมหารือเป็นซุนนะฮฺเพราะพวกเขามีความเห็นว่าเป็นสิ่งเฉพาะสำหรับท่านนบี (ซ.ล) และหาใช่เพื่อเหตุอื่นใดเว้นแต่เพื่อผสานจิตใจสาวกของท่านนบีให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และเป็นสื่อที่จะก่อให้เกิดการให้เกียรติต่อกัน ส่วนนักปราชญ์ที่กล่าวว่าคำสั่งใช้ในการประชุมหารือเป็นสิ่งจำเป็น (واجب) เพราะพวกเขาเห็นการชูรอไม่ใช่ว่าจะเฉพาะเจาะจงกับท่านนบี (ซ.ล) เพียงคนเดียว ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า ทัศนะที่สองมีความน่าเชื่อถือมากกว่าทัศนะที่หนึ่ง ด้วยเหตุดังนี้
1.แท้จริงเป็นโองการที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะที่มีเกียรติสำหรับประชาชาตินี้ ซึ่งเป็นประชาชาติที่พระองค์ทรงปรารถนาให้พวกเขาแบกรับสาส์นแห่งอิสลาม และการแสดงจุดยืนของการชูรอไว้ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีก็คือ คำตรัสของพระองค์ที่ว่า




"والذين استجابوا لربهم وأقاموا الصلاة وأمرهم شورى بينهم ومما رزقناهم ينفقون"

ความว่า “และบรรดาผู้ตอบรับต่อพระเจ้าของพวกเขา และดำรงการละหมาด และกิจการของพวกเขาเขามีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา และเขาบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เครื่องปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา”
จะสังเกตได้ว่า การประชุมหารือนั้นอยู่หลังจากที่ได้มีการตอบรับต่ออัลลอฮฺ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอันสูงสุด และอยู่ถัดจากการดำรงละหมาด ซึ่งเป็นรุก่นหนึ่งของรุก่นอิสลาม และถูกกล่าวอยู่ก่อนการใช้จ่ายในหนทางของอัลลอฮฺและรวมถึงสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ให้ปฏิบัติซึ่งสิทธิทั้งหลายจากซากาต ศอดาเกาะฮฺ และนาฟาเกาะฮฺ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ด้วยเหตุเช่นนี้การประชุมหารือจึงได้ถูกผนวกไว้ในฮุก่มต่าง ๆ
ญัศศอส กล่าวถึงอายะฮฺนี้ว่า เป็นการชี้ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของจุดยืนของการชูรอ ซึ่งอยู่พร้อมกับการศรัทธา การดำรงละหมาดซึ่งป็นสิ่งที่ถูกสั่งใช้ทั้งหมด
หากว่าการมีศรัทธา การละหมาด การจ่ายซากาต จ่ายนาฟาเกาะฮฺ เป็นสิ่งที่มันดูบ ผู้ใดจะละทิ้งก็ไม่มีความผิดใด ๆ นับเป็นสิ่งที่แปลกอย่างยิ่ง ฉะนั้นก็มิได้แตกต่างอะไรไปจากสิ่งเหล่านี้
2.แท้จริงอัลกุรอานได้ชี้แนะแก่บิดามารดาถึงวิธีการที่ดีที่สุด ในการเลี้ยงดูบุตรหรือการจะหย่านมบุตรและยังเป็นแบบอย่างให้กับการงานอื่น ๆ ด้วย อุสตาซรอชีดรีฎอ กล่าวว่า “ในเมื่ออัลกุรอานได้ชี้ให้เราเห็นว่าแม้ขนาดการเลี้ยงดูบุตรยังต้องมีการหารือกัน และไม่อนุญาตให้คนหนึ่งคนใด
(บิดา/มารดา) กระทำการหรือมิกระทำการใด ๆ โดยที่คนใดคนหนึ่งมิได้รับทราบ”
ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ฮุก่มการใช้ชีวิตของครอบครัวกับการประชุมหารือในกิจการต่าง ๆของรัฐ และกฎเกณฑ์ทางการเมืองจะเสมอเหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ประชาชนและรัฐควรให้ความสนใจควบคู่กันไป
3.อำนาจทางการเมืองการบริหารตามหลักการอิสลามล้วนเป็นภาระหน้าที่ “أمانة”ที่สำคัญยิ่ง การปรึกษาหารือจึงเป็นปฐมบทของพื้นฐานทางการเมืองที่จะดำรงไว้ซึ่งระบบการบริหารในรัฐอิสลาม สิ่งที่เป็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจนจากกรณีของท่านอุมัร (ร.ด) ซึ่งมีคนได้ขอให้อุมัรแบ่งที่ดินให้กับพวกเขาและอุมัรได้กล่าวแก่พวกเขาว่า “แท้จริงฉันไม่อยากที่จะทำให้พวกท่าน “ไม่สบายใจ แต่ทว่าเพราะพวกท่าวนอยู่ในความรับผิดชอบของฉันในสิ่งที่ฉันได้แบกรับภาระอยู่จากกิจการงานทั้งหลายของพวกท่าน”
อันที่จริงในเมื่อส่วนหนึ่งจากความรับผิดชอบในการบริหารนั้นไม่อาจที่จะแยกออกจากกันได้ ภาระหน้าที่ตามระเบียบของอิสลามจึงเป็นเรื่องที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบและถึงแม้รูปแบบจะออกมาแตกต่างกันก็ตาม และไม่น่าจะสอดคล้องหากจะเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นมันดูบซึ่งไม่น่าจะทำให้ภาระหน้าที่ที่มีมากมายนั้นต่างไปจากเดิม

4.การที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาด้วยกับคำสั่งใช้ให้มีการประชุมหารือนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่ได้ตีกรอบสังคมมุสลิมไว้ด้วยเหตุเช่นนี้จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการประชุมหารือกัน ดั่งเช่นสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยของท่านนบี (ซ.ล) ก่อนที่ท่านจะดำเนินการใด ๆ ท่านจะเรียกประชุมเหล่าศอฮาบะฮฺทุกครั้งเพื่อที่จะทำการปรึกษาหารือกันว่าควรจะใช้กลยุทธวิธีการใดดี
แน่นอนนบี (ซ.ล) ผู้ซึ่งเป็นแม่ทัพมีสิทธิที่จะยกเลิกกฎการปรึกษาหารือหลังจากที่สงครามได้ยุติลง แต่เมื่อได้มีการปรึกษาหารือกันทำให้สังคมพัฒนาขึ้น และพระองค์ก็ทรงรู้ดีถึงวิธีการที่ดีที่สุดในการจัดระเบียบสังคมนั่นก็คือ ต้องจัดอบรมด้วยวิธีการปรึกษาหารือ และสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าจำเป็นที่สังคมจะต้องรักษาไว้ซึ่งการชูรอ
5.บ่อยครั้งที่ท่านนบี (ซ.ล) ได้ทำการประชุมหารือกับบรรดาสาวกของท่านจนกระทั่ง
ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺได้กล่าวว่า

"ما رأيت أحدا أكثر مشورة لأصحابه من رسول الله صلى الله عليه وسلم"

ความว่า “ฉันไม่เคยเห็นผู้ใดทำการปรึกษาหารือมากไปกว่าท่านรอซูล (ซ.ล)”

ในเมื่อสิ่งนี้เป็นกิจประจำของท่านนบี (ซ.ล) ทั้ง ๆ ที่ท่านได้รับการชี้นำจากวะฮฺยูอยู่ และถือได้ว่าเป็นบุรุษที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ทั้งในแง่สติปัญญามุมมอง ทัศนะความเห็น แต่ท่านมิได้ละเลยจากการประชุมหารือเลย เพราะท่านทราบดีถึงคำสั่งใช้ที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้เกี่ยวกับการณ์นี้ว่าจะเกิดมิติออกอย่างมากมาย ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยหากจะกล่าวว่า ชูรอเป็นสิ่งจำเป็น เพราะท่านนบี (ซ.ล.) ได้เน้นย้ำและปฏิบัติเป็นประจำ
6.แท้จริงคอลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมทั้งหลาย พวกเขาได้ทำการปรึกษาหารืออยู่เป็นประจำในกิจการทางการเมืองการปกครอง ตลอดถึงผลประโยชน์ของรัฐและชุมชนโดยรวม มัยมูนะ บิน มะฮฺรอม กล่าวว่า “เมื่อท่านอบูบักรได้ประสบกับปัญหา ท่านก็จะกลับไปดู อัลกุรอานหากอัลกุรอานระบุไว้ ท่านก็ตัดสินตามนั้น หากอัลกุรอานมิได้ระบุไว้ท่านก็กลับไปดูซุนนะฮฺของท่านนบี (ซ.ล) หากซุนนะฮฺระบุไว้ท่านก็ตัดสินตามนั้น หากทั้งยังมิได้ระบุไว้ ท่านก็ถามศอฮาบะฮฺว่า พวกท่านเห็นท่านนบี (ซ.ล) ตัดสินปัญหานี้อย่างไร หากไม่มีแบบอย่างตามซุนนะฮฺของท่านนบี (ซ.ล) ท่านอบูบักรก็จะรวบรวมผู้นำผู้รู้เพื่อประชุมและปรึกษาหารือกัน เมื่อมีมติเป็นแนวเดียวกันก็ดำเนินการตัดสินตามนั้น และท่านอุมัรก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับท่านอบูบักร คือหากอัลกุรอานและซุนนะฮฺมิได้ระบุไว้ ท่านก็จะถามว่า ท่านอบูบักรตัดสินปัญหาอย่างไร หากมีท่านอุมัรก็จะตัดสินตามนั้น หากไม่มีท่านเรียกประชุมบรรดานักปราชญ์เพื่อปรึกษาหารือถึงปัญหาดังกล่าว หากมีมติส่วนใหญ่เห็นว่าอย่างไร ท่านก็จะตัดสินตามนั้น”
ซึ่งรูปแบบอันนี้บรรดาคอลีฟะฮฺและสาวกของท่านบี (ซ.ล) ได้ปฏิบัติและยึดถือเป็นแนวเดียวกันจนกระทั่งอบูฮุรอยเราะฮฺได้กล่าวว่า ฉันไม่เคยเห็นผู้ใดทำการปรึกษาหารือมากไปกว่าบรรดาสาวกของท่านนบี (ซ.ล) และอิบนียูวัยซี มีนดาด (มาลีกี) กล่าวว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้แทนจะต้องประชุมหารือในกิจการที่เขาไม่ทราบ และในสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาในเรื่องศาสนา และประเด็นเกี่ยวกับการศึกสงคราม และประเด็นที่เป็นคุณประโยชน์ของราษฎรและบ้านเมือง ดังนั้นหากบรรดาศอฮาบะฮฺไม่ทราบถึงความจำเป็นของการปรึกษาหารือแล้วพวกเขาจะกระทำการดังกล่าวอยู่เป็นเนืองนิจได้อย่างไร ก็เพราะพวกเขาเห็นท่านนบี (ซ.ล) ได้ให้ความสำคัญเอาไว้อย่างจริงจัง และพวกเขาก็ได้รักษาไว้ซึ่งเจตนารมณ์อันนี้ และท่านนบี (ซ.ล) เป็นแบบฉบับที่ดียิ่งสำหรับพวกเขาตลอดจนผู้ที่ไฝ่หาสัจธรรมที่เที่ยงแท้
ดังนั้นจึงสรุปถึงคำสั่งของพระองค์ที่ว่า (وشاورهم في الأمر) ได้ว่าเป็นคำสั่งแก่ท่านนบี (ซ.ล) และรวมถึงประชาชาติของท่านด้วย แท้จริงการประชุมหารือเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้บริหารและผู้มีอำนาจเต็มทุกคน และเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการปฏิบัติของท่านนบีตลอดจนบรรดาสาวกท่าน และผู้นำรัฐหากเขาละเลยต่อการปรึกษาหารือประชาชนก็มีสิทธิที่จะถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งได้ กระทั่ง อิบนุอาตียะฮฺ กล่าวว่า “ชูรอเป็นกฎหนึ่งในกฎหมายอิสลาม และผู้นำคนใดไม่ได้ทำการประชุมหารือกับผู้รู้ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง
ฉะนั้นทัศนะที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดก็คือ การปรึกษาหารือเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการเมืองการปกครองแบบอิสลามและตลอดจนการดำรงชีพของมุสลิม





2. กิจการที่ต้องปรึกษาหารือ

ในเมื่อนักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการปรึกษาหารือเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในประการต่อมาก็คือกิจการที่ต้องปรึกษาหารือนั้นจะครอบคลุมไปยังทุก ๆ เรื่องของการปรึกษาหรือหรือกิจการที่ต้องปรึกษาหารือเป็นแค่เพียงเรื่องเฉพาะเจาะจงโดยมิได้กินความไปยังเรื่องทั่ว ๆไป
ซึ่งหากพิจารณาตามตัวบทของอัลกุรอานคือ (وشاورهم في الأمر) และ(وأمرهم شورى بينهم) จะสังเกตได้ว่าถูกใช้ด้วยคำอัลอัมรฺ (الأمر) เป็นคำที่บ่งบอกถึงความครอบคลุมและกินความถึงเรื่องราวทั่ว ๆ ไปโดยมิได้เน้นหนักถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นการเฉพาะ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของกิจการที่ต้องปรึกษาหารือนั้นจะกินความถึงทุกเรื่องราวหรือไม่
ดังนั้นความเข้าใจจากสองอายะฮฺข้างต้นเกี่ยวกับประเด็นของการปรึกษาหารือนั้นบรรดานักปราชญ์ต่างมีทัศนะความเห็นที่แตกต่างกัน กาลาบี และนักปราชญ์หลายท่านได้กล่าวว่า “แท้จริงเกี่ยวกับประเด็นปรึกษาหารือนั้นเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงที่เกี่ยวกับการศึกสงครามเท่านั้นเพราะพวกเขาเห็นว่าตัว (ل) ในคำว่า (الأمر) นั้นมิได้กินความหมายกว้าง และเป็นสาเหตุของการประทานวะฮฺยูด้วย ฉะนั้นเมื่อเป็นทราบกันดีอยู่แล้วว่าเรื่องที่จะทำการปรึกษาหารือต้องเป็นเรื่องการศึกสงครามเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ประวัติของสงครามอุฮุด และในสงครามบาดัร ที่ฮัมมาน บิน มุนซิร ได้ปรึกษาหารือกับท่านนบี (ซ.ล) ถึงสถานที่จะตั้งค่ายเป็นต้น และตอบารี อิบนุกาซีร ซะมัดซะรี มีความเห็นตามทัศนะนี้ คือการปรึกษาหารือต้องอยู่ในขอบข่ายของการศึกสงครามเท่านั้น”
มีนักปราชญ์บางส่วนให้ทัศนะว่า เป็นคำที่มีความหมายทั่ว ๆ ไป ครอบคลุมทุก ๆ เรื่องราวซึ่งวะฮฺยูที่ถูกประทานลงมานั้นมิได้เจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ
นักปราชญ์กลุ่มแรกได้ยึดถือตามความสอดคล้องของสาเหตุของการประทานวะฮฺยูอันนี้โดยมีเหตุผลก็มิได้อธิบายไว้ชัดเจน แต่หากพิจารณาถึงหลักฐานและเหตุผลของทัศนะที่สองแล้วมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะพวกเขาได้ยึดถือภาพรวมของคำว่ากิจการ(الأمر)นั้นกินความหมายกว้างครอบคลุมทุก ๆ เรื่องรวมถึงตัวบทที่มิได้ระบุไว้ด้วย ฉะนั้นสิ่งที่เป็นข้อคิดให้แก่มุสลิมเพื่อจะชี้ให้เห็นว่าจุดมุ่งหมายของคำที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน (الأمر) นั้นมิได้เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงถึงสาเหตุของการประทานอายะฮฺดังกล่าว นั้นก็คือการศึกสงคราม ในความเป็นจริงแล้วจุดยืนของการปรึกษาหารือในสมัยของท่านนบี (ซ.ล) และสมัยของคอลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมทั้งหลายจะเห็นได้ว่ามิได้เจาะจงเพียงกิจการของสงครามเพียงอย่างเดียวไม่ แต่ประเด็นการปรึกษาหารือจะอยู่ในเรื่องทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อไว้ซึ่งศาสนาเช่น การรวบรวมอัลกุรอานหรือเรื่องราวของรัฐเช่น การจัดทำสมุดบันทึก สมุดบัญชี และยังครอบคลุมถึงเรื่องส่วนบุคคลหรือเรื่องที่เป็นการเฉพาะ เช่น การที่อบีบักรฺได้แบ่งที่ดินระหว่างอัยยีนะ บินฮาซัน กับ อักรอฮ บิน ฮาบิส และการที่ท่านนบี (ซ.ล) ได้ปรึกษาหารือกับอาลี และอุซามะฮฺในช่วงที่เกิดการใส่ร้ายแก่ท่านหญิงอาอีซะฮฺ และยังรวมถึงเรื่องราวภายในครอบครัวซึ่งเป็นจุดพื้นฐานที่จะทำให้สังคมโดยรวมดำเนินไปอย่างสงบสุข เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ผู้นำรัฐต้องปรึกษาหารือในทุก ๆ ประเด็น เพราะจุดยืนของปรึกษาหารือที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ทั้งสมัยของท่านนบี (ซ.ล) และคอลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมได้สะท้อนถึงความสำคัญของการประชุมหารือไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะท่านนบีเองก็มิได้เพิกเฉยต่อการนี้เลยทั้ง ๆ ที่ท่านก็ได้รับวะฮฺยูจากพระองค์อยู่ ก็เป็นเพราะว่าท่านทราบถึงผลดีของชูรอนั้นเอง ด้วยเหตุเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้นำประเทศที่จะต้องทำการปรึกษาหารือในทุก ๆ เรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชน กิจการของรัฐ และตลอดจนการบริหารการจัดการ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญในการแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างมาก








3. การคัดเลือกคณะที่ปรึกษาหารือ

บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งคณะที่ปรึกษาจะต้องได้รับการคัดเลือกมาจากประชาชนหรือผู้นำของรัฐแต่กฎหมายอิสลามมิได้วางรูปแบบของการคัดเลือกคณะที่ปรึกษาหารือเอาไว้อย่างชัดเจนแต่ก็มิใช่ว่าจะละเลยถึงวิธีการได้มาของคณะที่ปรึกษา ดังนั้นระบบการคัดเลือกคณะที่ปรึกษาหารือตั้งแต่ในยุคอดีตจนถึงปัจจุบันได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
1.ในสมัยของท่านนบี (ซ.ล) บุคคลยุคก่อน (สาวกของท่านนบี) เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้ตอบรับการเรียกร้องเชิญของท่านนบี และพวกเขาเหล่านี้ยังเป็นองค์คณะที่ปรึกษาหารือกับท่านนบีในกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเหตุบ้านการเมือง และในสมัยของท่านนบี (ซ.ล) จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องมีการคัดเลือกคณะที่ปรึกษาหารือเพราะพวกเขาทั้งหลายล้วนทราบดีอยู่แล้วถึงภาระหน้าที่และจุดยืนของพวกเขาเอง
2.ส่วนในยุคของคอลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม สำหรับสถาบันคอลีฟะฮฺทรงจัดให้มีขึ้นซึ่งสภาที่ปรึกษาหารือขึ้นในเมืองเป็นการเฉพาะ ซึ่งคณะที่ปรึกษาก็ล้วนมาจากบรรดาสาวกของท่าน นบี (ซ.ล)
3.ส่วนหลังจากยุคของท่านนบี (ซ.ล) และคอลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม ซึ่งเป็นยุคที่อิสลามได้แพร่ขยายไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของโลก ก็มิได้ทราบถึงวิธีการของการคัดเลือกคณะที่ปรึกษาหารือ แต่อาจจะใช้แนวทางของผู้รู้เป็นรูปแบบในการคัดเลือกคณะที่ปรึกษาก็ได้ เช่น
-อิหม่ามฮาซันอัลบันนา และอุสตาซอัลเมาดูดี มีทัศนะถึงวิธาการคัดเลือกคณะที่ปรึกษาหารือ (รัฐสภาที่มีความเที่ยงตรง) คือต้องเป็นแนวทางและวิธีการที่มิได้มีความยากลำบากและมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้การคัดเลือกผู้ที่จะทำหน้าที่ตรงนี้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุด
-นักนิติศาสตร์อิสลาม (فقيه) มุสตอฟา กามาลวัสฟี มีทัศนะถึงกรณีนี้ว่า กลยุทธ์ในการคัดเลือกองค์คณะที่ปรึกษาหารือนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานและวิธีการของความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และต้องเป็นขั้นตอนของการดำเนินการจัดการแบบองค์ประชุมชนรวม
-ส่วนนักนิติศาสตร์อิสลามอีกคนหนึ่ง มูฮัมหมัด เราะฟัต อุสมาน ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า โครงสร้างพื้นฐานของการสรรหาคณะที่ปรึกษาหารือนั้นต้องมีกลวิธีที่เป็นการเฉพาะเจาะจงแน่นอน โดยมาจากผู้นำรัฐเท่านั้น
ในเมื่อขั้นตอนการจัดการประชุมแบบองค์รวมและเปิดเผยอย่างโปร่งใสในสมัยของเราเป็นสิ่งที่มิอาจเกิดขึ้นได้แล้วเสมือนกับว่าวิธีการที่เป็นพิธีแบบทางการนั้นเป็นสิ่งที่ถูกยกเลิกไป ดังนั้นกฎระเบียบในการสรรหาองค์คณะที่ปรึกษาหารือตามทัศนะความเห็นของท่านอิหม่ามฮาซันอัลบันนา และอิหม่าม อัลเมาดูดี เป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด และมุฮัมมัดซาเล็ม อัลอาวา ก็มีทัศนะความเห็นเช่นเดียวกับอิหม่ามทั้งสองด้วยเช่นกัน และเป็นทัศนะส่วนใหญ่ของนักวิชาการเพื่อให้นักเคลื่อนไหวของอิสลามและรัฐอิสลามสามารถนำมาเป็นรูปแบบและยึดเป็นแนวทางในการนำมาสู่ภาคปฏิบัติได้ อิหม่ามฮาซันอัลบันนาได้กล่าวว่า “แท้จริงอิสลามมิได้ปฏิเสธหรือเพิกเฉยต่อกฎอันนี้ (شورى) ตราบใดที่สิ่งยังคงดำรงไว้ซึ่งการได้มาของผู้ที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ และเป็นการสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้นหากว่าได้มีการจัดรูปแบบของกฎระเบียบและได้กำหนดวิธีการคัดเลือกและคุณลักษณะของผู้ที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ โดยปราศจากการนำเสนอตัวเองขึ้นไปดำรงตำแหน่งแทนประชาชน”

4.จำนวนของคณะที่ปรึกษาหารือ
หลักการของการปรึกษาหารือเป็นหลักการหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของประชาชาติมุสลิมตามแบบของการปกครองการบริหารรัฐอิสลาม ดังนั้นการได้มาขององค์คณะที่ปรึกษาหารือซึ่งเป็นกลไกหลักของหลักการอันนี้จึงมีคามสำคัญและละเอียดอ่อนอย่างยิ่งรวมถึงจำนวนขององค์คณะด้วย ซึ่งหากเราพิจารณาสังเกตดูจากอัลกุรอาน ซุนนะฮฺ รวมทั้งอิจมะอฺ เราจะพบว่าทั้งสามมิได้กำหนดจำนวนของคณะที่ปรึกษาหารือและบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งตรงนี้เอาไว้ในจำนวนที่แน่นอน แต่ทั้งหมดนี้อาจจะยึดรูปแบบการปฏิบัติของท่านนบี (ซ.ล) หรือ
คอลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมเป็นแบบอย่างได้
ซึ่งบางครั้งคณะที่ปรึกษาหารืออาจจะเป็นคนหนุ่มเหมือนกับที่เกิดเหตุการณ์โกหกขึ้นซึ่งเป็นการใส่ร้ายต่อท่านหญิงอาอีซะฮฺ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นท่านนบี (ซ.ล) ได้ปรึกษาหารือกับท่านอาลี และท่านอุซามะฮฺ ทั้งสองเป็นคนหนุ่มจากบรรดาสาวกของท่าน และบางครั้งองค์คณะที่ปรึกษาของท่านอุมัรจากวัยกลางคนหรือคนหนุ่ม และท่านอุมัรได้กล่าวแก่บรรดาคนหนุ่มสาวเอาไว้ว่า ทุก ๆคนมีอิสระที่จะชี้แนะแสดงความคิดเห็น อันทีจริงความรู้นั้นหาได้จำกัดอยู่ที่ผู้ที่มีวัยวุฒิน้อยหรือมากไม่ แต่ทว่าทรงให้กับบุคคลที่พระองค์ทรงประสงค์เท่านั้น
ในบางครั้งเราจะพบว่าท่านนบี (ซ.ล) ได้ทำการปรึกษาหารือกับประชาชาติมุสลิมทั้งหมดโดยเฉพาะในกรณีของเรื่องการศึกสงคราม เช่น ในกรณีของสงครามอุฮุด ซึ่งท่านนบี (ซ.ล) เห็นสมควรให้บรรดามุสลิมรอรับข้าศึกในเมืองมะดีนะฮฺในฐานะผู้ปกป้อง แต่มีศอฮาบะฮฺหลายท่านเห็นว่าควรออกทำสงครามกับข้าศึกนอกเมืองมะดีนะฮฺท่านนบี (ซ.ล) จึงสวมเสื้อเกราะและเตรียมอาวุธเพื่อออกทำสงครามและก็ได้เป็นไปตามนั้น แต่ผลของการศึกสงครามคือมุสลิมได้รับความปราชัย แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงบัญชาแก่ท่านนบี (ซ.ล) เพื่อให้อภัยแก่บรรดาผู้ที่เสนอออกไปทำสงครามและให้ท่านอภัยแก่พวกเขาเพราะพวกเขามิได้ปรารถนาสิ่งใดเว้นแต่สิ่งที่ดีเท่านั้น และยังมิให้ท่านเลิกขอคำปรึกษาจากผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะให้คำปรึกษาได้ และในกรณีของสงครามบาดัร และการทำสนธิสัญญาที่ฮุดัยบียะฮฺเช่นเดียวกัน
ท่านอบูบักรได้ทำการปรึกษาหารือกับประชาชนต่อการทำสงครามกับโรมันและเปอร์เซียและท่านอุมัรได้ปรึกษากับประชาชนในการคัดเลือกผู้นำ และการจัดสรรที่ดินหลังจากพิชิตและแต่งตั้งคอลีฟะฮฺหลังจากท่าน ในเมื่อองค์ประชุมของคณะที่ปรึกษาหารือไม่ได้มีจำนวนที่จำกัดเจาะจง แต่มิใช่ว่าจะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่ แต่ต้องพิจารณาดูก่อนว่าองค์ประชุมที่จะทำการปรึกษาหารือกันนั้นควรมีจำนวนเท่าไหร่ จึงจะเพียงพอต่อเรื่องราวและประเด็นที่จะปรึกษาหารือกัน ซึ่งอาจจะมีเพียงหนึ่งสอง หรือบางครั้งอาจจะมีความต้องการองค์ประชุมของคณะที่ปรึกษามากกว่านั้นก็ได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการงานนั้น ๆ แต่ทั้งนี้ต้องมีการปรึกษากับประชาชนด้วยเช่นกัน
อาเราะบี ได้กล่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า จำเป็นที่จะต้องดำรงการปรึกษาหารือไว้ในทางกฎหมายให้อยู่ในรูปแบบขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการบริหารกิจการบ้านเมือง หากว่าเป็นการยากลำบากที่จะรวบรวมไว้ให้เป็นหนึ่งก็ให้ดำรงไว้โดยรูปแบบของการคัดเลือกเพื่อที่จะให้องค์กรตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ฉะนั้นหากเราคำนึงถึงเหตุการณ์เหล่านี้ซึ่งเป็นช่วงในสมัยของท่านนบี (ซ.ล) และบรรดาคอลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม ซึ่งคณะที่ปรึกษาล้วนมาจากบรรดาสาวกของท่านนบี (ซ.ล)เอง เพราะบุคคลเหล่านี้ถีอได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความพร้อมทั้งจิตวิญญาณ ความคิด ร่างกาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ท่านนบี (ซ.ล) และคอลีฟะฮฺได้ทำการปรึกษาหารือกับพวกเขาโดยเฉพาะเรื่องของการศึกสงคราม หรือเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งหากจะมีอยู่บ้างในบางกรณีที่ท่านนบี(ซ.ล)ได้ปรึกษาหารือกับสาวกของท่านบางคนเป็นการเฉพาะ แต่ท้ายที่สุดและส่วนมากท่านนบี (ซ.ล) หรือคอลีฟะฮฺจะให้ความสำคัญกับคนในสังคมโดยรวมอย่างเท่าเทียมกันก็เพื่อที่จะให้ได้ทัศนะความเห็นที่ดีที่สุด แต่หากเราจะคำนึงถึงการได้มาขององค์คณะที่ปรึกษาหารือในสมัยปัจจุบันแล้ว สมควรอย่างยิ่งที่จะคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งตรงนี้เพราะถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความละเอียดอ่อนและสำคัญอย่างมาก จึงพอจะสรุปได้ว่าองค์คณะที่ปรึกษาหารือควรอยู่ใน 3 ประเภท
1.ต้องมาจากผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประชาชน พวกเขาเหล่านี้คือตัวแทนและผู้ได้รับการแต่งตั้งจากประชาชน และพวกเขาต้องให้การบริการช่วยเหลือในกิจการต่าง ๆ ของสังคม เพราะเขาเป็นที่พึงของประชาชน (ประชาชนหวังว่ากิจการงานต่าง ๆ ที่พวกเขาดำเนินการจะเกิดความสำเร็จลุล่วงด้วยดี)
2.ประเภทนี้เป็นสิทธิของผู้นำรัฐและผู้บริหารชั้นสูง คือต้องมาจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้รู้ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ซึ่งการประชุมปรึกษาหารือของพวกเขาจะอยู่ในเรื่องทางการเมืองการปกครองของรัฐ จะอยู่ในขอบข่ายของคุณประโยชน์เพื่อสังคมและประชาชนไปพร้อม ๆ กัน
3.ประชาชนผู้ที่มีสิทธิต่าง ๆ และเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ

5. คุณสมบัติของสมาชิกที่ปรึกษา

1.มีความยุติธรรม สมาชิกสภาชูรอจะต้องมีความรู้ ถ่อมตนและยำเกรงต่ออัลลอฮฺ
2.มีความรู้ สมาชิกสภาชูรอต้องมีความรู้ที่สูงส่งเกี่ยวกับความรู้ฟัรดูอีน และความรู้ฟัรดูกิฟายะฮฺ ทั้งนี้พวกเขาจำเป็นจะต้องอาศัยความรู้ในการอิจญ์ติฮาด (วินิจฉัยอย่าละเอียด) และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มากมาย
3.มีความปราดเปรื่อง สมาชิกสภาชูรอจะต้องมีมุมมองที่ชัดเจน และหลักแหลมและสามารถคัดเลือกผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ จะเป็นการดียิ่งหากว่าจำนวนพวกเขามีมากกว่าหนึ่งหรือสองคน
4.ประสบการณ์ทางด้านวิชาชีพที่กว้างขวาง จึงสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเทคนิควิธีการร่วมสมัย เช่น การพัฒนาทางชะรีอะฮฺ การแพทย์เป็นต้น
5.ต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
6.ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต (صدق) และเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือในสิ่งที่พวกเขาได้สั่งการไป
7.ห้ามเปิดเผยความคิดเห็นของผู้ที่จิตใจมีความอิจฉา ถึงแม้ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่บรรเจิดก็ตาม
8.เขาจะต้องอิสระจากการเป็นศัตรูหรือมุ่งร้ายจากประชาชน ต้องเป็นที่ไว้ใจของประชาชน
9.พวกเขาจะต้องไม่อยู่ภายใต้อารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง ต้องรู้จักระงับอารมณ์ของตัวเองได้
10.จะต้องเป็นผู้ที่ทุกคนในรัฐให้การยอมรับ และเป็นผู้ที่เพียบพร้อมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ เพราะทั้งสองเป็นสื่อของความสุขุมไม่วอกแวก และหากเกิดการขัดแย้งกันในทางความคิดเขาก็จะเป็นพยานได้ถึงความคิดเห็นที่ชัดเจนที่สุด
ฮาฟิซอิบนิ ฮายัร ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า “ส่วนอามานะฮฺนั้นเป็นคุณลักษณะที่มีความชัดเจนมากที่สุด หากปราศจากสิ่งนี้ก็จะไม่มีการปรึกษาหารือ และคำพูดก็จะไม่มีน้ำหนัก”
จากจุดนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ที่จริงแล้วบรรดานักปราชญ์ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญและผู้ที่มีวิสัยทัศน์ไม่มีความเหมาะสมที่จะทำการปรึกษาหารือหรือเว้นเสียแต่พวกเขาเหล่านั้นจะต้องมีอามานะฮฺและมีความรับผิดชอบอยู่ในตัวของพวกเขาเอง หากทั้งสองอย่างคือความรู้และอามานะฮฺได้ถูกรวมไว้ด้วยกันในคน ๆ หนึ่ง การชูรอก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้วแก่เขา หากทั้งสองแยกออกจากกันนั้นเมื่อนั้นเขาก็ไม่สมควรที่จะทำการปรึกษาหารือ
จากคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงเป็นที่กระจ่างชัดว่าสมาชิกสภาชูรอนั้นเป็นบุคคลที่อยู่ในระดับมุจญตะฮิดีน นั้นคือ ผู้ที่กำหนดกฎหมายต่าง ๆ ในอิสลามเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
ในจำนวนสมาชิกสภาชูรอทั้งหมดนั้นย่อมมีทัศนะและความคิดที่แตกต่างกันบ้างก็เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากบุคคลแต่ละคนย่อมมีความสนใจและมีความผูกพันกับประเพณีวัฒนธรรม สภาพทางสังคม ประวัติการศึกษาและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ความแตกต่างนั้นที่จริงแล้ว ได้นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติ เนื่องจากความแตกต่างนั้นได้กระตุ้นให้เกิดความคิดขึ้นมา อย่างไรก็ตามเสียงในจำนวน 2ใน 3 นับเป็นเสียงส่วนใหญ่ ทัศนะความคิดเห็นของพวกเขาย่อมปลอดภัยกว่าเสียงของ

ประชาชนทั่วไป เนื่องจากพวกเขาเป็นคนที่ทรงความรู้ และเป็นคนที่ดีที่สุดในจำนวนประชาชนทั้งหลาย ผู้นำประเทศหรือคอลีฟะฮฺก็เป็นคนหนี่งที่มาจากสมาชิกสภาชูรอแห่งนี้

6. กลวิธีในการประชุมหารือ

หากพิจารณาถึงจุดยืนของการประชุมหารือจะทำให้ทราบถึงกลวิธีของการประชุมหารือเป็นอย่างดี
ดังนั้นการประชุมหารือจะเกิดกับคนหนึ่งคนใดจากประชาชนก็ได้ เช่นการกระทำของฮุบาบ บิน มุนซิร ในช่วงสงครามบัดรฺ หรือ ซัลมาน อัลฟารีซีในช่วงสงครามคันดู หรือการกระทำของอุมัรที่ท่านได้เสนอแก่ท่านอบูบักรในการรวบรวมอัลกุรอาน บางครั้งการปรึกษาหารืออาจจะเกิดกับกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งจากประชาชนก็ได้ เช่น การปฏิบัติของศอฮาบะฮฺบางกลุ่มที่พวกเขาได้ขอให้อุมัรตัดสินในเรื่องของการจัดสรรแบ่งที่ดิน ซึ่งพวกเขามีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ และบางครั้งเรื่องที่เกิดเพียงเล็กน้อยเหลือเกินหากเปรียบเทียบกับการปรึกษาหารือที่ผู้นำประเทศต้องกระทำ แต่เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์อยู่แล้วที่ต้องเร่งเร้าให้ทำการปรึกษาหารือกัน และความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมนั้นจำเป็นต้องรักษาไว้อย่างดี ดังนั้นกี่มากน้อยแล้วที่ท่นนบี (ซ.ล) และสาวกของท่านได้ร้องขอให้ประชาชนได้ชี้แนะนำแก่พวกเขา และพวกเขาก็ได้กระตุ้นให้ประชาชนรู้สึกตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงสถานะของการประชุมหารือและบ่งบอกเช่นเดียวกันว่าจำเป็นที่ผู้นำประเทศต้องฝึกอบรมและยึดท่านนบี(ซ.ล) และศาลัฟอัศศอลิฮฺ (บรรพชนผู้ทรงธรรม) เป็นแม่บทรากฐานในการปรึกษาหารือ สถานภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนบ่งบอกว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกิจการงานของประเทศ และพวกเขามิแยแสต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม เพราะพวกเขาอยู่บนพื้นฐานของการแสวงหาปัจจัยยังชีพ และให้ความสนใจกับกิจการงานของพวกเขาเพียงอย่างเดียว แน่นอนสิ่งนี้จะทำให้พวกเขาเหินห่างจากกิจการต่าง ๆ ของส่วนรวม
ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ผู้นำรัฐจะต้องให้คำแนะนำตักเตือนแก่ปวงชนเพื่อเป็นผลดีต่อศาสนา และมีความโปร่งใสในการจัดการบริหารบ้านเมือง มีความบริสุทธิ์ทั้งในแง่ของสติปัญญา ควรมีการเก็บรักษาความคิดเห็นที่ถูกต้องตรงเป้าหมายซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์วิจัยอย่างแข่งขัน สิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีต่อตัวผู้นำเอง และรมถึงการบริหารของเขาด้วย
ดังนั้นหากพิจารณาการปรึกษาหารือในสมัยของท่านนบี (ซ.ล) และสมัยคอลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมจะพบว่า พวกเขามิได้ยึดเอากลวิธีใดวิธีการหนี่งเป็นการเฉพาเจาะจง เพราะการประชุมหารือเป็นที่ควบคู่กับการดำเนินชีวิต ซึ่งการครองชีพไม่อาจที่จะวางกฎไว้แน่นอน และต้องให้ความสำคัญอย่างเปิดเผย ชัดเจน ดังนั้นไม่ว่าจะด้วยกลวิธีการใดก็ตามที่ดำรงไว้ซึ่งการชูรอให้คงอยู่ในสังคมเป็นวิธีที่อยู่บนพื้นฐานของอิสลามแล้ว ก็ถือว่าอิสลามมิได้ปฏิเสธวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้น แต่ท้ายที่สุดก็ขอให้อยู่ในขอบเขตของระเบียบแห่งอิสลามเท่านั้นซึ่งสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นหลังจากการชูรอนั้นก็คือ เพื่อคุณประโยชน์ของสังคมและส่วนรวมพร้อม ๆ กัน และไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ กับหลักการของอิสลาม

7. มติของที่ประชุมหารือ

ในเมื่อคณะที่ปรึกษาได้ประชุมปรึกษาหารือกันอย่างละเอียดรอบคอบและมีมติความเห็นออกมาเป็นแนวเดียวกันก็ให้นำมติดังกล่าวไปสู่ภาคปฏิบัติโดยประกาศให้กับประชาชนได้รับทราบซึ่งมติของที่ประชุมหารือสามารถแยกเป็นลักษณะได้ดังนี้

-ลักษณะของมติที่ประชุมหารือในระดับสังคมและรัฐ
หลังจากที่ผู้นำประเทศและสภาที่ปรึกษาหารือได้ประชุมและได้ซักถามกันถึงประเด็นและวิธีการแก้ไขปัญหาและฟังความคิดเห็นต่าง ๆ จนกระทั่งได้มติในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของภาครัฐและเอกชนโดยรวม
มติที่ได้ลงความเห็นกันนั้นจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบของอิสลาม และอยู่ในขอบข่ายของตัวบทต่าง ๆ (อัลกุรอานหรือซูนนะฮฺ) โดยปราศจากซึ่งการละเมิดต่อหลักการเหล่านี้ เพราะในรัฐอิสลามนั้นทุก ๆ กฎเกณฑ์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอิสลามเท่านั้น (الشريعة الاسلامية) และมติของที่ประชุมต้องนำเสนอให้กับประชาชนได้รับทราบด้วยก็เพื่อที่จะให้พวกเขายอมรับถึงกฎดังกล่าว
มติของที่ประชุมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสภาที่ปรึกษาได้มีมติต่อความเห็นอันใดอันหนึ่ง และนำไปสู่ภาคปฏิบัติ และหากว่าสภาที่ปรึกษามีความเห็นที่แตกต่างกัน หรือมีความเป็นสองฝ่ายและจะยึดแนวคิดใดเป็นหลักปฏิบัติ บรรดานักปราชญ์ทางนิติศาสตร์อิสลามได้ให้คำตอบไว้อย่างเดียวกันก็คือ ต้องมีการให้คำยืนยันหรือให้คำสัตยาบันจากผู้นำรัฐโดยไม่มีเงื่อนไขว่าคณะที่ปรึกษาจะต้องให้คำยืนยันหรือให้คำสัตยาบันด้วย แต่พวกเขาก็ต้องน้อมรับกับคำยืนยันจากผู้นำรัฐทั้งหมด



-ลักษณะของมติที่ประชุมหารือในระดับครอบครัว

ลักษณะของมติการหารือในระดับครอบครัวต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างบุคคลภายในครอบครัวและดำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของคนภายในครอบครัวเป็นหลักเช่น มติของการหารือระหว่างบิดากับมารดาในกรณีของการจะหย่านมเด็ก หากว่าสิ่งดังกล่าวเป็นผลดีต่อเด็กและทั้งสองมีมติความเห็นไปในทางเดียวกันก็ดำเนินการไปตามนั้น แต่หากว่ามติดังกล่าวไม่เป็นผลดีกับเด็กและทั้งสองก็มิได้มีความพอใจต่อมติดังกล่าวก็ไม่เป็นการอนุญาตที่จะดำเนินการไปตามมตินั้นเป็นต้นและรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นของครอบครัว แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นต้องอยู่บนหลักการของอิสลาม



-การปฏิบัติตามมติของที่ประชุมหารือ

ส่วนทุก ๆ เรื่องที่ถูกนำเสนอต่อสภาที่ปรึกษาจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามมติของที่ประชุมในทุกเรื่องหรือไม่ ซึ่งพิจารณาได้จากสิ่งปรากฏอยู่ในตัวบทของอัลกุรอานจะทำให้ทราบว่าแท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นจะมากหรือน้อยก็ไม่สำคัญ เพราะมีการนำเสนอสิ่ง ต่าง ๆ อย่างมากมายในอิสลามนี้และเป็นการเพียงพอแล้วหากพิจารณาถึงโองการที่พระองค์ทรงตรัสว่า

“ولقد صرفنا في هدالقران من كل مثل فابي اكثرالناس الاكفوا”

ความว่า “โดยแน่นอนเราได้อธิบายแก่มนุษย์แล้ว จากอุทาหรณ์ในอัลกุรอานนี้ แต่ส่วนมากของมนุษย์ปฏิเสธไม่ยอมรับนอกจากการไม่ศรัทธา”
อีกโองการหนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า

“وما اكثرالناس ولو حرصت بمؤمنين”

ความว่า “และส่วนใหญ่ของมนุษย์จะไม่ศรัทธาต่อเจ้า ถึงแม้ว่าเจ้าจะปรารถนาอย่างยิ่งก็ตาม”
จากสองอายะฮฺข้างต้นเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าถึงแม้ว่าจะมีการเสนออะไรก็ตาม จะยึดข้างมากหรือเสียงข้างน้อย แต่จุดประสงค์อันแท้จริงแล้วก็คือ การนำไปสู่ภาคปฏิบัติที่เสนอไปหรือตามมติได้มีการเป็นชอบกันต่างหาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ จะหลีกเลี่ยงปฏิบัติและการศรัทธา
จากจุดนี้เอง อบูซามะฮฺ อับดุลเราะมาน บิน อิสมาอีล ไดอธิบายคำว่า ญามาอะฮฺ (กลุ่ม) ที่ปรากฏอยู่ในตัวบทหะดีษของท่านนบี (ซ.ล) ก็คือจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับญามาอะฮฺ ดังที่ท่านนบี (ซ.ล) กล่าวว่า

“من اراد منكم ان ينا ل بحبو حة الجنة فليلزم الجما عة”

ความว่า “ผู้ใดปรารถนาในสวนสวรรค์ ดังนั้นเขาจงให้ความสำคัญกับญามาอะฮฺ”

จากหะดีษข้างต้นก็คือจะต้องให้ความสำคัญกับญามาอะฮฺ จุดประสงค์ดังกล่าวก็คือ การดำรงไว้ซึ่งสัจธรรมและการปฏิบัติตามนั้นถึงแม้ว่าผู้ที่ปฏิบัติจะน้อยและผู้ที่ขัดแย้งจะมากก็ตามแท้จริงแล้วความจริง เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและต้องปฏิบัติเป็นอันดับต้น ๆ โดยมิต้องคำนึงว่าจะมีคนปฏิบัติน้อยหรือมาก และไม่ต้องพิจารณาถึงความเท็จที่มีผู้ยึดปฏิบัติกันอย่างมากมาย
แต่ตามหลักการในช่วงสงครามริดดะฮฺ (สงครามปราบผู้ตกศาสนา) พื้นฐานของการประชุมหารือก็อนุญาตให้ปฏิเสธทัศนะความเห็นของเสียงข้างมากด้วยเช่นกัน
อย่างเช่นในกรณีของศุลฮุฮุดัยบียะฮฺ สำหรับความเห็นและจุดยืนของท่านอุมัรท่านได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องมุสลิม และพวกเขามีเหตุผลการวินิจฉัยอย่างดี แต่ท่านนบี (ซ.ล) ก็มีความเห็นที่แตกต่างไปจากพวกเขา โดยท่านได้ลงนามในศุลฮุฮุดัยบียะฮฺ ถึงแม้จะทำให้มุสลิมส่วนใหญ่รู้สึกปวดร้าวก็ตาม แต่พระองค์ก็ได้ทรงทำให้การพิชิตเกิดความสำเร็จอย่างชัดเจน
ในช่วงสงครามริดดะฮฺ (สงครามปราบผู้ตกศาสนา) ซึ่งจุดยืนของท่านอบูบักรมีความแตกต่างจากจุดยืนของแม่ทัพ อุซามะฮฺ ซึ่งก็คล้ายกับที่ท่านนบี (ซ.ล) ได้ปฏิบัติในการทำสัญญาประนีประนอมฮุดัยบียะฮฺ และในกรณีในการจัดสรรที่ดินระหว่างอายีนะฮฺกับอักเราะฮฺ ก็ไดรับเอาความคิดเห็นของท่านอุมัรเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินโดยไม่ได้รับเอาความเห็นของศอฮาบะฮฺที่อยู่ในตอนนั้น และท่านอุมัรได้ยึดเอาความเห็นของท่านอัลดุลเราะมานในการถอดถอนแม่ทัพและอื่น ๆ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการยืนยันได้ว่าความจริงแล้วการจะยึดตามทัศนะความเห็นต่าง ๆ กัน หาได้ยึดเอาจำนวนของผู้แสดงความเห็นเป็นหลักไม่ ถึงแม้จะเป็นผู้อาวุโสก็ตาม แต่ถ้าต้องพิจารณาถึงความหนักแน่นของหลักฐานเป็นหลักจะมีจำนวนมากเพียงใดก็ตาม
ที่กล่าวมาก็ใช่ว่าจะเป็นทัศนะของนักปราชญ์ทั้งหมดแต่ยังมีนักปราชญ์อีกบางส่วนที่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น โดยที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะต้องรับเอาแนวความเห็นของเสียงข้างมากมาเป็นหลักปฏิบัติ โดยที่พวกเขาอ้างหลักฐานจากประวัติศาสตร์ของอัตเราะฮฺ
นักปราชญ์ผู้หนึ่งได้กล่าวว่า ท่านนบี (ซ.ล) ได้ทำการปรึกษาหารือกับบรรดาสาวกของท่านในกิจการงานของพวกเขา โดยที่ท่านนบี (ซ.ล) ได้ยึดเอาแนวคิดของศอฮาบะฮฺเป็นหลักปฏิบัติ และบางครั้งทัศนะความเห็นของท่านจะต่างจากพวกเขาก็ตาม แต่กระนั้นท่านนบี (ซ.ล) ก็ได้ปฏิบัติตามทัศนะความเห็นของพวกเขา และท่านมิได้ยึดเอาความคิดเห็นของท่านเป็นเกณฑ์แต่อย่างใดไม่ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าการบริหารปกครองประเทศควรยึดความเห็นของคนส่วนมากเป็นเกณฑ์ แต่เวลาที่เกิดความเห็นที่แตกต่างกันก็อย่าได้เอียนเองคล้อยตามเสียงข้างมากควรพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน ตัวอย่างจากสงครามอุฮุดซึ่งมีความเห็นเป็นสองฝ่ายในการจะออกไปเผชิญกับศัตรู ซึ่งฝ่ายข้างน้อยเห็นว่าไม่ควรออกไปสู่สงคราม แต่ฝ่ายข้างมากเห็นว่าควรออกไปไปยังสมรภูมิรบและท้ายที่สุดก็ได้ยึดเอาแนวคิดของเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสิน เพราะกลุ่มที่มีความเห็นตามเสียงข้างมากนั้น พวกเขามีมติความเห็นเป็นอันเดียวกัน



8. สตรีกับการปรึกษาหารือ

หากได้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของอิสลามเกี่ยวกับประเด็นของการปรึกษาหารือจะเห็นว่าสตรีก็มีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือเช่นเดียวกับบุรุษเพศ แต่ในความเป็นจริงแล้วอิสลามได้อนุญาตให้สตรีเข้าไปมีส่วนร่วมกับสภาที่ปรึกษาหารือหรือไม่ แล้วพวกนางจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ไกล่เกลี่ยหรือไม่
นี่คือประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทางการเมืองการปกครองของสตรี ซึ่งบรรดานักปราชญ์ทางนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า สำหรับสตรีแล้วคงไม่มีสิทธิใด ๆ กับการนี้ และนักปราชญ์อีกส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า อิสลามได้ให้สิทธิและเสรีภาพและยอมรับถึงสถานภาพทางการเมืองการปกครองของสตรีอย่างสมบูรณ์ โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่ใช่การดำรงตำแหน่งผู้นำหรือผู้ปกครองรัฐ
สิทธิเสรีภาพของสตรีเหล่านี้ได้รับการยืนยันจากอัลกุรอาน หะดีษของท่านนบี (ซ.ล) และสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของอิสลาม โดยจะพบว่าตัวบทหลักฐานส่วนใหญ่ล้วนมีน้ำหนักไปทางความเห็นของทัศนะที่สอง ซึ่งพวกเขาได้มีทัศนะว่า อันที่จริงแล้วสตรีมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองการปกครองเหมือนกับบุรุษนั่นเอง ทั้งนี้โดยอ้างอิงหลักฐานจากอัลกุรอาน ซุนนะฮฺและชีวประวัติของศอฮาบะฮฺ ดังนี้

1.หลักฐานจากอัลกุรอาน

พระองค์ทรงตรัสว่า

"ولهن مثل الذي عليهن بالمعروف"


ความว่า “และพวกนางนั้นจะได้รับเช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นหน้าที่ของพวกนางจะต้องปฏิบัติโดยชอบธรรม”

ความหมายจากอายะฮฺข้างต้นก็คือ สตรีและบุรุษนั้นมีคามเสมอกันทั้งในสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะสามีกับภรรยาที่ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันและกันนั่นก็คือต่างฝ่ายต่างกระทำความดีเป็นการแลกเปลี่ยนต่อกัน ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าขนาดจุดเล็ก ๆ อย่างครอบครัวต้องมีความเสมอภาคกันแล้วจุดใหญ่ก็มิอาจต่างกัน



2.หลักฐานจากซุนนะฮฺ
แท้จริงท่านนบี (ซ.ล) ได้ยอมรับถึงสถานภาพและสิทธิของสตรีทางการเมืองการปกครอง เพราะท่านนบี (ซ.ล) ได้อนุญาตแก่นางทั้งในยามสงบและยามศึกสงคราม ดังนั้นก่อนที่อุมมุฮานีอีจะฝากของกับผู้ปฏิเสธคนหนึ่งในช่วงการพิชิตมักกะฮฺ ซึ่งท่านนบี (ซ.ล) ได้กล่าวว่า

"قد أجدنا من أجرت يا أم هانئ... الحديث"

ความว่า “แท้จริงเราได้ให้ค่าตอบแทนแก่คนที่เธอได้ให้ค่าตอบแทน โอ้ อุมมุฮานี”

ในช่วงที่ท่านนบี (ซ.ล) ได้ทำการให้สัตยาบันแก่ตัวแทนของชาวอันศอรฺในการทำสัญญาครั้งที่สอง โดยระหว่างที่พวกเขาเหล่านั้นได้มีสตรีอยู่สองคนด้วยกัน ซึ่งในการสัตยาบันครั้งนี้สตรีได้มีส่วนต่อตัวของนางและทรัพย์สินของพวกนางเองว่าจะปกป้องอิสลามและท่านนบี (ซ.ล) ในทุก ๆ สภาวการณ์และนั่นก็หมายความว่าทั้งสองได้มีส่วนร่วมในสิทธิทางการเมืองและการปกครองนั่นเอง

3.หลักฐานจากชีวประวัติศาสตร์ของศอฮาบะฮฺ

มีรายงานจากการที่ท่านอุมัร ได้แต่งตั้งอุมมุซูฟะฮฺในการดูแลตลาด และตลอดถึงการดูแลเรื่องอื่น ๆ โดยรวม
ครั้งหนึ่งท่านหญิงอาอีซะฮฺได้ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพในการศึกสงครามซึ่งมีกองกำลังถึงสามพันกำลังพล ซึ่งเดินทางจากมักกะฮฺสู่สมรภูมิที่บัศเราะฮฺโดยคำขดของท่านอุสมาน และการชูรอก็หวนกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผู้นำรัฐได้วางกฎระเบียบแห่งการปฏิบัติไว้ ซี่งการงานทั้งในช่วงต้น ๆ และช่วงท้ายของกิจการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นทั้งในทางศาสนาและทางการเมืองการปกครองได้เกิดขึ้นในช่วงที่ท่านหญิงได้เป็นผู้นำในการทางทหาร
แท้จริงสตรีได้มีส่วนร่วมอย่างมากมายในกิจการต่าง ๆ ทั่วไป เช่น ในกรณีที่หญิงฟาติมะฮฺได้แสดงจุดยืนของนางต่อคอลีฟะฮฺอบูบักรฺรอดิยัลลอฮูอันฮู และกรณีที่บรรดาสตรีได้ชี้แจงแก่ท่านอุมัรเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสินสอด และในกรณีที่อับดุรเราะมาน บินเอาฟ์ ได้ปรึกษาหารือกับสตรีในการคัดเลือกคอลีฟะฮฺคนใหม่
และท่านอุมัรได้ปรึกษากับบุตรีของท่าน (ท่านหญิงฮับเซาะฮฺ) กรณีที่บรรดาสตรีได้อดทนต่อสามีของพวกนางในขณะที่พวกเขาเหล่านั้นไม่อยู่บ้าน และพระองค์ก็ได้แนะนำให้ทำการปรึกษาหารือและยอมรับความคิดเห็นของพวกนาง
ฉะนั้นจากสิ่งที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน ซุนนะฮฺ ของท่านนบี (ซ.ล) และชีวประวัติศาสตร์ของอิสลามล้วนเป็นหลักฐานและสิ่งที่ยืนยันถึงการอนุญาตให้สตรีนั้นมีส่วนร่วมทั้งในกิจการทั่วไปและกิจการทางการเมืองการปกครอง และสิทธิทางการเมืองในที่นี้ครองคลุมร่วมทั้งในกิจการทั่วไปและกิจการทางการเมืองการปกครอง และสิทธิทางการเมืองในที่นี้ครอบคลุมถึงสิทธิของนางในการคัดเลือกและเป็นส่วนหนึ่งของสภาที่ปรึกษาหารือ และรวมถึงหน้าที่อื่น ๆ ทั่วไป เว้นเสียแต่ว่าส่งนั้นมีตัวบทได้ห้ามไว้อย่างชัดเจน เช่นการเป็นผู้นำสูงสุด (الإمام الأعظم)
ในเมื่ออิสลามได้ยอมรับสิทธิและสถานภาพของสตรีในการนี้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสตรีที่จะต้องแสงหาซึ่งสิทธิดังกล่าว และญามาอะฮฺอิสลามก็ต้องให้โอกาสอันนี้แก่สตรีด้วยไม่ว่าจะด้วยรูปแบบวิธีการใดก็ตาม แต่กระนั้นต้องรักษาและปกป้องไว้ซึ่งผลประโยชน์ชองอิสลามให้ออกห่างจากผลเสียต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดตามมาในภายหลัง

9.กรณีผู้นำรัฐกับสภาที่ปรึกษามีทัศนะที่แตกต่างกัน

ในการประชุมหารือแต่ละครั้งบางทีอาจทำให้ผู้นำรัฐกับสภาที่ปรึกษาหารืออาจจะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่จะยุติถึงข้อขัดแย้งดังกล่าวต้องย้อนกลับไปดูสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสเอาไว้ในอัลกุรอาน

"يا أيها الذين آمنوا أطيعوا الله وأطيعوا الرسول وأولى الأمر منكم فإن تنازعتم في شئ فردوه إلى الله والرسول إن كنتم تؤمنون بالله واليوم الآخر ذلك خير وأحسن تأويلا"

ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังรอซูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย แต่ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใด ก็จะนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและรอซูล หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลกนั่นแหล่ะ เป็นสิ่งที่ดียิ่งและเป็นการกลับไปที่สวยงามยิ่ง”

ความขัดแย้งใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องย้อนกลับและนำสิ่งที่ขัดแย้งกันนั้นไปตรวจสอบกับอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนบี (ซ.ล) ว่าอัลลอฮฺและท่านนบี (ซ.ล) ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนั้นไว้อย่างไร และเมื่อพบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ แล้วก็ให้ยึดถือตามนั้นโดยปราศจากการดื้อดึงใด ๆ ทั้งสิ้นโดยมิต้องยึดทัศนะของผู้ใดเกียวกับการนี้ แต่ถ้าหากไม่พบสอดคล้องกับอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนบี (ซ.ล) ก็ให้ยึดเป็นหลักปฏิบติไปตามนั้น แต่ถ้าหากว่าไม่พบทัศนะใดเลยที่มีความคล้ายคลึงและสอดคล้องกับอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนบี (ซ.ล) นั้น ๆ ก็จงปฏิบัติ 3 วิธีดังนี้

1.วิธีการแต่งตั้งองค์กรพิเศษ

บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งตรงนี้จะต้องได้รับการคัดเลือกมาจากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์อิสลาม และนักปราชญ์ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ของรัฐโดยพวกเขามีอิสระอย่างเต็มที่ที่ปราศจากการกดดันจากองค์กรทางการเมือง เพื่อพวกเขาจะได้วินิจฉัยถึงข้อขัดแย้งระหว่างผู้นำรัฐกับสภาที่ปรึกษาอย่างรอบคอบ และมติที่ได้จากการวิเคราะห์ต้องนำไปสู่ภาคปฏิบัติบังคับใช้ ซึ่งมีรายงานจากท่านคอลีฟะฮฺอุมัรอิบนิ ค๊อตต๊อบ ในขณะที่ท่านจะเดินทางไปยังประเทศชาม ซึ่งท่านได้ปรึกษาหารือกับชาวมุฮาญิรีนในการเดินทางกลับแต่พวกเขาก็มีความเห็นที่ขัดแย้งกับท่าน แล้วท่านก็ได้ปรึกษาหารือกับชาวอันศอรฺในการนี้เช่นกัน แต่พวกเขาก็มีความขัดแย้งกับท่านเช่นเดียวกับชาวมุฮาญิรีน ดังนั้นจงได้มีการแต่งตั้งกลุ่ม ๆ หนึ่งให้พวกเขาตัดสินในเหตุการณ์ครั้งนี้ซึ่งพวกเขาก็มีมติให้เดินทางกลับ และได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติ

2.ยึดมติของเสียงส่วนใหญ่

จำเป็นที่ผู้นำประเทศต้องยึดมติของเสียงส่วนใหญ่เป็นหลักในการปฏิบัติบังคับใช้ ถึงแม้ว่าจะขัดแย้งกับทัศนะของผู้นำรัฐก็ตาม ซึ่งทัศนะนี้ได้รับการยืนยันจากกรณีที่ท่านนบีได้ยึดมติของเสียงข้างมากเป็นหลักปฏิบัติในการออกไปทำศึกสงครามกับพวกมุซริกในช่วงสงครามอุฮุดถึงแม้ว่าท่านนบีจะไม่มีความมั่นใจก็ตาม แต่เสียงข้างมากนั้นน่าจะเป็นส่วนดีมากกว่าส่วนเสียแม้ว่าจะไม่เห็นหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนก็ตาม

3.ยึดมติของผู้นำรัฐเพียงอย่างเดียว

ทัศนะที่สามก็คือ หลังจากที่ผู้นำประเทศได้ประชุมหารือกับสภาที่ปรึกษาเสร็จแล้ว ก็เป็นการอนุญาติแก่ผู้นำรัฐที่เขาจะยึดมติของตัวเองเป็นหลักปฏิบัติ โดยมิต้องคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนน้อยซึ่งพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

وشاورهم في الأمر فإذا عزمت فتوكل على الله

ความว่า “จงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย ครั้งเมือเจ้าได้ตัดสินใจแล้วก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮฺ”

เจตนารมณ์จากอายะฮฺข้างต้นคือ พระองค์ทรงสั่งใช้ให้ท่านนบี (ซ.ล) และรวมถึงผู้นำมอบหมายต่ออัลลอฮฺในกิจการงานที่ได้ตัดสินแล้ว โดยไม่ใช่มอบหมายต่อสภาที่ปรึกษา เพราะเป็นหน้าที่ต่อผู้นำรัฐที่เขาจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดในการงานที่เขาได้รับมอบหมายจากประชาชนและยังเป็นการให้อิสระเสรีในการปฏิบัติงานตามที่เขามีความเห็นซึ่งผ่านวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนแล้ว และต้องไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ กับตัวบทของกฎหมายอิสลาม เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าการงานที่มนุษย์มีความรับผิดชอบนั้นเขาจะมีสิทธิเลือกด้วยตัวของเขาเองในบั้นปลาย
ทั้งนี้และทั้งนั้นหากพิจารณาจะเห็นได้ว่าทัศนะที่สามมีน้ำหนักมากที่สุดในแง่ของทฤษฎีแต่ทว่าหากเราพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริง และสภาวการณ์ต่าง ๆ ของบ้านเมืองและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายภาคหน้าแล้วจะเห็นได้ว่าทัศนะที่สองน่าจะมีความสอดคล้องมากกว่ากับสิ่งที่เป็นอยู่มากกว่าทัศนะที่สาม ซึ่งจำเป็นต่อผู้นำรัฐที่จะต้องยึดเสียงส่วนใหญ่เป็นหลักปฏิบัติแต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1) หากว่าผู้นำประเทศไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ ก็มีสิทธิจะนำเสนอข้อขัดแย้งดังกล่าวไปสู่องค์กรพิเศษเพื่อให้พวกเขาได้วินิจฉัย
2) หากว่าผู้นำประเทศไม่เห็นด้วยกับมติความเห็นขององค์กรพิเศษ ผู้นำรัฐก็มีสิทธิที่จะดำเนินการประกาศแก่ประชาชนอย่างเสรี ในประเด็นที่มีความขัดแย้งกัน เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน หากว่าประชาชนเห็นด้วยกับทัศนะของผู้นำรัฐก็ดำเนินการไปตามนั้น แต่หากว่าประชาชนไม่เห็นกับทัศนะของผู้นำรัฐก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำรัฐจะต้องให้ความสำคัญและยึดมติของประชาชน
3) ในประเด็นที่มีความสำคัญและอ่อนไหวต่อสถานภาพความมั่นคงของบ้านเมือง (รัฐ) เช่น ในยามศึกหรือในยามภาวะคับขันต่าง ๆ เพื่อจะให้ประเทศมีความสงบสุขและมีความเป็นเอกภาพ ก็ไม่เป็นการบังควรที่ผู้นำประเทศที่จะยึดทัศนะของตนเองเป็นเกณฑ์ปฏิบัติ แต่ต้องให้ความสำคัญกับทัศนะส่วนใหญ่
ดังนั้นทั้งหมดที่กล่าวมานั้นต้องคำนึงถึงความเป็นไปของสังคมและสถานการณ์อย่างรอบคอบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะริดรอนอำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่

10. โครงสร้างสภาที่ปรึกษา

โครงสร้างของสภาที่ปรึกษาเป็นองค์การในระบบการบริหารการปกครองของรัฐอิสลามจะเห็นได้ชัดว่าสภาชูรอจะอยู่ ใกล้เคียงกับผู้นำของรัฐ นั่นแสดงให้เห็นว่าสภาชูรอมีสถานภาพที่มีความสำคัญในระบบการปกครองของอิสลาม อำนาจของสภาชูรออาจจะครอบคลุมถึงตัวผู้นำรัฐทั้งในด้านกฎหมาย การบริหาร คณะรัฐมนตรี ตลอดจนในเรื่องของศาลสถิตยุติธรรมด้วย





11.ความสำคัญของสภาชูรอ

หน่วยงานทุกระดับในโครงสร้างการบริหารงานการปกครองอิสลามมีความจำเป็นต้องได้รับการปรึกษาและคำแนะนำจากสภาชูรอ สภาชูรอจึงเป็นสัญลักษณ์ของเสียงประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากการเกิดขึ้นของสภาชูรออยู่บนพื้นฐานขอเสียงประชาชน ประชาชนมอบความไว้วางใจแก่สภาชูรอเพื่อทำหน้าที่ให้การแนะนำและคำปรึกษาแก่ผู้นำรัฐ หน่วยงานทางกฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ตลอดจนหน่วยงานทุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบการปกครองอิสลามจะต้องเคารพความคิดเห็นของประชาชน โดยผ่านสภาชูรอ ตราบใดที่ทัศนะหรือความคิดเห็นนั้นไม่ได้ขัดแย้งกับอัลกุรอานและอัซซุนนะห์ มติของชูรอจำเป็นต้องได้รับการถือปฏิบัติโดยระบบการปกครองอิสลาม เรื่องนี้อัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกุรอาน

"وشاورهم الأمر"

ความว่า “และจงปรึกษาหารือพวกเขาในการงาน (ต่าง ๆ ที่จะกระทำ)”หน้าที่ของสภาชูรอ

ชูรอได้รับการปฏิบัติมาโดยท่านรอซูลมาก่อน เรื่องนี้มีรายงานจากอบูฮุรอยเราะห์ว่า ท่านรอซูลเป็นบุคคลที่มีการประชุมมากที่สุดกับเหล่าเศาะฮาบะห์ของท่าน แม้ว่าท่านได้รับการชี้นำโดยวะฮฺยูของอัลลอฮฺ และวะฮฺยูที่ถูกประทานลงมายังท่านนั้นส่วนใหญ่แล้วมักจะเกี่ยวกับเรื่องอะกีดะห์บทบัญญัติและจริยธรรม แต่ในเรื่องการปกครองแล้วท่านรอซูลมักจะอาศัยความคิดเห็นของเหล่าศอฮาบะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเทคนิคหรือการปฏิบัติตามแนวนโยบายที่อัลกุรอานกำหนดไว้ตามรายงานของอัต-ตอบบะรอนีย์ในหนังสืออัล-เอาซาด โดยอนัส ท่านรอซูลกล่าวว่า

"ما خاب من استخار وما ندم من استشار...الحديث"

ความว่า “ผู้ที่ละหมาดอิสติฆอเราะห์นั้นจะไม่เคยประสบกับความผิดหวัง และจะไม่มีความรู้สึกเสียใจสำหรับผู้ที่มีการประชุมหารือกัน”

ท่านนบี (ซ.ล) เป็นผู้ที่มีอำนาจทางกฎหมาย อำนาจการบริหาร และอำนาจตุลาการ แต่หลังจากที่ท่านนบี (ซ.ล) ได้เสียไปแล้ว อำนาจดังกล่าวได้ตกไปอยู่กับคอลีฟะฮฺและในการปฏิบัติตามฮุก่มของอัลลอฮฺนั้นเมื่อใดทีต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่ชัดเจนในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกี่ยวกับเทคนิควิธีการ คอลีฟะฮฺอัรรอชีดีนและผู้นำหลังจากท่านจะอ้างอิงยังสภาชูรอ
อำนาจการบริหารในสมัยคอลีฟะฮฺอัรรอชีดีน โดยส่วนใหญ่จะเป็นของสภาชูรอ ทั้งนี้เนื่องจากภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของคอลีฟะฮฺมีมากมายนัก ขณะที่อำนาจทางกฎหมายยังคงอยู่กับคอลีฟะฮฺโดยได้รับความช่วยเหลือจากสภาชูรอ อย่างไรก็ตามเนื่องจากกฎหมายนั้นจะยึดอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺเป็นพื้นฐาน ดังนั้นหน้าที่ของคอลีฟะฮฺจะอยู่ในรูปของการบริหารเท่านั้นเนื่องจากอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺไม่สามารถที่จะแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงได้ ดังนั้นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสามารถกระทำได้โดยทางเทคนิคและกระบวนการบริหารเท่านั้น โดยยึดความเหมาะสมตามสภาพภูมิศาสตร์และสถานการณ์
ในรัฐอิสลามนั้นสภาชูรอมีหน้าที่สำคัญมากคือ หน้าที่ในการคัดเลือกผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ สภาแห่งนี้มีหน้าที่ในการกลั่นกรองว่าผู้ใดในจำนวนผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นเคาะลีฟะฮฺ หากมีจำนวนมากกว่าหนึ่งคนแล้ว หน้าที่ต่อไปจะต้องเป็นหน้าที่ของประชาชนเพื่อให้การรับรองหรือให้การสัตยาบัน หน้าที่หลังอันนี้ เรียกว่า อัล-ฮัลล์วัล-อักด์ สภาแห่งนี้มีหน้าที่ในการพิจารณาและวิเคราะห์ประวัติความเป็นมาของบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นเคาะลีฟะฮฺโดยจะพิจารณาผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดและเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไป
ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะถูกเสนอต่อสาธารณชน เพื่อประชาชนทุกคนให้สัตยาบันอันเป็นแสดงถึงการยอมรับและเห็นชอบ หากผู้ที่รับการคัดเลือกให้เป็นคอลีฟะฮฺปฏิเสธก็จะทำการคัดเลือกใหม่ ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลสองคนที่มีความเหมาะสมและคุณสมบัติอื่น ๆ เท่าเทียมกัน ดังนั้นจะพิจารณาตามอายุเป็นหลักสิ่งเหล่านี้หมายถึงว่า ผู้ที่มีวัยวุฒิสูงกว่าย่อมที่จะได้รับการคัดเลือกมากกว่าเนื่องจากอายุของบุคคลที่มีมากกว่าย่อมบ่งบอกการมีประสบการณ์ที่มากกว่า แต่ถ้าหากบุคคลทั้งสองมีความเหมาะสมและอายุที่เท่ากันแล้ว ดังนั้นความจำเป็นร่วมสมัยย่อมเป็นปัจจัยชี้ขาด แต่ถ้าว่ารัฐอิสลามกำลังอยู่ในสถานการณ์สู้รบความกล้าย่อมที่จะได้รับการคัดเลือก แต่ถ้าหากว่าสถานการณ์ของประเทศชาติกำลังต้องการความรู้เกี่ยวกับคำสอนของอิสลาม ดังนั้นผู้ที่มีความรู้ย่อมที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นคอลีฟะฮฺมากกว่า
เมื่อสภาชูรอมีอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลให้เป็นคอลีฟะฮฺแล้ว ดังนั้น สภานั้นก็ย่อมมีอำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกันเมื่อใดคอลีฟะห์ดังกล่าวประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ของคอลีฟะฮฺ หรือได้ก่อความเสียหายต่อสถานภาพของตนเองในฐานะเป็นคอลีฟะฮ์หรือผู้นำประเทศ
ถ้าหากคอลีฟะฮฺที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นบุคคลที่ความสามารถและมีคุณสมบัติของคอลีฟะฮฺเพียบพร้อมทุกอย่างและเขาก็มิได้ปฏิบัติให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ แต่กลับนำความเจริญและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาสู่รัฐตามครรลองของอิสลามแล้วสภาที่ปรึกษาก็มิอาจที่จะถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งและตัวเขาก็มีอำนาจเบ็ดเสร็จภายในตัว ดั่งที่พระองค์ทรงตรัสเอาไวว่า

أطيعوا الله وأطيعوا الرسول وأولى الأمر منكم

ความว่า“จงเชื่อฟังอัลลอฮฺและจงเชื่อฟังต่อรอซูลและผู้นำของพวกท่าน”

จากโองการข้างต้นได้บ่งชี้ให้เห็นว่าถึงแม้สภาที่ปรึกษาจะมีอำนาจมากมายเพียงใดก็ตามแต่ผู้นำรัฐก็ย่อมที่จะมีอำนาจตัดสินอันเด็ดขาดในบั้นปลายอยู่ในตัวซึ่งอยู่ในขอบเขตของ อัลอิสลาม







บรรณานุกรม

คัมภีร์อัลกุรอานนุลการีม
สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย. 1998. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานพร้อมความหมายภาษาไทย.มะดีนะฮฺ : ศูนย์กษัตริ์ฟาฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน.
คอลิด อาลี บินมุฮัมหมัดอันนารี. ฟิกฮุสซียาซะฮฺซัรอิยะฮฺฟีเฎาอัลกุรอาน วันซุนนะฮฺ วาอักวาลซาลัฟอุมมะฮฺ. รียาฎ.
ซะฮฺดี อบูยัยบี. 1985. ดีรอซะฮฺฟิมินฮาจอิสลามซียาซี. เบรุต: มูอัศซาซะฮฺรีซาละฮฺ.
มูฮัมมัด ซาเล็ม . ม.ป.ป. ฟินนีซอมซียาซี ลิดเดาละฮฺ อิสลามิยะฮฺ .ม.ป.ป.
สุกรี หลังปูเต๊ะ.ม.ป.ป. รัฐศาสตร์อิสลามเบื้องต้น. มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา.
อบูอะอฺลา อัลเมาดูดี. ม.ป.ป. นาซอรียะฮฺ อิสลามวาฮาดีซ. ม.ป.พ.
อะฮฺหมัด บิน อาลี บินฮายาร. 1993. ฟัตฮุลบารีลิซารอศอหิบุลบุคอรี. เบรุต: ดารุลฟิกร.
อับดุรกอดีร เอาดะฮฺ. ม.ป.ป. อิสลามวาเฎาอูนา ซียาซะฮฺ. ม.ป.พ.
อัลบุคอรี อาบี อับดุลลอฮฺมูฮัมมัด อิบนูอิมาอีล. 1993. ศอฮิฮฺบุคอรี. เบรุต: ดารุลอิบนุกาซิร.
















\
สารบัญ
หน้า
หุกมฺของการปรึกษาหารือ 1
กิจการที่ต้องปรึกษาหารือ 5
การคัดเลือกคณะที่ปรึกษาหารือ 7
จำนวนของคณะที่ปรึกษาหารือ 8
คุณสมบัติของสมาชิกที่ปรึกษา 10
กลวิธีในการประชุมหารือ 11
มติของที่ประชุมหารือ 12
สตรีกับการปรึกษาหารือ 15
กรณีผู้นำรัฐกับสภาที่ปรึกษามีทัศนะที่แตกต่างกัน 18
โครงสร้างสภาที่ปรึกษา 20
ความสำคัญของสภาชูรอ 21


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น